เหตุรุนแรงที่รามู พ.ศ. 2555
เหตุรุนแรงที่รามู พ.ศ. 2555 คือการทำลายศาสนสถานในศาสนาพุทธ และบ้านเรือนของพุทธศาสนิกชนในกิ่งอำเภอรามู[2] ซึ่งขึ้นกับอำเภอคอกส์บาซาร์ ภาคจิตตะกอง ประเทศบังกลาเทศ[3] โดยมีการรวมพลวุ่นวายช่วงเวลาเที่ยงคืนของวันที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2555 พวกเขาเริ่มการทำลายวัด และสำนักสงฆ์ จำนวน 12 แห่ง บ้านเรือนของชาวพุทธอีก 50 หลัง เพื่อตอบโต้ผู้ใช้เฟซบุ๊กคนหนึ่งซึ่งใช้ชื่อบัญชีเป็นผู้ชายชาวพุทธ แท็กภาพดูหมิ่นพระคัมภีร์อัลกุรอานบนไทม์ไลน์ของตนเอง[4][5] ซึ่งมีภาพเผาพระคัมภีร์อัลกุรอานจริง แต่ชายชาวพุทธผู้เป็นเจ้าของบัญชีเฟซบุ๊กดังกล่าวไม่ได้เป็นผู้โพสต์ และเขาถูกใส่ร้าย[6] พุทธศาสนิกชนคนอื่น ๆ ก็ไม่ได้รู้เห็นกับการกระทำดังกล่าว[7] แต่ทว่าความรุนแรงได้แผ่ขยายไปยังกิ่งอำเภออุขิยา ในอำเภอคอกส์บาซาร์[8] และกิ่งอำเภอปฏิยา ในอำเภอจิตตะกอง ซึ่งทั้งหมดตั้งอยู่ในภาคจิตตะกอง
ในระยะเวลาสามวัน ศาสนสถานในศาสนาพุทธและฮินดูถูกเผาทำลายจนได้รับความเสียหายจำนวน 24 แห่ง แบ่งเป็นวัดพุทธในกิ่งอำเภอรามู 15 แห่ง กิ่งอำเภออุขิยา 5 แห่ง กิ่งอำเภอปฏิยา 4 แห่ง และเทวสถานฮินดูในกิ่งอำเภอปฏิยาอีกสองแห่ง ส่วนบ้านเรือนราษฎรที่นับถือศาสนาพุทธ ถูกเผาทำลายกว่าหนึ่งร้อยหลังคาเรือน[9] มีการประมาณการว่าจำนวนของผู้ที่เข้าไปทำลายสิ่งของของพุทธศาสนิกชนมีมากถึง 25,000 คน[10] และสามารถจับกุมผู้ก่อความวุ่นวายได้ 300 คน
เหตุการณ์
[แก้]เวลา 22.00 น. ของวันเสาร์ที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2555 มีการรวมตัวประท้วงการโพสต์เฟซบุ๊กดูหมิ่นพระคัมภีร์อัลกุรอานโดยการเดินขบวน มีผู้นำพรรคอะวามีลีก (Awami League) ระดมมวลชนในท้องถิ่น เพื่อโจมตีพรรคตรงข้ามโดยใช้ความอ่อนไหวด้านศาสนา เดอะเดลีสตาร์ รายงานว่ามีการรวมกลุ่มกันอย่างกว้างขวาง แบ่งเป็น ขบวนแรกตั้งแต่ผู้นำท้องถิ่นที่สนับสนุนพรรคอะวามีลีก กลุ่มบีเอ็นพี นักเรียนในโรงเรียนศาสนาอิสลาม และประชาชนทั่วไป เป็นผู้อยู่เบื้องหลังความรุนแรงในกิ่งอำเภอรามู[11] ผู้ประท้วงขบวนที่สองมีการเรียกร้องให้บุคคลที่โพสต์เฟซบุ๊กดูหมิ่นพระคัมภีร์ออกมาแสดงความรับผิดชอบ กระทั่งเวลา 23.30 น. กลุ่มผู้ประท้วงขบวนที่สามมุ่งไปที่พารัวปารหา (Barua Parha) และเริ่มวางเพลิงบ้านเรือนของพุทธศาสนิกชนบางหลัง[12] ต่อจากนั้นก็เปิดฉากโจมตีวัด อาราม และหมู่บ้านชาวพุทธหลายแห่ง โดยใช้ดินปืน น้ำมันก๊าด และน้ำมันเบนซิน[12][13] รวมทั้งปล้นทรัพย์สินมีค่า เช่น เงิน ทองคำ และคอมพิวเตอร์[7] การลอบวางเพลิงชุมชนชาวพุทธดำเนินเรื่อยไปจนถึงเวลา 03.00 น. ของวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2555 เจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่รัฐอื่น ๆ ยังเฉยเมยต่อสถานการณ์หลังเหตุการณ์ดำเนินไปแล้วถึง 24 ชั่วโมง[9]
