ข้ามไปเนื้อหา

โรคฝีดาษ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ฝีดาษ
(Smallpox)
ผู้ป่วยโรคฝีดาษ
บัญชีจำแนกและลิงก์ไปภายนอก
ICD-10B03
ICD-9050
DiseasesDB12219
MedlinePlus001356
eMedicineemerg/885
MeSHD012899
ฝีดาษตามลำตัวของผู้ป่วย

ฝีดาษ, ไข้ทรพิษ หรือ ไข้หัว (อังกฤษ: smallpox) เป็นโรคติดเชื้อที่เกิดขึ้นมาจากเชื้อไวรัสหนึ่งในสองสายพันธ์ุ ได้แก่ Variola major และ Variola minor[1] ตัวแทนของ variola virus (VARV) อยู่ในกลุ่ม Orthopoxvirus[2] กรณีที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติครั้งสุดท้ายได้รับการวินิจฉัยในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1977 และองค์การอนามัยโลก(WHO) ได้ให้การรับรองในการกำจัดโรคนี้ไปทั่วโลกใน ค.ศ. 1980[3] ทำให้เป็นโรคของมนุษย์เพียงโรคเดียวที่ถูกกำจัดจนหมดไป[4]

อาการเริ่มแรกของโรคนี้ ได้แก่ มีไข้และอาเจียน[5] ตามมาด้วยการเกิดแผลในปากและผื่นที่ผิวหนัง[6] เป็นเวลาหลายวัน ผื่นที่ผิวหนังจะหลายเป็นตุ่มพองที่มีลักษณะเฉพาะและมีรอยบุ๋มอยู่ตรงกลาง[7] หลังจากนั้นตุ่มก็จะเกิดการตกสะเก็ดและหลุดลอกออกมา ทิ้งรอยแผลเป็นเอาไว้[8] โรคนี้สามารถแพร่กระจายระหว่างคนหรือผ่านทางวัตถุที่ปนเปื้อนเชื้อ[9][10] การป้องกันนั้นสามารถทำได้โดยการฉีดวัคซีนไข้ทรพิษเป็นหลัก[11] เมื่อโรคนี้ได้ถูกพัฒนาขึ้นแล้ว ยาต้านไวรัสบางชนิดอาจจะช่วยได้[11] ความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตประมาณ 30% โดยมีอัตราที่สูงขึ้นในหมู่เด็กทารก[9][12] บ่อยครั้ง, ผู้รอดชีวิตจะมีรอยแผลเป็นมากมายและบางคนก็ถึงขั้นตาบอด[9]

ต้นกำเนิดของไข้ทรพิษไม่อาจระบุได้[13] อย่างไรก็ตาม หลักฐานแรกสุดของโรคนี้เกิดขึ้นมานับตั้งแต่ศตวรรษที่ 3 ก่อนคริสตศักราชในมัมมี่ที่อียิปต์[14] ตามช่วงประวัติศาสตร์ โรคได้เกิดขึ้นในช่วงการประทุ[15] ในยุโรปในช่วงศตวรรษที่ 18 คาดประเมินว่ามีผู้เสียชิวิตจากโรคนี้ 400,000 คนต่อปีและหนึ่งในสามของกรณีทั้งหมดของตาบอดที่เกิดขึ้นจากไข้ทรพิษ[16][17] ไข้ทรพิษได้คาดประเมินว่าได้คร่าชีวิตผู้คนไปแล้วถึง 300 ล้านคนในศตวรรษที่ 20[18][19] และประมาณ 500 ล้านคนในช่วง 100 ปีล่าสุดของการดำรงอยู่[20] การเสียชีวิตในช่วงแรกรวมถึงพระมหากษัตริย์ยุโรปหกพระองค์[21][22] ล่าสุดในปี ค.ศ. 1967 มีเคสที่เกิดขึ้นประมาณ 15 ล้านเคสต่อปี[21]

