ข้ามไปเนื้อหา

ดาวแห่งเบธเลเฮม

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
การนมัสการของโหราจารย์ โดยจอตโต ดี บอนโดเน (ค.ศ. 1267–1337) จิตรกรชาวฟลอเรนซ์ ดาวแห่งเบธเลเฮมปรากฏในฐานะดาวหางเหนือพระกุมาร จอตโตเคยเห็นการปรากฏของดาวหางแฮลลีย์ในปี ค.ศ. 1301

ดาวแห่งเบธเลเฮม (อังกฤษ: Star of Bethlehem) หรือ ดาวคริสต์มาส (อังกฤษ: Christmas Star)[1] ปรากฏในเรื่องราวการประสูติของพระเยซูในพระวรสารนักบุญมัทธิว บทที่ 2 ซึ่ง "พวกนักปราชญ์จากทิศตะวันออก" ได้รับการดลใจโดยดวงดาวให้เดินทางมายังเยรูซาเล็ม พวกนักปราชญ์เข้าเฝ้ากษัตริย์เฮโรดแห่งยูเดียและทูลถามว่า:

พระกุมารผู้ที่ทรงบังเกิดมาเป็นกษัตริย์ของชนชาติยิวนั้นอยู่ที่ไหน? เราได้เห็นดาวของท่านทางทิศตะวันออก และเราจึงมาเพื่อจะนมัสการท่าน[2]

เฮโรดทรงเรียกบรรดาธรรมาจารย์และปุโรหิตมาปรึกษา พวกเขาอ้างถึงวรรคจากหนังสือมีคาห์ ตีความว่าเป็นคำเผยพระวจนะว่าพระเมสสิยาห์ของชาวยิวจะประสูติในเบธเลเฮมทางใต้ของเยรูซาเล็ม เฮโรดจึงลอบวางแผนจะตามหาและปลงพระชนม์พระเมสสิยาห์เพื่อรักษาตำแหน่งกษัตริย์ของพระองค์ไว้ เฮโรดรับสั่งต่อพวกนักปราชญ์ให้ตามหาพระเมสสิยาห์และกลับมาแจ้งพระองค์ระหว่างทางกลับ

ดวงดาวนำพวกนักปราชญ์ไปถึงสถานที่ประสูติของพระเยซูในเบธเลเฮม พวกนักปราชญ์นมัสการพระกุมารและถวายเครื่องบรรณาการ พวกนักปราชญ์ได้รับคำเตือนจากพระเจ้าไม่ให้กลับไปเข้าเฝ้าเฮโรด พวกเขาจึงเดินทางกลับโดยใช้เส้นทางอื่น[3]

คริสต์ศาสนิกชนหลายคนเชื่อว่าดาวดวงนี้เป็นหมายอัศจรรย์ นักเทววิทยาบางคนอ้างว่าดาวดวงนี้เป็นการทำให้คำเผยพระวจนะที่รู้จักในชื่อคำเผยพระวจนะดวงดาวให้เป็นจริง[4] นักดาราศาสตร์พยายามหลายครั้งที่จะเชื่อมโยงดาวดวงนี้กับปรากฏการณ์บนท้องฟ้าที่ไม่ปกติ เช่น ปรากฏการณ์ดาวล้อมเดือน (conjunction) ของดาวพฤหัสบดีและดาวเสาร์ หรือของดาวพฤหัสบดีและดาวศุกร์[5] ดาวหาง หรือมหานวดารา[6] นักวิชาการสมัยใหม่บางคนไม่ถือว่าเรื่องราวนี้เป็นการระบุถึงเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ แต่เป็นเรื่องแต่งที่เพิ่มเข้ามาภายหลังในเรื่องราวของพระวรสารหลัก[7]

หัวข้อเรื่องดาวแห่งเบธเลเฮมเป็นที่นิยมในการแสดงของท้องฟ้าจำลองในช่วงเทศกาลคริสต์มาส[8] อย่างไรก็ตาม แหล่งข้อมูลโบราณส่วนใหญ่และธรรมเนียมของคริสตจักรโดยทั่วไประบุว่าพวกนักปราชญ์ไปเข้าเฝ้าที่เบธเลเฮมหลังการประสูติของพระเยซูผ่านไปแล้วระยะหนึ่ง[9] ตามธรรมเนียมนิยมมีการฉลองวาระการเข้าเฝ้าของพวกนักปราชญ์ในวันสมโภชพระคริสต์แสดงองค์ (6 มกราคม) ในศาสนาคริสต์ตะวันตก[10]

เรื่องราวนี้ในพระวรสารนักบุญมัทธิวระบุถึงพระเยซูด้วยคำภาษากรีกที่มีความหมายกว้างว่า παιδίον, paidíon ซึ่งอาจหมายถึง "ทารก" หรือ "เด็ก" แทนที่จะใช้คำที่มีความหมายจำเพาะถึงทารกมากกว่าคือ βρέφος, bréphos ซึ่งอาจอนุมานได้ว่าเวลาได้ผ่านไปแล้วระยะหนึ่งหลังการประสูติ อย่างไรก็ตาม คำว่า παιδίον, paidíon ยังใช้ในพระวรสารนักบุญลูกาโดยเฉพาะเมื่อเกี่ยวกับการประสูติของพระเยซูและการถวายพระองค์ในพระวิหารในภายหลัง[11] กษัตริย์เฮโรดมีรับสั่งให้สังหารทารกเพศชายชาวฮีบรูทั้งหมดในพื้นที่ที่มีอายุจนถึง 2 ขวบในเหตุการณ์การประหารทารกผู้วิมล

