จังหวัดลิมบืร์ค (ประเทศเนเธอร์แลนด์)
ลิมบืร์ค | |
---|---|
เพลง: ลิมบืร์คไมน์ฟาเดอร์ลันด์ ("ลิมบืร์ค ปิตุภูมิของข้า") | |
ที่ตั้งของจังหวัดลิมบืร์คในประเทศเนเธอร์แลนด์ | |
พิกัด: 51°13′N 5°56′E / 51.217°N 5.933°E | |
ประเทศ | เนเธอร์แลนด์ |
การจัดตั้ง | ค.ศ. 1839 |
เมืองหลัก | มาสทริชท์ |
การปกครอง | |
• ผู้ว่าราชการ[1] | เตโอ โบเฟินส์ |
พื้นที่ | |
• พื้นดิน | 2,153 ตร.กม. (831 ตร.ไมล์) |
• พื้นน้ำ | 56 ตร.กม. (22 ตร.ไมล์) |
อันดับพื้นที่ | ที่ 9 |
ประชากร (2006) | |
• พื้นดิน | 1,131,938 คน |
• อันดับ | ที่ 6 |
• ความหนาแน่น | 530 คน/ตร.กม. (1,400 คน/ตร.ไมล์) |
• อันดับความหนาแน่น | ที่ 4 |
รหัส ISO 3166 | NL-LI |
ศาสนา (2003) | โรมันคาทอลิก ร้อยละ 78 โปรเตสแตนต์ ร้อยละ 2 อื่น ๆ ร้อยละ 5 ไม่มีศาสนา ร้อยละ 15 |
เว็บไซต์ | www.limburg.nl |
ลิมบืร์ค (ดัตช์: Limburg) เป็นจังหวัดที่ตั้งอยู่ทางตอนใต้สุดในบรรดาสิบสองจังหวัดของประเทศเนเธอร์แลนด์ จังหวัดลิมบืร์คมีพรมแดนทางตอนใต้และบางส่วนทางตะวันตกติดกับประเทศเบลเยียม โดยมีแม่น้ำเมิซกั้นระหว่างสองประเทศ พรมแดนบางส่วนทางตะวันตกติดกับจังหวัดนอร์ทบราบันต์ และทางเหนือติดกับจังหวัดเกลเดอร์ลันด์ ทางตะวันออกติดกับรัฐนอร์ทไรน์-เว็สท์ฟาเลินในประเทศเยอรมนี
เมืองหลวงและเมืองใหญ่ที่สุดของจังหวัดคือ มาสทริชท์ มีประชากร 121,565 คน [2] เมืองขนาดรองลงมาคือเวนโล ซิตทาร์ด-เคเลน และเฮร์เลิน จังหวัดลิมบืร์คตั้งอยู่ในจุดยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจที่สำคัญ อยู่ใกล้กับมหานครเศรษฐกิจรูห์ของเยอรมนีและเป็นประตูสู่กลุ่มประเทศเบเนลักซ์ได้เป็นอย่างดี
ประวัติศาสตร์
[แก้]ประวัติศาสตร์ของลิมบืร์คเริ่มขึ้นในสมัยสาธารณรัฐโรมัน เมื่อจูเลียส ซีซาร์เข้ายึดดินแดนบริเวณนี้และกำจัดชนพื้นเมืองที่ลุกฮือต่อต้านทั้งหมด และได้ตั้งนครตุงกรีขึ้นโดยมีโตงเงอเรินเป็นเมืองหลวง (ปัจจุบันอยู่ในประเทศเบลเยียม) ได้มีการวางเส้นทางเชื่อมต่อระหว่างเมืองโตงเงอรินกับโคโลญ ก่อให้เกิดการตั้งเมือง โมซา ทราเจ็กตัม (มาสทริชท์) และ โคริโอวาลลัม (เฮร์เลิน) ขึ้น พื้นที่แถบนี้จึงมีสถาปัตยกรรมและวัฒนธรรมโรมันหลงเหลืออยู่มาก ต่อมา พระสังฆราชเซอร์วาติอุสได้นำคริสต์ศาสนาจากโรมันมาเผยแพร่ในมาสทริชท์เมื่อ ค.ศ. 384 ทำให้ต่อมา มาสทริชท์เรืองอำนาจขึ้นมาแทนโทงเงอเริอในฐานะเมืองหลวงท้องถิ่นอย่างไม่เป็นทางการ ก่อนจะมีการสถาปนามุขมณฑลขึ้นที่ลีแยฌ (ปัจจุบันอยู่ในเบลเยียม) ห่างจากมาสทริชท์ไปทางใต้ 25 กิโลเมตร
