ข้ามไปเนื้อหา

แม่น้ำเพชรบุรี

พิกัด: 13°13′24.1″N 99°59′36.9″E / 13.223361°N 99.993583°E / 13.223361; 99.993583
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก แม่น้ำเพชร)
แม่น้ำเพชรบุรี
แม่น้ำเพชร
แม่น้ำเพชรบุรีที่อ่างเก็บน้ำเขื่อนแก่งกระจาน
ที่ตั้ง
ประเทศ ไทย
จังหวัดเพชรบุรี
ลักษณะทางกายภาพ
ต้นน้ำเทือกเขาตะนาวศรี
 • ตำแหน่งตำบลป่าเด็ง อำเภอแก่งกระจาน
 • พิกัด12°40′09.6″N 99°19′50.8″E / 12.669333°N 99.330778°E / 12.669333; 99.330778
ปากน้ำอ่าวไทย
 • ตำแหน่ง
ตำบลบ้านแหลม อำเภอบ้านแหลม
 • พิกัด
13°13′24.1″N 99°59′36.9″E / 13.223361°N 99.993583°E / 13.223361; 99.993583
ความยาว233 กิโลเมตร (145 ไมล์)
ลุ่มน้ำ
ระบบแม่น้ำลุ่มน้ำเพชรบุรี–ประจวบคีรีขันธ์
ลำน้ำสาขา 
 • ซ้ายห้วยเยกเย, ห้วยตะเกลโพ, ห้วยตะเกลพาดู, ห้วยบางยายมู, ห้วยบางยายโป่ง, แม่น้ำบางกลอย, ห้วยแม่ประโดน, ห้วยลันชัน, ห้วยแม่ประจันต์, คลองสวนทุ่ง, คลองบางครก, คลองตาไช่, คลองท่าแห
 • ขวาห้วยทอทิพย์, ห้วยบาอีแอะ, ห้วยมะระแคเนาะ, ห้วยขุนกระเวน, ห้วยแม่เสลียง, ห้วยมะเร็ว, ห้วยวังหิน, ห้วยแก่งหักตก, ห้วยผาก, ห้วยหินเพลิง, คลองยอ, คลองวัดเกาะ, คลองท่าแร้ง, คลองน้ำเชี่ยว, คลองตลาด, คลองวัดอุตมิงค์

แม่น้ำเพชรบุรี เป็นแม่น้ำสายสำคัญของจังหวัดเพชรบุรี มีต้นกำเนิดจากเทือกเขาตะนาวศรีในเขตอำเภอแก่งกระจาน ไหลไปทางทิศเหนือ เมื่อถึงจุดที่แม่น้ำบางกลอยไหลมาบรรจบจึงวกไปทางทิศตะวันออกและไหลลงทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ เข้าเขตอำเภอท่ายาง เมื่อถึงจุดที่ห้วยหินเพลิงไหลมาบรรจบจึงเปลี่ยนไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ไหลผ่านเขตอำเภอบ้านลาด อำเภอเมืองเพชรบุรี และอำเภอบ้านแหลม ก่อนไหลลงสู่อ่าวไทย มีความยาว 233 กิโลเมตร[1]

แม่น้ำเพชรบุรีส่งตะกอนมาตกสะสมเกิดเป็นที่งอกและดินดอนชายฝั่ง มีปริมาณตะกอน 46 ตันต่อตารางกิโลเมตร[2] พื้นที่การเกษตรส่วนใหญ่ของจังหวัดเพชรบุรีตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบันจะอยู่ตามสองฟากฝั่งของแม่น้ำนี้

ลุ่มน้ำเพชรบุรี

[แก้]

ลุ่มน้ำเพชรบุรีมีพื้นที่ลุ่มน้ำ 5,603 ตารางกิโลเมตร หรือ 3.9 ล้านไร่ ครอบคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของจังหวัดเพชรบุรี มีปริมาณน้ำท่าเฉลี่ยรายปี 1,329 ล้านลูกบาศก์เมตร ลุ่มน้ำเพชรบุรีมีแม่น้ำเพชรบุรีเป็นแม่น้ำสายหลักและมีแม่น้ำสาขาสำคัญ ได้แก่ ห้วยแม่ประจันต์ ห้วยผาก ห้วยแม่ประโดน และแม่น้ำบางกลอย แม่น้ำเพชรบุรีมีต้นกำเนิดจากเทือกเขาสูงด้านตะวันตกอันเป็นเขตแดนระหว่างไทยกับพม่า ไหลผ่านแนวแกนกลางของลุ่มน้ำในแนวตะวันตก–ตะวันออกและไหลลงสู่อ่าวไทย ลุ่มน้ำเพชรบุรีแบ่งออกเป็น 4 ลุ่มน้ำย่อย ประกอบด้วยลุ่มน้ำเพชรบุรีตอนบน (2,210 ตารางกิโลเมตร) ลุ่มน้ำเพชรบุรีตอนกลาง (1,325 ตารางกิโลเมตร) ลุ่มน้ำเพชรบุรีตอนล่าง (1,325 ตารางกิโลเมตร) และลุ่มน้ำชายฝั่งทะเลเพชรบุรี (1,040 ตารางกิโลเมตร) ปัจจุบันมีโครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่และกลาง 17 โครงการ โครงการขนาดเล็ก 51 โครงการ มีพื้นที่ชลประทาน 562,688ไร่ มีความจุเก็บกักน้ำ 710 ล้านลูกบาศก์เมตร มีการพัฒนาแหล่งน้ำใต้ดินเพื่อการอุปโภคและบริโภคเป็นหลัก มีการขุดเจาะบ่อบาดาลรวม 760 บ่อ โดยกรมทรัพยากรธรณี กรมอนามัย กรมโยธาธิการ และสำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบท

  • แม่น้ำบางกลอย ต้นน้ำเกิดจากเขาวันมีในเขตอำเภอหนองหญ้าปล้อง ไหลมาบรรจบแม่น้ำเพชรบุรีในเขตอำเภอแก่งกระจาน มีความยาว 48 กิโลเมตร
  • ห้วยแม่ประโดน ต้นน้ำเกิดจากเทือกเขาบริเวณเขตติดต่อระหว่างอำเภอหนองหญ้าปล้อง จังหวัดเพชรบุรี กับอำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี และมีสาขาสำคัญ ได้แก่ ห้วยมะเร็ว ห้วยเสือกัดช้าง ห้วยสมุลแว้ง และไหลมาบรรจบแม่น้ำเพชรบุรีในเขตอำเภอแก่งกระจาน มีความยาว 56 กิโลเมตร
  • ห้วยผาก ต้นน้ำจากเขาอ่างแก้วและเขาน้ำหยดในบริเวณเขตอำเภอแก่งกระจาน ไหลมารวมกับแม่น้ำเพชรบุรีที่บริเวณใต้เขื่อนแก่งกระจานในเขตอำเภอแก่งกระจาน มีความยาว 30 กิโลเมตร
  • ห้วยแม่ประจันต์ ต้นน้ำจากเทือกเขาในเขตจังหวัดราชบุรี ไหลผ่านอำเภอหนองหญ้าปล้อง และไหลมาบรรจบแม่น้ำเพชรบุรีบริเวณเหนือเขื่อนเพชรบุรีในเขตอำเภอท่ายาง

ปลาในแม่น้ำเพชรบุรี

[แก้]

น้ำสำหรับพระราชพิธี

[แก้]

ตามโบราณราชประเพณีจะใช้จากแม่น้ำทั้ง 5 ในประเทศสยามคือ แม่น้ำบางปะกง แม่น้ำป่าสัก แม่น้ำท่าจีน แม่น้ำแม่กลอง และแม่น้ำเพชรบุรี ในการพระราชพิธีต่าง ๆ เป็นต้นว่าพิธีการถือพระน้ำพิพัฒน์สัตยาก็ใช้น้ำจากที่นี่เช่นกัน

เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชย์ใน พ.ศ. 2411 ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกตามที่ปรากฏในตราสาร ว่าด้วยกำหนดพระฤกษ์การพระราชพิธีราชาภิเษกในวันพุธ เดือน 12 ขึ้น 6 ค่ำ ปีมะโรง สัมฤทธิศก ต้องการน้ำเข้าพระราชพิธี จึงให้พระยาเพชรบุรีตักน้ำจากบริเวณท่าไชยจำนวนหนึ่งหม้อ โดยเอาใบบอนปิดปากหม้อแล้วเอาผ้าขาวหุ้มปากหม้อ ด้ายผูกติดมันตราประจำครั่งแต่งให้กรมการผู้ใหญ่คุมลงไปส่งยังพระนคร (กรุงเทพมหานคร) ในการพระราชพิธีราชาภิเษกสมโภชพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีการจัดพระราชพิธีตามมณฑลต่าง ๆ มณฑลราชบุรีได้จัดที่วัดมหาธาตุ จังหวัดเพชรบุรี โดยได้ใช้น้ำเพชรบุรีในพระราชพิธีนี้

ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชและพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสก็ได้ใช้น้ำจากแม่น้ำเพชรบุรี โดยประกอบพิธีน้ำอภิเษก ณ วัดมหาธาตุวรวิหาร ทำพิธีพลีกรรมตักน้ำที่เป็นสิริมงคล ณ สถานที่ศักดิ์สิทธิ์วัดท่าไชย ตำบลสมอพลือ อำเภอบ้านลาด[3]

น้ำเสวยสำหรับเครื่องต้น

[แก้]

เรื่องน้ำเพชรเป็นน้ำเสวยนั้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ตรัสไว้ในพระราชหัตถเลขาที่มีถึงเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย เมื่อวันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2465 ความตอนหนึ่งว่า "เรื่องแม่น้ำเพชรบุรีนี้ เคยทราบมาแต่ว่าถือกันเป็นน้ำดี เคยได้ยินพระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 5 รับสั่งว่า นิยมกันว่ามันมีรสแปลกกว่าน้ำลำน้ำเจ้าพระยา และท่านรับสั่งว่าพระองค์เองเคยเสวยน้ำเพชรบุรีเสียจนเคยแล้ว เสวยน้ำอื่น ๆ ไม่อร่อย จึงต้องส่งน้ำเสวยจากเมืองเพชรบุรี และน้ำนั้นเป็นน้ำเสวยจริง ๆ ตลอดมากาลปัจจุบัน" จึงน่าจะเป็นความภาคภูมิใจของชาวเมืองเพชรบุรีที่เล่าขานเสมอมาว่าน้ำเพชรฯ นั้นดีจืดอร่อย แม้แต่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว[4] ก็ยังโปรดเสวยน้ำเพชรที่ท่าไชย[5]

