ข้ามไปเนื้อหา

เอ็มทีวีไทยแลนด์

นี่คือบทความคุณภาพ คลิกเพื่อดูรายละเอียดเพิ่มเติม
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก เอ็มทีวี ไทยแลนด์)

เอ็มทีวีไทยแลนด์
MTV Thailand
ประเทศ ไทย
แบบรายการ
ระบบภาพ1080i (HDTV)
480i (SDTV)
ความเป็นเจ้าของ
เจ้าของบริษัท อันลิมิเต็ด คอนเท้นท์ จำกัด
ช่องรองVH1, Nickelodeon
ประวัติ
เริ่มออกอากาศยุคที่ 1: 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2544 - 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2554,
ยุคที่ 2: กันยายน พ.ศ. 2556 -
9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559
ลิงก์
เว็บไซต์mtvthailand.com
ออกอากาศ
เคเบิลทีวี
ไทยคม 53520 H 28125 3/4 (SD)
ทีวีดาวเทียม
ทรูวิชั่นส์ช่อง 362(HD)
จีเอ็มเอ็มแซตช่อง 35(SD)
Sunboxช่อง 65(SD)
PSIช่อง 158(SD)
Dynasatช่อง 128(SD)

เอ็มทีวีไทยแลนด์ (อังกฤษ: MTV Thailand) เป็นสถานีโทรทัศน์ทางดนตรีในประเทศไทย ปัจจุบันบริหารงานโดยบริษัท อันลิมิเต็ด คอนเท้นท์ จำกัด ออกอากาศครั้งแรกเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2544 โดยรายการแรกที่ออกอากาศคือรายการ เอ็มทีวีไทยแลนด์ฮิตลิสต์ ดำเนินรายการโดย วีเจแองจี้ ส่วนมิวสิกวิดีโอเพลงแรกที่เปิดคือ เพลงพันธ์ทิพย์ ของโลโซ สำหรับกลุ่มเป้าหมายหลักของเอ็มทีวีไทยแลนด์คือวัยรุ่นกินอาณาเขตตั้งแต่วัยรุ่นตอนต้น-ตอนปลาย อายุตั้งแต่ 12-25 ปี และกลุ่มเป้าหมายรองคืออายุตั้งแต่ 25-35 ปี

เอ็มทีวีไทยแลนด์ออกอากาศครั้งแรกบนช่อง 49 เครือยูบีซี ต่อมาย้ายมาช่องยูบีซี 32 ต่อมา เอ็มทีวีไทยแลนด์ประกาศย้ายการออกอากาศในไทยวันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2549 จากเคเบิลทีวี ช่องทรูวิชั่นส์ไปแพร่ภาพทางทีวีดาวเทียม ดีทีเอช[1] หรือรับชมผ่านเคเบิลทีวีท้องถิ่น ขณะนี้เอ็มทีวีไทยแลนด์ ได้ย้ายการออกอากาศจากสไมล์ทีวี เน็ตเวิร์ค โดยได้กลับมาออกอากาศ ทาง ทรูวิชั่นส์ เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2551 ย้ายมาอยู่ช่อง 85 เมื่อวันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2553 ออกอากาศในวันสุดท้ายของคืนวันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 ปัจจุบันเอ็มทีวีได้กลับมาออกอากาศใหม่อีกครั้งทางช่องทรูวิชันส์ เมื่อวันที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2556 โดยถ่ายทอดสัญญาณของเอ็มทีวีเอเชียมา และออกอากาศอย่างเป็นทางการผ่านระบบซีแบนด์ (ที่ได้รับสัมปทานความถี่ช่องดาวเทียมของ อสมท.) และเคยูแบนด์ในวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2556 ต่อมาในเดือนกันยายน พ.ศ. 2556 กลับมาฉายอีกครั้งในรูปแบบเอ็มทีวีไทยแลนด์

นอกจากการออกอากาศทางช่องสถานี เอ็มทีวีไทยแลนด์ยังมีกิจกรรมคอนเสิร์ต งานเทศกาลดนตรี อีกทั้งยังมีโครงการและกิจกรรมการกุศลต่าง ๆ

ประวัติการออกอากาศ

[แก้]

เอ็มทีวีในเอเชียเริ่มมีครั้งแรกในปี พ.ศ. 2535 โดยเริ่มจากเอ็มทีวีญี่ปุ่น หลังจากนั้นในปี พ.ศ. 2538 จึงได้มีเอ็มทีวีเอเชียซึ่งออกอากาศในหลายประเทศและได้รับความนิยม หลังจากนั้นในช่วงปี พ.ศ. 2544-2545 เอ็มทีวีเอเชียได้แยกช่องออกเป็นอีกสามช่องคือ เอ็มทีวีฟิลิปปินส์ เอ็มทีวีไทยแลนด์ และเอ็มทีวีอินโดนีเซีย[2]

