มาร์เชียลอาร์ตสเกมส์ 2009
เมืองเจ้าภาพ | กรุงเทพมหานคร ไทย |
---|---|
คำขวัญ | เกมแห่งน้ำใจ ในดินแดนแห่งรอยยิ้ม |
ประเทศเข้าร่วม | 45 |
นักกีฬาเข้าร่วม | ประมาณ 1,500 คน |
กีฬา | 9 ชนิด |
พิธีเปิด | 1 สิงหาคม พ.ศ. 2552 |
พิธีปิด | 9 สิงหาคม พ.ศ. 2552 |
ประธานพิธี | สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร (พิธีเปิด) กอร์ปศักดิ์ สภาวสุ (พิธีปิด) |
นักกีฬาปฏิญาณ | ปฏิวัติ ทองสลับ |
ผู้ตัดสินปฏิญาณ | จตุพร เหมวรรณโณ |
ผู้จุดคบเพลิง | จา พนม (นายทัชชกร ยีรัมย์) |
สนามกีฬาหลัก | อินดอร์ สเตเดียม หัวหมาก, ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย-ญี่ปุ่น) ดินแดง, |
การแข่งขันกีฬาศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัวแห่งเอเชีย ครั้งที่ 1 หรือ เอเชียมาร์เชียลอาตส์เกมส์ 2009 เป็นการแข่งขัน เอเชียนมาร์เชียลอาตส์เกมส์ ครั้งที่ 1 จัดขึ้นที่กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย ระหว่างวันที่ 1 สิงหาคม - 9 สิงหาคม พ.ศ. 2552 โดยมีประเทศเข้าร่วมแข่งขัน 40 ประเทศ และมีกีฬาแข่งขันทั้งหมด 9 ชนิด
ประวัติ
[แก้]ประเทศไทยได้รับเกียรติจากสภาโอลิมปิกแห่งเอเชีย (OCA) ให้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาเอเชียน มาเชี่ยลอาร์ต ครั้งที่ 1 ซึ่งเป็นการได้รับเกียรติอย่างสูง เพราะนานาประเทศ ได้ยกย่องว่าประเทศไทยมีศักยภาพ มีบุคลากร มีผู้เชี่ยวชาญ มีประสบการณ์ และเป็นสถานที่ศูนย์กลางของการริเริ่ม สร้างสรรค์เกมกีฬาใหม่ขึ้นในโลก อย่างมีประสิทธิภาพและ ประสิทธิผล ในการนี้สำนักเลขาธิการในคณะกรรมการจัดการแข่งขันกีฬาเอเชียน มาเชี่ยลอาร์ต ครั้งที่ 1 จึงได้ดำเนินการ ออกแบบตราสัญลักษณ์การแข่งขัน, สัตว์นำโชค, คำขวัญ, สัญลักษณ์ชนิดกีฬา และอัตตลักษณ์ เพื่อนำไปใช้ในเกมส์ การแข่งขันดังกล่าว
รับพระราชทานไฟพระฤกษ์
[แก้]วันที่ 29 กรกฎาคม พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จฯ ออกแทนพระองค์ ณ วังศุโขทัย พระราชทานพระราชวโรกาสให้ นายชุมพล ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา นำคณะกรรมการจัดการแข่งขันกีฬาเอเชี่ยนมาเชี่ยลอาร์ทเกมส์ ครั้งที่ 1 คณะกรรมการโอลิมปิกแห่งประเทศไทยฯ ผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เข้าเฝ้าฯ รับพระราชทานไฟพระฤกษ์จัดการแข่งขันกีฬาเอเชี่ยนมาเชี่ยลอาร์ทเกมส์ ครั้งที่ 1 และในการนี้ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายาฯ และ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าปังกรรัศมีโชติ โดยเสด็จด้วย
พิธีเปิด - ปิดการแข่งขัน
[แก้]พิธีเปิด
