หมู่เกาะเติกส์และเคคอส
ลิงก์ข้ามภาษาในบทความนี้ มีไว้ให้ผู้อ่านและผู้ร่วมแก้ไขบทความศึกษาเพิ่มเติมโดยสะดวก เนื่องจากวิกิพีเดียภาษาไทยยังไม่มีบทความดังกล่าว กระนั้น ควรรีบสร้างเป็นบทความโดยเร็วที่สุด |
หมู่เกาะเติกส์และเคคอส Turks and Caicos Islands (อังกฤษ) | |
---|---|
เมืองหลวง | คอคเบิร์นทาวน์ |
เมืองใหญ่สุด | พรอวิเดนเชียลิส |
ภาษาราชการ | ภาษาอังกฤษ |
เดมะนิม | TCI |
การปกครอง | อาณานิคมโพ้นทะเลของสหราชอาณาจักร |
• ประมุข | สมเด็จพระเจ้าชาลส์ที่ 3 |
ดิเลนิ แดเนียล-เซลวาร์แนม[2] | |
ชาร์ล วอชิงตัน มิสสิก | |
พื้นที่ | |
• รวม | 417 ตารางกิโลเมตร (161 ตารางไมล์) (199) |
ประชากร | |
• 2008 ประมาณ | 30,600[3] (208) |
52 ต่อตารางกิโลเมตร (134.7 ต่อตารางไมล์) | |
จีดีพี (อำนาจซื้อ) | 2006 (ประมาณ) |
• รวม | 722 ล้านดอลลาร์สหรัฐ |
• ต่อหัว | 17,112 ดอลลาร์สหรัฐ |
สกุลเงิน | ดอลลาร์สหรัฐ (USD) |
เขตเวลา | UTC-5 |
• ฤดูร้อน (เวลาออมแสง) | UTC-4 |
รหัสโทรศัพท์ | 1 649 |
โดเมนบนสุด | .tc |
หมู่เกาะเติกส์และเคคอส (อังกฤษ: Turks and Caicos Islands) เป็นอาณานิคมโพ้นทะเลของสหราชอาณาจักรประกอบไปด้วยหมู่เกาะย่อยในเขตร้อน 2 หมู่เกาะ ได้แก่ หมู่เกาะเคคอสและหมู่เกาะเติกส์ อาณานิคมนี้ตั้งอยู่ในทะเลแคริบเบียน และมีชื่อเสียงในด้านสถานที่ท่องเที่ยวและเป็นแหล่งหลบเลี่ยงภาษีของบริษัทต่างชาติ หมู่เกาะนี้อยู่ห่างจากเมืองไมแอมี รัฐฟลอริดาของสหรัฐอเมริกาไปทางตะวันออกเฉียงใต้ 970 กม. และอยู่ห่างจากหมู่เกาะบาฮามาสไปทางตะวันออกเฉียงใต้ 80 กม. มีพื้นที่ทั้งหมด 430 ตร.กม.[4] ตามจริงแล้ว อาณาเขตของหมู่เกาะเติกส์และเคคอสกับหมู่เกาะบาฮามาสถือว่าต่อเนื่องกันในทางภูมิศาสตร์ แต่อาณาเขตทางการเมืองนั้นมีการแยกออกจากกันอย่างชัดเจน
หมู่เกาะนี้มีประชากรประมาณ 30,000 คนโดยประมาณ 22,500 คนอาศัยอยู่บนเกาะพรอวิเดนเชียลิส (Providenciales) เมืองหลวงคือโคเบิร์นทาวน์ (Cockburn Town) อยู่บนเกาะแกรนด์เติร์ก
ภูมิศาสตร์
[แก้]หมู่เกาะสองกลุ่มนี้อยู่ในมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือ อยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของหมู่เกาะบาฮามาส และทางเหนือของเกาะฮิสปันโยลา และมีระยะห่างประมาณ 970 กม. จากเมืองไมแอมี สหรัฐอเมริกา ประกอบไปด้วยเกาะใหญ่ 8 เกาะและกว่า 20 เกาะเล็ก รวมแล้วมีพื้นที่ 616.4 ตารางกิโลเมตร ในทางภูมิศาสตร์ หมู่เกาะทั้งสองถือเป็นส่วนเดียวกับหมู่เกาะบาฮามาสโดยทั้งหมดรวมกันเป็นกลุ่มเกาะลูคายัน แต่ในทางการเมืองนั้นถือว่าแยกจากกัน เกาะใหญ่สองเกาะในหมู่เกาะบาฮามาสที่อยู่ใกล้กับหมู่เกาะเคคอสมากที่สุดคือ เกาะมายากวานาและเกาะเกรตอีนากวา โดยมีช่องแคบเคคอสคั่นไว้
