นักพรตหญิง
นักพรตหญิงในศาสนาต่างๆ. |
นักพรตหญิง (อังกฤษ: nun) [1] คือสตรีที่ปฏิญาณอุทิศตนใช้ชีวิตเพื่อศาสนา อาจจะถือวัตรคล้ายนักพรตที่เลือกสละทางโลกแล้วหันไปใช้ชีวิตกับการอธิษฐานและการเพ่งพินิจ อาศัยในอารามหรือคอนแวนต์
"นักพรตหญิง" พบได้ทั้งในศาสนาพุทธ ศาสนาคริสต์ (ทั้งในคริสตจักรโรมันคาทอลิก อีสเทิร์นออร์ทอดอกซ์ แองกลิคัน และลูเทอแรน) ศาสนาเชน ศาสนาฮินดู และศาสนาเต๋า ในศาสนาคริสต์คำว่า "นักพรตหญิง" และ "ภคินี" ใช้แทนหรือสลับกันได้เพราะถือว่ามีความหมายเดียวกัน แต่ในบางกรณีก็ถูกจำแนกให้ต่างกันว่านักพรตหญิงคือนักบวชหญิงที่ใช้ชีวิตเป็นนักพรต อยู่แต่ภายในเขตพรต เน้นการเพ่งพินิจ การอธิษฐาน และการรำพึงธรรม ขณะที่ภคินีเป็นนักบวชหญิงที่เน้นนการอธิษฐาน การบริการผู้ยากไร้ เจ็บป่วย ยากจน และขาดการศึกษา
พระพุทธศาสนา
[แก้]พระพุทธศาสนาทุกนิกายมีนักพรตหญิง แต่จะมีสถานะแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ พระไตรปิฎกระบุว่าภิกษุณีเกิดขึ้นครั้งแรกหลังจากพระพุทธองค์ตรัสรู้ได้ 5 พรรษา โดยการประทานครุธรรมแปดประการแก่พระนางมหาปชาบดีโคตมีและเจ้าหญิงศากยะ 500 องค์ ณ เมืองเวสาลี การอุปสมบทแบบนี้เรียกว่า ครุธัมมปฏิคคหณูปสัมปทา ภายหลังทรงบัญญัติ อัฏฐวาจิกาอุปสัมปทาขึ้นใช้ในแทน คือให้ผู้ขอบวชได้รับจตุตถกรรม 2 ครั้ง คือจากฝ่ายภิกษุณีสงฆ์ก่อน แล้วจึงรับจากภิกษุสงฆ์ เมื่อครบแล้วจึงจะเป็นภิกษุณีโดยสมบูรณ์ ตามพระวินัยปิฎกเถรวาทกำหนดให้ภิกษุณีรักษาสิกขาบท 311 ข้อ ส่วนสามเณรและสามเณรีต้องรักษาศีล 10 ข้อ รวมทั้งเสขิยวัตรอีก 75 ข้อ รวมเป็นสิกขาบท 85
ปัจจุบันภิกษุณีสงฆ์คงเหลืออยู่แต่ในนิกายมหายานและวัชรยาน เพราะในนิกายเถรวาทสายภิกษุณีสงฆ์ซึ่งมีเฉพาะที่ลังกาได้ขาดช่วงสืบทอดไปตั้งแต่สมัยถูกโปรตุเกสยึดครอง[2] ทำให้ไม่สามารถทำการบวชภิกษุณีให้ถูกต้องตามพระไตรปิฎกเถรวาทได้ ปัจจุบันนี้สตรีในประเทศที่นับถือนิกายเถรวาทจึงเลือกบวชเป็นแม่ชีแทน และรักษาเพียงศีลแปดข้อ ในประเทศไทยแม่ชีหลายท่านยังสามารถก้าวขึ้นมามีบทบาทในด้านการสอนและปฏิบัติธรรมได้ไม่ต่างจากพระภิกษุ เช่น แม่ชีกนิษฐา วิเชียรเจริญ แม่ชีศันสนีย์ เสถียรสุต เป็นต้น ปัจจุบันในประเทศไทยมีความพยายามรื้อฟื้นภิกษุณีสงฆ์ในเถรวาท แต่ยังไม่ได้รับการยอมรับจากมหาเถรสมาคม
คริสต์ศาสนา
[แก้]โรมันคาทอลิก
[แก้]ในคริสตจักรโรมันคาทอลิก นักพรตหญิงคือสตรีที่ถือคำปฏิญาณอย่างสง่า (solemn vows) (ถ้าเป็นบุรุษจะเรียกว่า "นักพรต" หรือ "ไฟรเออร์" แม้ว่าจริงๆ แล้วโดยสถานะจะมีต้นกำเนิดและหน้าที่แตกต่างกันมาก) นักพรตหญิงกับภคินี (หรือมักทับศัพท์ว่าซิสเตอร์) ต่างกันที่นักพรตหญิงถือคำปฏิญาณตนอย่างสง่า ขณะที่ภคินีถือคำปฏิญาณตนอย่างธรรมดา (simple vow) นักพรตหญิงจะต้องอาศัยในเขตพรตซึ่งความเข้มงวดจะแตกต่างกันไปตามที่วินัยของคณะนักบวชแต่ละคณะบัญญัติไว้[3] ทั้งนี้ยกเว้นคณะวิสิแทนดินและคณะอุร์สุลิน
ในนิกายโรมันคาทอลิก คณะนักพรตหญิงแต่ละคณะจะมีพระพรพิเศษและคุณลักษณะประจำคณะแตกต่างกันไป
โดยทั่วไปแล้วเมื่อสตรีจะเข้าฝึกตนในอาราม คอนแวนต์ หรือแอบบีย์ จะต้องใช้เวลาทดสอบตนเองในช่วงแรกในฐานะโปสตูลันต์เป็นเวลา 6 เดือนถึง 1 ปี ถ้าผู้สมัครและคณะเห็นว่าพระเจ้าทรงมีกระแสเรียกให้เธอดำเนินชีวิตเช่นนี้ได้ ผู้สมัครนั้นก็จะได้รับแฮบิตซึ่งเป็นเครื่องแบบประจำคณะ (ตามปกติจะปรับปรุงบ้างเพื่อให้ต่างจากนักพรตหญิงที่ปฏิญาณตนโดยสมบูรณ์แล้ว เช่น ใช้ผ้าคลุมศีรษะสีขาวแทนที่จะเป็นสีดำ) ถือว่าได้รับขั้นโนวิซซึ่งกินเวลาอีกราว 1-2 ปี เพื่อลองใช้ชีวิตเป็นนักพรตหญิงโดยที่ยังไม่ต้องปฏิญาณตน[4] เมื่อเสร็จขั้นนี้จึงเข้าปฏิญาณตนชั่วคราว[5] ซึ่งใช้เวลาอีกราว 1-3 ปี แต่ตามกฎหมายศาสนจักรไม่ควรจะต่ำกว่า 3 ปีและไม่เกิน 6 ปี[6] ในที่สุดจึงจะได้รับอนุญาตให้ปฏิญาณตนถาวรด้วยคำปฏิญาณอย่างสง่า[7]
คณะนักบวชในสายเบเนดิกติน (ได้แก่ คณะเบเนดิกติน คณะซิสเตอร์เชียน คณะแทรปพิสต์ เป็นต้น) นักพรตหญิงจะถือคำปฏิญานเรื่องความมั่นคง (หมายถึงว่าจะเป็นสมาชิกประจำอยู่ในอารามแห่งเดียว) ความนอบน้อมเชื่อฟัง (ต่อคุณแม่อธิการิณีหรือไพรเออเรส) และการเปลี่ยนชีวิต (ซึ่งรวมทั้งความยากจนและถือโสด) คณะกลาริสและนักพรตหญิงในคณะดอมินิกันซึ่งอาศัยในเขตพรตจะปฏิญานตน 3 อย่าง ได้แก่ ความยากจน การถือโสด และการนอบน้อมเชื่อฟัง คณะนักพรตหญิงส่วนมากที่ไม่ได้ระบุ ณ ที่นี้จะยึดตามแบบอย่างใดอย่างหนึ่งใน 2 แบบนี้ นอกจากนี้บางคณะยังถือปฏิญาณเพิ่มซึ่งเกี่ยวกับงานเฉพาะหรือคุณลักษณะประจำคณะของตน (เช่น การอุทิศตนบางอย่าง การอธิษฐานเพื่อเป้าหมายหรือจุดประสงค์เฉพาะ)
