การเผาศพ
การเผาศพ หรือ ฌาปนกิจ หรือ การฌาปนกิจศพ คือ การแปรสภาพร่างกายของผู้วายชนม์ด้วยเพลิง เพื่อให้ร่างกายซึ่งเน่าเสียง่ายแปรเป็นเศษอัฐิซึ่งเก็บรักษาไว้ได้นาน อาจทำหลังจากพิธีบำเพ็ญกุศลศพเสร็จสิ้นแล้ว หรืออาจทำก่อนพิธีบำเพ็ญกุศลศพก็กระทำได้ การเผาศพในอดีตนิยมทำในประเทศอินเดีย เนปาล เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และภูมิภาคซึ่งรับวัฒนธรรมอินเดีย แต่ในปัจจุบันนิยมทำกันทั่วโลก การเผาศพเป็นเรื่องต้องห้ามในบางลัทธิศาสนา เช่น ศาสนาอิสลาม ศาสนาโซโรอัสเตอร์[1]
การเผาศพในประเทศไทย อาจแบ่งออกเป็นการเผาในเมรุเปิด กล่าวคือ ใช้ฟืนก่อเป็นแท่นแล้ววางศพด้านบนสุด อีกแบบคือก่อแท่นหรือรางสำหรับวางฟืนแล้ววางศพทับอีกที เมื่อจุดเพลิง เพลิงก็จะลุกไหม้เผาร่างกายของผู้วายชนม์ไปจนหมดพร้อมกับเชื้อเพลิง แล้วกลายเป็นเถ้าถ่านยุบตัวลง หากศพบรรจุในโกศซึ่งทำด้วยโลหะ ก็ใช้วิธีก่อจิตกาธานทำด้วยไม้หรือปูน ด้านบนบรรจุดินเพื่อวางฟืน เหนือฟืนก็จะเป็นตะแกรงสำหรับวางโกศ เมื่อจะเผาก็จะเปิดฝาแล้วสุมเพลิงเข้าไปในโกศจนกระทั่งศพและอัฐิในโกศแตกเป็นชิ้นเล็ก ต่อมาเมื่อบ้านเมืองเจริญขึ้น ได้มีการสร้างเมรุปิด ประกอบด้วยห้องเผาทำด้วยอิฐทนไฟ มีกระบะบรรจุถ่านหรือฟืนติดไว้กับราง ด้านล่างติดล้อให้เข็นเข้าเข็นออกได้ ด้านล่างของรางเมื่อเข็นรางเข้าไปจะเป็นช่องเจาะสำหรับให้เถ้าถ่านตกลงไปยังที่รองรับซึ่งวางไว้ในห้องเบื้องล่าง และต่อมาก็ได้มีการพัฒนาเตาเผาศพซึ่งใช้น้ำมันดีเซลหรือแก๊สธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง โดยมีหัวเผาทำหน้าที่พ่นเพลิงเผาร่างผู้วายชนม์ หัวเผารองสำหรับเผาควันซ้ำ และมีพัดลมสำหรับอัดอากาศเลี้ยงเพลิง เมื่อเผาไปได้ระยะหนึงพนักงานจัดการศพก็จะกวาดอัฐิลงในภาชนะรองรับ หรืออาจจัดการดับกองฟอนตามวิธีปฏิบัติตามสำนักของตน
ในภาษาไทย การเผาศพนั้นเรียกได้หลายคำ อาทิ บุคคลสามัญชนเมื่อวายชนม์ลงแล้ว ใช้ ฌาปนกิจศพ บ้างก็ใช้ ประชุมเพลิงศพ หรือหากได้รับพระราชทานเกียรติยศก็จะใช้ พระราชทานเพลิงศพ พระบรมวงศานุวงศ์เมื่อสิ้นพระชนม์ก็จะได้รับ พระราชทานเพลิงพระศพ ส่วนพระมหากษัตริย์ สมเด็จพระบรมราชินี สมเด็จพระบรมราชชนนี เมื่อเสด็จสวรรคตได้ระยะเวลาหนึ่งก็จะปลูกพระเมรุมาศเพื่อถวายพระเพลิงพระบรมศพ ในงานศพของพระภิกษุสงฆ์ มักใช้ ถวายเพลิงศพ เพื่อแสดงอาการคารวะต่อผู้วายชนม์
กระบวนการเผาศพแบบสมัยใหม่