การปลูกฝีสำหรับไข้ทรพิษปรากฎให้เห็นว่าจะมีการเริ่มต้นขึ้นในประเทศจีน ราวปี ค.ศ. 1500[23][24] ยุโรปได้นำแนวปฏิบัตินี้มาจากเอเชียในช่วงครึ่งแรกของศตวรรษที่ 18[25] ใน ค.ศ. 1796 เอดเวิร์ด เจนเนอร์ได้แนะนำวัคซีนไข้ทรพิษสมัยใหม่[26][27] ใน ค.ศ. 1967 องค์การอนามัยโลกได้เพิ่มความพยายามในการกำจัดโรคนี้[28] ไข้ทรพิษเป็นหนึ่งในสองโรคติดเชื้อที่จะต้องถูกกำจัดให้หมดไป อีกโรคหนึ่งคือโรครินเดอร์เปสต์ใน ค.ศ. 2011[29][30] คำว่า "ไข้ทรพิษ" ถูกใช้เป็นครั้งแรกในอังกฤษในช่วงต้นศตวรรษที่ 16 เพื่อแบ่งแยกโรคออกจากโรคซิฟิลิส ซึ่งในช่วงขณะนั้นเป็นที่รู้จักกันคือ "โรคฝีดาษ".[31][32] ชื่ออื่น ๆ ในประวัติศาสตร์สำหรับโรคนี้ ได้แก่ โรคฝี สัตว์ประหลาดที่มีรอยจุดเล็ก และกาฬโรคแดง[33][34][35]

ประวัติการระบาด

[แก้]

ในสมัยศตวรรษที่ 16 เมื่อคนผิวขาวจากตะวันตกเดินทางไปยังโลกใหม่ในเมโสอเมริกา ได้นำโรคฝีดาษไปแพร่ระบาดแก่คนพื้นเมืองชาวอินเดียนในอเมริกาใต้อย่างรุนแรง เมื่อนายพล Cortez นำทหารบุกเข้ายึดอาณาจักร Aztec ทหารที่เป็นโรคฝีดาษได้แพร่ระบาดโรคฝีดาษ ไปสู่ชนพื้นเมืองทำให้ชนพื้นเมืองที่ไม่มีภูมิคุ้มกันโรคเลยต้องตายเป็นจำนวนนับแสนคน การสูญเสียผู้คนจำนวนมากเช่นนี้มีส่วนทำให้อาณาจักร Aztec ล่มสลายในเวลาต่อมา

ฝีดาษมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า variola major คำว่า variola มาจากคำในภาษาละตินว่า varus ซึ่งแปลว่า ตุ่มตามตัว เนื่องจากเมื่อ 200 ปีก่อน เวลาใครเป็นโรคชนิดนี้ 20-40% ของผู้ป่วยจะเสียชีวิต ส่วนคนที่หายป่วยจะมีแผลเป็นตามตัวและใบหน้า

ประวัติศาสตร์ของสหรัฐอเมริกา ได้บันทึกว่า George Washington ประธานาธิบดีคนแรกของสหรัฐฯ ในวัยหนุ่มเคยเป็นโรคฝีดาษ เขาจึงต้องต่อสู้กับโรคร้ายและทหารอังกฤษไปพร้อมกัน และเมื่อรู้ตัวว่าเป็นโรคเขาก็สั่งให้ทหารทุกคนในกองทัพเข้ารับการปลูกฝีทันที ซึ่งมีผลทำให้กองทัพของเขารบชนะข้าศึกในที่สุด ส่วน Thomas Jefferson ได้บันทึกว่า ทาสของเขาที่หลบหนีไปเข้ากับกองทัพอังกฤษ หลายคนเป็นโรคฝีดาษ และในปี พ.ศ. 2306 กองทัพอังกฤษได้ให้ผ้าห่มของคนที่เป็นฝีดาษแก่ชาวอินเดียนแดงที่ Fort Pitt เป็นครั้งแรกที่มีการใช้ฝีดาษเป็นอาวุธสงคราม

ประเทศจีนในสมัยก่อน ผู้ป่วยด้วยโรคฝีดาษจะถูกกักบริเวณไม่ให้ออกนอกพื้นที่ แพทย์จะให้ผู้ป่วยสูดดมควันที่ได้จากการเผาสะเก็ดแผลของคนที่หายจากฝีดาษแล้ว ในตะวันออกกลางและแอฟริกา หมอผีจะเอาหนองสด ๆ จากคนที่กำลังเป็นฝีดาษ มาทาตามผิวที่มีรอยขีดข่วนของคนที่ยังไม่เป็น และพบว่าวิธีนี้ทำให้คนบางคนตายด้วยโรคฝีดาษ ในเวลาต่อมา

