ข้ามไปเนื้อหา

สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก Queen Victoria)
สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย
พระบรมฉายาลักษณ์ ค.ศ. 1882
สมเด็จพระราชินีนาถเเห่งสหราชอาณาจักร
ครองราชย์20 มิถุนายน 1837 –
22 มกราคม 1901
ราชาภิเษก28 มิถุนายน 1838
ก่อนหน้าพระเจ้าวิลเลียมที่ 4
ถัดไปพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 7
รัชทายาท
นายกรัฐมนตรี
ดูรายชื่อ
จักรพรรดินีนาถแห่งอินเดีย
ครองราชย์1 พฤษภาคม 1876 –
22 มกราคม 1901
มหาสมาคมเดลี1 มกราคม ค.ศ. 1877
ถัดไปเอ็ดเวิร์ดที่ 7
พระราชสมภพ24 พฤษภาคม ค.ศ. 1819(1819-05-24)
พระราชวังเค็นซิงตัน, ลอนดอน สหราชอาณาจักร
สวรรคต22 มกราคม ค.ศ. 1901(1901-01-22) (81 ปี)
ตำหนักออสบอร์น, ไอล์ออฟไวต์ สหราชอาณาจักร
ฝังพระบรมศพ4 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1901
พระบรมราชานุสรณ์ที่ฟรอกมอร์ วินด์เซอร์ บาร์กเชอร์
พระราชสวามีเจ้าชายอัลเบิร์ตแห่งซัคเซิน-โคบวร์คและโกทา
พระราชบุตร
รายละเอียด
พระนามเต็ม
อเล็กซันดรินา วิกตอเรีย
ราชวงศ์ฮันโนเฟอร์
พระราชบิดาเจ้าชายเอ็ดเวิร์ด ดยุกแห่งเคนต์และสแตรธเอิร์น
พระราชมารดาเจ้าหญิงวิกตอเรียแห่งซัคเซิน-โคบวร์ค-ซาลเฟลด์
ศาสนาคริสตจักรแห่งอังกฤษ
ลายพระอภิไธย

สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย (อังกฤษ: Queen Victoria; ชื่อเดิม: อเล็กซานดรีนา วิกตอเรีย; 24 พฤษภาคม ค.ศ. 1819 – 22 มกราคม ค.ศ. 1901) ทรงครองราชย์เป็นสมเด็จพระราชินีนาถแห่งสหราชอาณาจักร เเละประมุขสูงสุดเเห่งคริสตจักรแห่งอังกฤษ ตั้งเเต่วันที่ 20 มิถุนายน ค.ศ. 1837 จนสวรรคตในวันที่ 22 มกราคม ค.ศ. 1901 ทรงมีสายพระโลหิตสืบทอดมาเป็นเชื้อพระวงศ์ทั่วยุโรป (ยกเว้นประเทศเนเธอร์แลนด์) เช่น จักรพรรดิวิลเฮ็ล์มที่ 2 แห่งเยอรมนี หรือ สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร เป็นต้น จนได้รับพระราชสมัญญานามว่า "สมเด็จย่าแห่งยุโรป" (Grandmother of Europe) นอกจากนี้พระนางยังเป็น จักรพรรดินีนาถเเห่งอนุทวีปอินเดีย เเละประมุขสูงสุดแห่งจักรวรรดิบริติชเเละอาณานิคมในเครือ

วัยเยาว์

[แก้]
เจ้าหญิงวิกตอเรียขณะมีพระชันษา 4 ปี วาดโดยสตีเฟน พอยน์ เดนนิง ค.ศ. 1823

สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียเสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม ค.ศ. 1819 เป็นพระธิดาในเจ้าชายเอ็ดเวิร์ด ดยุกแห่งเคนต์และสแตรธเอิร์น พระราชโอรสในสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 3 แห่งสหราชอาณาจักรกับสมเด็จพระราชินีชาร์ล็อทเทอแห่งสหราชอาณาจักร พระราชชนนีคือเจ้าหญิงวิกตอเรียแห่งซัคเซิน-โคบวร์ค-ซาลเฟลด์ พระราชปิตุลา 2 พระองค์เป็นพระมหากษัตริย์สหราชอาณาจักร ได้แก่ สมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 4 แห่งสหราชอาณาจักร และ สมเด็จพระเจ้าวิลเลียมที่ 4 แห่งสหราชอาณาจักร

พระนามของพระองค์ ซึ่งแม้ว่าลงเอยในตอนท้ายเป็น อเล็กซานดรินา วิกตอเรีย ได้เป็นที่ถกเถียงกันระหว่างพระราชชนนีและบรรดาพระราชวงศ์ พระเจ้าวิลเลียมที่ 4 พระปิตุลาเสนอพระนามว่า เอลิซาเบธ ในขณะที่ทรงคัดค้านการขนานพระนามเจ้าหญิงตามพระราชมารดา โดยตรัสว่า วิกตอเรีย "ไม่เคยเป็นชื่อทางศาสนาคริสต์ที่รู้จักมาก่อนในประเทศนี้" แต่ดัชเชสแห่งเคนต์ทรงปฏิเสธ แม้พระนามชาร์ล็อตก็ไม่ได้รับการพิจารณา เพราะเป็นการไม่ให้เกียรติแก่เจ้าหญิงชาร์ลอตต์แห่งเวลส์ ซึ่งสิ้นพระชนม์ขณะมีพระประสูติกาลก่อนหน้านี้

พระชนกของเจ้าหญิงวิกตอเรียสิ้นพระชนม์ด้วยโรคมะเร็ง หลังจากการประสูติได้เพียงแปดเดือน และสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 3 พระอัยกาได้เสด็จสวรรคตในอีกหกวันต่อมา เจ้าชายผู้สำเร็จราชการ จึงเสวยราชสมบัติสืบต่อมาเป็นสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 4 แต่พระองค์เสด็จสวรรคตโดยปราศจากรัชทายาทเมื่อเจ้าหญิงมีพระชนมายุ 11 พรรษา ตอนนี้ราชบัลลังก์จึงตกเป็นของเจ้าชายวิลเลียม ดยุกแห่งแคลเรนซ์และเซนต์แอนดรูว์ ซึ่งเถลิงพระปรมาภิไธยเป็น สมเด็จพระเจ้าวิลเลียมที่ 4

รัชทายาท

[แก้]

เจ้าฟ้าชายจอร์จ ออกัสตัส เฟรเดอริก เจ้าชายแห่งเวลส์ ซึ่งต่อมาคือ สมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 4 พระราชโอรสพระองค์ใหญ่ในสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 3 มีพระราชธิดาอยู่เพียงพระองค์เดียวคือ เจ้าหญิงชาร์ลอตต์ ออกัสตาแห่งเวลส์ เมื่อเจ้าหญิงสิ้นพระชนม์ในปีค.ศ. 1817 พระโอรสที่ยังไม่ได้ทรงอภิเษกสมรสของพระเจ้าจอร์จที่ 3 ต่างทรงรีบเร่งที่จะอภิเษกสมรสและมีพระโอรสธิดาเพื่อรักษาลำดับการสืบราชบัลลังก์[1]

แม้ว่าพระเจ้าวิลเลียมที่ 4 เป็นพระชนกของพระโอรสธิดานอกกฎหมายจำนวนสิบคนที่เกิดจากโดโรธี จอร์แดน ซึ่งเป็นนางสนม โดยมีอาชีพเป็นนางละคร พระองค์ไม่มีพระโอรสธิดาที่ถูกต้องตามกฎหมายเลย เจ้าหญิงวิกตอเรียจึงทรงเป็นรัชทายาทในราชบัลลังก์ที่เปลี่ยนแปลงได้ (heiress presumptive)

กฎหมายในขณะนั้นไม่ได้ให้สิทธิ์แก่พระมหากษัตริย์เด็ก ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่จะต้องแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการหากเจ้าหญิงวิกตอเรียเสวยราชสมบัติก่อนการมีพระชนมายุครบ 18 พรรษา รัฐสภาจึงผ่านพระราชบัญญัติผู้สำเร็จราชการ ค.ศ. 1830 (Regency Act 1830) กำหนดให้เจ้าหญิงวิกตอเรีย ดัชเชสแห่งเคนต์ พระชนนีทรงปฏิบัติพระราชภารกิจแทนในฐานะผู้สำเร็จราชการขณะที่พระราชินีนาถยังไม่ทรงบรรลุนิติภาวะ อีกทั้งรัฐสภายังมิได้แต่งตั้งคณะองคมนตรีเพื่อจำกัดอำนาจของผู้สำเร็จราชการ พระเจ้าวิลเลียมที่ 4 มิโปรดดัชเชสแห่งเคนต์เลย และครั้งหนึ่งเคยตรัสว่าพระองค์มีพระประสงค์จะดำรงพระชนม์ชีพอยู่จนกระทั่งถึงวันประสูติครบรอบ 18 พรรษาของเจ้าหญิงวิกตอเรีย การปกครองโดยผู้สำเร็จราชการจึงไม่จำเป็นต้องมีอีกต่อไป