[แก้]การเผาศพแบบสมัยใหม่ กระทำในเตาเผาซึ่งก่อจากอิฐทนไฟ คือ อิฐที่ไม่ขยายตัวมากเมื่อได้รับความร้อน และให้มีความร้อนสูงพอสมควรเพื่อทำให้ศพสลายตัวได้ดีในขณะที่ยังคงเศษอัฐิไว้พอสมควร[2] ภายในห้องเผาจะมีหัวเผาซึ่งใช้น้ำมันดีเซล[3] แก๊สธรรมชาติ หรือแก๊สถ่านหิน[4] เตาเผาบางรุ่นมักจะมีประตูกระจกทนไฟสำหรับให้พนักงานจัดการศพสังเกตว่าการเผาเรียบร้อยแล้วหรือไม่ นอกจากนี้ก็มักจะมีช่องเจาะสำหรับขยับร่างกายของผู้วายชนม์ให้ต้องเพลิงเป็นคราว ๆ ได้ การเผาศพนั้นมักจะใช้เวลาแตกต่างกันแล้วแต่ขนาดของร่างกาย โดยมากมักจะใช้เวลา 1 ชั่วโมงครึ่งถึง 2 ชั่วโมง[5] เตาเผาสมัยใหม่มีข้อเสียคือ ไม่ทนทาน หากเผาศพไปได้สักระยะหรือเผาศพจำนวนมาก ๆ ก็มักจะต้องซ่อมแซมเปลี่ยนอิฐที่บุภายในออกหรืออาจต้องเปลี่ยนเตาเผาใหม่[6]
ในต่างประเทศ เช่น สหราชอาณาจักร ศพที่จะเผาจะต้องบรรจุในหีบทำด้วยไม้ กระดาษ หรือวัสดุอื่นซึ่งไหม้ไฟได้เพื่อให้เข็นเข้าสู่เตาเผาได้สะดวก[7] อีกทั้งเพื่อลดโอกาสในการรับสารคัดหลั่ง อาทิ เลือด น้ำเหลือง หนอง น้ำลาย ซึ่งจะเป็นอันตรายแก่พนักงานจัดการศพ[5] บางครั้ง เจ้าหน้าที่ฌาปนสถานอาจอนุญาตให้ญาติผู้วายชนม์สังเกตการนำศพเข้าสู่ห้องเผา ซึ่งถือได้ว่าเป็นข้อบังคับในบางลัทธิศาสนา อาทิ ศาสนาฮินดู ศาสนาเชน[8] ตามกฎข้อบังคับการเผาศพของสหราชอาณาจักรยังระบุด้วยว่า เมื่อเคลื่อนศพมาถึงเมรุแล้วห้ามมิให้เปิดหีบศพ ให้เชิญหีบศพเข้าสู่ห้องเผาทันที[9] นอกจากนี้เมื่อสวดศพได้แล้ว 72 ชั่วโมงต้องทำการเผา และด้วยเหตุที่ห้ามมิให้เปิดหีบศพนี้เอง ก็ทำให้จำเป็นต้องนำโลหะต่าง ๆ ออกจากศพ เช่น เครื่องประดับ[10] ครั้นเผาศพเสร็จสิ้นแล้ว พนักงานจัดการศพมักนำอัฐิ (เศษกระดูก) และอังคาร (เถ้ากระดูกและเถ้าอื่น ๆ) ไปเข้าเครื่องบด[11] ก่อนที่จะนำอัฐิที่บดแล้วมอบคืนแก่ญาติเพื่อจัดการฝัง หรือโปรยต่อไป[12]
พิธีเผาศพในประเทศไทย
[แก้]การเคลื่อนศพและการเผาหลอก
[แก้]เมื่อวาระสุดท้ายของพิธีศพมาถึง ศพจะถูกเชิญจากสถานที่ตั้ง ซึ่งอาจจะเป็นบ้านหรือศาลาวัดไปยังเมรุ บางท้องที่อาจกำหนดให้เชิญศพเวียนเมรุในลักษณะอุตราวัฏ 3 รอบ บางท้องที่ไม่เวียน บางท้องถิ่นจะให้ทางเจ้าภาพวนรอบศพผู้ตายในลักษณะอุตราวัฏ 3 รอบก่อนเคลื่อนศพ (ส่วนมากภาคเหนือจะพึงยึดปฏิบัติเพื่อขอขมาศพผู้ตาย โดยจะมีศพขึ้นบนปราสาทหรือวอ) จากนั้นจึงนำศพขึ้นตั้งบนเมรุ หากเป็นศพที่ได้รับพระราชทานโกศ (อาทิ ผู้ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสูงสุดและชั้นที่หนึ่งของแต่ละตระกูล