อันเดรส โบนีฟาซีโอ
อันเดรส โบนีฟาซีโอ | |
---|---|
เกิด | 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2406 ตอนโด, มะนิลา, ฟิลิปปินส์ |
เสียชีวิต | 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2440 (33 ปี) มารากอนดอน, คาวิเต, ฟิลิปปินส์ |
สาเหตุเสียชีวิต | โทษประหารชีวิต |
สัญชาติ | ฟิลิปปินส์ |
มีชื่อเสียงจาก | การปฏิวัติฟิลิปปินส์ |
พรรคการเมือง | สันนิบาตฟีลีปีนา พรรคกาตีปูนัน |
คู่สมรส | เกรโกรเรีย เด เจซุส |
อันเดรส โบนีฟาซีโอ อี เด กัสโตร (Andrés Bonifacio y de Castro) เป็นนักปฏิวัติหัวรุนแรงในการเรียกร้องเอกราชของฟิลิปปินส์จากสเปน รุ่นเดียวกับโฮเซ รีซัล และเอมีลีโอ อากีนัลโด เขาจัดตั้งสมาคมลับกาตีปูนัน (Katipunan) เพื่อต่อสู้กับสเปน ตามแผนการนั้น เขาต้องการลุกฮือขึ้นขับไล่สเปนด้วยอาวุธ แต่รีซัลไม่เห็นด้วย โบนีฟาซีโอถูกฆ่าตายเมื่อ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2440 หลังการตายของรีซัลไม่นาน รวมอายุได้ 34 ปี ในปัจจุบัน โบนีฟาซิโอยังถือว่าเป็นวีรบุรุษแห่งมะนิลา มีอนุสรณ์สถานของเขาที่จัตุรัสลีวาซัง ถนนแมกคัลลี วันที่ 30 พฤศจิกายนของทุกปี เป็นวันโบนีฟาซิโอเพื่อระลึกถึงเขา
ประวัติ
[แก้]โบนีฟาซิโอเกิดเมื่อ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2406 ที่ตำบลตอนโดในมะนิลา ครอบครัวของเขายากจนมาก และเขาเป็นกำพร้าตั้งแต่อายุ 14 ปี ในวัยเด็ก เขาประกอบอาชีพเป็นกรรมกร และขายของเก่า รับจ้างเป็นยาม เขาจึงไม่มีโอกาสได้รับการศึกษาในระบบ แต่ด้วยความเป็นคนใฝ่รู้ จึงพยายามศึกษาด้วยตนเองจนอ่านออกเขียนได้ เขาได้รับอิทธิพลจากงานเขียนของโฮเซ่ ริซัลเรื่องอันล่วงละเมิดมิได้ นอกจากนั้น โบนีฟาซิโอยังได้เป็นสมาชิกรุ่นแรกๆ ของสันนิบาตฟีลีปีนาที่ริซัลก่อตั้งขึ้นใน พ.ศ. 2435 แต่หลังจากนั้นไม่นาน ริซัลถูกเนรเทศไปยังเมืองอาปีตัน สันนิบาตจึงสลายตัวลง หลังจากนั้นไม่นาน โบนีฟาซิโอจึงก่อตั้งขบวนการกาตีปูนัน ขึ้นเมื่อ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2435 โดยใช้แนวคิดของริซัลเป็นแกนหลัก
ต่อมาใน พ.ศ. 2437 โบนีฟาซิโอได้จัดประชุมสมาชิกที่เทือกเขามอนทัลบัน เพื่อวางแผนปฏิวัติ ก่อนจะกำหนดการจับอาวุธลุกขึ้นสู้ในวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2439 แต่ฝ่ายกาตีปูนันเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ โบนีฟาซิโอหนีไปตั้งตัวที่เทือกเขามอนทันบัล แต่รัฐบาลสเปนก็ดำเนินนโยบายผิดพลาดด้วยการสั่งประหารชีวิตโฮเซ่ ริซัล ทำให้ขบวนการกาตีปูนันฟื้นตัวขึ้นมาอีก โบนีฟาซิโอยังคงจับอาวุธลุกขึ้นสู้กับสเปน และจัดตั้งรัฐบาลกาตีปูนันที่ตำบลเตเฮโรส และพยายามร่วมมือกับกลุ่มชาตินิยมอื่นๆ
โบนีฟาซิโอได้ร่วมมือกับเอมีลีโอ อากีนัลโด และได้ตกลงตั้งสภาปฏิวัติใหญ่ขึ้นที่เตเฮโรส และมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อ 22 มีนาคม พ.ศ. 2439 ปรากฏว่าอากีนัลโดได้เป็นประธานาธิบดี โบนีฟาซิโอได้เป็นผู้อำนวยการทางด้านมหาดไทย แต่ก็มีผู้คัดค้านอีกทำให้เขาเสียหน้า ในที่สุดจึงถอนตัว ไม่ยอมรับสาธารณรัฐฟิลิปปินส์ กลุ่มของโบนีฟาซิโอกับกลุ่มของอากีนัลโดจึงต่อสู้กัน ผลปรากฏว่าโบนีฟาซิโอเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ ถูกจับตัวได้และถูกประหารชีวิตเมื่อ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2440 ขบวนการกาตีปูนันจึงสิ้นสุดลง
กระดูกของโบนีฟาซิโอ
