ข้ามไปเนื้อหา

พฤกษ์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก Albizia lebbeck)

พฤกษ์
สถานะการอนุรักษ์
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ แก้ไขการจำแนกนี้
อาณาจักร: พืช
Plantae
เคลด: พืชมีท่อลำเลียง
Tracheophyta
เคลด: พืชดอก
Angiosperms
เคลด: พืชใบเลี้ยงคู่แท้
Eudicots
เคลด: โรสิด
Rosids
อันดับ: ถั่ว
Fabales
วงศ์: ถั่ว
Fabaceae
วงศ์ย่อย: วงศ์ย่อยราชพฤกษ์
เคลด: Mimosoid clade
สกุล: สกุลถ่อน

(L.) Benth.
สปีชีส์: Albizia lebbeck
ชื่อทวินาม
Albizia lebbeck
(L.) Benth.
ชื่อพ้อง

See Taxonomy

พฤกษ์, ซึก, มะรุมป่า หรือ จามจุรีทอง (พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน เรียกว่า จามจุรี; ชื่อวิทยาศาสตร์: Albizia lebbeck) พฤกษ์มีถิ่นกำเนิดอยู่ในเขตร้อนชื้นของทวีปเอเชีย ซึ่งรวมทั้งประเทศไทยด้วยจึงพบว่าเป็นต้นไม้ พื้นบ้านที่พบขึ้นเองตามธรรมชาติอยู่ทุกภาคของประเทศไทย ภาษาอังกฤษ เรียกว่า Indian Walnut หรือ Siris น่าสังเกตว่า พฤกษ์ มีชื่อซ้ำกับพืชชนิดอื่นที่เรารู้จักกันดีด้วย คือ จามจุรี และก้ามปู อันเป็นต้นไม้อยู่ในวงศ์เดียวกัน มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Samanea saman (Jacq.) Merr. มีชื่อภาษาอังกฤษว่า Rain Tree ความจริงจามจุรี (ก้ามปู, ฉำฉา) เป็นต้นไม้มาจากทวีปอเมริกาใต้ นำเข้ามาปลูกในประเทศไทยสมัยรัชกาลที่ ๕ ชื่อจามจุรี หรือก้ามปูก็นำไปจากชื่อของต้นพฤกษ์นี้เอง เพราะมีลักษณะคล้ายคลึงกัน โดยเฉพาะลักษณะดอกที่มีเกสรยาวเป็นฝอย ต่างกันที่สีดอกพฤกษ์มี สีขาวเหลือง แต่ดอกจามจุรี(ใหม่) สีออกชมพูแดง จึงเรียกในสมัยแรกๆ ว่าจามจุรีแดง เพื่อให้เห็นความแตกต่างจากจามจุรีเดิม(พฤกษ์) ซึ่งมี ดอกสีขาวเหลือง ต่อมาเรียกสั้น ลงว่าจามจุรี (เฉยๆ) ไม่มีคำว่าแดง ตามหลัง และไม่มีเรียกต้นพฤกษ์ ว่าจามจุรีหรือก้ามปูอีกมาจนถึงปัจจุบัน

ในอดีตที่คนไทยภาคกลางเรียกพฤกษ์ว่าจามจุรีหรือจามรี น่าจะเป็นเพราะลักษณะดอกเป็นฝอย และมีสีออกเหลืองคล้ายแส้ขนจามรี (จามจุรี) ที่ใช้ในพิธีมงคลนั่นเอง ส่วนที่ได้ชื่อว่าก้ามปู ก็เพราะลักษณะตอนปลายช่อใบคล้ายก้ามปูทะเล จึงเรียกว่า ต้นก้ามปู ลักษณะพิเศษอย่างหนึ่งของต้นพฤกษ์ ก็คือ กลางคืนใบจะหุบลีบติดกัน เหมือนนอนหลับและแผ่ออกจากกันตอนเช้าไปจนตลอดวัน

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

[แก้]

พฤกษ์เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ สูง 15-25 เมตร ทรงพุ่มกว้างพอสมควร ด้านบนพุ่มค่อนข้างแบน เปลือกสีเทาเข้มหรือน้ำตาลอมเหลือง ผิวเปลือกขรุขระมักแตกเป็นร่องยาว เปลือกด้านในมีสีแสดแดง ใบเป็นรูปขนนก สองชั้นเรียงสลับกัน ก้านช่อใบยาวประมาณ 20 เซนติเมตร มีขนละเอียดปกคลุม ช่อใบแขนงยาวประมาณ 5-10 เซนติเมตร ใบย่อยทรงยาวรี กว้างประมาณ 1-2.5 เซนติเมตร ยาว 2-4 เซนติเมตร ใบร่วงในช่วงเดือนธันวาคมและมกราคม (ผลัดใบ) แตกยอดอ่อนราวปลายเดือนมกราคมถึงต้นเดือนมีนาคม ดอกเกิดที่ปลายกิ่งและโคนก้านใบ ออกเป็นช่อยาวประมาณ 30 เซนติเมตร เป็นดอกสมบูรณ์เพศ มีเกสรยาวเป็นฝอยมีสีขาวอมเขียว และเปลี่ยนเป็นสีเหลืองนวล มีกลิ่นหอม มักออกดอกในเดือนมีนาคมถึงเมษายน ฝักแบนโตคล้ายฝักกระถิน สีขาวอมเหลือง กว้างประมาณ 3-5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 10 ถึง 30 เซนติเมตร มีเมล็ด 4-12 เมล็ดต่อฝัก

