ข้ามไปเนื้อหา

โอลด์แทรฟฟอร์ด

พิกัด: 53°27′47″N 2°17′29″W / 53.46306°N 2.29139°W / 53.46306; -2.29139
หน้าถูกกึ่งป้องกัน
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก Old Trafford)

แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด
แผนที่
ชื่อเต็มโอลด์แทรฟฟอร์ด
ที่ตั้งเซอร์แมตต์บัสบีเวย์
โอลด์แทรฟฟอร์ด
เกรตเตอร์แมนเชสเตอร์
ประเทศอังกฤษ
เจ้าของแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด
ผู้ดำเนินการแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด
ความจุ74,140[1]
สถิติผู้ชม76,962 (วุลเวอร์แฮมป์ตันวอนเดอเรอส์ vs กริมสบีทาวน์, 25 มีนาคม ค.ศ. 1939)
ขนาดสนาม105 x 68 เมตร
(114.8 × 74.4 หลา)[2]
พื้นผิวเดสโซกราสมาสเตอร์
การก่อสร้าง
ลงเสาเข็มค.ศ. 1909
เปิดใช้สนาม19 กุมภาพันธ์ 1910; 114 ปีก่อน (1910-02-19)
ปรับปรุง1941, 1946–1949, 1951, 1957, 1973, 1995–1996, 2000, 2006
งบประมาณในการก่อสร้าง90,000 ปอนด์ (ค.ศ. 1909)
สถาปนิกArchibald Leitch (ค.ศ. 1909)
การใช้งาน
แมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด (ค.ศ. 1910–ปัจจุบัน)

โอลด์แทรฟฟอร์ด (อังกฤษ: Old Trafford) เป็นสนามฟุตบอลในเขตโอลด์แทรฟฟอร์ด (เกรตเตอร์แมนเชสเตอร์) ประเทศอังกฤษ และเป็นสนามเหย้าของแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดในพรีเมียร์ลีก มีจำนวนความจุ 74,310 ที่นั่ง[1] โอลด์แทรฟฟอร์ดเป็นสนามกีฬาที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในบรรดาสโมสรในสหราชอาณาจักร โดยเป็นสนามกีฬาฟุตบอลขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 2 (รองจากสนามกีฬาเวมบลีย์) ในอังกฤษ[3] และเป็นอันดับที่ 12 ในยุโรป[4]สนามแห่งนี้อยู่ห่างจากโอลด์แทรฟฟอร์ดคริกเกตกราวนด์ 0.5 ไมล์ (800 เมตร)[5]

โอลด์แทรฟฟอร์ดได้รับสมญานามโดยบ็อบบี ชาร์ตันว่า "The Theatre of Dreams" (โรงละครแห่งความฝัน) เป็นสนามเหย้าของยูไนเต็ดตั้งแต่ปี ค.ศ. 1910 แม้ว่าตั้งแต่ปี ค.ศ. 1941 ถึง ค.ศ. 1949 สโมสรจะใช้เมนโรดร่วมกับสโมสรคู่แข่งร่วมเมืองอย่างแมนเชสเตอร์ซิตี อันเป็นผลมาจากความเสียหายจากระเบิดในสงครามโลกครั้งที่สอง โอลด์แทรฟฟอร์ดได้ทำการขยายสนามหลายครั้งในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1990 และ 2000 รวมถึงการเพิ่มชั้นที่ 2 ให้กับอัฒจันทร์ฝั่งเหนือหรืออัฒจันทร์เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน, อัฒจันทร์ฝั่งตะวันตกหรือสเตรตฟอร์ดเอนด์ และอัฒจันทร์ฝั่งตะวันออก ทำให้สนามกลับมาจุได้เกือบ 80,000 ที่นั่ง การขยายสนามในอนาคตน่าจะเกี่ยวข้องกับการเพิ่มชั้น 2 ให้กับอัฒจันทร์ฝั่งใต้หรืออัฒจันทร์เซอร์ บ็อบบี ชาร์ลตัน ซึ่งจะเพิ่มความจุเป็นประมาณ 88,000 ที่นั่ง สถิติคนดูมากที่สุดของสนามถูกบันทึกไว้ในปี ค.ศ. 1939 เมื่อมีผู้ชม 76,962 คนชมการแข่งขันเอฟเอคัพรอบรองชนะเลิศระหว่างวุลเวอร์แฮมป์ตันวอนเดอเรอส์และกริมสบีทาวน์