บุคคลผู้มีตำแหน่งสำคัญ) จะเชิญหีบขึ้นไปพักไว้ในห้องเผารอการพระราชทานเพลิงศพจริง ส่วนโกศจะเชิญขึ้นไปวางที่จิตกาธานซึ่งเตรียมไว้ด้านหน้า จากนี้ก็จะเป็นพิธีการศพตามแต่ที่บัญญัติรูปแบบไว้ตามประเพณีของท้องถิ่นหรือตามความประสงค์ของผู้วายชนม์ โดยมากมักจะเป็นการสวดพระพุทธมนต์และทอดผ้าบังสุกุล เมื่อปฏิบัติพิธีการเหล่านี้เสร็จแล้ว จึงทำพิธีวางดอกไม้จันทน์ "เผาหลอก"[13] ครั้นผู้ร่วมงานวางดอกไม้จันทน์เสร็จ จึงประกอบพิธีเผาจริงต่อไป
การเผาจริง
[แก้]การเผาศพในประเทศไทย หากเป็นการเผาในเตาปิด กระบวนการจะคล้ายกับต่างประเทศเป็นส่วนน้อย มีข้อยกเว้นหลายประการ อาทิ
- เมื่อจะเผา พนักงานจัดการศพจะเปิดหีบออก เพื่อล้างหน้าศพด้วยน้ำมะพร้าวแก้ว บางสำนักอาจปิดหีบคืนก่อนเชิญเข้าเตา แต่ส่วนมากจะไม่ปิด และนำไม้ฝาหีบไปใช้ประโยชน์อื่น
- การเผาศพมักใช้อุณหภูมิไม่สูงมาก เพื่อรักษาสภาพอัฐิให้ไม่เสียหายจนเกินไป ต่างจากการเผาศพในต่างประเทศที่มักเผาด้วยอุณหภูมิสูง
- เชื้อเพลิงที่ใช้มีหลายแบบ ทั้งถ่านหรือฟืน ถ่านผสมน้ำมัน น้ำมัน หรือแก๊ส โดยหากเป็นแบบถ่านผสมน้ำมันก็จะใช้หัวเผาทำหน้าที่ในช่วงแรก เมื่อได้ที่แล้วจึงปล่อยให้ถ่านทำหน้าที่ต่อเพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย ในขณะที่ต่างประเทศมักจะใช้น้ำมันหรือแก๊สอย่างเดียว
- เมื่อเผาศพเสร็จแล้ว อัฐิและอังคารจะถูกแยกจากกัน ไม่บด โดยอัฐิจะถูกเก็บรักษาไว้โดยญาติ หรือนำไปประกอบพิธีอย่างอื่น ส่วนอังคารและอัฐิส่วนเกินมักจะนำไปลอยอังคารยังแม่น้ำหรือทะเล หรือนำไปโปรยยังสถานที่ที่เหมาะสม
หากเป็นการเผาในเตาเปิด มักจะใช้วิธีก่อเตาขึ้นจากอิฐทนไฟ ลักษณะคล้ายกล่อง ด้านล่างเป็นหีบหรือถาดสำหรับรองรับอัฐิ ถัดขึ้นไปเป็นตะแกรงสำหรับรองรับเชื้อเพลิง บนสุดวางศพ และอาจมีเครื่องกำบังสำหรับป้องกันฝนและลมหรือไม่ก็ได้ บางครั้งอาจเป็นเตาเปิดซึ่งมีเพียงเครื่องรองรับเชื้อเพลิงเท่านั้น หรือกรณีที่ง่ายที่สุดก็จะเป็นเพียงกองฟืนธรรมดา อาจมีเครื่องตกแต่งด้วยหรือไม่ก็ได้ เช่น วอวิมานหรือปราสาท ซึ่งเครื่องตกแต่งเหล่านี้ทำหน้าที่เป็นเชื้อเพลิงด้วยเช่นกัน
การเก็บอัฐิ
