ข้ามไปเนื้อหา

ปลานกแก้วหัวโหนก

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ปลานกแก้วหัวโหนก
สถานะการอนุรักษ์
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Actinopterygii
อันดับ: Perciformes
วงศ์: Scaridae
วงศ์ย่อย: Scarinae
สกุล: Bolbometopon
Smith, 1956
สปีชีส์: B.  muricatum
ชื่อทวินาม
Bolbometopon muricatum
(Valenciennes in Cuvier & Valenciennes, 1840)
ชื่อพ้อง
  • Bolbometopon muricatus (Valenciennes, 1840) [บรรยายผิดพลาด]
  • Callyodon shimoniensis Smith, 1953
  • Scarus muricatus Valenciennes in Cuvier & Valenciennes, 1840

ระวังสับสนกับ: ปลานกขุนทองหัวโหนก

ปลานกแก้วหัวโหนก (อังกฤษ: Bumphead parrotfish, Green bumphed parrotfish; ชื่อวิทยาศาสตร์: Bolbometopon muricatum) เป็นปลากระดูกแข็งทะเลชนิดหนึ่ง จัดอยู่ในวงศ์ปลานกแก้ว (Scaridae) ถือเป็นปลานกแก้วมีขนาดใหญ่ที่สุด [2] โดยมีขนาดใหญ่ได้ถึง 1 เมตร หรือ 1.3 เมตร น้ำหนักได้ถึง 46 กิโลกรัม และมีอายุยืนยาวได้นานถึง 40 ปี มีลักษณะทั่วไปคล้ายกับปลานกขุนทองหัวโหนก (Cheilinus undulatus) ซึ่งอยู่ในวงศ์ปลานกขุนทอง (Labridae) และถือเป็นเพียงชนิดเดียวเท่านั้นที่อยู่ในสกุล Bolbometopon[3]

โดยมีลักษณะเด่น คือ บริเวณหน้าผากโหนกหนาแข็งแรง ทำหน้าที่เปรียบเสมือนกันชนเวลาที่เข้ากัดกินหินหรือปะการังแข็ง ๆ เพื่อกินเป็นอาหาร ปากและฟันหน้าใหญ่แข็งแรง ติดกันเป็นพรืดเหมือนกันกับปลานกแก้วชนิดอื่นทั่วไปไม่เป็นซี่ ๆ เหมือนสัตว์ทั่วไป ลักษณะของปากและฟันเช่นนี้ทำให้ถูกเปรียบเทียบว่าคล้ายกับจะงอยปากของนกแก้ว อันเป็นที่มาของชื่อ มีลำตัวทั่วไปสีเขียว

ปลานกแก้วหัวโหนกเป็นปลาที่อยู่อาศัยหากินรวมกันเป็นฝูง ตามแนวปะการัง ในฝูงหนึ่งประมาณ 13-14 ตัว ออกหากินในเวลากลางวัน และเข้านอนตามซอกหลืบถ้ำหรือตามซากเรือจมในเวลากลางคืน ในระดับความลึกไม่เกิน 30 เมตร

พบกระจายพันธุ์ตั้งแต่ชายฝั่งแอฟริกาตะวันออก, ทะเลแดง, ซามัว จนถึงนิวแคลิโดเนียและเกรตแบร์ริเออร์รีฟ ในออสเตรเลีย สำหรับน่านน้ำไทย ถือเป็นปลาที่พบได้น้อย หายาก จึงมักเป็นที่ชื่นชอบของนักประดาน้ำเพื่อถ่ายรูปเช่นเดียวกับปลานกขุนทองหัวโหนก โดยอาจพบได้ที่เขตอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลันและหมู่เกาะสุรินทร์แต่ก็ไม่บ่อยนัก และจำนวนก็ไม่มาก ครั้งละ 3-4 ตัวเท่านั้น

แต่สำหรับที่เกาะเซปาดัง ในมาเลเซีย และเกาะบอร์เนียว ในอินโดนีเซียจะพบได้ง่ายกว่า[4]

ปลานกแก้วหัวโหนก

อ้างอิง

[แก้]
  1. Chan, T.; และคณะ (2012). "Bolbometopon muricatum". IUCN Red List of Threatened Species. Version 2012.2. สืบค้นเมื่อ 9 June 2013.
  2. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-09-29. สืบค้นเมื่อ 2007-08-03. {{cite web}}: ระบุ |accessdate= และ |access-date= มากกว่าหนึ่งรายการ (help); ระบุ |archivedate= และ |archive-date= มากกว่าหนึ่งรายการ (help); ระบุ |archiveurl= และ |archive-url= มากกว่าหนึ่งรายการ (help)
  3. จาก itis.gov (อังกฤษ)
  4. Scuba Sport โดยสยามธุรกิจ

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]

ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Bolbometopon muricatum ที่วิกิสปีชีส์