ข้ามไปเนื้อหา

โรงเรียนอัสสัมชัญนครราชสีมา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
โรงเรียนอัสสัมชัญนครราชสีมา
Assumption College Nakhonratchasima
ข้อมูล
ชื่ออื่นอสช (ACN)
ประเภทโรงเรียนเอกชน
สถาปนา17 พฤษภาคม 2510
(ข้อผิดพลาด: แม่แบบ:อายุปีและวัน รองรับเฉพาะปีพุทธศักราช หากใช้เป็นคริสต์ศักราช กรุณาใช้ แม่แบบ:Age in years and days)
สีแดง และ ขาว
คำขวัญLABOR OMNIA VINCIT
ความวิริยะอุตสาหะ นำมาซึ่งความสำเร็จ
เพลงสดุดีอัสสัมชัญ
เว็บไซต์http://www.acn.ac.th/
ภาพเมืองโคราชมุมสูง มองจากโรงเรียนอัสสัมชัญนครราชสีมา

โรงเรียนอัสสัมชัญนครราชสีมา (อังกฤษ: Assumption College Nakhonratchasima) (อักษรย่อ: อสช., ACN) เป็นโรงเรียนขนาดใหญ่ของจังหวัดนครราชสีมา ก่อตั้งโดยโดยมูลนิธิคณะภราดาเซนต์คาเบรียลแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม ค.ศ. 1967 (พ.ศ. 2510) เป็นโรงเรียนลำดับที่ 12 ของมูลนิธิคณะภราดาเซนต์คาเบรียลแห่งประเทศไทย

โรงเรียนอัสสัมชัญนครราชสีมา ตั้งอยู่ที่เลขที่ 3 ถนนมิตรภาพ ตำบลในเมือง อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา

ประวัติ

[แก้]

โรงเรียนอัสสัมชัญนครราชสีมา เป็นโรงเรียนในเครือมูลนิธิคณะภราดาเซนต์คาเบรียลแห่งประเทศไทย สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาเอกชน กระทรวงศึกษาธิการ ได้กำเนิดและดำเนินการสอนสืบเนื่องมา โดยนักบุญหลุยส์ มารี กรีญอง เดอ มงฟอร์ต ได้สถาปนาขึ้น ในปี ค.ศ. 1705 (พ.ศ. 2248) ณ ประเทศฝรั่งเศส มีจุดมุ่งหมายแรกเริ่มที่จะสอนให้เยาวชนอ่านออก เขียนได้ คิดเลขเป็น และมีหลักศาสนาเป็นแนวทางให้ประพฤติตนเป็นคนดี เปิดทำการสอนตั้งแต่ชั้นก่อนประถมศึกษา (อนุบาล) ถึง มัธยมศึกษาตอนปลาย โรงเรียนมุ่งมั่นพัฒนาเยาวชนไทยให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของนักบุญหลุยส์มารี กรีญอง เดอ มงฟอร์ต

ในปี พ.ศ. 2509 คณะภราดาเซนต์คาเบรียลแห่งประเทศไทย ได้รับเชิญจากมุขนายก อาแลง วังกาแวร์ แห่งสังฆมณฑลจังหวัดนครราชสีมา ให้มาเปิดโรงเรียนสายสามัญขึ้นในจังหวัดนครราชสีมา โดยยกที่ดินให้ดำเนินการ 51 ไร่ 26.5 ตารางวา ณ บ้านเลขที่ 3 ถนนเซนต์เมรี่ ตำบลในเมือง อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา

โรงเรียนอัสสัมชัญนครราชสีมา ได้รับอนุญาตจากกระทรวงศึกษาธิการให้เปิดการสอนได้เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2510 ในสมัย ภราดาอำนวย ปิ่นรัตน์ ดำรงตำแหน่งอธิการเจ้าคณะแขวงประเทศไทย ซึ่งท่านได้แต่งตั้งให้ ภราดาซีเมออน เปอร์ติโต เป็นอธิการคนแรกในปีดังกล่าวโรงเรียนเริ่มเปิดสอน 8 ห้องเรียน มีครู 13 คน และนักเรียน 330 คน

