ข้ามไปเนื้อหา

คำเทศนาบนภูเขา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก Sermon on the Mount)
การเทศนาบนภูเขา ภาพวาดของ Carl Heinrich Bloch

คำเทศนาบนภูเขา (อังกฤษ: The Sermon On The Mount) ในพระวรสารนักบุญมัทธิว (Gospel of Matthew) คือบันทึกการเทศนาของพระเยซู เมื่อประมาณปี ค.ศ. 30 บนภูเขาต่อหน้าอัครสาวก 12 คนและผู้มาเฝ้าชุมนุมจำนวนมาก (Matt 5:1; 7:28) เป็นการเทศนาที่ประมวลคำสอนของพระเยซูที่เคยสั่งสอนตลอดช่วงเวลาสามปีในปาเลสไตน์ไว้อย่างเป็นระบบที่สุด นับเป็นบทเทศนาที่ท้าทายสภาพสังคมในยุคสมัยนั้น และแสดงถึงความแตกต่างในแนวทางคำสอนของพระเยซูกับแนวทางของศาสนายูดาห์ดั้งเดิมอย่างชัดเจน แสดงให้เห็นถึงจุดประสงค์ของพระเยซูที่ต้องการปฏิรูปชีวิตมนุษย์ไปสู่หนทางที่ถูกต้องอีกระดับหนึ่งตามแนวทางของพระองค์ อีกทั้งยังเป็นหลักจริยธรรมที่ทรงมอบให้แก่มนุษย์ทุกคนได้ถือปฏิบัติเพื่อความสุขทั้งในโลกนี้และโลกหน้า ส่วนหนึ่งของคำเทศนาบนภูเขาที่ถูกอ้างอิงอยู่เสมอ รู้จักกันในชื่อหนึ่งว่า "พระพรมหัศจรรย์" (Beatitudes)

คำเทศนาบนภูเขา ที่ปรากฏในพระวรสารทั้ง 4 เล่มในคัมภีร์ไบเบิล เริ่มต้นด้วยคำสอนเกี่ยวกับผู้เหมาะสมกับแผ่นดินสวรรค์คือ

  1. คนที่ยอมรับว่าตนเองมีความบกพร่องฝ่ายจิตวิญญาณ คือมีขีดจำกัดในการควบคุมความคิด อารมณ์ ที่มีอิทธิพลต่อการกระทำของตนให้อยู่ในแนวทางที่ชอบธรรมและบริสุทธิ์ได้ตลอดเวลา
  2. คนที่เสียใจอย่างสุดซึ้งกับความบกพร่องในข้อแรก เป็นความเสียใจที่นำไปสู่ความปรารถนาอย่างยิ่งที่จะแก้ไข
  3. คนที่ยอมรับคำสอนและการฝึกฝนอย่างหนัก ภาพที่มองเห็นได้ชัดเกี่ยวกับการฝึกฝนนี้คือ เช่น ฝึกสัตว์บางชนิดจนใช้งานได้แม้แต่เดิมสัตว์นี้จะไม่รู้ภาษามนุษย์เลย
  4. คนที่ปรารถนาจะมีชีวิตอย่างถูกต้อง ความปรารถนานี้เหมือนกับคนที่หิวกระหายน้ำในทะเลทรายและเห็นแหล่งน้ำอยู่เบื้องหน้าจึงจับจ้องและดินรนกระเสือกกระสนไปให้ถึงเพราะเขารู้ว่าถ้าเขาไม่ได้สิ่งที่เขาต้องการเขาจะต้องตาย
  5. คนที่รักและปรารถนาดีต่อผู้อื่นอยู่เสมอ ความรักนี้มีกำลังแสดงออกมาเป็นการกระทำที่ไม่มีเงื่อนไขของการตอบแทน
  6. คนที่มีท่าทีส่วนลึกในจิตใจบริสุทธิ์ หาข้อตำหนิไม่ได้
  7. คนที่สร้างสันดิ
  8. คนที่ถูกข่มเหงเพราะการดำเนินชีวิตที่ถูกต้อง หรือมีชีวิตอย่างลำบากเพื่อรักษาความถูกด้อง
  9. คนที่ถูกข่มเหงเพราะเป็นคริสตชน

