ข้ามไปเนื้อหา

เอมีลีโอ อากีนัลโด

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เอมีลีโอ อากีนัลโด
อากีนัลโดใน ค.ศ. 1919
ประธานาธิบดีแห่งฟิลิปปินส์คนที่ 1
ผู้เผด็จการแห่งรัฐบาลเผด็จการฟิลิปปินส์[2]
ประธานาธิบดีแห่งรัฐบาลปฏิวัติฟิลิปปินส์
ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐฟิลิปปินส์ที่ 1
ดำรงตำแหน่ง
22 มีนาคม ค.ศ. 1897[1] – 1 เมษายน ค.ศ. 1901
นายกรัฐมนตรีอาโปลีนารีโอ มาบินี (1899)
เปโดร ปาเตร์โน (1899)
รองประธานาธิบดีมาเรียโน ทรีอาส
ก่อนหน้าไม่มี (ตั้งสาธารณรัฐใหม่)
ถัดไปตำแหน่งถูกล้มเลิก
ผู้ดำรงตำแหน่งนี้ในยุคต่อมาคือ
มานูเอล เกซอน
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด22 มีนาคม ค.ศ. 1869(1869-03-22)
กาวีเต เอล วิเอโฮ, กาวีเต
เสียชีวิตกุมภาพันธ์ 6, 1964(1964-02-06) (94 ปี)
เกซอนซิตี้, กรุงมนิลา
ศาสนาศาสนาคริสต์ นิกายโรมันคาทอลิก
พรรคการเมืองกลุ่มมักดาโล ขบวนการกาตีปูนัน, พรรคชาติสังคมนิยมฟิลิปปินส์
คู่สมรส(1) ฮิลลาเรีย เดล โรซาริโอ-เสียชีวิต
(2) มาเรีย อากอนซีโย
วิชาชีพทหาร
ลายมือชื่อ
ยศที่ได้รับการแต่งตั้ง
รับใช้ สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ที่ 1
กาติปูนัน
สังกัดกองทัพปฏิวัติฟิลิปปินส์
ประจำการ1896-1901
ยศGeneralissimo
ผ่านศึกการปฏิวัติฟิลิปปินส์
สงครามสเปน-อเมริกัน
สงครามฟิลิปปินส์-อเมริกัน

เอมีลีโอ ฟามี อากีนัลโด (Emilio Famy Aguinaldo) เป็นนักปฏิวัติในการเรียกร้องเอกราชของฟิลิปปินส์จากสเปน รุ่นเดียวกับโฮเซ รีซัล และอันเดรส โบนีฟาซีโอ เขาเป็นผู้นำในการลุกฮือขึ้นต่อสู้กับสเปนด้วยอาวุธหลังการถูกประหารชีวิตของรีซัล เป็นนักปฏิวัติชาวฟิลิปปินส์ที่มีบทบาทในการจัดตั้งสาธารณรัฐฟิลิปปินส์ที่ 1 แยกออกมาจากการเป็นอาณานิคมของสเปนในครั้งแรก เมื่อ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2440 ในชื่อสาธารณรัฐบีอักนาบาโต และได้ประกาศจัดตั้งสาธารณรัฐฟิลิปปินส์เมื่อ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2441 ก่อนจะกลายเป็นอาณานิคมของสหรัฐ เขาถูกจับกุมเมื่อสหรัฐอเมริกาเข้ามายึดครองฟิลิปปินส์ต่อจากสเปน และถูกบังคับให้สาบานตนว่าจะซื่อสัตย์ต่อสหรัฐอเมริกา

การต่อสู้กับสเปน

[แก้]

อากีนัลโดเป็นชาวฟิลิปปินส์เชื้อสายจีน เกิดเมื่อ พ.ศ. 2412 ที่จังหวัดกาวีเต ในครอบครัวเกษตรกร ได้เข้าเรียนที่วิทยาลัยเดซานฮวนเดเลตรันที่กรุงมะนิลาแต่เรียนไม่จบเพราะบิดาเสียชีวิต จึงกลับมาประกอบอาชีพเกษตรกร ต่อมาเขาถูกตั้งข้อสงสัยว่าเกี่ยวข้องกับการฆาตกรรมทหารสเปน จึงต้องหลบหนีออกจากบ้านและเข้าร่วมกับขบวนการกาตีปูนันในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2437