เจ้าชายอัลเบิร์ตแห่งซัคเซิน-โคบวร์คและโกทา

[แก้]

เจ้าหญิงวิกตอเรียทรงพบกับเจ้าชายอัลแบร์ทแห่งซัคเซิน-โคบวร์คและโกทา พระราชสวามีในอนาคตเมื่อพระชนมายุ 16 พรรษาในปีค.ศ. 2379[2] แต่เป็นการพบกันครั้งที่สองในปีค.ศ. 1839 ที่พระองค์ตรัสถึงเจ้าชายว่า "...อัลเบิร์ตที่รัก...เขาช่างมีเหตุผล เมตตา ใจดี และอัธยาศัยดีมากเช่นกัน นอกจากนั้นแล้วยังมีลักษณะภายนอกและหน้าตาที่น่าพึงพอใจและน่ายินดีเป็นที่สุดเท่าที่เธอจะเห็นได้เลยล่ะ"[3] เจ้าชายอัลเบิร์ตเป็นพระญาติชั้นที่หนึ่งในเจ้าหญิงวิกตอเรีย โดยแอนสท์ที่ 1 ดยุกแห่งซัคเซิน-โคบวร์คและโกทา พระบิดาเจ้าชายเป็นพระเชษฐาของพระชนนีของเจ้าหญิง ในฐานะพระประมุข พระองค์ต้องทรงขอ เจ้าชายอัลเบิร์ตอภิเษกสมรสด้วย การอภิเษกสมรสของทั้งสองถือว่ามีความสุขอย่างยิ่ง[4]

ต้นรัชกาล

[แก้]
สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียในวันครองราชสมบัติ

ในวันที่ 24 พฤษภาคม ค.ศ. 1837 เจ้าหญิงวิกตอเรียมีพระชนมายุ 18 พรรษา ซึ่งหมายความว่าจะไม่จำเป็นต้องมีผู้สำเร็จราชการอีกแล้ว รุ่งเช้าวันหนึ่งในอีกสี่สัปดาห์ต่อมาพระชนนีของเจ้าหญิงได้ทรงปลุกให้ตื่นจากบรรทมเพื่อรับทราบว่าเมื่อตอน 2 นาฬิกา 12 นาทีของวันที่ 20 มิถุนายน ค.ศ. 1837 พระเจ้าวิลเลียมที่ 4 เสด็จสวรรคตด้วยอาการพระหทัยล้มเหลวขณะมีพระชนมพรรษา 71 พรรษา จึงทำให้เจ้าหญิงทรงเป็นสมเด็จพระราชินีนาถแห่งสหราชอาณาจักร อย่างไรก็ดี พระองค์ไม่ได้เสวยราชสมบัติของราชอาณาจักรฮันโนเฟอร์ ซึ่งเป็นอาณาจักรที่มีเคยพระประมุของค์เดียวกันกับประเทศอังกฤษมาตั้งแต่ค.ศ. 1714

ฮันโนเฟอร์ได้มีรัฐธรรมนูญของตนในปีค.ศ. 1833 ซึ่งกล่าวถึงกฎหมายมรดกของตระกูลเวลฟ์ไว้ว่าถ้าไม่มีรัชทายาทในพระมหากษัตริย์ที่เป็นชาย สายเวลฟ์ของนครเบราน์ชไวก์-โวลเฟนบึทเทินจะได้สืบราชสมบัติราชอาณาจักรฮันโนเฟอร์ (ซึ่งเป็นราชอาณาจักรตั้งแต่ปีค.ศ. 1806) ยกเว้นว่าสายนั้นไม่มีทายาทอีกต่อไป ผู้หญิงจึงสามารถสืบราชบัลลังก์ได้ กษัตริย์ลีโอโพลด์ที่ 1 ในอนาคตทรงเป็นที่ปรึกษาหลักแก่พระราชนัดดาของพระองค์ ซึ่งก็คือ สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย พระธิดาในเจ้าหญิงวิกตอเรียแห่งซัคเซิน-โคบวร์ค-ซาลเฟลด์ พระเชษฐภคินี พระญาติชั้นที่หนึ่งของสมเด็จพระราชินีในสายของกษัตริย์เลโอโพลด์คือ พระเจ้าเลออปอลที่ 2 แห่งเบลเยียม และ เจ้าหญิงชาร์ลอตแห่งเบลเยียม

สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียก็ยังทรงมียศเป็นเจ้าหญิงแห่งฮันโนเฟอร์และดัชเชสแห่งเบราน์ชไวก์-ลือเนบูร์กตลอดพระชนม์ชีพของพระองค์ แต่ราชบัลลังก์ของฮันโนเฟอร์ได้ตกไปเป็นของเจ้าชายแอนสท์ ออกัสตัส ดยุกแห่งคัมบาลันด์และสแตรธเอิร์น พระปิตุลาซึ่งทรงกลายเป็นพระเจ้าแอ็นสท์ เอากุสท์ที่ 1 แห่งฮันโนเฟอร์ เนื่องมาจากว่าสมเด็จพระราชินีวัยดรุณียังมิได้ทรงอภิเษกสมรสและยังมิมีพระราชโอรสและธิดา พระเจ้าแอนสท์ เอากุสท์ จึงยังทรงเป็นรัชทายาทในราชบัลลังก์อังกฤษจนกระทั่งพระราชธิดาพระองค์แรกในสมเด็จพระราชินีประสูติในปีค.ศ. 1840

ในช่วงที่เจ้าหญิงวิกตอเรียเสด็จขึ้นครองราชสมบัติ รัฐบาลส่วนมากจะมาพรรควิก ที่อยู่ในอำนาจมาตั้งแต่ปีค.ศ. 1830 ยกเว้นการเว้นช่วงสั้นไปหลายครั้ง ลอร์ดเมลเบิร์น ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีสังกัดพรรควิกครั้งหนึ่งเคยมีอิทธิพลอันแรงกล้าต่อชีวิตอันอ่อนประสบการณ์ทางการเมืองของสมเด็จพระราชินีนาถ ซึ่งต้องทรงพึ่งพาคำแนะนำในเรื่องต่าง ๆ ของเขา (บางคนก็ถึงกับกล่าวว่าพระองค์ทรงเป็น "นางเมลเบิร์น") คณะรัฐมนตรีของเมลเบิร์นไม่ได้อยู่ในอำนาจเป็นเวลานานนัก เนื่องจากเริ่มไม่เป็นที่ชื่นชอบมากขึ้นและยิ่งไปกว่านั้นยังต้องเผชิญกับความยากลำบากอย่างมากในการปกครองอาณานิคมต่าง ๆ ของอังกฤษ ในประเทศแคนาดา อังกฤษต้องเผชิญกับการปฏิวัติ (ดูเรื่อง การลุกฮือในปีค.ศ. 1837 ที่มีการก่อการกบฏหลายครั้งกินเวลาถึงปีค.ศ. 1839) และในประเทศจาเมกา สภานิติบัญญัติแห่งอาณานิคมได้ต่อต้านนโยบายของอังกฤษโดยการปฏิเสธการผ่านกฎหมายใด ๆ ออกมา ต่อมาในปีค.ศ. 1839 รัฐบาลของเมลเบิร์นได้ลาออกไปเนื่องจากว่าไม่สามารถแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ในดินแดนโพ้นทะเลได้