ซึ่งคำสอนทั้ง 9 ข้อนี้เกี่ยวข้องกัน และจะมีพื้นฐานมาจากข้อแรกเสมอเหมือนการก่อสร้างปิรามิด พระเยซูสอนคำสอนนี้แก่สาวกของพระองค์โดยตรงแต่มีประชาชนจำนวนมากได้รับฟังด้วย ในไบเบิลเรียกหัวข้อคำสอนนี้ว่า "ผู้เป็นสุข" ความยากของการกระทำและความคิดทั้ง 9 อย่างเกี่ยวข้องกับคำตรัสของพระองค์ที่ว่า "เราเป็นเถาองุ่น ท่านทั้งหลายเป็นแขนง ผู้ที่เข้าสนิทอยู่ในเราและเราเข้าสนิทอยู่ในเขา ผู้นั้นก็จะเกิดผลมาก เพราะถ้าแยกจากเราแล้วท่านจะทำสิ่งใดไม่ได้เลย" การทำดีของคริสตชนจึงเกี่ยวข้องกับการพึ่งพาฤทธิ์อำนาจของพระเยซูมากกว่าการขวนขวายพยายามส่วนตัว ซึ่งมีคำสอนอีกมากในชุดคำเทศนาบนภูเขา เกี่ยวกับการดำเนินชีวิตส่วนตัว และการอยู่ร่วมกับผู้อื่น

เนื้อหาอื่น ๆ ในคำเทศนาบนภูเขา

[แก้]

เกลือแห่งแผ่นดินโลก คำสอนนี้ต้องการให้มนุษย์ดำรงรักษาความดีงามเหมือนเกลือรักษาความเค็ม เพราะถ้าทิ้งความดีไปแล้วก็ไม่ต่างไปจากเกลือที่หมดรสเค็ม ประโยชน์ที่จะพึงมีก็หมดไป หาคุณค่าใดไม่ได้เลย

ความสว่างของโลก คำสอนนี้เป็นการส่งเสริมและให้กำลังใจแก่ผู้ทำความดีและปฏิบัติตามธรรมบัญญัติอย่างมั่นคง ความดีที่เขาทำไว้จะมีผลต่อโลกและผู้อื่น เป็นผลให้ผู้ที่เห็นความดีนั้นสรรเสริญพระเป็นเจ้าผู้เป็นพระบิดา เปรียบเหมือนกับลูกที่ดีบิดาย่อมได้รับการยกย่อง เพราะความดีของลูก

พระธรรมบัญญัติใหม่ (The New Testament) คำสอนนี้แสดงให้เห็นถึงเจตจำนงค์ของพระเยซูที่มุ่งชี้แจงให้บุคคลทั้งหลาย ให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ว่า การเผยแพร่ศาสนาที่ได้ดำเนินอยู่นั้น มิได้เป็นไปเพื่อการล้มล้างหรือยกเลิก พระบัญญัติเดิมที่ชาวยิวได้นับถือสืบกันมาหากแต่ว่าเป็นการปฏิรูปคำสอนเดิมให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น

ความโกรธ คำสอนได้สะท้อนถึงข้อห้ามในพระธรรมบัญญัติเดิมที่ว่า อย่าฆ่าคน แต่พระเยซูได้มาขยายคำสอนนี้ให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น โดยชี้ให้ทุกคนพึงระวังในด้านจิตใจด้วยมิใช่ระวังแต่ทางกายเพียงทางเดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่งความโกรธซึ่งเป็นอารมณ์ความรู้สึกอย่างหนึ่งที่ให้ผลในทางกาย การฆ่ายากที่จะเกิดขึ้นได้ถ้าไม่มีความโกรธ ความโกรธจึงเป็นอารมณ์ความรู้สึกที่ทุกคนต้องระวังอย่าให้เกิดขึ้นได้ ความในใจที่มีอยู่จะต้องปลดเปลื้องให้หมด อย่าได้ติดค้างไว้เพราะสิ่งเหล่านี้เมื่อทับถมมากเข้าจะมีผลทางกาย ในที่สุดทำให้เกิดการเข่นฆ่าทำลายล้างซึ่งกันและกัน

การล่วงประเวณี คำสอนได้แสดงให้เห็นถึง การปฏิรูปทางความคิดแต่เดิมที่มุ่งหมายเฉพาะการล่วงประเวณีที่เกิดขึ้นทางกายแต่พระเยซูได้สอนให้ลึกซึ้งไปกว่านี้ โดยเตือนให้ทุกคนระวังการล่วงประเวณีทางใจ ซึ่งเกิดจากความพอใจในทางจิตวิญญาณ ดังนั้นถ้าร่างกายเราส่วนใดส่วนหนึ่งทำผิด ทำบาป ควรทำลายส่วนนั้นทิ้งเสีย เพราะถึงจะเสียอวัยวะไปก็ดีกว่าตัวเราจะต้องลงนรก

