ดยุกแห่งเอดินบะระ
ลิงก์ข้ามภาษาในบทความนี้ มีไว้ให้ผู้อ่านและผู้ร่วมแก้ไขบทความศึกษาเพิ่มเติมโดยสะดวก เนื่องจากวิกิพีเดียภาษาไทยยังไม่มีบทความดังกล่าว กระนั้น ควรรีบสร้างเป็นบทความโดยเร็วที่สุด |
ดยุกแห่งเอดินบะระ | |
---|---|
ตราประจำบรรดาศักดิ์ในเจ้าชายเอ็ดเวิร์ด ดยุกแห่งเอดินบะระ | |
เจ้าชายเอ็ดเวิร์ด ตั้งแต่วันที่ 10 มีนาคม ค.ศ. 2023 | |
สถาปนา | 26 กรกฎาคม ค.ศ. 1726 |
องค์แรก | เจ้าชายเฟรเดอริก เจ้าชายแห่งเวลส์ |
องค์ปัจจุบัน | เจ้าชายเอ็ดเวิร์ด |
คู่สมรส | โซฟี ไรส์-โจนส์ |
ดยุกแห่งเอดินบะระ (อังกฤษ: Duke of Edinburgh) เป็นบรรดาศักดิ์ชั้นดยุกในบรรดาศักดิ์แห่งสหราชอาณาจักร (ตั้งตามชื่อเมืองเอดินบะระของสกอตแลนด์) โดยได้มีการพระราชทานบรรดาศักดิ์นี้ทั้งสิ้น 4 สมัย
เจ้าชายเอ็ดเวิร์ดได้รับการสถาปนาเป็นดยุกแห่งเอดินบะระในปี 2023 ในวันคล้ายวันประสูติปีที่ 59 ของพระองค์โดยสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 พระเชษฐาของพระองค์ ก่อนหน้านี้ตำแหน่งดยุกแห่งเอดินบะระได้พระราชทานให้แก่พระบิดาของพระองค์ ซึ่งขณะนั้นเป็นเรือโทฟิลิป เมานต์แบ็ตเทน ในวันพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสกับเจ้าหญิงเอลิซาเบธในขณะนั้น ซึ่งต่อมาคือ สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร เมื่อเจ้าชายฟิลิปสิ้นพระชนม์ เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ได้รับตำแหน่งนี้และถือครองไว้จนกระทั่งสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 เสด็จสวรรคตและชาร์ลส์เสด็จขึ้นครองราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์ ซึ่งตอนนั้นตำแหน่งดยุกแห่งเอดินบะระได้ถูกผนวกเข้ากับพระมหากษัตริย์
สมัยที่สี่ ค.ศ. 2023
[แก้]มีการประกาศในปี พ.ศ. 2542 ในช่วงเวลาแห่งพระราชพิธีเสกสมรสว่า เจ้าชายเอ็ดเวิร์ดจะได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นดยุกแห่งเอดินบะระในที่สุด แนวคิดนี้มาจากเจ้าชายฟิลิป ดยุกแห่งเอดินบะระ ผู้ซึ่งได้ทรงถ่ายทอดพระประสงค์ต่อเจ้าชายเอ็ดเวิร์ดและโซฟี ไรส์-โจนส์ พระคู่หมั้น อย่างไม่คาดคิดก่อนวันพระราชพิธีเสกสมรสเพียงไม่กี่วัน เจ้าชายเอ็ดเวิร์ด ซึ่งขณะนั้นอยู่ในลำดับที่ 7 ในการสืบราชสันตติวงศ์สหราชอาณาจักร ทรงรู้สึกตื้นตันพระทัยเพราะทรงคาดหวังว่าเจ้าชายแอนดรูว์ ดยุกแห่งยอร์ก พระเชษฐาจะมอบตำแหน่งนี้ให้
