ข้ามไปเนื้อหา

รหัสลับดาวินชี

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
รหัสลับดาวินชี
ผู้ประพันธ์แดน บราวน์
ชื่อเรื่องต้นฉบับThe Da Vinci Code
ผู้แปลอรดี สุวรรณโกมล
ประเทศสหรัฐอเมริกา
ภาษาอังกฤษ
ชุดโรเบิร์ต แลงดอน
ประเภทนวนิยายสืบสวน
สำนักพิมพ์สหราชอาณาจักร สำนักพิมพ์ดับเบิลเดย์
ไทย แพรวสำนักพิมพ์
วันที่พิมพ์สหราชอาณาจักร 18 มีนาคม พ.ศ. 2546
ไทย พ.ศ. 2547
เรื่องก่อนหน้าเทวากับซาตาน 
เรื่องถัดไปสาส์นลับที่สาบสูญ 

รหัสลับดาวินชี (อังกฤษ: The Da Vinci Code) เป็นนวนิยายแนวลึกลับ-สืบสวนของแดน บราวน์ วางจำหน่ายเมื่อ พ.ศ. 2546 ปัจจุบันมีฉบับแปล 44 ภาษา และมียอดขายทั่วโลกรวมกันมากกว่า 80 ล้านเล่ม (ข้อมูลปี พ.ศ. 2552)[1] รหัสลับดาวินชีเป็นผลงานลำดับที่สองในชุดที่มีโรเบิร์ต แลงดอน เป็นตัวเอก สำหรับหนังสือฉบับภาษาไทยนั้น จัดพิมพ์โดยแพรวสำนักพิมพ์ แปลโดยอรดี สุวรรณโกมล

เนื้อเรื่องของรหัสลับดาวินชีเกี่ยวกับทฤษฎีสมคบคิดของคริสตจักร ในการปกปิดประวัติที่แท้จริงของพระเยซู รวมไปถึงปริศนาของจอกศักดิ์สิทธิ์ และบทบาทของมารีย์ชาวมักดาลา ในประวัติศาสตร์ของศาสนาคริสต์ การนำเสนอประเด็นเหล่านี้ในนิยายทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์เป็นอย่างมากถึงความเหมาะสม และความถูกต้องของข้อมูล โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับศาสนาคริสต์และนิกายโอปุสเดอี

นิยายเรื่องนี้ได้มีการอ้างถึงงานศิลปะและวรรณกรรมในสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยาเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะผลงานของเลโอนาร์โด ดาวินชี ศิลปินชาวอิตาลีตามชื่อเรื่อง ผลงานของดาวินชีที่นำมาอ้างถึงได้แก่ โมนาลิซา และภาพเขียน อาหารมื้อสุดท้าย (The Last Supper) เป็นต้น

บริษัทโคลัมเบียพิคเจอร์สได้สร้างภาพยนตร์ดัดแปลงจากนวนิยายเรื่องนี้ ออกฉายเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2549 โดยทอม แฮงส์ นักแสดงเจ้าของรางวัลออสการ์ รับบทเป็นโรเบิร์ต แลงดอน ชื่อที่ใช้ฉายในประเทศไทยคือ รหัสลับระทึกโลก

เรื่องย่อ

[แก้]

ฌาคส์ โซนิแยร์ ภัณฑารักษ์แห่งพิพิธภัณฑ์ลูฟวร์และประมุขแห่งสมาคมไพรเออรีออฟไซออน ถูกไซลาส นักบวชผิวเผือกผู้ทำงานให้กับบุคคลลึกลับที่ใช้ชื่อว่า "ท่านอาจารย์" ยิงเสียชีวิต มีคนพบร่างเขาในสภาพนอนกางแขนขาคล้ายภาพ "วิทรูเวียนแมน" และมีรูปดาวห้าแฉกอยู่บนตัว เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงเรียกโรเบิร์ต แลงดอน ศาสตราจารย์ด้านสัญลักษณ์วิทยาแห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ซึ่งในขณะนั้นมาบรรยายที่กรุงปารีสมาช่วยไขปริศนา