นักพรตหญิงในเขตพรต (หรือชีลับ) (เช่น คณะคาร์เมไลท์) จะถือวินัยเรื่องเขตพระสันตะปาปา[8] คือมีอารามซึ่งโดยแบบแผนแล้วจะถูกล้อมด้วยกำแพงอย่างมิดชิดเพื่อแยกเหล่านักพรตหญิงจากโลกภายนอก พวกท่านเองก็ไม่ค่อยออกไปภายนอกเขตพรต (เว้นแต่จะเป็นเรื่องจำเป็นด้านสุขภาพหรือเกี่ยวกับวัตรด้านการเพ่งพินิจ) ถ้ามีแขกมาเยี่ยมก็จะพบกันได้เฉพาะในห้องรับแขกซึ่งจัดไว้เฉพาะซึ่งมีลักษณะพิเศษคือต้องมีกรงเหล็กหรือกำแพงแยกระหว่างท่านกับแขกที่ได้รับอนุญาตให้เข้าเยี่ยม พวกท่านจะให้ชีวิตแบบพึ่งพาตนเอง อาศัยรายได้จากการขายแยม ขนมหวาน หรืออาหารอบทางไปรษณีย์ หรือผลิตสิ่งของที่ใช้ในพิธีกรรม (เช่น อาภรณ์ศักดิ์สิทธิ์ เทียน หรือแผ่นศีลที่จะใช้เสกในพิธีมิสซา) ในบางครั้งพวกท่านก็ทำงานด้านการเพ่งพินิจ อารามนักพรตหญิงมักเน้นการอธิษฐานเพื่อประโยชน์เฉพาะบางอย่างหรือเพื่อสนับสนุนพันธกิจของคณะนักบวชอื่น (เช่น คณะแมรีโนลล์มีอารามชีลับที่อธิษฐานขอพรให้กับงานของบาทหลวง ภราดาฆราวาส และภคินี ที่เป็นมิชชันนารี ส่วนคณะ the Sister Disciples of the Divine Master เป็นคณะชีลับที่อธิษฐานช่วยงานด้านสื่อของภคินีคณะธิดานักบุญเปาโล และนักพรตหญิงคณะดอมินิกันประจำอารามคอร์ปุส คริสตี ใน the Bronx อธิษฐานช่วยบาทหลวงประจำอัครมุขมณฑลนิวยอร์ก
แคนันหญิงคือนักพรตหญิงที่มีสถานะเดียวกับแคนันชาย ทั้งสองกลุ่มนี้มีต้นกำเนิดและวินัยแบบชีวิตอารามวาสีเป็นลักษณะทั่วไป และเช่นเดียวกับแคนันทั้งหลาย คือด้วยการถือวินัยต่างกันจึงแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือประเภทแคนันประจำคณะนักบวชกับแคนันประจำเขตมิสซัง
นักพรตหญิงที่ได้รับเลือกตั้งให้เป็นหัวหน้าแอบบีจะเรียกว่า "คุณแม่อธิการิณี" ยกเว้นคณะกลาริสที่มีคุณแม่อธิการิณีแต่ทางคณะกลับไม่มีแอบบีย์ ซึ่งอาจเป็นเพราะในระยะแรก นักบุญฟรังซิสแห่งอัสซีซีมอบหมายให้นักบุญกลาราแห่งอัสซีซีไปรับการอบรมชีวิตนักบวชจากนักพรตคณะเบเนดิกตินซึ่งมีคุณแม่อธิการิณีและไพรเออร์หญิงอยู่หลายคน มักเรียกว่า "คุณแม่" คุณแม่อธิการิณีมีเอกสิทธิ์ในการอวยพรนักพรตหญิง ซึ่งเรียกว่าพรอธิการ (abbatial blessing) ข้อแตกต่างระหว่างอารามกับแอบบีย์นั้นมาจากการบัญญัติศัพท์ของแต่ละคณะนักบวช หรือตามระดับของสิทธิ์ในปกครองตนเองของบ้านนักบวช ในทางเทคนิคถือว่าคอนแวนต์คือบ้านพักของกลุ่มภคินี ซึ่งจริงๆ แล้วจะรวมถึงบรรดาบาทหลวงและภราดาด้วยก็ได้ แต่ในสหรัฐไม่ค่อยใช้เรียกกัน ส่วนคำว่า "อาราม" มักใช้ในเครือคณะเบเนดิกติน และคอนแวนต์ (เมื่อหมายถึงเขตพรต) จะใช้กับคณะอื่นๆ
เหล่าชีลับตามธรรมเนียมจะแต่งกายด้วยทูนิก ใช้ผ้าหรือเชือกหนังคาดเป็นเข็มขัด นอกจากนี้นักพรตหญิงบางท่านจะสวม scapular ซึ่งเป็นเสื้อคลุมยาวจากผ้าขนสัตว์ห่มปิดไหล่ทั้งสองข้างแต่เปิดศีรษะไว้ บางท่านสวมผ้าคลุมศีรษะสีขาวรอบใบหน้า และสวมผ้าคลุมอีกชิ้นเรียกว่า veil ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของแฮบิต (เครื่องแบบนักบวช) นักพรตหญิงบางคณะ เช่น คณะกลาริส จะใส่สายประคำเส้นใหญ่ไว้กับสายรัดเอว คุณแม่อธิการิณีในคณะเบเนดิกตินจะใส่ไม้กางเขน (อาจมีรูปพระเยซูติด) กับสร้อยคอ หลังจากสังคายนาวาติกันครั้งที่ 2 หลายคณะเลิกสวมแฮบิตแบบดั้งเดิม รวมทั้งไม่ใช้ชื่อนักบวช แต่ตามประมวลกฎหมายพระศาสนจักร บัญญัติว่า "นักบวชต้องสวมเครื่องแบบของสถาบันตามที่กฎหมายบัญญัติ เพื่อเป็นเครื่องหมายแห่งการได้รับอภิเษกและเป็นพยานแห่งความยากจน"
ข้อแตกต่างระหว่างนักพรตหญิงกับภคินี (ซิสเตอร์)
[แก้]ในคริสตจักรคาทอลิก คำว่า "นักพรตหญิง" มีความหมายแคบกว่าภคินี คือนักพรตหญิงหมายถึงภคินีที่เป็นสมาชิกของคณะนักบวชคาทอลิกที่ถือคำปฏิญาณตนอย่างสง่า เพื่ออุทิศตนกับการเพ่งพินิจและรักษาเขตพรตอย่างเคร่งครัด (คืออยู่แต่ภายในเขตพรต) ขณะที่ภคินีมักหมายถึงนักบวชหญิงที่ถือศีลบนทั่วไป มักเน้นทำงานแพร่ธรรมแก่ประชาชน อย่างไรก็ตามคณะภคินีหลายคณะในปัจจุบันก็เน้นการเพ่งพินิจด้วยเช่นกัน
ช่วงสหัสวรรษแรก คณะนักบวชทั้งชายและหญิงจะอุทิศตนกับการอธิษฐานและการเพ่งพินิจ มีการตั้งอาราม แอบบีย์ และคอนแวนต์ในที่ชนบทห่างไกล หรือแยกขาดจากโลกภายนอกด้วยการกำหนดเขตพรต ต่อมามีคณะนักบวชภิกขาจารเกิดขึ้นในศตวรรษที่ 13 ซึ่งถือวัตรที่ผสมผสานกันทั้งการอธิษฐานและอุทิศตนต่อพระเจ้าผ่านงานเทศน์ ฟังคำสารภาพบาป ช่วยเหลือผู้ยากไร้ สมาชิกโดยส่วนมากของคณะนักบวชนี้จะถูกเรียกว่าไฟรอาร์ ไม่ใช่นักพรต ในเวลานั้นกฎหมายศาสนจักรยังไม่อนุญาตให้นักบวชหญิงที่ผ่านการปฏิญาณตนอย่างสง่าออกนอกเขตพรต นักบวชหญิงในคณะนักบวชภิกขาจาร เช่น คณะดอมินิกัน คณะออกัสติเนียน คณะคาร์เมไลท์ และคณะกลาริส จึงยังต้องใช้ชีวิตในเขตพรตเหมือนนักพรตในคณะนักบวชอารามิก ในอีกด้านหนึ่งคณะนักบวชหญิงที่เรียกตนเองเป็น congregation เช่น คณะธิดาเมตตาธรรมแห่งนักบุญวินเซนต์ เดอ ปอล จะถือคำปฏิญาณเพื่อทำงานด้านการสอน การรับใช้ผู้ป่วย และงานเมตตาธรรมอื่น ๆ ดังนั้นเมื่อว่าตามการประยุกต์ใช้ นักพรตหญิงจึงหมายถึงนักบวชหญิงที่ถือคำปฏิญานตนอย่างสง่า ขณะที่ภคินี (หรือเรียกทับศัพท์ว่าซิสเตอร์) คือนักพรตหญิงรวมทั้งนักบวชหญิงที่ถือคำปฏิญาณตนอย่างธรรมดา ปัจจุบันคำว่านักพรตหญิงและภคินีจึงมักถูกใช้แทนกันเพื่อหมายถึงนักบวชหญิงด้วยกัน
นอกจากนี้ในบางคณะอาจมีทั้งนักพรตหญิงและภคินีอยู่ในคณะเดียวกัน เพราะคณะนักบวชหลายคณะที่ถือคำปฏิญาณอย่างธรรมดามักถูกตั้งขึ้นตามวินัยสำหรับคณะนักบวชชั้นที่ 3 ซึ่งในช่วงแรกเป็นคณะของฆราวาสและไม่บังคับเรื่องเขตพรต ตัวอย่างเช่น คณะกลาริส เป็นคณะชีลับซึ่งถือเป็นคณะนักบวชชั้นที่ 2 ของคณะฟรันซิสกัน ขณะที่คณะภคินีนักบุญฟรังซิสเป็นคณะนักบวชชั้นที่ 3 ที่เน้นงานสอน ทำงานในโรงพยาบาล หรือปฏิบัติพันธกิจอื่นๆ
สมเด็จพระสันตะปาปาลีโอที่ 13 ทรงยอมรับอย่างเป็นทางการให้ถือว่าผู้ที่ถือศีลบนเป็นผู้ได้รับการอภิเษกด้วย (consecretion) และในทุกวันนี้คริสตจักรคาทอลิกไม่ถือว่านักบวชหญิงที่ถือคำปฏิญาณอย่างสง่ามีนัยแตกต่างจากนักบวชหญิงที่ถือคำปฏิญาณตนอย่างธรรมดา
แองกลิคัน
[แก้]คณะนักบวชในนิกายแองกลิคันเป็นองค์การของฆราวาสและ/หรือเคลอจีในแองกลิคันคอมมิวเนียนที่รักษาวินัยสามัญ คำว่า "คณะนักบวช" แตกต่างจากศีลบวช (ซึ่งเป็นศีลศักดิ์สิทธิ์ที่โปรดให้แก่บิชอป บาทหลวง และดีกัน) แม้ว่าหลายคณะนักบวชหลายคณะจะมีสมาชิกที่ได้รับศีลบวชอยู่ด้วยก็ตาม
โครงสร้างและหน้าที่ของคณะนักบวชแองกลิคันคล้ายคลึงกับคณะนักบวชคาทอลิก ประชาคมนักบวชแบ่งออกได้เป็นคณะนักบวชแบบ order ซึ่งสมาชิกจะถือคำปฏิญาณตนอย่างสง่า และคณะนักบวชแบบ congregation ที่สมาชิกถือคำปฏิญาณตนอย่างธรรมดา
ประชาคมนักบวชทั่วทั้งอังกฤษเคยถูกพระเจ้าเฮนรีที่ 8 แห่งอังกฤษ กวาดล้างเพราะในช่วงการปฏิรูปศาสนาในอังกฤษพระองค์ประสงค์ให้แยกคริสตจักรแห่งอังกฤษออกจากปาปาซี (ดูที่การยุบอาราม) อารามหลายแห่งถูกริบที่ดินและทรัพย์สิน และเหล่าอารามิกชนถูกบังคับให้ใช้ชีวิตแบบฆราวาสถ้าไม่ยอมก็เนรเทศไปอยู่ประเทศอื่น
เมื่อถึงช่วงการฟื้นฟูคาทอลิกและขบวนการอ็อกซฟอร์ดในนิกายแองกลิคันในช่วงต้นศตวรรษที่ 19 จึงมีการฟื้นฟูชีวิตแบบนักบวชขึ้นในอังกฤษ ระหว่างปี ค.ศ. 1841 และ 1855 คณะนักพรตหญิงหลายคณะก็ได้ถูกก่อตั้งขึ้น เช่น Community of St. Mary ที่ Wantage และ Community of St. Margaret ที่ East Grinstead
ในสหรัฐและแคนาดา มีการตั้งคณะนักพรตหญิงตั้งแต่ปี 1845 คือภคินีภาพแห่งพิธีมหาสนิทศักดิ์สิทธิ์ (Sisterhood of the Holy Communion) ที่นิวยอร์ก (ปัจจุบันถูกยุบไปแล้ว)
ใน Episcopal Church in the United States ยอมรับประชาคมทางศาสนา 2 ประเภทคือ คณะนักบวชกับชุมชนคริสตชน ในบางคณะ ภคินีสามารถรับศีลบวชและประกอบพิธีมหาสนิทได้[9]
ออร์ทอดอกซ์
[แก้]ในคริสตจักรออร์ทอดอกซ์นั้นหากสตรีที่ประสงค์อยากเข้าอารามสามารถเข้าได้ตั้งแต่ยังเป็นวัยรุ่นก็สามารถทำได้ ทั้งนี้ทางคริสตจักรออร์ทอดอกซ์ยังอนุญาตให้สตรีที่เคยมีครอบครัวสามารถเป็นนักพรตได้ด้วย แต่ต้องไม่มีการหย่าร้างตามที่กฎของคริสตจักรห้าม ยกตัวอย่างเช่น แกรนด์ดัชเชสเอลิซาเบธ เฟโอโดรอฟนาแห่งรัสเซีย โดยลำดับขั้นของนักพรตจะมีอยู่ 4 ลำดับ โดยทั้ง 4 ลำดับนี้จะเหมือนกันทั้งของนักพรตชายและหญิง
ลำดับขั้นของนักพรตหญิง[10]
- โนวิซ (Novice) หรือนักพรตฝึกหัด เป็นขั้นแรกสำหรับสตรีที่ต้องการจะเข้าร่วมอาราม โดยอาจจะกินเวลา 1-2 ปี (หรืออาจจะมากกว่านั้นซึ่งขึ้นอยู่กับแม่อธิการ หรือธรรมเนียมของอารามนั้น ๆ) การเป็นโนวิซนั้นอาจจะได้รับมอบผ้าคลุมศีรษะ (Apostolnik) โดยเรื่องนี้ก็ขึ้นอยู่กับแม่อธิการเช่นกัน โนวิซสามารรประสงค์ที่จะออกจากอารามได้หากตนนั้นไม่พร้อม
- เรสโซโฟร์ (Rassophore) หากโนวิซต้องการที่จะอยู่ในอารามต่อ และได้รับการพิจารณาจากแม่อธิการแล้ว ก็จะปฏิญาณตน และได้รับมอบชุดคลุม (Cassock) และหมวกโคลบุค (Klobuk) และได้รับชื่อทางศาสนาใหม่ ในธรรมเนียมของทางกรีกนักพรตหญิงจะไม่ใส่หมวกโคลบุค และในบางอารามอาจจะข้ามขั้นนี้ไปยังขั้นสตราฟโรโฟร์เลย ซึ่งขึ้นอยู่กับแม่อธิการ
- สตราฟโรโฟร์ (Stavrophore) หรือนักพรตขั้นย่อย (Little Schema) ในขั้นนี้อาจจะใช้เวลานาน เพื่อให้แม่อธิการดูความพร้อมว่าผู้ที่ต้องการปฏิญาณตนนั้นพร้อมในด้านคุณสมบัติไหม หากพร้อมก็จะได้รับการปฏิญาณตนและได้รับชื่อทางศาสนาใหม่อีกครั้ง จะได้รับแฮบิท ในขั้นนี้ผู้ที่รับการแต่งตั้งจะได้รับการเรียกว่า "คุณแม่" และเป็นขั้นที่สามารถเป็นคุณแม่อธิการได้ ในธรรมเนียมของรัสเซียแม่อธิการจะห้อยกางเขนแบบบาทหลวง
- นักพรตขั้นสูง หรือสคีม่า (Great Schema) เป็นขั้นที่สูงที่สุดในชีวิตนักพรต และถือว่าเป็นขั้นที่เป็นได้ยากที่สุดเนื่องจากต้องดูในหลาย ๆ อย่าง ไม่ว่าจะเป็นความรู้ทางจิตวิญญาณ การดำเนินชีวิต เป็นต้น โดยผู้ที่รับการปฏิญาณตนจะได้รับการเปลี่ยนชื่อใหม่อีกครั้ง และจะได้รับแฮบิทสำหรับนักพรตขั้นสูง ในบางอารามจะทำพิธีปฏิญาณให้กับนักพรตที่ป่วยหรือใกล้เสียชีวิตแล้วเท่านั้น หรือบางอารามอาจจะทำให้สำหรับผู้ที่อยู่ในอารามมาอย่างยาวนานแล้ว ซึ่งเรื่องนี้เป็นธรรมเนียมของแต่ละอาราม
ศาสนาฮินดู
[แก้]อ้างอิง
[แก้]- ↑ บัญญัติศัพท์, สำนักมิสซังกรุงเทพฯ, หน้า 22
- ↑ ราชบัณฑิตยสถาน, พจนานุกรมศัพท์ศาสนาสากล ฉบับราชบัณฑิตยสถาน, กรุงเทพฯ: ราชบัณฑิตยสถาน, 2552, หน้า 98
- ↑ " Monasteries of nuns which are ordered entirely to contemplative lifealmost always observe papal cloister, that is, cloister according to the norms given by the Apostolic See. Other monasteries of nuns are to observe a cloister adapted to their proper character and defined in the constitutions." Canon 667 §3, CIC 1983
- ↑ Canon 648, CIC 1983
- ↑ Canon 656, CIC 1983
- ↑ Canon 655, CIC 1983
- ↑ Canon 657, CIC 1983
- ↑ Canon 667 §3, CIC 1983, SCRIS instruction, "Venite seorsum" August 15, 1969, in AAS 61 (1969) 674–690
- ↑ What We Do เก็บถาวร 2010-06-16 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน sisters of St. Margaret, (Episcopal religious community of women)
- ↑ https://blog.obitel-minsk.com/2018/02/a-look-at-monastic-ranks-in-orthodox.html