[แก้]พิธีเปิดการแข่งขันกีฬาเอเชียนมาร์เชียลอาตส์เกมส์ ครั้งที่ 1 จัดขึ้นในวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2552 เวลา 18.00 น. ณ อินดอร์ สเตเดียม หัวหมาก โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ เป็นองค์ประธานในพิธี พร้อมด้วยพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายาฯ และพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าทีปังกรรัศมีโชติ
หลังจากนักกีฬาจากทุกประเทศเดินพาเหรดเข้าสู่สนามแล้ว ได้มีการเชิญธงชาติไทยขึ้นสู่ยอดเสา จากนั้นพิธีกรกล่าวเรียนเชิญ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการอำนวยการแข่งขันกีฬาเอเชียนมาร์เชียลอาตส์เกมส์ ครั้งที่ 1 นายธิโมธี ซุน ถิง ฟ๊อค รองประธานสภาโอลิมปิกแห่งเอเชีย โซนเอเชียตะวันออก นายชุมพล ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ในฐานะประธานคณะกรรมการจัดการแข่งขันกีฬาเอเชียนมาร์เชียลอาตส์เกมส์ ครั้งที่ 1 และพลเอกยุทธศักดิ์ ศศิประภา ประธานคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งประเทศไทย เพื่อถวายรายงานความเป็นมาและวัตถุประสงค์ในการจัดการแข่งขันกีฬาเอเชียนมาร์เชียลอาตส์เกมส์ ครั้งที่ 1 และขอพระราชทานพระราชดำรัสเปิดการแข่งขันกีฬาเอเชียนมาร์เชียลอาตส์เกมส์ ครั้งที่ 1 พ.ศ. 2552
สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร มีพระราชดำรัสเปิดการแข่งขันกีฬาเอเชียนมาร์เชียลอาตส์เกมส์ ครั้งที่ 1 พ.ศ. 2552 ว่า
ขอต้อนรับนักกีฬาและผู้แทนนานาชาติ ซึ่งมาร่วมการแข่งขันกีฬาเอเชียนมาร์เชียลอาตส์เกมส์ ครั้งที่ 1 ณ กรุงเทพมหานคร ด้วยความยินดี. ขอให้การแข่งขันกีฬาอันเป็นนิมิตรหมายแห่งความสมัครสมานสามัคคีระหว่างประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเซียนี้ ดำเนินลุล่วงไปด้วยดีตามกฎระเบียบของการแข่งขันและน้ำใจของนักกีฬา เพื่อให้การกีฬาบรรลุผลตามอุดมการณ์ที่มุ่งหมาย และเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างเสริมสัมพันธไมตรีระหว่างกัน ให้กระชับแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น. ในพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ข้าพเจ้าขอเปิดการแข่งขันกีฬาเอเชียนมาร์เชียลอาตส์เกมส์ ครั้งที่ 1 ณ บัดนี้.
หลังจากพระราชทานพระราชดำรัสเปิดการแข่งขันแล้ว เป็นการเชิญธงสภาโอลิมปิกแห่งเอเชีย และธงสัญลักษณ์การแข่งขันขึ้นสู่ยอดเสา และพิธีกล่าวคำปฏิญาณของตัวแทนนักกีฬาและกรรมการผู้ตัดสิน โดยผู้เชิญธงสภาโอลิมปิกแห่งเอเชียในการปฏิญาณ คือ ร้อยโท สมจิตร จงจอหอ นักกีฬามวยสากลสมัครเล่นเหรียญทองโอลิมปิก ตัวแทนนักกีฬา คือ นายปฏิวัติ ทองสลับ นักกีฬาเทควันโดเหรียญทองแดงกีฬามหาวิทยาลัยโลก และตัวแทนกรรมการผู้ตัดสิน คือ นางสาวจตุพร เหมวรรณโณ ผู้ตัดสินดีเด่นโลก ประจำปี 2009 จากสมาพันธ์เทควันโดโลก