ภูมิประเทศมีลักษณะเป็นพื้นหินปูนราบต่ำเสียเป็นส่วนใหญ่ แต่ก็มีบึง ที่ลุ่มหนองชายเลน และชายหาดที่มีความยาวรวม 370 กม. อยู่ด้วย ลักษณะภูมิอากาศร้อนและค่อนข้างแห้งแล้ง แต่ก็ประสบกับเฮอร์ริเคนอยู่บ่อยครั้ง บนหมู่เกาะมีทรัพยากรน้ำจืดอยู่อย่างจำกัด ทำให้ต้องมีที่เก็บน้ำฝนเพื่อดื่มกิน ทรัพยากรธรรมชาติหลัก ๆ ของหมู่เกาะนี้ ได้แก่ กุ้งก้ามกราม หอยสังข์ และสัตว์น้ำมีเปลือกอื่น ๆ หมู่เกาะทั้งสองถูกแยกจากกันโดยมีช่องแคบเติกส์ไอแลนด์กั้นไว้
หมู่เกาะเคคอส
[แก้]หมู่เกาะนี้ขนาดใหญ่กว่า รวมพื้นที่บนบกแล้วนับรวมเป็นร้อยละ 96 ของพื้นที่ทั้งหมด และมีประชากรอาศัยอยู่ร้อยละ 82 ของประชากรทั้งหมด เกาะต่าง ๆ ในหมู่เกาะเรียงตัวล้อมรอบเนินตื้นใต้ทะเลเคคอส (Caicos Bank) ดูคล้ายกับเกาะปะการัง โดยมีเกาะใหญ่หกเกาะอยู่ทางตะวันตก ทางเหนือ และทางตะวันออก และยังมีแนวปะการังกับเกาะเล็ก ๆ อยู่อีก 2-3 แห่งในทางใต้ ศูนย์กลางอย่างไม่เป็นทางการของหมู่เกาะเคคอสคือหมู่บ้านคิวที่อยู่บนเกาะนอร์ทเคคอส หมู่เกาะนี้แยกการปกครองออกเป็น 6 เขต โดยมี 4 เขตที่มีผู้อยู่อาศัย และยังมีหมู่เกาะเล็ก ๆ อีก 2 เกาะ เขตการปกครองดังกล่าวได้แก่
- เวสต์เคคอส (ไม่มีผู้อยู่อาศัยแล้ว)
- พรอวิเดนเชียลิส (เขตชุมชนที่ใหญ่ที่สุด)
- นอร์ทเคคอส
- มิดเดิลเคคอส
- อีสต์เคคอส (ไม่มีผู้อยู่อาศัย)
- เซาท์เคคอส
- แอมเบอร์กริสคีย์
นอกจากนี้ยังมีเกาะเล็ก ๆ ที่มีคนอาศัยอยู่ ซึ่งอยู่ในหมู่เกาะย่อยเคคอสที่อยู่ระหว่างเกาะพรอวิเดนเชียลิสกับเกาะนอร์ทเคคอส
- เดลลิสคีย์ (ไม่มีผู้อยู่อาศัย แต่จะมีโรงแรมเปิดให้บริการในปี ค.ศ. 2010)
- ไพน์คีย์
- แพร์รอตคีย์
หมู่เกาะเติกส์
[แก้]หมู่เกาะเติกส์มีลักษณะคล้ายสายโซ่เป็นทางยาวตั้งแต่เหนือจรดใต้ มีช่องแคบเติกส์ไอแลนด์แยกหมู่เกาะนี้จากหมู่เกาะเคคอส มีพื้นที่ทั้งหมด 26.7 ตร. กม. และมีประชากรประมาณ 5,753 คน มีเกาะใหญ่ ๆ อยู่สองเกาะ โดยสองเกาะนี้เท่านั้นที่มีผู้อยู่อาศัย เกาะดังกล่าวได้แก่
- แกรนด์เติร์ก (มีเมืองหลวงตั้งอยู่)
- ซอลต์คีย์
ประวัติศาสตร์