สมเด็จพระราชินีนาถทรงมอบหมายให้เซอร์รอเบิร์ต พีล ซึ่งเป็นนักการเมืองสังกัดพรรคทอรีตั้งรัฐบาลใหม่ขึ้นมา แต่ว่าต้องเผชิญกับความล้มเหลวซึ่งรู้กันในเรื่องของกรณีห้องพระบรรทม ในเวลานั้นถือเป็นธรรมเนียมสำหรับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในสำนักพระราชวังต้องอยู่บนพื้นฐานของระบบอุปถัมภ์ (ซึ่งก็คือ นายกรัฐมนตรีต้องแต่งตั้งสมาชิกของสำนักพระราชวังบนพื้นฐานของความซื่อสัตย์ภายในพรรคตนเอง) นางกำนัลประจำห้องพระบรรทมของพระราชินีจำนวนมากเป็นภรรยาของนักการเมืองพรรควิก แต่เซอร์ โรเบิร์ต พีลกลับต้องการให้จะเปลี่ยนเป็นเหล่าภรรยาของนักการเมืองพรรคทอรีแทน สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียทรงคัดค้านอย่างมากกับการปลดนางกำนัลเหล่านี้ ซึ่งทรงเห็นเป็นเหมือนพระสหายสนิทมากกว่าเป็นเหล่าข้าราชบริพารที่ทำตามระเบียบพิธีการ เซอร์ โรเบิร์ต พีล รู้สึกว่าเขาไม่สามารถจะบริหารงานใต้ข้อจำกัดจากสมเด็จพระราชินีได้ ดังนั้นจึงได้ถวายบังคมทูลลาออกจากตำแหน่ง ทำให้เมลเบิร์นกลับมาดำรงตำแหน่งอีกครั้ง

อภิเษกสมรส

[แก้]
พิธีอภิเษกสมรสของสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียและเจ้าชายอัลเบิร์ตแห่งซัคเซิน-โคบวร์คและโกทา โดยจอร์จ เฮย์เตอร์

สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียทรงเข้าพิธีอภิเษกสมรสกับเจ้าชายอัลเบิร์ต ซึ่งเป็นพระญาติชั้นที่หนึ่งในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1840 ณ โบสถ์หลวงในพระราชวังเซนต์เจมส์ เจ้าชายอัลเบิร์ตทรงเป็นที่รู้จักโดยทั่วไปในฐานะ เจ้าชายพระราชสวามี (Prince Consort) แม้ว่าจะไม่ได้ทรงรับการสถาปนาเป็นทางการจนกระทั่งปีค.ศ. 1857 เจ้าชายมิเคยทรงได้รับบรรดาศักดิขุนนางเลย พระองค์มิทรงเป็นเพียงแค่ผู้ดูแลสมเด็จพระราชินีนาถอย่างใกล้ชิด แต่ยังเป็นที่ปรึกษาทางด้านการเมืองคนสำคัญแทนลอร์ดเมลเบิร์นในฐานะบุคคลสำคัญที่เป็นผู้นำในชีวิตของพระองค์อีกด้วย

ในการทรงพระครรภ์แรกของสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย เอ็ดเวิร์ด ออกซฟอร์ด ซึ่งมีอายุ 18 ปีได้พยายามลอบปลงพระชนม์พระราชินีขณะทรงประทับรถม้าพระที่นั่งกับเจ้าชายอัลเบิร์ตในกรุงลอนดอน ออกซฟอร์ดได้ยิงปืนออกไปสองครั้ง แต่กระสุนพลาดเป้าไปทั้งสองนัด เขาถูกพิจารณาว่าเป็นกบฏต่อชาติ แต่เขาได้รับการตัดสินให้พ้นความผิดเนื่องจากความวิกลจริต คำแก้ต่างของเขาเป็นที่สงสัยต่อหลายคน กล่าวคือ เขาอาจพยายามเรียกร้องความสนใจ แต่มีหลายคนกล่าวว่าการวางแผนประทุษร้ายจากพวกปฏิรูปการเมืองอยู่เบื้องหลังการลอบปลงพระชนม์ครั้งนี้ บางกลุ่มให้ข้อมูลว่าเป็นแผนการของกลุ่มสนับสนุนของกษัตริย์ เออร์เนส ออกัสตัสแห่งฮันโนเฟอร์ ซึ่งทรงเป็นรัชทายาทอยู่ในขณะนั้น ทฤษฎีในการวางแผนประทุษร้ายเหล่านี้ทำให้เกิดกระแสความรักชาติและความจงรักภักดีขึ้นภายในประเทศขึ้นมา

การลอบยิงไม่ได้มีผลกระทบต่อพระพลานามัยของสมเด็จพระราชินีหรือพระครรภ์แม้แต่น้อย พระธิดาพระองค์แรกในเก้าพระองค์ของทั้งสองพระองค์ ซึ่งมีพระนามว่า วิกตอเรีย ประสูติเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน ค.ศ. 1837

เมื่อพรรควิกภายใต้การนำของเมลเบิร์นแพ้การเลือกตั้งในปีค.ศ. 1838 และพรรคทอรีภายใต้การนำของพีลได้เข้ามารับหน้าที่แทน ก็ไม่มีเหตุการณ์กรณีห้องพระบรรทมเกิดขึ้นมาอีกครั้ง สมเด็จพระราชินีนาถยังคงมีพระราชหัตถเลขาโต้ตอบอย่างลับ ๆ กับลอร์ดเมลเบิร์น ซึ่งอิทธิพลของเขาค่อย ๆ จางหายลงไปในขณะที่ของเจ้าชายอัลเบิร์ตเพิ่มมากขึ้น

ในวันที่ 13 มิถุนายน ค.ศ. 1842 สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียเสด็จพระราชดำเนินโดยรถไฟเป็นครั้งแรก โดยเสด็จออกจากสถานีรถไฟสโลฟ (ใกล้กับปราสาทวินด์เซอร์) ไปยังสะพานบิช็อป ที่อยู่ใกล้กับแพดดิงตัน (ในกรุงลอนดอน) ด้วยตู้ขบวนพระที่นั่งพิเศษที่จัดถวายโดยบริษัท Great Western Railway ในครั้งนี้มีผู้โดยเสด็จพร้อมกับพระองค์คือ เจ้าชายอัลเบิร์ต พระราชสวามี และ อิซามบาร์ด คิงด็อม บรูเนล วิศวกรของบริษัท

ภาพวาดจำลองเหตุการณ์ลอบปลงพระชนม์โดยเอ็ดเวิร์ด ออกซฟอร์ด ค.ศ. 1840

การลอบปลงพระชนม์สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียสามครั้งเกิดขึ้นในปีค.ศ. 1842 ในวันที่ 29 พฤษภาคม ที่พระราชอุทยานเซนต์เจมส์ จอห์น ฟรานซิส (ซึ่งมีแนวโน้มว่าต้องการเรียกร้องความสนใจมากกว่า) ได้ยิงปืนไปที่พระราชินี (ซึ่งประทับในรถม้าพระที่นั่ง) แต่ถูกรวบตัวได้ทันควันโดยนายตำรวจชั้นสูงคนหนึ่งชื่อ วิลเลียม เทรานซ์ ส่วนฟรานซิสได้ถูกตัดสินมีโทษฐานเป็นกบฏต่อชาติ แต่โทษตายของเขาได้ถูกลดหย่อนเหลือแค่การเนรเทศออกนอกประเทศตลอดชีวิต เจ้าชายอัลเบิร์ตทรงเห็นว่าความพยายามในการลอบปลงพระชนม์ได้รับแรงจูงใจจากการปล่อยตัวออกซฟอร์ดในปีค.ศ. 1840 ในวันที่ 3 กรกฎาคม เพียงไม่กี่วันหลังจากฟรานซิสได้รับการหย่อนโทษ ก็มีเด็กวัยรุ่นชายอีกคนหนึ่งคือ จอห์น วิลเลียม บีนได้พยายามที่จะยิงสมเด็จพระราชินีนาถ แม้ว่าที่ปืนของเขาจะบรรจุด้วยกระดาษและยาสูบ การก่ออาชญากรรมของเขาก็ทำให้มีโทษถึงแก่ชีวิตได้ เจ้าชายอัลเบิร์ตซึ่งทรงเห็นว่าการลงโทษเช่นนี้ทารุณเกินไป จึงทรงสนับสนุนให้รัฐสภาออกพระราชบัญญัติการทรยศต่อชาติปีค.ศ. 1842 (Treason Act of 1842) ซึ่งระบุว่าการเล็งปืนพกยังพระราชินี ลอบทำร้ายพระองค์ ขวางปาสิ่งของยังพระองค์ ผลิตปืนพกหรืออาวุธอันตรายใด ๆ ต่อการปรากฏพระองค์ด้วยเจตนาให้พระองค์ตกพระทัย สามารถลงโทษได้ด้วยการจำคุกเป็นเวลาเจ็ดปีและการเฆี่ยนตี ดังนั้นบีน จึงได้รับโทษจำคุกเป็นเวลาสิบแปดเดือน อย่างไรก็ดี ทั้งตัวเขาและบุคคลอื่นที่ได้ละเมิดพระราชบัญญัติในอนาคตต่างก็ไม่ได้ถูกเฆี่ยนเลย

