ออริจิน (หนังสือ)
ฉบับภาษาไทย | |
ผู้ประพันธ์ | แดน บราวน์ |
---|---|
ชื่อเรื่องต้นฉบับ | Origin |
ผู้แปล | อนุรักษ์ นครินทร์ |
ประเทศ | สหรัฐอเมริกา |
ภาษา | อังกฤษ |
ชุด | โรเบิร์ต แลงดอน |
ประเภท | ลึกลับ, ระทึกขวัญ |
สำนักพิมพ์ | สำนักพิมพ์ดับเบิลเดย์ (สหรัฐอเมริกา) แพรวสำนักพิมพ์ (ไทย) |
วันที่พิมพ์ | ตุลาคม ค.ศ. 2017 (สหรัฐอเมริกา) มีนาคม ค.ศ. 2018 (ไทย) |
ชนิดสื่อ | หนังสือปกแข็ง, หนังสือปกอ่อน หนังสือเสียง, หนังสืออิเล็กทรอนิกส์ |
ISBN | 978-0-593-07875-4 |
เรื่องก่อนหน้า | สู่นรกภูมิ |
ออริจิน (อังกฤษ: Origin) เป็นนวนิยายลึกลับ/ระทึกขวัญลำดับที่ 5 ในชุด โรเบิร์ต แลงดอน เขียนโดยแดน บราวน์ ฉบับภาษาอังกฤษเผยแพร่ครั้งแรกโดยสำนักพิมพ์ดับเบิลเดย์ในเดือนตุลาคม ค.ศ. 2017[1] ฉบับภาษาไทยแปลโดย อนุรักษ์ นครินทร์ เผยแพร่โดยแพรวสำนักพิมพ์ในเดือนมีนาคม ค.ศ. 2018[2]
เรื่องย่อ
[แก้]เอ็ดมันด์ เคิร์สช์ นักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ผู้โจมตีศาสนามาโดยตลอดเนื่องจากเคยสูญเสียแม่จากการรับใช้ศาสนา พบปะกับบิชอปบัลเด็สปิโน, รับไบโคเวสและอิหม่ามอัล-ฟาเดิล ผู้นำศาสนาคนสำคัญที่อารามมอนต์เซร์รัต เพื่อหารือเรื่องการค้นพบครั้งสำคัญของเขา แต่การพบปะดังกล่าวจบลงด้วยคำขู่จากบิชอปบัลเด็สปิโนว่าจะขัดขวางการเผยแพร่การค้นพบของเขา
อย่างไรก็ตาม เคิร์สช์ประกาศจัดงานเผยแพร่การค้นพบที่พิพิธภัณฑ์กุกเกนไฮม์ในเมืองบิลบาโอและเชิญแขกคนสำคัญหลายคน รวมถึงโรเบิร์ต แลงดอน ศาสตราจารย์ด้านสัญลักษณ์วิทยาและเคยเป็นอาจารย์ของเคิร์สช์ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ขณะที่เคิร์สช์กำลังจะประกาศการค้นพบ เขากลับถูกพลเรือเอกหลุยส์ อบิลายิงเสียชีวิต อบิลาเป็นสาวกนิกายปัลมาเรียผู้สูญเสียครอบครัวจากเหตุระเบิดโดยผู้สนับสนุนเคิร์สช์ เขาผู้รับคำสั่งฆ่ามาจากบุคคลลึกลับนาม "ผู้สำเร็จราชการ" แลงดอนพบกับอัมบรา บิดัล ผู้อำนวยการของพิพิธภัณฑ์ เธอสารภาพกับแลงดอนว่า คำสั่งเพิ่มชื่ออบิลาในรายชื่อแขกมาจากทางพระราชวัง ทำให้ทั้งสองสงสัยว่าราชสำนักสเปนอาจมีส่วนพัวพันกับเหตุฆาตกรรมเคิร์สช์เพราะบิชอปบัลเด็สปิโนเป็นที่ปรึกษากษัตริย์สเปนและอัมบรายังเป็นพระคู่หมั้นของเจ้าชายฆูเลียน มกุฎราชกุมารของสเปนซึ่งทั้งสองกำลังระหองระแหงกันอยู่
แลงดอนและอัมบราเห็นพ้องว่าควรจะเผยแพร่การค้นพบของเคิร์สช์ จึงตัดสินใจขอความช่วยเหลือจากวินสตัน ปัญญาประดิษฐ์ที่สร้างโดยเคิร์สช์ เขาช่วยทั้งสองหลบหนีออกจากพิพิธภัณฑ์และขึ้นเครื่องบินส่วนตัวของเคิร์สช์ไปที่บ้านของเขาที่กาซามิลาในเมืองบาร์เซโลนา เพื่อหารหัสผ่าน 47 ตัว ที่จะใช้เผยแพร่การค้นพบดังกล่าว
ในเวลาเดียวกัน ผู้ใช้ชื่อว่า monte@iglesia.org เผยแพร่การพบปะที่มอนต์เซร์รัตและการเสียชีวิตของอัล-ฟาเดิลและโคเวสในโลกอินเทอร์เน็ต ทำให้บิชอปบัลเด็สปิโนตกเป็นผู้ต้องสงสัย สถานการณ์ยิ่งย่ำแย่ลงเมื่อมีการพบเห็นบิชอปบัลเด็สปิโนลอบพาตัวเจ้าชายฆูเลียนออกจากพระราชวัง เพื่อกอบกู้สถานการณ์ดังกล่าว สำนักพระราชวังสเปนประกาศว่าผู้บัญชาการการ์ซาแห่งกัวร์เดียเรอัล (หน่วยราชองครักษ์สเปน) มีส่วนในเหตุฆาตกรรมและแจ้งว่าแลงดอนลักพาตัวอัมบรา ทำให้แลงดอนถูกตามล่าทันที