ความสำคัญของน้ำเพชรสิ้นสุดลงใน พ.ศ. 2465 โดยได้เปลี่ยนเป็นน้ำประปาแทน ทั้งนี้เพราะทางราชการได้พิจารณาเห็นว่าแม่น้ำเพชรบุรีตลอดสองฝั่งมีบ้านเรือนของราษฎรตั้งอยู่อย่างหนาแน่น น้ำในลำน้ำมีสิ่งปฏิกูลสกปรกไม่เหมาะสมที่จะเป็นน้ำเสวยอีกต่อไป จึงได้กราบบังคมทูลในรายงานของพระยายมราช เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ลงวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2465 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้มีพระราชกระแสให้งดการตักน้ำจากแม่น้ำเพชรบุรี

วันอนุรักษ์แม่น้ำเพชรบุรี

[แก้]

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จทรงหลั่งน้ำจากคนโท คืนชีวิตแก่แม่น้ำเพชรฯ ณ ท่าน้ำวังบ้านปืน (พระรามราชนิเวศน์) เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2541[6] โดยประชาชนชาวเมืองเพชรบุรีได้ร่วมกันถวายสัตย์ปฏิญาณต่อเบื้องพระพักตร์ว่า จะร่วมกันดูแลรักษาแม่น้ำเพชรบุรี ไม่สร้างความสกปรกให้กับแม่น้ำ และจะช่วยกันฟื้นฟูแม่น้ำเพชรบุรีให้คืนสู่ความใสสะอาดเหมือนในอดีต ซึ่งหลังจากนั้นมาผู้ว่าราชการจังหวัด ข้าราชการ และชาวเมืองเพชรบุรีก็จะไปทำพิธี ณ ท่าน้ำวังบ้านปืน (พระรามราชนิเวศน์) ทุกวันที่ 7 สิงหาคม ของทุกปี

บทกวีที่กล่าวขาน

[แก้]
  • แม่น้ำเพชรบุรีได้รับการกล่าวถึงใน นิราศเมืองเพชร ซึ่งสุนทรภู่ประพันธ์ขึ้น

โครงการชลประทาน

[แก้]

พื้นที่จังหวัดเพชรบุรีมีโครงการชลประทานขนาดใหญ่ มี 2 โครงการ คือ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเพชรบุรี และ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาราชบุรีฝั่งขวา ซึ่งส่งน้ำมาหล่อเลี้ยงพื้นที่ลุ่มน้ำเพชรบุรี โดยมีรายละเอียดดังนี้

  1. โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเพชรบุรี มีอ่างเก็บน้ำเขื่อนแก่งกระจาน เป็นแหล่งกักเก็บน้ำ มีพื้นที่อ่างเก็บน้ำ 30,000 ไร่ สามารถเก็บน้ำได้ 710 ล้านลูกบาศก์เมตร
  2. โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาราชบุรีฝั่งขวา รับน้ำจากเขื่อนวชิราลงกรณ จังหวัดกาญจนบุรี
  3. โครงการชลประทานขนาดกลาง มี 12 โครงการ มีพื้นที่เก็บน้ำ 15,030 ไร่ สามารถเก็บกักน้ำได้ 30.30 ล้านลูกบาศก์เมตร
  4. โครงการชลประทานขนาดเล็ก มี 1,097 โครงการ มีพื้นที่เก็บน้ำ 11,695 ไร่ สามารถเก็บกักน้ำได้ 41.12 ล้านลูกบาศก์เมตร

ดูเพิ่ม

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. ราชบัณฑิตยสถาน. อักขรานุกรมภูมิศาสตร์ไทย เล่ม ๑ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน. พิมพ์ครั้งที่ 5. กรุงเทพฯ : ราชบัณฑิตยสถาน, 2557, หน้า 133.
  2. ไม่มี ถนนตัดอ่าว เวทีสิ่งแวดล้อม ’47เก็บถาวร 2009-10-09 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  3. เอกสารประกอบการเรียน ส.072 ท้องถิ่นของเรา "จังหวัดเพชรบุรี" หมวดวิชาสังคม โรงเรียนพรหมานุสรณ์จังหวัดเพชรบุรี. จังหวัดเพชรบุรี. 2536.
  4. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2005-01-11. สืบค้นเมื่อ 2010-08-02.
  5. "เสวยน้ำเพชรที่ท่าไชยนับเป็นเกียรติคุณ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-05-21. สืบค้นเมื่อ 2010-08-02.
  6. สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จทรงหลั่งน้ำจากคนโท คืนชีวิตแก่แม่น้ำเพชรฯ ณ ท่าน้ำวังบ้านปืน