ข้ามไปเนื้อหา

เลขประจำตัวประชาชนไทย

หน้าถูกกึ่งป้องกัน
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

เลขประจำตัวในบัตรประชาชนของคนไทย มีด้วยกัน 13 หลัก โดยแต่ละหลัก มีความหมายแตกต่างกันไป ทั้งนี้ ผู้อำนวยการสำนักทะเบียนกลาง กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย มีหน้าที่ในการกำหนดเลขประจำตัว แก่บุคคลที่อยู่ในราชอาณาจักร คนละหนึ่งเลขโดยไม่ซ้ำกัน และอาจยกเว้นแก่บุคคลบางจำพวก[1] เช่นสมเด็จพระราชินี และพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นพระองค์เจ้า เป็นต้น ซึ่งจะสงวนเลขประจำตัวที่ขึ้นต้นเป็นเลข 9 [2]

โดยเมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2527 กรมการปกครอง ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบทะเบียนราษฎร ประกาศกำหนดให้บุคคลภายในประเทศไทย ต้องมีเลขประจำตัวประชาชน ปรากฏในทะเบียนบ้านและบัตรประจำตัวประชาชน และกำหนดให้ต้องดำเนินการจนเสร็จสิ้นทั้งหมด ภายในวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2547 เนื่องจากก่อนหน้านี้ ประเทศไทยยังไม่เคยกำหนดเลขประจำตัวเช่นนี้มาก่อน ดังนั้นจึงกำหนดระยะเวลาดังกล่าว เพื่อจัดระบบทะเบียนราษฎรให้เทียบเท่านานาประเทศ โดยบุคคลภายในประเทศไทยทั้งหมด จะต้องมีเลขประจำตัวประชาชน เพื่อแสดงตนว่าเป็นบุคคลประเภทใด โดยดูตามเงื่อนไขในแต่ละกรณี

ตัวเลขหลักที่ 1

1 2345 67890 12 3

แสดงตัวเลขหลักที่ 1

หมายถึงประเภทบุคคล ซึ่งมีอยู่ 9 ประเภท ได้แก่

ประเภทที่ 1

คือคนที่เกิดและมีสัญชาติไทยและได้แจ้งเกิดภายในกำหนดเวลา หมายความว่า เด็กคนใดก็ตามที่เกิดตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2527 เป็นต้นไป อันเป็นวันเริ่มแรกที่กรมการปกครอง ประกาศให้ประชาชนทุกคนต้องมีเลขประจำตัว 13 หลัก เมื่อพ่อแม่ผู้ปกครองไปแจ้งเกิดที่อำเภอหรือสำนักทะเบียนในเขตที่อยู่ภายใน 15 วัน นับแต่เกิดมาตามที่กฎหมายกำหนด เด็กคนนั้นก็ถือเป็นบุคคลประเภท 1 และจะมีเลขประจำตัวขึ้นต้นด้วยเลข 1 เช่น เด็กชายตู่ โนนสวรรค์ เกิดเมื่อวันที่ 2 มกราคม 2527 และพ่อชื่อ นายเต่า โนนสวรรค์ ได้ไปแจ้งเกิดที่เขตดุสิตภายในวันที่ 17 มกราคม 2527 เด็กชายตู่ ก็จะมีหมายเลขประจำตัวขึ้นต้นด้วยเลข 1 และก็ต่อด้วยเลขหลักอื่นๆ อีก 12 ตัว เป็น 1 1001 01245 29 9 เป็นต้น ซึ่งเลขนี้จะเป็นเลขประจำตัว ปรากฏในทะเบียนบ้าน และจะปรากฏบนบัตรประจำตัวประชาชน เมื่อเด็กชายตู่ไปทำบัตรประชาชนตอนอายุ 15 ปี

ปัจจุบัน พระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2554 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 10 พฤษภาคม 2554 กำหนดให้เด็กอายุครบ 7 ปี ต้องยื่นคำขอมีบัตรประชาชนครั้งแรก ภายใน 60 วัน[3] จากเดิมคือต้องเป็นผู้มีอายุครบ 15 ปี ทั้งนี้ คำนำหน้าชื่อบนบัตรของเด็กอายุ 7-14 ปี ยังคงเป็น ด.ช. (มาจากเด็กชาย) หรือ ด.ญ. (มาจากเด็กหญิง) ตามเดิม แต่เมื่ออายุครบ 15 ปีบริบูรณ์แล้ว คำนำหน้าชื่อก็จะเปลี่ยนแปลง เช่น ด.ช. จะเป็น นาย หรือ ด.ญ. เป็น น.ส. (มาจากนางสาว) แต่หากหญิงที่ได้จดทะเบียนสมรสแล้วจะประสงค์จะเปลี่ยนคำนำหน้าชื่อและจะใช้นามสกุลตามสามี ก็จะมีคำนำหน้าชื่อจากเดิมเป็น น.ส. ก็จะเปลี่ยนเป็น นาง แทน อย่างไรก็ตาม เลขประจำตัวประชาชนก็จะเป็นเลขประจำตัวเดิมตลอดชีวิต