พิธีเปิดมีการแสดง 3 ชุด คือ ชุดที่ 1 เกมของน้ำใจ (The Games Of Spirit) ชุดที่ 2 ดินแดนแห่งรอยยิ้ม (The Land Of Smile) และชุดที่ 3 เปลวไฟแห่งศิลปะการต่อสู้ (The Flame Of Martial Arts) โดยมี จา พนม , แอ๊ด คาราบาว และ แพนเค้ก เขมนิจ จามิกรณ์ ร่วมแสดง โดยมีการซ้อมใหญ่พิธีเปิด ในวันที่ 31 ก.ค.นี้ เวลา 18.00 น.[1]
สำหรับผู้นำคบเพลิงวิ่งเข้าสู่สนาม คือ “น้องปุ้ย” ญาณิศา ต่อรัตนวัฒนา นักกีฬาคาราเต้-โด ซึ่งรับหน้าที่แทน “น้องสอง” บุตรี เผือดผ่อง นักกีฬาเทควันโด ซึ่งเป็นผู้ที่เลือกไว้ในตอนแรก แต่เนื่องจาก น้องสอง มีโปรแกรมแข่งเทควันโด รุ่น ฟินเวทหญิง (47 กก.) วันที่ 2 สิงหาคม และต้องชั่งน้ำหนักตัวในช่วงเย็นของวันที่ 1 สิงหาคม ซึ่งตรงกับช่วงเวลาเปิดการแข่งขันพอดี จึงไม่สามารถเข้าร่วมพิธีได้ ทำให้ฝ่ายจัดพิธีเปิด-ปิด ได้จัดให้ “น้องปุ้ย” ญาณิศา ต่อรัตนวัฒนา ทำหน้าที่แทน [2] โดยในพิธีจริง ญานิศาได้ส่งคบเพลิงต่อไปให้ ทัชชกร ยีรัมย์ (โทนี่ จา) นำไปทุบไฟใส่กระถางคบเพลิง ส่วนนักกีฬาที่ทำหน้าที่ถือธงชาติไทยนำขบวนพาเหรดนักกีฬาไทยเข้าสู่สนามก็คือ พันจ่าเอกบดินทร์ ปัญจบุตร นักกีฬายูยิตสู
พิธีปิด
[แก้]พิธีปิดการแข่งขันกีฬาเอเชียนมาร์เชียลอาตส์เกมส์ ครั้งที่ 1 จัดขึ้นในวันที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2552 เวลา 18.00 น. ณ อินดอร์ สเตเดียม หัวหมาก โดยกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธี พร้อมด้วย มร ธิโมธี ซุน ถิง ฟ๊อค ปฏิบัติหน้าที่แทนประธานสภาโอลิมปิกแห่งเอเชีย ดร. ศศิธารา พิชัยชาญณรงค์ ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (รองประธานคณะกรรมการจัดการแข่งขัน) และ นายกนกพันธุ์ จุลเกษม ผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย (ประธานกรรมการกีฬาฝ่ายเทคนิค) ร่วมเป็นเกียรติในพิธี
พิธีปิดประกอบด้วยการแสดง 3 ชุด ชุดที่ 1 มีชื่อว่า เกมของศิลปะ ชุดที่ 2 ดินแดนแห่งจิตใจ และชุดที่ 3 เปลวไฟแห่งความตราตรึง
ประเทศที่เข้าร่วมการแข่งขัน
[แก้]ในการแข่งขันกีฬาเอเชียนมาร์เชียลอาตส์เกมส์ ครั้งที่ 1 มีประเทศสมาชิกเข้าร่วมทั้งสิ้น 40 ชาติ จากประเทศสมาชิก 45 ชาติ ในเบื้องต้น มี 5 ประเทศที่ไม่ได้ส่งนักกีฬาเข้าร่วมการแข่งขัน คือ อัฟกานิสถาน เกาหลีเหนือ ซาอุดีอาระเบีย ติมอร์-เลสเต และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (แต่ภายหลังประเทศอัฟกานิสถานได้ขอเข้าร่วมแข่งขันด้วย) [3]
|
สัญลักษณ์
[แก้]ตราสัญลักษณ์
[แก้]- ตัวอักษร A สื่อถึงทวีปเอเซีย อันประกอบด้วย ประชาชนและประเทศต่างๆ
- ตัวอักษร M สื่อถึงกีฬามาร์เชียลอาร์ต
- รูปทรงของตัวอักษรทั้งสองที่เกาะเกี่ยวกัน เป็นรูปทรงในลักษณะนามธรรมที่มีความทันสมัย กระฉับกระเฉง เรียบง่าย แสดงออกถึง แนวความคิดและปรัชญาของการรวมกันอย่างแข็งแกร่ง ของการแข่งขันกีฬามาร์เชียลอาร์ตในครั้งนี้ เพื่อร่วมกันสร้างสรรค์และจรรโลงไว้ซึ่งสันติภาพ มิตรภาพ เสมอภาค ของทุกประเทศในทวีปเอเซีย