อากีนัลโดประสบความสำเร็จในการนำกองกำลังชาวพื้นเมืองเข้าปล้นคลังอาวุธของสเปนในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2439 ทำให้กาวีเตกลายเป็นศูนย์กลางของกลุ่มกบฏ อากีนัลโดมีบทบาทสำคัญในการต่อสู้กับสเปนอย่างเข้มแข็ง สนับสนุนให้ชาวพื้นเมืองเรียกตัวเองว่าฟิลิปิโน แทนชื่อที่ชาวสเปนใช้ว่าอินดิโอสที่หมายถึงคนชั้นต่ำ เขาจัดตั้งคณะกรรมการกลางปฏิวัติและจัดตั้งกองกำลังติดอาวุธ การปฏิวัติตามแผนการของอากีนัลโดทำให้เขากลายเป็นคู่แข่งของอันเดรส โบนีฟาซิโอ ผู้ก่อตั้งขบวนการกาตีปูนัน

การจัดตั้งสาธารณรัฐบีอักนาบาโต

[แก้]

ในช่วงแรก ทั้งอากีนัลโดและโบนีฟัสซิโอร่วมมือกันในการจัดตั้งสาธารณรัฐฟิลิปปินส์ จัดตั้งสภาปฏิวัติใหญ่ทีตำบลเตเฮโรสที่เป็นที่มั่นของรัฐบาลกาตีปูนัน อากีนัลโดได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดี ในการประขุมกลุ่มผู้นำนักปฏิวัติพื้นเมืองในตำบลเตเฮโรสเมื่อ 22 มีนาคม พ.ศ. 2439 แต่กลับเป็นชนวนให้เขากับโบนีฟัสซิโอต้องต่อสู้กันเอง หลังจากที่โบนีฟัสซิโอถูกประหารชีวิตเมื่อ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2440 อากีนัลโดเป็นผู้นำการปฏิวัติเพียงผู้เดียว เขาย้ายไปตั้งมั่นที่จังหวัดบาตังกัลและเทือกเขาบีอักนาบาโตตามลำดับ และประกาศจัดต้งสาธารณรัฐบีอักนาบาโตใน พ.ศ. 2440 นี้

รัฐบาลอาณานิคมที่มะนิลาไม่ยอมรับรัฐบาลที่ตั้งขึ้นใหม่ และเข้าปราบปรามด้วยกำลังอาวุธในเดือนสิงหาคม ชาวพื้นเมืองในที่ต่างๆ เข้าร่วมกับกลุ่มของอากีนัลโดเป็นจำนวนมาก ต่อมา อาซาเบโล อาร์ตาโช และเฟลิกซ์ เฟร์เรร์ ได้ร่างรัฐธรรมนูญของสาธารณรัฐบีอักนาบาโตโดยเลียนแบบรัฐธรรมนูญของคิวบา ฉบับ พ.ศ. 2438 อากีนัลโดนั้น ประกาศจัดตั้งสาธารณรัฐบีอักนาบาโตอย่างเป็นทางการในวันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2440 โดยใช้ภาษาตากาล็อกเป็นภาษาราชการ

ในขณะนั้น สเปนเผชิญปัญหาการแข็งข้อของอาณานิคมทั้งในฟิลิปปินส์และคิวบา สเปนจึงตัดสินใจเจรจากับกลุ่มของอากีนัลโด ผลของการเจรจาทำให้มีการลงนามในสนธิสัญญาบีอักนาบาโตที่จะให้สิทธิแก่ชาวฟิลิปปินส์ สเปนจะจ่ายเงินชดเชยให้อากีนัลโดและขอให้กลุ่มของเขาออกไปจากฟิลิปปินส์ อากีนัลโดตกลงและออกเดินทางไปฮ่องกงเมื่อ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2440 สาธารณรัฐบีอักนาบาโตจึงสิ้นสุดลง แต่รัฐบาลสเปนจ่ายเงินชดเชยไม่ครบ และพยายามจับกุมชาวพื้นเมืองในข้อหากบฏ ชาวพื้นเมืองจึงก่อกบฏต่อต้านสเปนอีก ส่วนกลุ่มของอากีนัลโดไปขอความช่วยเหลือจากสหรัฐอเมริกา