สาเหตุของโรค

[แก้]

เกิดจากดีเอ็นเอไวรัส (DNA virus) เชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดโรคฝีดาษมี 2 ชนิดคือ variolar major ทำให้เกิดโรคฝีดาษซึ่งมีอาการรุนแรงและมีอัตราการตายสูงประมาณ 1 ใน 3 และ variolar minor ทำให้เกิดโรค alastrim ซึ่งอาการไม่รุนแรงเท่า และอัตราการตายต่ำ เชื้ออยู่ในสะเก็ดได้เป็นปี เชื้อถูกฆ่าตายที่อุณหภูมิ 60 องศาเซลเซียส นาน 10 นาที

การแพร่กระจาย

[แก้]

เชื้อไวรัสฝีดาษ (Variolar) นี้สามารถแพร่กระจายไปในอากาศ จากละอองสิ่งคัดหลั่งจากคนที่เป็นโรค เช่น น้ำมูก, น้ำลาย หรือจากการสัมผัสกับผิวหนังที่มีแผลฝีดาษ เชื้อนี้มีความคงทนต่อสภาพอากาศ สามารถแพร่ได้ไม่ว่าจะอากาศร้อนหรือหนาว และสามารถติดต่อจากคนไปสู่คนได้โดยง่าย

ระยะฟักตัวและอาการของโรค

[แก้]

ระยะฟักตัว

[แก้]

ระยะฟักตัวค่อนข้างจะคงที่ จากการติดเชื้อจนมีอาการกินเวลา 5-17 วันและเริ่มมีผื่นขึ้น 14 วัน แต่อาจจะเร็วถึง 9 วันหรือนานถึง 21 วันหลังจากระยะฟักตัวก็จะเกิดอาการที่เห็นชัดเจน

อาการ

[แก้]
  1. อาการเริ่มแรก เริ่มด้วยปวดศีรษะ สะท้าน ปวดหลัง ปวดตามกล้ามเนื้อแขนขา ไข้จะขึ้นสูงอย่างรวดเร็ว สูงได้ถึง 41-41.5 องศา ในเด็กจะมีอาเจียน ชัก และหมดสติ ในผู้ป่วยบางรายอาจจะมีผื่นแดงเกิดขึ้นใน 2 วันแรก ผื่นมักจะขึ้นบริเวณแขนหรือขา
  2. ระยะออกผื่น ประมาณวันที่ 3 หลังมีไข้ ผื่นที่แท้จริงของฝีดาษจะเริ่มปรากฏขึ้นที่หน้า แล้วไปที่แขน หลัง และขา ผื่นมักเป็นมากบริเวณที่ผิวหนังตึง เช่นที่ข้อมือ โหนกแก้ม สะบัก เป็นต้น ผื่นจะขึ้นเต็มที่ภายในเวลา 2 วัน ไข้จะเริ่มลงในวันที่ 2-3 หลังผื่นขึ้น และอาการต่าง ๆ จะดีขึ้น ลักษณะผื่น จะเริ่มเป็นผื่นขนาดหัวเข็มหมุด และโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ในวันที่ 2 และกลายเป็นตุ่มน้ำในวันที่ 3 ใส ในวันที่ 5 จะเป็นตุ่มน้ำขุ่น การเปลี่ยนแปลงของผื่นจะเป็นไปพร้อมกันทั้งตัว ในวันที่ 8 ผื่นจะเริ่มแห้งโดยเริ่มที่หน้าก่อน ผื่นจะกลายเป็นสะเก็ดในวันที่ 12-13
  3. ระยะติดต่อตั้งแต่ตอนที่เริ่มมีอาการ และช่วงสัปดาห์แรก ที่จะเป็นช่วงที่มีโอกาสแพร่เชื้อได้ง่ายที่สุด ไปจนถึงตอนที่แผลแห้งเป็นสะเก็ดแล้ว

