ข้ามไปเนื้อหา

ไฮน์ริช ฮิมเลอร์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก Heinrich Himmler)
ไฮน์ริช ฮิมเลอร์
Heinrich Himmler
ไฮน์ริช ฮิมเลอร์ ในปี 1942
ไรชส์ฟือเรอร์-เอ็สเอ็ส คนที่ 4
ดำรงตำแหน่ง
6 มกราคม 1929 – 29 เมษายน 1945
ผู้นำอดอล์ฟ ฮิตเลอร์
ก่อนหน้าแอร์ฮาร์ด ไฮเดิน
ถัดไปคาร์ล ฮันเคอ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
ดำรงตำแหน่ง
24 สิงหาคม 1943 – 29 เมษายน 1945
หัวหน้ารัฐบาลอดอล์ฟ ฮิตเลอร์
ก่อนหน้าวิลเฮล์ม ฟริค
ถัดไปวิลเฮล์ม ชตุคอาร์ท
ผู้บัญชาการตำรวจเยอรมัน
ดำรงตำแหน่ง
17 มิถุนายน 1936 – 29 เมษายน 1945
ก่อนหน้าไม่มี (เป็นคนแรก)
ถัดไปคาร์ล ฮังเคอ
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด
ไฮน์ริช ลูอิทพ็อลท์ ฮิมเลอร์

7 ตุลาคม ค.ศ. 1900[1]
มิวนิก ราชอาณาจักรบาวาเรีย เยอรมนี
เสียชีวิต23 พฤษภาคม ค.ศ. 1945(1945-05-23) (44 ปี)
ลือเนอบวร์ค นีเดอร์ซัคเซิน, เยอรมนี
พรรคการเมือง พรรคนาซี
คู่สมรสมากาเร็ท ฮิมเลอร์
บุตร3 คน
วิชาชีพนักปฐพีวิทยา
ลายมือชื่อ
ยศที่ได้รับการแต่งตั้ง
รับใช้ เยอรมนี
สังกัดกองทัพบกบาวาเรีย
ประจำการค.ศ. 1917–18
ยศฟาเนินยุงเกอร์
ผ่านศึกสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง และ สงครามโลกครั้งที่สอง

ไฮน์ริช ลูอิทพ็อลท์ ฮิมเลอร์ (เยอรมัน: Heinrich Luitpold Himmler) เป็นหนึ่งในผู้นำพรรคนาซีในประเทศเยอรมนี และดำรงตำแหน่ง ไรชส์ฟือเรอร์-เอ็สเอ็ส ขององค์การ ชุทซ์ชตัฟเฟิล (เอ็สเอ็ส) รับผิดชอบด้านการคุมกำลังวัฟเฟิน-เอ็สเอ็สทั้งหมดในไรช์ เขาเป็นหนึ่งในผู้ทรงอิทธิพลที่สุดในไรช์ และเป็นผู้รับผิดชอบโดยตรงในการทำฮอโลคอสต์ชาวยิว[2][3][4] ซึ่งสังหารชาวยิวกว่าหกล้านคน

ฮิมเลอร์เกิดเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม ค.ศ. 1900 ในครอบครัวคาทอลิกชนชั้นกลางในเมืองมิวนิก เป็นบุตรคนที่สองในบ้าน บิดาเป็นครูในราชสำนักบาวาเรีย มารดาผู้เคร่งศาสนา[5][6] ฮิมเลอร์เข้าโรงเรียนในเมืองลันทซ์ฮูทซึ่งบิดาเป็นรองครูใหญ่อยู่ที่นั่น เขาเป็นเด็กที่เรียนเก่งแต่มีสุขภาพไม่ดี เขาป่วยเกี่ยวกับกระเพาะอาหารและมีอาการป่วยอื่น ๆ ร่วม ในวัยเด็กเขาพยายามออกกำลังกายทุกวันเพื่อจะแข็งแรงขึ้น เขามีภาพลักษณ์ในวัยเด็กเป็นเด็กเรียนที่ไม่ค่อยเข้าสังคม[7]