โอลด์แทรฟฟอร์ดเป็นเจ้าภาพการแข่งขันเอฟเอคัพ รอบชิงชนะเลิศ 1 ครั้ง รอบชิงชนะเลิศนัดรีเพลย์ 2 ครั้ง และถูกใช้เป็นสนามกลางสำหรับการแข่งขันรอบรองชนะเลิศเป็นประจำ ยังเคยเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันของทีมชาติอังกฤษในฟุตบอลโลก 1966 ฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป 1996 และโอลิมปิกฤดูร้อน 2012 รวมถึงฟุตบอลหญิงระดับนานาชาติเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ และแชมเปียนส์ลีกรอบชิงชนะเลิศ 2003 นอกเหนือจากการแข่งขันฟุตบอลแล้วยังเป็นสถานที่จัดการแข่งขันซูเปอร์ลีก แกรนด์ไฟนอล ของรักบี้ลีกทุกปียกเว้นปี ค.ศ. 2020 และรอบชิงชนะเลิศรักบี้ลีกชิงแชมป์โลก ในปี 2000, 2013 และ 2022

ประวัติ

การก่อสร้างและช่วงปีแรก

อัฒจันทร์ด้านทิศตะวันออกในปี 2011

ก่อนปี 1902 แมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดเป็นที่รู้จักในชื่อนิวตันฮีต ซึ่งระหว่างนั้นพวกเขาเล่นที่นอร์ทโรดและแบงก์สตรีตในย่านเคลย์ตัน อย่างไรก็ตาม สนามทั้งสองมีสภาพที่ไม่ดี นอร์ทโรดมีตั้งแต่กรวดไปจนถึงแอ่งน้ำ ในขณะที่แบงก์สตรีตประสบปัญหากลุ่มควันจากโรงงานใกล้เคียง[6] ดังนั้น หลังจากที่สโมสรรอดพ้นจากการล้มละลายและเปลี่ยนชื่อเป็นแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด จอห์น เฮนรี เดวีส์ ประธานสโมสรคนใหม่ได้ตัดสินใจในปี 1909 ว่าแบงก์สตรีตไม่เหมาะกับทีมที่เพิ่งคว้าแชมป์ดิวิชัน 1 และเอฟเอคัพมาได้ไม่นาน เขาจึงตัดสินใจบริจาคเงินเพื่อสร้างสนามฟุตบอลแห่งใหม่[7] เดวีส์สำรวจรอบ ๆ แมนเชสเตอร์ เพื่อหาสถานที่ที่เหมาะสม ก่อนที่จะปักหลักอยู่บนพื้นที่ที่ติดกับคลองบริดจ์วอเตอร์ ไม่ไกลจากถนนวอร์วิค ในเขตโอลด์แทรฟฟอร์ด[8]

ออกแบบโดยอาร์ชิบัลด์ ลิทช์ สถาปนิกชาวสก็อต ซึ่งเป็นผู้ออกแบบสนามฟุตบอลหลายแห่ง เดิมสนามได้รับการออกแบบให้มีความจุ 100,000 คน และมีที่นั่งในอัฒจันทร์ด้านทิศใต้ที่มีหลังคา ในขณะที่อัฒจันทร์ 3 ด้านที่เหลือเป็นระเบียงและไม่มีหลังคา[9] การก่อสร้างสนามเดิมมีค่าใช้จ่าย 60,000 ปอนด์ อย่างไรก็ตามด้วยต้นทุนที่เริ่มสูงขึ้น การก่อสร้างทั้งหมดจะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมอีก 30,000 ปอนด์จากประมาณการเดิม และตามคำแนะนำของ เจ. เจ. เบนท์ลีย์ เลขานุการสโมสร ให้ลดทอนค่าใช้จ่ายทำให้ความจุของสนามลดลงเหลือประมาณ 80,000 คน[10][11]