ประเภทที่ 2

คือคนที่เกิดและมีสัญชาติไทยได้แจ้งเกิดเกินกำหนดเวลา หมายความว่า เด็กคนใดก็ตามที่เกิดตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2527 เป็นต้นไป แล้วผู้ปกครองลืมหรือติดธุระไม่สามารถไปแจ้งเกิดที่อำเภอหรือเขตภายใน 15 วันตามกำหนด เมื่อไปแจ้งภายหลังเด็กคนนั้นก็จะกลายเป็นบุคคลประเภท 2 มีตัวเลขตัวแรกในทะเบียนบ้านขึ้นต้นด้วยเลข 2 เช่น ในกรณีเด็กชายตู่ หากพ่อไปแจ้งเกิดให้ ในวันที่ 18 มกราคม 2527 หรือเกินกว่านั้น ตู่ก็จะมีเลขประจำตัวเป็น 2 1001 01245 29 9 ในทะเบียนบ้าน และเมื่อไปทำบัตรประชาชนในภายหน้า

ประเภทที่ 3

คือคนไทยและคนต่างด้าวที่มีใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวและมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในสมัยเริ่มแรก (คือตั้งแต่ก่อนวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2527) หมายความว่า บุคคลใดก็ตามไม่ว่าจะเป็นคนไทยหรือคนต่างด้าวที่มีใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว และมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน ณ ที่ใดที่หนึ่งในประเทศไทยมาตั้งแต่ก่อนวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2527 คนนั้นถือว่าเป็นบุคคลประเภท 3 และก็จะมีเลขประจำตัวขึ้นต้นด้วยเลข 3 เช่น ละออ บันทายมาศ เกิดเมื่อวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2501 และมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านแล้ว ละออ ก็จะมีเลขประจำตัวในทะเบียนบ้าน และบัตรประชาชนเป็น 3 1001 01245 29 9

ประเภทที่ 4

คือคนไทยและคนต่างด้าวที่มีใบสำคัญคนต่างด้าว แต่แจ้งย้ายเข้าโดยยังไม่มีเลขประจำตัวประชาชนในสมัยเริ่มแรก (คือตั้งแต่ก่อนวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2527) หมายความว่า คนไทยหรือคนต่างด้าวที่มีใบสำคัญคนต่างด้าว ที่อาจจะเป็นบุคคลประเภท 3 คือมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านเดิมอยู่แล้ว แต่ยังไม่ทันได้เลขประจำตัวก็ขอย้ายบ้านไปเขตหรืออำเภออื่นก่อนช่วง 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2527 ก็จะเป็นบุคคลประเภท 4 ทันที ตัวอย่าง เช่น นที เสรีภาพ มีชื่ออยู่ในสำนักทะเบียนเขตคลองสาน มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2501 ต่อมาในเดือนกุมภาพันธ์ 2527 นทีขอย้ายบ้านไปเขตดุสิต โดยที่นทียังไม่ทันได้เลขประจำตัวจากเขตคลองสาน พอแจ้งย้ายเข้าเขตดุสิต นทีก็จะกลายเป็นบุคคลประเภท 4 มีเลขประจำตัวขึ้นต้นด้วย 4 กลายเป็น 4 1001 01245 29 9 ทันที แต่ถ้านทีย้ายจากเขตคลองสานเดิม ไปเขตดุสิต หลังวันที่ 31 พฤษภาคม 2527 นทีก็ยังเป็นบุคคลประเภท 3 อยู่ เพราะถือว่าจะได้เลขประจำตัวจากเขตคลองสานแล้ว จะย้ายอย่างไรก็ไม่เปลี่ยนแปลง

การกำหนดให้บุคคลเริ่มมีเลขประจำตัว 13 หลักในทะเบียนบ้านหรือบัตรประชาชน โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2527 เป็นต้นไป จนถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2527 อันเป็นวันสุดท้าย ของการดำเนินการให้ประชาชน ที่ไม่มีเลขประจำตัวในบัตรหรือทะเบียนบ้าน ได้มีเลขประจำตัวจนครบแล้วนั้น ก็เพราะก่อนหน้านี้ประเทศไทยยังไม่เคยมีการกำหนดเลขประจำตัวดังกล่าวมาก่อนเลย ดังนั้น ช่วงที่ว่าจึงเป็นระยะเวลาจัดระบบให้เข้าที่เข้าทาง เพราะหลังจากวันที่ 31 พฤษภาคม 2527 แล้ว ทุกคนจะต้องมีเลขประจำตัวเพื่อสำแดงตนว่า เป็นบุคคลประเภทใด โดยดูตามเงื่อนไขในแต่ละกรณี ซึ่งมีอีก 4 ประเภท คือ ประเภทที่ 5-8 [4]

ประเภทที่ 5

คือคนไทยที่ได้รับอนุมัติให้เพิ่มชื่อเข้าไปในทะเบียนบ้านในกรณีตกสำรวจหรือกรณีอื่น ๆ เช่น คนที่ถือ 2 สัญชาติ หรือ คนที่อยู่นอกพื้นที่ที่สำรวจ