โรคแทรกซ้อน

[แก้]
  1. ผิวหนัง อาจจะเกิดการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำเติม เมื่อหายแล้วจะมีแผลลึก
  2. ระบบทางเดินหายใจ เกิดการอักเสบที่กล่องเสียง ทำให้กล่องเสียงบวม เกิดปอดบวมได้บ่อย
  3. กระดูก เกิดการอักเสบของกระดูกจากเชื้อไวรัสได้บ่อย มักพบในวันที่ 10-12 ของโรค ในเด็กมักจะเป็นรุนแรงและมีการทำลายของกระดูกและข้อ
  4. ตา เกิดเยื่อบุตาอักเสบ และการบวมของหนังตา
  5. ระบบประสาทส่วนกลาง เกิดการอักเสบของสมองในระยะท้ายของโรค

ความเสี่ยงของโรค

[แก้]

โรคฝีดาษ หรือไข้ทรพิษ มีอัตราการตายสูงประมาณ 30% และต้องทำการแยกผู้ป่วยจากคนอื่น เนื่องจากสามารถติดต่อแพร่เชื้อให้แก่คนอื่นได้ง่ายมาก และเสื้อผ้าของใช้ของผู้ป่วยจะต้องได้รับการทำความสะอาดให้ปลอดเชื้อโดยการใช้น้ำยาฆ่าเชื้อ หรือการต้มนึ่งด้วยความร้อน เนื่องจากอาจเป็นตัวกลางของการแพร่เชื้อให้แก่ผู้อื่นได้

การวินิจฉัยโรค

[แก้]
  1. การวินิจฉัยโรคอาศัยทั้งประวัติและการตรวจร่างกาย
  2. ลักษณะทางคลินิกและระบาดวิทยา ในรายที่อาการตรงไปตรงมา
  3. การตรวจทางห้องปฏิบัติการ
  4. การวินิจฉัยทางไวรัสวิทยา

การรักษาโรค

[แก้]
วัคซีนฝีดาษ
  1. ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนไข้ทรพิษให้ใช้รักษา เนื่องจากได้มีการยกเลิกการฉีดวัคซีนไข้ทรพิษตั้งแต่ปี พ.ศ. 2515 และเหลือเพียงไม่กี่ประเทศในโลกที่ยังมีการเก็บวัคซีน และเชื้อไข้ทรพิษไว้ใช้ในการสงคราม ซึ่งได้แก่ประเทศสหรัฐอเมริกา, รัสเซีย
  2. ต้องแยกนอนโรงพยาบาลที่รับเฉพาะโรคติดต่อ
  3. การรักษาประคับประคองและรักษาตามอาการ
    1. ให้ผู้ป่วยนอนพักในที่นอนที่สะอาด และทำความสะอาดที่นอนบ่อย ๆ เพื่อป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรีย
    2. แก้ไขภาวะขาดน้ำและความผิดปกติของเกลือแร่
    3. ระวังรอยโรคที่ปากและตา โดยทำความสะอาดอวัยวะทั้งสองบ่อย ๆ
    4. ไม่ควรอาบน้ำหรือใช้น้ำยาใด ๆ ทาเคลือบผิวหนัง

การป้องกัน

[แก้]
วิธีการปลูกฝี

การปลูกฝี

[แก้]

วัคซีนทำจากไวรัสชื่อ vaccinia เป็นไวรัสที่ทำให้เกิดโรคในวัวที่ยังมีชีวิตแต่ทำให้อ่อนแรง เชื้ออาจจะกระจายจากตำแหน่งที่ฉีดวัคซีนไปยังตำแหน่งอื่นได้ ต้องระวังการรักษาความสะอาด การปลูกฝีสามารถป้องกันโรคฝีดาษและค่อนข้างปลอดภัย แต่อาจจะมีผลข้างเคียงตั้งแต่น้อยจนมาก หลังการฉีดวัคซีนจะมีภูมิคุ้มกันอยู่ได้ 3-5 ปี หากได้รับการกระตุ้นภูมิคุ้มกันจะอยู่นานขึ้น การปลูกฝีจะใช้เข็มซึ่งมีเชื้อโรคอยู่ ทำให้ผิวหนังเกิดแผลเชื้อจะเข้าสู่แผล