[แก้]เมื่อเผาศพจนบริบูรณ์ดีแล้ว ก็จะต้องจัดเก็บอัฐิให้เรียบร้อย ในบางท้องที่โดยเฉพาะภาคกลาง พนักงานจัดการศพจะนำอัฐิมาประมวลและแปรธาตุเป็นรูปคนนอนหันหัวไปทางทิศตะวันตก จากนั้นจึงนิมนต์พระภิกษุบังสุกุลตาย โดยว่า "อนิจฺจา วต สงฺขารา อุปฺปาทวยธมฺมิโน อุปฺปชฺชิตฺวา นิรุชฺฌนฺติ เตสํ วูปสโม สุโข" แปลความได้ว่า "สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง มีความเกิดขึ้นและเสื่อมไปเป็นธรรมดา บังเกิดขึ้นแล้ว ย่อมดับไป ความเข้มไปสงบสังขารเหล่านั้นเป็นสุข"[14] เสร็จแล้วจึงหันหัวคนไปทิศตะวันออก นิมนต์พระภิกษุบังสุกุลเป็น โดยว่า "อจิรํ วตยํ กาโย ปฐวึ อธิเสสฺสติ ฉุฑฺโฑ อเปตวิญฺญาโณ นิรตฺถํว กลิงฺครํ" แปลความได้ว่า "กายนี้อันบุคคลทิ้งแล้ว ไม่มีวิญญาณแล้ว จักนอนทับแผ่นดิน ประดุจท่อนไม้หาประโยชน์มิได้"[15] เสร็จแล้ว จึงเก็บอัฐิจากส่วนต่าง ๆ ของรูปคน เช่นจากหน้าอก 2 ชิ้น จากแขน ขา ศีรษะที่ละหนึ่งชิ้น รวมเป็น 7 ชิ้น หรือตามความต้องการ บรรจุลงในโกศสำหรับเก็บไว้บูชาต่อไป ส่วนอังคารและอัฐิส่วนเกิน จะเก็บไว้ในลุ้งแยกต่างหากเพื่อนำไปโปรย ลอย หรือบรรจุ[16]
การเผาบุพโพ
[แก้]ในอดีตเมื่อครั้งยังไม่มีการฉีดยารักษาศพ ศพที่บรรจุไว้ในโกศก็จะเกิดการเน่าเปื่อยผุพัง มีบุพโพ (น้ำเหลือง) และโลหิตไหลออกมา เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว จึงมีการบุก้นโกศด้วยตะแกรงให้บุพโพและโลหิตไหลออกผ่านท่อซึ่งทำด้วยไม้ไผ่ทะลุปล้องลงไปในไห เรียกว่า ถ้ำบุพโพ เมื่อจะเผาศพ ก็จะจัดการถอนเครื่องสุกำศพ (คือ ผ้าและเชือกที่มัดศพ) รวมกับบุพโพไปประมวลลงในกระทะซึ่งมีน้ำมันและเครื่องหอม ก่อนจุดไฟเผาจนเหลือแต่เถ้า การเผาบุพโพถือเป็นพิธีภายในเนื่องจากส่งกลิ่นแรงมาก เมื่อบุพโพและเครื่องสุกำไหม้หมดแล้วจึงนำเถ้าบุพโพไปลอยพร้อมกับอังคาร ส่วนศพที่เหลือก็จะบรรจุคืนลงในโกศ เพื่อนำไปประกอบพิธีเผาจริงแยกต่างหากต่อไป การเผาบุพโพนั้นมักกระทำในบรรดาเจ้านายและผู้มีบรรดาศักดิ์บางคน โดยจะแยกบุพโพ เครื่องสุกำศพ และบรรดาสรรพสิ่งของที่เปื้อนออกจากศพบรรจุลงในภาชนะอย่างดี ตั้งกระบวนแห่ไปยังเมรุที่ทำไว้โดยเฉพาะ แล้วจัดการเผาหรือเคี่ยวจนไหม้หมด[17][18] ในสมัยหลัง เช่นการพระบรมศพสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี และการพระศพสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ได้มีการถวายพระเพลิงพระบุพโพในเตาเผา ณ พระเมรุวัดเทพศิรินทราวาส แทนการเคี่ยวในกระทะแบบเดิม สำหรับศพสามัญชนในอดีตซึ่งบรรจุหีบ มักจะนำไปฝังหรือบรรจุไว้เป็นระยะเวลาหนึ่งให้แห้ง ปราศจากบุพโพที่อาจไหลเยิ้ม ก่อนนำศพซึ่งแห้งดีแล้วไปเผาในฤดูแล้งเพื่อมิให้เป็นการเปลืองเชื้อเพลิง ในสมัยต่อมาเมื่อมีการฉีดยาหรือแช่เย็นศพ การที่จะต้องเผาบุพโพก็หมดความจำเป็นไป
การพระราชทานเพลิงศพ