เอ็มทีวีไทยแลนด์ เป็นสถานีโทรทัศน์ทางดนตรีในประเทศไทย 24 ชั่วโมง เป็นการร่วมลงทุนกันระหว่างเอ็มทีวีเอเชียเน็ทเวิร์ค และบริษัท มีเดีย คอมมูนิเคชั่น เน็ทเวิร์คส จำกัด ภายใต้การบริหารงานของบริษัท มิวสิก เทเลวิชั่น เน็ทเวิร์ค จำกัด (บริษัทในเครือบริษัท มีเดีย คอมมูนิเคชั่น เน็ทเวิร์คส จำกัด) โดยออกอากาศครั้งแรกเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2544[3] โดยรายการแรกที่ออกอากาศคือรายการ เอ็มทีวีไทยแลนด์ฮิตลิสต์ ดำเนินรายการโดย วีเจแองจี้ ส่วนมิวสิกวิดีโอเพลงแรกที่เปิดคือเพลง "พันธ์ทิพย์" ของโลโซ ส่วนเพลงสากลเพลงแรกที่ออกอากาศคือเพลง "ป็อป" ของวงเอ็นซิงก์[4] โดยออกอากาศทางช่องยูบีซี 49 แทนช่องเอ็มทีวีเอเชียที่มีอยู่เดิมทางยูบีซี[5] ต่อมา 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2548 ยูบีซีได้จัดลำดับเลขช่องรายการใหม่ โดยย้ายจากช่อง 49 มาอยู่ที่ช่อง 32[6]

ต่อมาเอ็มทีวีไทยแลนด์ประกาศย้ายการออกอากาศในไทยวันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2549 จากเคเบิลทีวี ช่องทรูวิชั่นส์ เนื่องจากหมดสัญญา 5 ปี[7] ไปแพร่ภาพทางทีวีดาวเทียม ดีทีเอช และ กับลูกค้าเคเบิลท้องถิ่น 2 ล้านครัวเรือน โดยออกอากาศพร้อมช่องเครือข่ายอย่าง วีเอชวัน และนิกเคลโลเดียน[8] ออกอากาศต่อเนื่องถึงวันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2551 หลังจากนั้นอยู่ในช่วงไม่ได้ออกอากาศที่ใด (ออฟแอร์)[9]

เอ็มทีวีไทยแลนด์ได้กลับมาทดลองออกอากาศทางทรูวิชั่นส์ ช่อง 111 เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2551 จากนั้นย้ายมาที่ช่อง 85 เมื่อวันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2553 โดยอยู่ในแพ็กเกจโกลด์ของทรูวิชั่นส์เฉพาะระบบจานดาวเทียม เอ็มทีวีไทยแลนด์ออกอากาศในวันสุดท้ายของคืนวันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 และ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 ได้ปิดตัวลงอย่างเป็นทางการ[10]

ไวอาคอมอินเตอร์เนชันแนลมีเดียเนตเวิร์กเอเชีย ประกาศข้อตกลงให้สัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิโดยเด็ดขาดกับ บริษัท แอปเปิลทูล บริษัทในเครือวีอาร์วันมีเดียกรุป ทำให้เอ็มทีวีไทยแลนด์กลับมาออกอากาศในประเทศไทย โดยถ่ายทอดสัญญาณของเอ็มทีวีเอเชียมา เริ่มทดลองออกอากาศเมื่อวันที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2556 ทางทรูวิชั่นส์ ช่อง 59 สำหรับแพ็กเกจฟรีวิว และจานดาวเทียม ไทยคม 5 ระบบซีแบนด์ และออกอากาศอย่างเป็นทางการวันที่ 1 พฤษภาคม ในปีเดียวกัน ผ่านระบบดาวเทียมฟรีแบนด์ และเคยูแบนด์[11] หลังจากนั้นเอ็มทีวีไทยแลนด์กลับมาออกอากาศ ภายใต้บริษัท อันลิมิเต็ด คอนเท้นท์ จำกัด เกิดจากการร่วมทุนระหว่าง บริษัท ดีเอ็นเอ 2002 จำกัด (มหาชน) ในสัดส่วน 50% กับทางนายกุลพงศ์ บุนนาค และนายอมฤต ศุขวณิช อีก 50% ด้วยทุนจดทะเบียนเบื้องต้น 20 ล้านบาท โดยได้รับสิทธิ์ดูแลเอ็มทีวีไทยแลนด์ 5 ปี[12]

รูปแบบและรายการ

[แก้]

รูปแบบรายการตอบสนองไลฟ์สไตล์ของวัยรุ่น สำหรับกลุ่มเป้าหมายหลักของเอ็มทีวีไทยแลนด์คือวัยรุ่นกินอาณาเขตตั้งแต่วัยรุ่นตอนต้น-ตอนปลาย อายุตั้งแต่ 12-25 ปี และกลุ่มเป้าหมายรองคืออายุตั้งแต่ 25-35 ปี[13] โดยมีรูปแบบรายการในส่วนของดนตรี เพลง ศิลปิน ภาพยนตร์ ไลฟ์สไตล์ และรายการเรียลลิตี้โชว์

รายการสด

[แก้]

เอ็มทีวี มีรายการสด 2 รายการคือ เอ็มทีวีอาฟเตอร์สคูล เวลา 18.00 น. และรายการเอ็มทีวีออนแอร์ไลฟ์ เวลา 19.00 ในรายการนี้มีสัมภาษณ์สดกับศิลปิน ส่วนในวันศุกร์จะมีเนื้อหาเกี่ยวกับภาพยนตร์

รายการเฉพาะทาง

[แก้]