[แก้]ผู้อยู่อาศัยบนหมู่เกาะนี้ยุคแรก ๆ คือชาวอเมริกันอินเดียน รวมไปถึงชาวอาราวัก แต่เมื่อเวลาผ่านไปหลายศตวรรษ ชาวแคริบเริ่มเข้ามาแทนที่จนในที่สุดมีพวกเขาเป็นประชากรส่วนใหญ่ ชาวยุโรปที่มาทำการสำรวจทวีปอเมริกาบันทึกเกี่ยวกับการพบเห็นเกาะนี้เป็นครั้งแรกใน ค.ศ. 1512 โดยผู้พิชิตดินแดนชาวสเปน ควน ปอนเซ เด เลออน ระหว่างศตวรรษที่ 16, 17 และ 18 หมู่เกาะนี้ผ่านการปกครองจากสเปน ฝรั่งเศส และอังกฤษมาแล้ว แต่ไม่มีชาติใดลงหลักปักฐานและสร้างนิคมบนหมู่เกาะสองแห่งนี้อย่างจริงจัง
หมู่เกาะเติกส์และเคคอสกลายเป็นแหล่งกบดานของโจรสลัดที่มีชื่อเสียงอยู่เป็นเวลาหลายทศวรรษในช่วงต้นศตวรรษที่ 18 ต่อมาบรรดาพ่อค้าเกลือชาวเบอร์มิวดาเข้ามาตั้งรกรากที่หมู่เกาะเติกส์เมื่อประมาณปี ค.ศ. 1680 จนกระทั่งระหว่าง ค.ศ. 1765-1783 ฝรั่งเศสได้เข้ามาปกครองเกาะนี้ และหลังจากเกิดการปฏิวัติอเมริกัน (ค.ศ. 1775-1783) ชาวอาณานิคมที่ยังภักดีต่อจักรวรรดิอังกฤษก็อพยพมายังอาณานิคมหมู่เกาะต่าง ๆ ทะเลแคริบเบียน และมีส่วนหนึ่งที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานบนหมู่เกาะเคคอส ฝ้ายกลายเป็นพืชเศรษฐกิจในช่วงเวลาสั้น ๆ ต่อมาในปี ค.ศ. 1799 ทั้งหมู่เกาะเติกส์และเคคอสก็ถูกอังกฤษผนวกเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของหมู่เกาะบาฮามาส
ในปี ค.ศ. 1848 หมู่เกาะเติกส์และเคคอสถูกแบ่งออกเป็นสองอาณานิคมแยกจากกัน แต่อยู่ภายใต้การบริหารจากประธานสภาแห่งหมู่เกาะเติกส์และเคคอสคนเดียว ตำแหน่งนี้มีอยู่จนกระทั่ง ค.ศ. 1873 เมื่อหมู่เกาะทั้งสองถูกรวมเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของอาณานิคมจาเมกา และในปี ค.ศ. 1894 ตำแหน่งหัวหน้าเจ้าพนักงานอาณานิคมจึงถูกเปลี่ยนชื่อใหม่เป็นข้าหลวง ในปี ค.ศ. 1917 นายกรัฐมนตรีโรเบิร์ต บอร์เดนแห่งแคนาดา เสนอให้หมู่เกาะเติกส์และเคคอสรวมเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของแคนาดา แต่นายกรัฐมนตรีเดวิด ลอยด์ จอร์จแห่งอังกฤษปฏิเสธข้อเสนอดังกล่าว หมู่เกาะนี้จึงยังคงอยู่ในอาณัติของจาเมกา จนกระทั่งในวันที่ 4 กรกฎาคม ค.ศ. 1959 หมู่เกาะทั้งสองถูกแยกออกมาเป็นอาณานิคมเอกเทศอีกครั้ง โดยตำแหน่งข้าหลวงคนสุดท้ายถูกเปลี่ยนชื่อใหม่เป็นผู้บริหาร แต่ผู้ว่าราชการจาเมกายังคงเป็นผู้ว่าราชการของหมู่เกาะอยู่ และในวันที่ 31 พฤษภาคม ค.ศ. 1962 หมู่เกาะทั้งสองก็ถูกควบรวมเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของสหพันธรัฐเวสต์อินดีส
เมื่อจาเมกาได้รับเอกราชจากอังกฤษในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1962 หมู่เกาะเติกส์และเคคอสก็กลายเป็นอาณานิคมในเครือจักรภพ และตั้งแต่ ค.ศ. 1965 ผู้ว่าราชการบาฮามาสก็ทำหน้าที่ว่าราชการและดูแลกิจการต่าง ๆ ของหมู่เกาะเติกส์และเคคอสเช่นกัน จนกระทั่งบาฮามาสได้รับเอกราชในปี ค.ศ. 1973 หมู่เกาะทั้งสองจึงมีผู้ว่าราชการเป็นของตัวเองในที่สุด (โดยเปลี่ยนชื่อมาจากตำแหน่งผู้ปกครอง) ใน ค.ศ. 1974 สภาชิกสภาผู้แทนราษฎรแคนาดาแมกซ์ ซอลต์สแมนแห่งพรรคประชาธิปไตยใหม่ได้เสนอร่างกฎหมายเพื่อรวมหมู่เกาะนี้เข้ากับแคนาดา แต่ไม่ผ่านความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎรแคนาดา
ตั้งแต่เดือนสิงหาคม ค.ศ. 1976 เป็นต้นมา หมู่เกาะนี้มีรัฐบาลเป็นของตัวเองโดยมีผู้นำเป็นหัวหน้ารัฐมนตรี ต่อมามีการตกลงกับทางอังกฤษในการร้องขอเอกราชในปี ค.ศ. 1979 โดยตั้งเป้าหมายว่าจะได้รับเอกราชภายใน ค.ศ. 1982 แต่การเปลี่ยนแปลงรัฐบาลใหม่ทำให้นโยบายนี้ถูกล้มเลิก และเปลี่ยนนโยบายไปเป็นการเจรจาเพื่อรวมประเทศกับแคนาดาแทน แต่ทางแคนาดาไม่ได้ให้ความสนใจกับเรื่องนี้ ปัญหาทางการเมืองในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานำไปสู่การประกาศใช้รัฐธรรมนูญที่ร่างขึ้นใหม่ในปี ค.ศ. 2006 และการกลับมาใช้อำนาจปกครองโดยตรงจากสหราชอาณาจักรในปี ค.ศ. 2009
การเมืองการปกครอง
[แก้]หมู่เกาะเติกส์และเคคอสเป็นอาณานิคมโพ้นทะเลของสหราชอาณาจักร ถือเป็นอาณานิคมที่ปกครองตนเอง มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญในวันที่ 30 สิงหาคม ค.ศ. 1976 ซึ่งปีต่อ ๆ มาได้ประกาศให้วันนี้เป็นวันรัฐธรรมนูญ วันหยุดประจำชาติ แต่ในปี ค.ศ. 1986 รัฐธรรมนูญได้ถูกระงับการใช้และมีการวินิจฉัยจนมีการประกาศใช้อีกครั้งในวันที่ 5 มิถุนายน ค.ศ. 1988 ส่วนรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันถูกประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม ค.ศ. 2006 โครงสร้างกฎหมายของหมู่เกาะนี้มีลักษณะเป็นกฎหมายจารีตประเพณีตามแบบอังกฤษผสมกับกฎหมายบางส่วนของจาเมกาและบาฮามาส คนทุกเพศที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีบริบูรณ์ขึ้นไปมีสิทธิ์เลือกตั้ง ภาษาอังกฤษเป็นภาษาประจำชาติ และเมืองโคเบิร์นทาวน์เป็นเมืองหลวงของหมู่เกาะเติกส์และเคคอส และมีสถานที่ราชการและรัฐบาลตั้งอยู่ตั้งแต่ ค.ศ. 1766 เป็นต้นมา
นิติบัญญัติ
[แก้]ส่วนนี้รอเพิ่มเติมข้อมูล คุณสามารถช่วยเพิ่มข้อมูลส่วนนี้ได้ |