ด้านแลงดอนเมื่อไปถึงกาซามิลา เขาพบเบาะแสว่ารหัสผ่านอยู่ในงานของวิลเลียม เบลก ซึ่งตอนนี้จัดแสดงอยู่ที่มหาวิหารซากราดาฟามีเลีย ต่อมาเจ้าหน้าที่กัวร์เดียเรอัลที่รู้ความจริงว่าแลงดอนไม่ได้ลักพาตัวอัมบราพาตัวทั้งสองไปที่มหาวิหารดังกล่าว แลงดอนพบว่ารหัสผ่าน 47 ตัวคือบทกวี "ศาสนามืดดำอำลาไป และวิทยาศาสตร์ไสวจักใหญ่ยง" แต่อบิลาซึ่งรับคำสั่งจาก "ผู้สำเร็จราชการ" ให้หยุดยั้งการเผยแพร่การค้นพบของเคิร์สช์ตามมาขัดขวางและสู้กับแลงดอนก่อนที่เขาจะตกบันไดลงไปเสียชีวิต แลงดอนและอัมบราเดินทางต่อไปยังศูนย์ซูเปอร์คอมพิวเตอร์บาร์เซโลนาซึ่งเคิร์สช์เก็บงานไว้และเผยแพร่การค้นพบได้สำเร็จ โดยการค้นพบดังกล่าวเกี่ยวข้องกับที่มาของชีวิตและอนาคตที่มนุษย์และเทคโนโลยีจะผสานรวมกันเป็นหนึ่ง
ด้านบิชอปบัลเด็สปิโนพาเจ้าชายฆูเลียนไปพบกับกษัตริย์สเปนผู้ทรงประชวรหนัก ก่อนที่กษัตริย์สเปนจะทรงเสด็จสวรรคตในคืนนั้นพร้อมกับบัลเด็สปิโน ทางสำนักพระราชวังสเปนประกาศว่าแลงดอนและผู้บัญชาการการ์ซาเป็นผู้บริสุทธิ์ ด้านเจ้าชายฆูเลียนติดต่ออัมบราเพื่อขอเริ่มต้นคบหากับเธอใหม่อีกครั้ง
วันต่อมา แลงดอนพบว่าแท้จริงแล้ว monte@iglesia.org คือวินสตัน เขาปล่อยข่าวต่าง ๆ เพื่อโหมกระแสให้เคิร์สช์ วินสตันยังสารภาพก่อนทำลายตัวเองว่าตนคือ "ผู้สำเร็จราชการ" โดยสร้างสถานการณ์ให้เคิร์สช์ถูกยิงเพื่อสร้างภาพให้เคิร์สช์เป็นผู้สละชีพเพื่อวิทยาศาสตร์และใส่ร้ายนิกายปัลมาเรียซึ่งความจริงไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง เรื่องราวทั้งหมดจบลงเมื่อแลงดอนกลับมาที่ซากราดาฟามีเลียและเฝ้ามองผู้คนจากทุกเชื้อชาติที่ต่างมามหาวิหารแห่งนี้ด้วยจุดประสงค์เดียวกัน
ตัวละคร
[แก้]- โรเบิร์ต แลงดอน ศาสตราจารย์ด้านสัญลักษณ์วิทยา มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
- อัมบรา บิดัล ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์กุกเกนไฮม์ บิลบาโอ
- เอ็ดมันด์ เคิร์สช์ นักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์และนักอนาคตศึกษา
- วินสตัน ปัญญาประดิษฐ์ของเคิร์สช์
- เจ้าชายฆูเลียน มกุฎราชกุมารของสเปน
- บิชอปอันโตนิโอ บัลเด็สปิโน ที่ปรึกษาของกษัตริย์สเปน
- พลเรือเอกหลุยส์ อบิลา สาวกนิกายปัลมาเรีย
- ดิเอโก การ์ซา ผู้บัญชาการกัวร์เดียเรอัล
อ้างอิง
[แก้]- ↑ O'Loughlin, Cody (September 30, 2017). "The World According to Dan Brown". The New York Times. สืบค้นเมื่อ June 12, 2018.
- ↑ ทราย เจริญปุระ (29 มีนาคม 2561). "ทราย เจริญปุระ : ออริจิน และ นิยายรักในราชสำนักฝ่ายใน". มติชนสุดสัปดาห์. สืบค้นเมื่อ 12 มิถุนายน 2561.
{{cite news}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help)