ข้ามไปเนื้อหา

วงศ์ปลานกแก้ว

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก Scarinae)
ปลานกแก้ว
ช่วงเวลาที่มีชีวิตอยู่: เทอร์เทียอารีตอนปลาย-ปัจจุบัน
ปลานกแก้วไม่ทราบชนิดที่มัลดีฟส์
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Actinopterygii
อันดับ: Perciformes
วงศ์: Scaridae
วงศ์ย่อยและสกุล
บทความนี้กล่าวถึงปลานกแก้วที่เป็นปลาทะเล ส่วนปลานกแก้วที่เป็นปลาหมอน้ำจืด ดูที่บทความปลาหมอนกแก้ว

ปลานกแก้ว (อังกฤษ: parrotfish) เป็นปลาทะเลกระดูกแข็งในวงศ์ Scaridae ในอันดับปลากะพง (Perciformes)

เป็นปลาที่มีขนาดโตเต็มที่มีประมาณ 30-70 เซนติเมตร มีลักษณะทั่วไปคล้ายคลึงกับปลาในวงศ์ปลานกขุนทอง (Labridae) อาศัยอยู่ตามแนวปะการังเขตร้อนและเขตอบอุ่น ในน่านน้ำไทยพบได้ในฝั่งอ่าวไทยและทะเลอันดามัน พบมากกว่า 20 ชนิด เป็นปลาที่มีฟันแหลมคมคล้าย ๆ จะงอยของนกแก้วอันเป็นที่มาของชื่อเรียก จะงอยปากยืดหดได้ เกล็ดมีขนาดใหญ่ เส้นข้างลำตัวขาดตอน ครีบหางกลมมนหรือตัดตรง เป็นปลาที่กินฟองน้ำ, ปะการังหรือสาหร่ายเป็นอาหาร บ่อยครั้งจะพบรวมฝูงขณะหาอาหาร เวลาว่ายนำจะดูสง่างามเหมือนนกกำลังบินในอากาศ

ปลานกแก้วเป็นปลาที่มีสีสันสวยงาม โดยปลาตัวผู้จะมีสีสันสวยงามปลาตัวเมีย ลำตัวรียาว ส่วนใหญ่มีครีบหางแบบเว้าโดยขอบบนและขอบล่างของครีบหางมักยื่นยาวออก มีฟันคล้าย ๆ จะงอยปากนกแก้วเพื่อนำมาใช้ขูดกินปะการัง และมีฟันอีกชุดในคอหอยด้วย ซึ่งเมื่อกัดแทะนั้นจะเกิดเป็นเสียง เวลาถ่ายจะถ่ายออกมาเป็นผงตะกอนซึ่งมีประโยชน์ต่อแนวปะการัง สามารถเปลี่ยนเพศได้ ออกหากินในเวลากลางวัน นอนหลับในเวลากลางคืน เมื่อนอนปลานกแก้วจะนอนตามซอกหินแล้วปล่อยเมือกออกมาห่อหุ้มร่างกายเพื่อป้องกันอันตรายจากพวกสัตว์ทะเลต่าง ๆ เช่น พวกหนอนพยาธิหรือปรสิตที่จะมาทำร้ายหรือมารบกวน[2] [3]

ปัจจุบันมีการจับปลานกแก้วในแนวปะการังธรรมชาติมาเลี้ยง และนำมาเป็นอาหารจำนวนมาก ทำให้ประชากรลดลงอย่างรวดเร็ว และส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ เนื่องจากปลานกแก้วมีประโยชน์ในการสร้างสมดุลของระบบนิเวศแนวปะการัง

ดังนั้นจึงมีการรณรงค์ให้หยุดกินปลานกแก้ว เนื่องจากพบว่า ปลานกแก้วทุกตัวมาจากการประมงที่ผิดกฎหมาย เพราะปลานกแก้วมีถิ่นอาศัยอยู่ในแนวปะการัง และแนวปะการังเกือบทั้งหมดในประเทศไทยมีกฎหมายคุ้มครอง

ดูเพิ่ม

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. จาก itis.gov (อังกฤษ)
  2. "Family Scaridae". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-04-16. สืบค้นเมื่อ 2012-05-09.
  3. ปลานกแก้วทะเล[ลิงก์เสีย]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]