ข้ามไปเนื้อหา

วงศ์ปลาฉลามกบ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก Hemiscyllium)
วงศ์ปลาฉลามกบ
ช่วงเวลาที่มีชีวิตอยู่: จูราสซิกตอนต้น–ปัจจุบัน
ปลาฉลามกบ (Chiloscyllium punctatum) ในพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำที่มาดริด
ลักษณะของไข่ปลาฉลามกบ
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Chondrichthyes
ชั้นย่อย: Elasmobranchii
อันดับใหญ่: Selachimorpha
อันดับ: Orectolobiformes
วงศ์: Hemiscylliidae
Gill, 1862
สกุล

วงศ์ปลาฉลามกบ หรือ วงศ์ปลาฉลามหิน (อังกฤษ: Bamboo sharks, Cat sharks, Longtail carpet sharks, Epaulette sharks, Speckled cat sharks) เป็นวงศ์ของปลากระดูกอ่อนในชั้นปลาฉลามวงศ์หนึ่ง ใช้ชื่อวงศ์ว่า Hemiscylliidae ในอันดับปลาฉลามกบ (Orectolobiformes)

ลักษณะและพฤติกรรม

[แก้]

มีรูปร่างโดยรวม คือ มีลำตัวเป็นรูปทรงกระบอก หรือค่อนข้างแบนลงเล็กน้อย บางชนิดมีสันบนหลัง บางชนิดไม่มีสันบนหลัง ตาอยู่ทางด้านบนในแนวข้างของส่วนหัวช่องสไปราเคิลมีขนาดใหญ่อยู่ทางด้านหลังหรือด้านล่างของตาเพียงเล็กน้อย จมูกสั้น มีร่องเชื่อมระหว่างจมูกกับปาก มีอวัยวะคล้ายหนวดที่จมูกสั้น ปากมีขนาดเล็กอยู่ในแนวขวางของส่วนหัว ครีบหลังทั้งสองครีบมีขนาดใกล้เคียงกัน ครีบอกมีขนาดเล็ก และกลม ครีบก้นกลมมีขนาดเล็ก และสั้นแยกออกจากครีบหางด้วยร่องตื้น ๆ ครีบหางยาว ช่องเปิดเหงือกมีขนาดเล็กช่องที่ 4 เหลื่อมซ้อนอยู่กับคู่ที่ 5[1]

จัดเป็นปลาฉลามขนาดเล็ก ขนาดโดยเฉลี่ยเมื่อโตเต็มที่ 75–121 เซนติเมตร เมื่อยังเป็นปลาขนาดเล็กจะมีสีสัน]ลำตัวสวยงาม โดยจะเป็นปล้อง ๆ สีคล้ำสลับกับสีขาวตลอดทั้งตัว เมื่อโตขึ้นมาแล้วจะกลายเป็นสีเดียวตลอดทั้งลำตัว เช่น สีน้ำตาล, สีเขียว หรือเทา เป็นปลาที่หากินและอาศัยอยู่ในพื้นท้องน้ำหลากหลายสภาพ ทั้งพื้นทราย, พื้นโคลน และทรายปนโคลน โดยปกติถ้าไม่หากินมักจะอยู่นิ่ง ๆ กับพื้น ออกลูกเป็นไข่ ลักษณะไข่มีลักษณะคล้ายแคปซูล ลูกปลาจะกินอาหารโดยผ่านถุงไข่แดง มักจะวางไข่ในที่ ๆ น้ำตื้น หรือบริเวณปากแม่น้ำ หรือชายฝั่ง

จากการศึกษาโครงกระดูกและโครงร่างโดยใช้การเอ็กซ์เรย์อย่างซับซ้อนและการทำทีซีสแกนของนักวิทยาศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยบราวน์ สหรัฐอเมริกา พบว่า ปลาฉลามในวงศ์นี้มีพฤติกรรมการกินอาหารที่แปลกไม่เหมือนกับปลาฉลามหรือปลาจำพวกอื่น คือ ภายในช่องปากไม่มีลิ้นที่ช่วยควบคุมการเคลื่อนไหวของ ๆ เหลวภายในปากเพื่อจัดการกับอาหาร แค่กลับมีคอหอยยาวทำหน้าที่แทน โดยจะยกส่วนไหล่และหน้าอกเพื่อสร้างแรงดึงดูดอาหารเข้าไป สันนิษฐานได้ว่ากระดูกอ่อนระหว่างหัวและลำตัวเป็นส่วนที่มีบทบาทในการควบคุมครีบหน้าและผลักดันอาหารไปตามระบบทางเดินอาหาร [2]

เป็นปลาฉลามที่มีความสวยงาม และมีขนาดเล็ก จึงมักนิยมเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม อาทิ ปลาฉลามกบ (Chiloscyllium punctatum), ปลาฉลามกบสีเทา (C. griseum) เป็นต้น ซึ่งสามารถเพาะขยายพันธุ์ในที่เลี้ยงได้แล้ว [3]

การจำแนก

[แก้]

แบ่งออกเป็น 2 สกุล [4] พบกระจายพันธุ์ในทะเลเขตร้อนและเขตอบอุ่นในแถบอินโด-แปซิฟิก

Chiloscyllium

[แก้]

สืบสายพันธุ์มาตั้งแต่ยุคซีโนมาเนียน–ปัจจุบัน[5]

Hemiscyllium

[แก้]

สืบสายพันธุ์มาตั้งแต่ยุคทาเนเทียน–ปัจจุบัน[5] พบกระจายพันธุ์ในเขตร้อนของออสเตรเลีย, ปาปัวนิวกินี และอินโดนีเซีย และมีอีกหนึ่งชนิดที่ยังไม่ได้รับการบรรยายทางวิทยาศาสตร์จากหมู่เกาะเซเชลส์ [6]

ที่สูญพันธุ์ไปแล้ว

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. ["Family Hemiscylliidae (ไทย)". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-04-16. สืบค้นเมื่อ 2012-03-10. Family Hemiscylliidae (ไทย)]
  2. หน้า 7 โลกาภิวัฒน์ GLOBALIZATION, วิธีกินอาหารแปลกประหลาดของปลาฉลามไม้ไผ่. "ทันโลก". ไทยรัฐปีที่ 68 ฉบับที่ 21738: วันศุกร์ที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2560 ขึ้น 5 ค่ำ เดือน 9 ปีระกา
  3. นันทวัฒน์ โชติสุวรรณ, ปลาทะเลสวยงาม ที่เพาะพันธุ์ได้ ในประเทศไทย คอลัมน์ Blue Planet หน้า 140 นิตยสาร Aquarium Biz ปีที่ 2 ฉบับที่ 21: มีนาคม 2012
  4. "Hemiscylliidae". ระบบข้อมูลการจำแนกพันธุ์แบบบูรณาการ.
  5. 5.0 5.1 Sepkoski, J. (2002). "A compendium of fossil marine animal genera (Chondrichthyes entry)". Bulletins of American Paleontology. 364: 560. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-09-30.
  6. Debelius, H. (1993). Indian Ocean Tropical Fish Guide. Aquaprint Verlags GmbH. ISBN 3-927991-01-5
  7. 7.0 7.1 Allen, Gerald R. and Erdmann, Mark V. (2008). "Two new species of bamboo sharks (Orectolobiformes: Hemiscylliidae) from Western New Guinea" (PDF). Aqua (Miradolo Terme). 13 (3–4): 93–108. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2018-09-29. สืบค้นเมื่อ 2017-07-28.{{cite journal}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  8. Allen, G.R., Erdmann, M.V. & Dudgeon, C.L. (2013). "Hemiscyllium halmahera, a new species of Bamboo Shark (Hemiscylliidae) from Indonesia" (PDF). aqua, International Journal of Ichthyology. 19 (3): 123–136.{{cite journal}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  9. Allen, Gerald R. and Dudgeon, Christine L. (2010). "Hemiscyllium michaeli, a new species of Bamboo Shark (Hemiscyllidae) from Papua New Guinea". Aqua International Journal of Ichthyology. 16 (1): 19–30. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-01-09. สืบค้นเมื่อ 2017-07-28.{{cite journal}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  10. Compagno, Leonard J.V. (1984). Sharks of the World: An Annotated and Illustrated Catalogue of Shark Species Known to Date. Rome: Food and Agricultural Organization. ISBN 9251013845

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]