รายการที่เสนอแนวดนตรีแต่ละประเภทต่าง ๆ เช่น เอ็มทีวีออนเดอะร็อก เป็นรายการเพลงร็อกตั้งแต่แนวฮาร์ดคอร์ เฮฟวี่เมทัล จัดรายการโดยวีเจเจน เอ็มทีวีเดอะครีม รายการเพลงร็อกทันสมัย เพลงร็อกฝั่งอังกฤษ อัลเทอร์เนทีฟ[14][ต้องการอ้างอิง] เอ็มทีวีเอเชียดีไลต์ รายการเพลงเอเชีย เปิดเพลงหลาย ๆ ประเทศในเอเชีย ตั้งแต่ เกาหลี ไต้หวัน ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ จีน เป็นต้น จัดรายการโดยวีเจนิกกี้ ดาฮิป รายการเพลงแนวฮิปฮอป อาร์แอนด์บี ไม่มีวีเจ[15] เอ็มทีวีสปินน์ รายการเพลงแด๊นซ์ เต้นรำ ทันสมัยที่เปิดในคลับ และ เอ็มทีวีชิลล์เอาต์ เปิดเพลงแนวชิลล์เอาท์ ผ่อนคลาย

อื่น ๆ

[แก้]

รายการโดยส่วนใหญ่ จะเปิดมิวสิกวิดีโอโดยไม่มีวีเจ ส่วนรายการที่แนะนำเพลงใหม่ประจำสัปดาห์คือรายการ เอ็มทีวีเดบิวต์ นอกจากนั้นยังมีการจัดอันดับเพลงตามยอดการขอและยอดการเปิดออกอากาศจากทุกๆ รายการในรายการ เอ็มทีวีชาร์ท [16]

เอ็มทีวีไทยแลนด์ยังมีรายการนำเสนอข่าวออกอากาศทุกวัน ความยาวประมาณ 10 นาที ในรายการ เอ็มทีวีบัซซ์ [17] และยังมีรายการเกี่ยวกับภาพยนตร์ คือรายการ เอ็มทีวีสกรีน

รายการต่างประเทศ

[แก้]

เอ็มทีวีไทยแลนด์ได้นำเสนอรายการจากต่างประเทศทั้งฝั่งอเมริกา ยุโรปและเอเชีย โดยรายการจากอเมริกาส่วนใหญ่เป็นรายการเรียลลิตี้โชว์ เช่น รายการ พิมป์มายไรด์ เป็นรายการที่แรกเดิมพิธีกรคือ เอกซ์-ซิบิต เป็นรายการนำรถเก่าจากคนทางบ้านมาแต่งใหม่[18] ได้รับความนิยมอย่างมากจนมีเวอร์ชัน เอ็มทีวีพิมป์มายไรด์อินเตอร์เนชันแนล และ พิมป์มายไรด์ยูเค ส่วนรายการที่ได้รับความนิยมไม่แพ้กันคือ พังก์'ด มีพิธีกรคือ แอชตัน คุชเชอร์ ที่สร้างสถานการณ์กลั่นแกล้งคนดัง เป็นรายการประเภทซ่อนกล้อง มีดาราที่ถูกกลั่นแกล้งเช่น จัสติน ทิมเบอร์เลคเอค่อนโจส สโตน เป็นต้น และมีรายการประเภทซ่อนกล้องอีกรายการที่ยั่วโมโหคน คือรายการ บอยลิงพอยต์

รายการเรียลลิตี้โชว์ มีอยู่หลายรายการทั้งเรียลลิตี้โชว์คนดังอย่าง ดิแอชลีซิมป์สันโชว์ ดิออสบอร์นส และ นิวลีเวดส์: นิกแอนด์เจสสิกา ไลฟ์ออฟไรอัน และ รายการประเภทนัดบอดมีอยู่หลายรายการ เช่น รูมไรเดอร์ส เอ็มทีวีสกอร์ ส่วนรายการเรียลลิตี้ประเภทกึ่งสารคดี เช่น เอ็มทีวีทรูไลฟ์ และ เอตธ์แอนด์โอเชียน เป็นต้น ยังมีรายการประเภทแอนิเมชัน เช่น แวส์มายด็อกแอต? และ อูซาวิช เป็นต้น

ส่วนรายการที่ผลิตจากเอ็มทีวี เอเชีย ส่วนใหญ่จะเป็นรายการเพื่อสนับสนุน ศิลปินประจำเดือน เช่น เอ็มทีวีแอสก์ ไฟฟ์ติงส์ยูนีดทูโนว์ ท็อปเทนเฟเวอริตส์ เป็นต้น

รายการประเภทการแจกรางวัล ในเอ็มทีวีแต่ละภูมิภาคมักจะมีมอบรางวัลให้กับศิลปิน มิวสิกวิดีโอ ภาพยนตร์ คือ

รายการในช่องฟรีทีวี

[แก้]

นอกจากออกแพร่ภาพทางช่องเคเบิลทีวีแล้ว เอ็มทีวีไทยแลนด์ยังมีรายการออกอากาศทางฟรีทีวี คือรายการ เอ็มทีวีนิวส์ออนทีไอทีวี ทางช่องทีไอทีวี เป็นรายการสรุป ข่าว เบื้องหลังต่าง ๆ ไม่ว่าดนตรี หรือภาพยนตร์ เริ่มออกอากาศครั้งแรกวันศุกร์ที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550[19] แต่ก็ได้ยกเลิกออกอากาศไปหลังจากที่สถานีทีไอทีวีถูกระงับการออกอากาศไป และต่อมากับรายการทางช่อง 5 ชื่อรายการ เอ็มทีวีสกูลแอตแท็ก ที่มีรูปแบบรายการนำศิลปินไปสร้างความประหลาดใจ ออกอากาศวันพฤหัส เวลา 17.05 – 17.30 น. ดำเนิน รายการโดย ศุภกาญจน์ ปลอดภัย และภูมิใจ ตั้งสง่า[20] ปัจจุบันยุติการออกอากาศไปแล้ว

