ข้ามไปเนื้อหา

แดน บราวน์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
แดน บราวน์
เกิด (1964-06-22) 22 มิถุนายน ค.ศ. 1964 (60 ปี)
เอ็กซีเตอร์ รัฐนิวแฮมป์เชียร์ สหรัฐอเมริกา
อาชีพนักเขียนนวนิยาย
สัญชาติอเมริกัน
แนวลึกลับ, ระทึกขวัญ, อิงประวัติศาสตร์
ผลงานที่สำคัญรหัสลับดาวินชี (พ.ศ. 2546)
คู่สมรสไบลธ์ นิวลอน (พ.ศ. 2540–2562)

ลายมือชื่อ
เว็บไซต์
www.danbrown.com

แดน บราวน์ (อังกฤษ: Dan Brown) นักเขียนชาวอเมริกัน มีชื่อเสียงกว้างขวางจากผลงานนิยายสืบสวนสอบสวนอิงประวัติศาสตร์อย่าง รหัสลับดาวินชี

ประวัติ

[แก้]

แดน บราวน์เกิดเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2507 โตในเมืองเอ็กซีเตอร์ รัฐนิวแฮมป์เชียร์ สหรัฐอเมริกา เป็นบุตรคนโตในพี่น้อง 3 คน คอนสแตนซ์ บราวน์ (นามสกุลเดิม เกอร์ฮาร์ด) มารดาเป็นนักดนตรีอาชีพ เล่นดนตรีในโบสถ์[1] ส่วนริชาร์ด จี. บราวน์ บิดาเป็นครูสอนคณิตศาสตร์ในโรงเรียนมัธยม Phillips Exeter Academy[2]

เนื่องจาก Phillips Exeter Academy ต้องการให้อาจารย์ใหม่อาศัยในตัวโรงเรียนด้วย ครอบครัวของเขาจึงอาศัยที่โรงเรียนนั้น และเป็นสถานศึกษาระดับมัธยมของบราวน์

บราวน์สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีจาก Amherst College ในปี พ.ศ. 2529[3] หลังจบการศึกษาเขาผันตัวมาเป็นนักดนตรีสมัครเล่น ทำอัลบั้มเพลงสำหรับเด็กขายได้ไม่กี่ร้อยแผ่น ต่อมาในปี พ.ศ. 2534 เขาก็ย้ายไปลอสแอนเจลิส เข้าทำงานกับวิทยาลัยประพันธ์เพลงแห่งชาติ และได้พบกับไบลธ์ นิวลอน (Blythe Newlon) รุ่นพี่หญิงที่มีอายุกว่าเขา 12 ปี ซึ่งเป็นผู้อำนวยการแผนกพัฒนาศิลปินของวิทยาลัย แม้งานไม่เกี่ยวข้องกันโดยตรง แต่นิวลอนก็ช่วยโปรโมตงานต่าง ๆ ของบราวน์ จนพัฒนาความสัมพันธ์กลายเป็นความรักโดยคนรอบตัวไม่ทราบ บราวน์แต่งงานกับนิวลอนในปี พ.ศ. 2540 ก่อนจะหย่าร้างในปี พ.ศ. 2562[4]

พ.ศ. 2536 บราวน์ย้ายกลับมานิวแฮมป์เชียร์บ้านเกิดพร้อมนิวลอน ที่นั่นบราวน์เป็นครูสอนภาษาอังกฤษ ณ โรงเรียนเก่าและสอนภาษาสเปนให้นักเรียนเกรด 6-8[5] จน พ.ศ. 2537 เขาหันมาเป็นนักเขียน เมื่อเขาไปพักผ่อนที่ตาฮิติ และได้อ่านนิยายเรื่อง แผนโลกาวินาศ (The Doomsday Conspiracy) ผลงานของซิดนีย์ เชลดอน (Sidney Sheldon)[6][7] นั่นเป็นจุดกำเนิดให้เขาลงมือเขียนนิยายเรื่องแรกของเขา ล่ารหัสมรณะ (Digital Fortress) และในปีเดียวกันบราวน์ได้ออกซีดีเพลงในชื่อ "Angels & Demons" ซึ่งภาพหน้าปกอัลบั้มเป็นภาพแอมบิแกรม ฝีมือศิลปินนามจอห์น แลงดอน (John Langdon) ที่ภายหลังชื่ออัลบั้มกลายเป็นชื่อนิยายเล่มที่สองของเขา เทวากับซาตาน (Angels & Demons) และได้นำเอาชื่อศิลปินที่วาดภาพปกอัลบั้มมาเป็นชื่อตัวละครเอกของเรื่อง