เจ้าชายฟิลิปสิ้นพระชนม์ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2564 เจ้าชายชาลส์ เจ้าชายแห่งเวลส์ พระราชโอรสองค์โตได้รับการสืบทอดบรรดาศักดิ์ของพระองค์ ซึ่งจะพระราชทานให้กับเจ้าชายเอ็ดเวิร์ดเมื่อขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ตามพระประสงค์ของเจ้าชายฟิลิป เจ้าชายเอ็ดเวิร์ดซึ่งขณะนั้นตกไปอยู่อันดับที่ 14 ในลำดับการสืบราชสันตติวงศ์เนื่องจากประสูติกาลของผู้อยู่ในลำดับที่สูงกว่า เจ้าชายเอ็ดเวิรดตรัสถึงเรื่องนี้ในเดือนมิถุนายนว่าการที่พระองค์ได้รับตำแหน่งอันทรงเกียรติเช่นนี้คือ ความฝันอันยิ่งใหญ่ของสมเด็จพ่อของข้าพเจ้า ในเดือนกรกฎาคม เดอะไทมส์รายงานว่า สมเด็จพระเจ้าชาลส์ได้ตัดสินพระทัยที่จะไม่พระราชทานบรรดาศักดิ์นี้แก่พระอนุชา ทางพระตำหนักแคลเรนซ์เองก็ไม่ได้ปฏิเสธรายงานดังกล่าว ซึ่งมีผู้แสดงความคิดเห็นไม่พอใจเนื่องจากเจ้าชายเอ็ดเวิร์ดและโซฟี พระชายา มีบทบาทเพิ่มขึ้นในสถาบันพระมหากษัตริย์หลังจากที่เจ้าชายแอนดรูว์ทรงถอนตัวจากบทบาทของราชวงศ์เนื่องจากข่าวฉาว และเจ้าชายแฮร์รี พระโอรสพระองค์รองของสมเด็จพระเจ้าชาลส์และเมแกน พระสุณิสา ก็ทรงยุติการปฎิบัติพระกรณียกิจและถอนตัวจากการเป็นพระบรมวงศ์
มีข้อเสนอแนะในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2565 ไม่นานหลังจากสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ขึ้นครองราชย์ว่า สำนักพระราชวังบักกิงแฮม กำลังพิจารณาที่จะรักษาบรรดาศักดิ์ ดยุกแห่งเอดินบะระให้กับเจ้าหญิงชาร์ลอตต์แห่งเวลส์ พระราชนัดดาในพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ เพื่อเป็นการถวายพระเกียรติยศพระบรมวงศ์ในสายการสืบราชสันตติวงศ์สายตรงและการที่เจ้าหญิงทรงเป็นพระบรมวงศ์ฝ่ายในพระองค์แรกของราชวงศ์ที่ลำดับในสายการสืบราชสันตติวงศ์ไม่สามารถแทนที่โดยพระอนุชาได้
สมเด็จพระเจ้าชาลส์ที่ 3 พระราชทานบรรดาศักดิ์ ดยุกแห่งเอดินบะระ แก่เจ้าชายเอ็ดเวิร์ดในโอกาสที่พระองค์มีพระชนมายุครบ 59 พรรษาในวันที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2566 อย่างไรก็ตาม การพระราชทานพระอิสริยยศสมัยที่สี่นี้เป็นการพระราชทานตำแหน่งแบบตลอดพระชนม์ชีพ กล่าวคือเจ้าชายเอ็ดเวิร์ดจะทรงดำรงบรรดาศักดิ์นี้ตลอดพระชนม์ชีพ และไม่สืบตระกูลไปยังพระโอรส คือ เจมส์ ทำให้สมเด็จพระเจ้าชาลส์สามารถทำตามพระประสงค์ของพระราชบิดาและสถาปนาบรรดาศักดิ์แก่พระอนุชาและพระชายาได้ ในขณะเดียวกันก็เปิดโอกาสให้เจ้าชายวิลเลียมซึ่งเป็นรัชทายาทผู้มีสิทธิโดยตรงของสมเด็จพระเจ้าชาลส์สามารถพระราชทานหนึ่งในพระบุตรทั้ง 