เรื่องเล่าในพระวรสารนักบุญมัทธิว

[แก้]
การนมัสการของโหราจารย์, อาสนวิหารชาทร์, โดย Jehan de Beauce, ประเทศฝรั่งเศส, คริสต์ศตวรรษที่ 16

พระวรสารนักบุญมัทธิวเล่าเรื่องที่พวกนักปราชญ์[12] มาถึงราชสำนักของกษัตริย์เฮโรดในเยรูซาเล็มและทูลกษัตริย์เรื่องดาวที่เผยถึงการประสูติของกษัตริย์แห่งชาวยิว:

พระเยซูได้ทรงบังเกิดที่บ้านเบธเลเฮมแคว้นยูเดียในรัชกาลของกษัตริย์เฮโรด ภายหลังมีพวกนักปราชญ์จากทิศตะวันออกมายังกรุงเยรูซาเล็ม ถามว่า 2 "พระกุมารผู้ที่ทรงบังเกิดมาเป็นกษัตริย์ของชนชาติยิวนั้นอยู่ที่ไหน? เราได้เห็นดาวของท่านทางทิศตะวันออก และเราจึงมาเพื่อจะนมัสการท่าน" 3 เมื่อกษัตริย์เฮโรดทรงได้ยินดังนั้นแล้ว ก็วุ่นวายพระทัย ทั้งชาวกรุงเยรูซาเล็มก็พลอยวุ่นวายใจไปด้วย 4แล้วท่านทรงให้ประชุมพวกหัวหน้าปุโรหิตกับพวกธรรมาจารย์ของประชาชน แล้วก็ตรัสถามพวกเขาว่า "พระคริสต์จะทรงบังเกิดที่ไหน?" 5 พวกเขาทูลว่า "ที่บ้านเบธเลเฮมแคว้นยูเดีย เพราะว่าผู้เผยพระวจนะได้เขียนไว้ ดังนี้ว่า

6'บ้านเบธเลเฮม ในแผ่นดินยูเดีย
จะไม่เป็นบ้านที่เล็กน้อยที่สุดในสายตาของพวกผู้ครองแผ่นดินยูเดีย
เพราะว่าเจ้านายองค์หนึ่งจะออกมาจากท่าน
ผู้ซึ่งจะครอบครองอิสราเอล ชนชาติของเรา'"

7 แล้วเฮโรดจึงทรงเชิญพวกนักปราชญ์เข้ามาอย่างลับๆ ทรงสอบถามพวกเขาจนได้ความถี่ถ้วนถึงเวลาที่ดาวนั้นได้ปรากฏขึ้น 8 แล้วท่านทรงให้พวกนักปราชญ์ไปยังบ้านเบธเลเฮมรับสั่งว่า "จงไปค้นหาพระกุมารนั้นเถิด เมื่อพบแล้วจงกลับมาแจ้งแก่เราเพื่อเราจะไปนมัสการท่านด้วย" 9 พวกนักปราชญ์จึงไปตามรับสั่ง และดาวซึ่งพวกเขาได้เห็นทางทิศตะวันออกนั้นได้นำหน้าพวกเขาไป จนมาหยุดอยู่เหนือสถานที่ซึ่งพระกุมารอยู่นั้น 10 เมื่อพวกนักปราชญ์ได้เห็นดาวนั้นแล้วก็มีความยินดียิ่งนัก 11 เมื่อเข้าไปในบ้านก็พบพระกุมารกับนางมารีย์มารดา จึงก้มลงนมัสการพระกุมารนั้น แล้วเปิดหีบสมบัติของพวกเขาและถวายเครื่องบรรณาการแด่พระกุมาร คือ ทองคำ กำยาน และมดยอบ

ดูเพิ่ม

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. "A Christmas Star for SOHO". NASA. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ December 24, 2004. สืบค้นเมื่อ 2008-07-04..
  2. มัทธิว 2:1 -2
  3. มัทธิว 2:11 -12
  4. Freed, Edwin D. (2001). The Stories of Jesus' Birth: A Critical Introduction. Continuum International. p. 93. ISBN 0-567-08046-3.
  5. Telegraph (2008-12-09). "Jesus was born in June". The Daily Telegraph. London. สืบค้นเมื่อ 2011-12-14..
  6. "Star of Bethlehem." Cross, F. L., ed. The Oxford dictionary of the Christian Church. New York: Oxford University Press. 2005.
  7. For example, Paul L. Maier, "Herod and the Infants of Bethlehem", in Chronos, Kairos, Christos II, Mercer University Press (1998), 171; Geza Vermes, The Nativity: History and Legend, London: Penguin, 2006, p. 22; E. P. Sanders, The Historical Figure of Jesus, 1993, p. 85; Aaron Michael Adair, "Science, Scholarship and Bethlehem's Starry Night", Sky and Telescope, Dec. 2007, pp. 26–29 (reviewing astronomical theories).
  8. John, Mosley. "Common Errors in 'Star of Bethlehem' Planetarium Shows". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-05-16. สืบค้นเมื่อ 2008-06-05..
  9. Andrews, Samuel James (2020). "When did the Magi visit?". Salem Web Network. สืบค้นเมื่อ 3 February 2020.
  10. Ratti, John. "First Sunday after the Epiphany". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-06-13. สืบค้นเมื่อ 2008-06-05..
  11. ลูกา 2:17, 27
  12. Brown 1988, p. 11.
  13. มัทธิว 2:1 -11

บรรณานุกรม

[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]
ดาวแห่งเบธเลเฮม
ชีวิตของพระเยซู: การประสูติ
ก่อนหน้า:
พระกุมารเยซูในพระวิหาร
   เหตุการณ์ใน   
พันธสัญญาใหม่
ถัดไป:
การนมัสการของพวกนักปราชญ์