[แก้]ใน พ.ศ. 2461 สหรัฐอเมริกาได้สนับสนุนให้ฟิลิปปินส์หาศพของโบนีฟาซิโอที่อาจจะหลงเหลืออยู่ในมารากอนดอน และมีผู้พบโครงกระดูกที่คาดว่าจะเป็นของโบนีฟาซิโอในไร่อ้อย และได้นำมาเก็บรักษาไว้ เมื่ออากีนัลโดออกมาต่อต้าน เอ็มมานูเอล เกซอน ใน พ.ศ. 2478 เกซอนได้พยายามปลุกระดมเกี่ยวกับความทรงจำถึงโบนีฟาซิโอ เพื่อต่อต้านอากีนัลโด เพราะอากีนัลโดเป็นผู้ประหารชีวิตโบนีฟาซิโอ อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ญี่ปุ่นรุกรานฟิลิปปินส์ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 และเข้ายึดครองมะนิลา กระดูกของโบนีฟาซิโอได้หายไป .[1] [2][3]
ประธานาธิบดีคนแรกอย่างไม่เป็นทางการ
[แก้]นักประวัติศาสตร์บางกลุ่ม เช่น Milagros Guerrero, Emmanuel Encarnación, และ Ramón Villegas ได้ยอมรับว่าโบนีฟาซิโอเป็นประธานาธิบดีคนแรกของฟิลิปปินส์แทนที่อากีนัลโดที่ได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการ มุมมองนี้ถือว่าโบนีฟาซีโอเป็นผู้นำของกาตีปูนันที่ได้จัดตั้งรัฐบาลปฏิวัติในช่วง พ.ศ. 2439 - 2440 ซึ่งก่อนการจัดตั้งรัฐบาลที่เตเฮโรสของอากีนัลโด โดย Guerrero เขียนว่า โบนีฟาซิโอได้สร้างแนวคิดของชาติฟิลิปปินส์ที่เรียกว่า Haring Bayang Katagalugan ("ชาติตากาล็อกสูงสุด") ซึ่งต่อมาถูกแทนที่ด้วยแนวคิดฟิลิปินัสของอากีนัลโด รัฐบาลที่เตเฮโรสจัดเป็น สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ที่ 1 ส่วนโบนีฟาซิโอถือเป็นประธานาธิบดีของสาธารณรัฐตากาล็อก[4][5][6]
อ้างอิง
[แก้]- ชาญวิทย์ เกษตรศิริ. "โฮเซ่ ริซัล ลัทธิชาตินิยมกับ “ปีศาจ” ของการเปรียบเทียบ" ใน จิตราภรณ์ ตันรัตนกุล. อันล่วงละเมิดมิได้. กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2548
- สุพรรณณี กาญจนัษดิษฐ์. อันเดรส โบนีฟาเซียว ใน สารานุกรมประวัติศาสตร์สากลสมัยใหม่: เอเชีย เล่ม 1 อักษร A-B ฉบับราชบัณฑิตยสถาน. กทม.ราชบัณฑิตยสถาน. 2539. หน้า 491 - 494
- ↑ Ocampo 2001
- ↑ Morallos 1998 .
- ↑ "Philippine Revolution." เก็บถาวร 2009-07-23 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน Retrieved on 1 August 2009.
- ↑ Guerrero 1998, pp. 166–167 .
- ↑ Guerrero 1996a, pp. 3–12 .
- ↑ "La Ilustración Española y Americana", Año 1897, Vol. I.[ลิงก์เสีย] Museo Oriental de Valladolid Site.
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- Ang Supremo – Filipino Culture by The Pinoy Warrior and What if Andres Bonifacio had a Facebook Page?
- The Records of the Court Martial of Andres and Procopio Bonifacio เก็บถาวร 2009-03-17 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน Full text and online collection of court documents in Spanish and old Tagalog with regards to the Andres and Procopio Bonifacio trial.
- The Courtmartial of Andres Bonifacio เก็บถาวร 2009-08-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน English translation of the historical court documents and testimonies in the trial and execution of Andres and Procopio Bonifacio processed by Filipiniana.net
- Ang Dapat Mabatid ng mga Tagalog เก็บถาวร 2009-08-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน Summary and full text of an article written by Andres Bonifacio in the Katipunan newspaper Kalayaan posted in Filipiniana.net
- Andres Bonifacio: 1863–1897. United States Library of Congress.