ข้ามไปเนื้อหา

General visceral afferent fiber

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
General visceral afferent fiber
ผังแสดงโครงสร้างทั่วไปของเส้นประสาทไขสันหลัง
1. Somatic efferent
2. Somatic afferent
3,4,5. Sympathetic efferent
6,7. Sympathetic afferent
อภิธานศัพท์กายวิภาคศาสตร์

general visceral afferent fiber (ตัวย่อ GVA) เป็นเส้นใยประสาทนำเข้า (afferent fiber) ที่นำกระแสประสาทเกี่ยวกับความรู้สึก (ปกติเป็นความเจ็บปวดหรือความรู้สึกที่ก่อรีเฟล็กซ์) จากอวัยวะภายใน ต่อม และเส้นเลือดเข้าไปยังระบบประสาทกลาง[1] เป็นส่วนของระบบประสาทอิสระ แต่ไม่เหมือนกับเส้นใยประสาทนำออก (efferent fiber) ของระบบประสาทอิสระ คือ general visceral efferent fiber (ตัวย่อ GVE) เส้นใยประสาทนำเข้าจะไม่แบ่งออกเป็นส่วนของระบบประสาทซิมพาเทติกหรือพาราซิมพาเทติก[2] ประสาทสมองที่มีใยประสาท GVA รวมทั้งประสาทลิ้นคอหอย (glossopharyngeal nerve, CN IX) และประสาทเวกัส (vagus nerve, CN X)[3]

GVA อาจก่ออาการปวดต่างที่เพราะกระตุ้น general somatic afferent fiber เมื่อมาประจบกันที่ posterior grey column ในไขสันหลัง ปกติแล้วเส้นประสาทนี้ไม่ไวต่อการถูกบาด ถูกกดทับ หรือถูกลวก แต่การออกแรงเกินในกล้ามเนื้อเรียบและพยาธิสภาพอาจก่อความเจ็บปวดที่อวัยวะภายใน (บ่อยครั้งโดยเป็นอาการปวดต่างที่)[4]

วิถีประสาท

[แก้]

ท้อง

[แก้]

ในท้อง GVA ปกติจะไปกับเส้นใยประสาท sympathetic efferent fiber (อันเป็น GVE อย่างหนึ่ง) คือ ตัวรับความรู้สึกในอวัยวะจะส่งกระแสประสาทตาม GVA ไปสู่ปมประสาท (ganglion) อันเป็นที่ที่เส้นใยประสาทนำออกของระบบประสาทซิมพาเทติกทำการไซแนปส์ และดำเนินต่อไปตามประสาทอวัยวะภายใน (splanchnic nerve[A]) จากปมประสาทเข้าไปในลำต้นประสาทซิมพาเทติก (sympathetic trunk[B]) แล้วเข้าไปในแขนงประสาทส่วนหน้า (ventral ramus[C]) ผ่าน white ramus communicans[D] แล้วในที่สุดก็เข้าไปในประสาทไขสันหลังผสมที่มาจาก rami และ root ต่อจากนี้ GVA จะแยกจาก sympathetic efferent ซึ่งผ่าน ventral root เข้าไปในไขสันหลัง คือ GVA จะผ่าน dorsal root ของไขสันหลังเข้าไปในปมประสาทรากหลัง (dorsal root ganglion) ซึ่งเป็นที่อยู่ตัวเซลล์ของ GVA[5] แล้วเส้นใยประสาทก็จะออกจากปมประสาทรากหลัง เข้าไปยุติเป็นไซแนปส์ที่เนื้อเทาส่วนหนึ่งของปีกหลัง (dorsal horn) ของไขสันหลัง ซึ่งก็จะส่งกระแสประสาทต่อไปยังเซลล์ประสาทในระบบประสาทกลาง[2]

เส้นประสาท GVA เดียวในท้องที่ไม่ได้ตามวิถีประสาทตามที่ว่า ส่งไปที่ส่วนต่าง ๆ ครึ่งปลายของไส้ใหญ่ส่วนคด (sigmoid colon) และไส้ตรง GVA เหล่านี้ ตามเส้นใยประสาทนำออกพาราซิมพาเทติกไปยังลำกระดูกไขสันหลังแทน โดยจะผ่านเข้าปมประสาทรากหลังในระดับ S2–S4 ไปในไขสันหลัง[5]

เชิงกราน

[แก้]