3 ของพระองค์ได้ตามคำกล่าวของคามิลลา โทมีนีย์ จากเดอะเดลีเทเลกราฟมีความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบที่ "ให้ตำแหน่งดยุกแห่งเอดินบะระกับคนที่สืบเชื้อสายตรงมาจากราชวงศ์" จะมีผลต่อการถกเถียงเรื่องเอกราชของสกอตแลนด์ เธอได้เสนอว่า โอกาสของการประกาศเอกราชของสกอตแลนด์ในตอนนี้ดูเป็นไปได้น้อยลง เมื่อพิจารณาการลาออกของนิโคลา สเตอร์เจียนที่กำลังจะมาถึง ทำให้การหารือมีความเสี่ยงน้อยลง
สมัยที่สาม ค.ศ. 1947
[แก้]บรรดาศักดิ์นี้ได้พระราชทานเป็นครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 โดยสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 6 เพื่อพระราชทานแก่ ฟิลิป เมานต์แบตเทน พระชามาดา (ลูกเขย) ในวโรกาสงานพระราชพิธีเสกสมรสกับเจ้าหญิงเอลิซาเบธ พระราชธิดาพระองค์ใหญ่ของพระองค์ ซึ่งต่อจากนั้นมาเจ้าหญิงเอลิซาเบธ จึงได้เปลี่ยนการออกพระนามของพระองค์เป็นเจ้าหญิงเอลิซาเบธ ดัชเชสแห่งเอดินบะระจนกระทั่งเสด็จขึ้นสืบราชสมบัติต่อจากพระราชบิดาในปีพ.ศ. 2495 ไม่นานหลังจากนั้นพระองค์ก็ได้ทรงสละฐานันดรในฐานะของเจ้าชายแห่งกรีซและเดนมาร์ก พร้อมทั้งทรงสละสิทธิในราชบัลลังก์กรีกอีกด้วย ต่อมาในปี พ.ศ. 2500 ดยุกแห่งเอดินบะระ จึงได้รับการเฉลิมพระอิสริยยศเป็น เจ้าชายฟิลิป ดยุกแห่งเอดินบะระ ในฐานะ "เจ้าชายแห่งสหราชอาณาจักร"
เจ้าชายชาลส์ เจ้าชายแห่งเวลส์ทรงดำรงตำแหน่งเป็นพระองค์สุดท้าย จนกระทั่งพระองค์เสด็จขึ้นครองราชสมบัติเป็นสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 โดยพระองค์ได้รับการดำรงตำแหน่งเมื่อวันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2564 ภายหลังการสิ้นพระชนม์ของเจ้าชายฟิลิป ดยุกแห่งเอดินบะระ พระราชบิดา ทรงดำรงตำแหน่งจนถึงวันที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2565 ดยุกแห่งเอดินบะระถูกผนวกเข้ากับพระมหากษัตริย์เมื่อเสด็จขึ้นครองราชสมบัติภายหลังการเสด็จสวรรคตของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 พระราชมารดา
สมัยที่สอง ค.ศ. 1866