- ภาพโดยรวม เป็นผลลัพธ์ของการผสมผสานศิลปะแบบไทยกับศิลปะสมัยใหม่ สื่อถึงประเทศไทย ในฐานะประเทศเจ้าภาพและความเข้ากันได้กับยุคสมัย
- สีแดง เป็นสีหลักของ OCA สีของการต่อสู้และสีของหัวใจ อีกทั้งยังเป็นสีหลักของศิลปะของเอเชีย
- สีทอง สีแห่งความเรืองรองของราชอาณาจักรไทย และเป็นสีหลักของการแสดงคุณค่าของงานที่มุ่งมั่นสร้างสรรค์การแข่งขันครั้งนี้ และเป็นสีหลักของศิลปะไทย
ตัวนำโชค
[แก้]หนุมานยินดี (Hanuman Yindee)
- หนุมาน คือทหารเอกของพระราม เป็นลิงซึ่งเป็นตัวละครเอก ในวรรณกรรมรามเกียรติ์ ซึ่งเป็นวรรณกรรมร่วมของเอเชีย
- หนุมาน เป็นลิงที่มีผิวกายขาวเผือกเป็นลักษณะเด่น มีความเชี่ยวชาญในศิลปะการต่อสู้ทุกชนิด มีความมุ่งมั่นพยายามอย่างสูงในการกระทำสิ่งใดให้สำเร็จ
- หนุมาน คือภาพลักษณ์หนึ่งของความเป็นไทย ซึ่งจะพบเห็น ในการแสดงโขน การแสดงหุ่นละครเล็ก ซึ่งใช้ในการแสดง ต้อนรับแขกผู้มาเยือน
- หนุมานในท่ามอบดอกไม้ ซึ่งเป็นพวงมาลัยแห่งน้ำใจไมตรี อันเป็นสัญลักษณ์ ของคนไทย จึงเป็นสัญลักษณ์แห่งการต้อนรับด้วยมิตรภาพสู่การแข่งขันที่เต็มไปด้วยศิลปะ การต่อสู้และจะนำไปสู่ความเป็นหนึ่งเดียวกันของประชาชาติชาวเอเชีย
- หนุมาน สัตว์นำโชคในครั้งนี้ จึงมีชื่อว่า “ยินดี”
- หนุมาน “ยินดี”
o ยินดี ที่ได้เกิดการแข่งขันกีฬาครั้งนี้ เป็นครั้งแรก และจะก้าวไปสู่การแข่งขันอันไม่มีที่สิ้นสุด o ยินดี ที่ได้ต้อนรับมิตรประเทศ และผู้มาเยือนสู่ประเทศไทย o ยินดี ในความสำเร็จ และชัยชนะ รวมทั้งความมีน้ำใจนักกีฬาที่มีให้กัน o ยินดี ที่ได้รู้จักทุก ๆ คน ที่มาร่วมสร้างมิตรภาพ และเอกภาพ ของประชาชาติชาวเอเชีย
กีฬา
[แก้]การเลื่อนการแข่งขัน
[แก้]แต่เดิมนั้นการแข่งขันกีฬาเอเชียนมาร์เชียลอาตส์เกมส์ ครั้งที่ 1 มีกำหนดจัดขึ้นในวันที่ 25 เมษายน - 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2552 แต่เนื่องจากปัญหาทางการเมืองในประเทศไทย คือ เกิดเหตุการณ์ประท้วงขั้นรุนแรงของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือ "กลุ่มคนเสื้อแดง" ในกรุงเทพมหานครและเขตปริมณฑล ส่งผลให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินในเขตกรุงเทพมหานคร นนทบุรี บางอำเภอของปทุมธานี สมุทรปราการ นครปฐมและพระนครศรีอยุธยา ในวันที่ 12 เมษายน ซึ่งต่อมายกเลิกในวันที่ 24 เมษายน ก่อนการแข่งขันเพียงหนึ่งวัน
