ไมโครบอดี
ไมโครบอดี หรือ ไซโทโซม (อังกฤษ: microbody หรือ cytosome) เป็นชนิดของออร์แกเนลล์ชนิดหนึ่งที่พบในเซลล์ของพืช โพรโทซัว และสัตว์ ออร์แกเนลล์ที่จัดเป็นไมโครบอดีได้แก่ เพอรอกซิโซม ไกลออกซิโซม ไกลโคโซม และไฮโดรเจโนโซม ในสัตว์มีกระดูกสันหลังพบไมโครบอดีเป็นจำนวนมากในเซลล์ตับและเซลล์ไต
ประวัติศาสตร์
[แก้]ไมโครบอดีถูกค้นพบและตั้งชื่อครั้งแรกในปี ค.ศ. 1954 โดย Rhodin สองปีต่อมา Rouiller และ Bernhard ได้นำเสนอภาพไมโครบอดีในเซลล์ตับซึ่งเป็นที่ยอมรับทั่วโลกเป็นครั้งแรก[1] จากนั้นในปี 1965 Christian de Duve และคณะได้แยกไมโครบอดีจากเซลล์ตับของหนู De Duve เชื่อว่าชื่อ"ไมโครบอดี"นั้นมีความหมายกว้างเกินไปและเลือกชื่อ"เพอรอกซิโซม"แทน เนื่องจากพบความสัมพันธ์กับไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์[2] ในปี 1967 Breidenbach และ Beevers แยกไมโครบอดีออกจากพืชได้เป็นครั้งแรก ซึ่งพวกเขาตั้งชื่อว่า"ไกลออกซิโซม" เนื่องจากพบว่าภายในบรรจุเอนไซม์สำหรับวัฏจักรไกลออกซีเลต[3]
โครงสร้าง
[แก้]ไมโครบอดีมักเป็นเวสิเคิลที่มีรูปร่างเป็นทรงกลม มีเส้นผ่านศูนย์กลางตั้งแต่ 0.2-1.5 ไมโครเมตร สามารถมองเห็นได้ด้วยการใช้กล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนเท่านั้น ล้อมรอบด้วยฟอสโฟลิพิดไบแลร์ชั้นเดียว และมีเมทริกซ์ของสารต่าง ๆ ภายในเซลล์รวมทั้งเอนไซม์และโปรตีนอื่น ๆ แต่ไม่มีสารพันธุกรรมใด ๆ ที่จะทำให้ไมโครบอดีสามารถจำลองตัวเองได้[4]
การทำงาน
[แก้]ไมโครบอดีบรรจุเอนไซม์ที่เข้าทำปฏิกิริยาในขั้นเตรียมพร้อม (preparatory stage) หรือขั้นกลาง (intermediate stage) ของปฏิกิริยาทางชีวเคมีภายในเซลล์ ซึ่งช่วยในการสลายไขมัน แอลกอฮอล์ และกรดอะมิโน โดยทั่วไปไมโครบอดีมีส่วนเกี่ยวข้องกับการหายใจแสงในพืชและการกำจัดความเป็นพิษของสารเปอร์ออกไซด์ ไมโครบอดีประเภทต่าง ๆ เช่น:
เพอรอกซิโซม
[แก้]เพอรอกซิโซม เป็นไมโครบอดีชนิดหนึ่งที่ทำหน้าที่ช่วยให้ร่างกายสลายโมเลกุลขนาดใหญ่และกำจัดสารพิษที่เป็นอันตราย ประกอบด้วยเอนไซม์เช่นออกซิเดส ซึ่งทำปฏิกิริยาแล้วได้ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์อันเป็นผลพลอยได้จากปฏิกิริยาของเอนไซม์ ภายในเพอรอกซิโซม ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์สามารถเปลี่ยนเป็นน้ำได้ด้วยเอนไซม์เช่น คาตาเลส และ เปอร์ออกซิเดส
ไกลออกซิโซม
[แก้]ไกลออกซิโซมเป็นเพอรอกซิโซมที่ถูกพัฒนาขึ้นมาเป็นพิเศษในพืชและรา ทำหน้าที่เปลี่ยนไขมันที่เก็บไว้เป็นคาร์โบไฮเดรตสำหรับใช้ในการเจริญเติบโต ในไกลออกซิโซม กรดไขมันจะถูกไฮโดรไลซ์เป็น acetyl-CoA โดยเอนไซม์ peroxisomal β-oxidation นอกเหนือจากมีการทำงานคล้ายเพอรอกซิโซมแล้ว ไกลออกซิโซมยังบรรจุเอนไซม์สำคัญของวัฏจักรไกลออกซีเลตอีกด้วย[3]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ de Duve C and Baudhuin P (1966). "Peroxisomes (Microbodies and Related Particles)" (PDF). Physiological Reviews. 46: 303.[ลิงก์เสีย]
- ↑ de Duve C (1969). "The peroxisome: a new cytoplasmic organelle". Proc. R. Soc. Lond. B Biol. Sci. 173 (30): 71–83. doi:10.1098/rspb.1969.0039. PMID 4389648.
- ↑ 3.0 3.1 R. William Breidenbach, Albert Kahn, and Harry Beevers (1968). "Characterization of Glyoxysomes From Castor Bean Endosperm". Plant physiology. 43: 705.
{{cite journal}}
: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์) - ↑ "Microbodies." Molecular Biology of Plant Cells. Ed. H. Smith. N.p.: University of California, 1978. 136-54. Print.