วิถีเส้นประสาท GVA จากอวัยวะต่าง ๆ ของเชิงกรานโดยทั่วไปจะขึ้นอยู่กับตำแหน่งของอวัยวะเทียบกับเส้นเจ็บปวดที่เชิงกราน (pelvic pain line) อวัยวะหรือส่วนของอวัยวะในเชิงกรานจัดว่า อยู่เหนือเส้นเจ็บปวดที่เชิงกรานถ้ามันอยู่ชิดกับเยื่อบุช่องท้อง ยกเว้นลำไส้ใหญ่ ที่เส้นเจ็บปวดที่เชิงกรานจะอยู่ตรงกลางไส้ใหญ่ส่วนคด[6] เส้นใยประสาท GVA จากอวัยวะเหนือเส้นเจ็บปวดจะตามเส้นใยประสาทนำออกซิมพาเทติก ส่วนเส้นใยประสาท GVA จากอวัยวะใต้เส้นเจ็บปวดจะตามเส้นใยประสาทนำออกพาราซิมพาเทติก[6] และความเจ็บปวดจากส่วนหลังที่ว่านี้มีโอกาสน้อยกว่าที่จะรู้สึกได้[6]

สารสื่อประสาท

[แก้]

สำหรับ GVA หลายเส้น ปลายนอกประสาทส่วนกลาง (periphery) และในไขสันหลังจะมีสารสื่อประสาทเป็น substance P และ neuropeptide อื่น ๆ ในกลุ่ม tachykinin เช่น neurokinin A และ neurokinin B โดยเฉพาะเส้นใยประสาทที่เป็นส่วนของระบบซิมพาเทติก[7]

ดูเพิ่ม

[แก้]

เชิงอรรถ

[แก้]
  1. splanchnic nerve เป็นคู่เส้นประสาทอวัยวะภายใน (visceral nerve) ที่ประกอบด้วยเส้นใยประสาทของระบบประสาทอิสระ คือ เส้นใยประสาทนำออกของอวัยวะภายใน (visceral efferent fiber) และเส้นใยประสาทรับความรู้สึก คือ เส้นใยประสาทนำเข้าของอวัยวะภายใน (visceral afferent fiber) โดยทั้งหมดเป็นเส้นใยประสาทของระบบประสาทซิมพาเทติกยกเว้นประสาทอวัยวะภายในจากเชิงกราน (pelvic splanchnic nerve) ซึ่งประกอบด้วยเส้นใยประสาทของระบบประสาทพาราซิมพาเทติก
  2. sympathetic trunk หรือ sympathetic chain หรือ gangliated cord เป็นคู่มัดเส้นใยประสาทที่วิ่งจากฐานของกะโหลกศีรษะไปยังกระดูกก้นกบ (coccyx)
  3. ventral ramus (ramus มาจากภาษาละตินแปลว่า สาขา) เป็นส่วนหน้า (anterior) ของประสาทไขสันหลัง ส่งเส้นประสาทไปยังลำตัวและแขนขาส่วนหน้าด้านข้าง (antero-lateral) โดยมากจะใหญ่กว่า dorsal ramus
  4. white ramus communicans มาจากคำละติน ramus แปลว่า สาขา และ communicans แปลว่า ส่งต่อ เป็นลำเส้นใยประสาทซิมพาเทติกก่อนปมประสาทที่ส่งออกจากไขสันหลัง

อ้างอิง

[แก้]
  1. Moore, Keith; Anne Agur (2007). Essential Clinical Anatomy (Third ed.). Lippincott Williams & Wilkins. pp. 635. ISBN 978-0-7817-6274-8.
  2. 2.0 2.1 Moore, Keith; Agur, Anne (2007). Essential Clinical Anatomy, Third Edition. Lippincott Williams & Wilkins. pp. 34-35. ISBN 978-0-7817-6274-8.
  3. Mehta, Samir; และคณะ (2003). Step-Up: A High-Yield, Systems-Based Review for the USMLE Step 1. Baltimore, MD: Lippincott Williams & Wilkins.
  4. Susan, Standring (2016). Gray's anatomy : the anatomical basis of clinical practice. ISBN 978-0-7020-5230-9. OCLC 920806541.
  5. 5.0 5.1 Moore, K.L; Agur, A.M. (2007). Essential Clinical Anatomy (3rd ed.). Baltimore: Lippincott Williams & Wilkins. pp. 180.
  6. 6.0 6.1 6.2 Moore, Keith; Agur, Anne (2007). Essential Clinical Anatomy, Third Edition. Lippincott Williams & Wilkins. pp. 220. ISBN 978-0-7817-6274-8.
  7. Lundberg, J. M. (มีนาคม 1996). "Pharmacology of cotransmission in the autonomic nervous system: integrative aspects on amines, neuropeptides, adenosine triphosphate, amino acids and nitric oxide". Pharmacological Reviews. 48 (1): 113–178. ISSN 0031-6997. PMID 8685245.