ในวันที่ 13 เมษายน นายชุมพล ศิลปอาชา ได้ร่วมหารือกับทางคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทยฯ นำโดย พล.ต.จารึก อารีราชการัณย์ รองประธานและเลขาธิการคณะกรรมการโอลิมปิคฯ และ พล.อ. บัญชา มรินทร์พงษ์ หัวหน้าสำนักงานโอลิมปิคฯ พร้อมด้วยทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง และได้ข้อสรุปให้มีการเลื่อนการแข่งขันออกไปจากเดิมไปอีกประมาณ 1 เดือน จากวันที่ 25 เมษายน - 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2552 ไปเป็นวันที่ 6 มิถุนายน - 14 มิถุนายน พ.ศ. 2552 เพราะต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของนักกีฬาที่จะมาเข้าร่วมการแข่งขันเป็นหลัก
อย่างไรก็ตาม สภาโอลิมปิกแห่งเอเชีย (โอซีเอ) ได้ส่งหนังสือแนะนำมายังคณะกรรมการโอลิมปิกไทย เสนอขอให้ไทยพิจารณาขยับวันแข่งขันให้เร็วขึ้นเป็นวันที่ 30 พฤษภาคม - 7 มิถุนายน เพราะช่วงวันที่ 6 - 14 มิถุนายน ใกล้กับการแข่งขันกีฬาเอเชี่ยนยูธเกมส์ ครั้งที่ 1 ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 29 มิถุนายน - 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2552 ที่ประเทศสิงคโปร์มากเกินไป และสภาโอลิมปิกแห่งเอเชียเห็นว่าตามธรรมเนียมปฏิบัติที่ผ่านมาพิธีเปิดการแข่งขันส่วนใหญ่จะจัดตรงกับวันเสาร์ ขณะที่พิธีปิดจะตรงกับวันอาทิตย์พอดี
ทางคณะกรรมการจัดการแข่งขันกีฬาเอเชียนมาร์เชียลอาตส์เกมส์ ครั้งที่ 1 จึงประชุมด่วนในวันที่ 23 เมษายน และสรุปให้จัดในวันที่ 12 พฤษภาคม - 20 พฤษภาคม
แต่ในวันต่อมา (24 เมษายน) จากการประชุมคณะกรรมการติดตามเร่งรัดพัฒนาการกีฬาและนันทนาการ ที่มีนายชุมพล ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เป็นประธาน และมีนายบรรหาร ศิลปอาชา เป็นประธานที่ปรึกษาคณะกรรมการ เห็นควรให้เลื่อนยาวออกไปเป็นในระหว่างวันที่ 9 - 17 กรกฎาคม เนื่องจากในช่วงที่สภาโอลิมปิกแห่งเอเชียกำหนดมามีการแข่งขันกีฬาภายในประเทศไทยหลายรายการ ทำให้การเตรียมการของไทยไม่สะดวก โดยได้มอบให้คณะกรรมการโอลิมปิกแห่งประเทศไทยฯ ไปเจรจากับสภาโอลิมปิกแห่งเอเชียอีกรอบ แต่ในที่สุด ทางไทยก็นำเสนอช่วงวันแข่งขันใหม่เป็น 11 - 19 กรกฎาคม ต่อสภาโอลิมปิกแห่งเอเชียพิจารณาเห็นชอบ
สภาโอลิมปิกแห่งเอเชียยังคงเห็นว่าวันที่ไทยเสนอมานั้น ยังคงใกล้กับการแข่งขันกีฬาเอเชี่ยนยูธเกมส์ ครั้งที่ 1 มากเกินไปและเริ่มไม่พอใจที่ทางไทยยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนเกี่ยวกับการแข่งขัน เพราะจะทำให้ความน่าเชื่อถือของประเทศไทยและการแข่งขันกีฬาลดลงเรื่อยๆ พร้อมแนะนำให้เลื่อนวันแข่งขันไปอยู่ในช่วงเดือนสิงหาคมแต่ต้องไม่ถึงเดือนกันยายนเพราะต้องเว้นช่วงให้นักกีฬาเตรียมตัวสำหรับการแข่งขันเอเชี่ยนอินดอร์เกมส์ ครั้งที่ 3 ที่ประเทศเวียดนาม ระหว่างวันที่ 30 ตุลาคม - 8 พฤศจิกายนด้วย
ในที่สุด จึงมีกำหนดการแข่งขันในวันที่ 1 - 9 สิงหาคม พ.ศ. 2552
การยุบรวมกับเอเชียนอินดอร์เกมส์