ในกรณีตกสำรวจจะอธิบายได้ว่า

กรณีที่ 1 พรชัย มั่งมีทรัพย์ เป็นคนเกิดที่จังหวัดลำปางวันที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2494 แต่ได้อพยพเพื่ออาศัยอยู่ในจังหวัดเชียงรายตามบิดา-มารดาของตน แต่มี ลุง หรือ อา และ บรรพบุรุษยังอยู่ในพื้นที่บ้านเกิดอยู่เพราะเนื่องจากบรรพบุรุษเป็นต้นตระกูลมั่งมีทรัพย์ ปรากฏในเขตพื้นที่จังหวัดลำปางอยู่ซึ่งเป็นจังหวัดต้นทาง ซึ่งทางจังหวัดลำปางได้สำรวจบุคคลภายในบ้านเป็นอันเสร็จสิ้นแล้ว หลังจากนั้นปรากฏพรชัยว่ามีภรรยาชื่อ จันทร เป็นบุคคลในพื้นที่จังหวัดเชียงรายซึ่งอยู่ในทะเบียนบ้านอยู่แล้วเดิม(บุคคลประเภทที่ 3) ต่อมาวันที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2515 มีบุตรชื่อ พสุธา มั่งมีทรัพย์ แล้วพรชัยได้ตัดสินใจว่าเขาจะไม่อยู่จังหวัดลำปางซึ่งเป็นบ้านเกิดของเขาอีกต่อไป เมื่อพรชัยได้แจ้งกับสำนักงานทะเบียนกลางของจังหวัดเชียงรายว่าพรชัยเป็นบุคคลต่างพื้นที่และทางจังหวัดลำปางได้สำรวจไปเรียบร้อยแล้ว (หรือเจ้าหน้าที่จังหวัดเชียงรายซึ่งเป็นจังหวัดปลายทางตรวจสอบแล้วว่าเป็นบุคคลนอกพื้นที่) และพรชัยจะประสงค์จะขอเลขบัตรประจำตัวประชาชนในจังหวัดเชียงราย จึงสรุปได้ว่า พรชัย จะมีเลขบัตรประจำตัวประชาชนขึ้นต้นด้วยเลข 5 (5 5788 07788 66 0) และพสุธาก็จะมีเลขบัตรประจำตัวประชาชนขึ้นต้นด้วยเลข 5 ตามบิดาไปด้วย (5 5788 07788 67 8)

กรณีที่ 2 ฟ้าใส แจ่มฤดี มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตอำเภอแม่สายอยู่แล้ว ในขณะนั้นพบว่ามีการสำรวจบุคคลภายในบ้าน แต่เกิดข้อผิดพลาดทางเทคนิคทำให้ฟ้าใสหลุดจากทะเบียนบ้าน เมื่อฟ้าใสได้แจ้งกับทางอำเภอ ทางอำเภอได้ตรวจสอบแล้วว่ามีการตกสำรวจจริง หรือแม้จะเป็นกรณีใดก็ตาม เจ้าหน้าที่ได้เพิ่มชื่อเข้าให้ในทะเบียนบ้าน แต่สุดท้ายฟ้าใสได้ถูกแปรสภาพเป็นคนประเภทที่ 5 และเลขบัตรประจำตัวประชาชนจะขึ้นต้นด้วยเลข 5 โดยทันที คือ 5 5709 99955 77 8

ซึ่งการตกสำรวจนี้อาจจะพบในหลายกรณีคือ จะมีการอยู่นอกพื้นที่ (อาจจะอยู่นอกเขต ตำบล/แขวง หรือ อยู่นอกอำเภอ/เขต หรือ นอกเขตจังหวัดก็ได้) หรือความผิดพลาดในเจ้าหน้าที่ที่สำรวจแล้วปรากฏว่าไม่มีรายชื่ออยู่ในทะเบียน แต่หากบุคคลที่ตกสำรวจอยู่ในเขตอำเภอ หรือจังหวัดอื่นแล้ว จะได้เลขบัตรประจำตัวประชาชนที่เป็นอำเภอหรือจังหวัดใหม่โดยทันที

ประเภทที่ 6

คือผู้ที่เข้าเมืองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และผู้ที่เข้าเมืองโดยชอบด้วยกฎหมายแต่อยู่ในลักษณะชั่วคราว กล่าวคือ คนที่มาอาศัยอยู่ในประเทศไทยแต่ยังไม่ได้สัญชาติไทยเพราะทางการยังไม่รับรองทางกฎหมาย เช่น ชนกลุ่มน้อยตามชายแดนหรือชาวเขา กลุ่มนี้ถือว่าเป็นผู้เข้าเมืองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ส่วนบุคคลที่เข้าเมืองโดยชอบด้วยกฎหมายแต่อยู่ชั่วคราว เช่น นักท่องเที่ยวหรือชาวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทย แม้บางคนจะถือพาสปอร์ตประเทศของตน แต่อาจจะมีสามีหรือภรรยาคนไทยจึงไปขอทำทะเบียนประวัติเพื่อให้มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านสามีหรือภรรยา คนทั้งสองแบบที่ว่านี้ถือว่าเป็นบุคคลประเภท 6 ซึ่งจะมีเลขบัตรประจำตัวขึ้นต้นด้วยเลข 6 หรือไม่ก็ทั้งสามีภรรยาอาศัยอยู่บ้านของนายจ้างซึ่งไม่ได้รับสัญชาติแต่ได้มีหนังสือเดินทางของประเทศของตนเองเข้ามา ซึ่งอธิบายได้ด้วยดังนี้

