ข้ามไปเนื้อหา

แฮมจินหฺวา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
แฮมจินหฺวา
แฮมจินหฺวา
ประเภทแฮมแบบบ่มแห้ง
แหล่งกำเนิด จีน
ภูมิภาคจินหฺวา มณฑลเจ้อเจียง
ชาติที่มีอาหารประจำชาติที่เกี่ยวข้องอาหารจีน
แฮมจินหฺวา
อักษรจีนตัวเต็ม金華火腿
อักษรจีนตัวย่อ金华火腿

แฮมจินหฺวา หรือ จินหฺวาหัวถุ่ย (จีน: 金華火腿; พินอิน: Jīnhuá huǒtuǐ) เป็นแฮมแบบบ่มแห้งของประเทศจีน ตั้งชื่อตามแหล่งผลิตได้แก่นครจินหฺวาทางตอนกลางของมณฑลเจ้อเจียง ภาคตะวันออกของประเทศจีน[1] แฮมชนิดนี้นิยมใช้ในอาหารจีนประเภทตุ๋น สตู หรือน้ำซุปเพื่อเพิ่มรสชาติ แฮมจินหฺวาได้รับรางวัลที่หนึ่งจากงานนิทรรศการนานาชาติปานามา–แปซิฟิก ค.ศ. 1915[2] และเป็นแฮมที่ได้รับความนิยมในประเทศจีน[3]

การผลิต

[แก้]

กระบวนการผลิตแฮมจินหฺวาแบบดั้งเดิมจะใช้ขาหลังของหมูพันธุ์เหลี่ยงโถวอู (兩頭烏 แปลเป็นไทยว่า "หัวท้ายดำ") ซึ่งเป็นหมูพันธุ์ท้องถิ่น มีขนสีดำบริเวณหัวและบั้นท้ายในขณะที่ช่วงลำตัวจะเป็นสีขาว หมูพันธุ์นี้นิยมใช้เนื่องจากโตเร็ว เนื้อคุณภาพดี และผิวหนังบาง[4][5] กระบวนการผลิตแฮมนี้จะเริ่มต้นในสภาพอากาศหนาว เมื่ออุณหภูมิลดลงต่ำกว่า 10 องศาเซลเซียส (50 องศาฟาเรนไฮต์) และใช้เวลาประมาณแปดถึงสิบเดือนเริ่มตั้งแต่ฤดูหนาวและสิ้นสุดในฤดูใบไม้ร่วงปีถัดไป[2][6]

กระบวนการผลิตแฮมจินหฺวาแบ่งออกเป็นหกขั้นตอน ได้แก่[2][6]

  1. เตรียมเนื้อ ขาหมูที่มีลักษณะสมบูรณ์และไม่มีรอยแผลหรือบาดเจ็บจะถูกนำมาใช้ ไขมัน เส้นเอ็น และพังผืดจากส่วนขาด้านนอกจะถูกเลาะออก เลือดที่ค้างอยู่ในขาหมูก็จะถูกรีดออกเช่นกัน
  2. ใส่เกลือ การใส่เกลือจะกระทำเมื่ออุณหภูมิอยู่ระหว่าง 5–10 องศาเซลเซียส (41–50 องศาฟาเรนไฮต์) เพราะถ้าอุณหภูมิต่ำกว่านั้นจะทำให้เกลือแทรกซึมได้ไม่ดี ผู้ทำจะทาถูเกลือลงบนเนื้อและปล่อยให้เกลือซึมเข้าสู่เนื้อเป็นเวลาหลายวันโดยใช้วิธีการเฉพาะและมีบทท่องจำสำหรับลำดับการใส่เกลือและบริเวณของขาหมูที่ต้องใส่เกลือ[5] การใส่เกลือนี้จะทำซ้ำ 5–7 ครั้งตลอดระยะเวลาประมาณหนึ่งเดือน โดยทั่วไปนิยมใช้เกลือแกงเพียงอย่างเดียว แต่บางคนอาจใช้โซเดียมไนเตรตผสมลงไปด้วย
  3. แช่และล้าง หลังจากที่ขาหมูใส่เกลือและแห้งลงไปบ้างแล้วจะถูกนำไปแช่น้ำเป็นเวลา 4–6 ชั่วโมงก่อนนำไปขัด หลังจากนั้นจึงนำไปแช่น้ำต่ออีกเป็นเวลา 16–18 ชั่วโมง
  4. ขึ้นรูป แฮมจะถูกตัดเจียนเพื่อให้ได้รูปร่างคล้ายใบไผ่ จากนั้นจึงนำไปดึงกีบเท้าออก ตีตราด้วยเหล็ก และตากแดดให้แห้งจนกว่าจะเริ่มเห็นน้ำมันหมูซึมออกมา ซึ่งจะใช้เวลาประมาณหนึ่งสัปดาห์
  5. บ่ม แฮมที่ตากแห้งแล้วจะถูกนำไปแขวนในห้องที่มีอุณหภูมิประมาณ 15 องศาเซลเซียส (59 องศาฟาเรนไฮต์) ความชื้นสัมพัทธ์ประมาณ 55–57% เพื่อให้ได้รสชาติและกลิ่นที่ดีขึ้น โดยใช้เวลาบ่มประมาณ 6–8 เดือน ในช่วงนี้แฮมจะมีราขึ้น รานี้จะผลิตเอนไซม์ที่ไฮโดรไลส์โปรตีนและไขมัน ทำให้ได้กรดอะมิโนอิสระและสารประกอบอื่น ๆ ที่ให้รสชาติ
  6. หลังบ่ม แฮมที่บ่มแล้วจะนำไปทำความสะอาดเพื่อกำจัดราและฝุ่น จากนั้นจึงทาน้ำมันพืชเคลือบผิวเพื่อให้นุ่มและป้องกันไม่ให้ไขมันเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชันต่อไป แฮมจะถูกนำไปกองซ้อนกันและบ่มต่อไปอีกประมาณ 2–3 เดือน

ในปัจจุบันได้มีการปรับปรุงกระบวนการผลิตเช่นอุณหภูมิและความชื้นเพื่อลดระยะเวลาที่ใช้ผลิตแฮมเหลือ 1–2 เดือน[2]

ในวัฒนธรรมจีน

[แก้]
แฮมจินหฺวาเป็นส่วนประกอบสำคัญในพระกระโดดกำแพง

แฮมจินหฺวาสามารถสืบย้อนไปได้ถึงสมัยราชวงศ์ถัง และบางรายงานกล่าวว่ามาร์โก โปโลได้นำเทคนิคการผลิตแฮมจินหฺวาไปเผยแพร่ในทวีปยุโรป[6] ชื่น "จินหฺวา" ได้รับพระราชทานมาจากจักรพรรดิพระองค์แรกแห่งราชวงศ์ซ่งใต้[6] แฮมจินหฺวาได้รับความนิยมในอาหารจีน[7] และนิยมรับประทานแบบเย็นหรือนำไปใช้เป็นส่วนผสมในน้ำซุปเพื่อให้รสชาติอูมามิ แฮมจินหฺวาเป็นส่วนประกอบสำคัญในพระกระโดดกำแพง และถูกอ้างถึงในวรรณกรรมจีนหลายเรื่องรวมถึง ความฝันในหอแดง วรรณกรรมชิ้นเอกในสมัยราชวงศ์ชิง

แฮมที่ดีควรมีคุณลักษณะที่สำคัญได้แก่ผิวนอกเรียบสีเหลืองและเป็นเงา รูปร่างเหมือนกับใบไผ่ ข้อต่อและกีบเท้าเล็ก กระดูกบางและเรียว มีชั้นไขมันล้อมรอบเนื้อแดง มีกลิ่นหอมเข้มข้นแต่ไม่ฉุน เนื้อสัมผัสละเอียดและมีไขมันแทรกในเนื้อ รสชาติเข้มข้น (เค็ม หวาน และอูมามิ) ผิวนอกของแฮมนี้อาจจะมีราหลงเหลืออยู่บ้าง แต่ถือเป็นเรื่องปกติ[8]

การวิเคราะห์กลิ่นและรส

[แก้]

รสชาติเด่นของแฮมจินหฺวามาจากกรดอะมิโนอิสระและนิวคลีโอไทด์ที่มีอยู่มากในแฮม โดยเฉพาะกรดกลูตามิกและกรด 5'-อิโนซินิก แม้ว่าปริมาณกรดอะมิโนโดยรวมจะไม่แตกต่างจากในแฮมที่ไม่ผ่านการบ่ม แต่อัตราส่วนกรดอะมิโนอิสระที่สูงทำให้รสชาติอูมามิเด่นชัดขึ้น นอกจากนี้รสชาติของแฮมจินหฺวาบางส่วนยังมาจากการหมักดองจากราและยีสต์อีกด้วย[7][9]