บริหาร
[แก้]ส่วนนี้รอเพิ่มเติมข้อมูล คุณสามารถช่วยเพิ่มข้อมูลส่วนนี้ได้ |
เนื่องจากเป็นอาณานิคมของสหราชอาณาจักร จึงมีสมเด็จพระเจ้าชาลส์ที่ 3 แห่งสหราชอาณาจักรทรงเป็นประมุข โดยมีผู้สำเร็จราชการเป็นผู้ว่าราชการ ส่วนหัวหน้ารัฐบาลนั้นเป็นนายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรีประกอบด้วยเจ้าพนักงาน 3 คนที่เป็นสมาชิกโดยตำแหน่ง และสมาชิกสภาอีก 5 คนที่ผู้ว่าราชการทำการจัดสรรและแต่งตั้ง ประมุขเป็นผู้แต่งตั้งผู้ว่าราชการ และผู้ว่าราชการเป็นผู้แต่งตั้งนายกรัฐมนตรี สภาเดี่ยวของหมู่เกาะเติกส์และเคคอสมีสมาชิกอยู่ 21 คน โดย 15 คนได้รับการเลือกตั้งจากประชาชน สมาชิกสภามีวาระการทำงาน 4 ปี
ตุลาการ
[แก้]ในส่วนของฝ่ายตุลาการ อำนาจในการพิจารณาไต่สวน อยู่ภายใต้อำนาจของศาลสูงสุดแคริบเบียนตะวันออก (Eastern Caribbean Supreme Court) มีศาลฎีกาอยู่ในตำแหน่งสูงสุด การยื่นอุทธรณ์นั้นผ่านการพิจารณาจากศาลอุทธรณ์ ส่วนการยื่นฎีกาจะยื่นให้คณะกรรมการฝ่ายตุลาการแห่งองคมนตรีแห่งสหราชอาณาจักร (Privy Council) เป็นผู้พิจารณา
เศรษฐกิจ
[แก้]จากข้อมูลใน ค.ศ. 2006[5] ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของหมู่เกาะนี้อยู่ที่ประมาณ 722 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ($17,112 ต่อประชากร) สามารถแบ่งได้ตามประเภทธุรกิจที่สร้างรายได้ให้กับหมู่เกาะดังนี้
- โรงแรมและภัตตาคาร ร้อยละ 23.27
- การให้บริการทางการเงิน ร้อยละ 29.64
- การก่อสร้าง ร้อยละ 48.71
- การขายปลีกและขายส่ง ร้อยละ 20.89
- งานบริการสาธารณสุขและงานด้านสังคมสงเคราะห์ ร้อยละ 10.83
รายได้หลักของรัฐบาลได้แก่ภาษีนำเข้า (ร้อยละ 36.51 ของรายได้ทั้งหมด), ภาษีแสตมป์ที่ว่าด้วยการซื้อขายที่ดิน (ร้อยละ 19.79), ค่าใบอนุญาตทำงานและอยู่อาศัย (ร้อยละ 8.93) และภาษีโรงแรม (ร้อยละ 8.84) ดัชนีเงินเฟ้ออยู่ที่ร้อยละ 3.7[6] อัตราการว่างงาน (ของ ค.ศ. 2007) อยู่ที่ร้อยละ 5.4 สกุลเงินที่ใช้กันทั่วไปคือเงินดอลลาร์สหรัฐ แต่ก็มีการใช้เงินปอนด์สเตอร์ลิงในบางภาคส่วนของรัฐบาลอยู่ (เช่นการจ่ายค่าปรับที่สนามบิน)
สินค้าเกษตรกรรมหลักมีในปริมาณที่ค่อนข้างจำกัด สินค้าดังกล่าวได้แก่ข้าวโพด ถั่ว มันสำปะหลัง และผลไม้จำพวกส้ม สินค้าส่งออกที่สำคัญของเกาะมีอยู่แค่สองชนิดคือปลาและหอยสังข์ โดยส่วนมากจะส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักร ส่วนสินค้านำเข้าส่วนใหญ่คือสินค้าประเภททุนและอาหารเพื่อการบริโภคภายในประเทศ