กรณีที่ 1 บุคคลที่เข้าเมืองโดยชอบด้วยกฎหมายแต่อยู่ชั่วคราว สตีเว่น จอห์นสัน เป็นคนชาวอังกฤษที่มีสัญชาติอังกฤษแล้วมีพาสปอร์ตจากประเทศอังกฤษมาอาศัยอยู่ในประเทศไทย แล้วมีภรรยาชาวไทยชื่อว่า เบญญาภา ซึ่งเบญญาภาเป็นบุคคลที่มีสัญชาติไทยมาโดยกำเนิด อาศัยอยู่ในจังหวัดเชียงใหม่ เมื่อเบญญาภาผู้เป็นภรรยาได้ขอขึ้นทะเบียนประวัติให้อยู่ในชื่อทะเบียนบ้านให้สามีที่ชื่อสตีเว่น ก็จะมีเลขบัตรประจำตัวประชาชนที่ขึ้นด้วยเลข 6 (6 5099 88888 999)

กรณีที่ 2 กลุ่มชาวเขาหรือผู้ที่เข้ามาในเมืองโดยที่ไม่ชอบในกฎหมาย และกรณีถือพาสปอร์ตชั่วคราว คำ ลุงปะ เป็นบุคคลต่างด้าวที่มาอาศัยในประเทศไทยซึ่งเป็นชาวเขาในเขตจังหวัดเชียงราย และมีภรรยาชื่อ ก้อย ลุงปะ ซึ่งเป็นบุคคลต่างด้าวด้วยกัน สองสามีภรรยาคู่นี้จะมีเลขบัตรประจำตัวประชาชนที่ขึ้นต้นด้วยเลข 6 ด้วยคำจะมีเลขบัตรประชาชนคือ 6 5715 55555 56 7 ส่วนก้อยจะมีเลขบัตรประจำตัวเป็น 6 5715 55555 57 6 แต่ถ้าคำและก้อยมีพาสปอร์ตชั่วคราวก็จะได้ว่าสองสามีภรรยาคู่นี้จะได้เลขรหัสพาสปอร์ตเป็นเลขประจำตัวแทน

ประเภทที่ 7

คือบุตรของบุคคลประเภทที่ 6 ซึ่งเกิดในประเทศไทย คนกลุ่มนี้ในทะเบียนประวัติจะมีเลขประจำตัวขึ้นต้นด้วยเลข 7

ซึ่งอธิบายยกตัวอย่างสมมติได้ด้วยดังนี้ (โดยยกตัวอย่างจากบุคคลประเภทที่ 6)

กรณีที่ 1 บุคคลที่เข้าเมืองโดยชอบด้วยกฎหมายแต่อยู่ชั่วคราว สตีเว่น จอห์นสัน เป็นคนชาวอังกฤษที่มีสัญชาติอังกฤษแล้วมีพาสปอร์ตจากประเทศอังกฤษมาอาศัยอยู่ในประเทศไทย แล้วมีภรรยาชาวไทยชื่อว่า เบญญาภา ซึ่งเบญญาภาเป็นบุคคลที่มีสัญชาติไทยมาโดยกำเนิด อาศัยอยู่ในจังหวัดเชียงใหม่ เมื่อเบญญาภาผู้เป็นภรรยาได้ขอขึ้นทะเบียนประวัติให้อยู่ในชื่อทะเบียนบ้านให้สามีที่ชื่อสตีเว่น ก็จะมีเลขบัตรประจำตัวประชาชนที่ขึ้นด้วยเลข 6 (6 5099 88888 999) ปรากฏว่าสตีเว่นมีบุตรสาวชื่อ พัชรธิดา จอห์นสัน โดยพัชรธิดา ก็จะเลขประจำตัวประชาชนที่ขึ้นต้นด้วยเลข 7 (7 5099 77777 88 9)