ในเดือนพฤษภาคม 1908 อาร์ชิบัลด์ ลิทช์ เขียนจดหมายถึง Cheshire Line Committee ซึ่งมีสถานีรถไฟติดกับสถานที่ก่อสร้างสนามฟุตบอล เพื่อพยายามโน้มน้าวให้พวกเขาบริจาคเงินอุดหนุนการก่อสร้างอัฒจันทร์หลักข้างทางรถไฟ เงินอุดหนุนจะมีมูลค่ารวม 10,000 ปอนด์ โดยจะต้องจ่ายคืนในอัตรา 2,000 ปอนด์ต่อปีเป็นเวลา 5 ปีหรือครึ่งหนึ่งของรายรับจากอัฒจันทร์หลักในแต่ละปีจนกว่าจะชำระคืนเงินกู้ อย่างไรก็ตามแม้จะมีการค้ำประกันเงินกู้ที่มาจากสโมสรและโรงเบียร์ท้องถิ่น 2 แห่งซึ่งบริหารโดย จอห์น เฮนรี เดวีส์ ประธานสโมสร แต่ Cheshire Line Committee ก็ปฏิเสธข้อเสนอดังกล่าว[12] ซีแอลซีได้วางแผนที่จะสร้างสถานีใหม่ที่อยู่ติดกับสนามฟุตบอล ในที่สุดสถานีแทรฟฟอร์ดพาร์ก ก็ถูกสร้างขึ้น แต่อยู่ไกลกว่าที่วางแผนไว้เดิม[8] ต่อมา ซีแอลซีได้สร้างสถานีขนาดเล็กโดยมีชานชาลาที่สร้างด้วยไม้ 1 หลังติดกับสนาม และเปิดทำการในวันที่ 21 สิงหาคม 1935 ในตอนแรกมีชื่อว่า United Football Ground[13] แต่ได้เปลี่ยนชื่อเป็น Old Trafford Football Ground ในต้นปี 1936 ให้บริการในวันแข่งขันด้วยบริการรถรับส่งของรถไฟไอน้ำจากสถานีรถไฟกลางแมนเชสเตอร์[14] ปัจจุบันเป็นที่รู้จักในชื่อสถานีรถไฟ Manchester United Football Ground[15]

การก่อสร้างดำเนินการโดย Messrs Brameld และ Smith of Manchester[16] และการก่อสร้างแล้วเสร็จในปลายปี 1909 โอลด์แทรฟฟอร์ดได้จัดการแข่งขันนัดแรกอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 1910 ในศึกดิวิชัน 1 นัดที่ยูไนเต็ดเปิดบ้านพบกับลิเวอร์พูล อย่างไรก็ตามเจ้าบ้านไม่สามารถมอบชัยชนะให้แฟนบอลได้เนื่องในโอกาสนี้ เนื่องจากลิเวอร์พูลชนะ 4–3

สนามโอลด์แทรฟฟอร์ดในคริสต์ทศวรรษ 1920

ก่อนการก่อสร้างสนามเวมบลีย์ในปี 1923 การแข่งขันเอฟเอคัพรอบชิงชนะเลิศจัดขึ้นที่สนามต่าง ๆ ทั่วอังกฤษ รวมถึงโอลด์แทรฟฟอร์ดด้วย[17] ครั้งแรกคือเอฟเอคัพ รอบชิงชนะเลิศ 1911 นัดรีเพลย์ระหว่างแบรดฟอร์ดซิตีและนิวคาสเซิลยูไนเต็ด หลังจากเสมอกันแบบไร้สกอร์ที่คริสตัลพาเลซ แบรดฟอร์ดชนะ 1–0 จากประตูชัยของจิมมี สเปียร์ส ในการแข่งขันที่มีผู้ชม 58,000 คน[18] เอฟเอคัพรอบชิงชนะเลิศครั้งที่ 2 ของโอลด์แทรฟฟอร์ดคือเอฟเอคัพ รอบชิงชนะเลิศ 1915 ระหว่างเชฟฟีลด์ยูไนเต็ดและเชลซี เชฟฟีลด์ยูไนเต็ดชนะ 3–0 ต่อหน้าผู้ชมเกือบ 50,000 คน ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในกองทัพ ทำให้รอบชิงชนะเลิศได้รับฉายาว่า "รอบชิงชนะเลิศสีกากี"[19] เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 1920 โอลด์แทรฟฟอร์ดเปิดบ้านพบกับแอสตันวิลลาในลีกโดยมีผู้ชม 50,704 คน ซึ่งทีมปีศาจแดงแพ้ 1–3 กลายเป็นการแข่งขันที่มีผู้เข้าชมมากที่สุดก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง[20]