หลังอาณาจักรโรมันล่มสลาย อำนาจของโรมันก็เสื่อมลง อาณาจักรแฟรงก์ได้เข้ามาเป็นใหญ่ในพื้นที่แทนโรมัน นำมาซึ่งความเจริญรุ่งเรืองของพื้นที่ หุบเขาริมแม่น้ำเมิซมีความสำคัญทางด้านการเมืองและวัฒนธรรม พระเจ้าชาร์เลอมาญ กษัตริย์ชาวแฟรงก์ได้สถาปนาเมืองอาเคินเป็นเมืองหลวงของอาณาจักรแฟรงก์และมีอาณาบริเวณแผ่มาถึงตอนใต้ของลิมบืร์ค และทำให้ดินแดนแถบนี้เจริญรุ่งเรืองมากขึ้นไปอีก หลังพระเจ้าชาร์เลอมาญสวรรคต อาณาจักรแฟรงก์แบ่งออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ ราชอาณาจักรแฟรงก์ตะวันตก กลาง และตะวันออก แต่เส้นเขตแดนไม่เสถียรนัก ดินแดนของจังหวัดลิมบืร์คสลับเปลี่ยนไปอยู่ในอำนาจของหลายอาณาจักร จนในที่สุด ได้ตกเป็นของราชอาณาจักรแฟรงค์ตะวันตก จากสนธิสัญญาเมอร์เซนเมื่อปี ค.ศ. 870
ในยุคกลาง ขุนนางแห่งฟาลเคนบูร์ก ดาลเฮม เฮร์โซเกนราท เริ่มมีอำนาจขึ้นทางตอนใต้ของลิมบืร์ค แต่ต่อมาถูกรวมเป็นดัชชีลิมบืร์คและอยู่ภายใต้การปกครองของดัชชีบราบันต์อีกที เข้าสู่ศตวรรษที่ 15 ดัชชีลิมบืร์คและเมืองบริวารตกเป็นของเบอร์กันดี ส่วนเมืองมาสทริชท์อยู่ใต้การปกครองของราชรัฐมุขนายกลีแยฌและดัชชีบราบันต์ร่วมกัน ส่วนตอนกลางและเหนือของจังหวัดลิมบืร์คในปัจจุบันตกเป็นของดัชชียือลิชและดัชชีเกลเดอร์ส บรรดาดัชชีและมุขนายกเหล่านี้มีอิทธิพลอย่างมากเหนือดินแดนลิมบืร์คในยุคกลางภายใต้จักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ แต่มีบ่อยครั้งที่มักจะสู้รบกันเอง และผลของการสู้รบในพื้นที่ของลิมบืร์คก็ทำให้ภูมิภาคนี้ลดความสำคัญทางเศรษฐกิจลงไป
ในช่วงสงคราม 80 ปีที่เนเธอร์แลนด์ทำสงครามเพื่อเป็นเอกราชจากการปกครองของสเปน ลิมบืร์คกลายเป็นสมรภูมินองเลือดบ่อยครั้ง ชาวลิมบืร์คร่วมรบกับฝั่งสเปนเนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่เป็นชาวคริสต์นิกายคาทอลิก ตรงข้ามกับชาวดัตช์ที่นับถือลัทธิคาลวิน จนเมื่อสิ้นสุดสงครามและเนเธอร์แลนด์ได้เอกราช ดินแดนของจังหวัดลิมบืร์คถูกแบ่งเป็นพื้นที่การปกครองครองสเปน ปรัสเซีย สาธารณรัฐดัตช์ ลีแยฌ และขุนนางอีกหลายคน จนกระทั่งปี ค.ศ. 1673 พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศสได้ยกกองทัพฝรั่งเศสมาตีเบลเยียมจนถึงเมืองมาสทริชท์และยึดเมืองได้ในช่วง ค.ศ. 1673 ถึง 1678 และฝรั่งเศสยึดทัพมายึดอีกครั้งในปี ค.ศ. 1748 ในช่วงสงครามสืบราชบัลลังก์ออสเตรีย
