ข้ามไปเนื้อหา

อีสุกอีใส

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก Chickenpox)
Chickenpox
ชื่ออื่นvaricella
ตัวอย่างเด็กที่เป็นโรคอีสุกอีใส
สาขาวิชาInfectious disease
อาการSmall, itchy blisters, headache, loss of appetite, tiredness[1]
การตั้งต้น10–21 days after exposure[2]
ระยะดำเนินโรค5–7 days[1]
สาเหตุVaricella zoster virus[3]
การป้องกันVaricella vaccine[4]
ยาCalamine lotion, paracetamol (acetaminophen), aciclovir[2]
การเสียชีวิต6,400 (with shingles)[5]

โรคอีสุกอีใส (อังกฤษ: chickenpox, varicella) เป็นโรคติดเชื้อที่ติดต่อได้ง่ายมากโรคหนึ่ง เกิดจากการติดเชื้อไวรัสวาริเซลลาซอสเตอร์ (VZV)[3] ทำให้ผู้ป่วยมีผื่นซึ่งมีลักษณะเฉพาะ คือเป็นตุ่มพองน้ำขนาดเล็ก มีอาการคัน และแตกแห้งเป็นสะเก็ดในเวลาต่อมา[1] ส่วนใหญ่เริ่มเป็นที่บริเวณหน้าอก หลัง และใบหน้า ต่อมาจึงกระจายไปทั่วตัว[1] ผู้ป่วยอาจมีอาการอื่นร่วมด้วยได้แก่ไข้ อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ[1] ส่วนใหญ่เป็นอยู่ 5-7 วัน[1] ภาวะแทรกซ้อนที่อาจพบได้ได้แก่ ปอดอักเสบ สมองอักเสบ หรือติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำซ้อนที่รอยผื่น[6] เป็นต้น หากเป็นในผู้ใหญ่มักมีอาการรุนแรงกว่าที่เป็นในเด็ก[7] อาการเหล่านี้มักเริ่มมีขึ้นประมาณ 10-21 วัน หลังได้รับเชื้อ[2]

เชื้อไวรัสนี้ติดต่อทางอากาศ โดยออกมากับละอองจากการไอหรือจามของผู้ป่วย[2] ซึ่งอาจแพร่เชื้อให้ผู้อื่นได้ตั้งแต่ 1-2 วันก่อนเริ่มมีผื่น และสามารถแพร่เชื้อไปได้เรื่อยๆ จนกว่าแผลผื่นจะตกสะเก็ดแห้งและหลุดออกจนหมด[2] นอกจากนี้ยังอาจติดต่อผ่านการสัมผัสตุ่มน้ำได้ด้วย[2] ผู้ป่วยโรคงูสวัดซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัสเดียวกันอาจแพร่เชื้อนี้ให้กับผู้อื่นที่ไม่มีภูมิคุ้มกัน ซึ่งจะทำให้ผู้รับเชื้อป่วยด้วยโรคอีสุกอีใสได้[2] การวินิจฉัยทำได้โดยดูจากประวัติและผลการตรวจร่างกาย ซึ่งผู้ป่วยจะมีอาการและอาการแสดงเป็นผื่นลักษณะเฉพาะดังกล่าว[8] ในบางรายที่อาการไม่ชัดเจนอาจจำเป็นต้องตรวจด้วยการนำสารน้ำจากตุ่มน้ำหรือจากสะเก็ดไปตรวจหาพันธุกรรมเชื้อไวรัสด้วยวิธีพีซีอาร์[7] นอกจากนี้การตรวจหาแอนติบอดียังช่วยบอกได้ว่าผู้รับการตรวจนั้นมีภูมิหรือไม่มีภูมิต่อเชื้อนี้[7] ผู้ป่วยจำนวนมากหลังหายจากอีสุกอีใสแล้วมักไม่เป็นอีก[2] หากได้รับเชื้อนี้ซ้ำมักไม่ทำให้เกิดอาการใดๆ[9]