การหย่าร้าง คำสอนนี้แสดงให้เห็นถึงโลกทัศน์อันยาวไกลของพระเยซูที่เห็นว่า แต่เดิมมาที่มีการอนุญาตให้บุคคลทั้งหลายหย่ากันอย่างง่าย เพียงแค่ทำหนังสือหย่ากันก็เป็นการเพียงพอแล้วนั้น เท่ากับเปิดโอกาสให้บุคคลไม่เกรงกลัวต่อบาป การแต่งงานก็จะเกิดขึ้นเพราะความพอใจแต่ขาดความรับผิดชอบและการหย่าร้างก็จะมีมากขึ้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีผู้ชี้นำและทำความเข้าใจในเรื่องนี้ก่อนที่สังคมจะเต็มไปด้วยคนทำชั่วเพราะความไม่รู้จริง

การสบถสาบาน คำสอนนี้ได้ทำให้เห็นว่า ให้บุคคลยึดถือสัจจะและความจริงใจอย่างมั่นคง โดยไม่จำเป็นต้องไปอ้างสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือสิ่งอื่น ๆ เพื่อเป็นหลักประกันคำพูดของตนเอง คนที่มีจิตใจมั่นคงในคำสอนของศาสนาย่อมไม่กล่าวคำเท็จ และมีความเชื่อมั่นในตนเองทำทุกอย่างด้วยความซื่อสัตย์

การตอบแทน คำสอนนี้ได้แสดงให้เห็นว่าพระเยซูไม่ต้องการให้บุคคลทั้งหลายมีจิตใจอาฆาตแค้นต่อกัน คำสอนในตอนนี้ทำให้นึกถึงการละอัตตาในพุทธศาสนา ตราบใดที่คนเรายังมีความ ยึดมั่นถือมั่นในตัวตนของตนอยู่ก็ไม่สามารถที่จะทำอะไรเพื่อผู้อื่นและพระเจ้าได้

รักศัตรู คำสอนนี้สะท้อนให้เห็นถึงหลักแห่งความเมตตากรุณาต่อสัตว์โลกทั้งหลาย แม้แต่ศัตรูผู้ที่คิดร้าย บุคคลนั้นได้ชื่อว่ามนุษย์ที่สมบูรณ์เพราะสามารถต้านทานกิเลสในจิตใจได้

การทำทาน คำสอนนี้ได้แสดงให้เห็นว่า พระเยซูต้องการให้บุคคลทำดีจนเคยชินเป็นนิสัย มากกว่าที่จะทำบุญเพื่อหวังบำเหน็จรางวัล เพราะความดีที่แท้จริงคือการเป็นผู้ให้มากกว่าผู้รับ

การอธิษฐาน คำสอนนี้แสดงให้เห็นว่าการสวดมนต์อธิษฐานด้วยความเคารพอย่างแท้จริงนั้น ต้องไม่อวดตัวว่าเป็นผู้เคร่งศาสนาและเป็นผู้มีศีลมีสัตย์ ผู้ปฏิบัติต่อศาสนาด้วยความเคารพอย่างจริงใจ

การถืออดอาหาร คำสอนนี้สะท้อนให้บุคคลปฏิบัติทางศาสนาด้วยความเชื่อมั่น การถืออดอาหารเป็นการปฏิบัติทางศาสนาที่ทุกคนควรเต็มใจทำ แต่ไม่ใช่จำใจทำ เพราะนั่นไม่ใช่ความดีที่แท้จริง ทรัพย์สมบัติในสวรรค์คำสอนนี้ ทำให้เกิดแนวคิดในเรื่องการทำจิตให้หมดความยึดถือในทรัพย์สมบัติ ภายนอกกาย แต่ความดียิ่งทำมากเท่าใดสวรรค์ย่อมเป็นที่ไปสำหรับบุคคลนั้น

ประทีปของร่างกาย คำสอนนี้ทำให้เราคิดได้ว่าความสว่างในจิตใจนั้นเกิดจากมุมมองอันถูกต้องถ้าดวงตา สามารถหยั่งเห็นสัจธรรมของชีวิตได้ การดำเนินชีวิตย่อมเป็นไปตามปกติ

พระเจ้าและเงินทอง คำสอนนี้สะท้อนแนวคิดที่ว่า คนเราไม่สามารถยึดถือเงินตราหรือพระเจ้าเป็น ที่พึ่งอาศัย โดยพร้อมกันทั้งสองอย่าง แต่จะต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่งด้วยความรักและสัตย์ซื่ออย่างหมดหัวใจ และจะต้องหมิ่นประมาทอีกฝ่ายหนึ่ง เพราะนายทั้งสองนี้เป็นปฏิปักษ์ต่อกัน

ความกระวนกระวาย คำสอนนี้ทำให้เห็นว่า มนุษย์รักและศรัทธาในพระเจ้าก็ควรจะวางใจเชื่อ พระองค์ ให้คำนึงถึงแต่ปัจจุบันเท่านั้น และทำดีให้ถึงที่สุดของความดีนั้น

การกล่าวโทษผู้อื่น คำสอนนี้ทำให้เกิดความคิดที่ว่า "บุคคลหว่านพืชเช่นใด ย่อมได้ผล อย่างนั้น" เรากล่าวโทษผู้อื่นอย่างไร และเราก็จะถูกกล่าวโทษเช่นนั้นบ้าง คนส่วนมากไม่ใคร่มอง ตนเอง แต่มักเพ่งโทษของผู้อื่น จึงมองไม่เห็นความชั่วของตนทำให้เป็นผู้ที่โลกทัศน์มืดมัวและปัญญามืดบอด

ขอ หา เคาะ คำสอนนี้ได้แสดงให้เห็นว่าพระเจ้า ย่อมมีน้ำพระทัยเมตตาแก่ผู้ทุกข์ยากที่ร้องขอความช่วยเหลือพระเจ้าย่อมไม่ทอดทิ้ง พระองค์ดีต่อพวกเขาอย่างไร พวกเขาก็ควรที่จะดำเนินตามรอยพระองค์ ด้วยการปฏิบัติต่อผู้อื่นอย่างที่ปรารถนาจะให้ผู้อื่นปฏิบัติ เช่นนั้นต่อพวกเขา

ประตูคับแคบ คำสอนนี้เป็นการเตือนสติบุคคลให้ดำรงตนอยู่ในความไม่ประมาทคนส่วนมากชอบความง่าย ความสะดวกสบาย จึงพลาดต่อการทำผิดทำชั่ว จิตที่ชอบความสะดวกสบาย จึงมีคนน้อยมากที่จะยอมประพฤติปฏิบัติความดีงามและยอมต้านกระแสความต้องการของโลก คนส่วนมากเลือกประตูกว้างซึ่งเป็นทางที่สะดวกกว่าประตูที่คับแคบเช่นเดียวกับคนส่วนมากเลือกที่จะทำชั่วมากกว่าที่จะทำความดีเพราะการทำดีนั้นยากลำบาก ต้องใช้ความอดทนและความพยายามอย่างสูง

รู้จักต้นไม้ด้วยผลของมัน คำสอนนี้เป็นการเตือนใจบุคคลให้รู้จักเฟ้นบูชาบุคคลที่ควรบูชา ไม่ศรัทธา เพียงเพราะเห็นว่ามีท่าทีน่าเลื่อมใส แต่ให้ดูผลงานของบุคคลที่บอกถึงคุณค่าที่แท้จริงของเขา

เราไม่เคยรู้จักเจ้าเลย คำสอนนี้ได้แสดงให้เห็นว่าบุคคลที่เอ่ยเรียกพระเจ้าบ่อยครั้ง ไม่ได้หมายความว่าจะได้สิทธิอยู่ในอาณาจักรสวรรค์ เพราะปากที่เคยพร่ำถึงอยู่เสมอแต่ไม่เคยปฏิบัติตามคำสอนของพระเจ้าก็ไม่ได้ชื่อว่าเป็นคนดีที่แท้จริง และเป็นคนที่พระเจ้าไม่เคยรู้จัก

รากฐานสองชนิด คำสอนนี้เป็นตอนสุดท้ายที่ย้ำเตือนให้บุคคลทั้งหลาย นำคำสอนที่กล่าวมาทั้งหมดตั้งแต่ต้นไปปฏิบัติซึ่งจะเกิดผลดีแก่เขาทั้งโลกนี้และโลกหน้า อีกทั้งเป็นการเตือนสติบุคคลให้ดำเนินชีวิตอยู่ด้วยความไม่ประมาท

อ้างอิง

[แก้]
  • หนังสือชีวิตพระเยซู โดย จอย เคอลเลน

ดูเพิ่ม

[แก้]