เขตแดนของลิมบืร์คเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญเมื่อจักรพรรดินโปเลียนยกทัพมายึดประเทศเนเธอร์แลนด์ไว้ได้เมื่อปี ค.ศ. 1794 ถึงปี ค.ศ. 1814 ในช่วงนี้ เนเธอร์แลนด์ได้ถูกผนวกรวมเข้ากับจักรวรรดิฝรั่งเศสที่ 1 และลิมบืร์คถูกเปลี่ยนให้เป็นจังหวัดหนึ่งของฝรั่งเศสชื่อ เมิซ-อินเฟริเยอร์ (ฝรั่งเศส: Meuse-Inférieure) ที่หมายถึง เมิซส่วนล่าง
เมื่อจักรพรรดินโปเลียนแพ้สงคราม มหาอำนาจของยุโรปได้แก่ สหราชอาณาจักร ปรัสเซีย ออสเตรีย และรัสเซีย ได้ประชุมกันที่การประชุมใหญ่แห่งเวียนนา มีมติให้ก่อตั้งราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ขึ้นในปี ค.ศ. 1815 โดยรวมเอาเนเธอร์แลนด์และเบลเยียมเป็นประเทศเดียวกัน ได้มีการตั้งจังหวัดใหม่ขึ้นเป็นจังหวัดมาสทริชท์เช่นเดียวกับเมืองหลวงของจังหวัด อย่างไรก็ตาม พระเจ้าวิลเลิมที่ 1 แห่งเนเธอร์แลนด์ ทรงไม่ประสงค์จะให้ชื่อในยุคกลางต้องสูญหายไป จึงทรงเปลี่ยนชื่อเป็นจังหวัดลิมบืร์ค
ต่อมา เมื่อปี ค.ศ. 1830 เกิดการปฏิวัติเบลเยียมขึ้น โดยเบลเยียมที่ประชาชนส่วนใหญ่เป็นชาวคาทอลิกต้องการแยกตัวออกจากเนเธอร์แลนด์ตอนเหนือที่ประชาชนส่วนใหญ่นับถือลัทธิคาลวิน ทางเนเธอร์แลนด์ส่งกองกำลังเข้าปราบปรามฝ่ายกบฏและไม่ยอมรับเอกราชของเบลเยียม นำมาซึ่งการสู้รบยาวนานจนถึงปี ค.ศ. 1839 ได้มีการเจรจาสันติภาพและลงสนามในสนธิสัญญาลอนดอน รับรองเอกราชของเบลเยียม จังหวัดลิมบืร์คเดิมทีอยู่ภายใต้การปกครองของเบลเยียมได้ถูกแบ่งเป็นสองส่วน ส่วนตะวันออกตกเป็นของเนเธอร์แลนด์ และส่วนตะวันตกกลายเป็นของเบลเยียม และจุดแบ่งก็กลายเป็นเส้นพรมแดนของทั้งสองประเทศมาจนถึงทุกวันนี้
อย่างไรก็ตาม สนธิสัญญาลอนดอนได้ระบุว่าพื้นที่ทางตะวันตกของลักเซมเบิร์กที่เดิมอยู่ใต้การปกครองของราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์จะถูกรวมกับเบลเยียม แต่ปัญหาอยู่ที่ว่าลักเซมเบิร์กเคยอยู่ภายใต้อำนาจของสมาพันธรัฐเยอรมันไปพร้อมๆกันด้วย ทั้งนี้ สมาพันธรัฐเยอรมันตั้งขึ้นโดยมีจุดประสงค์เพื่อความร่วมมือทางการค้าหลังสงครามนโปเลียนดังนั้น พื้นที่ลักเซมเบิร์กตะวันตกที่มีประชากร ราว 150,000 คนที่จะเสียไปให้เบลเยียมนั้น จะทำให้สมาพันธรัฐเยอรมันเสียประโยชน์ด้วย เพื่อเป็นการชดเชย เนเธอร์แลนด์จึงได้ทำการยกพื้นที่ของจังหวัดลิมบืร์คไปอยู่กับสมาพันธรัฐเยอรมันด้วย ยกเว้นเพียงเมืองมาสทริชท์และเวนโล (เพราะหากไม่นับประชากรของสองเมืองนี้ พื้นที่ที่จะยกไปจะมีประชากรรวมราวๆ 150,000 คนพอดี) ดังนั้น พื้นที่บางส่วนของจังหวัดลิมบืร์คจึงอยู่ภายใต้ราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์และเป็นดัชชีลิมบืร์คภายใต้การปกครองของสมาพันธรัฐเยอรมันไปพร้อมๆกันด้วย ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1839 จนถึงปี ค.