การท่องเที่ยว
[แก้]ส่วนนี้รอเพิ่มเติมข้อมูล คุณสามารถช่วยเพิ่มข้อมูลส่วนนี้ได้ |
โครงสร้างพื้นฐาน
[แก้]คมนาคมและโทรคมนาคม
[แก้]คมนาคม
[แก้]ส่วนนี้รอเพิ่มเติมข้อมูล คุณสามารถช่วยเพิ่มข้อมูลส่วนนี้ได้ |
ท่าอากาศยานนานาชาติพรอวิเดนเชียลิสเป็นด่านรองรับชาวต่างชาติแห่งหลักของหมู่เกาะนี้ แต่ในแต่ละเกาะที่มีคนอาศัยอยู่ก็จะมีสนามบินอยู่เช่นกัน รวมแล้วมีอยู่ 7 แห่ง บนหมู่เกาะมีทางหลวงยาว 121 กม. มีท่าเรือนานาชาติอยู่บนเกาะแกรนด์เติร์กและพรอวิเดนเชียลิส และไม่มีทางรถไฟ
การสื่อสารและโทรคมนาคม
[แก้]ส่วนนี้รอเพิ่มเติมข้อมูล คุณสามารถช่วยเพิ่มข้อมูลส่วนนี้ได้ |
ส่วนของการสื่อสารนั้น หมู่เกาะนี้มีสายโทรศัพท์กว่า 3,000 สาย และมีบริการโทรศัพท์มือถือโดยใช้ระบบจีเอสเอ็ม 850 และจีเอสเอ็ม 900 ส่วนซีดีเอ็มเอยังไม่มีการรองรับ ระบบสื่อสารนั้นเชื่อมต่อผ่านสายเคเบิลใต้สมุทรและสถานีรับสัญญาณดาวเทียมอินเทลแซต สื่อวิทยุมีสถานีวิทยุเอเอ็ม 3 สถานีและเอฟเอ็ม 6 สถานี ส่วนสื่อโทรทัศน์มีบริษัทให้บริการเคเบิลทีวีเพียงบริษัทเดียวคือบริษัทเวสต์อินดีสวิดีโอ ซึ่งทำการควบคุมและออกอากาศเพียงช่องเดียว แต่ก็ยังสามารถรับสัญญาณโทรทัศน์จากบาฮามาสได้ มีผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต 2 บริษัท ccTLD สำหรับอินเทอร์เน็ตคือ .tc
สื่อสิ่งพิมพ์ชั้นนำบนหมู่เกาะเติกส์และเคคอสมีอยู่ 3 รายคือ Turks and Caicos Weekly News, Turks and Caicos Sun และ Turks and Caicos Free Press โดยทั้งสามเจ้านี้มีลักษณะเป็นหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ทั้งหมด
การศึกษา
[แก้]เด็กอายุตั้งแต่ 5-17 ปีมีสิทธิ์เรียนโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายและมีข้อผูกมัดที่จะต้องศึกษาให้ครบกำหนดตามกฎหมาย การเรียนในระดับประถมศึกษามี 6 ชั้นปี ส่วนในระดับมัธยมศึกษามีอยู่ 5 ชั้นปีด้วยกัน วิทยาลัยประจำชุมชนหมู่เกาะเติกส์และเคคอสเปิดทำการสอนในระดับอุดมศึกษาให้กับนักเรียนที่สำเร็จการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาไปแล้ว และยังดูแลโครงการการศึกษาสำหรับผู้ใหญ่อีกด้วย กระทรวงสุขภาพ การศึกษา เยาวชน กีฬา และสตรีเป็นผู้ดูแลการศึกษาของหมู่เกาะแห่งนี้
ประชากรศาสตร์
[แก้]ประชากร