พ.ศ. 2539 บราวน์เลิกสอนและกลายมาเป็นนักเขียนอาชีพเต็มตัว ปีต่อมาผลงานนิยายเล่มแรกของเขา ล่ารหัสมรณะ ก็เสร็จสมบูรณ์และได้จัดพิมพ์ จากนั้นเขาออก เทวากับซาตาน ในปี พ.ศ. 2543 และ แผนลวงสะท้านโลก (Deception Point) ในปี พ.ศ. 2544

ผลงาน 3 เรื่องแรก ล่ารหัสมรณะ, เทวากับซาตาน และ แผนลวงสะท้านโลก ขายได้น้อยกว่าหมื่นเล่มในการพิมพ์ครั้งแรก จนออก รหัสลับดาวินชี (The Da Vinci Code) ในปี พ.ศ. 2546 หนังสือนี้กลายเป็นหนังสือติดอันดับหนังสือขายดีของนิวยอร์กไทมส์ตั้งแต่สัปดาห์แรกที่วางจำหน่าย และเป็นหนังสือขายดีตลอดกาลเล่มหนึ่ง ด้วยยอดขาย 81 ล้านเล่มทั่วโลกในปี พ.ศ. 2552[8] และมีการสร้างเป็นภาพยนตร์ ซึ่งส่งผลให้ผลงาน 3 เรื่องแรกของบราวน์กลับมามียอดจำหน่ายสูงอีกครั้ง และผลงานเรื่อง เทวากับซาตาน ก็ถูกสร้างเป็นภาพยนตร์ตามมา ออกฉายในปี พ.ศ. 2552 ต่อมาบราวน์ได้ออกผลงานเรื่องใหม่ชื่อ สาส์นลับที่สาบสูญ (The Lost Symbol) วางจำหน่ายในเดือนกันยายน ปีเดียวกัน

ในปี พ.ศ. 2556 บราวน์ออกผลงานในชุด โรเบิร์ต แลงดอน เล่มที่ 4 ชื่อ สู่นรกภูมิ (Inferno) ต่อมาในปี พ.ศ. 2560 บราวน์ออกผลงานชื่อ ออริจิน (Origin) ซึ่งเป็นนิยายเล่มที่ 5 ในชุด โรเบิร์ต แลงดอน

ผลงาน

[แก้]

เล่มเดี่ยว

[แก้]

ชุดโรเบิร์ต แลงดอน

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. Rogak, Lisa (May 7, 2013). Dan Brown: The Unauthorized Biography, St. Martin's Press. pp. 6-8. Archived at Google Books; retrieved August 3, 2017.
  2. Kaplan, James (September 13, 2009). "Life after 'The Da Vinci Code'". Parade.
  3. "Bestselling authors Dan Brown '86, Charles Mann '76 to speak Thursday" เก็บถาวร 2015-04-03 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, amherst.edu, September 24, 2013.
  4. CASEY, MICHAEL (June 30, 2020). "Ex-wife of 'Da Vinci Code' author Dan Brown alleges he led a double life". AP. สืบค้นเมื่อ July 1, 2020.
  5. "Dan Brown's Education Background". www.eduinreview.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2023-04-19. สืบค้นเมื่อ 2021-04-21.
  6. Lattman, Peter (March 14, 2006). "'The Da Vinci Code' Trial: Dan Brown's Witness Statement Is a Great Read". Wall Street Journal. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-03-29. สืบค้นเมื่อ November 13, 2011.
  7. "Decoding the Da Vinci Code author". BBC. August 10, 2004. สืบค้นเมื่อ May 18, 2009.
  8. Henninger, Daniel (19 May 2006). "Holy Sepulchre! 60 Million Buy 'The Da Vinci Code'". WSJ (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). สืบค้นเมื่อ 18 February 2019.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]