กลิ่นของแฮมจินหฺวาจะคล้ายกับแฮมฆามอนอิเบริโกในแถบคาบสมุทรไอบีเรียแต่จะแตกต่างจากแฮมปรอชชุตโตจากประเทศอิตาลีเนื่องจากทั้งแฮมจินหฺวาและฆามอนอิเบริโกผ่านการบ่มนานกว่าในพื้นที่เปิด สารประกอบหลักที่ให้กลิ่นได้แก่สารประกอบกลุ่มแอลดีไฮด์ สารประกอบกำมะถันเช่นมีเทนไทออลและไดเมทิลไดซัลไฟด์ และแอลคีนโซ่กิ่งซึ่งมาจากกระบวนการย่อยสลายและจัดเรียงตัวใหม่ของกรดอะมิโนและกรดไขมันจากปฏิกิริยาออกซิเดชันและการหมักดอง[9]

กรณีอื้อฉาวด้านความปลอดภัยทางอาหาร

[แก้]

ใน ค.ศ. 2003 แฮมจินหฺวาตกเป็นประเด็นอื้อฉาวด้านความปลอดภัยทางอาหารเนื่องจากผู้ผลิตรายย่อยบางรายผลิตแฮมนอกฤดูกาลและใช้ยากำจัดศัตรูพืชเพื่อป้องกันการเน่าเสียและแมลง[10] ยากำจัดศัตรูพืชที่ใช้ได้แก่ไดคลอร์วอสซึ่งเป็นออร์แกโนฟอสเฟตสำหรับรมเพื่อกำจัดศัตรูพืช[11] ประเด็นอื้อฉาวนี้ส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตแฮมรายอื่นที่ผลิตแฮมตามวิธีดั้งเดิมโดยไม่ใช้ยากำจัดศัตรูพืช และทำให้ยอดขายแฮมในช่วงเวลานั้นลดลงอย่างมาก[12]

ดูเพิ่ม

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. Ang, C.Y.W.; Liu, K.; Huang, Y.W. (1999). Asian Foods: Science and Technology. Taylor & Francis. p. 209. ISBN 978-1-56676-736-1. สืบค้นเมื่อ 22 พฤษภาคม 2017.
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 Wang Ang, Catharina Yung-Kang; Liu, KeShun; Huang, Yao-Wen (1999), Asian foods: science & technology, CRC Press, pp. 209–212, ISBN 978-1-56676-736-1
  3. Kristbergsson, K.; Oliveira, J. (2016). Traditional Foods: General and Consumer Aspects. Integrating Food Science and Engineering Knowledge Into the Food Chain. Springer US. p. 234. ISBN 978-1-4899-7648-2. สืบค้นเมื่อ 22 พฤษภาคม 2017.
  4. 金华猪, คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 20 พฤศจิกายน 2008
  5. 5.0 5.1 颖, 钟 (13 ธันวาคม 2006), 火腿是这样"炼"成的, 钱江晚报, คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 21 เมษายน 2009
  6. 6.0 6.1 6.2 6.3 Zhou, G.H.; Zhao, G.M. (2007), "Biochemical changes during processing of traditional Jinhua ham", Meat Science, 77: 114–120, doi:10.1016/j.meatsci.2007.03.028, PMID 22061402
  7. 7.0 7.1 WAGU, Yutaka; KAKUTA, Toshitaka; SHINDO, Hitoshi; KOIZUMI, Takeo (1994), General components, amino acid, 5'-nucleotide and microorganism of Chinese fermented food "Jinhua Huotui" (ภาษาญี่ปุ่น และ อังกฤษ), vol. 41, Nippon Shokuhin Kogyo Gakkai-Shi, pp. 921–926Profile
  8. 历代文豪与金华火腿, คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 19 พฤศจิกายน 2008
  9. 9.0 9.1 Du, M.; Ahn, D.U. (2001), Volatile Substances of Chinese Traditional Jinhua Ham and Cantonese Sausage, vol. 66, Journal of Food Science, pp. 827–831
  10. Jinhua Ham scam exposed, Shanghai Star, 20 พฤศจิกายน 2003, คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 11 มิถุนายน 2011, สืบค้นเมื่อ 25 พฤศจิกายน 2008
  11. 金, 燃明明 (17 พฤศจิกายน 2003), 死猪肉加工 敌敌畏浸泡 金华"毒火腿"冲击市场, 扬子晚报
  12. 离, 地七寸 (4 มิถุนายน 2004), 浙江金华"毒"火腿 把产业逼入最冷的冬天, 人民网

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]