ฮิมเลอร์เคยรับใช้จักรวรรดิเยอรมันโดยการเป็นทหารในกองพันสำรองในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง หลังจากนั้นก็เข้าศึกษาด้านปฐพีวิทยา และเข้าร่วมกับพรรคนาซีใน ค.ศ. 1923 เมื่อพรรคนาซีล้มเหลวในการทำรัฐประหารโรงเบียร์ ฮิตเลอร์และบรรดาผู้นำของพรรคนาซีต่างถูกรัฐบาลจับกุมและต้องโทษจำคุก ฮิมเลอร์รอดคุกมาได้เนื่องจากพยานหลักฐานไม่เพียงพอ หลังพรรคนาซีเริ่มมีอำนาจ ในปี ค.ศ. 1929 ฮิตเลอร์ก็แต่งตั้งให้เขาเป็น ไรชส์ฟือเรอร์-เอ็สเอ็ส โดยตลอด 16 ปีที่เขาดำรงตำแหน่งนี้ เขาได้ทำให้หน่วยเอ็สเอ็สมีกำลังพลเพิ่มขึ้น จาก 290 นายเป็นกว่าล้านนาย เขาจัดตั้งค่ายกักกันนาซีตามคำสั่งของฮิตเลอร์ เขามีทักษะในการบริหารองค์กรและคัดเลือกคนเก่ง ๆเข้ามาทำงาน อาทิ ไรน์ฮาร์ด ฮายดริช เป็นต้น ในปีค.ศ. 1943 ฮิมเลอร์ได้ดำรงตำแหน่งควบทั้งผู้บัญชาการตำรวจและรัฐมนตรีมหาดไทย คอยควบคุมดูแลหน่วยรักษาความสงบเรียบร้อยและกำลังตำรวจทั้งหมดในไรช์ รวมถึงหน่วย เกสตาโพ (ตำรวจลับ)

ฮิมเลอร์มีความสนใจในด้านโหราศาสตร์และสิ่งลี้ลับ[8] เขาได้ก่อตั้งองค์กร อาเนินแอร์เบอ (Ahnenerbe) เพื่อทำการวิจัยเกี่ยวกับพันธุ์ศาสตร์, ภูมิศาสตร์การเมือง, นิรุกติศาสตร์, มานุษยวิทยา, ประวัติศาสตร์, โบราณคดี, เทพนิยาย ตลอดจนเวทมนตร์คาถา ฮิมเลอร์มุ่งหวังใช้ผลการวิจัยเป็นเครื่องมือสนับสนุนลัทธิเชื้อชาติอารยันอันสูงส่ง มีการส่งหน่วยเพื่อสืบเสาะตามหาวัตถุในตำนานต่าง ๆ อาทิ หีบแห่งพันธสัญญา, ทวนศักดิ์สิทธิ์, จอกศักดิ์สิทธิ์[8]

ฮิมเลอร์ยังจัดจัดตั้งหน่วยปฏิบัติการพิเศษ ไอน์ซัทซ์กรุพเพิน (Einsatzgruppen) และสั่งสร้างค่ายมรณะหลายแห่ง ด้วยการอำนวยความสะดวกของฮิมเลอร์นี้เอง ทำให้ชาวยิวกว่า 6 ล้านคนและชาวโรมานีอีกราว 2 ถึง 5 แสนคนถูกสังหารอย่างเหี้ยมโหด[9][10] และตลอดช่วงการเรืองอำนาจของนาซี มีพลเรือนถูกสังหารไปราว 11 ถึง 14 ล้านคน ส่วนมากเป็นพลเรือนชาวโปแลนด์และโซเวียตรัสเซีย