วีเจ VJ (Video Jockey)

[แก้]
จากซ้ายไปขวา วีเจจอห์น วีเจแอนนี่ วีเจเจน วีเจนิกกี้ และวีเจภูมิ

วีเจที่มาจากการคัดเลือกในโครงการวีเจฮันต์ คือ "วีเจภูมิ" และ "วีเจนิกกี้" "วีเจอเล็กซ์" "วีเจแวว"

วีเจภูมิยังเป็นดีเจทางคลื่น เวอร์จิ้นฮิต เคยเป็นพิธีกรให้กับเวทีทอง และมีผลงานภาพยนตร์ชุมทางรถไฟผี วีเจนิกกี้อดีตเชียร์ลีดเดอร์ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีผลงานภาพยนตร์โฆษณาผลิตภัณฑ์ไนกี้คู่กับนักฟุตบอลลีซอ วีเจเจน ได้ฝากผลงานถ่ายนิตยสาร และเป็นนักแสดง พิธีกร

ตำแหน่งศิลปินประจำเดือน

[แก้]

ตำแหน่งศิลปินประจำเดือนในอดีต

[แก้]

ในแต่ละเดือน เอ็มทีวีไทยแลนด์ จะนำเสนอศิลปินประจำเดือน (Platform) โดยในส่วนของศิลปินต่างประเทศ มีตำแหน่ง "อาร์ทิสต์ออฟเดอะมันธ์" "บัซเวิร์ธตี" "เอ็มทีวีฮอต"

"อาร์ทิสต์ออฟเดอะมันธ์" เป็นศิลปินต่างประเทศที่มีชื่อเสียงแล้ว ที่ผ่านมาเช่น อาวริล ลาวีญ ลินคิน พาร์ค เป็นต้น โดยเอ็มทีวีไทยแลนด์ จะมีรายการพิเศษจากต่างประเทศ เช่นรายการ เมกกิงออฟวิดีโอ เป็นต้น ส่วน "บัซเวิร์ธตี" เป็นศิลปินใหม่ที่ได้รับความนิยม ที่ผ่านมา เช่น มิคา, อาร์กติก มังกี้ส์, มาย เคมิคอล โรแมนซ์ เป็นต้น ส่วน "เอ็มทีวีฮอต" เป็นตำแหน่งศิลปินเอเชียประจำเดือนที่ผ่านมา เช่น โบอา แวนเนส วู เอส.เอช.อี. และ เจย์ โจว์ เป็นต้น ส่วนตำแหน่งของศิลปินไทยคือ "เอ็มทีวีอาร์ทิสต์โฟกัส" และ "เอ็มทีวีอเลิร์ตอาร์ทิสต์" สำหรับศิลปิน "เอ็มทีวีอาร์ทิสต์โฟกัส" คือศิลปินที่มีชื่อเสียงแล้วกำลังจะมีผลงานอัลบั้มใหม่ ที่ผ่านมาส่วน "เอ็มทีวีอาร์ทิสต์โฟกัส" เดิมชื่อ "เอ็มทีวีโมโตอเลิร์ตอาร์ทิสต์" เป็นตำแหน่งศิลปินใหม่ที่น่าจับตามอง

นอกจากนั้นยังมีตำแหน่ง "เอ็มทีวีดู๊ด" ที่คัดสรรห้าบุคคลที่เป็นตัวอย่าง น่าเชื่อถือ ในอาชีพต่าง ๆ โดยสามารถติดตามรายการพิเศษของตำแหน่ง "เอ็มทีวีดู๊ด" จากรายการ เอ็มทีวีบล็อก

ตำแหน่งศิลปินประจำเดือนในปัจจุบัน

[แก้]

ประจำบันตำแหน่งศิลปินประจำเดือน ในตำแหน่ง "เอ็มทีวีฟีตเจอร์อาร์ทิส" สำหรับศิลปินทั้งในและต่างประเทศ โดยศิลปินเพลงสากลเป็นศิลปินเดียวเช่นเดียวกับของเอ็มทีวีเอเชีย ส่วนศิลปินไทยและศิลปินเอเชีย เอ็มทีวีไทยแลนด์จะเป็นฝ่ายคัดเลือกศิลปินมานำเสนอ

นอกจากนี้ยังมีตำแหน่ง "ดิสอีส" เป็นศิลปินใหม่ที่ยังไม่ได้รับความนิยม เป็นเพลงที่หาฟังได้ไม่บ่อย แต่เอ็มทีวีไทยแลนด์อยากแนะนำให้เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง โดยจะนำเสนอเป็นแนวเพลงในสปอตโฆษณา อยู่ 4 ตัว เช่น ดีสอีสร็อก ดีสอีสป็อป ดีสอีสฮิปฮอป คละกันทั้งศิลปินไทยและต่างประเทศ โดยใน 1 เดือนอาจมีให้ดู 4 หรือ 8 ศิลปิน เป็นตำแหน่งประจำเดือนที่มีช่วงเวลากลางเดือนหนึ่ง (ประมาณวันที่ 15) ถึงอีกกลางเดือนหนึ่ง

สำหรับตำแหน่ง "เอ็มทีวีพุช" เป็นตำแหน่งศิลปินประจำเดือนที่เหมือนกันกับเอ็มทีวีกว่าอีก 140 ประเทศทั่วโลก คือศิลปินที่เอ็มทีวีต่างลงความเห็นว่าควรผลักดันให้ศิลปินนั้นเกิด[21]