ปีการศึกษา 2512 ภราดาอารมณ์ วรศิลป์ ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นอธิการคนต่อมา โรงเรียนได้ขยายชั้นเรียนมาเป็น 21 ห้องเรียน มีครู 25 คน และนักเรียน 684 คน ในสมัยของภราดาอารมณ์ วรศิลป์ ได้มีการก่อสร้างโรงอาหารเสร็จสมบูรณ์ และเริ่มก่อสร้างอาคารเรียนที่ 2

ในปีการศึกษา 2515 ในสมัยของท่านอธิการ ภราดาเลอชัย ลวสุต ได้ขยายชั้นเรียนเป็น 28 ห้อง มีครู 40 คน และนักเรียน 1,092 คน ได้สร้างอาคารเรียนที่ 2 (อาคารคาเบรียล) จนเสร็จสมบูรณ์

ตั้งแต่ปีการศึกษา 2524 เป็นต้นมาโรงเรียนได้เจริญก้าวหน้าขึ้นในทุก ๆ ด้าน โดยได้รับรองวิทยฐานะในปี 2525 ได้ขยายนักเรียนครบทุกระดับชั้นตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงมัธยมศึกษาปีที่ 6 และเริ่มรับสมัครนักเรียนหญิง ในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายในปี 2526 มีนักเรียนประมาณ 2,000 คน ครู 94 คน และนักเรียน 47 ห้อง

ในปีการศึกษา 2526 ในสมัยของอธิการ ภราดาสุรสิทธิ์ สุขชัย ได้มีการก่อสร้างอาคารสัพพัญญูเพื่อให้มีห้องเสริมหลักสูตร และห้องกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อจะได้จัดการศึกษาให้สอดคล้องกับหลักสูตรใหม่ในสมัยนั้น งบประมาณของอาคารสัพพัญญูนั้น ได้รับความอนุเคราะห์จากมูลนิธิเซนต์คาเบรียลแห่งประเทศไทย นักเรียนและผู้ปกครองตลอดทั้งผู้มีจิตศรัทธาทั่วไป

ปีการศึกษา 2547-2549 ภราดา ดร.พีระนันท์ นัมคณิสรณ์ รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียน มีคณะภราดาร่วมบริหาร 2 ท่าน คือ ภราดาอนุชา การุณย์ภรต และภราดาทินกร บุญสว่าง จัดการศึกษาโดยเน้นที่การเสริมสร้างศักยภาพของผู้เรียนในทุกด้านด้วยวิธีการสอนที่มีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพสังคมการเมืองและเศรษฐกิจในบรรยากาศที่เอื้อต่อการจัดการศึกษา ด้านการบริหารเน้นให้ครูมีส่วนร่วมและปฏิบัติหน้าที่ที่สอดคล้องกับจริยธรรม ส่งเสริมให้นักเรียนรับผิดชอบต่อตนเอง และทำประโยชน์เพื่อสังคม รู้จัก แสวงหา พัฒนาความรู้ด้วยตนเอง ตั้งอยู่ในกรอบแห่งวินัยในตนเอง ให้มีความวิริยะ อุตสาหะในการทำงาน

ปีการศึกษา 2550-2555 ภราดา ดร.วีรยุทธ บุญพราหมณ์ เป็นผู้ลงนามแทนผู้รับใบอนุญาต ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการและหัวหน้าฝ่ายธุรการ-การเงิน มีคณะผู้ร่วมบริหาร 3 ท่าน คือ ภราดาวิหาร ศรีหาพล ดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการและหัวหน้าฝ่ายนักเรียนประจำ ภราดาชานุวัฒน์ บุระพันธ์ ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาและหัวหน้าแผนกปฐมวัย ภราดาอนุชา การุณย์ภรต ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษา ปัจจุบันมีครูไทย 269 คน ครูต่างชาติ 32 คน พนักงาน (นักการ-ภารโรง) 93 คน และนักเรียน 3,149 คน นอกจากนี้ โรงเรียนยังรับนักเรียนประจำชาย-หญิง ซึ่งปัจจุบันมีจำนวน 260 คน นักกีฬาช้างเผือกกรีฑาและบาสเกตบอล 46 คน มีอาคารเรียน 8 หลัง อาคารประกอบการเรียนการสอน 8 หลัง อาคารที่พักอาศัย 2 หลัง และอาคารหอพักนักเรียนประจำ 2 หลัง

ปีการศึกษา 2556-2560 ภราดา ดร.มณฑล ประทุมราช ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้ลงนามแทนผู้รับใบอนุญาตและดำรงตำแหน่งอธิการ/ผู้อำนวยการ และผู้จัดการ พร้อมด้วย ภราดาศิริชัย ผังรักษ์ ดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการในปี พ.ศ. 2556-2557 และภราดาอนุชา การุณย์ภรต ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาผู้อำนวยการ ภราดาจำรัส แก้วอำคา ดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการ (พ.ศ. 2557-2558) ภราดา สยาม แก้วประสิทธิ์ ดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการในปี พ.ศ. 2559 และภราดา คมสันต์ หมูนคำ ดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการในปี พ.ศ. 2560 มุ่งเน้นพัฒนาให้ผู้เรียนรู้จักช่วยเหลือตนเอง ปลูกฝังคุณธรรม และความเป็นเลิศทางวิชาการ เน้นการสอนคนมากกว่าสอนหนังสือ โดยให้รู้จักคิดอย่างสร้างสรรค์และสามารเอาตัวรอดได้ในสังคมได้ดี นอกจากนี้ยังได้ปรับปรุงโครงสร้างการบริหารโรงเรียนให้สอดคล้องกับนโยบายของโรงเรียนจัดทำคู่มือบทพรรณนางานของครู เพื่อใช้ในการปฏิบัติงาน ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับการปรับปรุงอาคาร ทาสีและตกแต่งอาคารด้วยพันธุ์ไม้นานาชนิด จัดทำรั้วโรงเรียนอย่างเพิ่มเติมอีก 21 ช่อง จัดซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์ สำหรับการเรียนการสอนของนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย จำนวน 130 เครื่อง จัดสร้างหลังคาสระว่ายน้ำปฐมวัย เพื่อกันแดด - ฝนให้กับผู้ที่มาใช้บริการ จัดสวน และทำที่นั่งใต้ต้นไม้สำหรับนักเรียนและผู้ปกครอง มุ่งเน้นเรื่องระเบียบ ความมีวินัย และความสะอาด โรงเรียนอัสสัมชัญนครราชสีมา มีครูไทย จำนวน 198 คน ครูต่างชาติ จำนวน 35 คน พนักงาน (นักการ-ภารโรง) 97 คน และนักเรียน 3,225 คน มีอาคารเรียน 6 หลัง อาคารประกอบ 8 หลัง อาคารพักอาศัย 2 หลัง อาคารที่พักนักเรียนประจำ 2 หลัง มีห้องเรียน 84 ห้อง ห้องปฏิบัติการ 42 ห้อง

ปีการศึกษา 2561-2564 ภราดา ดร.สอาด วงศาเจริญภักดี ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้ลงนามแทนผู้รับใบอนุญาตและดำรงตำแหน่งอธิการ/ผู้อำนวยการ และผู้จัดการ พร้อมด้วย ภราดา ชาญณรงค์ บุญพรามหณ์ ดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการ และภราดาอนุชา การุณย์ภรต ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาผู้อำนวยการ ด้านวิชาการ มีนักเรียนไปแลกเปลี่ยนในต่างประเทศมากขึ้น รวมถึงมีการรับนักเรียนแลกเปลี่ยนเข้ามาเป็นปีการศึกษาแรก

ปีการศึกษา 2565-2566 ภราดา ดร.วิทยา เทพกอม ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้ลงนามแทนผู้รับใบอนุญาตและดำรงตำแหน่งอธิการ/ผู้อำนวยการ พร้อมด้วย ราดาพัชรปกรณ์ ลังบุบผา ดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการ/ผู้จัดการ/หัวหน้างานทรัพยากรมนุษย์ ภราดาคมสันต์ หมูนคำ ดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการ/ที่ปรึกษาฝ่ายกิจการนักเรียนและภราดาอนุชา การุณย์ภรต ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาผู้อำนวยการ

ปีการศึกษา 2567 ภราดา ดร.วิทยา เทพกอม ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้ลงนามแทนผู้รับใบอนุญาตและดำรงตำแหน่งอธิการ/ผู้อำนวยการ/ผู้จัดการ พร้อมด้วย ภราดาศิริชัย ผังรักษ์ ดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการ ภราดาธีระชัย เจริญสำราญ ดำรงตำแหน่ง ผู้ช่วยผู้อำนวยการ และภราดาอนุชา การุณย์ภรต ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาผู้อำนวยการ

ปัจจุบัน โรงเรียนมีความเจริญก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง ด้วยความร่วมแรงร่วมใจกันจากการทำงานอย่างหนักของคณะครู และนักเรียน ทำให้โรงเรียนมีผลสัมฤทธิ์ด้านการศึกษาออกมาดี เห็นได้จากผลสัมฤทธิ์ของนักเรียน ม.6 แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของครูและนักเรียนที่ร่วมกันสร้างชื่อเสียง สร้างเกียรติยศที่ดี ๆ ให้กับสถาบันอันทรงเกียรติแห่งนี้ รวมถึงผลงานทางด้านกีฬา ที่ได้รับรางวัลทั้งระดับจังหวัด ระดับภาค และระดับประเทศ

สิ่งปลูกสร้าง

[แก้]
  1. อาคารอัสสัมชัญ (2510) เป็นอาคารสีขาว 3 ชั้น เป็นอาคารแรกสุดของโรงเรียน เป็นตึกที่จะเห็นได้เมื่อเข้าไปในบริเวณโรงเรียน เป็นที่ทำการของสำนักอธิการ, แผนกธุรการ และการเงิน, ฝ่ายประชาสัมพันธ์ และเป็นอาคารเรียนของนักเรียนระดับชั้น ม.2 และ ม.3
  2. อาคารมงฟอร์ต (2519) เป็นอาคาร 2 ชั้นสีขาว หน้าอาคารเป็นลานอนุสาวรีย์นักบุญ หลุยส์ มารี เดอ มงฟอร์ต ตึกมงฟอร์ต เป็นตึกเรียนหลักของระดับชั้น ม.1 ด้านล่างเป็นเวทีศักยภาพ เชื่อมต่อกับตึกสัพพัญญู และ ศาลารุ่น 5
  3. อาคารคาเบรียล (2515) เป็น อาคาร 3 ชั้น เป็นอาคารเรียนของระดับประถมศึกษา
  4. อาคารสัพพัญญู (2526) เป็นอาคาร 5 ชั้น ชั้นล่างเชื่อมต่อกับ อาคารมงฟอร์ต และทางชั้น 2 เชื่อมต่อกับอาคารคาเบรียล ปัจจุบันชั้นล่าง ของตึกสัพพัญญู เป็นห้องพักครู แผนกวิชาการ, ฝ่ายปกครอง และฝ่ายกิจกรรม ชั้นอื่น ๆ เป็นห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ ชั้นบนสุดเป็นห้องประชุม
  5. อาคารหิรัญญสมโภช (2534) เป็นที่ทำการของแผนกอนุบาล
  6. อาคารสมาคมศิษย์เก่า (2535) เป็นอาคารที่อยู่หน้าสุดของโรงเรียน เป็นที่ทำการของเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย
  7. ยิมเนเซียม ซีเมออน (2540) ตั้งชื่อเพื่อเป็นอนุสรณ์แด่ ภราดา ซีเมออน เปอร์ติโต้ เป็นโรงยิมขนาดใหญ่ ใช้เป็นสถานที่จัดกิจกรรมต่าง ๆ
  8. หอพักเซนต์หลุยส์ (2539) ใช้เป็นหอพักของนักเรียนประจำชาย
  9. สระว่ายน้ำอัสสัมชัญ (2544) เป็นสระว่ายน้ำขนาด 25 เมตร และชั้นล่างเป็นห้องศิลปะ ดนตรีไทย ห้องนาฎศิลป์
  10. อาคารอาแลง วังกาแวร์ (2546) เป็นอาคารเรียนและที่ทำการของ แผนก English Program ทุกระดับชั้น และแผนกประถมศึกษาบางส่วน
  11. อาคารสิรินธร(2554) เป็นอาคารศูนย์การเรียนรู้ที่ทันสมัยที่สุดในปี 2554 ประกอบไปด้วย โภชนาคาร, ฝ่ายบริการ, ห้องสมุด St.Louis Marie Memorial Library และห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์,Saint Charle Meeting Room และหอประชุม Ave Maria
  12. อาคารเรยีนา แชลี (Regina Coeli) (2555) อาคารนี้มีความสูง 6 ชั้น ประกอบไปด้วย ชั้น G เป็นลานอเนกประสงค์ ในการจัดกิจกรรมของนักเรียน ชั้น 2 เป็น Administration Office สำนักฝ่ายบริหารชั้น 3-5 เป็นห้องเรียนระดับชั้นมัธยมปลายทั้งหมด ชั้น 6 เป็นส่วนของห้องปฏิบัติการ ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา วิทย์กายภาพ และห้องคอมพิวเตอร์
  13. อาคารเซนต์อันนา อาคารหอพักนักเรียนหญิง

ตรา

[แก้]

เครื่องหมายโรงเรียนอัสสัมชัญนครราชสีมามีลักษณะ เป็นตราโล่ (Arm) สีแดงคาดสีขาวตรงกลาง มีตัวอักษร ACN สีน้ำเงินไขว้กันอยู่ตรงกลาง และปีคริสต์ศักราช 1967 สีนำเงินอยู่ใต้ตัวอักษร ซึ่งเป็นปีที่ก่อตั้งโรงเรียน

ความหมาย
ตราโล่ เครื่องป้องกันศาสตราวุธทั้งปวง
สีขาว ความบริสุทธิ์
สีแดง ความกล้าหาญในการต่อสู้อุปสรรคต่าง ๆ
ACN ย่อมาจาก Assumption College Nakhonratchasima

สีที่ปรากฏบนโล่ยังเตือนใจให้รำลึกถึงชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์

รายชื่ออธิการ

[แก้]
อันดับ รายนาม วาระดำรงตำแหน่ง (พ.ศ.)
1 ภราดาซีเมออน เปอร์ติโต 2509 - 2511
2 ภราดาแอนดรูว์ อารมณ์ วรศิลป์ 2512 - 2514
3 ภราดา ดร.เลอชัย ลวสุต 2515 - 2518
4 ภราดาอรุณ เมธเศรษฐ 2519 - 2523
5 ภราดาสุรสิทธิ์ สุขชัย 2524 - 2529
6 ภราดาวิจารณ์ แสงหาญ 2530 - 2531
7 ภราดา ดร.วินัย วิริยวิทยาวงศ์ 2532 - 2536
8 ภราดาบัญญัติ โรจนารุณ 2537 - 2539
9 ภราดา ดร.อาทิพย์ สอนสุจิตรา 2540 - 2546
10 ภราดา ดร.พีระนันท์ นัมคณิสรณ์ 2547 - 2549
11 ภราดา ดร.วีรยุทธ บุญพราหมณ์ 2550 - 2555
12 ภราดา ดร.มณฑล ประทุมราช 2556 - 2561
13 ภราดา ดร.สอาด วงศาเจริญภักดี 2561 - 2564
14 ภราดา ดร.วิทยา เทพกอม 2565 - ปัจจุบัน

ศิษย์เก่าที่มีชื่อเสียง

[แก้]

สถานที่ใกล้เคียง

[แก้]

ดูเพิ่ม

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. "สำเนาที่เก็บถาวร". เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-04-23. สืบค้นเมื่อ 2013-04-23.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]