[แก้]ในเกาะทั้งหมด 30 เกาะ มีผู้อยู่อาศัยอยู่บน 8 เกาะด้วยกัน ประชากรจากการสำรวจกลางปี ค.ศ. 2006 อยู่ที่ประมาณ 32,000 คน หนึ่งในสามมีอายุต่ำกว่า 15 ปี และมีร้อยละ 4 เท่านั้นที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป ในปี ค.ศ. 2000 อัตราการเติบโตของประชากรอยู่ที่ร้อยละ 3.55 ต่อปี อัตราการตายของเด็กแรกเกิดอยู่ที่ 18.66 ต่อ 1,000 และอายุขัยโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 73.28 ปี เชื้อชาติของประชากรส่วนใหญ่คือชนผิวดำมีอยู่ร้อยละ 90 ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 10 มีเชื้อชาติผสม หรือผู้ที่มาเชื้อสายมาจากยุโรปหรืออเมริกาเหนือ[7]
ศาสนา
[แก้]ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาคริสต์นิกายโปรเตสแตนต์ ที่เหลือนับถือศาสนาคริสต์นิกายอื่น ๆ
ภาษา
[แก้]ภาษาทางการประจำหมู่เกาะคือภาษาอังกฤษ ประชากรพื้นเมืองพูดภาษานี้ด้วยสำเนียงเฉพาะซึ่งมีลักษณะคล้ายคลึงกับสำเนียงบาฮามาส และ จาไมกัน[8]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ http://www.nationalanthems.info/tc.htm
- ↑ "Change of Governor of Turks and Caicos Islands: Ms Dileeni Daniel-Selvaratnam". GOV.UK (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 2022-12-18.
- ↑ "Select Committee on Foreign Affairs Seventh Report". สืบค้นเมื่อ 2008-07-06.
- ↑ ที่มาแต่ละแห่งระบุข้อมูลต่างกันไป CIA World Factbook เก็บถาวร 2016-01-30 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน ระบุว่ามีพื้นที่ 430 ตร.กม., europa.eu says 417 km2 and the Britannica ระบุไว้ว่า "พื้นที่เวลาน้ำขึ้น: 616 ตร.กม. พื้นที่เวลาน้ำลง: 948 ตร.กม. report เก็บถาวร 2011-07-25 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน Turks and Caicos Islands Department of Economic Planning and Statistics ระบุคล้ายกับ Encyclopedia Britannica แต่ข้อมูลละเอียดน้อยกว่า
- ↑ "Department of Economic Planning & Statistics". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-09-13. สืบค้นเมื่อ 2009-03-30.
- ↑ "Department of Economic Planning & Statistics". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-09-13. สืบค้นเมื่อ 2009-03-30.
- ↑ "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-01-30. สืบค้นเมื่อ 2009-03-30.
- ↑ Turks and Caicos Creole English
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]เว็บไซต์ทางการ