ทิ้งระเบิดในช่วงสงคราม

ในปี 1936 มีการปรับปรุงโดยเพิ่มหลังคายาว 80 หลามูลค่า 35,000 ปอนด์ให้กับอัฒจันทร์ยูไนเต็ดโรด (ปัจจุบันคืออัฒจันทร์เซอร์อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน) เป็นครั้งแรก[21] และได้ต่อเติมเพิ่มหลังคาที่มุมทางทิศใต้ในปี 1938 เมื่อสงครามโลกครั้งที่สองปะทุขึ้น โอลด์แทรฟฟอร์ดถูกกองทัพใช้เป็นคลังพัสดุ ฟุตบอลยังคงเล่นต่อไป แต่การโจมตีด้วยระเบิดของเยอรมันที่แทรฟฟอร์ดพาร์ก เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 1940 ทำให้สนามเสียหายถึงขนาดที่การแข่งขันในวันคริสต์มาสกับสต็อคพอร์ทเคาน์ตี จะต้องเปลี่ยนมาใช้สนามของสต็อคพอร์ทแทน ฟุตบอลกลับมาเล่นอีกครั้งที่โอลด์แทรฟฟอร์ดอีกครั้งในวันที่ 8 มีนาคม 1941 หลังจากปิดซ่อมแซมสนาม แต่การโจมตีของเยอรมันอีกครั้งในวันที่ 11 มีนาคม 1941 ได้ทำลายสนามไปมาก โดยเฉพาะอัฒจันทร์หลัก (ปัจจุบันคืออัฒจันทร์เซอร์ บ็อบบี ชาร์ลตัน) ส่งผลให้สโมสรต้องย้ายไปเล่นที่คอมบรูคโคลด์สตอเรจ ซึ่งมีเจมส์ ดับเบิลยู. กิบสัน ประธานสโมสรในขณะนั้นเป็นเจ้าของเป็นสนามเหย้าชั่วคราว

เปลี่ยนเป็นอัฒจันทร์พร้อมที่นั่ง

สเตรตฟอร์ดเอนด์ก่อนการปรับปรุงใหม่ในปี 1992

ด้วยการปรับปรุงสนามทุกครั้งนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สองความจุก็ลดลงอย่างต่อเนื่อง ในช่วงทศวรรษที่ 1980 ความจุลดลงจากเดิม 80,000 คน เหลือประมาณ 60,000 คน ความจุลดลงอีกในปี 1990 เมื่อเทย์เลอร์รีพอร์ตแนะนำให้สนามฟุตบอลในดิวิชัน 1 และดิวิชัน 2 ทั้งหมดเปลี่ยนเป็นอัฒจันทร์พร้อมที่นั่ง นั่นหมายความว่าสโมสรวางแผนที่จะใช้เงิน 3–5 ล้านปอนด์เพื่อเปลี่ยนสเตรตฟอร์ดเอนด์จากระเบียงยืนเป็นอัฒจันทร์พร้อมที่นั่งและมีหลังคายื่นออกมาเพื่อเชื่อมโยงกับส่วนที่เหลือของสนาม การปรับปรุงใหม่นี้ ไม่เพียงเพิ่มต้นทุนเป็นประมาณ 10 ล้านปอนด์ แต่ยังลดความจุของโอลด์แทรฟฟอร์ดลงเหลือประมาณ 44,000 ที่นั่ง[22]

บรรยากาศภายนอกสนามโอลด์แทรฟฟอร์ดในปี 1992

การฟื้นตัวของสโมสรจากความสำเร็จและความนิยมที่เพิ่มขึ้นในช่วงต้นทศวรรษ 1990 ทำให้มั่นใจได้ว่าจะต้องมีการพัฒนาเพิ่มเติม ในปี 1995 อัฒจันทร์ทิศเหนืออายุ 30 ปีถูกรื้อถอนและเริ่มงานอย่างรวดเร็วสำหรับการก่อสร้างอัฒจันทร์ใหม่[23] (ก่อนหน้านี้อัฒจันทร์ด้านทิศเหนือได้รับการปรับปรุงเป็นอัฒจันทร์พร้อมที่นั่งแบบชั่วคราวในต้นทศวรรษ 1990) เพื่อให้พร้อมสำหรับจัดการแข่งขันกลุ่ม 3 นัด รอบก่อนรองชนะเลิศและรอบรองชนะเลิศของยูโร 96 สโมสรได้ซื้อ Trafford Park Trading Estate ซึ่งมีพื้นที่ 20-เอเคอร์ (81,000-ตารางเมตร) ตั้งอยู่อีกฝั่งหนึ่งของ United Road ในราคา 9.2 ล้านปอนด์ในเดือนมีนาคม 1995 การก่อสร้างเริ่มในเดือนมิถุนายน 1995 และแล้วเสร็จในเดือนพฤษภาคม 1996 โดยอัฒจันทร์สองเฟสแรกจากทั้งหมด 3 เฟสเปิดใช้ในระหว่างฤดูกาล อัฒจันทร์ 3 ชั้นที่สร้างขึ้นใหม่ใช้เงินลงทุนทั้งหมด 18.65 ล้านปอนด์ในการสร้างและมีความจุประมาณ 25,500 คน เพิ่มความจุของสนามทั้งหมดเป็นมากกว่า 55,000 คน หลังคาคานยื่นยังยาวที่สุดในยุโรป โดยวัดจากผนังด้านหลังถึงขอบด้านหน้าที่ 58.5 m (192 ft)[24]