การใช้ประโยชน์

[แก้]
เปลือกไม้ของพฤกษ์

พฤกษ์มีการนำมาปลูกเป็นไม้ให้ร่มเงาในอเมริกาเหนือและอเมริกาใต้ [2] ในอินเดียและปากีสถานใช้ประโยชน์จากเนื้อไม้ เนื้อไม้ของพฤกษ์มีความหนาแน่น 0.55-0.66 g/cm3 หรือสูงกว่า[3]

พฤกษ์เป็นพืชพื้นบ้านดั้งเดิมของไทย อยู่คู่คนไทยมาเนิ่นนานจึง ย่อมถูกนำมาใช้ประโยชน์อย่างรอบด้าน เช่น ด้านสมุนไพรรักษาโรค โดยใช้ส่วนต่างๆของพฤกษ์ ดังนี้

เมล็ดและเปลือก : มีรสฝาด เป็นยาสมาน เช่น รักษาแผลในปาก, ในลำคอ, เหงือกหรือฟันผุ, ริดสีดวงทวารหนัก, แก้ท้องร่วง, ห้ามเลือดตกใน

เมล็ด : รักษากลากเกลื้อน, โรคเรื้อน, ทำยารักษาเยื่อตาอักเสบ

ใบ : ใช้ดับพิษร้อน ทำให้เย็น

พฤกษ์เป็นต้นไม้โตเร็วและทนทาน เหมาะสำหรับปลูกในที่เสื่อมโทรมและแห้งแล้งสามารถปรับปรุงสภาพดินให้สมบูรณ์ขึ้นได้ เนื่องจากเป็นพืชตะกูลถั่วจึงสามารถจับไนโตรเจนจากอากาศมาเปลี่ยนเป็นปุ๋ยไนเตรตได้ดี เนื้อไม้พฤกษ์เหนียว แข็งแรง ทนทานปานกลาง เลื่อยไสกบได้ง่าย มีสีน้ำตาลอ่อนถึงแก่ เป็นมัน เป็นไม้ที่ใช้ค้าขายระหว่างประเทศด้วยชื่อทางการค้าคือ Indian Walnut Siris และ Kokko

เนื่องจากพฤกษ์เป็นต้นไม้ที่มีประโยชน์และผูกพันกับคนไทยมากชนิดหนึ่ง จึงได้รับการพิจารณาให้เป็นต้นไม้ประจำจังหวัดมหาสารคาม โดยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงได้ทรงโปรดพระราชทานกล้าไม้มงคลให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดนำไปปลูกเพื่อเป็นสิริมงคล เป็นไม้มงคลประจำจังหวัดทั้ง 76 จังหวัด โดยจังหวัดมหาสารคาม ได้รับพระราชทานต้นพฤกษ์เป็นไม้มงคลประจำจังหวัด ดังนั้นต่อไปนี้คนไทยที่ปลูกต้นพฤกษ์นอกจากจะได้ประโยชน์ด้านต่างๆ เช่น ผัก, สมุนไพร, ร่มเงา, เนื้อไม้ ฯลฯ แล้วยังจะเป็นสิริมงคลแก่ตนเองและครอบครัวอีกด้วย[4]

ความเป็นพิษ

[แก้]

ฝุ่นจากไม้มีกลิ่นหอมและเผ็ดร้อน อาจทำให้เกิดการระคายเคืองต่อจมูกและลำคอของคนงานโรงเลื่อย เปลือกใช้เป็นยาเบื่อปลา สีย้อมสีแดงจากเปลือกไม้ทำให้เกิดการระคายเคืองผิวหนัง ฝักมีซาโปนินและกินไม่ได้มาก[5]

ดูเพิ่ม

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. Plummer, J. (2020). "Albizia lebbeck". IUCN Red List of Threatened Species. 2020: e.T18435916A18435924. สืบค้นเมื่อ 9 March 2023.
  2. International Legume Database & Information Service (ILDIS) (2005): Albizia lebbeck (L.) Benth.. Version 10.01, November 2005. Retrieved 2008-MAR-30.
  3. Brown, Sandra. (1997): Appendix 1 - List of wood densities for tree species from tropical America, Africa, and Asia. In: Estimating Biomass and Biomass Change of Tropical Forests: a Primer. FAO Forestry Papers 134. ISBN 92-5-103955-0 HTML fulltext
  4. https://khaolan.redcross.or.th/%E0%B8%9E%E0%B8%A4%E0%B8%81%E0%B8%A9%E0%B9%8C/
  5. https://gdpark.asia/seed/tree/2080
  • เศรษฐมนตร์ กาญจนกุล. ไม้มีพิษ. กทม. เศรษฐศิลป์. 2552

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]