พระราชสกุล

[แก้]

สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียทรงอยู่ในราชวงศ์ฮันโนเฟอร์ แม้บางคนจะให้ราชสกุล d'Este หรือ Welf กับพระองค์ แต่ก็มิทรงจำเป็นต้องใช้ราชสกุลเหล่านี้ (เชื้อสายพระองค์อื่นในราชวงศ์ฮันโนเฟอร์ได้ใช้ราชสกุลฮันโนเฟอร์ในประเทศอังกฤษ) ส่วนพระราชสวามีของพระองค์ทรงอยู่ในราชวงศ์ซัคเซิน-โคบวร์คและโกทาและหลังจากการเสด็จสวรรคตของสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย ราชวงศ์นี้ได้ครองราชสมบัติอังกฤษด้วยตัวบุคคลคือ พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 7 พระราชโอรสและรัชทายาทในราชบัลลังก์ ตามธรรมเนียมปฏิบัติของพวกผู้ดีและเชื้อพระวงศ์ ภรรยาจะไม่ได้รับการเป็นสมาชิกในบ้านของสามี แต่ยังคงเป็นของบ้านตนเองอยู่ ดังนั้นสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียจึงมิได้ทรงอยู่ในราชวงศ์ซัคเซิน-โคบวร์คและโกทา ในฐานะทรงเป็นสตรีสมรสแล้ว นักวงศ์วานวิทยาได้กำหนดราชสกุลของพระองค์เป็น ฟอน เว็ตติน (von Wettin) ซึ่งอิงหลักฐานจากสำนักงานตราประจำราชตระกูลแห่งอังกฤษ (College of Arms) ดังนั้นบางครั้งพระองค์ทรงเป็นรู้จักว่า อเล็กซานดรินา วิกตอเรีย ฟอน เว็ตติน ราชสกุลเดิม ฮันโนเฟอร์

ขณะที่เจ้าชายทรงอยู่ในราชวงศ์ซัคเซิน-โคบวร์คและโกทา ราชวงศ์เยอรมันได้สืบเชื้อสายมาจากนสาขาของเจ้าชายเออร์เนสแห่งราชวงศ์เว็ตติน สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียทรงขอให้เจ้าพนักงานกำหนดหาสาขาของเจ้าชายอัลเบิร์ตและราชสกุลในการอภิเษกของพระองค์เองว่าเป็นอันใด หลังจากการตวจสอบบันทึกต่าง ๆ จากจดหมายเหตุในราชวงศ์ซัคเซิน-โคบวร์คและโกทา พวกเขารายงานว่าราชสกุลส่วนพระองค์ของพระราชสวามี ในฐานะที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับสมาชิกพระองค์อื่นทั้งในสาขาของเจ้าชายเออร์เนสและเจ้าชายอัลเบิร์ต นั่นคือ เว็ตติน (หรือ ฟอน เว็ตติน) เอกสารต่าง ๆ ของสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียยังบันทึกถึงการไม่โปรดชื่อของราชสกุลนี้ไว้อีกด้วย

สมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 5 พระราชนัดดาของพระองค์ทรงศึกษาถึงประเด็นดังกล่าวอย่างถี่ถ้วนอีกครั้งเมื่อทรงเปลี่ยนชื่อราชสกุลและราชวงศ์เป็นวินด์เซอร์ในปีค.ศ. 1917 สำนักงานตราประจำราชตระกูลได้แจ้งพระองค์ทรงทราบว่าราชสกุลเดิมก่อนการเปลี่ยนแปลงคือ เว็ตติน ในปี ค.ศ. 1958 พระราชโองการตามคำแนะนำของคณะองคมนตรีได้ปรับเปลี่ยนการตัดสินใจในปีค.ศ. 1917 โดยการให้เชื้อสายในสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 บางพระองค์ใช้ชื่อราชสกุลเป็น เม้านท์แบ็ตเต็น-วินด์เซอร์ การให้ใช้ชื่อราชสกุลนี้ไม่ได้นำมาใช้กับเจ้าชายชาลส์ เจ้าชายแห่งเวลส์และพระโอรสทั้งสองพระองค์ แต่แค่ใช้กับเชื้อสายพระองค์อื่นของสมเด็จพระราชินีนาถกับเจ้าชายฟิลิปที่ไม่ได้ขึ้นครองราชสมบัติเพียงเท่านั้น ตามตัวบทกฎหมายแล้ว องค์พระประมุขที่ครองราชย์"ทุกพระองค์"ตั้งแต่ปีค.ศ. 1917 เป็นต้นไปมีพระราชสกุล "วินด์เซอร์" แม้ว่าจะเสด็จพระราชสมภพในพระราชวงศ์หรือไม่ก็ตาม

การเมืองในยุควิกตอเรียตอนต้น

[แก้]

คณะรัฐมนตรีของพีลต้องเผชิญกับวิกฤตการณ์อย่างหนึ่งซึ่งเกี่ยวกับการเลิกล้มกฎหมายข้าวโพด (ภาษีสินค้านำเข้าพวกธัญพืช) พวกพรรคทอรีหลาย ๆ คน (ตอนนั้นก็เป็นที่รู้จักว่า พวกอนุรักษนิยม) คัดค้านการล้มเลิกกฎหมายดังกล่าว แต่ว่าพวกพรรคทอรี (หรือ "พวกพีลไลท์") และพวกพรรดวิกโดยส่วนมากสนับสนุนกฎหมายนี้ พีลได้ลาออกเมื่อปีค.ศ. 1846 หลังจากการเลิกล้มกฎหมายได้ผ่านความเห็นชอบไปอย่างหวุดหวิด และลอร์ด จอห์น รัสเซลล์ได้เข้ามาทำหน้าที่แทน ถึงแม้ว่าคณะรัฐมนตรีของรัสเซลล์เป็นพวกวิกแต่ก็ไม่เป็นที่โปรดปรานต่อสมเด็จพระราชินีนาถ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ก้าวร้าวต่อพระองค์คือ พาลเมอร์สตัน รัฐมนตรีต่างประเทศ ซึ่งทำการใด ๆ โดยไม่ปรึกษาคณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรีและสมเด็จพระราชินีนาถอยู่บ่อยครั้ง

ในปีค.ศ. 1849 สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียทรงฝากคำติเตียนกับลอร์ดรัสเซลล์ โดยทรงอ้างว่าพาล์มเมอร์สตันได้ส่งแถลงการณ์ทางราชการต่าง ๆ ไปยังประมุขต่างประเทศโดยที่พระองค์ไม่ทรงรับรู้ด้วย พระองค์ทรงเน้นย้ำถึงการคัดค้านอยู่หลายครั้งในปี ค.ศ. 1850 แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ เมื่อถึงปีค.ศ. 1851 ลอร์ดพาล์มเมอร์สตันได้ถูกปลดออกจากตำแหน่ง โดยในตอนนั้นเขาได้ประกาศความเห็นชอบของรัฐบาลอังกฤษต่อการก่อรัฐประหารของประธานาธิบดีหลุยส์-นโปเลียน โบนาปาร์ตในประเทศฝรั่งเศสโดยไม่ได้ปรึกษากับนายกรัฐมนตรีมาก่อนล่วงหน้า

ในช่วงเวลาที่รัสเซลล์เป็นนายกรัฐมนตรียังได้เห็นถึงการทำให้สมเด็จพระราชินีนาถทรงทุกข์โดยส่วนตัว ในปีค.ศ. 1849 ก็มีผู้ชายชาวไอริชที่ตกงานและอารมณ์หงุดหงิดที่ชื่อว่า วิลเลียม แฮมิลตัน พยายามทำให้สมเด็จพระราชินีนาถทรงตกพระทัยโดยการยิงปืนบรรจุดินปืนขณะที่รถม้าพระที่นั่งดำเนินไปตามถนน Constitution Hill ในกรุงลอนดอน แฮมิลตันมีโทษตามพระราชบัญญัติปี ค.ศ. 1842 โดยยอมรับว่าได้กระทำผิดและรับโทษสูงสุดด้วยการถูกเนรเทศออกนอกประเทศเป็นเวลาเจ็ดปี

ในปีค.ศ. 1850 สมเด็จพระราชินีทรงได้รับการบาดเจ็บเมื่อพระองค์ทรงถูกจู่โจมจากโรเบิร์ต เพท ที่คาดว่าเป็นอดีตทหารในกองทัพที่วิกลจริต ในขณะที่สมเด็จพระราชินีนาถทรงประทับมาในรถม้าพระที่นั่ง เขาตีพระองค์ด้วยปืน ทำให้พระมาลาหลุดกระเด็นออกมาและทำให้พระองค์มีอาการฟกช้ำ ต่อมาเพทได้ถูกสอบสวนพิจารณาคดี เขาได้รับการพิสูจน์ว่าไม่มีความวิกลจริตเลยและได้รับโทษเช่นเดียวกับแฮมิลตัน

ไอร์แลนด์

[แก้]

สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียในวัยดรุณีทรงตกหลุมรักเเคว้นไอร์แลนด์ โดยทรงเลือกที่จะเสด็จไปพักผ่อนที่เมืองคิลลาร์เนย์ ในมณฑลเคอร์รี่ ที่อยู่ในระหว่างกระบวนการที่ทำให้เป็นเมืองท่องเที่ยวชั้นแนวหน้าเมืองหนึ่งของศตวรรษที่ 19 ความรักในเกาะไอร์แลนด์ของพระองค์เข้ากันได้กับควาบอบอุ่นแบบไอริชช่วงแรกต่อสมเด็จพระราชินีนาถในวัยดรุณี เมื่อปีค.ศ. 1845 ไอร์แลนด์ประสบกับปัญหามันฝรั่งเหี่ยวแห้งที่ทำให้ชาวไอริชเสียชีวิตไปจำนวนหนึ่งล้านคนมากกว่าสี่ปีและอีกล้านคนได้อพยพออกนอกประเทศไป ในการตอบสนองปัญหาที่ต่อมาได้เรียกว่า "ความอดอยากมันฝรั่งในไอร์แลนด์" (Irish Potato Famine) พระนางทรงบริจาคเงินส่วนพระองค์ (จำนวน 5,000 ปอนด์สเตอร์ลิง) ให้กับชาวไอริชที่หิวโหย

นโยบายต่าง ๆ ของลอร์ดรัสเซลล์ได้รับการตำหนิอยู่บ่อยครั้งในเรื่องการทำให้ความอดอยากอย่างรุนแรงเลวร้ายมากขึ้นไปอีก ทำให้ชาวไอริชหนึ่งล้านคนต้องเสียชีวิต ซึ่งส่งผลกระทบในด้านลบต่อชื่อเสียงของสมเด็จพระราชินีนาถในประเทศไอร์แลนด์

สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียทรงเป็นผู้สนับสนุนเข้มแข็งต่อชาวไอริช พระองค์ทรงสนับสนุนความแย้ง Maynooth Grant และได้ทรงทำให้เกิดเรื่องใหญ่ขณะเสด็จเยือนเเคว้นไอร์แลนด์ด้วยการเสด็จไปเยี่ยมโรงเรียนสอนศาสนา

การเสด็จเยือนไอร์แลนด์อย่างเป็นทางการครั้งแรกของสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียในปีค.ศ. 1849 ได้จัดขึ้นอย่างเป็นเฉพาะกิจโดยลอร์ดคลาเร็นดอน ซึ่งเป็นผู้ว่าราชแห่งไอร์แลนด์ หัวหน้ากลุ่มบริหารของบริติชที่พยายามจะดึงความสนใจจากเรื่องความอดอยากและทำให้นักการเมืองบริติชตื่นตัวกับเรื่องความตึงเครียดของวิกฤติดังกล่าวในไอร์แลนด์โดยผ่านการเสด็จมาของสมเด็จพระราชินีนาถ ถึงแม้จะมีผลกระทบด้านลบในเรื่องความอดอยากต่อชื่อเสียงของสมเด็จพระราชินีนาถ พระองค์ก็ยังทรงเป็นที่นิยมชมชอบอย่างเพียงพอสำหรับพวกชาตินิยมในการจบการประชุมพรรคด้วยการร้องเพลง ก็อดเซฟเดอะควีน

อย่างไรก็ตาม ในช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1870 และ 1880 ความชื่นชอบในระบอบกษัตริย์ได้เสื่อมถอยลงอย่างมาก โดยส่วนหนึ่งมาจากสมเด็จพระราชินีนาถทรงปฏิเสธที่จะเสด็จเยือนไอร์แลนด์เพื่อไปในการคัดค้านการตัดสินใจของเทศบาลเมืองดับลินที่จะไม่ร่วมแสดงความยินดีกับการอภิเษกสมรสของเจ้าชายแห่งเวลส์กับเจ้าหญิงอเล็กซานดราแห่งเดนมาร์ก และการประสูติของเจ้าชายอัลเบิร์ต วิกเตอร์ พระโอรสองค์โตของทั้งสองพระองค์

พระบรมสาทิสลักษณ์สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย พ.ศ. 2402 วาดโดยวินเทอร์ฮอลเทอร์

สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียทรงปฏิเสธความกดดันอันซ้ำซากจากนายกรัฐมนตรี ผู้ว่าราชการไอร์แลนด์และแม้แต่สมาชิกในพระราชวงศ์ต่าง ๆ มากมายในการสร้างพระราชฐานในประเทศไอร์แลนด์ ลอร์ดมิเดิลตัน อดีตหัวหน้าพรรคสหภาพแรงงานของไอร์แลนด์ ซึ่งเขียนบันทึกความทรงจำในปี ค.ศ. 1930 เรื่อง Ireland: Dupe or Heroine? (ไอร์แลนด์: การหลอกลวงหรือวีรสตรี) โดยบรรยายว่าการตัดสินใจดังกล่าวของพระองค์ถึงว่าเป็นหายนะแก่ระบอบกษัตริย์และการปกครองของอังกฤษในประเทศไอร์แลนด์

สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียเสด็จเยือนประเทศไอร์แลนด์เป็นครั้งสุดท้ายในปี ค.ศ. 1900 เพื่อทรงขอให้ชายชาวไอริชเข้าร่วมในกองทัพบกอังกฤษและสู้รบในสงครามบัวร์ครั้งที่สอง พวกฝ่ายค้านชาตินิยมต่อการเสด็จมาเยือนไอร์แลนด์ของพระองค์นำโดยอาร์เธอร์ กริฟฟิธ ที่ได้ก่อตั้งองค์กรหนึ่งที่ชื่อว่า Cumann na nGaedheal (ภาษาไอร์แลนด์: สมาคมแห่งชาวเกลส์) เพื่อรวมตัวกันคัดค้าน ในอีกห้าปีต่อมา กริฟฟิธได้ใช้ความคุ้นเคยต่าง ๆ ที่สร้างในช่วงการรณรงค์ต่อต้านการเสด็จเยือนไอร์แลนด์ของสมเด็จพระราชินีนาถเพื่อสร้างความเคลื่อนไหวทางการเมืองแบบใหม่ที่เรียกว่า ซินน์ ไฟน์ (Sinn Fein)

การเป็นหม้าย

[แก้]

เจ้าชายพระราชสวามีสิ้นพระชนม์ด้วยโรคไทฟอยด์[5]อย่างที่สงสัยกันเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม ค.ศ. 1861 ได้สร้างความโทมนัสอย่างแสนสาหัสให้กับสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียซึ่งได้ทรงตกอยู่ในสภาพการไว้ทุกข์กึ่งถาวรและฉลองพระองค์เป็นสีดำตลอดพระชนม์ชีพที่เหลือ พระองค์ทรงหลีกเลี่ยงการปรากฏองค์ในที่สาธารณะและไม่ค่อยเสด็จเข้ากรุงลอนดอนในอีกหลายปีต่อมา การหลบพระองค์จากสาธารณชนทำให้มีพระนามเรียกเล่น ๆ ว่า "แม่หม้ายแห่งวินด์เซอร์" พระองค์ทรงเห็นเจ้าชายเอ็ดเวิร์ด เจ้าชายแห่งเวลส์ที่ทรงใช้ชีวิตวัยเยาว์อย่างไม่รอบคอบและเหลวไหลไร้สาระ เป็นต้นเหตุของการสิ้นพระชนม์ของพระชนก

สมเด็จพระราชินีนาถทรงพึ่งพามหาดเล็กชาวสกอตชื่อ จอห์น บราวน์ เพิ่มมากขึ้น ถึงกับได้มีการกล่าวอ้างว่าทรงมีความสัมพันธ์แบบชู้สาวหรือการอภิเษกสมรสแบบเงียบ ๆ เกิดขึ้น แต่ทั้งสองข้อหาเป็นเพียงแค่การทำให้เสียชื่อเสียง ย่อหน้าหนึ่งในบทความของเปโตรเนลลา ไวแอ็ต ในหนังสือพิมพ์เดลีเมล์ (ฉบับวันที่ 2 พฤศจิกายน ค.ศ. 2549) กล่าวว่า วูดโรว์ ไวแอ็ต ซึ่งเป็นบิดาของเธอได้พบกับเอลิซาเบธ โบวส์-ลีออน พระราชชนนีในสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ในทศวรรษที่ 1980 และเสด็จมาที่บ้านเพื่อรับประทานพระกระยาหารกลางวันและค่ำอยู่เป็นประจำ ครั้งหนึ่งของการรับประทานอาหารการสนทนาดำเนินมาถึงเรื่องของสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียกับจอห์น บราวน์ พระราชชนนีก็ทรงอ้างว่าพระองค์ทรงพบเอกสารในหอจดหมายเหตุของพระราชวงศ์ที่ปราสาทวินด์เซอร์ ซึ่งในนั้นเขียนไว้ว่าทั้งสองคนได้อภิเษกกัน เมื่อทรงถามพระองค์ว่าทรงทำเช่นไรกับการค้นพบเอกสารฉบับนั้น พระองค์ตรัสตอบว่าพระองค์ได้ทรงเผามันทิ้งไป

สมุดบันทึกเล่มหนึ่งที่ถูกค้นพบเมื่อไม่นานมานี้บันทึกคำสารภาพที่คิดเอาเองขณะมีอาการตรีทูตของบาทหลวงประจำพระองค์สมเด็จพระราชินีนาถ ซึ่งเขาได้ยอมรับกับนักการเมืองคนหนึ่งว่าเขาได้เป็นประธานในการอภิเษกสมรสอย่างลับ ๆ ระหว่างสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียกับจอห์น บราวน์ นักประวัติศาสตร์แค่เพียงบางคนก็เชื่อความน่าเชื่อถือของสมุดบันทึกเล่มนี้ อย่างไรก็ดี พระศพของสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียได้วางลงอยู่ในพระศพ โดยมีของที่ระลึกสองชุดวางไว้บนพระศพตามความต้องการของพระองค์ ขวามือของพระองค์จะมีเสื้อคลุมของเจ้าชายอัลเบิร์ตตัวหนึ่งวางอยู่ ส่วนทางซ้ายมือจะเป็นเส้นผมของบราวน์วางไว้คู่กับรูปภาพของเขา ข่าวลือเกี่ยวกับความสัมพันธ์และการอภิเษกสมรสทำให้พระองค์มีพระนามเรียกเล่น ๆ อีกอย่างหนึ่งว่า "นางบราวน์"

การปลีกพระองค์อยู่โดดเดี่ยวจากสาธารณชนทำให้ความนิยมในระบอบกษัตริย์เสื่อมถอยลงอย่างมาก และแม้กระทั่งผลักดันให้เกิดความเคลื่อนไหวของพวกสนับสนุนการเป็นสาธารณรัฐเพิ่มขึ้นไปด้วย แม้ว่าพระองค์จะทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจมากมาย แต่ก็มิได้ทรงมีบทบาทในการปกครองมากเท่าใดนัก ยังคงหลบซ่อนพระองค์อยู่ในพระราชฐานอย่างปราสาทบัลมอรัลในสกอตแลนด์ หรือ ตำหนักออสบอร์น บนเกาะไวท์ ในขณะนั้นรัฐสภาก็ได้การผ่านกฎหมายฉบับหนึ่งที่สำคัญที่สุดในศตวรรษที่ 19 คือ พระราชบัญญัติการปฏิรูป ค.ศ. 1867 (Reform Act 1867) ออกมา ลอร์ดพาล์มเมอร์สตันค้ดค้านการปฏิรูปการเลือกตั้งอย่างชนิดหัวชนฝา แต่สมัยการเป็นนายกรัฐมนตรีของเขาหมดลงหลังจากถึงแก่กรรมในปีค.ศ. 1865 ซึ่งเอิร์ลรัสเซลล์ (ซึ่งเป็นลอร์ด จอห์น รัสเซลล์ ในอดีต) ได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแทน จากนั้นก็เป็นลอร์ดดาร์บี้ ซึ่งในสมัยการเป็นนายกรัฐมนตรีของเขาก็ได้ผ่านพระราชบัญญัติการปฏิรูปออกมาเป็นผลสำเร็จ

ปลายพระชนม์ชีพ

[แก้]

ค.ศ. 1887 สหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่ก็ได้จัดงานพระราชพิธีกาญจนาภิเษกให้กับสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย พระองค์ทรงครองราชสมบัติครบรอบปีที่ห้าสิบในวันที่ 20 มิถุนายน ค.ศ. 1887 โดยมีการจัดงานเลี้ยงพระกระยาหารซึ่งกษัตริย์และเจ้าชายจากราชวงศ์ในยุโรป 50 พระองค์ทรงได้รับเชิญมา แม้ว่าพระองค์จะมิทรงตระหนักถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้น แต่ก็มีการวางแผนไว้อย่างเปิดเผยโดยพวกต่อสู้เพื่ออิสรภาพชาวไอริชที่จะระเบิดมหาวิหารเวสต์มินส์เตอร์ขณะที่สมเด็จพระราชินีนาถเสด็จไปร่วมในงานขอบคุณพระเจ้า การลอบปลงพระชนม์ครั้งนี้เป็นที่รู้จักกันว่า "The Jubilee Plot" (แผนลอบสังหารในงานกาญจนาภิเษก) วันต่อมาพระองค์ทรงประทับในขบวนเสด็จ ซึ่งมาร์ค ทเวนได้กล่าวไว้ว่า "ทอดยาวไปสุดสายตาตลอดสองข้างฝั่ง" ในช่วงเวลานั้นสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียทรงเป็นองค์พระมุขอังกฤษที่เป็นที่นิยมอย่างสูงสุด

พระบรมฉายาลักษณ์ของสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียในงานพระราชพิธีพัชราภิเษกเมื่อปีค.ศ. 1897

สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียก็ต้องทรงอดทนกับสมัยการเป็นนายกรัฐมนตรีของวิลเลียม เอวาร์ต แกลดสโตนอีกครั้งหนึ่งในปี ค.ศ. 1892 หลังจากพระราชบัญญัติปกครองตนเองของไอร์แลนด์ของเขาไม่ได้รับคะแนนเสียง เขาจึงลาออกไปในปีค.ศ. 1894 แล้วมีผู้มารับหน้าที่แทนคือ ลอร์ดโรสเบรี ซึ่งสังกัดพรรคเสรีนิยมที่สนับสนุนลัทธิจักรวรรดินิยม แล้วมีผู้สืบทอดตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคือ ลอร์ดซอลสบรี ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจวบจนกระทั่งสิ้นรัชกาลของสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย

22 กันยายน ค.ศ. 1896 สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียทรงแซงหน้าสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 3 ในฐานะที่เป็นพระประมุขที่ทรงครองราชสมบัติยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์อังกฤษ สกอตแลนด์ และสหราชอาณาจักร พระองค์จึงทรงประสงค์ให้เลื่อนการเฉลิมฉลองของประชาชนแบบพิเศษต่าง ๆ ออกไปถึงปีค.ศ. 1897 พร้อมพระราชพิธีพัชราภิเษกของพระองค์ นายโจเซฟ แชมเบอร์เลน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอาณานิคมได้เสนอว่าพระราชพิธีพัชราภิเษกควรจะจัดให้เป็นการเฉลิมฉลองทั่วจักรวรรดิอังกฤษ

ดังนั้นนายกรัฐมนตรีของอาณานิคมที่ปกครองตนเองต่าง ๆ พร้อมกับครอบครัวได้รับเชิญให้มาร่วมในงานฉลอง ในขบวนเสด็จที่สมเด็จพระราชินีนาถทรงเข้าร่วมประกอบด้วยกองทหารจากอาณานิคมและดินแดนในปกครองอังกฤษแต่ละแห่ง พร้อมกับทารที่ส่งมาจากเจ้าครองรัฐหรือหัวหน้าดินแดนของอินเดีย (ซึ่งขึ้นกับสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย จักรพรรดินีนาถแห่งอินเดีย) การเฉลิมฉลองพระราชพิธีพัชราภิเษกก็ได้เป็นโอกาสที่แสดงถึงความรักอันท่วมท้นอย่างมากต่อสมเด็จพระราชินีนาถในวัย 70 พรรษาเศษ ซึ่งในขณะนั้นได้ประทับอยู่บนรถเข็น

นักประวัติศาสตร์บางคนคิดว่าสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียทรงฉลองพระองค์สีขาวในพระราชพิธีพัชราภิเษกเพียงเท่านั้น ถึงแม้จะมิทรงสีดำอย่างที่ทรงฉลองพระองค์มาตลอดเวลาตั้งแต่การสิ้นพระชนม์ของพระราชสวามี

ช่วงปลายพระชนม์ชีพของสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย สหราชอาณาจักรได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับสงครามบัวร์ครั้งที่สอง ซึ่งได้รับการสนับสนุนอย่างกระตือรือร้นจากพระองค์ ชีวิตส่วนพระองค์ก็ทรงพบกับความโทมนัสอยู่หลายครั้ง รวมถึงการสิ้นพระชนม์ของพระราชโอรสทั้งสองพระองค์คือ เจ้าชายอัลเฟรด ดยุกแห่งซัคเซิน-โคบวร์คและโกทา (ซึ่งก็คือ ดยุกแห่งเอดินบะระ) และเจ้าชายเลโอโพลด์ ดยุกแห่งออลบานี และพระราชธิดาคือ เจ้าหญิงอลิซ (ต่อมาคือ แกรนด์ดัชเชสพระชายาแห่งเฮสส์) และพระราชนัดดาสามพระองค์คือ เจ้าชายอัลเบิร์ต วิกเตอร์ ดยุกแห่งคลาเรนซ์ เจ้าชายอัลเฟรดแห่งเอดินบะระและซัคเซิน-โคบวร์คและโกทา และเจ้าชายคริสเตียน วิกเตอร์แห่งชเลสวิช-ฮ็อลชไตน์ การปฏิบัติพระราชกรณียกิจในด้านพิธีการต่อประชาชนครั้งสุดท้ายเกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1899 เมื่อเสด็จไปในการวางฐานหินสำหรับอาคารหลังใหม่ของพิพิธภัณฑ์เซาท์เค็นชิงตัน ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในปัจจุบันคือ พิพิธภัณฑ์วิกตอเรียและอัลเบิร์ต

สวรรคต

[แก้]

ตามธรรมเนียมที่ได้ทรงปฏิบัติมาตลอดตั้งแต่การเป็นหม้าย สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียทรงใช้เวลาในวันคริสต์มาสที่ตำหนักออสบอร์น (เจ้าชายอัลเบิร์ต ทรงออกแบบไว้) อยู่บนเกาะไวท์ พระองค์เสด็จสวรรคตในที่แห่งนั้นด้วยอาการเส้นพระโลหิตในพระสมอง​แตกในสมองเมื่อวันที่ 22 มกราคม ค.ศ. 1901 สิริพระชนมพรรษา 81 พรรษา ขณะใกล้สวรรคตได้มีพระราชโอรส ซึ่งจะขึ้นครองราชสมบัติเป็นกษัตริย์องค์ต่อไปและจักรพรรดิวิลเฮ็ล์มที่ 2 แห่งเยอรมนี พระราชนัดดาพระองค์ใหญ่เสด็จมาเฝ้าฯ พระราชโอรสของพระองค์ได้ยกพระบรมศพลงในหีบพระบรมศพ ซึ่งทรงฉลองพระองค์สีขาวและผ้าคลุมพระพักตร์อภิเษกสมรสอย่างที่มีพระประสงค์เอาไว้ งานพระราชพิธีพระบรมศพมีขึ้นในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ และหลังจากประดิษฐานพระบรมศพไว้ให้ประชาชนเคารพเป็นเวลาสองวัน พระบรมศพของพระองค์ถูกฝังลงเคียงข้างเจ้าชายอัลเบิร์ตในสุสานหลวงฟร็อกมอร์ ปราสาทวินด์เซอร์[6] เนื่องจากสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียมิโปรดงานพิธีศพสีดำ กรุงลอนดอนจึงประดับประดาด้วยระย้าที่เป็นสีม่วงและสีขาว ที่จริงแล้วเมื่อพระบรมศพฝังลงในสุสานหลวงฟร็อกมอร์แล้ว หิมะก็เริ่มตกลงมาทำให้พื้นดินกลายเป็นสีขาว ซึ่งทำให้แนวคิดเรื่องงานพระราชพิธีพระบรมศพของพระองค์สมบูรณ์แบบ สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียทรงครองสิริราชสมบัติรวมทั้งสิ้น 63 ปี 7 เดือน 2 วัน ซึ่งเป็นรัชกาลที่ยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์อังกฤษ ณ ขณะนั้น สถิตินี้ยังคงอยู่อีกหลายทศวรรษ จนกระทั่งสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทรงครองราชย์นานทำลายสถิติของพระองค์ได้ในปี ค.ศ. 2015

เจ้าชายแห่งเวลส์ พระราชโอรสองค์โตในสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียทรงสืบราชสมบัติเป็นสมเด็จพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 7 การเสด็จสวรรคตของพระองค์ทำให้การปกครองของราชวงศ์ฮันโนเฟอร์สิ้นสุดลงในสหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่ ส่วนพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 7 ทรงอยู่ในราชวงศ์ซัคเซิน-โคบวร์คและโกทา ซึ่งสืบทอดมาจากพระชนกคือ เจ้าชายอัลเบิร์ต

พระราชอิสริยยศ

[แก้]
ธรรมเนียมพระยศของ
สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย
พระราชลัญจกร
ตราประจำพระองค์
การทูลเฮอร์มาเจสตี (ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท)
การแทนตนข้าพระพุทธเจ้า
การขานรับยัวร์มาเจสตี (พระพุทธเจ้าข้า/เพคะ)
  • 24 พฤษภาคม ค.ศ. 1819 - 20 มิถุนายน ค.ศ. 1837: เจ้าหญิงอเล็กซานดรินา วิกตอเรียแห่งเคนต์ (Her Royal Highness Princess Alexandrina Victoria of Kent)
  • 20 มิถุนายน ค.ศ. 1837 - 22 มกราคม ค.ศ. 1901: สมเด็จพระราชินีนาถแห่งสหราชอาณาจักร (Her Majesty The Queen of the United Kingdom)
    • 1 พฤษภาคม ค.ศ. 1876 - 22 มกราคม ค.ศ. 1901: สมเด็จพระจักรพรรดินีนาถแห่งอินเดีย (Her Imperial Majesty The Queen-Empress)
พระราชอิสริยยศเต็มเมื่อเสด็จสวรรคตคือ: "สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย โดยพระคุณของพระเป็นเจ้า สมเด็จพระราชินีนาถแห่งสหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์ ผู้ปกป้องศรัทธา สมเด็จพระจักรพรรดินีนาถแห่งอินเดีย"[7][8]
ตราอาร์ม (นอกสกอตแลนด์)
ตราอาร์ม (ในสกอตแลนด์)

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

[แก้]

พระราชโอรสและธิดา

[แก้]

ดูเพิ่มเติมที่ พระราชสันตติวงศ์ในสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย

พระราชตระกูล

[แก้]

มรดกตกทอด

[แก้]

สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียเป็นพระประมุขสมัยใหม่พระองค์แรกของประเทศอังกฤษ พระประมุของค์ก่อน ๆ ทรงเป็นผู้เข้าไปมีบทบาทอย่างแท้จริงในกระบวนการปกครองบ้านเมือง ความต่อเนื่องของการปฏิรูปด้านกฎหมายต่าง ๆ ทำให้เห็นถึงอำนาจของสภาสามัญเพิ่มมากขึ้น ซึ่งส่งผลเสียต่อสภาขุนนางและสถาบันกษัตริย์ เพราะบทบาทขององค์ประมุขกลายเป็นสัญลักษณ์มากขึ้น นับตั้งแต่รัชกาลของสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียเป็นต้นมา องค์พระประมุข "ทรงมีสิทธิจะได้รับคำปรึกษา มีสิทธิจะแนะนำ และมีสิทธิจะตักเตือน" ตามคำกล่าวของวอลเตอร์ เบจฮอต นักหนังสือพิมพ์ชาวอังกฤษ

ในฐานะที่สถาบันกษัตริย์ของสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียทรงเป็นทางสัญลักษณ์มากกว่าทางการเมือง มันก็แสดงถึงการมุ่งเน้นอย่างแข็งขันถึงคุณค่าของครอบครัวและศีลธรรมจรรยา ตรงข้ามกับเรื่องอื้อฉาวส่วนบุคคล ทางการเงินหรือการล่วงละเมิดทางเพศ ซึ่งได้เกี่ยวข้องกับสมาชิกคนก่อน ๆ ในราชวงศ์ฮันโนเฟอร์และทำให้สถาบันกษัตริย์ต้องมัวหมอง รัชกาลของสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียได้สร้างแนวความคิดในการเป็น"สถานบันพระมหากษัตริย์แบบครัวเรือน"ให้กับประเทศอังกฤษซึ่งชนชั้นกลางที่เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วสามารถร่วมอยู่ได้

ในทางระหว่างประเทศ สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียทรงเป็นบุคคลที่สำคัญโดดเด่น ไม่ใช่เพียงแค่ภาพพจน์หรืออิทธิพลของอังกฤษอันผ่านทางจักรวรรดิ แต่ยังมาจากความเชื่อมโยงของครอบครัวทั่วทั้งพระราชวงศ์ต่าง ๆ ในทวีปยุโรป ก็ทำให้มีพระนามเรียกเล่นแบบรักใคร่ว่า "พระอัยยิกาแห่งยุโรป" ตัวอย่างของสภาวะดังกล่าวสามารถเห็นได้จากความจริงที่ว่าพระประมุขสามพระองค์หลักที่ประเทศของพระองค์ได้เข้าไปเกี่ยวข้องในสงครามโลกครั้งที่ 1โดยอยู่คนละฝ่ายเป็นพระราชนัดดาในสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียหรืออภิเษกสมรสกับหนึ่งในพระราชนัดดาของพระองค์ พระราชโอรสและธิดาแปดในเก้าองค์ทรงอภิเษกสมรสกับสมาชิกในพระราชวงศ์ต่าง ๆ ของยุโรป ส่วนอีกพระองค์ที่เหลือคือ เจ้าหญิงหลุยส์ ทรงอภิเษกสมรสกับข้าหลวงต่างพระองค์แห่งแคนาดาคนแรก

สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียทรงเป็นพาหะของโรคเฮโมฟีเลียที่เป็นที่รู้จักพระองค์แรกในเชื้อสายกษัตริย์ แต่ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าพระองค์ทรงเป็นพาหะได้อย่างไร มันอาจจะเป็นผลมาจากการกลายพันธุ์ของเชื้ออสุจิ เพราะพระชนกของพระองค์มีพระชนมายุห้าสิบสองพรรษาเมื่อทรงปฏิสนธิในพระครรภ์ อีกทั้งยังมีข่าวลือว่าดยุกแห่งเคนต์มิใช่พระชนกที่แท้จริงของสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย และที่จริงเป็นพระธิดาของเซอร์ จอห์น คอนรอย ซึ่งเป็นราชเลขานุการส่วนพระองค์และชู้รักนามกระฉ่อนชาวไอริชของพระชนนี ขณะมีหลักฐานบางอย่างในการกล่าวอ้างถึงความสัมพันธ์ระหว่างดัชเชสกับคอนรอย (พระองค์ทรงอ้างกับดยุกแห่งเวลลิงตันว่าทรงเห็นเหตุการณ์ระหว่างทั้งสองด้วยพระองค์เอง) แต่ประวัติทางการแพทย์ของคอนรอยก็ไม่แสดงถึงหลักฐานการเป็นโรคเฮโมฟีเลียในครอบครัวของเขา หรือได้รับเชื้อผ่านมาทางสายผู้ชายในครอบครัวเลย

มันน่าจะเป็นไปได้อย่างมากว่าพระองค์ทรงได้รับโรคเฮโมฟีเลียมาจากพระชนนี แม้ว่าจะไม่พบประวัติการเป็นโรคดังกล่าวในราชวงศ์ของพระชนนี สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียมิได้ทรงเป็นโรคเฮโมฟีเลีย แต่ทรงถ่ายทอดไปยังไปยังเจ้าหญิงอลิซและเจ้าหญิงเบียทริซในฐานะพาหะของโรค และเจ้าชายเลโอโพลด์ทรงได้รับผลกระทบจากโรคนี้อย่างเต็มที่ บุคคลซึ่งรับเคราะห์จากโรคเฮโมฟีเลียอันโด่งดังที่สุดในพระราชสันตติวงศ์ของพระองค์เป็นพระราชปนัดดา พระนามว่า แกรนด์ดยุกอเล็กซิส มกุฎราชกุมารแห่งรัสเซีย อย่างไรก็ดี เชื้อสายของโรคเฮโมฟีเลียในสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียน่าจะสูญสิ้นไปแล้ว ก็ยังอาจจะมีสาขาที่เป็นโรคนี้หลงเหลืออยู่ในราชวงศ์สเปน แต่ในปี ค.ศ. 2007 โรคเฮโมฟีเลียยังมิได้เกิดขึ้นมาให้เห็นเลย

ในปี ค.ศ. 2007 องค์พระประมุของค์ปัจจุบันและอดีตพระประมุขในราชวงศ์ต่าง ๆ ของทวีปยุโรปที่ทรงสืบเชื้อสายมาจากสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียคือ สมเด็จพระราชินีนาถแห่งสหราชอาณาจักร (พระราชสวามี) สมเด็จพระราชาธิบดีแห่งนอร์เวย์ สมเด็จพระราชาธิบดีแห่งสวีเดน สมเด็จพระราชินีนาถแห่งเดนมาร์ก สมเด็จพระราชาธิบดีแห่งสเปน สมเด็จพระราชาธิบดีแห่งกรีซ (ถูกปลดออกจากราชบัลลังก์) และสมเด็จพระราชาธิบดีแห่งโรมาเนีย (ถูกถอดออกจากราชบัลลังก์) แล้วยังมีผู้อ้างสิทธิ์ในราชบัลลังก์แห่งเซอร์เบีย รัสเซีย ปรัสเซียและเยอรมนี ซัคเซิน-โคบวร์คและโกทา ฮันโนเฟอร์ เฮสส์ และบาเดินที่ล้วนเป็นพระราชสันตติวงศ์ของพระองค์ด้วยเช่นกัน

อ้างอิง

[แก้]
  1. The Life and Times of Queen Victoria by Dorothy Marshall, p. 16.
  2. The Life and Times of Victoria by Dorothy Marshall, p. 60.
  3. Ibid.
  4. Ibid, p. 76.
  5. อนุสรณ์แห่งรักบันลือโลก 24 มิ.ย. 50 - 17:09 ไทยรัฐ
  6. อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่ถูกต้อง ไม่มีการกำหนดข้อความสำหรับอ้างอิงชื่อ VICTORIA
  7. Whitaker's Almanack (1900) Facsimile Reprint 1998, London: Stationery Office, ISBN 0-11-702247-0, p. 86
  8. Whitaker's Almanack (1993) Concise Edition, London: J. Whitaker and Sons, ISBN 0-85021-232-4, pp. 134–136
  9. "Court Circular". Court and Social. The Times (29924). London. 3 July 1880. col G, p. 11.
  10. ราชกิจจานุเบกษา, ข่าวรับพระราชสาสน์ เก็บถาวร 2016-03-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๔, ๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๓๐, หน้า ๒๑๕]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]
ก่อนหน้า สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย ถัดไป
วิลเลียมที่ 4 พระมหากษัตริย์แห่งสหราชอาณาจักร
(ราชวงศ์ฮันโนเฟอร์)

(20 มิถุนายน ค.ศ. 183722 มกราคม ค.ศ. 1901)
เอ็ดเวิร์ดที่ 7
บาฮาดูร์ ชาห์ ซาฟาร์
จักรพรรดิแห่งโมกุล
จักรพรรดินีนาถแห่งอินเดีย
(1 พฤษภาคม ค.ศ. 1876 – 22 มกราคม ค.ศ. 1901)
เอ็ดเวิร์ดที่ 7