ปลายสงครามโลกครั้งที่สอง ฮิมเลอร์ตระหนักว่าเยอรมนีกำลังจะแพ้สงคราม เขาจึงแอบเจรจาสันติภาพกับผู้แทนฝ่ายสัมพันธมิตรอย่างลับ ๆ เมื่อสถานีวิทยุบีบีซีแฉเรื่องนี้ในวันที่ 28 เมษายน ค.ศ. 1945 ฮิตเลอร์ก็สั่งปลดเขาจากทุกตำแหน่งและมีคำสั่งให้ตามจับกุมเขา หลังกรุงเบอร์ลินถูกโซเวียตตีแตก​ในวันที่ 30 เมษายน ค.ศ. 1945 ฮิมเลอร์ก็แฝงตัวเป็นพลเรือนเดินทางไปอย่างไร้จุดหมาย เขาถูกด่านตรวจของโซเวียตกักตัวไว้ในวันที่ 21 พฤษภาคม และถูกส่งตัวให้กับหน่วยทหารอังกฤษในเมืองลือเนอบวร์คในวันที่ 23 พฤษภาคม[11] เขาถูกสอบสวนและรับสารภาพว่าตัวเองเป็นใคร ขณะที่ถูกแพทย์อังกฤษพิสูจน์อัตลักษณ์นั่นเอง เขาก็กัดไซยาไนด์ที่ซ่อนไว้ในปากและเสียชีวิตลงในเวลา 15 นาที[12][13] ร่างของเขาถูกเผาบริเวณใกล้กับเมืองลือเนอบวร์ค

อ้างอิง

[แก้]
  1. Manvell & Fraenkel 2007, p. 13.
  2. Speer, Albert, Inside the Third Reich, Macmillan (New York and Toronto), 1970, ISBN 0-297-00015-2
  3. Zentner, Christian Ed (1991). The Encyclopedia of the Third Reich. New York: Macmillan. p. 1150. ISBN 0028975022. {{cite book}}: ไม่รู้จักพารามิเตอร์ |coauthors= ถูกละเว้น แนะนำ (|author=) (help)
  4. Source: Der Spiegel, Issue dated 3 November 2008: Hitlers Vollstrecker – Aus dem Leben eines Massenmörders
  5. Manvell & Fraenkel 2007, p. 1.
  6. Breitman 2004, p. 9.
  7. Manvell & Fraenkel 2007, pp. 3, 6–7.
  8. 8.0 8.1 นงนภัส ตรัยรัตนบำรุง (7 มีนาคม พ.ศ. 2560). "แนวคิดเพ้อคลั่งของเจ้าพ่อแห่งไรช์ที่ 3". ศิลปวัฒนธรรม. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |date= (help)
  9. อ้างใน Re. Holocaust Victim Assets Litigation (Swiss Banks) Special Master's Proposals, 11 September 2000 เก็บถาวร 2012-05-16 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน).
  10. "Sinti and Roma", United States Holocaust Memorial Museum.
  11. Longerich 2012, pp. 1, 736.
  12. Bend Bulletin 1945.
  13. Longerich 2012, pp. 1–3.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]

วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ Heinrich Himmler

ก่อนหน้า ไฮน์ริช ฮิมเลอร์ ถัดไป
แอร์ฮาร์ด ไฮเดิน ไรชส์ฟือเรอร์-เอ็สเอ็ส
(6 มกราคม 1929 – 29 เมษายน 1945)
คาร์ล ฮังเคอ
วิลเฮล์ม ฟริค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
(24 สิงหาคม 1943 – 29 เมษายน 1945)
วิลเฮล์ม ชตุคอาร์ท
ไม่มี ผู้บัญชาการตำรวจเยอรมัน
(17 มิถุนายน 1936 – 29 เมษายน 1945)
คาร์ล ฮังเคอ
พลเอกอาวุโส ฟรีดริช ฟร็อม ผู้บัญชาการกำลังสำรอง
(21 กรกฎาคม 1944 – 29 เมษายน 1945)
ไม่มี