[แก้]บรรดาศักดิ์นี้ได้ถูกนำกลับมาใช้เป็นสมัยที่ 2 ในรัชสมัยของสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียพระราชทานบรรดาศักดิ์นี้ให้แก่พระราชโอรสพระองค์รอง[1] คือ เจ้าชายอัลเฟรด ซึ่งต่อมาเมื่อพระองค์ได้ขึ้นเป็นประมุขแห่งดัชชีซัคเซิน-โคบูร์กและโกทาในปีพ.ศ. 2436 พระองค์ยังคงใช้พระนามตามบรรดาศักดิ์อังกฤษ ซึ่งในภายหลังบรรดาศักดิ์นี้ก็สืบทอดให้แก่พระโอรสของพระองค์ คือ เจ้าชายอัลเฟรดแห่งเอดินบะระ เจ้าชายรัชทายาทแห่งซัคเซิน-โคบูร์กและโกทา แต่ทว่าพระองค์ได้ทรงกระทำอัตวินิบาตกรรมในปีพ.ศ. 2442 จึงเป็นการสิ้นสุดแห่งการสืบบรรดาศักดิ์นี้ลงเป็นครั้งที่ 2 เมื่อเจ้าชายอัลเฟรด ดยุกแห่งเอดินบะระและแห่งซัคเซิน-โคบวร์คและโกทา (พระราชบิดา) สิ้นพระชนม์ในปีพ.ศ. 2443
สมัยที่หนี่ง ค.ศ. 1726
[แก้]ตำแหน่งนี้ถูกสร้างขึ้นครั้งแรกในฐานะบรรดาศักดิ์ขุนนางแห่งราชอาณาจักรบริเตนใหญ่ เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2269 โดยสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 1 ซึ่งพระราชทานให้แก่เจ้าชายเฟรเดอริก พระราชนัดดาของพระองค์ ซึ่งกลายเป็นเจ้าชายแห่งเวลส์ในปีถัดมาด้วย บรรดาศักดิ์รองจากดยุกแห่งเอดินบะระ ได้แก่ มาร์ควิสแห่งหมู่เกาะเอลี เอิร์ลแห่งเอลแธม ในเคาน์ตีแห่งเคนต์ ไวเคานต์แห่งลอนสตัน ในเคาน์ตีแห่งคอร์นวอลล์ และบารอนแห่งสโนว์ดอน ในเคาน์ตีแห่งคายร์นาฟอน ซึ่งทั้งหมดนี้อยู่ในบรรดาศักดิ์ขุนนางแห่งราชอาณาจักรบริเตนใหญ่ด้วย ตำแหน่งมาร์ควิสได้เขียนไว้ในราชกิจจานุเบกษาเป็นมาร์ควิสแห่งหมู่เกาะไวท์ เห็นได้ชัดว่าผิดพลาด ในฉบับต่อมาของราชกิจจานุเบกษาแห่งกรุงลอนดอน ท่านดยุกได้รับการขนานนามว่าเป็นมาร์ควิสแห่งหมู่เกาะเอลี เมื่อเจ้าชายเฟรเดอริกสิ้นพระชนม์ เจ้าชายจอร์จ พระโอรสพระองค์แรกทรงสืบทอดตำแหน่ง เมื่อเจ้าชายจอร์จขึ้นครองราชย์เป็น สมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 3 ในปี พ.ศ. 2303 พระอิสริยยศได้ผนวกเข้ากับพระมหากษัตริย์และยกเลิกบรรดาศักดิ์ในเวลาต่อมา
รายพระนาม
[แก้]สมัยแรก (ค.ศ. 1726)
[แก้]Duke | พระฉายาลักษณ์ | ตราอาร์ม | พระราชสมภพ | อภิเษกสมรส | สวรรคต |
---|---|---|---|---|---|
เจ้าชายเฟรเดอริก ราชวงศ์ฮันโนเฟอร์ 1726–1751 มาร์ควิสแห่งไอล์ออฟอีลีย์, เอิร์ลแห่งเอลแธม, ไวเคานต์ลอนสตัน, บารอนสโนว์ดอน (1726–1729); เจ้าชายแห่งเวลส์ (1729), ดยุกแห่งคอร์นวอลล์ (1337), ดยุกแห่งรอธซี (1398) |
1 กุมภาพันธ์ 1707 เลนเนสลอส ฮันโนเฟอร์ พระราชโอรสในพระเจ้าจอร์จที่ 2 กับสมเด็จพระราชินีแคโรไลน์ |
เจ้าหญิงเอากุสทาแห่งซัคเซิน-โกทา 17 เมษายน 1736 พระโอรสธิดา 9 พระองค์ |
31 มีนาคม 1751 บ้านเลสเตอร์ จตุรัสเลสเตอร์ ลอนดอน พระชนมายุ 44 พรรษา | ||