ชาร์ท อันดับเพลง

[แก้]

เอ็มทีวีไทยแลนด์ มีการจัดอันดับประจำสัปดาห์ ทั้งชาร์ทเพลงไทยและเพลงสากล ซึ่งวัดผลจากยอดขอเพลงจากผู้ฟังและจำนวนการเปิดเพลง ประกาศผลทุกวันเสาร์ในรายการ เอ็มทีวีชาร์ท และถือนับเป็นชาร์ทเพลงที่บ่งบอกความนิยมของผู้ฟังประเทศไทยชาร์ทหนึ่ง[22] โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอันดับเพลงได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนเกาหลี อย่างเช่น เมื่อครั้งที่วงโซนยอชิแด กลุ่มนักร้องสาวไปออกรายการโทรทัศน์ที่ชื่อ Park Joong Hoon Show Korea Sunday Night เมื่อวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2552 พิธีกรก็ได้บอกข้อมูลให้ทางวงให้ทราบว่าเพลง "กี" (Gee) ของทางวงขึ้นอันดับ 1 ชาร์ทเพลงสากล ทำให้ทางวงกล่าวขอบคุณแฟนเพลงชาวไทย เป็นภาษาไทยในครั้งนี้[23] หรือเมื่อครั้งที่เพลง "Tell Me" ของวงวันเดอร์เกิลส์ ขึ้นอันดับ 1 บนชาร์ทเดียวกัน ทางสื่อเกาหลีก็เสนอข่าวดังกล่าวเกี่ยวกับวง ซึ่งทางวงก็รู้ข่าวว่าขึ้นอันดับ 1 ของชาร์ทนี้เมื่อครั้งที่อยู่ที่เกาหลี[24]

นอกจากชาร์ทประจำสัปดาห์แล้ว ในปลายปีเอ็มทีวีไทยแลนด์ยังมีการสรุปอันดับเพลงประจำปี ของทุก ๆ ปี ด้วย

เอ็มทีวี เอเชีย อวอร์ดส

[แก้]
ไทยเทเนี่ยมในงานเอ็มทีวี เอเชีย อวอร์ดส

งานประกาศผลรางวัลรางวัล เอ็มทีวี เอเชีย อวอร์ดส จัดขึ้นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2545 ที่ประเทศสิงคโปร์ โดยได้รับความนิยมอย่างสูงในหมู่ผู้ชมอายุระหว่าง 15 จนถึง 34 ปี งานนี้ถือเป็นปรากฏการณ์ที่แสดงถึงการผสมผสานอย่างลงตัวของวัฒนธรรมตะวันออกและตะวันตก โดยเป็นการรวมตัวของสุดยอดศิลปินระดับนานาชาติและระดับท้องถิ่นที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในภูมิภาคนี้

ในปี ค.ศ. 2005 งานประกาศผลรางวัล เอ็มทีวี เอเชีย อวอร์ดส ได้เปลี่ยนเป็นงานการกุศลเพื่อช่วยระดมความช่วยเหลือแก่ผู้ประสบภัยจากคลื่นยักษ์สึนามิ โดยใช้ชื่องานว่า เอ็มทีวี เอเชีย เอด (MTV Asia Aid) จัดขึ้นใน วันที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2548 โดยความร่วมมือของเอ็มทีวีกับองค์การยูนิเซฟ ซึ่งถือว่าเป็นงานระดมทุนที่ยิ่งใหญ่จากการจัดงาน โดยมีศิลปินสาวอาร์แอนด์บี ระดับโลกอลิเชีย คียส์

โดยในงานประกาศผลรางวัลรางวัล เอ็มทีวี เอเชีย อวอร์ดส มีการมอบรางวัลสาขาศิลปินไทยยอดนิยม ผู้ได้รับรางวัลในปี พ.ศ. 2545 คือ "พรู" พ.ศ. 2546 คือ "ดีทูบี" พ.ศ. 2547 คือ "ธงไชย แมคอินไตย์" พ.ศ. 2548 คือ "ซิลลี่ ฟูลส์" พ.ศ. 2549 คือ "ทาทา ยัง" และ พ.ศ. 2551 คือ "ศักดิ์สิทธิ์ เวชสุภาพร" ผลรางวัลได้มาจากการโหวดลงคะแนนทาง เว็บไซต์ เอสเอ็มเอส และ ไปรษณียบัตร[25]

ประเทศไทยได้เป็นเจ้าภาพการจัดอยู่ 2 ครั้งในปี พ.ศ. 2548 ที่อิมแพ็ค อารีน่า เมืองทองธานี และปี พ.ศ. 2549 ที่รอยัล พารากอน ฮอลล์ สยามพารากอน[26]

กิจกรรม

[แก้]

เทศกาลดนตรีและกิจกรรมคอนเสิร์ต

[แก้]

เอ็มทีวีไทยแลนด์ได้มีกิจกรรมคอนเสิร์ตร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยในงานพัทยา มิวสิก เฟสติวัล โดยเริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 เอ็มทีวีไทยแลนด์ได้จัดงานพัทยามิวสิกเฟสติวัล 3 วัน 3 เวที ในวันที่ 18 – 20 มีนาคม พ.ศ. 2548 ภายใต้แนวคิดความบันเทิงของเสียงเพลงที่ไร้พรมแดน โดยศิลปินที่มา เช่น ทาทา ยัง เคน ชู (เอฟโฟร์) มาโกโตะ (ลูซิเฟอร์) เครสเชนโด้ อาร์มแชร์ บิ๊กแอส เป็นต้น[27]