เจ้าหน้าที่ถอดรหัสของกรมตำรวจฝรั่งเศส โซฟี เนอเวอ ได้ลอบบอกแลงดอนว่าโซนิแยร์เป็นคุณตาของเธอเองและพวกตำรวจเชื่อว่าแลงดอนเป็นคนร้าย เนื่องจากหนึ่งในหลักฐานที่พบคือ ข้อความ "ตามหาโรเบิร์ต แลงดอน" แต่ถูกลบออกก่อนหน้านี้ แลงดอนและโซฟีตัดสินใจหนีออกจากพิพิธภัณฑ์และไปที่ธนาคารรับฝากทรัพย์สินซูริก สาขาปารีส แล้วใช้ลำดับเลขฟีโบนัชชีที่โซนิแยร์ทิ้งไว้เป็นรหัสผ่าน ทั้งคู่พบรหัสลิขิต ซึ่งเป็นกระบอกใส่ข้อความ จะเปิดได้ก็ต่อเมื่อถอดรหัส 5 ตัวให้ถูกต้อง หากพยายามจะเปิดด้วยวิธีอื่น กระบอกน้ำส้มสายชูที่อยู่ภายในจะแตกและจะทำลายข้อความซึ่งเขียนบนกระดาษพาไพรัส

ต่อมา แลงดอนและโซฟีได้เดินทางไปพบเซอร์ ลีห์ ทีบบิง ผู้เชี่ยวชาญด้านจอกศักดิ์สิทธิ์และเพื่อนของแลงดอน เขาอธิบายว่าโฮลี่เกรลไม่ได้หมายถึง "จอก" จริง ๆ แต่หมายถึงหลุมศพของแมรี แม็กดาเลน ทั้งสามจึงเดินทางตามหาหลุมศพดังกล่าวโดยใช้เครื่องบินส่วนตัวของทีบบิงบินออกนอกประเทศ พวกเขาสามารถเปิดรหัสลิขิตได้ แต่พบรหัสลิขิตอีกอันกับบทกวีปริศนาที่พาพวกเขาไปที่หลุมฝังศพของเซอร์ ไอแซก นิวตันในมหาวิหารเวสต์มินสเตอร์

เมื่อทั้งหมดไปถึง ทีบบิงก็เผยตัวตนว่าเขาเป็น "ท่านอาจารย์" ซึ่งต้องการโฮลี่เกรลในการทำลายศรัทธาของนครรัฐวาติกัน เขาจับโซฟีเป็นตัวประกันแล้วบังคับให้แลงดอนเปิดรหัสลิขิตชิ้นสุดท้าย ซึ่งแลงดอนทำได้สำเร็จและแกล้งทำลายรหัสลิขิตทิ้งต่อหน้าทีบบิง ต่อมาทีบบิงถูกจับโดยตำรวจจากกรมตำรวจฝรั่งเศสที่ติดตามแลงดอนมา ขณะเดียวกันตำรวจก็ติดตามซิลาสไปที่ศูนย์โอปุสเดอีและเกิดการยิงต่อสู้กัน ซิลาสยิงพลาดไปถูกบิชอปอาริงกาโรซ่า ประมุขแห่งโอปุสเดอีและผู้อุปถัมภ์เขาแต่เขารอดชีวิต ส่วนซิลาสถูกยิงเสียชีวิตในที่สุด

ข้อความในรหัสลิขิตชิ้นสุดท้าย พาแลงดอนและโซฟีไปที่วิหารโรสลินในสกอตแลนด์ ที่ซึ่งโซฟีได้พบกับพี่ชายและคุณยายที่ไม่ได้พบกันนาน คุณยายของเธอ มาเรีย โชเวล แซงต์-แคลร์ เป็นหนึ่งในผู้พิทักษ์ของไพรเออรีออฟไซออน ทำหน้าที่ปกป้องเชื้อสายของพระเยซูและแมรี แมกดาเลน หลังเกิดอุบัติเหตุที่คร่าชีวิตบิดาและมารดาของโซฟี เธอได้ส่งตัวโซฟีไปอยู่กับโซนิแยร์และดูแลพี่ชายของโซฟี

หลังเรื่องทุกอย่างยุติ แลงดอนได้เดินทางกลับปารีส เขาหวนนึกถึงข้อความสุดท้ายในบทกวี และพบว่าแท้จริงแล้ว "เกรล" อยู่ใต้พีระมิดขนาดเล็ก ใต้พีระมิดแก้วที่พิพิธภัณฑ์ลูฟวร์

ตัวละคร

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. "New novel from Dan Brown due this fall". San Jose Mercury News. สืบค้นเมื่อ 2011-01-04.