ข้ามไปเนื้อหา

มูฮัมหมัด ยูนูส

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก Muhammad Yunus)
ดิออนะระเบิล
มูฮัมหมัด ยูนูส
মুহাম্মদ ইউনুস
ยูนูสในปี พ.ศ. 2557
ประธานที่ปรึกษาแห่งบังคลาเทศ คนที่ 6[1]
ดำรงตำแหน่ง
เริ่มดำรงตำแหน่ง
8 สิงหาคม พ.ศ. 2567
ประธานาธิบดีโมฮัมหมัด ชาฮาบุดดิน
ก่อนหน้าเศข หาสินา (ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี)
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด28 มิถุนายน พ.ศ. 2483 (84 ปี)
เมืองจิตตะกอง จังหวัดเบงกอล บริติชราช
เชื้อชาติบังกลาเทศ
ศาสนาศาสนาอิสลาม
คู่สมรสเวรา โฟโรสเทนโก (หย่า)
อัฟรอซี ยูนูส (ปัจจุบัน)
บุตรโมนิกา ยูนูส
ดีนา อัฟรอซ ยูนูส
บุพการีฮาซี ดูลา เมีย เซาดาคาร์
ซูเฟีย คาตุน
ที่อยู่อาศัยประเทศบังกลาเทศ
อาชีพนายธนาคาร, นักเศรษฐศาสตร์
เป็นที่รู้จักจากผู้ก่อตั้งธนาคารกรามีน, ผู้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ปี พ.ศ. 2549

มูฮัมหมัด ยูนูส (เบงกอล: মুহাম্মদ ইউনুস, Muhammôd Iunus) เป็นนายธนาคารและนักเศรษฐศาสตร์ชาวบังกลาเทศผู้ริเริ่มและพัฒนาแนวคิด “ไมโครเครดิต” หรือ การให้กู้เงินโดยไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน โดยจะให้กู้แก่ผู้ประกอบการหรือชาวบ้านซึ่งยากจนเกินกว่าจะมีคุณสมบัติพอเพียงที่จะกู้เงินจากธนาคารทั่วไป นอกจากนั้น ยูนูสยังเป็นผู้ก่อตั้ง “กรามีนแบงค์”(ธนาคารหมู่บ้าน) หรือ ธนาคารกรามีน อีกด้วย ทั้งยูนูสและธนาคารที่เขาก่อตั้งขึ้นได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพร่วมกันในปี พ.ศ. 2549 สำหรับ “ความพยายามในการสร้างพัฒนาการทางสังคมและเศรษฐกิจจากเบื้องล่าง” [2] ยูนูสเคยได้รับรางวัลและเกียรติคุณอื่นๆในระดับนานาชาตินอกเหนือจากนี้มาแล้วมากมาย เขาเป็นผู้แต่งหนังสือ Banker to The Poor รวมถึงเป็นผู้ร่วมก่อตั้งมูลนิธิกรามีนอีกด้วย

หลังเศข หาสินา อดีตนายกรัฐมนตรีบังคลาเทศลาออกพร้อมลี้ภัยในวันที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2567 และการยุบรัฐสภาในวันถัดจากนั้น โมฮัมหมัด ชาฮาบุดดิน ประธานาธิบดีบังกลาเทศ ได้เชิญยูนูสเป็นหัวหน้ารัฐบาลเฉพาะกาล[3] เขาดำรงตำแหน่งประธานที่ปรึกษาของรัฐบาลเฉพาะกาลบังคลาเทศในวันที่ 8 สิงหาคม[4][5]

วัยเยาว์และชีวิตครอบครัว

[แก้]

ยูนูสถือกำเนิดเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2483 ในหมู่บ้าน บาธัว ภาคจิตตะกอง บิดามีชื่อว่า ฮาซี ดูลา มีอา ชูดาการ์ และมารดาชื่อว่า ซูเฟีย คาทูน ยูนูสใช้ชีวิตวัยเด็กเล็กในหมู่บ้าน จนกระทั่งปี พ.ศ. 2490 เขาและครอบครัวจึงย้ายไปยังเมืองจิตตะกอง ที่ซึ่งบิดาของเขาเริ่มทำธุรกิจอัญมณี

ยูนูสสมรสกับนางอโฟรจี ยูนูส ซึ่งเป็นศาสตราจารย์วิชาฟิสิกส์ประจำมหาวิทยาลัยจาฮานกีรนาการ์ ทั้งสองมีบุตรสาว 2 คน คือ ดีน่า ยูนูส และ โมนิก้า ยูนูส นายยูนูสมีน้องชายชื่อ มูฮัมหมัด อิบราฮิมซึ่งเป็นศาสตราจารย์สาขาฟิสิกส์ประจำมหาวิทยาลัยธากา ขณะที่น้องชายอีกคนชื่อมูฮัมหมัด จาฮานเกียร์ เป็นพิธีกรทางโทรทัศน์ชื่อดัง

การศึกษาและอาชีพการงานช่วงต้น

[แก้]

ยูนูสศึกษาที่โรงเรียนประจำหมู่บ้านในวัยเด็กเด็ก เมื่อครอบครัวของเขาย้ายไปที่จิตตะกอง จึงได้เข้าศึกษาที่โรงเรียนประถมลามาบาซาร์ และชั้นมัธยม ณ โรงเรียนมัธยมจิตตะกอง เขาผ่านการสอบคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยได้เป็นลำดับที่ 16 จากนักเรียนในปากีสถานตะวันออกที่เข้าสอบทั้งหมดทั้งหมด 39,000 คน ในปีพ.ศ. 2498 ต่อมา เขาเข้าศึกษาที่วิทยาลัยจิตตะกองซึ่งเขาได้เข้าร่วมกิจกรรมทางวัฒนธรรมเป็นประจำ และได้รับรางวัลจากการร่วมแสดงละครอีกด้วย

ปีพ.ศ. 2501 ยูนูสเข้าศึกษาในคณะเศรษฐศาสตร์ แห่งมหาวิทยาลัยธากา จนสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีในปี พ.ศ. 2503 และระดับปริญญาโทในปีพ.ศ. 2504 หลังจากนั้น จึงเข้าทำงานที่สำนักการเศรษฐศาสตร์ ซึ่งทำให้เขาได้ร่วมทำงานวิจัยทางเศรษฐศาสตร์กับศาสตราจารย์นูรุล อิสลาม และราห์มัน โสภาณในฐานะที่ปรึกษางานวิจัย[6] ต่อมาในปีพ.ศ. 2504 เขาก็เข้าเป็นอาจารย์บรรยายวิชาเศรษฐศาสตร์ในมหาวิทยาลัยจิตตะกง[7]. ยูนูสสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกสาขาเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแวนเดอร์บิลท์ ในสหรัฐอเมริกาเมื่อปีพ.ศ. 2512 หลังจากได้รับทุนการศึกษาฟุลไบรท์ ยูนูสเป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์สาขาเศรษฐศาสตร์อยู่ที่มหาวิทยาลัยรัฐเทนเนสซีตอนกลางตั้งแต่ปีพ.ศ. 2512 ถึง 2515 แล้วจึงย้ายกลับมายังบังคลาเทศ และเข้าร่วมมหาวิทยาลัยจิตตะกองในฐานะศาสตราจารย์วิชาเศรษฐศาสตร์

รางวัลโนเบล

[แก้]

มูฮัมหมัด ยูนูสได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพร่วมกับธนาคารกรามีนในปีพ.ศ. 2549 สำหรับ “ความพยายามในการสร้างพัฒนาการทางสังคมและเศรษฐกิจจากเบื้องล่าง” ดังคำประกาศดังนี้[8]


"คณะกรรมการรางวัลโนเบลแห่งนอร์เวย์ได้ตัดสินใจมอบรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพโดยแบ่งออกเป็นสองส่วนเท่าๆกัน แก่มูฮัมหมัด ยูนูส และธนาคารกรามีน สำหรับความพยายามในการสร้างพัฒนาการทางสังคมและเศรษฐกิจจากเบื้องล่าง สันติภาพอันยั่งยืนจะมิอาจบรรลุได้ เว้นแต่เพียงว่า ประชากรกลุ่มใหญ่จะสามารถหาหนทางที่จะเอาชนะความยากไร้ได้ ไมโครเครดิตเป็นหนึ่งในวิธีการนั้น นอกจากนั้น การพัฒนาจากเบื้องล่างยังทำให้ประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนก้าวหน้าขึ้นอีกด้วย"


ยูนูสกล่าวว่า เขาจะนำส่วนแบ่งรางวัลมูลค่า 1.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไปสร้างบริษัทเพื่อผลิตอาหารซึ่งมีต้นทุนต่ำแต่คุณค่าทางโภชนาการสูงสำหรับคนยากจน ส่วนที่เหลือจะถูกใช้เพื่อการก่อตั้งโรงพยาบาลตาสำหรับคนยากจนในบังคลาเทศ

รางวัลที่ได้รับ

[แก้]

รางวัลสำคัญๆบางส่วนซึ่งมูฮัมหมัด ยูนูสได้รับมีดังนี้

  • 2527 รางวัลรามอน แมกไซไซ (รางวัลแมกไซไซ) ประเทศฟิลิปปินส์
  • 2537 รางวัลมูลนิธิเวิลด์ฟู้ดไพรซ์
  • 2539 รางวัลไซมอน โบลิวาร์จากองค์การยูเนสโก
  • 2541 รางวัลสันติภาพซิดนีย์
  • 2547 รางวัลนวัตกรรมทางสังคมและเศรษฐกิจจากหนังสือพิมพ์ ดิ อีโคโนมิสต์
  • 2549 รางวัลแม่พระเทเรซ่า ก่อตั้งโดย คณะกรรมการรางวัลสหัสวรรษและนานาชาติแม่พระเทเรซ่า
  • 2549 รางวันสันติภาพโซล
  • 2549 รางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ รับร่วมกับธนาคารกรามีน
  • และรางวัลอื่นๆรวมเป็นจำนวนทั้งสิ้น 62 รางวัล

นอกจากนี้ ศาสตราจารย์ยูนูส ยังได้รับปริญญาดุษฎีกิตติมศักดิ์อื่นๆอีก 27 ครั้ง และรางวัลพิเศษอีก 15 รางวัล สามารถดูรายชื่อรางวัลทั้งหมดได้ที่เว็บไซต์ของธนาคารกรามีน

อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ นายบิล คลินตัน เป็นผู้หนึ่งซึ่งเป็นปากเสียงสนับสนุนให้มอบรางวัลโนเบลแก่ มูฮัมหมัด ยูนูส เขาได้กล่าวเรื่องนี้ไว้ทั้งในนิตยสารโรลลิ่ง สโตนส์ และหนังสืออัตชีวประวัติ ชีวิตของข้าพเจ้า (My Life) ซึ่งเมื่อครั้งได้กล่าวปาฐกถาที่มหาวิทยาลัยแห่งแคลิฟอร์เนีย, เบิร์คเลย์ ในปีพ.ศ. 2545 เขากล่าวถึงนายยูนูสว่าเป็น “บุรุษผู้สมควรจะชนะรางวัลโนเบลมานานแล้ว(และ)ข้าพเจ้าจะกล่าวเช่นนี้ไปเรื่อยๆจนกว่าจะมีการมอบรางวัลแก่เขาเสียที”

อ้างอิง

[แก้]
  1. "A look back at caretaker governments throughout the years". The Business Standard (ภาษาอังกฤษ). 8 August 2024. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 8 August 2024. สืบค้นเมื่อ 8 August 2024.
  2. "The Nobel Peace Prize for 2006". The Nobel Peace Prize for 2006. 2006-10-13. สืบค้นเมื่อ 2006-10-13.
  3. Majumder, Azad; Mehrotra, Karishma; Gupta, Anant; Ripon, Tanbirul Miraj; Seth, Anika Arora (6 August 2024). "Bangladeshi officials meet student demand to name Nobel laureate as leader". Washington Post. สืบค้นเมื่อ 2024-08-08.
  4. প্রতিবেদক, নিজস্ব (6 August 2024). "ড. মুহাম্মদ ইউনূসকে প্রধান উপদেষ্টা করে সরকার গঠনের সিদ্ধান্ত" (ภาษาเบงกอล). Dhaka Post. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 6 August 2024. สืบค้นเมื่อ 6 August 2024.
  5. "Nobel Laureate Muhammad Yunus Named Chief Adviser Of Bangladesh Interim Government: Updates". NDTV. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 7 August 2024. สืบค้นเมื่อ 7 August 2024.
  6. "An interview of Dr. Muhammad Yunus conducted by Matiur Rahman, Editor, the daily Prothom Alo-a Bangladeshi daily news paper, written in Bangla". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-08-04. สืบค้นเมื่อ 2006-10-20.
  7. "An interview of Dr. Muhammad Yunus conducted by Matiur Rahman, Editor, the daily Prothom Alo-a Bangladeshi daily news paper, written in Bangla". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-08-04. สืบค้นเมื่อ 2006-10-20.
  8. The Norwegian Nobel Committee เก็บถาวร 2006-10-20 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน.