โพธิสัตวศีล
ส่วนหนึ่งของชุดบทความ |
ศาสนาพุทธ |
---|
โพธิสัตวศีล (อังกฤษ: Bodhisattva Precepts) คือ ศีลที่ปรากฏเฉพาะในพุทธศาสนานิกายมหายาน มีจุดมุ่งหมายให้ผู้สมาทานศีลนี้ มีความสำรวมทั้งกาย วาจา ใจเพื่อการก้าวสู่สถานะพระโพธิสัตว์รื้อขนสรรพสัตว์สู่พระนิพพาน โดยปกติแล้วฝ่ายบรรพชิตฝ่ายเถรวาทจะถือพระปาติโมกข์หรือศีล 227 ข้อ หรือที่ฝ่ายมหายานเรียกในภาษาสันสกฤตว่า ปราติโมกษ์ โดยบรรพชิตฝ่ายมหายานก็ถือศีลชุดนี้เช่นกัน โดยอาศัยพระวินัยปิฎกจากพระไตรปิฎกของนิกายธรรมคุปต์ ซึ่งมีเนื้อหาตรงกับพระวินัยและ/หรือพระปาติโมกข์ของฝ่ายเถรวาท โดยบรรจุรวมอยู่ในพระไตรปิฎกภาษาจีน อย่างไรก็ตาม นอกจากปาติโมกข์แล้ว บรรพชิตฝ่ายมหายานยังถือโพธิสัตวศีลอีกด้วย เพื่อขัดเกลาตนเองและศีลให้บริสุทธิ์สมกับการดำเนินตามครรลองโพธิสัตวมรรคยิ่งขึ้น อันเป็นหลักปฏิบัติสำคัญของพุทธศาสนิกชนนิกายมหายาน
เสถียร โพธินันทะ ผู้เชี่ยวชาญด้านพุทธศาสนา และผู้แปลพระวินัยในพุทธศาสนามหายาน กล่าวถึงโพธิสัตวศีลไว้ในหนังสือ "ประมวญกำหนดสิกขาบทในอุตตรนิกาย" ไว้ว่า
"อนึ่ง ถ้าจะพิจารณาตามกำเนิดของลัทธิมหายาน จักประจักษ์ว่า เป็นด้วยวัตถุประสงค์ส่งเสริมจริยาแห่งพระบรมโพธิสัตว์เป็นสำคัญ โดยสอนให้บุคคลตั้งปณิธาน มุ่งพระพุทธภูมิ เพื่อมีโอกาสในการโปรดสรรพสัตว์ได้กว้างขวาง ฉะนั้น ลัทธิมหายานจึงมีสิกขาบทพิเศษอีกส่วนหนึ่ง ซึ่งไม่มีในลัทธิฝ่ายสาวกยานนั่นคือ “โพธิสัตว์สิกขาบท” หรือ “โพธิสัตว์ศีล” ซึ่งศีลประเภทนี้ เป็นสาธรณทั่วไป แก่บรรพชิต และฆราวาสชน มิได้จำกัดเพศ ใคร ก็ตามที่มีโพธิจิตต์ตั้งความปรารถนา จักลุพุทธภูมิไซร้ ก็ย่อมบำเพ็ญตามสิกขาบทนี้ และโพธิจริยาอื่น ๆ มีทศบารมี เป็นต้น"
โพธิสัตวศีล ของฝ่ายมหายานปรากฏในในพรหมชาลสูตร (มหายาน) ซึ่งระบุถึงศีลสำหรับพระโพธิสัตว์ อันเป็นมูลฐานของการเป็นพระพุทธเจ้า พระโพธิสัตว์ และพุทธะธาตุ หรือความเป็นพุทธะในตัวของสรรพสัตว์ แบ่งออกเป็นมหาโพธิสัตวศีล 10 (ครุกาบัติ) และจุลโพธิสัตวศีล 48 (ลหุกาบัติ) รวมเป็นโพธิสัตวศีล 58
ทั้งนี้ หากละเมิดครุกาบัติถือเป็นปาราชิก อย่างไรก็ตาม อาบัติโทษสถานหนัก 10 ข้อ แยกไว้เป็น 3 ประเภท เจตนา บังเอิญ หรือ สุดวิสัย คือ
- อุดมอาบัติ ต้องแสดงอาบัติต่อคณะสงฆ์
- มัธยมอาบัติ ต้องแสดงอาบัติต่อสงฆ์จำนวนสามรูป
- ปฐมอาบัติ ต้องแสดงอาบัติต่อสงฆ์เพียงหนึ่งรูป
ผู้ต้องชั้นอุดมอาบัติขาดจากการเป็นโพธิสัตว์ ต้องในกรณีย์หลัง ให้อยู่กรรมมานัตต์ทรมานตนจึงจะพ้นอาบัติเป็นผู้บริสุทธิ์
โพธิสัตวศีล 58
[แก้]ครุกาบัติ 10 ข้อ
[แก้]- ผู้ฆ่าชีวิตมนุษย์ให้ตายด้วยมือตนเอง ใช้ผู้อื่นกระทำหรือเป็นใจสมรู้ ตลอดจนฆ่าชีวิตสัตว์เล็กใหญ่ให้ตาย ต้องสถานโทษหนัก
- ผู้ถือเอาของผู้อื่น มีราคา 5 มาสก ตลอดจนลักเอาของไม่มีค่าที่เจ้าของไม่อนุญาตด้วยตนเองหรือใช้ผู้อื่นกระทำ ต้องสถานโทษหนัก
- ผู้เสพเมถุนนำนิมิตล่วงเข้าไปในทวารหนัก ทวารเบา หรือทางปากของผู้ชายหรือผู้หญิง ตลอดจนสัตว์เดรัจฉานตัวเมีย ต้องสถานโทษหนัก
- ผู้อุตริมนุสธรรม อวดรู้ฌานรู้มรรคผลที่ไม่มีในตน ตลอดจนพูดมุสาวาทที่ไม่ใช่ความจริง กระทำด้วยตนเองหรือใช้ผู้อื่นกระทำ ต้องสถานโทษหนัก
- ผู้ผลิตสุราเมรัยน้ำเมา ตลอดจนยาดองสุราที่ไม่ใช่รักษาโรคโดยตรง กระทำหรือผลิตเอง หรือใช้คนอื่นกระทำหรือผลิต ต้องโทษสถานหนัก
- ผู้กล่าวร้ายบริษัท 4 ใส่ร้ายอาบัติชั่ว ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ตลอดจนศึกษามานะ (สิกขมานา) สามเณรและสามเณรี โดยไม่มีมูล ด้วยตนเองหรือใช้ผู้อื่นกระทำ ต้องสถานโทษหนัก
- ผู้ยกตนข่มท่าน ติเตียนนินทาภิกษุอื่น ยกย่องตนเองเพื่อลาภด้วยตนเองหรือใช้ผู้อื่นกระทำ ต้องสถานโทษหนัก
- ผู้ตระหนี่เหนียวแน่น ไม่มีมุทิตาจิต ตลอดจนไม่เอื้อเฟื้อต่อผู้ยากจนขอทาน กลับขับไล่ไสส่ง กระทำด้วยตนเองหรือใช้ผู้อื่นกระทำ ต้องสถานโทษหนัก
- ผู้มุทะลุฉุนเฉียว ตลอดจนก่อการวิวาท ใช้มีด ใช้ไม้ ใช้มือทุบตีภิกษุอื่น กระทำด้วยตนเองหรือใช้ผู้อื่นกระทำ ต้องสถานโทษหนัก
- ผู้ประทุษร้ายต่อพระรัตนตรัย กระทำด้วยตนเองหรือใช้ผู้อื่นกระทำ ต้องสถานโทษหนัก
ลหุกาบัติ 48 ข้อ
[แก้]- ผู้ไม่เคารพผู้อาวุโส ชั้นอาจารย์ของตน
- ผู้ดื่มสุราเมรัย
- ผู้บริโภคโภชนาหารปลาและเนื้อ
- ผู้บริโภคผักมีกลิ่นฉุนแรง ให้โทษเกิดราคะ 5 ชนิด คือ 1. หอม 2. กระเทียม 3. กุยช่าย 4. หลักเกียว 5. ใบยาสูบ
- ผู้ไม่ตักเตือนผู้ต้องอาบัติให้แสดงอาบัติ
- ผู้ไม่บริภาคสังฆทานแก่ธรรมกถึก (ผู้กล่าวธรรม,นักเทศน์)
- ผู้ไม่ไปฟังการสอนธรรม
- ผู้คัดค้านพระพุทธศาสนาในมหายานนิกาย
- ผู้ไม่ช่วยเหลือคนป่วย
- ผู้เก็บอาวุธสำหรับฆ่ามนุษย์หรือสัตว์ไว้ในครอบครอง
- ผู้เป็นทูตสื่อสารในทางการเมือง
- ผู้ค้ามนุษย์ไปเป็นทาส ขายสัตว์ไปให้เขาฆ่าหรือใช้งาน
- ผู้พูดนินทาใส่ร้ายผู้อื่น
- ผู้วางเพลิงเผาป่า
- ผู้พูดบิดเบือนข้อความพระธรรมให้เสื่อมเสีย
- ผู้พูดอุบายเพื่อประโยชน์ตน
- ผู้ประพฤติข่มขี่บังคับเขาให้ทานวัตถุ
- ผู้อวดอ้างตนเป็นอาจารย์เมื่อตนยังเขลาอยู่
- ผู้พูดกลับกลอกสองลิ้น
- ผู้ไม่ช่วยสัตว์ เมื่อเห็นสัตว์นั้นตกอยู่ในภยันตราย
- ผู้ผูกพยาบาท คาดแค้น
- ผู้ทะนงตน ไม่ขวนขวายศึกษาธรรม
- ผู้เย่อหยิ่ง กระด้างก้าวร้าว
- ผู้ไม่ศึกษาพระธรรม
- ผู้ไม่ระงับการวิวาทเมื่อสามารถสงบได้
- ผู้ละโมบเห็นแก่ตัว
- ผู้น้อมลาภที่เขาถวายสงฆ์อื่นมาเพื่อตน
- ผู้น้อมลาภที่เขาจะถวายสงฆ์ไปตามชอบใจ
- ผู้ทำเสน่ห์ยาแฝดฤทธิ์เวท ให้คนคลั่งไคล้
- ผู้ชักสื่อให้ชายหญิงเป็นผัวเมียกัน
- ผู้ไม่ช่วยเหลือไถ่ค่าตัวคนให้พ้นจากเป็นทาสเมื่อสามารถ
- ผู้ซื้อขายอาวุธสำหรับฆ่ามนุษย์หรือสัตว์
- ผู้ไปดูกระบวนทัพมหรสพและฟังขับร้อง
- ผู้ไม่มีขันติ อดทนสมาทานต่อศีล
- ผู้ปราศจากกตัญญู ต่อบิดามารดา อุปัชฌายาจารย์
- ผู้ปราศจากสัจจ์ต่อคำปฏิญาณ จะตั้งอยู่ในพรหมจรรย์
- ผู้ปฏิบัติธุดงควัตรในถิ่นที่มีภยันตราย
- ผู้ไม่มีคารวะ ไม่รู้จักสูงต่ำ
- ผู้ไม่มีกุศลจิต ไม่สร้างบุญ สร้างกุศล ทำทาน
- ผู้มีฉันทาคติ ลำเอียงการให้บรรพชาและอุปสมบท
- ผู้เป็นอาจารย์สอนด้วยการเห็นแก่ลาภ
- ผู้กระทำสังฆกรรมแก่ผู้มีมิจฉามรรยา
- ผู้มีเจตนาฝ่าฝืนวินัย
- ผู้ไม่เคารพสมุดพระธรรมคำภีร์
- ผู้ไม่สงเคราะห์โปรดเวไนยสัตว์
- ผู้ยืนหรือนั่งที่ต่ำแสดงธรรม
- ผู้ยอมจำนนต่ออำนาจธรรมโรธี (อำนาจที่ผิดธรรม)
- ผู้ล่วงละเมิดธรรมคำสั่งสอนในพระพุทธศาสนา
โพธิสัตวศีลในดินแดนพุทธมหายาน
[แก้]บรรพชิตในจีน เกาหลี และเวียดนาม ยังรักษาพระวินัย และพระปาติโมกข์ของนิกายธรรมคุปต์อย่างเคร่งครัด ขณะที่ข้อกำหนดศีลในพรหมชาลสูตรฝ่ายมหายาน จะรับกันในการอุปสมบทเป็นพระภิกษุมหายานโดยสมบูรณ์ อย่างไรก็ตาม เสถียร โพธินันทะกล่าวว่า แม้แต่สามเณร ก็ยังต้องปฏิบัติพระโพธิสัตว์ศีลเช่นเดียวกันกับภิกขุ ขณะที่ฆราวาสหากปรารถนาจะรับศีลโพธิสัตว์ก็สามารถทำได้ โดยต้องรีบศีล 5 เป็นพื้นฐานเสียก่อน โดย เสถียร โพธินันทะ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมใน "ประมวญกำหนดสิกขาบทในอุตตรนิกาย" ว่า "ฆราวาสนั้นมีความสำคัญเฉพาะข้อ 3 อันเป็นสิกขามังสะวิรัติเท่านั้น เพราะได้รับปฏิบัติในศีล 8 หรือ ศีล 5 อยู่แล้ว"
อย่างไรก็ตาม ที่ญี่ปุ่นได้มีการลดความสำคัญของพระปาติโมกข์ หรือพระวินัยของนิกายธรรมคุปต์ลง จนเหลือแต่การรับโพธิสัตวศีลเท่านั้น โดยเริ่มมาตั้งแต่ยุคของพระไซโจ หรือราวพุทธศตวรรษที่ 15 ผู้ก่อตั้งนิกายเทนได ซึ่งได้รับพระราชานุญาตจากพระจักพรรดิในการตั้งสีมาอุปสมบทของนิกายตนเอง โดยรับเพียงโพธิสัตวศีลไม่ต้องสมาทานพระวินัยของนิกายธรรมคุปต์ เพื่อชำระนิกายมหายานให้บริสุทธิ์ยิ่งขึ้น โดยแต่เดิมผู้ที่จะรับการอุปสมบทในญี่ปุ่น จะต้องทำกันที่สีมาวัดโทไดจิ ในนครนาระ ซึ่งจะมีการอุปสมบทแบบดั้งเดิม คือรับพระวินัย และพระปาติโมกข์ของนิกายธรรมคุปต์พร้อมกับรับโพธิสัตวศีล
ต่อมา นอกจากนิกายเทนไดแล้ว นิกายเซน สายโซโตะ นิกายชินงอน และนิกายโจโดชู ยังอุปสมบทโดยรับเพียงโพธิสัตวศีลเท่านั้นเช่นกัน กระทั่งถึงยุคเมจิ รัฐบาลได้มีความพยายามลดความสำคัญของศาสนาพุทธ จึงออกกฎหมายเปิดทางให้บรรพชิตสมรสกับสตรี และตั้งครอบครัว โดยอ้างว่าพระวินัยมิได้มีบัญญัติห้ามบรรพชิตในเรื่องนี้ นับเป็นการสิ้นสุดของการถือพระวินัยในญี่ปุ่นโดยสมบูรณ์
บรรณานุกรม
[แก้]- เสถียร โพธินันทะ. (2501). ประมวญกำหนดสิกขาบทในอุตตรนิกาย.
- The Soka Gakkai Dictionary of Buddhism. Soka Gakkai International,
- The Brahma Net Sutra. Translated into English by the Buddhist Text Translation Society in USA
ต้นฉบับและเนื้อหาเพิ่มเติม
[แก้]- ประมวญกำหนดสิกขาบทในอุตตรนิกาย
http://www.gonghoog.com/main/index.php/2012-11-10-06-47-07
- พระวินัยสี่บรรพ (ภาษาจีน)
http://www.cbeta.org/result/T22/T22n1428.htm เก็บถาวร 2008-12-23 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- คัมภีร์โพธิสัตว์ศีล (菩薩戒本) ฉบับพระธรรมเกษม (ภาษาอังกฤษ)