ศ. 1866 อันเป็นปีที่เกิดสงครามระหว่างปรัสเซียและออสเตรียจนสมาพันธรัฐเยอรมันล่มสลายและมีการสถาปนาชาติเยอรมันขึ้น สนธิสัญญาลอนดอนฉบับที่สองที่ลงนามกันเมื่อ ค.ศ. 1867 ระบุให้ลิมบืร์คกลับไปอยู่ภายใต้การปกครองของเนเธอร์แลนด์เพียงประเทศเดียวตั้งแต่นั้น แต่ชื่อของดัชชีลิมบืร์คยังมีการใช้ในเอกสารราชการเรื่อยมาจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1907 และยังส่งผลให้ลิมบืร์คมีลักษณะเฉพาะที่ไม่เหมือนจังหวัดอื่นด้วย เช่น ผู้ปกครองของจังหวัดจะถูกเรียกว่า "ผู้ว่าราชการจังหวัด" ต่างกับจังหวัดอื่นที่ใช้ชื่อ "ข้าหลวงในพระมหากษัตริย์"
ช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง นาซีเยอรมนีเข้ายึดครองเนเธอร์แลนด์รวมถึงลิมบืร์คด้วย เมืองและหมู่บ้านจึงได้รับความเสียหายอย่างหนักจากการทิ้งระเบิดและปืนใหญ่ จนกระทั่งหลังจบสงครามโลกในปี ค.ศ. 1945 ได้มีการบูรณะซ่อมแซมเมือง ต่อมาเมื่อปี ค.ศ. 1991 ประชาคมยุโรปได้มีการจัดประชุมที่เมืองมาสทริชท์ และได้มีการเซ็นสนธิสัญญาก่อตั้งสหภาพยุโรปขึ้น จึงถือได้ว่ามาสทริชท์ จังหวัดลิมบืร์ค เป็นจุดกำเนิดของสหภาพยุโรป
ภาษา
[แก้]แม้ภาษาดัตช์จะเป็นภาษาราชการ แต่ลิมบืร์คก็มีสำเนียงเป็นของตัวเองที่เรียกว่า ลิมบืร์คิช ได้รับการรับรองให้เป็นภาษาถิ่นอย่างเป็นทางการเมื่อปี ค.ศ. 1997 แต่ไม่ได้เป็นภาษาราชการ ประมาณการกันว่ามีคนพูดภาษาลิมบืร์คิชประมาณ 1.6 ล้านคนในจังหวัดลิมบืร์คของเนเธอร์แลนด์ ลิมบืร์คของเบลเยียม และเยอรมนี แต่สำเนียงก็แตกต่างกันออกไปอีกในแต่ละประเทศ และในแต่ละหมู่บ้านและชุมชนก็มีสำเนียงที่ต่างกันอีก เช่น ลิมบืร์คิชทางเหนือจะมีความคล้ายกับภาษาของเกลเดอร์สทางตอนใต้และบราบันต์ทางตะวันออกเฉียงเหนือ
ภูมิศาสตร์
[แก้]ลิมบืร์คเป็นเหมือนส่วนยื่นของเนเธอร์แลนด์เข้าไปในประเทศเบลเยียม เมื่อเทียบกับส่วนอื่นๆของเนเธอร์แลนด์แล้ว พื้นที่ของลิมบืร์คจะมีความราบเรียบน้อยกว่า และบางครั้งมีลักษณะเป็นเนินเขา จุดสูงสุดของเนเธอร์แลนด์ตั้งอยู่ในจังหวัดนี้เช่นกัน คือ ฟาลเซอร์แบร์ก (หมายถึง ภูเขาแห่งวาลส์) มีความสูง 322.4 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล และยังเป็นจุดที่พรมแดนของสามประเทศ ได้แก่ เนเธอร์แลนด์ เบลเยียม และเยอรมนีมาบรรจบกันอีกด้วย
แม่น้ำสายหลักของลิมบืร์คคือแม่น้ำเมิซ ไหลจากตอนใต้ของตัวจังหวัดไปจนถึงตอนเหนือของจังหวัด พื้นดินจึงมีลักษณะเป็นดินตะกอนจากแม่น้ำเมิซ บางครั้งถูกนำไปทำเป็นอิฐในอุตสาหกรรมก่อสร้าง
ลิมบืร์คแบ่งการปกครองออกเป็น 33 เทศบาล ซึ่งสามารถจำแนกได้เป็น 3 กลุ่ม (COROP) ได้แก่
- กลุ่มลิมบืร์คเหนือ: เบเซล, เบร์เกิน, เกนเนิป, โฮร์สท์อานเดอมาส, โมกเอ็นมิดเดอลาร์, เพลเอ็นมาส, เวนโล, เวนราย
- กลุ่มลิมบืร์คกลาง: เอคท์-ซุสเทเริน, เลอดาล, มาสโกว์, เนเดอร์เวร์ท, รูร์ดาเลิน, รูร์มอนด์, เวร์ท
- กลุ่มลิมบืร์คใต้: เบก, บรุนส์ซุม, ไอส์เดิน-มาร์กราเทิน,กุลเพิน-วิทเทิม, เฮร์เลิน, แกร์กราเดอ, ลันด์กราฟ, มาสทริชท์, เมร์สเซิน, นุท, โอนเดอร์บังเคิน, สคินเนิน, ซิมเพิลเฟลด์, สเตน, ฟาลส์, ฟาลเคินบูร์กอานเดอเกิล, ฟูเรินดาล
เศรษฐกิจ
[แก้]เศรษฐกิจของลิมบืร์คมีขนาดไม่ใหญ่มาก คิดเป็นร้อยละ 5.7 เท่านั้นของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศเนเธอร์แลนด์ (ปี ค.ศ. 2018) [3] ในอดีต มีการขุดถ่านหินและพีต แต่เหมืองถ่านหินถูกทยอยปิดไปในช่วง ค.ศ. 1965 ถึง 1975 ส่งผลให้คนงานที่ทำงานในเหมืองกว่า 60,000 คนต้องตกงาน รัฐบาลได้ชดเชยด้วยการย้ายสำนักงานรัฐบาลหลายแห่งไปยังเฮร์เลิน เพื่อเพิ่มการจ้างงานในพื้นที่ เช่น สำนักงานกองทุนบำเหน็จบำนาญ สำนักงานสถิติแห่งชาติ
ปัจจุบัน บริษัทดีเอสเอ็มที่เคยเป็นบริษัทขุดถ่านหินของรัฐได้เปลี่ยนมาเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านอุตสาหกรรมเคมี ปัจจุบันได้ขายส่วนธุรกิจปิโครเคมีให้กับบริษัทซาบิคในซาอุดิอารเบีย นอกจากนี้ ลิมบืร์คยังเป็นที่ตั้งของบริษัทผลิตรถยนต์เฟเดแอลโดยปัจจุบันดำเนินการผลิตให้กับรถมินิ บริษัทเครื่องถ่ายเอกสารและเครื่องพิมพ์ในเวนโล โรงงานกระดาษในมาสทริชท์ ภายใต้ของลิมบืร์คยังเป็นพื้นที่ปลูกผลไม้แต่ปัจจุบันได้ลดกำลังการผลิตไป และเป็นอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่เริ่มได้รับความนิยมมากขึ้นแทน
ดูเพิ่ม
[แก้]อ้างอิง
[แก้]- ↑ ลิมบืร์คเป็นจังหวัดเดียวในเนเธอร์แลนด์ที่เรียกตำแหน่งหัวหน้าจังหวัดว่า "ผู้ราชการจังหวัด" แทนที่จะเป็น "ข้าหลวงในพระองค์" อย่างจังหวัดอื่น
- ↑ "CBS Statline". opendata.cbs.nl.
- ↑ "Regional GDP per capita ranged from 30% to 263% of the EU average in 2018". Eurostat.
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ จังหวัดลิมบืร์ค
- Official Website (in Dutch and English)
- Official Website Limburg Tourist Information (in Dutch, English, French and German)
- Map of Province เก็บถาวร 2005-02-08 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- The Maastricht Treaty
- Pictures of Maastricht, Capital of Limburg