[แก้]ตามมติสภาโอลิมปิกแห่งเอเชีย ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2552 เห็นควรให้ยุบรวมเอเชียนมาร์เชียลอาตส์เกมส์ เข้ากับเอเชียนอินดอร์เกมส์ และเปลี่ยนชื่อการแข่งขันเป็นเอเชียนอินดอร์-มาร์เชียลอาตส์เกมส์ โดยเริ่มครั้งแรกในการแข่งขันเอเชียนอินดอร์เกมส์ครั้งที่ 4 ณ กรุงโดฮา ประเทศกาตาร์ ในปี พ.ศ. 2554
สรุปเหรียญรางวัล
[แก้]* เจ้าภาพ ( ไทย)
ลำดับที่ | ประเทศ | ทอง | เงิน | ทองแดง | รวม |
---|---|---|---|---|---|
1 | ไทย (THA)* | 21 | 17 | 16 | 54 |
2 | คาซัคสถาน (KAZ) | 15 | 7 | 12 | 34 |
3 | เกาหลีใต้ (KOR) | 10 | 6 | 3 | 19 |
4 | จีน (CHN) | 9 | 5 | 5 | 19 |
5 | ญี่ปุ่น (JPN) | 9 | 2 | 3 | 14 |
6 | เวียดนาม (VIE) | 7 | 11 | 21 | 39 |
7 | อินโดนีเซีย (INA) | 5 | 6 | 5 | 16 |
8 | อุซเบกิสถาน (UZB) | 4 | 5 | 12 | 21 |
9 | จีนไทเป (TPE) | 4 | 5 | 11 | 20 |
10 | อินเดีย (IND) | 3 | 7 | 23 | 33 |
11 | ปากีสถาน (PAK) | 3 | 2 | 4 | 9 |
12 | ฟิลิปปินส์ (PHI) | 2 | 6 | 10 | 18 |
13 | อิรัก (IRQ) | 2 | 3 | 5 | 10 |
14 | มาเลเซีย (MAS) | 2 | 3 | 3 | 8 |
15 | อัฟกานิสถาน (AFG) | 2 | 2 | 8 | 12 |
จอร์แดน (JOR) | 2 | 2 | 8 | 12 | |
17 | ซีเรีย (SYR) | 2 | 1 | 3 | 6 |
18 | ลาว (LAO) | 1 | 4 | 9 | 14 |
19 | มองโกเลีย (MGL) | 1 | 3 | 3 | 7 |
20 | บาห์เรน (BRN) | 1 | 1 | 3 | 5 |
21 | เติร์กเมนิสถาน (TKM) | 1 | 1 | 2 | 4 |
มาเก๊า (MAC) | 1 | 1 | 2 | 4 | |
เลบานอน (LIB) | 1 | 1 | 2 | 4 | |
24 | ฮ่องกง (HKG) | 0 | 2 | 3 | 5 |
สิงคโปร์ (SIN) | 0 | 2 | 3 | 5 | |
26 | คูเวต (KUW) | 0 | 1 | 4 | 5 |
27 | บรูไน (BRU) | 0 | 1 | 2 | 3 |
28 | พม่า (MYA) | 0 | 1 | 1 | 2 |
29 | ศรีลังกา (SRI) | 0 | 0 | 2 | 2 |
30 | เนปาล (NEP) | 0 | 0 | 1 | 1 |
ภูฏาน (BHU) | 0 | 0 | 1 | 1 | |
กาตาร์ (QAT) | 0 | 0 | 1 | 1 | |
รวม (32 ประเทศ) | 108 | 108 | 191 | 407 |
ประเทศที่ไม่ได้เหรียญรางวัลมี 8 ประเทศ คือ กัมพูชา คีร์กีซสถาน ทาจิกิสถาน ปาเลสไตน์ บังกลาเทศ มัลดีฟส์ เยเมน และโอมาน
ดูเพิ่ม
[แก้]อ้างอิง
[แก้]- ↑ ""ศุภักษร"ซ้อมพิธีเปิด31ก.ค.นี้". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-08-13. สืบค้นเมื่อ 2009-07-26.
- ↑ ""ปุ้ย"แทน"สอง" วิ่งไฟพระฤกษ์ มาร์เชี่ยลอาร์ท". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-08-12. สืบค้นเมื่อ 2021-10-15.
- ↑ ""ยูเออีถอนแข่ง มาเชี่ยลอาร์ท". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-08-12. สืบค้นเมื่อ 2021-10-15.
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- เว็บไซต์ทางการการแข่งขัน เก็บถาวร 2009-06-06 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน