ปลาฉลามหิน
ปลาฉลามหิน | |
---|---|
สถานะการอนุรักษ์ | |
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ | |
อาณาจักร: | Animalia |
ไฟลัม: | Chordata |
ชั้น: | Chondrichthyes |
ชั้นย่อย: | Elasmobranchii |
อันดับ: | Orectolobiformes |
วงศ์: | Hemiscylliidae |
สกุล: | Chiloscyllium |
สปีชีส์: | C. griseum |
ชื่อทวินาม | |
Chiloscyllium griseum J. P. Müller & Henle, 1838 | |
แผนที่แสดงการกระจายพันธุ์ | |
ชื่อพ้อง | |
Chiloscyllium indicum var. obscurum* Ogilby, 1888 * ชื่อพ้องคลุมเครือ |
ปลาฉลามหิน หรือ ปลาฉลามกบ[2] (อังกฤษ: Grey bamboo shark, Bamboo cat shark, ชื่อวิทยาศาสตร์: Chiloscyllium griseum) เป็นปลาทะเลกระดูกอ่อนจำพวกปลาฉลาม
อยู่ในวงศ์ Hemiscylliidae มีลักษณะคล้ายกับปลาฉลามกบ (C. punctatum) ซึ่งเป็นปลาที่อยู่ในสกุลเดียวกัน
มีขนาดยาวเต็มที่ไม่เกิน 1 เมตร พบได้ทั่วไปในพื้นทะเลทุกสภาพ ไม่ว่าจะเป็นพื้นทราย, พื้นโคลน หรือทรายปนโคลน กระจายพันธุ์อย่างกว้างไกลตั้งแต่ทะเลอาหรับ, ปากีสถาน, อินเดีย, ศรีลังกา, ทะเลอันดามัน, อ่าวไทย, ทะเลญี่ปุ่น, ทะเลตะวันออก, ทะเลฟิลิปปิน, มาเลเซีย และอินโดนีเซีย
เมื่อยังเป็นลูกปลาวัยอ่อน จะมีสีสันและลวดลายสวยงาม โดยจะมีสีขาวเป็นสีพื้น และมีสีดำสลับเป็นปล้อง ๆ จึงมีอีกชื่อเรียกหนึ่งว่า "ปลาฉลามปล้องอ้อย" แต่เมื่อโตขึ้นแล้วลวดลายเหล่านี้จะหายไป เหลือเพียงแค่ลำตัวสีเขียวหรือเทาตลอดทั้งลำตัว และมีจุดกระสีดำเป็นจุด ๆ ทั้งลำตัวไปจรดปลายหาง
เป็นปลาฉลามที่ออกลูกเป็นไข่ โดยลักษณะไข่เป็นกระเปาะคล้ายแคปซูลรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีเปลือกเหนียวและมีเส้นใยไว้ยึดติดกับวัสดุใต้น้ำ ลูกปลาจะใช้เวลาในการพัฒนาตัวในกระเปาะไข่ประมาณ 12 สัปดาห์ โดยกินอาหารจากถุงไข่แดง และเมื่อฟักออกมาแล้วจะสามารถหาอาหารกินได้เองเลย ซึ่งได้แก่ สัตว์น้ำขนาดเล็กที่อาศัยอยู่หน้าดินพื้นทะเล
จัดเป็นปลาฉลามที่มีขนาดเล็ก และมีสีสันสวยงามโดยเฉพาะเมื่อยังเล็ก จึงนิยมเลี้ยงกันเป็นปลาสวยงาม ซึ่งสามารถเพาะขยายพันธุ์ได้แล้วในสถานที่เลี้ยง ซึ่งการขยายพันธุ์ในที่เลี้ยงเมื่อแม่ปลาออกไข่มาแล้ว จะเก็บขึ้นมาอนุบาลในบ่อที่มีกระแสน้ำไหลเวียนและมีคุณภาพดี จนกว่าลูกปลาจะฟักออกมาเป็นตัว[3]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ Lisney, T.J. and R.D. Cavanagh (2003). Chiloscyllium griseum. In: IUCN 2003. IUCN Red List of Threatened Species. Downloaded on January 11, 2009.
- ↑ ฉลาม น.ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542
- ↑ นันทวัฒน์ โชติสุวรรณ, ปลาทะเลสวยงาม ที่เพาะพันธุ์ได้ ในประเทศไทย คอลัมน์ Blue Planet หน้า 140 นิตยสาร Aquarium Biz ปีที่ 2 ฉบับที่ 21: มีนาคม 2012