สาธารณรัฐฟิลิปปินส์และการต่อสู้กับสหรัฐอเมริกา

[แก้]

เมื่อสงครามสหรัฐอเมริกา-สเปนขยายตัวมาถึงมหาสมุทรแปซิฟิก จอร์จ ดิวอีย์ได้ทำลายกองทัพเรือสเปนที่มะนิลาเมื่อ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2441 อากีนัลโดเดินทางกลับสู่เมืองกาวีเตพร้อมเรือรบของสหรัฐ อากีนัลโดประกาศตั้งสาธารณรัฐฟิลิปปินส์โดยมีเมืองหลวงที่มาโลส แต่สหรัฐไม่ยอมรับ อากีนัลโดได้ประกาศจัดตั้งรัฐบาลเผด็จการเมื่อ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2441 มีการชักธงชาติฟิลิปปินส์ขึ้นสู่ยอดเสา กองกำลังฝ่ายชาวพื้นเมืองล้อมกรุงมะนิลาไว้ได้

สเปนได้ทำสัญญาลับกับสหรัฐ โดยยกฟิลิปปินส์ให้สหรัฐตั้งแต่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2441 แลกกับเงิน 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อสเปนถอนกองกำลังออกไป สหรัฐเข้ายึดมะนิลา ห้ามกองกำลังชาวพื้นเมืองเข้าสู่มะนิลา อากีนัลโดจึงประกาศยืนยันความเป็นรัฐอิสระของฟิลิปปินส์และสาบานตนเป็นประธานาธิบดีเมื่อ 23 มกราคม พ.ศ. 2441 จากนั้นจึงต่อสู้กับสหรัฐต่อไป การต่อสู้กับสหรัฐใช้เวลานานถึง 2 ปี โดยไม่ยอมแพ้ จนกระทั่งถูกจับตัวได้และถูกบังคับให้สาบานตนยอมแพ้ต่อสหรัฐเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2444 รวมทั้งให้เขาออกประกาศให้ชาวพื้นเมืองยอมวางอาวุธ ซึ่งหลังจากนั้น ต้องใช้เวลาอีก 1 ปี การสู้รบจึงยุติลง

หลังสิ้นอำนาจ

[แก้]

หลังจากนั้น อากีนัลโดถูกเนรเทศไปยังเกาะกวม ก่อนจะถูกส่งตัวกลับมายังมะนิลาใน พ.ศ. 2446 ต่อมา เขาไปอยู่ที่ฮ่องกงและไม่มีบทบาททางการเมืองใดๆ อีก จน พ.ศ. 2478 เขาได้ออกมาต่อต้านมานูเอล เกซอนที่จะเป็นประธานาธิบดีของฟิลิปปินส์ภายใต้การปกครองระบบเครือรัฐ แต่ไม่สำเร็จและถูกลงโทษอย่างหนัก อากีนัลโดมีชีวิตจนถึง พ.ศ. 2507 ก่อนจะเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจเมื่ออายุ 94 ปี

อ้างอิง

[แก้]
  1. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-03-03. สืบค้นเมื่อ 2009-09-30.
  2. Philippine Legislature:100 Years, Cesar Pobre
  • ชาญวิทย์ เกษตรศิริ. "โฮเซ่ ริซัล ลัทธิชาตินิยมกับ “ปีศาจ” ของการเปรียบเทียบ" ใน จิตราภรณ์ ตันรัตนกุล. อันล่วงละเมิดมิได้. กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2548* สุพรรณี กาญจนัษฐิติ. เอมีเลียว อากีนัลโด ใน สารานุกรมประวัติศาสตร์สากลสมัยใหม่: เอเชีย เล่ม 1 อักษร A-B ฉบับราชบัณฑิตยสถาน. กทม.ราชบัณฑิตยสถาน. 2539. หน้า 64 - 68