แร้งดำหิมาลัย
แร้งดำหิมาลัย ช่วงเวลาที่มีชีวิตอยู่: สมัยไมโอซีน-ปัจจุบัน [1] | |
---|---|
สถานะการอนุรักษ์ | |
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ | |
โดเมน: | ยูแคริโอต Eukaryota |
อาณาจักร: | สัตว์ Animalia |
ไฟลัม: | สัตว์มีแกนสันหลัง Chordata |
ชั้น: | สัตว์ปีก Aves |
อันดับ: | เหยี่ยว Accipitriformes |
วงศ์: | เหยี่ยวและนกอินทรี Accipitridae |
สกุล: | แร้งดำหิมาลัย Aegypius (Linnaeus, 1766) |
สปีชีส์: | Aegypius monachus |
ชื่อทวินาม | |
Aegypius monachus (Linnaeus, 1766) | |
ขอบเขตของ A. monachus ผสมพันธุ์ อาศัย ทางผ่าน ไม่ผสมพันธุ์ สูญพันธุ์ ขยายและปรากฏตัวอีกครั้ง (อาศัย)
| |
ชื่อพ้อง | |
Vultur monachus Linnaeus, 1766 |
แร้งดำหิมาลัย (อังกฤษ: Black Vulture, European Black Vulture, Cinereous Vulture; ชื่อวิทยาศาสตร์: Aegypius monachus) เป็นนกล่าเหยื่อจำพวกอีแร้งขนาดใหญ่ชนิดหนึ่ง เป็นนกเพียงชนิดเดียวที่อยู่ในสกุล Aegypius[3]
ลักษณะ
[แก้]ขนาดลำตัวยาวประมาณ 102-104 เซนติเมตร ความยาวปีกจากข้างหนึ่งไปอีกข้างหนึ่ง 2.9 - 3 เมตร น้ำหนักหนักได้ถึง 7-12.5 กิโลกรัม ถือเป็นอีแร้งที่ใหญ่ที่สุดที่พบได้ในทวีปเอเชีย ตัวผู้และตัวมีลักษณะเหมือนกัน ทั่วตัวมีขนสีดำ ตรงบริเวณหัวถึงคอมีขนน้อยหรือแทบจะไม่มีเลย บริเวณรอบ ๆ คอมีขนขึ้นฟูคล้ายพวงมาลัย นิ้วสีออกขาว ตัวที่ยังไม่โตเต็มวัยมีลำตัวด้านล่างสีน้ำตาลอ่อนกว่า
การกระจายพันธุ์
[แก้]ไม่ใช่นกประจำถิ่นของไทย นอกจากอพยพย้ายถิ่นเข้ามาในช่วงฤดูหนาวของแต่ละปีเท่านั้น มีการกระจายพันธุ์ในทวีปยุโรปจนถึงภูมิภาคไซบีเรีย, เอเชียกลาง, จีน, อินเดีย
พฤติกรรมและการขยายพันธุ์
[แก้]ชอบอยู่ในที่โล่งและชอบอยู่กันเป็นฝูงใหญ่ ชอบบินร่อนเป็นวงกลมในอากาศ หากินในเวลากลางวัน มีฤดูผสมพันธุ์ประมาณเดือนมีนาคม-เมษายน ทำรังตามยอดไม้สูง ๆ แถบภูเขา รังมีขนาดใหญ่ ทำด้วยกิ่งไม้ วางไข่ครั้งละ 1 ฟอง แต่ไม่มีรายงานการทำรังวางไข่ในประเทศไทย กินอาหารจำพวกซากสัตว์ต่าง ๆ โดยเฉพาะสัตว์ใหญ่ เช่น ม้า โค แพะ แกะ กวางหรือแอนทิโลป ในบางครั้งอาจจับสัตว์เลื้อยคลานหรือแมลงกินด้วยก็ได้
สถานภาพปัจจุบัน
[แก้]เป็นนกอพยพมาประเทศไทยช่วงนอกฤดูผสมพันธุ์ หายากและมีปริมาณน้อยมาก เคยพบทางภาคเหนือ ตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก จัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พุทธศักราช 2535
เดือนพฤษภาคม ปี พ.ศ. 2550 มีข่าวปรากฏตามสื่อมวลชนว่า มีแร้งดำหิมาลัยตัวหนึ่ง อายุ 8 เดือน ได้รับบาดเจ็บตกลงมาที่จังหวัดจันทบุรี คาดว่าอพยพมาจากประเทศจีน หน่วยฟื้นฟูนกล่าเหยื่อเพื่อปล่อยคืนธรรมชาติ โรงพยาบาลสัตว์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้พยาบาลและฟื้นฟูสุขสภาพ โดยตั้งชื่อให้ว่า "อนาคิน" แต่เมื่อได้ปล่อยไปแล้วโดยติดอุปกรณ์ติดตามดาวเทียมด้วยในวันที่ 10 เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2550 บนดอยลาง อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ ปรากฏว่าอนาคินถูกยิงตกจนตายที่รัฐฉาน ประเทศพม่า[4] [5]
ในประเทศไทย อีแร้งดำหิมาลัย เป็นนกอพยพหายาก จะอพยพเข้ามาในฤดูหนาวบางปี จำนวน 1-2 ตัวเท่านั้น โดยแร้งจะร่อนมากับลมหนาวตั้งแต่เดือนธันวาคม มีรายงานพบที่จังหวัดเชียงใหม่ เพชรบุรี นครราชสีมา ระยองและจันทบุรี [6]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "Aegypius monachus Linnaeus 1766 (cinereous vulture)". Fossilworks.org. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-08-09. สืบค้นเมื่อ 2022-05-15.
- ↑ BirdLife International (2018). "Aegypius monachus". IUCN Red List of Threatened Species. 2018: e.T22695231A1319351943. สืบค้นเมื่อ 3 November 2021.
- ↑ จาก itis.gov (อังกฤษ)
- ↑ สลด "อนาคิน" แร้งดำหิมาลัยใกล้สูญพันธุ์ ถูกยิงตกในรัฐฉาน[ลิงก์เสีย]
- ↑ High hopes for happy end to vulture's journey[ลิงก์เสีย]
- ↑ Cinereous Vulture Species Account สืบค้น 24 มกราคม 2561