กรณีที่ 2 กลุ่มชาวเขาหรือผู้ที่เข้ามาในเมืองโดยที่ไม่ชอบในกฎหมาย หรือชาวต่างชาติใช้พาสปอร์ตชั่วคราวทั้งคู่ คำ ลุงปะ เป็นบุคคลต่างด้าวที่มาอาศัยในประเทศไทยซึ่งเป็นชาวเขาในเขตจังหวัดเชียงราย และมีภรรยาชื่อ ก้อย ลุงปะ ซึ่งเป็นบุคคลต่างด้าวด้วยกัน สองสามีภรรยาคู่นี้จะมีเลขบัตรประจำตัวประชาชนที่ขึ้นต้นด้วยเลข 6 ด้วยคำจะมีเลขบัตรประชาชนคือ 6 5715 55555 56 7 ส่วนก้อยจะมีเลขบัตรประจำตัวเป็น 6 5715 55555 57 6 ทั้งสองคนมีบุตร-ธิดา จำนวน 2 คน คือ ประภพ ลุงปะ และ กานดา ลุงปะ โดยบุตรของทั้งสองคนนี้จะไม่ขึ้นต้นด้วยเลขบัตรประจำตัวประชาชนที่ขึ้นต้นด้วยเลข 6 แต่จะมีการขึ้นตรวจเลขบัตรประจำตัวประชาชนที่ขึ้นด้วยเลข 7 แทน โดยประภพ จะมีเลขประจำตัวเป็น 7 5715 44444 33 8 และกานดาจะมีเลขบัตรประจำตัวเป็น 7 5715 44444 34 5

อย่างไรก็ตาม ถ้าบิดาและมารดาของประภพและกานดาถือพาสปอร์ตชั่วคราว ก็ถือได้ว่าเป็นกรณีพิเศษ ทั้งนี้ก็ปรากฏได้แล้วว่าถึงบิดามารดาจะใช้พาสปอร์ตทั้งคู่ บุตรของบุคคลประเภทที่ 6 ก็จะมีเลขที่ขึ้นด้วยเลข 7 ตามเดิม

ประเภทที่ 8

คือคนต่างด้าวที่เข้าเมืองโดยถูกต้องตามกฎหมาย คือผู้ที่ได้รับใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวหรือคนที่ได้รับการแปลงสัญชาติเป็นสัญชาติไทย และคนที่ได้รับการให้สัญชาติไทยตั้งแต่หลังวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2527 เป็นต้นไปจนปัจจุบัน แต่ทว่าในกรณีที่เป็นเด็กที่เกิดมาแล้วไม่มีสถานะทางทะเบียนก็จะขึ้นต้นด้วยเลข 0 อยู่ เมื่อสำนักทะเบียนพิจารณาอนุมัติตามพระราชกฤษฎีกากำหนดบุคคลเป็นสัญชาติไทยตามกฎหมายแล้ว ก็จะได้รับเป็นเลขประจำตัวประชาชนที่ขึ้นต้นด้วยเลข 8

คนทั้งแปดประเภทนี้จะมีเพียงประเภทที่ 3, 4 และ 5 เท่านั้นที่จะมีบัตรประจำตัวประชาชนได้เลย ส่วนประเภทที่ 1 และ 2 จะมีบัตรประจำตัวประชาชนได้ก็ต่อเมื่อมีอายุถึงเกณฑ์ทำบัตรประจำตัวประชาชน คืออายุ 7 ปี แต่สำหรับบุคคลประเภทที่ 6, 7 และ 8 ที่ยังไม่ได้รับสัญชาติไทย จะมีเพียงทะเบียนประวัติเล่มสีเหลืองเท่านั้น จะไม่มีการออกบัตรประจำตัวประชาชนให้ บุคคลประเภทที่ 8 ที่ได้รับสัญชาติไทยจะมีบัตรประจำตัวประชาชนได้หรือถิ่นที่อยู่ถาวร

ประเภทที่ 9

หมายถึงบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนราษฎร ไม่มีสัญชาติและยังไม่ได้รับการให้สัญชาติไทย ซึ่งโดยทั่วไปจะเลขบัตรประจำตัวประชาชนที่ขึ้นต้นด้วยเลข 0 [5][6][โปรดขยายความ] แล้วได้รับการผ่อนผันให้อาศัยอยู่ในประเทศไทยได้ชั่วคราว[7]

กรณีนักเรียนต่างด้าวแล้วได้รับการศึกษาในประเทศไทยที่มีการขึ้นตัวอักษร G นำหน้าเลขบัตรประจำตัวประชาชน หากเป็นบุคคลต่างด้าวที่ได้รับการศึกษาในประเทศไทยนั้นจะขึ้นต้นด้วยตัวอักษร G ตามประกาศกระทรวงศึกษาธิการ ในขณะนั้นบุคคลต่างด้าวที่ขึ้นต้นด้วยตัวอักษร G ประสงค์จะต้องการเลขบัตรประจำตัวประชาชนที่ขึ้นด้วยเลข 0 และได้แจ้งทางสำนักทะเบียนกลางของที่ว่าการอำเภอหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแล้วว่าได้มีการศึกษาอยู่ในประเทศไทยจริงและจะอาศัยอยู่ในประเทศไทย หรือทางสำนักงานทะเบียนกลางของเทศบาลหรืออำเภอสำรวจพบนักเรียนที่มีตัวอักษร G อยู่ในโรงเรียนเพื่อแก้ไขให้บุคคลเหล่านั้นมีเลขประจำตัวขึ้นต้นด้วยเลข 0 เมื่อสำนักทะเบียนกลางได้อนุมัติว่าบุคคลนี้จะอาศัยในประเทศไทยแล้ว บุคคลต่างด้าวที่มีเลขบัตรประจำตัวที่ขึ้นต้นอักษร G แล้วจะสามารถมีเลขบัตรประจำตัวประชาชนที่ขึ้นต้นด้วยเลข 0 ได้ทันที [8]