[แก้]การขอพระราชทานเพลิงศพแก่ผู้มีสิทธิได้รับ แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ การพระราชทานเพลิงศพกรณีปกติ และ การพระราชทานเพลิงศพกรณีพิเศษ[19] โดยจะไม่พระราชทานเพลิงศพแก่ผู้ต้องอาญาแผ่นดินและผู้ทำลายชีพตนเอง
ในอดีต ญาติของผู้วายชนม์ที่จะขอพระราชทานเพลิงศพจะต้องไปติดต่อที่ส่วนราชการเจ้าสังกัดของผู้วายชนม์ เพื่อให้ทำหนังสือถึงเลขาธิการพระราชวัง ขอพระราชทานน้ำหลวงอาบศพ เครื่องเกียรติยศประกอบศพ และเพลิงเผาศพ กรณีที่ศพอยู่ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล เจ้าหน้าที่สำนักพระราชวังจะเชิญเพลิงหลวงในโคมเทียน ดอกไม้จันทน์ กระทงข้าวตอกดอกไม้ขมาศพไปในรถยนต์พระประเทียบเพื่อไปปฏิบัติ ณ ฌาปนสถาน เมื่อประธานในพิธีขึ้นสู่เมรุแล้ว จะหยิบกระทงข้าวตอกดอกไม้ขมาศพวางไว้ที่ข้างหีบหรือโกศศพ จากนั้นจึงหยิบดอกไม้จันทน์จุดเทียนที่เจ้าหน้าที่ชูแล้ววางใต้หีบหรือโกศศพ กรณีที่ศพอยู่ต่างจังหวัด จะให้ญาติผู้วายชนม์มารับพระราชทานกล่องเพลิงพระราชทานเพลิงศพ ซึ่งประกอบด้วยดอกไม้จันทน์ เทียนชนวน และไม้ขีดไฟ (ในอดีตใช้ศิลาหน้าเพลิง[20]) ทั้งหมดบรรจุในกล่องหุ้มด้วยแพรสีดำ เมื่อถึงวันพระราชทานเพลิงศพ จึงให้ประธานในพิธีจุดไม้ขีดไฟแล้วจุดที่เทียนชนวนซึ่งเจ้าหน้าที่ถือไว้ หากผู้วายชนม์เป็นทหารหรือตำรวจก็จะให้เป่าแตรนอนก่อน เมื่อแตรนอนจบ ประธานจึงถือดอกไม้จันทน์จุดไฟที่แล้ววางด้านล่างหีบหรือโกศศพ ขณะนี้หากมีกองเกียรติยศ ก็จะเป่าแตรเพลงคำนับ 1 จบ หรือถ้าเป็นวงโยธวาทิตก็บรรเลงเพลงมหาฤกษ์ต่อด้วยเพลงพญาโศก หากเป็นวงปี่กลองชนะก็จะบรรเลงเพลงสำหรับบท เมื่อประธานลงจากเมรุแล้วจึงอนุญาตให้ผู้ร่วมพิธีขึ้นวางดอกไม้จันทน์ได้
เนื่องจากความลำบากในการปฏิบัติพิธีการศพที่ได้รับพระราชทานในต่างจังหวัด กล่าวคือ ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลรัศมีไม่เกิน 50 กิโลเมตร จะไม่พระราชทานโกศและเครื่องประกอบเกียรติยศเว้นแต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เป็นพิเศษ เช่นเป็นบุคคลใกล้ชิดและทรงคุ้นเคย ทำให้เกิดความไม่เสมอภาค จึงทำให้นับแต่วันที่ 1 มกราคม 2562 พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราโชบายให้กระทรวงวัฒนธรรม โดยกองพิธีการศพที่ได้รับพระราชทาน ปฏิบัติพิธีพระราชทานเพลิงศพตลอดถึงพิธีอันเกี่ยวกับศพที่ได้รับพระราชทานเกียรติยศแทนสำนักพระราชวัง และจัดให้มีเครื่องเกียรติยศประกอบศพ ทั้งหีบ โกศ ฉัตรเบญจา และเครื่องประกอบอื่นไว้ประจำแต่ละจังหวัด