อ้างอิง

อัตชีวประวัติ
  • Barnes, Justyn; Bostock, Adam; Butler, Cliff; Ferguson, Jim; Meek, David; Mitten, Andy; Pilger, Sam; Taylor, Frank OBE; Tyrrell, Tom (2001). The Official Manchester United Illustrated Encyclopaedia. London: Manchester United Books. ISBN 0-233-99964-7.
  • Brandon, Derek (1978). A–Z of Manchester Football: 100 Years of Rivalry. London: Boondoggle.
  • Butt, R. V. J. (1995). The Directory of Railway Stations. Patrick Stephens. ISBN 1-85260-508-1.
  • Inglis, Simon (1996) [1985]. Football Grounds of Britain (3rd ed.). London: CollinsWillow. ISBN 0-00-218426-5.
  • James, Gary (2008). Manchester – A Football History. Halifax: James Ward. ISBN 978-0-9558127-0-5.
  • McCartney, Iain (1996). Old Trafford – Theatre of Dreams. Harefield: Yore Publications. ISBN 1-874427-96-8.
  • Mitten, Andy (2007). The Man Utd Miscellany. London: Vision Sports Publishing. ISBN 978-1-905326-27-3.
  • Murphy, Alex (2006). The Official Illustrated History of Manchester United. London: Orion Books. ISBN 0-7528-7603-1.
  • Rollin, Glenda; Rollin, Jack (2008). Sky Sports Football Yearbook 2008–2009. Sky Sports Football Yearbooks. London: Headline Publishing Group. ISBN 978-0-7553-1820-9.
  • White, John (2007). The United Miscellany. London: Carlton Books. ISBN 978-1-84442-745-1.
  • White, John D. T. (2008). The Official Manchester United Almanac (1st ed.). London: Orion Books. ISBN 978-0-7528-9192-7.
หมายเหตุ
  1. 1.0 1.1 "Old Trafford". premierleague.com. Premier League. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 5 August 2019. สืบค้นเมื่อ 25 August 2022.
  2. "Premier League Handbook 2022/23" (PDF). Premier League. p. 30. เก็บ (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ 21 July 2022. สืบค้นเมื่อ 21 July 2022.
  3. "Manchester Sightseeing Bus Tours". เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 16 July 2015. สืบค้นเมื่อ 15 July 2015.
  4. "Manchester United - Old Trafford - Manchester Bus Tours". www.manchesterbustours.co.uk.
  5. Barnes et al., p. 45
  6. Murphy, p. 14
  7. Murphy, p. 27
  8. 8.0 8.1 McCartney (1996), p. 9
  9. Inglis, pp. 234–235
  10. White, p. 50
  11. McCartney (1996), p. 13
  12. McCartney (1996), p. 10
  13. Butt (1995), p. 247
  14. Butt, p. 178
  15. "Manchester Utd Football Gd (MUF)". National Rail. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 27 July 2011. สืบค้นเมื่อ 15 July 2011.
  16. Barnes et al., pp. 44–47, 52
  17. "FA Cup Final Venues". TheFA.com. The Football Association. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 8 May 2012. สืบค้นเมื่อ 11 September 2016.
  18. "1911 FA Cup Final". fa-cupfinals.co.uk. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 18 December 2008. สืบค้นเมื่อ 4 September 2008.
  19. "1915 FA Cup Final". fa-cupfinals.co.uk. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 11 March 2007. สืบค้นเมื่อ 4 September 2008.
  20. Murphy, p. 31
  21. Inglis, p. 235
  22. Inglis, p. 238
  23. James, pp. 405–6
  24. Inglis, p. 239

53°27′47″N 2°17′29″W / 53.46306°N 2.29139°W / 53.46306; -2.29139

แหล่งข้อมูลอื่น