ในปี พ.ศ. 2549 มีส่วนร่วม 1 เวทีคือเวทีสีส้ม มีศิลปินที่มาร่วมแสดงเช่น ไทยเทเนี่ยม บอดี้สแลม แคลช อำพล ลำพูน เป็นต้น ส่วนในปี พ.ศ. 2550 เอ็มทีวีไทยแลนด์มีส่วนร่วม 2 เวที ทั้ง 3 วัน โดยเวทีเมนสเตจ มีศิลปินที่มาร่วมแสดง เช่น ทาทา ยัง สล็อต แมชชีน อีโบล่า เบบี้วอกซ์รีฟ ส่วนเวทีอินดี้ เช่น วง ซิลลี่ ฟูลส์ อพาร์ตเมนต์คุณป้า ขอนแก่น เป็นต้น

สำหรับการจัดคอนเสิร์ต เอ็มทีวีไทยแลนด์ได้จัดคอนเสิร์ตครั้งแรกใช้ชื่อ "เอ็มทีวีไลฟ์" โดยศิลปินแรกที่ประเดิมคือวงฮิปฮอป ไทยเทเนี่ยม ในชื่อคอนเสิร์ต MTV LIVE – Thaitanium Uncensored จัดขึ้นในวันพุธที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2549บีอีซี เทโร ฮอลล์ สวนลุม ไนท์ บาซาร์ โดยมีแฟนเพลงร่วมกว่า 4,500 คน และต่อมาได้จัดคอนเสิร์ต “ซัมซุง พรีเซ็นท์ส เดอะ ดูเอ็ทส์ คอนเสิร์ต” ที่เป็นคอนเสิร์ตประชันเพลงคู่ของศิลปินอย่าง "ทาทา ยัง" คู่กับ "บุรินทร์" "กรู๊ฟไรเดอร์" "ก้อง นูโว" คู่กับ "นิโคล เทริโอ" "ป๊อด โมเดิร์นด็อก" คู่กับ "ปาล์มมี่" "บอย ตรัย" คู่กับ "อีทีซี" และ "เบน ชลาทิศ" คู่กับ "บี พีระพัฒน์" โดยจัดขึ้นในวันเสาร์ที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2552 มีผู้ชมกว่า 7,000 คน

เอ็มทีวีไทยแลนด์ ยังจัดกิจกรรม วีเจฮันต์ที่ได้เปิดโอกาสให้กับหนุ่มสาวรุ่นใหม่ ได้แสดงความสามารถของตัวเองผ่านการแข่งขัน[28] โดยผู้ชนะเลิศจะได้เป็นวีเจทางช่องเอ็มทีวีไทยแลนด์ ผู้ชนะเลิศในโครงการนี้เช่น วีเจภูมิ วีเจนิกกี้ วีเจอเล็กซ์ วีเจจอห์น วีเจแวว

และคอนเสิร์ตกิจกรรมอื่น ๆ เช่น โค้กมิวสิกเอาต์เบรกเป็นกิจกรรมประกวดวงดนตรีจากโรงเรียนต่าง ๆ สไปรต์เอ็มทีวีสตรีตเฟสติวัล เป็นงานชุมนุมกิจกรรมสตรีทคัลเจอร์ เช่น บี-บอย เอ็มซี กราฟฟิตี้ เป็นต้น

กิจกรรมเพื่อสังคม

[แก้]

เอ็มทีวีตระหนักถึงปัญหาเรื่องโรคเอดส์ มีผู้ติดเชื้อเอชไอวี เพิ่มขึ้นทุกวัน เอ็มทีวีสามารถเข้าถึงกลุ่มวัยรุ่นและมีอิทธิพลทางความคิดของพวกเขา เอ็มทีวีเป็นสื่อที่มีบทบาทสำคัญในการเข้าถึงกลุ่มเยาวชน และวิถีการดำเนินชีวิตของพวกเขา

เอ็มทีวีไทยแลนด์ได้จัดกิจกรรม เพื่อรณรงค์การป้องกันเอดส์นั่นก็คือคอนเสิร์ตเอ็มทีวีมิวสิกซัมมิตฟอร์เอดส์ 2003 ในวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2546อินดอร์สเตเดียม หัวหมาก วัตถุประสงค์เพื่อตระหนักเกี่ยวกับเชื้อไวรัสชนิดนี้ และสอนวิธีการป้องกันไปจนถึงการดำรงชีวิตให้ปลอดภัย โดยก่อนหน้านั้น เมื่อกลางปีมีการประชุมเอดส์โลก (xv International AIDS Conference) ที่ประเทศไทย และ เอ็มทีวีไทยแลนด์มีโอกาสได้ทำสกู๊ปพิเศษเกี่ยวกับงานประชุมในครั้งนี้ และสัมภาษณ์นักแสดงที่เดินทางมาร่วมงาน รณรงค์ให้ผู้คนตระหนักถึงไวรัสชนิดนี้ และป้องกันการเกิดโรค โดยนักแสดงที่มาได้แก่ริชาร์ด เกียร์ แอชลีย์ จัดด์ และโคโค่ ลี และยังมีการจัดงานต่อเนื่องในปี พ.ศ. 2547 และ พ.ศ. 2548 ในงาน "MTV Staying Alive"