ในปัจจุบันการขอพระราชทานเพลิงศพจึงสามารถกระทำได้ที่กลุ่มพิธีการศพที่ได้รับพระราชทาน ณ ศาลากลางจังหวัดของทุกจังหวัด หรือที่กระทรวงวัฒนธรรมส่วนหน้าในพระบรมมหาราชวัง โดยเจ้าหน้าที่จะตรวจสอบหลักฐาน เพื่อขออนุมัติหมายรับสั่ง ในระยะหลัง เจ้าหน้าที่กลุ่มพิธีการศพที่ได้รับพระราชทานอาจใช้วิธีจุดเพลิงพระราชทานไว้ในโคมไว้พร้อม แล้วเดินทางไปยังฌาปนสถานเพื่อปฏิบัติพิธีการตามที่กำหนด ครั้นเสร็จพิธี เจ้าหน้าที่จะมอบกล่องเพลิงพระราชทานให้แก่ญาติผู้วายชนม์ให้เก็บไว้เป็นที่ระลึก[21]
อนึ่ง กรณีผู้วายชนม์เป็นพระมหากษัตริย์ สมเด็จพระบรมราชินี สมเด็จพระบรมราชชนนี และรัชทายาท การเคารพของทหารกองเกียรติยศเมื่อจุดเพลิงจะใช้เพลงคำนับ 3 จบ หรือเพลงสรรเสริญพระบารมี และกรณีที่ผู้วายชนม์เป็นพระบรมวงศ์ จะใช้เพลงคำนับ 2 จบ หรือเพลงมหาชัย[22]
เมื่อเสร็จพิธีการพระราชทานเพลิงศพ (เผาหลอก) แล้ว จึงประกอบพิธีพระราชทานเพลิงศพจริง โดยปฏิบัติเช่นเดียวกับศพทั่วไปแต่จุดด้วยเพลิงหลวงที่จัดเตรียมไว้เมื่อครั้งเผาหลอก เมื่อศพไหม้บริบูรณ์ดีแล้ว จึงประกอบพิธีเก็บอัฐิตามประเพณีนิยมหรือราชประเพณีต่อไป
สำหรับลัทธิศาสนาที่ไม่เผาศพนั้น จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานดินฝังศพ ซึ่งทำด้วยดินสอพองปั้นเป็นก้อนกลม ตากแห้ง แล้วห่อด้วยผ้าขาว มีทั้งหมด 10 คู่ แต่ละคู่จะห่อด้วยผ้าสีขาวหนึ่งลูกและผ้าสีดำหนึ่งลูก ดินพระราชทานนั้นใช้สำหรับวางบนหีบศพก่อนการฝัง (เช่นศพชาวจีนหรือชาวคริสต์) หรือวางบนหลุมศพหลังการฝัง (เช่นศพชาวมุสลิม)
ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
[แก้]การเผาศพก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าการจัดการศพประเภทอื่น โดยเป็นแหล่งของการปล่อยคาร์บอนตลอดจนมลสารนานาชนิดสู่บรรยากาศ แต่มีข้อดีกว่าการฝังศพโดยเฉพาะการฝังศพทั้งหีบหรือการฝังศพแบบมีกล่องคอนกรีตล้อม เพราะใช้พื้นที่น้อยกว่ามาก ในสหรัฐ การฝังศพมักจะต้องมีการขุดหลุม กรุหลุมด้วยคอนกรีต แล้วจึงนำศพลงไปในลักษณะบรรจุ ส่วนในญี่ปุ่น หลุมฝังศพปกติมีราคาสูงมากจนบุคคลทั่วไปไม่สามารถหาเช่าได้[23][24] ในกรุงลอนดอน เคยมีการเสนอให้มีการขุดศพเก่าออกแล้วฝังศพใหม่ซ้อนกันหลายชั้นคล้ายกับรถโดยสาร[25] ในบางประเทศเช่นเยอรมนี เมื่อศพถูกฝังไว้จนหมดสัญญาเช่าหลุมฝังศพแล้ว อัฐิจะถูกขึ้นมาจารึกรายละเอียดไว้ที่กะโหลกศีรษะ ก่อนนำไปบรรจุรวมกันในห้องใต้ดิน ในประเทศไทย การฝังศพบุคคลอนาถา หรือบุคคลที่ไม่มีญาติมาขอรับจะฝังไว้ระยะหนึ่งพอให้ศพสำรอกมังสาออก แล้วจึงนำอัฐิที่เหลือไปเผาจนละเอียดก่อนจัดเก็บ พร้อมกับบำเพ็ญกุศลด้วย[26]