ผลข้างเคียง

[แก้]
  1. แขนที่ได้รับการปลูกฝีจะแดง บวม และมีอาการปวด
  2. ต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้โต
  3. เป็นไข้ต่ำ ๆ ถึงเป็นไข้สูงถ้าแพ้มาก
  4. ผลข้างเคียงที่รุนแรง พบได้ 1,000 รายใน 1,000,000 ราย
  5. ผื่นอาจจะลามจากบริเวณที่ฉีดยาไปที่อื่น เช่น ตา หน้า อวัยวะเพศ อาจจะเกิดผื่นขึ้นทั้งตัวเนื่องจากฉีดวัคซีนเข้ากระแสเลือด
  6. แพ้วัคซีนทำให้เกิดแพ้วัคซีน

ผลข้างเคียงที่อาจจะทำให้เสียชีวิต

[แก้]
  1. ฉีดวัคซีนในผู้ป่วยที่เป็น eczema ทำให้มีการกระจายของผื่นทั่วร่างกาย Eczema vaccinatum
  2. หลังการปลูกฝีเกิดการติดเชื้อของผิวหนัง
  3. สมองอักเสบ Postvaccinal encephalitis

ผู้ที่ไม่ควรได้รับการปลูกฝี

[แก้]
  1. ผู้ป่วยที่เป็นผื่นแพ้ eczema, atropic eczema
  2. ผู้ที่มีโรคผิวหนังเช่น แผลไฟไหม้ งูสวัด เรื้อนกวาง
  3. คนที่ตั้งครรภ์, กำลังให้นม
  4. เด็กอายุน้อยกว่า 1 ปี
  5. ผู้ที่เป็นโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง,โรคเอดส์ หรือได้รับยากดภูมิคุ้มกันเช่นผู้ที่เปลี่ยนไต หรือได้รับยา steroid
  6. ผู้ป่วยแพ้วัคซีน

การดูแลตำแหน่งที่ปลูกฝี

[แก้]
  1. ใช้ผ้าหรือเทปปิดแผลเพื่อป้องกันการแพร่ของเชื้อ แล้วใช้เทปกันน้ำปิดแผล
  2. สามารถใส่เสื้อเพื่อป้องกันเชื้อแพร่สู่คนอื่น
  3. เปลี่ยนผ้าปิดแผลทุก 2 วัน
  4. ล้างมือด้วยสบู่หลังจากทำความสะอาดแผล
  5. ทิ้งผ้าทำแผลลงในถุงแยกต่างหากแล้วนำไปเผา
  6. เสื้อผ้าที่ใส่นำไปต้มและซัก
  7. ข้อห้าม
    1. ห้ามใช้เทปที่ไม่สามารถระบายอากาศ
    2. อย่าแกะสะเก็ดแผล
    3. อย่าทายาใด ๆ ทั้งสิ้น

การสร้างวัคซีน

[แก้]
เอดเวิร์ด เจนเนอร์

ในปี พ.ศ. 2339 (ค.ศ. 1796) เอดเวิร์ด เจนเนอร์ (Edward Jenner) ได้คิดค้นวิธีการสร้างภูมิต้านทาน (vaccination) และใช้ป้องกันการติดเชื้อโรคฝีดาษ ทำให้ทั่วโลกต่อสู้กับโรคร้ายนี้ได้ ที่ประเทศรัสเซีย ได้ตั้งชื่อเด็กคนแรกที่ได้รับการปลูกฝีว่าแวคซีนอฟ หลังจากต่อสู้กับโรคนี้ด้วยการปลูกฝีจนกระทั่งในปี พ.ศ. 2513 องค์การอนามัยโลกก็ประกาศให้ยกเลิกการฉีดวัคซีนปลูกฝีลง เป็นนัยว่าชนะโรคร้ายนี้อย่างราบคาบแล้ว แต่ปัจจุบันก็ยังมีความกังวลว่าจะมีเชื้อนี้กลับมาระบาดอีก แต่ไม่ใช่วิธีการทางธรรมชาติ แต่ในอยู่ในรูปแบบของสงครามอาวุธชีวภาพ