เจ้าชายจอร์จ ราชวงศ์ฮันโนเฟอร์ 1751–1760 มาร์ควิสแห่งไอล์ออฟอีลีย์, เอิร์ลแห่งเอลแธม, ไวเคานต์ลอนสตัน, บารอนสโนว์ดอน (1751–1760); เจ้าชายแห่งเวลส์ (1751) |
4 มิถุนายน 1738 บ้านนอร์ฟอล์ก ลอนดอน พระโอรสในเจ้าชายเฟรเดอริก กับเจ้าหญิงออกัสตา |
เจ้าหญิงชาร์ล็อทเทอแห่งเมคเลินบวร์ค-ชเตรลิทซ์ 8 กันยายน 1761 พระโอรสธิดา 15 พระองค์ |
29 มกราคม 1820 ปราสาทวินด์เซอร์ วินเซอร์ พระชนมายุ 81 พรรษา | ||
เจ้าชายจอร์จสืบราชบัลลังก์เป็น พระเจ้าจอร์จที่ 3 ต่อจากพระอัยกาในปีค.ศ. 1760 บรรดาศักดิ์นี้จึงผนวกเข้ากับพระมหากษัตริย์ |
สมัยที่สอง (ค.ศ. 1866)
[แก้]ดยุก | พระฉายาลักษณ์ | ตราอาร์ม | พระราชสมภพ | อภิเษกสมรส | สวรรคต |
---|---|---|---|---|---|
เจ้าชายอัลเฟรด ราชวงศ์ซัคเซิน-โคบวร์คและโกทา 1866–1900 ดยุกแห่งซัคเซิน-โคบวร์กและโกทา (1893), เอิร์ลแห่งเคนต์ และ เอิร์ลแห่งอัลสเตอร์ (1866) |
6 สิงหาคม 1844 ปราสาทวินด์เซอร์ วินด์เซอร์ พระราชโอรสในสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย กับเจ้าชายอัลเบิร์ต |
แกรนด์ดัชเชสมาเรีย อเล็กซานดรอฟนาแห่งรัสเซีย 23 มกราคม 1874 พระโอรสธิดา 6 พระองค์ |
30 กรกฎาคม 1900 ชลอสส์ โรสเนา โคบวร์ค พระชนมายุ 55 พรรษา | ||
เจ้าชายอัลเฟรด และแกรนด์ดัชเชสมาเรีย อเล็กซานดรอฟนา มีพระโอรสหนึ่งพระองค์คือ เจ้าชายอัลเฟรดแห่งเอดินบะระ เจ้าชายรัชทายาทแห่งซัคเซิน-โคบวร์คและโกทาซึ่งถึงแก่ทิวงคตก่อนพระบิดา ทำให้บรรดาศักดิ์อันเป็นสิ้นสุดเมื่อเจ้าชายอัลเฟรดสิ้นพระชนม์ |
สมัยที่สาม (ค.ศ. 1947)
[แก้]ดยุก | พระฉายาลักษณ์ | ตราอาร์ม | พระราชสมภพ | อภิเษกสมรส | สวรรคต |
---|---|---|---|---|---|
เจ้าชายฟิลิป เมานต์แบ็ตเทน 1947–2021 เอิร์ลแห่งแมริโอเน็ธ และ บารอนกรีนิช (1947) |
1947–1949: 1949–2021: |
10 มิถุนายน 1921 มอน เรโปส คอร์ฟู พระโอรสในเจ้าชายแอนดรูว์แห่งกรีซและเดนมาร์ก กับเจ้าหญิงอลิซแห่งบัทเทินแบร์ค |
เจ้าหญิงเอลิซาเบธ 20 พฤศจิกายน 1947 พระโอรสธิดา 4 พระองค์ |
9 เมษายน 2021 ปราสาทวินด์เซอร์ วินด์เซอร์ พระชนมายุ 99 พรรษา | |
พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ราชวงศ์วินด์เซอร์ 2021–2022 เจ้าชายแห่งเวลส์ และ เอิร์ลแห่งเชสเตอร์ (1958), ดยุกแห่งคอร์นวอลล์, ดยุกแห่งรอธซี (1952), เอิร์ลแห่งแมริโอเน็ธ และ บารอนกรีนิช (2021) |
14 พฤศจิกายน 1948 พระราชวังบักกิงแฮม ลอนดอน พระราชโอรสในสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 กับเจ้าชายฟิลิป ดยุกแห่งเอดินบะระ |