การเผาศพหนึ่งศพใช้น้ำมันประมาณ 110 ลิตร และผลิตคาร์บอนไดออกไซด์ประมาณ 240 กิโลกรัมขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ ในสหรัฐ มีการเผาศพปีละประมาณ 1 ล้านศพ คิดเป็นปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ประมาณ 240,000 ตัน ซึ่งมีประมาณพอ ๆ กับบ้านจำนวน 22,000 หลัง[27]
เพื่อเป็นการลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะในประเทศเขตหนาว การเผาศพมักอุ่นเตาให้ร้อนตลอดเวลาทำการเพื่อจะได้ไม่ต้องเสียเวลาในการจุดเตาให้ร้อนซ้ำแล้วซ้ำอีก อันเป็นการเปลืองเชื้อเพลิง และมักจะมีข้อกำหนดว่าหากศพมาถึงยังฌาปนสถานก็ให้จัดการเผาเสียทีเดียวในวันนั้น นอกจากนี้ ฌาปนสถานหลายแห่งใช้หีบรองในซึ่งทำด้วยกระดาษทับหีบชั้นนอก เมื่อจะเผาก็จะเชิญหีบรองในพร้อมกับศพออก[28][29]
การย่อยศพ หรือการเผาเขียว (green cremation) เป็นวิธีการ "เผาศพ" โดยการนำร่างกายของผู้วายชนม์ไปต้มในสารละลายด่างจนกระทั่งมังสาและอวัยวะทั้งหมดย่อยละลายไป เหลือแต่อัฐิ วิธีนี้เป็นการแปรสภาพศพที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากที่สุดในขณะนี้[30][31]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "Vanishing Vultures A Grave Matter For India's Parsis". NPR. สืบค้นเมื่อ 23 March 2022.
- ↑ "How is a Body Cremated? – Cremation Resource".
- ↑ "Project Profile of re-provisioning of Diamond Hill Crematorium" (PDF). Environmental Protection Department, Hong Kong. สืบค้นเมื่อ 5 April 2011.
- ↑ "Proposed replacement of cremators at Fu Shan Crematorium, Shatin". Environmental Protection Department, Hong Kong. สืบค้นเมื่อ 5 April 2011.
- ↑ 5.0 5.1 "This is exactly what happens to your body when it is cremated and how long it takes to burn". Cambridge News. 12 September 2018. สืบค้นเมื่อ 4 January 2020.
- ↑ Schacht, Charles A. (2004), Refractories Handbook, Marcel Dekker
- ↑ "cremation process in the uk". 3 August 2018. สืบค้นเมื่อ 3 August 2018.
- ↑ Carlson, Lisa (1997). Caring for the Dead. Upper Access, Inc. p. 78. ISBN 0-942679-21-0.
- ↑ "Code of Cremation Practice". สืบค้นเมื่อ 3 August 2018.