3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2548 เอ็มทีวีได้ระดมทุนช่วยเหลือเพื่อนำไปสนับสนุนการฟื้นฟูประเทศต่าง ๆ ในเอเชียที่ได้รับความเสียหายจากสึนามิ ในงานเอ็มทีวี เอเชีย เอด (MTV Asia Aid) ที่อิมแพ็ค อารีน่า เมืองทองธานี นอกจากนี้เอ็มทีวียังได้เชิญองค์กรช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมระดับโลกอย่าง "ยูนิเซฟ" มาเป็นผู้รับบริจาคหลักของโครงการนี้ เนื่องจากหนึ่งในสามของผู้ประสบภัยในครั้งนี้เป็นเด็กและเยาวชน ซึ่งนับว่าเป็นกลุ่มที่เปราะบางมากที่สุด[29] เงินบริจาคส่วนใหญ่ที่รวบรวมได้ในครั้งนี้จะมอบให้กับยูนิเซฟ ส่วนในประเทศไทย จะมอบให้กับมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ในพระบรมราชูปถัมภ์ และกองทุนเงินช่วยเหลือผู้ประสบภัย สำนักนายกรัฐมนตรี อีกส่วนหนึ่งจะมอบให้กับกองทุนบรรเทาทุกข์ ของนายกรัฐมนตรีแห่งอินเดีย[30]

และในวันครบรอบ 3 ปีของเอ็มทีวีไทยแลนด์ ได้เชิญบรรดาศิลปิน นักร้องจากค่ายต่าง ๆ มากมาย วีเจ และผู้ชมรายการ ร่วมทำบุญบริจาคโลหิตและออกร้าน ในงาน “เอ็มทีวียังบลัดโดเนชัน 2004" ณ ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ[31]

เอ็มทีวีไทยแลนด์ ร่วมกับเอ็มทีวียุโรปฟาวเดชันที่ได้รับการสนับสนุนจาก USAID กับโครงการเพื่อสังคมภายใต้ชื่อ เอ็มทีวีเอกซิต: เอ็นด์เอกซ์พลอยเทชันแอนด์แทรฟฟิกกิง ซึ่งเป็นโครงการรณรงค์ต่อต้านการค้ามนุษย์ โครงการนี้เป็นสารคดีที่ถ่ายทอดความรู้และการป้องกัน เรื่องเกี่ยวกับ การค้ามนุษย์ การล่วงละเมิดทางเพศ และการถูกล่อลวงไปค้าประเวณีของผู้หญิง ซึ่งออกอากาศครั้งแรกทั่วยุโรป ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ปี พ.ศ. 2548 ซึ่งมีผู้ดำเนินรายการโดยนักแสดงชื่อดังจากฮอลลีวูด แองเจลินา โจลี และในปี พ.ศ. 2550 ในส่วนของประเทศไทย มูลนิธิ เอ็มทีวี ยุโรป ได้คัดเลือกนักร้องสาวชื่อดังของเมืองไทยอย่าง ทาทา ยัง มารับหน้าที่ดำเนินสารคดีในประเทศไทย[32] ส่วนในปี พ.ศ. 2551 ได้ อนันดา เอเวอร์ริ่งแฮม มาเป็นแอมบาสเดอร์ประจำประเทศไทย[33]

ความนิยม

[แก้]

การจัดอันดับ

[แก้]

มีหลายหน่วยงานได้จัดอันดับการรับชม โดยในช่วงที่เอ็มทีวีไทยแลนด์ออกอากาศทางยูบีซี 32 เอ็มทีวีไทยแลนด์เข้าถึงผู้ชมกว่า 400,000 ครัวเรือน และติด 1 ใน 5 ช่องรายการของยูบีซี เคเบิลทีวี ที่มีคนดูสูงสุด จากผลวิจัยเรดาร์รีเสิร์ช ของอินิทีเอทีฟ[13]

สำนักวิจัยเอแบคโพลล์ได้ทำการวิจัยพฤติกรรมการชมโทรทัศน์ในช่องทางเลือกมากกว่าระบบระนาบพื้น (Terrestrial) ที่ไม่ใช่ช่องฟรีทีวี โดยศึกษาจากผู้ชมโทรทัศน์ในเขตกรุงเทพมหานครและในเขตเทศบาลต่างจังหวัด รวม 17 จังหวัด จากประชาชนผู้ชมอายุ 18 - 60 ปี โดยประมาณผู้รับชมรายการโทรทัศน์ที่ไม่ใช่ฟรีทีวีภาพรวมทั้งประเทศประมาณ 2,175,415 คน อันดับ 1 คือช่อง เอเอสทีวี อันดับ 2 คือช่อง ยูบีซี อันดับ 3 คือช่อง เอบีทีวี อันดับ 4 คือช่อง ไลฟ์ ทีวี และอันดับ 5 คือช่อง เอ็มทีวี [34]

มีเดียแอตลาสบายไซโนเวตได้ทำการสำรวจ 10 อันดับช่องเคเบิลที่มีผู้ชมมากที่สุดใน 1 สัปดาห์ (ข้อมูลระหว่าง Q4 2005 - Q3 2006) ช่องที่ได้รับความนิยมอันดับ 1 คือ ดิสคัฟเวอรี่ แชนนอล อันดับ 2 คือ สตาร์มูฟวีส์ และอันดับ 3 คือ เอ็มทีวี [35]

คู่แข่ง

[แก้]