ช่วงเย็นของวันอาทิตย์ที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2555 เหตุการณ์บานปลายออกไปนอกกิ่งอำเภอรามู เพราะมีการเผาทำลายวัดพุทธและเทวสถานฮินดูในกิ่งอำเภออุขิยา[14] กระทั่งรุ่งขึ้นของวันจันทร์ที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2555 ก็มีการเผาทำลายทีปังกรพุทธพิหาร (Dipankar Bouddha Bihar) ในมริจยา (Marichya) และปัญญามิตรพุทธพิหาร (Pangyamitra Bouddha Bihar) ในขาอีราติพารา (Khairatipara) ซึ่งเป็นศาสนสถานของศาสนาพุทธ เฉพาะวันจันทร์มีการเผาทำลายวัดและอารามพุทธ 6 แห่ง เกิดขึ้นในกิ่งอำเภออุขิยา[15] และมีกรณีคนคลั่งศาสนาเข้าไปเผาทำลายมาตฤมนเทียร (Matri Mandir) ซึ่งเป็นเทวสถานฮินดูในเชเลปาระ (Jelepara)[9] นอกจากนี้ผู้ประท้วงยังเข้าไปเผาพระคัมภีร์ของศาสนาพุทธและริบพระพุทธรูปออกไปด้วย[16] พุทธศาสนิกชนต้องหลบซ่อนตัวในป่าละแวกบ้าน เฝ้าดูชาวมุสลิมเผาบ้านเรือนและรื้อค้นทรัพย์สิน ความเสียหายที่เกิดขึ้นทำให้พวกเขากลายเป็นผู้ไร้บ้านไปทันที[7]
นอกจากนี้เหตุการณ์ยังบานปลายไปยังกิ่งอำเภอปฏิยา ซึ่งขึ้นกับอำเภอจิตตะกอง[14] ด้วยการโจมตีวัดพุทธและเทวสถานฮินดูในช่วงเที่ยงของวันอาทิตย์ที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2555 และช่วงเวลาเที่ยงคืนซึ่งตรงกับวันจันทร์ที่ 1 ตุลาคม คนงานของเรือเดินสมุทรเวสเทิร์นมารีนจำนวน 500 คน ลอบวางเพลิงพุทธารามสองแห่ง คือ รัตนังกูรพุทธพิหาร (Ratnankur Bouddha Bihar) ในกลคาโอน (Kalagaon) และอภัยพุทธพิหาร (Abhay Bouddha Bihar) ในลาเขรา (Lakhera) กับเทวสถานฮินดูอีกหนึ่งแห่ง คือ นพรุนสังฆทุรคาพารี (Nabarun Sangha Durgabari) ในกลคาโอน (Kalagaon)[15]
มีชาวโรฮีนจาซึ่งลี้ภัยจากประเทศพม่า ร่วมประสมโรงการโจมตีชุมชนชาวพุทธด้วย เพราะในช่วงบ่ายของวันที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2555 เจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมตัวชาวโรฮีนจาจำนวนสามคนได้ที่กิ่งอำเภอจกริยา ในอำเภอคอกส์บาซาร์ ขณะที่พวกเขากำลังโจมตีอารามพุทธแห่งหนึ่งในมาณิกปุร (Manikpur)[17]
การสืบสวน
[แก้]มีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนขึ้นเมื่อวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2555 ซึ่งวันต่อมาได้ตรวจสอบพบปัญหาในรายงานของเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารประจำกิ่งอำเภอ และมีรายงานลงในหนังสือพิมพ์รายวัน[15]
วันที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 ศาลฎีกาสั่งให้โตฟาอิล อะฮ์มัด (Tofail Ahmed) เจ้าหน้าที่ประจำกิ่งอำเภอนาอิกษยังฉริ ในอำเภอพานทรพาน ภาคจิตตะกอง ปฏิบัติตามคำสั่งของศาลล่างเป็นระยะเวลาสี่สัปดาห์ หลังพบว่าเขามีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุโจมตีและทำลายล้างชุมชนชาวพุทธในกิ่งอำเภอรามู อำเภอคอกส์บาซาร์ ซึ่งก่อนหน้านี้ใน พ.ศ. 2555 โตฟาอิลตกเป็นผู้ต้องสงสัยรายสำคัญในเหตุรุนแรงที่รามูจากการสืบสวนของรัฐบาล[18]
ปฏิกิริยา
[แก้]คณะพระสงฆ์และนักบวชฮินดูในประเทศพม่า[19] อินเดีย[20] ศรีลังกา[21] และไทย[21] มีปฏิกิริยาต่อต้านความรุนแรงที่เกิดขึ้นต่อชุมชนชาวพุทธในประเทศบังกลาเทศ ที่กรุงโคลัมโบ ประเทศศรีลังกา มีประชาชนบางส่วนออกมาประท้วงบริเวณด้านนอกสถานเอกอัครราชทูตบังกลาเทศ โดยมีการยื่นคำร้องประณามการโจมตีดังกล่าว ผู้ประท้วงชาวศรีลังกาบางส่วนขว้างปาสิ่งของใส่สถานทูตจนหน้าต่างบางส่วนพังเสียหาย ก่อนที่ตำรวจศรีลังกาจะเข้ามาระงับเหตุ[21]
6 ตุลาคม พ.ศ. 2555 เชก ฮาซินา นายกรัฐมนตรีบังกลาเทศ ออกมาประณามความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับพุทธศาสนิกชน เธอกล่าวว่าเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นการกระทำความผิดโดยไตร่ตรองไว้ก่อน และเรียกร้องให้ทุกคนข่มใจต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นนี้[22] ต่อมาวันที่ 8 ตุลาคมปีเดียวกัน นายกรัฐมนตรีได้ไปเยี่ยมผู้ที่ได้รับผลกระทบ เธอได้ประณามสิ่งที่เกิดขึ้น พร้อมกับสัญญาว่าจะให้ความยุติธรรมอย่างเหมาะสม[23] หลังจากนั้นนายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้กองทัพบังกลาเทศฟื้นฟูพุทธสถานขึ้นใหม่ โดยใช้ชื่อโครงการว่า "การฟื้นฟูและบูรณะวัดในพระพุทธศาสนาที่ได้รับความเสียหาย" สิ้นเงินงบประมาณ 200 ล้านตากา โดยกองทัพบังกลาเทศได้บูรณะและ/หรือสร้างวัดและอารามขึ้นใหม่จำนวน 19 แห่ง โดยได้ผสมผสานการออกแบบสิ่งก่อสร้างดั้งเดิมจากสถาปนิกชาวพุทธที่มีชื่อเสียงของแต่ละชุมชน[24]
อับดุล ฮามิด ประธานาธิบดีบังกลาเทศ เข้าเยี่ยมชมวัดและศูนย์กลางพระพุทธศาสนาที่สร้างขึ้นใหม่หลายแห่งในกิ่งอำเภอรามูเมื่อวันที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2557 ระหว่างนั้นเขาได้สอบถามเกี่ยวกับความเป็นอยู่ของพุทธศาสนิกชน และแจกจ่ายเช็คให้แก่สมาชิกในชุมชนที่ได้รับผลกระทบ[24]
ดูเพิ่ม
[แก้]อ้างอิง
[แก้]- ↑ "Census 2022: Bangladesh population now 165 million". 27 July 2022. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 27 July 2022. สืบค้นเมื่อ 29 July 2022.