เอดเวิร์ด เจนเนอร์ คือแพทย์ชาวอังกฤษผู้คิดวัคซีนป้องกันโรคฝีดาษได้เป็นคนแรก เขาเกิดเมื่อปีพ.ศ. 2292 ที่เมือง Berkeley ใน Gloucestershire ประเทศอังกฤษ การได้ไปฝึกงานกับศัลยแพทย์ตอนอายุ 12 ปี ทำให้เขามีความรู้สึกอยากเป็นแพทย์ ด้วยเหตุนี้เขาจึงได้เข้าเรียนวิชาแพทยศาสตร์ที่มหาวิทยาลัย St. Andrew และเรียนสำเร็จเป็นแพทย์ขณะมีอายุ 43 ปี ในสมัยนั้นยุโรปทั้งทวีปกำลังถูกฝีดาษคุกคามหนัก 10-20% ของผู้ป่วยเสียชีวิต และ 10-15% ของผู้รอดชีวิตมีรอยแผลเป็นเต็มตัว เจนเนอร์ จึงคิดหาวิธีป้องกันฝีดาษ และเขาก็ประสบความสำเร็จหลังจากที่ได้พยายามนานถึง 16 ปี เมื่อ เจนเนอร์ สังเกตเห็นว่า ตามมือและแขนของหญิงรีดนมวัวมักมีแผลที่เกิดจากฝีดาษวัว (cowpox) ที่ไม่รุนแรง และหญิงที่มีอาชีพนี้ไม่มีใครป่วยเป็นฝีดาษเลยสักคน เขาจึงคิดว่าฝีดาษวัวคงสามารถป้องกันคนมิให้เป็นโรคฝีดาษได้ เจนเนอร์ คิดทดสอบการคาดการณ์นี้ ดังนั้นในวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2339 เจนเนอร์ ก็ได้เอาหนองที่แผลของ ซาร่าห์ เนมห์เมส (Sarah Nelmes) อันเกิดจากฝีดาษวัว ไปป้ายบนแผลที่เกิดจากการถูกมีดกรีดเล็กน้อยของ เจมส์ ฟิปล์ (James Phipps) ซึ่งเป็นเด็กอายุ 8 ปี เจนเนอร์ พบว่า ฟิปล์ ล้มป่วยเป็นโรคฝีดาษวัว แต่ก็หายในเวลาไม่นาน จากนั้นอีกหลายสัปดาห์ต่อมา เจนเนอร์ ได้เอาเชื้อฝีดาษป้ายบนแผลของ ฟิปล์ ผลปรากฏว่า ฟิปล์ ไม่แสดงอาการว่าเป็นฝีดาษเลย

วันที่ 14 พฤษภาคม จึงเป็นวันสำคัญวันหนึ่งในประวัติของวิทยาศาสตร์การแพทย์ เพราะในวันนั้นโลกมีวัคซีนใช้เป็นครั้งแรก และเป็นวันแรกที่มนุษย์รู้จักการปลูกฝี หลังจากที่ได้ทดสอบวัคซีนจนมั่นใจแล้ว ในปี พ.ศ. 2341 เจนเนอร์ ได้เรียบเรียงตำราชื่อ An Inquiry into the Causes and Effects of the Variola Vaccinae ถึงแม้แพทย์ส่วนใหญ่จะไม่เชื่อในวิธีป้องกันโรคด้วยวิธีนี้ แต่เมื่อผู้คนจำนวนมากพากันมาหา เจนเนอร์ เพื่อรับการปลูกฝี และคนเหล่านั้นไม่มีใครล้มป่วยเป็นฝีดาษ ผลงานของ เจนเนอร์ จึงได้รับการยอมรับจากบรรดาแพทย์อื่น ๆ จากนั้นรัฐบาลอังกฤษก็ได้จัดสรรงบประมาณให้ เจนเนอร์ ผลิตวัคซีนสำหรับฉีดป้องกันฝีดาษให้คนอังกฤษทั่วประเทศ