คู่แข่งของเอ็มทีวีไทยแลนด์ ช่องที่มีรูปแบบเป็นรายการเพลง เช่น แชนแนลวีไทยแลนด์ ที่มีรูปแบบรายการคล้ายกัน และยังมี ช่องเพลงเก่า มะจัง และช่องเพลงในปัจจุบัน ทรู มิวสิก ที่เดิมนำเสนอเฉพาะเพลงไทยแต่ได้เพิ่มเพลงสากลและเพลงเอเชียนขึ้นและมีการพัฒนาโดยมีวีเจนำเสนอรายการด้วย[36]

อ้างอิง

[แก้]
  1. "เอ็มทีวี" ทิ้งยูบีซี ทำผ่านดาวเทียม - สมาชิกบ่นเห็นแก่ได้ เก็บถาวร 2007-03-12 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เว็บไซต์ manager.co.th
  2. Kenny Santana MTV Goes to Asia globalpolicy.org
  3. "MTV GLOBAL FACT SHEET" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2009-03-20. สืบค้นเมื่อ 2007-05-31.
  4. ข้อมูลจากรายการสด รายการ เอ็มทีวีบีเรดี เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2550 เวลา 18.10
  5. UBC Rock Into 2002 ปรับช่องรับปีใหม่ด้วยสาระและบันเทิง[ลิงก์เสีย] marketeer.co.th
  6. แนะนำซีรี่ชุดใหม่ทาง UBC ประจำเดือนกุมภาพันธ์ และการปรับ Package ใหม่ของ UBC
  7. “อิทธิวัฒน์” เผยเบื้องหลัง MTV ออกจาก UBC
  8. อรรถสิทธิ์ เหมือนมาตย์ ความจริงที่เจ็บปวด Positioning Magazine (มกราคม 2550)
  9. ในเคเบิลท้องถิ่น เอ็มทีวีไทยแลนด์ หายไปตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2551
  10. https://www.magawn19.com/2012/10/23-2554-mtv-thailand-very-true-85.html
  11. MTV Returns To Thailand Via VR1 Tie-Up[ลิงก์เสีย] asiamediajournal.com
  12. "ดีเอ็นเอฟื้นชีพ"เอ็มทีวี"คืนจอไทย". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-05. สืบค้นเมื่อ 2013-09-12.
  13. 13.0 13.1 "MTV Lifestyle Setter." เว็บไซต์ positioningmag.com
  14. "MTV The Cream". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-09-28. สืบค้นเมื่อ 2007-05-27.
  15. "Da Hip". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-01-28. สืบค้นเมื่อ 2007-05-27.
  16. "MTV Chart". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-09-28. สืบค้นเมื่อ 2007-05-27.
  17. "MTV Buzz". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-09-28. สืบค้นเมื่อ 2007-05-27.
  18. Pimp My Ride realityshows.com
  19. การกลับมาของ MTV Thailand เก็บถาวร 2007-11-02 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน msnth.com
  20. MTVเรียกเสียงฮา.. ส่ง วีเจภูมิ-วีเจเจย์ ลง"MTV School Attack"
  21. MTV Push เก็บถาวร 2009-06-01 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน truevisionstv.com
  22. โซนยอชิแด (SNSD) สุดแรง ขึ้นนั่งแท่นอันดับ 1 ชาร์ต MTV ประเทศไทย 3 สัปดาห์ติด pingbook.com
  23. โซนยอชิแด (So Nyeo Shi Dae) ขอบคุณแฟนชาวไทย ให้การสนับสนุน 'Gee' ผ่าน 'Park Joong Hoon Show' pingbook.com
  24. บทสัมภาษณ์ Wonder Girls เปิดใจ... ขอบคุณแฟนๆเมืองไทยที่ให้การต้อนรับอย่างอบอุ่น
  25. เผยรายชื่อศิลปินเข้าชิง เอ็มทีวี เอเชีย อวอร์ดส 2006 เก็บถาวร 2007-06-10 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เว็บไซต์ mtvasiaawards.com
  26. งานประกาศรางวัล เอ็มทีวี เอเชีย อวอร์ด 2006 เว็บไซต์ sanook.com
  27. Pattaya International Music Festival 2005 เก็บถาวร 2008-03-13 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน kapook.com
  28. "MTV VJ Hunt 2003". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-07-14. สืบค้นเมื่อ 2007-05-26.
  29. "MTV Asia Aid". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-09-02. สืบค้นเมื่อ 2007-05-25.
  30. ศิลปินดังร่วมงาน MTV Asia Aid เว็บไซต์ sanook.com
  31. กิจกรรมบริจาคโลหิตฉลองครบรอบ 3 ปี MTV Thailand เก็บถาวร 2007-12-13 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เว็บไซต์ redcross.or.th
  32. "ทาทา" สุดปลื้ม! ทำงานเพื่อสังคมเหมือน "โจลี - เรน" เก็บถาวร 2016-03-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน โดย ผู้จัดการออนไลน์ 8 สิงหาคม 2550 15:17 น.
  33. ""อนันดา"รณรงค์หยุดการค้ามนุษย์". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-09-21. สืบค้นเมื่อ 2008-11-17.
  34. พฤติกรรมการชมโทรทัศน์ในช่องทางเลือกมากกว่าระบบระนาบพื้น (Terrestrial) ที่ไม่ใช่ช่องฟรีทีวี [ลิงก์เสีย] โดยสำนักวิจัยเอแบคโพลล์
  35. หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับวันที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2550
  36. ตลาดเปย์ทีวีสุดเครียด ยูบีซี หั่น เอ็มทีวี สังเวยปันใจหาทีวีดาวเทียม เก็บถาวร 2007-09-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน gotomanager.com

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]