- ↑ "Melting down hips and knees: The afterlife of implants". BBC News. 21 February 2012. สืบค้นเมื่อ 21 February 2012.
- ↑ "cremulator". 3 August 2018. สืบค้นเมื่อ 3 August 2018.
- ↑ "Choosing a final resting place – West Herts Crematorium". Westhertscrem.org. สืบค้นเมื่อ 3 October 2017.
- ↑ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์. สาส์นสมเด็จ. 16 มกราคม 2483 (ตาม พ.ร.บ. ปีปฏิทิน)
- ↑ พระไตรปิฏกฉบับหลวง. มหาปรินิพพานสูตร. ทีฆนิกาย มหาวรรค เล่ม 2 ข้อ 147
- ↑ พระไตรปิฏกฉบับหลวง. ขุททกนิกาย ธรรมบท ตอนที่สาม จิตตวรรค. เล่ม 25 ข้อ 13.41
- ↑ กองการฝึก กองเรือยุทธการ. การจัดงานศพ. จาก ลอยอังคาร.com
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา. พระราชทานพระบุพโพสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร. 20 มกราคม 2444.
- ↑ นนทพร อยู่มั่งมี. ธรรมเนียมพระบรมศพและพระศพเจ้านาย. กรุงเทพฯ : มติชน, 2559
- ↑ ศาลยุติธรรม, หลักเกณฑ์การขอพระราชทานเพลิงศพ[ลิงก์เสีย]
- ↑ กระทรวงวัฒนธรรม. คำศัพท์ที่เกี่ยวเนื่องกับงานพระราชพิธีพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร[ลิงก์เสีย].
- ↑ กองพิธีการศพที่ได้รับพระราชทาน สำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรม. การขอพระราชทานเกี่ยวกับพิธีการศพ[ลิงก์เสีย]. 2564.
- ↑ ข้อบังคับทหารว่าด้วยการเคารพ
- ↑ Shimizu, Louise Picon; Maruyama, Meredith Enman; Tsurumaki, Nancy Smith (1998). Japan Health Handbook. Kodansha International. p. 335. ISBN 4-7700-2356-1.
Not only is cremation of the body and internment [ตามต้นฉบับ] of the ashes in an urn a long-standing Buddhist practice, it is also a highly practical idea today, given the scarcity of burial space in crowded modern Japan.
- ↑ Furse, Raymond (2002). Japan: An Invitation. Tuttle Publishing. p. 73. ISBN 0-8048-3319-2.
[L]and prices so high that a burial plot in Tokyo a mere 21 feet square could easily cost $150,000.
- ↑ Land, John (30 May 2006). "Double burials in UK cemeteries to solve space shortage". 24dash.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 26 September 2007. สืบค้นเมื่อ 13 July 2007.
- ↑ "ความเชื่อและศรัทธา! "พิธีล้างป่าช้า" งานมหากุศล แหล่งรวมจิตอาสา-ผู้ใจบุญ ร่วมส่งดวงวิญญาณศพไร้ญาติ". ผู้จัดการออนไลน์. 18 พ.ย. 2564. สืบค้นเมื่อ 23 March 2022.
- ↑ Herzog, Katie (29 May 2016). "A different way to die: the story of a natural burial". สืบค้นเมื่อ 29 May 2016.
- ↑ Spongberg, Alison L.; Becks, Paul M. (January 2000). "Inorganic Soil Contamination from Cemetery Leachate". Water, Air, & Soil Pollution. 117 (1–4): 313–327. Bibcode:2000WASP..117..313S. doi:10.1023/A:1005186919370. S2CID 93957180.
- ↑ "Funeral Industry Case Study" (PDF). carbonneutral.com.au. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 25 February 2014.
- ↑ Keijzer, Elisabeth (May 2017). "The environmental impact of activities after life: life cycle assessment of funerals" (PDF). International Journal of Life Cycle Assessment. 22 (5): 715–730. doi:10.1007/s11367-016-1183-9. S2CID 113516933. สืบค้นเมื่อ 10 July 2021.
- ↑ "Dissolving the dead: Alkaline hydrolysis, a new alternative to". BBC News. 22 May 2017. สืบค้นเมื่อ 4 January 2020.