- ↑ "Violencia religiosa en Bangladesh por imagen ofensiva publicada en Facebook". BBC Mundo.
- ↑ "Desa-desa Buddha di Bangladesh diserang". BBC Indonesia. 30 September 2012.
- ↑ "Extremists 'linked'". The Daily Star. 1 October 2012. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-04. สืบค้นเมื่อ 3 November 2015.
- ↑ "Khaleda for neutral probe, tough action". The Daily Star. 1 October 2012. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-04. สืบค้นเมื่อ 3 November 2015.
- ↑ "Bangladesh rampage over Facebook Koran image". BBC News. 30 September 2012.
- ↑ 7.0 7.1 7.2 "Bangladesh Buddhists pick up pieces after mob rampage". BBC News. Ramu, Cox's Bazar District. 1 February 2013.
- ↑ "5 Buddhist temples attacked in Ukhia". bdnews24.com. 2 September 2012. สืบค้นเมื่อ 31 May 2013.
- ↑ 9.0 9.1 9.2 "24 Buddhist and Hindu temples burnt in Bangladesh - India and UN urged to intervene" (Press release). Asian Centre for Human Rights. 1 October 2012. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 4 October 2012. สืบค้นเมื่อ 4 October 2012.
- ↑ "Rioting mob torches temples in Bangladesh". ABC News. 30 September 2012. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 10 June 2015. สืบค้นเมื่อ 5 October 2012.
- ↑ Inam Ahmed, Julfikar Ali Manik (3 October 2012). "A hazy picture appears". The Daily Star. สืบค้นเมื่อ 24 October 2012.
- ↑ 12.0 12.1 "Buddhist temples, homes burned, looted in Ramu". bdnews24.com. 30 September 2012. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 5 November 2012. สืบค้นเมื่อ 3 October 2012.
- ↑ "Ramu Violence: Home Minister points finger at MP". BDNEWS. 30 September 2012. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-10-05. สืบค้นเมื่อ 3 October 2012.
- ↑ 14.0 14.1 "166 nabbed for Ramu rampage". Daily Sun. 2 October 2012. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2023-07-16. สืบค้นเมื่อ 2 October 2012.
- ↑ 15.0 15.1 15.2 Juberee, Abdullah; Atikuzzaman, A.K.M. (2 October 2012). "Mobs torch two more monasteries in Cox's Bazar". The New Age. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 3 October 2012. สืบค้นเมื่อ 2 October 2012.
- ↑ Ethirajan, Anbarasan (1 February 2013). "Bangladesh Buddhists pick up pieces after mob rampage". BBC News. Ramu, Cox's Bazar District. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-12-24. สืบค้นเมื่อ 2023-07-16.
- ↑ "3 Rohingyas held in Cox's Bazar". Daily Sun. 3 October 2012. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2023-07-16. สืบค้นเมื่อ 3 October 2012.
- ↑ "SC cancels key Ramu attacker's bail". The Daily Star. 12 May 2014.
- ↑ "Burmese Buddhists protest attacks". The Scotsman. 6 October 2012. สืบค้นเมื่อ 6 October 2012.
- ↑ "Buddhists, Hindus in Tripura protest against attack on Bangladesh temples". News Track India. 9 October 2012. สืบค้นเมื่อ 9 October 2012.
- ↑ 21.0 21.1 21.2 "Bangladesh embassy stoned during monks' protest" (Press release). Agence France-Presse. 4 October 2012. สืบค้นเมื่อ 6 October 2012.
- ↑ "Attack on Buddhist Temples premeditated: Prime Minister Sheikh Hasina". Asian Tribune. 7 October 2012. สืบค้นเมื่อ 7 October 2012.
- ↑ "PM visits Ramu, meets victims". bdnews24.com. 8 October 2012. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 16 November 2012. สืบค้นเมื่อ 8 October 2012.
- ↑ 24.0 24.1 "President visits rebuilt Buddhist temples in Ramu". Bangladesh Sangbad Sangstha (BSS). 10 March 2014. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 5 March 2016. สืบค้นเมื่อ 6 June 2014.