ปัจจุบันมีการผลิตวัคซีนโรคอีสุกอีใสออกใช้ได้ทั่วไป ทำให้จำนวนผู้ป่วยและอัตราการเกิดภาวะแทรกซ้อนของโรคนี้ลดลงมาก[4] ผู้รับวัคซีน 70-90% จะไม่เป็นโรค และหากเป็นโรคก็ลดความรุนแรงของโรคลงได้มาก[7] หลายประเทศเริ่มกำหนดให้วัคซีนนี้เป็นวัคซีนมาตรฐานที่ทางรัฐสนับสนุนค่าใช้จ่ายให้[10] นอกจากนี้แม้จะไม่เคยได้รับวัคซีนมาก่อน หากผู้รับเชื้อซึ่งเป็นเด็กได้รับวัคซีนภายใน 3 วันก็ยังมีประโยชน์ช่วยลดการเกิดโรคและลดอาการได้[11] การรักษาส่วนใหญ่เป็นการบรรเทาอาการ เช่นการใช้โลชั่นคาลาไมน์เพื่อบรรเทาอาการคัน ตัดเล็บให้สั้นเพื่อไม่ให้เกาผื่นจนเกิดแผล และใช้พาราเซตามอลเพื่อลดไข้[2] ในบางรายที่มีปัจจัยเสี่ยงสูงที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อน อาจจำเป็นต้องให้ยาต้านไวรัสเช่นอะไซโคลเวียร์[2]

อีสุกอีใสเป็นโรคที่พบได้ทั่วโลก[7] ในปี พ.ศ. 2556 มีรายงานผู้ป่วยโรคอีสุกอีใสและงูสวัดทั่วโลกราว 140 ล้านคน[12] ในสมัยก่อนที่ยังไม่มีวัคซีนพบว่าจำนวนผู้ป่วยต่อมีมีจำนวนใกล้เคียงกับจำนวนคนเกิดต่อปี[7] บ่งชี้ว่าคนแทบทุกคนจะต้องป่วยเป็นโรคอีสุกอีใส ต่อมาหลังจากมีการใช้วัคซีนเป็นมาตรฐานในสหรัฐอเมริกา จำนวนผู้ป่วยก็ลดลงเกือบ 90%[7] ข้อมูลปี พ.ศ. 2558 พบว่าโรคอีสุกอีใสทำให้มีผู้เสียชีวิตประมาณ 6,400 คนทั่วโลก ซึ่งลดลงจากข้อมูลปี พ.ศ. 2533 ที่พบว่ามีสูงถึง 8,900 คน[5][13] อัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ประมาณ 1 ต่อ 60,000[7] สมัยก่อนเคยเชื่อกันว่าโรคนี้เป็นโรคเดียวกันกับโรคฝีดาษ จนถึงคริสตศตวรรษที่ 19 จึงพบว่าเป็นคนละโรค[7] และค้นพบต่อมาว่าโรคนี้สัมพันธ์กับโรคงูสวัดเมื่อ พ.ศ. 2431[7] ชื่อภาษาอังกฤษของโรคนี้คือ chickenpox มีการพูดถึงครั้งแรกใน พ.ศ. 2201[14] มีความพยายามอธิบายที่มาของการใช้คำว่า chicken ในชื่อโรค ที่มาหนึ่งเชื่อว่าเป็นเพราะโรคนี้เป็นโรคที่ค่อนข้างมีความรุนแรงต่ำเมื่อเทียบกับโรคฝีชนิดอื่นๆ[14]

สาเหตุของโรค

[แก้]
ไวรัสวาริเซลลา

เกิดจากเชื้อไวรัสที่มีชื่อว่า ไวรัสวาริเซลลา (Varicella virus) หรือ Human herpes virus type 3 เป็นเชื้อไวรัสชนิดเดียวกับที่ทำให้เกิดงูสวัด

การติดต่อ

[แก้]

ติดต่อโดยการสัมผัสถูกตุ่มน้ำโดยตรงหรือ สัมผัสถูกของใช้ (เช่น แก้วน้ำ ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว ผ้าห่ม ที่นอน) ที่เปื้อนถูกตุ่มน้ำของคนที่เป็น อีสุกอีใสหรืองูสวัด หรือสูดหายใจเอาละอองของตุ่มน้ำ ผ่านเข้าทางเยื่อเมือกระยะฟักตัว 10-20 วัน

ในรายที่เป็นงูสวัด สามารถติดต่อในรูปแบบของอีสุกอีใสได้ โดยเฉพาะมารดาที่ให้นมบุตร หากมารดาเป็นงูสวัดบุตรก็จะเป็นอีสุกอีใสได้

อาการของโรค

[แก้]

เด็กที่เป็นจะมีไข้ต่ำ อ่อนเพลียและเบื่ออาหาร ส่วนผู้ใหญ่มักจะมีไข้สูง มีอาการปวดเมื่อยตามเนื้อตัวคล้ายไข้หวัด ขณะเดียวกันก็จะมีผื่นขึ้นพร้อมๆ กับวันที่เริ่มมีไข้ หรือ 1 วันหลังมีไข้ โดยในระยะแรกจะขึ้นเป็นผื่นแดงราบก่อน ต่อมาจะกลายเป็นตุ่มนูน มีน้ำใสๆ และคัน ต่อมาอีก 2-3 วันก็จะตกสะเก็ด ผื่นและตุ่มเหล่านี้จะขึ้นตามไรผมก่อนแล้วกระจายไปตามใบหน้าและลำตัว แผ่นหลัง บางคนจะมีตุ่มขึ้นในช่องปากทำให้ปากและลิ้นเปื่อย จะเกิดอาการเจ็บคอ บางคนอาจไม่มีไข้ มีเพียงผื่นและตุ่มขึ้นเท่านั้น ผื่นจะขึ้นมากที่สุดที่ใบหน้าและลำตัว เด็กวัยรุ่นและผู้ใหญ่มักจะมีอาการรุนแรงและมีตุ่มขึ้นมากกว่าเด็ก โดยทั่วไปผื่นหายได้โดยไม่มีแผลเป็น ยกเว้นมีเชื้อแบคทีเรียมาแทรกซ้อน โรคนี้เมื่อหายแล้วมักจะมีเชื้อหลบอยู่ที่ปมประสาท ซึ่งอาจจะออกมาเป็น งูสวัด ในภายหลังได้ เนื่องจากผื่นและตุ่มที่ขึ้นนี้จะค่อยๆขึ้นทีละระลอก ไม่ขึ้นพร้อมกันทั่วร่างกาย บางทีจะขึ้นเป็นผื่นแดงราบ บางทีขึ้นเป็นตุ่มน้ำใสๆ บางทีขึ้นเป็นตุ่มกลัดหนอง และบางทีเริ่มตกสะเก็ด จึงทำให้คนสมัยก่อนเรียกโรคนี้ว่า อีสุกอีใส

อาการแทรกซ้อน

[แก้]

ที่พบบ่อยคือ การติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนบนผิวหนัง ทำให้กลายเป็นหนองและมีแผลเป็นตามมา ในบางรายเชื้อแบคทีเรียที่แทรกซ้อนอาจกระจายเข้าไปในกระแสเลือดทำให้เกิดภาวะโลหิตเป็นพิษและปอดบวมได้ ในผู้ใหญ่ที่มีภูมิต้านทานต่ำ เช่นได้รับยารักษามะเร็ง หรือ สเตอรอยด์ เชื้ออาจจะกระจายไปยังอวัยวะภายในเช่น สมอง ปอด ตับ ได้

การรักษา

[แก้]

เนื่องจากเป็นโรคที่หายเองได้ โดยอาจจะมีไข้อยู่เพียงไม่กี่วัน ส่วนตุ่มจะตกสะเก็ดและค่อยๆหายใน 1-3 สัปดาห์ ผู้ป่วยจึงควรพักผ่อน และดื่มน้ำมากๆ ถ้ามีไข้สูงใช้ยา พาราเซตามอล เพื่อลดไข้ได้ ไม่ควรใช้ แอสไพริน เพราะอาจทำให้เกิดอาการทางสมองและตับ ทำให้ถึงตายได้ ควรอาบน้ำและใช้สบู่ฟอกผิวหนังให้สะอาด ควรตัดเล็บให้สั้นและหลีกเลี่ยงการแกะเกา เพราะอาจทำให้ติดเชื้อได้ ในรายที่คันมากๆ อาจให้ยาแก้คัน เช่น คลอเฟนิรามีน ช่วยลดอาการคันได้ ในปัจจุบัน มียาที่ใช้ยับยั้งการเจริญเติบโตของไวรัส แต่ต้องใช้ในขนาดสูงและราคาแพงมาก นอกจากนี้จะต้องเริ่มใช้ภายในวันแรก มิฉะนั้นอาจไม่ได้ผล หรือไม่ได้ผลดี

การดูแลรักษา โรคอีสุกอีใส

[แก้]
  1. ไม่ต้องตกใจว่าเป็นโรคผิวหนัง ไม่แกะเกาปุ่มหนองใส
  2. การดูแลทั่วไป โรคอีสุกอีใสเป็นโรคที่ไม่รุนแรง โดยปกติแล้วจะเป็น เองหายเอง อาจจะมีข้อยกเว้นบ้างโดยเฉพาะในผู้ใหญ่ ซึ่งอาจจะมีอาการรุนแรงกว่า เช่น เป็นไข้หรือมีอาการ ทางผิวหนัง เช่น แผลมีการติดเชื้อหรือมีอาการคันรุนแรง หรือมีโรคแทรกซ้อนอื่นๆ เช่น อาการปอดบวมจาก เชื้อไวรัส ในกลุ่มที่อาการไม่รุนแรงนี้ การให้ยาบางชนิด เช่น ยาบรรเทาอาการคัน การใช้น้ำสะอาดหรือ น้ำเกลือประคบ จะช่วยทำให้รู้สึกสบายตัวขึ้น ในเด็กควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาลดไข้จำพวกแอสไพริน เพราะอาจ จะทำให้มีโรคแทรกซ้อนอย่างอื่นตามมาได้
  3. การรักษาแบบเจาะจง คือการใช้ยาต้านเชื้อไวรัสอีสุกอีใส ซึ่งควรจะให้ในระยะเวลา 24-48 ชั่วโมง หลังมีผื่นขึ้น ซึ่งเชื่อว่าการที่สามารถให้ยาได้ทันและมีปริมาณพอเพียง ในช่วงนี้สามารถทำให้การตก สะเก็ดของแผล ระยะเวลาของโรคสั้นลง การทำให้แผลตกสะเก็ดเร็วขึ้น โอกาสการเกิดแผลติดเชื้อหรือแผลที่ลึกมากก็น้อยลง ดังนั้น แผลเป็นแบบหลุมก็น้อยลงด้วย อย่างไรก็ตามยาในกลุ่มนี้ก็มีราคาแพงมาก การพิจารณาเลือกใช้ยากลุ่มนี้จึง ควรอยู่ในดุลยพินิจของแพทย์และของผู้ป่วย สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ การดูและผิวในระยะ ที่มีผื่นอย่างถูกต้อง เช่น ทำความสะอาดแผลให้ปราศจากสิ่งสกปรกหรือป้องกันการแทรกซ้อนของเชื้อแบคทีเรีย หรือ รับประทานยาเขียววันละ3ครั้ง 7ถึง10เม็ด

วัคซีน

[แก้]

วัคซีนอีสุกอีใสที่ค้นพบในระยะแรกมีข้อจำกัดที่ต้องเก็บรักษาที่อุณหภูมิต่ำถึง -20 แต่ปัจจุบันสามารถพัฒนาเป็นวัคซีนที่เก็บให้คงประสิทธิภาพได้ที่อุณหภูมิ 2-8 องศา ซึ่งเป็น อุณหภูมิตู้เย็นปกติ เก็บได้นาน 2 ปี ภายใต้ชื่อการค้า " VARILRIX " ของบริษัท SMITH KLINE BEECHAM

ในสหรัฐอเมริกา วัคซีนนี้ได้ถูกบรรจุให้อยู่ในตารางการให้วัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันโรคในเด็ก ปกติที่มีอายุในช่วง 12-18 เดือนแล้ว และกำหนดให้ฉีดให้เด็กอายุ 11-12 ปี ที่ยังไม่เคยรับวัคซีนและยัง ไม่เคยเป็นอีสุกอีใสมาก่อนด้วย

ในประเทศไทย เนื่องจากวัคซีนอีสุกอีใสมีราคาค่อนข้างสูง จากรายงานทางระบาดวิทยาพบ ว่า 50 % ของอีสุกอีใสเป็นในเด็กอายุต่ำกว่า 10 ปี ซึ่งมักมีอาการไม่รุนแรง จึงยังไม่กำหนดให้เป็น วัคซีนที่บังคับฉีดในเด็กไทย อย่างไรก็ตามมีข้อแนะนำว่า สำหรับเด็กไทยที่อายุอยู่ในช่วง 10-12 ปี ถ้ายังไม่เคยเป็นอีสุกอีใสมาก่อน ก็น่าจะได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใส เนื่องจากในวัยเด็กช่วง อายุ 1-12 ปี การสร้างภูมิต้านทานของร่างกายจะตอบสนองกับวัคซีนได้ดี การได้รับวัคซีนเพียงเข็มเดียว ก็เพียงพอแล้ว ช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย แต่สำหรับผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 13 ปีขึ้นไปต้องได้รับวัคซีน 2 เข็มใน ระยะห่าง 4-8 สัปดาห์ จึงเพียงพอที่จะกระตุ้นให้สร้างภูมิต้านทานได้สูงพอที่จะป้องกันโรค ส่วนผู้ที่เคย เป็นอีสุกอีใสมาแล้ว จะมีภูมิต้านทานตามธรรมชาติอยู่แล้วไม่ต้องฉีดวัคซีนอีก

วัคซีน VARILRIX ใช้ฉีดครั้งละ 0.5 ml. เข้าใต้ผิวหนัง [SUBCUTANEOUS] เท่านั้น ผู้รับ การฉีดวัคซีน จะใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์ในการสร้างภูมิต้านทานต่อโรค ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นหลังฉีดวัคซีน พบว่าอาจมีไข้หรืออาการร้อนแดงตรงตำแหน่งที่ฉีดยา (5 %) อาจมีผื่นคล้ายผื่นอีสุกอีใสเกิดขึ้น แต่ไม่รุนแรง (3-4 %) แต่ส่วนใหญ่ของผู้รับวัคซีนไม่พบความผิดปกติใดๆ วัคซีนอีสุกอีใสนี้ห้ามฉีดในหญิงมีครรภ์ สำหรับสตรีวัยเจริญพันธุ์ที่ฉีดวัคซีนนี้ ควรหลีกเลี่ยงการ ตั้งครรภ์ในช่วง 3 เดือน หลังจากฉีดยา

เนื่องจากวัคซีนอีสุกอีใสในปัจจุบันยังมีราคาค่อนข้างแพง สำหรับครอบครัวที่เศรษฐกิจดีอาจ ให้บุตรหลานรับการฉีดวัคซีนได้ตั้งแต่อายุ 12 เดือน แต่ครอบครัวที่ยังไม่พร้อมนัก หวังว่าข้อมูลข้างต้น คงพอจะช่วยในการตัดสินใจว่าจะฉีดวัคซีนหรือไม่ เมื่อไร อย่างไรไม่มากก็น้อย

เรื่องควรรู้เกี่ยวกับอีสุกอีใส

[แก้]
  1. โรคนี้เมื่อเป็นแล้วอาจมีโอกาสเป็น งูสวัด ได้ในภายหลัง
  2. ควรแยกผู้ป่วยออกต่างหากเพื่อป้องกันการติดต่อ โดยระยะแพร่เชื้อจะเริ่มตั้งแต่ 24 ชม. ก่อนที่ผื่นหรือตุ่มแห้งหมด ซึ่งใช้เวลาประมาณ 6-7 วัน
  3. ไม่มีของแสลง
  4. ปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันโรค อีสุกอีใส แล้ว
  5. เมื่อเป็นอีสุกอีใสแล้ว มีโอกาสกลับมาเป็นอีกได้

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 1.5 "Chickenpox (Varicella) Signs & Symptoms". Centers for Disease Control and Prevention (cdc.gov). 16 พฤศจิกายน 2011. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 4 กุมภาพันธ์ 2015. สืบค้นเมื่อ 4 กุมภาพันธ์ 2015.
  2. 2.00 2.01 2.02 2.03 2.04 2.05 2.06 2.07 2.08 2.09 "Chickenpox (Varicella) Prevention & Treatment". cdc.gov. 16 พฤศจิกายน 2011. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 4 กุมภาพันธ์ 2015. สืบค้นเมื่อ 4 กุมภาพันธ์ 2015.
  3. 3.0 3.1 "Chickenpox (Varicella) Overview". cdc.gov. 16 พฤศจิกายน 2011. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 4 กุมภาพันธ์ 2015. สืบค้นเมื่อ 4 กุมภาพันธ์ 2015.
  4. 4.0 4.1 "Routine vaccination against chickenpox?". Drug Ther Bull. 50: 42–5. 2012. doi:10.1136/dtb.2012.04.0098. PMID 22495050.
  5. 5.0 5.1 GBD 2015 Mortality and Causes of Death, Collaborators. (8 October 2016). "Global, regional, and national life expectancy, all-cause mortality, and cause-specific mortality for 249 causes of death, 1980-2015: a systematic analysis for the Global Burden of Disease Study 2015". Lancet. 388 (10053): 1459–1544. doi:10.1016/s0140-6736(16)31012-1. PMC 5388903. PMID 27733281. {{cite journal}}: |first1= มีชื่อเรียกทั่วไป (help)
  6. "Chickenpox (Varicella) Complications". cdc.gov. 16 พฤศจิกายน 2011. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 4 กุมภาพันธ์ 2015. สืบค้นเมื่อ 4 กุมภาพันธ์ 2015.
  7. 7.00 7.01 7.02 7.03 7.04 7.05 7.06 7.07 7.08 7.09 Atkinson, William (2011). Epidemiology and Prevention of Vaccine-Preventable Diseases (12 ed.). Public Health Foundation. pp. 301–323. ISBN 9780983263135. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2015. สืบค้นเมื่อ 4 กุมภาพันธ์ 2015.
  8. "Chickenpox (Varicella) Interpreting Laboratory Tests". cdc.gov. 19 มิถุนายน 2012. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 4 กุมภาพันธ์ 2015. สืบค้นเมื่อ 4 กุมภาพันธ์ 2015.
  9. Breuer J (2010). "VZV molecular epidemiology". Current Topics in Microbiology and Immunology. 342: 15–42. doi:10.1007/82_2010_9. PMID 20229231.
  10. Flatt, A; Breuer, J (September 2012). "Varicella vaccines". British medical bulletin. 103 (1): 115–27. doi:10.1093/bmb/lds019. PMID 22859715.
  11. Macartney, K; Heywood, A; McIntyre, P (23 June 2014). "Vaccines for post-exposure prophylaxis against varicella (chickenpox) in children and adults". The Cochrane database of systematic reviews. 6: CD001833. doi:10.1002/14651858.CD001833.pub3. PMID 24954057.
  12. Global Burden of Disease Study 2013, Collaborators (22 August 2015). "Global, regional, and national incidence, prevalence, and years lived with disability for 301 acute and chronic diseases and injuries in 188 countries, 1990-2013: a systematic analysis for the Global Burden of Disease Study 2013". Lancet. 386 (9995): 743–800. doi:10.1016/s0140-6736(15)60692-4. PMC 4561509. PMID 26063472. {{cite journal}}: |first1= มีชื่อเรียกทั่วไป (help)
  13. GBD 2013 Mortality and Causes of Death, Collaborators (17 December 2014). "Global, regional, and national age-sex specific all-cause and cause-specific mortality for 240 causes of death, 1990-2013: a systematic analysis for the Global Burden of Disease Study 2013". Lancet. 385 (9963): 117–71. doi:10.1016/S0140-6736(14)61682-2. PMC 4340604. PMID 25530442. {{cite journal}}: |first1= มีชื่อเรียกทั่วไป (help)
  14. 14.0 14.1 Oxford University Press (December 2014). "chickenpox, n." oed.com. สืบค้นเมื่อ February 4, 2015.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]
การจำแนกโรค
ทรัพยากรภายนอก