การพบวัคซีนฝีดาษทำให้ชื่อเสียงของ เจนเนอร์ แพร่กระจายไปทั่วโลก แม้แต่จักรพรรดินโปเลียน (Napoleon) เมื่อพระองค์ทรงทราบว่า เจนเนอร์ ทูลขออภัยโทษให้แก่เชลยอังกฤษที่ฝรั่งเศสจับได้ในสงคราม พระองค์ก็ทรงปล่อยเชลยเหล่านั้นทันที

เจนเนอร์ ซึ่งได้ใช้สติปัญญาและความอุตสาหะในการค้นคว้าจนพบวัคซีนที่สามารถป้องกันชีวิตของคนนับล้านให้ปลอดภัยจากโรคฝีดาษ โดยไม่ได้ร่ำรวยจากการอ้างสิทธิ์ทางปัญญาใด ๆ ได้ถึงแก่กรรมที่เมือง เบิกลีย์ (Berkeley) ขณะมีอายุ 73 ปี

หลังจากที่ เจนเนอร์ พบวัคซีนฝีดาษแล้ว สถิติการระบาดและการเสียชีวิตของผู้คนด้วยโรคฝีดาษก็ลดลง ๆ เช่นในปี พ.ศ. 2510 มีผู้ป่วยด้วยโรคฝีดาษใน 29 ประเทศ ในปี พ.ศ. 2515 พบคนเป็นโรคฝีดาษใน 14 ประเทศ ในปี 2517-2518 ประเทศปากีสถาน อินเดีย และเนปาล ได้ประกาศว่าประเทศทั้งสามเป็นดินแดนปลอดฝีดาษ 100% และเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2521 โลกได้รับรายงานว่ามีคนป่วยด้วยโรคฝีดาษเป็นคนสุดท้ายคือ Ali Maow Moalin เขาเป็นพ่อครัวในเมือง Merca ในโซมาเลีย และก็ได้รับการรักษาจนหาย นับถึงวันนี้ไม่มีใครป่วยเป็นโรคฝีดาษอีกเลย จนเราอาจกล่าวได้ว่า โลกไม่ถูกฝีดาษรบกวนในระยะกว่า 40 ปีที่ผ่านมา