ตัวเลขหลักที่ 2 ถึงหลักที่ 5

1 2345 67890 12 3

แสดงตัวเลขหลักที่ 2-5

หมายถึงรหัสของสำนักทะเบียนหรืออำเภอที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนขณะที่ให้เลข กล่าวคือ เลขหลักที่ 2 เป็นเขตการปกครองของไทยโดยอ้างตามเขตรับผิดชอบของกรมการปกครองและตำรวจ ที่มีตั้งแต่ภาค 1-9 และ เลขหลักที่ 3 จะหมายถึงจังหวัดที่อยู่ในภาคนั้น ๆ สามารถดูรหัสเขตการปกครองตรงที่ ISO 3166-2:TH ส่วนหลักที่ 4 และ 5 หมายถึงเขตหรืออำเภอในจังหวัดนั้น ๆ โดยที่เลขอำเภอจะเริ่มจากเลข 01 ไล่ลงไป เช่นเลข 01 คืออำเภอเมือง และถ้าเป็นเขตเทศบาลจะเริ่มจากเลข 99 ย้อนลงมา (กรณีเมืองพัทยาคือเลข 2096) แต่อย่างไรก็ตาม หากจังหวัดที่แยกออกจากจังหวัดเดิมหลัง พ.ศ.2527 เช่น จังหวัดหนองบัวลำภู แยกออกจาก จังหวัดอุดรธานี ในปี พ.ศ. 2536 เมื่อบุคคลที่เกิดก่อน พ.ศ. 2536 จะมีเลขประจำตัวที่ขึ้นต้นด้วยเขตจังหวัดเดิมซึ่งเป็นจังหวัดแม่ ส่วนหากเกิดหลังจากนี้ก็จะเป็นเลขของจังหวัดที่ตั้งใหม่ และกรณีอำเภอที่อยู่ในจังหวัดเดียวกันก็ใช้หลักการเช่นเดียวกัน ยกตัวอย่างเช่น อำเภอเวียงเชียงรุ้ง ซึ่งแยกออกจาก อำเภอเวียงชัยในปี พ.ศ.2550 หากเกิดก่อน พ.ศ.2550 ก็จะเป็นเลขของอำเภอเวียงชัยซึ่งเป็นอำเภอที่มีอยู่เดิม คือ 5702 แต่เมื่อเกิดหลังจากนั้นแล้วจะเป็นเลข 5717

  • ข้อสังเกต
    • กรณีที่เป็นบุคคลที่เกิดก่อนปี พ.ศ. 2527 อยู่แล้ว เลขจังหวัดและอำเภอจะอยู่เช่นเดิม แต่จังหวัดใหม่เกิดขึ้นหลังจากปี พ.ศ. 2527 กล่าวคือ เลขจังหวัดจะเป็นเลขจังหวัดเดิมที่เป็นจังหวัดแม่ ซึ่งอำเภอของจังหวัดก็จะเป็นเลขของจังหวัดนั้นๆ ถึงจะแจ้งสำนักทะเบียนหรือแจ้งที่ว่าการอำเภอก็ตาม ยกตัวอย่างเช่น พสุธา ฟ้าไสว เดิมเป็นคนอำเภออรัญประเทศ จังหวัดปราจีนบุรี แต่ในปัจจุบันอำเภออรัญประเทศ ได้เป็นอำเภอของจังหวัดสระแก้ว เขาก็จะมีเลขประจำตัวเป็น 3-2605-55555-88-8 (แต่เลขของอำเภออรัญประเทศจะเป็น 2703 แทน) และรวมไปถึงบุคคลในกรณีจัดตั้งอำเภอใหม่ที่สังกัดจังหวัดเดียวกันภายหลังจากปี พ.ศ. 2527 ด้วย ก็จะเป็นเลขของอำเภอเดิมที่เป็นอำเภอแม่ ตัวอย่างเช่น บุปผา ราตรี เป็นคนอำเภอแม่ลาว จังหวัดเชียงราย แต่ก่อนหน้านี้เธอยังเป็นคนในอำเภอเมืองเชียงรายอยู่ เธอก็จะมีเลขเป็น 3-5701-55566-98-7 (แต่เลขอำเภอแม่ลาวเมื่อจัดตั้งแล้วจะเป็น 5716)
    • หากเกิดในจังหวัดที่แยกออกจากจังหวัดเดิมภายหลัง พ.ศ. 2527 เลขจังหวัดและอำเภอจะอยู่เช่นเดิม กล่าวคือ เลขจังหวัดจะเป็นเลขจังหวัดเดิมที่เป็นจังหวัดแม่ ซึ่งอำเภอของจังหวัดก็จะเป็นเลขของจังหวัดนั้นๆ ซึ่งเป็นเลขอำเภอในขณะนั้นที่เป็นจังหวัดเดิมอยู่ ส่วนมากพบมากในการแจ้งเกิดในที่ว่าการอำเภอ เว้นแต่กรณีแจ้งเกิดในสำนักทะเบียนท้องถิ่นจะเป็นเลขอื่น ตัวอย่างเช่น ดาริน คล่องแคล่ว เกิดในวันที่ 5 มีนาคม 2544 เธอเกิดในอำเภอบึงกาฬ จังหวัดหนองคาย มีเลขประจำตัวคือ 1-4303-77777-55-5 เมื่อ 10 ปีต่อมา จังหวัดบึงกาฬแยกจากจังหวัดหนองคาย เลขประจำตัวของเธอก็จะอยู่เหมือนเดิม แต่เลขของอำเภอบึงกาฬ (อำเภอเมืองบึงกาฬในปัจจุบันเป็น 3801) หากบิดาของเธอหรือผู้อื่นแจ้งเกิดที่เทศบาลหรือสำนักทะเบียนท้องถิ่นในเขตจังหวัดหนองคาย (ซึ่งปัจจุบันอยู่ในเขตจังหวัดบึงกาฬ) เธอก็จะมีเลขประจำตัวเป็น 1-4367-77777-99-9 (แต่เลขท้องถิ่นเป็น 3893)
    • หากเกิดในจังหวัดใหม่ที่แยกออกจากจังหวัดเดิมแล้ว เลขจังหวัดก็จะมีการเปลี่ยนแปลง เลขอำเภอก็จะได้รับการเปลี่ยนแปลงใหม่เช่นกัน ตัวอย่างเช่น ภนิดา สว่างไสว เกิดเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2555 เธอเกิดในจังหวัดบึงกาฬ (ซึ่งแยกจังหวัดจากจังหวัดหนองคายมาแล้ว) เธอเกิดในอำเภอเมืองบึงกาฬ เธอก็จะมีเลขประจำตัวเป็น 1-3801-00000-77-7 ถ้าแจ้งเกิดในสำนักทะเบียนท้องถิ่น เธอจะมีเลขเป็น 1-3895-66666-77-7
    • หากเกิดในจังหวัดที่มีอยู่เดิม แต่เกิดในอำเภอที่จัดตั้งใหม่หลังปี พ.ศ. 2527 โดยอำเภอใหม่ยังเป็นส่วนหนึ่งของอำเภอเดิม กล่าวได้ว่า เลขประจำตัวจะยังคงเดิมซึ่งยังเป็นอำเภอเดิม ถึงจะจัดตั้งอำเภอใหม่แล้วก็ตาม (ยกเว้นกรณีแจ้งเกิดในสำนักทะเบียนท้องถิ่น เลขสำนักทะเบียนก็จะยังคงเดิม) ตัวอย่างเช่น นารีรัตน์ พรสวรรค์ เธอเกิดในอำเภอดอยหลวง จังหวัดเชียงราย วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2534 ซึ่งขณะนั้นอำเภอดอยหลวงยังเป็นส่วนหนึ่งของอำเภอแม่จัน เลขของเธอก็จะเป็น 1-5707-44444-55-9 (แต่เลขอำเภอดอยหลวงเมื่อจัดตั้งแล้วจะเป็น 5718)
    • หากเกิดในจังหวัดที่มีอยู่เดิม แต่เกิดในอำเภอที่จัดตั้งใหม่หลังปี พ.ศ. 2527 โดยอำเภอใหม่ยังเป็นส่วนหนึ่งของอำเภอเดิม แต่ได้ทำการจัดตั้งกิ่งอำเภอหรือจัดตั้งเป็นอำเภอโดยสมบูรณ์แล้ว กล่าวได้ว่า เลขอำเภอมีผลต่อการเปลี่ยนเลขประจำตัว และอำเภอนั้นได้เป็นอำเภอใหม่โดยสมบูรณ์แล้ว ทำให้เลขอำเภอได้เปลี่ยนเลขใหม่โดยทันที (ยกเว้นกรณีแจ้งเกิดในสำนักทะเบียนท้องถิ่น เลขสำนักทะเบียนก็จะยังคงเดิม) ตัวอย่างเช่น รัตนพล สกุลชัย เขาเกิดในอำเภอเวียงเชียงรุ้ง จังหวัดเชียงราย วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2549 ซึ่งขณะนั้นอำเภอเวียงเชียงรุ้งยังเป็นส่วนหนึ่งของอำเภอเวียงชัย แต่ตัวอำเภอเวียงเชียงรุ้งได้รับการจัดตั้งเป็นกิ่งอำเภอและได้ยกฐานะเป็นอำเภอโดยสมบูรณ์แล้ว เลขของเขาก็จะเป็น 1-5717-44444-55-9 (จากเดิมอำเภอเวียงชัยเป็น 5702)

ตัวเลขหลักที่ 6 ถึงหลักที่ 10

1 2345 67890 12 3

แสดงตัวเลขหลักที่ 6-10

หมายถึงกลุ่มของบุคคลแต่ละประเภทตามหลักแรก ซึ่งทางสำนักทะเบียนในแต่ละแห่งก็จะจัดกลุ่มเรียงไปตามลำดับหรือหากเป็นเด็กเกิดใหม่ในปัจจุบันเลขดังกล่าวก็จะหมายถึงเล่มที่ของสูติบัตร (ใบแจ้งเกิดที่อำเภอหรือเขตออกให้) ซึ่งก็คือเลขประจำตัวในทะเบียนบ้านของเด็กที่แต่ละอำเภอหรือเขตออกให้ และจะปรากฏในบัตรประชาชนเมื่อถึงอายุต้องทำบัตรนั่นเองแต่ถ้ายังไม่ถึงเกณฑ์เลขนี้ก็จะปรากฏอยู่แค่ในทะเบียนบ้านของเด็กเท่านั้น

ตัวเลขหลักที่ 11 ถึงหลักที่ 12

1 2345 67890 12 3

แสดงตัวเลขหลักที่ 11-12

หมายถึงลำดับที่ของบุคคล

ตัวเลขหลักที่ 13

ตัวเลขหลักที่ 13 เป็นตัวเลขตรวจสอบความถูกต้องของเลขทั้ง 12 หลักแรก

การคำนวณเลขหลักที่ 13 ของเลขประจำตัวประชาชน ใช้หลักการคำนวณเลขคณิตมอดุลาร์ จากเลข 12 หลักแรก

ให้เลขหลักแรกทางซ้ายคือ N1 หลักต่อไปคือ N2 ไปเรื่อย ๆ

N13 คือหลักที่ต้องการคำนวณ

1 2345 67890 12 3

แสดงตัวเลขหลักที่ 13

จากสมการแสดงให้เห็นว่า x ได้จากการ 13×เลขหลักที่ 1 โดยตัวตั้งจะลดลงมาถึงเลข 2 และตัวคูณคือเลขประชาชนตั้งแต่หลักแรกถึงหลักที่ 12 ตามลำดับ จากนั้นนำผลคูณแต่ละหลักรวมกันแล้วนำไปหารด้วย 11 โดยผลลัพธ์จะได้ค่ามอดูลัส นั่นหมายถึงเศษของผลหารที่ได้จากการนำผลรวมจากการคูณแต่ละหลักหารด้วย 11 เช่น 200 หารด้วย 11 จะเหลือเศษคือ 2 นั่นคือผลของมอดูลัส x จะมีค่าเป็นจำนวนเต็มตั้งแต่ 0 ถึง 10 จากนั้นก็ทำตามเงื่อนไขโดย

  • ถ้าค่า x น้อยกว่าหรือเท่ากับ 1 ให้ 1−x จะได้ผลของเลขหลักที่ 13 เช่น 1−1 = 0
  • ถ้าค่า x มากกว่า 1 ให้ 11−x จะได้ผลของเลขหลักที่ 13 เช่น 11−2 = 9

ตัวเลขหลักที่ 6 ถึงหลักที่ 13

1 2345 67890 12 3

แสดงตัวเลขหลักที่ 6-13

เป็นการจัดหมวดหมู่และเรียงลำดับบุคคลในแต่ละประเภทของสำนักทะเบียนในแต่ละท้องที่

ระบบตัวเลขแต่ละหลักนี้ทำให้สามารถรองรับจำนวนประชากรได้อีกมากในระดับ 18 ปี

หมายเหตุ

  • คัดและเรียบเรียงข้อมูลจากบทความเรื่อง “เลข 13 ที่อาถรรพณ์ แต่เกี่ยวพันกับคนในประเทศไทย” โดย อมรรัตน์ เทพกำปนาท กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม
  • หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ: จุดประกาย ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 26 ตุลาคม 2549 คอลัมน์ วัฒนธรรม: ตัวเลขความเป็นพลเมือง
  • บัตรประจำตัวประชาชนสีชมพูสำหรับชาวต่างชาติ (ภาษาอังกฤษ)

ดูเพิ่ม

อ้างอิง

  1. พระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2534 มาตรา 16
  2. กฎกระทรวง ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2535) ออกตามความในพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2534 ร.จ. เล่มที่ 109 ตอนที่ 93 หน้าที่ 24 วันที่ 11 กันยายน 2535
  3. "บัตรประชาชนเด็ก ดอกไม้และก้อนอิฐ". ไทยรัฐ. 2011-07-15. สืบค้นเมื่อ 2017-07-05.
  4. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-11-11. สืบค้นเมื่อ 2024-03-03.
  5. กฤตยา อาชวนิจกุล (ม.ป.ป.). "การจัดระบบคนไร้รัฐในบริบทประเทศไทย Towards Managing Stateless People in Thailand's Context" (PDF). สืบค้นเมื่อ 2016-07-05. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |date= (help)
  6. สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ (2013-01-15). "ตื่นตัว AEC ต้องใส่ใจคนเลข 0". เอเอสทีวีผู้จัดการออนไลน์. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-07-05. สืบค้นเมื่อ 2016-07-05.
  7. "ผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียน". ม.ป.ป. สืบค้นเมื่อ 2016-07-05. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |date= (help)[ลิงก์เสีย]
  8. https://thaipublica.org/2023/07/srinaka-8-07-2566/

แหล่งข้อมูลอื่น