เลดีไดอานา สเปนเซอร์ 29 กรกฎาคม 1981 – 28 สิงหาคม 1996 พระโอรส 2 พระองค์ คามิลลา แชนด์ 9 เมษายน 2005 |
|||
เจ้าชายชาร์ลส์สืบราชบัลลังก์เป็น พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ต่อจากพระราชมารดาในวันที่ 8 กันยายน ค.ศ. 2022 บรรดาศักดิ์นี้จึงผนวกเข้ากับพระมหากษัตริย์ |
สมัยที่สี่ (ค.ศ. 2023)
[แก้]ดยุก | พระฉายาลักษณ์ | ตราอาร์ม | พระราชสมภพ | อภิเษกสมรส | สวรรคต |
---|---|---|---|---|---|
เจ้าชายเอ็ดเวิร์ด ราชวงศ์วินด์เซอร์ 2023–ปัจจุบัน เอิร์ลแห่งเวสเซ็กซ์ (1999), เอิร์ลแห่งฟอร์ฟาร์ (2019) และ ไวเคานต์เซเวิร์น (1999) |
10 มีนาคม 1964 พระราชวังบักกิงแฮม ลอนดอน พระราชโอรสในสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 กับเจ้าชายฟิลิป ดยุกแห่งเอดินบะระ |
โซฟี ไรส์-โจนส์ 19 มิถุนายน 1999 พระโอรส-ธิดา 2 คน |
ยังทรงพระชนม์ | ||
เจ้าชายเอ็ดเวิร์ดจะทรงดำรงบรรดาศักดิ์นี้ไปจนตลอดพระชนม์ชีพ โดยไม่สืบทอดทางสายตระกูลและจะผนวกเข้ากับพระมหากษัตริย์ดังเดิมเมื่อเจ้าชายเอ็ดเวิร์ดสิ้นพระชนม์ |
ลำดับการสืบตระกูล
[แก้]จากจดหมายตราบรรดาศักดิ์นี้ระบุในการพระราชทานเมื่อปีค.ศ. 1947 เจ้าชายแห่งเวลส์ ในฐานะพระโอรสพระองค์ใหญ่จะได้รับบรรดาศักดิ์นี้สืบตระกูลเมื่อพระบิดาสิ้นพระชนม์[2] ซึ่งจะทรงเป็นดยุกที่ 2 สำหรับสมัยพระราชทานสมัยที่ 3 ถึงแม้รายพระนามตามระบุข้างล่างนี้เป็นลำดับสืบตระกูลของบรรดาศักดิ์นี้ แต่ก็เป็นลำดับเดียวกับการสืบสันตติวงศ์ของสหราชอาณาจักรเช่นเดียวกัน ทำให้เมื่อใดก็ตามที่ดยุกพระองค์ไหนได้เสวยราชย์เป็นพระมหากษัตริย์แล้วบรรดาศักดิ์นี้ย่อมผนวกกลับเข้าพระมหากษัตริย์โดยปริยาย
วันที่ 10 มีนาคม 2566 สำนักพระราชวังบักกิงแฮม ออกแถลงการณ์ว่า สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานบรรดาศักดิ์ผู้ครองตำแหน่งดยุกแห่งเอดินบะระแก่เจ้าชายเอ็ดเวิร์ด เอิร์ลแห่งเวสเซ็กซ์และฟอร์ฟาร์ ให้ดำรงพระอิสริยยศที่ เจ้าชายเอ็ดเวิร์ด ดยุกแห่งเอดินบะระ เนื่องในวโรกาสวันคล้ายวันประสูติของเจ้าชายเอ็ดเวิร์ด ครบรอบ 59 พรรษา
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "No. 23119". The London Gazette. 25 May 1866.
- ↑ Channon, Max (9 April 2021). "Prince Philip: Duke of Edinburgh title will be inherited by Earl - but not yet". Derbyshire Telegraph. สืบค้นเมื่อ 9 April 2021.
ดูเพิ่ม
[แก้]