อ้างอิง

[แก้]
  1. Ryan KJ, Ray CG, บ.ก. (2004). Sherris Medical Microbiology (4th ed.). McGraw Hill. pp. 525–28. ISBN 978-0-8385-8529-0.
  2. Babkin, I, Babkina, I (March 2015). "The Origin of the Variola Virus". Viruses. 7 (3): 1100–1112. doi:10.3390/v7031100. PMC 4379562. PMID 25763864.
  3. "Smallpox". WHO Factsheet. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 21 September 2007.
  4. "Smallpox - Symptoms and causes". Mayo Clinic (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 2022-04-27.
  5. อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่ถูกต้อง ไม่มีการกำหนดข้อความสำหรับอ้างอิงชื่อ CDC2016Sym
  6. อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่ถูกต้อง ไม่มีการกำหนดข้อความสำหรับอ้างอิงชื่อ CDC2016Sym2
  7. อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่ถูกต้อง ไม่มีการกำหนดข้อความสำหรับอ้างอิงชื่อ CDC2016Sym3
  8. "Signs and Symptoms". CDC (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 7 June 2016. สืบค้นเมื่อ 14 December 2017.
  9. 9.0 9.1 9.2 "What is Smallpox?". CDC (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 7 June 2016. สืบค้นเมื่อ 14 December 2017.
  10. Lebwohl MG, Heymann WR, Berth-Jones J, Coulson I (2013). Treatment of Skin Disease E-Book: Comprehensive Therapeutic Strategies (ภาษาอังกฤษ). Elsevier Health Sciences. p. 89. ISBN 978-0-7020-5236-1.
  11. 11.0 11.1 "Prevention and Treatment". CDC (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 13 December 2017. สืบค้นเมื่อ 14 December 2017.
  12. Riedel S (January 2005). "Edward Jenner and the history of smallpox and vaccination". Proceedings. 18 (1): 21–25. doi:10.1080/08998280.2005.11928028. PMC 1200696. PMID 16200144.
  13. อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่ถูกต้อง ไม่มีการกำหนดข้อความสำหรับอ้างอิงชื่อ CDC2017His
  14. "History of Smallpox". CDC (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 25 July 2017. สืบค้นเมื่อ 14 December 2017.
  15. อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่ถูกต้อง ไม่มีการกำหนดข้อความสำหรับอ้างอิงชื่อ WHO2007Fact2
  16. อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่ถูกต้อง ไม่มีการกำหนดข้อความสำหรับอ้างอิงชื่อ WHO2007Fact3
  17. Hays JN (2005). Epidemics and Pandemics: Their Impacts on Human History (ภาษาอังกฤษ). ABC-CLIO. pp. 151–52. ISBN 978-1-85109-658-9.
  18. Koprowski H, Oldstone MB (1996). Microbe hunters, then and now. Medi-Ed Press. p. 23. ISBN 978-0-936741-11-6.
  19. Henderson DA (December 2011). "The eradication of smallpox – an overview of the past, present, and future". Vaccine. 29 Suppl 4: D7–9. doi:10.1016/j.vaccine.2011.06.080. PMID 22188929.
  20. Henderson D (2009). Smallpox : the death of a disease. Prometheus Books. p. 12. ISBN 978-1-61592-230-7.
  21. 21.0 21.1 อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่ถูกต้อง ไม่มีการกำหนดข้อความสำหรับอ้างอิงชื่อ WHO2007Fact5
  22. อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่ถูกต้อง ไม่มีการกำหนดข้อความสำหรับอ้างอิงชื่อ Hays20053
  23. Needham J (2000). Science and Civilisation in China: Volume 6, Biology and Biological Technology, Part 6, Medicine (ภาษาอังกฤษ). Cambridge University Press. p. 134. ISBN 978-0-521-63262-1. สืบค้นเมื่อ 30 March 2020.
  24. Silverstein AM (2009). A History of Immunology (2nd ed.). Academic Press. p. 293. ISBN 978-0080919461..
  25. Strathern P (2005). A Brief History of Medicine. London: Robinson. p. 179. ISBN 978-1-84529-155-6.
  26. Wolfe RM, Sharp LK (August 2002). "Anti-vaccinationists past and present". BMJ. 325 (7361): 430–32. doi:10.1136/bmj.325.7361.430. PMC 1123944. PMID 12193361.
  27. "Smallpox vaccines". WHO. สืบค้นเมื่อ 27 March 2020.
  28. อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่ถูกต้อง ไม่มีการกำหนดข้อความสำหรับอ้างอิงชื่อ WHO2007Fact4
  29. Guidotti TL (2015). Health and Sustainability: An Introduction (ภาษาอังกฤษ). Oxford University Press. p. T290. ISBN 978-0-19-932568-9.
  30. Roossinck MJ (2016). Virus: An Illustrated Guide to 101 Incredible Microbes (ภาษาอังกฤษ). Princeton University Press. p. 126. ISBN 978-1-4008-8325-7.
  31. Harper, Douglas. "Smallpox". Online Etymology Dictionary.
  32. Barquet N, Domingo P (October 1997). "Smallpox: the triumph over the most terrible of the ministers of death". Annals of Internal Medicine. 127 (8 Pt 1): 635–42. CiteSeerX 10.1.1.695.883. doi:10.7326/0003-4819-127-8_Part_1-199710150-00010. PMID 9341063. S2CID 20357515.
  33. Fenner F, Henderson DA, Arita I, Ježek Z, Ladnyi ID (1988). "The History of Smallpox and its Spread Around the World" (PDF). Smallpox and its eradication. History of International Public Health. Vol. 6. Geneva: World Health Organization. pp. 209–44. hdl:10665/39485. ISBN 978-92-4-156110-5. สืบค้นเมื่อ 14 December 2017.
  34. Medicine: The Definitive Illustrated History. Pengui. 2016. p. 100. ISBN 978-1-4654-5893-3.
  35. อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่ถูกต้อง ไม่มีการกำหนดข้อความสำหรับอ้างอิงชื่อ Bar19972
  1. ฝีดาษ CDC เก็บถาวร 2006-12-13 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  2. เว็บไซต์ American Academy of Physician Assistant เก็บถาวร 2006-12-06 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  3. วิธีการปลูกฝี