ข้ามไปเนื้อหา

เรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งเฉลิมพระเกียรติ 84 พรรษา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ภาพรวมชั้น
ชื่อ: เรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งชุดเรือ ต.994
ผู้สร้าง:
ผู้ใช้งาน: Naval flag of ไทย กองทัพเรือไทย
ก่อนหน้าโดย: เรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งชุดเรือ ต.991
ตามหลังโดย: เรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งชุดเรือ ต.111
ชั้นย่อย: เรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งชุดเรือ ต.997
สร้างเมื่อ:
  • พ.ศ. 2553–2554 (ต.994)
  • พ.ศ. 2562–2566 (ต.995–998)
ในประจำการ:
  • พ.ศ. 2554–ปัจจุบัน (ชุดเรือ ต.994)
  • พ.ศ. 2566–ปัจจุบัน (ชุดเรือ ต.997)
เสร็จแล้ว: 5 ลำ
ใช้การอยู่: 5 ลำ
ลักษณะเฉพาะ
ชั้น: เรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่ง
ขนาด (ระวางขับน้ำ): ปกติ 185 ตัน เต็มที่ 215 ตัน
ความยาว: 41.45 เมตร (136 ฟุต 0 นิ้ว)
ความกว้าง: 7.2 เมตร (23 ฟุต 7 นิ้ว)
กินน้ำลึก:
  • 1.85 เมตร (6 ฟุต 1 นิ้ว) (ชุดเรือ ต.994)
  • 2 เมตร (6 ฟุต 7 นิ้ว) (ชุดเรือ ต.997)
ความลึก: 3.8 เมตร (12 ฟุต 6 นิ้ว)
ระบบพลังงาน: 2 × แครื่องกำเนิดไฟฟ้าขนาด 150 กิโลวัตต์ 380 VAC
ระบบขับเคลื่อน:
  • 2 × เครื่องจักรใหญ่ MTU 16 V 4000 M90 2,720 กิโลวัตต์ (ชุดเรือ ต.994)
  • 2 × เครื่องจักรใหญ่ MAN กำลังเครื่องยนต์ 2960 กิโลวัตต์ ที่ 1900 rpm (ชุดเรือ ต.997)
  • 2 × เกียร์ ZF7550 (ชุดเรือ ต.994)
  • 2 × เกียร์ ZF9055 (ชุดเรือ ต.997)
  • 2 × ใบจักร Wartsila
ความเร็ว: 27 นอต (50 กิโลเมตรต่อชั่วโมง; 31 ไมล์ต่อชั่วโมง)
พิสัยเชื้อเพลิง: 1,500 ไมล์ทะเล (2,800 กิโลเมตร; 1,700 ไมล์) ที่ 15 นอต (28 กิโลเมตรต่อชั่วโมง; 17 ไมล์ต่อชั่วโมง)
อัตราเต็มที่:
  • 31 นาย (ชุดเรือ ต.994)
  • 33 นาย (ชุดเรือ ต.997)
ระบบตรวจการและปฏิบัติการ: 1 × ระบบควบคุมการยิง Mirador
ยุทโธปกรณ์:
  • ชุดเรือ ต.994
  • 1 × ปืนกลขนาด 30/70 มม. รุ่น MSI-DSL
  • 2 × ปืนกลขนาด .50 นิ้ว อัตโนมัติ
  • 2 × ปืนกลขนาด .50 นิ้ว ลำกล้องหนัก
  • ชุดเรือ ต.994
  • 1 × ปืนใหญ่กลขนาด 20 มม. แบบ Oerlikon GAM-B01
  • 2 × ปืนกลขนาด .50 นิ้ว อัตโนมัติ
  • 2 × ปืนกลขนาด .50 นิ้ว ลำกล้องหนัก

เรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งเฉลิมพระเกียรติ 84 พรรษา หรือ เรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งชุดเรือ ต.994 เป็นชุดเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งของกองทัพเรือไทย มีพื้นฐานมาจากแบบชุดเรือ ต.991 ที่ผ่านการปรับปรุงจากปัญหาในเรือรุ่นดังกล่าวในการใช้งาน

ประวัติ

[แก้]

การสร้างเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งในประเทศไทยนั้นมีที่มาจากพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรซึ่งได้พระราชทานพระบรมราชวินิจฉัยเกี่ยวกับการต่อเรือและการพึ่งพาตนเองของกองทัพเรือ ทำให้กองทัพเรือได้เริ่มต้นต่อเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งชุดเรือ ต.91 จำนวน 9 ลำในช่วงปี พ.ศ. 2510–2530 จากนั้นได้ดำเนินโครงการจัดหาเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งชุดเรือ ต.991 เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 จำนวน 3 ลำซึ่งประสบความสำเร็จและสามารถใช้งานได้ดี ส่งผลให้กองทัพเรือดำเนินโครงการต่อมาคือการจัดหาเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งเฉลิมพระเกียรติ 84 พรรษา คือชุดเรือ ต.994 เพื่อสนองพระราชดำริ โดยได้รับพระราชดำริและพระบรมราชวินิจฉัยเกี่ยวกับโครงการนี้เช่นกัน[1]

ชุดเรือ ต.994

[แก้]

การจัดหาเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งชุดเรือ ต.994 นั้นบริษัทที่ผ่านการคัดเลือกคือ บริษัท มาร์ซัน จำกัด (มหาชน) โดยแบ่งการต่อเรือออกเป็น 2 ส่วนคือ เรือ ต.994 บริษัทเป็นผู้ส่งวัสดุอุปกรณ์ให้กับอู่ทหารเรือธนบุรี กรมอู่ทหารเรือเป็นผู้ดำเนินการต่อ และเรือ ต.995–996 บริษัทเป็นผู้ต่อเรือ[1] มีวงเงินโครงการรวม 1,603 ล้านบาท[2]

เรือ ต.994 ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์มาประกอบพิธีวางกระดูกงูเรือ ต.994 ณ อู่หมายเลข 1 อู่ทหารเรือธนบุรี กรมอู่ทหารเรือในวันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2553 เวลา 16.30 น. หลังจากสร้างเรือและติดตั้งระบบต่าง ๆ ภายในเรือแล้ว (ยกเว้นส่วนที่อยู่เหนือจากดาดฟ้าเรือ) กองทัพเรือได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์มาประกอบพิธีปล่อยเรือ ต.994 ลงน้ำ ณ อู่หมายเลข 1 อู่ทหารเรือธนบุรี กรมอู่ทหารเรือ ในวันที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 เวลา 16.16 น. โดยหลังจากปล่อยเรือลงน้ำแล้วได้นำเรือไปติดตั้งอุปกรณ์เพิ่มเติม ณ อู่ทหารเรือพระจุลจอมเกล้า กรมอู่ทหารเรือ จังหวัดสมุทรปราการ และทดสอบทดลองเรือหน้าท่า (HAT) และทดสอบการเดินเรือในทะเล (SAT) ในพื้นที่ของอ่าวสัตหีบระหว่างวันที่ 15-19 สิงหาคม พ.ศ. 2554 สามารถทำความเร็วสูงสุดได้ 29.3 นอต ที่ระวางขับน้ำ 223 ตัน และทดสอบอาวุธในทะเลระหว่างวันที่ 12-15 กันยายน พ.ศ. 2554[2]

บริษัทมาร์ซันได้ประกอบพิธีวางกระดูกเรือ ต.995 และเรือ ต.996 เมื่อวันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2553 และประกอบพิธีปล่อยเรือลงน้ำในวันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2554[3][4]

กองทัพเรือได้รับมอบเรือตรวจการณ์ชุดเรือ ต.994 เมื่อวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2554 ณ อู่ทหารเรือพระจุลจอมเกล้า กรมอู่ทหารเรือ อำเภอพระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรปราการ โดยมี พลเรือเอก กำธร พุ่มหิรัญ ผู้บัญชาการทหารเรือเป็นประธานในพิธี[5]

ชุดเรือ ต.997

[แก้]

การจัดหาเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งชุดเรือ ต.997 นั้นกองทัพเรือได้ดำเนินการจัดหาตามแผนยุทธศาสตร์กองทัพเรือ พ.ศ. 2558–2567 ที่มีความต้องการเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งทั้งหมด 16 ลำในการใช้งานและทดแทนเรือเก่าที่ปลดประจำการ โดยการจัดหาชุดเรือ ต.997 นั้นเป็นการจัดหาและต่อตามแบบของชุดเรือ ต.994 ของกองทัพเรือ และมีการคัดเลือกลงนามในสัญญาเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2562 ว่าจ้าง บริษัท มาร์ซัน จำกัด (มหาชน) ในการสร้างเรือในชุด 2 ลำ ประกอบไปด้วย เรือ ต.997 และเรือ ต.998 ประกอบพิธีวางกระดูกงูเรือเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562 มีกำหนดส่งมอบเรือภายใน 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2564[1]

เรือ ต.997 และเรือ ต.998 ทำพิธีปล่อยลงน้ำเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2564 โดยมี พลเรือเอก ชาติชาย ศรีวรขาน ผู้บัญชาการทหารเรือเป็นประธานในพิธี ณ อู่ต่อเรือบริษัท มาร์ซัน จำกัด (มหาชน) ตำบลท้ายบ้าน อำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ โดยผู้ทำพิธีปล่อยเรือลงน้ำคือ นางจุฬารัตน์ ศรีวรขาน นายกสมาคมภริยาทหารเรือ[1]

กองทัพเรือได้รับมอบเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งชุดเรือ ต.997 เมื่อวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2566 ณ ท่าเรือแหลมเทียน การท่าเรือสัตหีบ ฐานทัพเรือสัตหีบ จังหวัดชลบุรี โดยมี พลเรือเอก อะดุง พันธุ์เอี่ยม ผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ ผู้แทนผู้บัญชาการทหารเรือเป็นประธานในพิธี

การออกแบบ

[แก้]
อู่ทหารเรือธนบุรี กรมอู่ทหารเรือ

เรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งชุดเรือ ต.994 เป็นการออกแบบโดยพัฒนามาจากแบบของชุดเรือ ต.991 ให้มีขนาดใหญ่ขึ้นร้อยละ 8[2] ให้สามารถตอบโจทย์ภารกิจและการปฏิบัติการได้ดีขึ้น มีความยาวตลอดลำเรือ 41.45 เมตร ความกว้างสูงสุด 7.2 เมตร มีกราบเรือหรือความลึกของเรือ 3.8 เมตร มีระยะกินน้ำลึก 1.85 เมตร มีระวางขับน้ำปกติ 185 ตัน[6] เต็มที่ 215 ตัน ใช้เครื่องยนต์เครื่องจักรใหญ่ ตราอักษร MTU รุ่น 16 V 4000 M90 ขนาด 2,720 กิโลวัตต์จำนวน 2 เครื่อง เกียร์ส่งกำลังตราอักษร ZF รุ่น 7550 จำนวน 2 ชุด พร้อมกับเพลาและใบจักร ตราอักษร Wartsila จำนวน 2 ชุด สามารถทำความเร็วสูงสุดได้ไม่น้อยกว่า 27 นอต มีระยะปฏิบัติการไม่ต่ำกว่า 1,500 ไมล์ทะเล สามารถปฏิบัติการในทะเลได้ไม่น้อยกว่า 7 วัน สามารถทนทะเลได้ในระดับ 3[5] ใช้กำลังพลประจำเรือรวม 31 นาย[2]

เรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งชุดเรือ ต.997 นั้นใช้แบบเรือเดียวกันกับชุดเรือ ต.994 มีความยาวตลอดลำเรือ 41.45 เมตร มีความกว้างสูงสุด 7.2 เมตร มีความลึกของเรือ 3.8 เมตร มีระยะกินน้ำลึกของตัวเรือ 2.0 เมตร สามารถทำความเร็วสูงสุดต่อเนื่องได้ไม่ต่ำกว่า 28 นอต ใช้กำลังพลประจำเรือ 33 นาย เครื่องยนต์เรือใช้เครื่องจักรใหญ่ ตราอักษร MAN กำลังเครื่องยนต์ 2960 กิโลวัตต์ ที่ 1900 rpm พร้อมด้วยเพลาใบจักร ตราอักษร Wartsila จำนวน 2 ชุด เครื่องกำเนิดไฟฟ้าขนาด 150 กิโลวัตต์ 380 VAC จำนวน 2 ชุด เกียร์ส่งกำลัง ตราอักษร ZF รุ่น 9055 จำนวน 2 ชุด[7] พื้นที่ภายในเรือมีการแบ่งสัดส่วนการพักตามกำลังพลเต็มอัตรา 33 นาย พร้อมด้วยที่เก็บสเบียงอาหารและน้ำจืดที่เพียงพอในการปฏิบัติงานในทะเลต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 7 วันโดยไม่ต้องรับการส่งกำลังบำรุง สามารถปฏิบัติการได้ 1,500 ไมล์ทะเลในความเร็วมัธยัสถ์ในระวางขับเต็มที่[7]

ในการการก่อสร้างตัวเรือของกองทัพเรือ ใช้วิธีการสร้างตัวเรือและเก๋งเรือแบบแบ่งส่วนออกเป็นบล็อกทำให้สามารถปฏิบัติงานได้ง่ายขึ้น คุณภาพงานดีขึ้น ใช้แรงงานได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด โดยแบ่งตัวเรือ (Hull Construction) ออกเป็น 4 บล็อก ได้แก่ Block - H1, Block - H2, Block - H3, Block - H4 และแบ่งเก๋งเรือ (Superstructure Construction) ออกเป็น 4 บล็อกเช่นกันคือ Block - S1, Block - S2, Block - S3, Block - S4 ซึ่งการสร้างตัวเรือจะสร้างด้วยการขยายแบบลายเส้นของแบบเรือลงบนลานขยายแบบอัตราส่วน 1:1 สร้างไม้แบบและดัดชิ้นส่วนต่าง ๆ ของเรือในโรงงานประกอบบล็อกซึ่งมีฐานรองในอู่แห้ง ส่วนการสร้างเก๋งเรือจะสร้างตั้งแต่ Block - S1 ถึง S4 รวมกันเป็นบล็อกเดียวกัน ก่อนที่จะยกไปประกอบบนดาดฟ้าหลักของเรือ ขณะเดียวกันก็ดำเนินการสร้างฐานและติดตั้งส่วนประกอบอื่น เช่น ตัวจับยึด (Support) ฐานแท่นเครื่องจักรและอุปกรณ์ (Seating & Foundation) และช่องทางผ่านฝากั้นและดาดฟ้าเรือ (Duct & Penetration) สำหรับระบบต่าง ๆ ที่สืบเนื่องกับโครงสร้างตัวเรือและเก๋งของเรือ ป้องกันงาน Hot Work หลังจากการทาสีภายในตัวเรือ เมื่อผ่านขั้นตอนการตรวจสอบคุณภาพจะนำเรือไปติดตั้งระบบตัวเรือ อุปกรณ์ ระบบขับเคลื่อน เครื่องจักรช่วย ระบบไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ระบบเดินเรือ ระบบอาวุธ และระบบอื่น ๆ ที่สืบเนื่องกัน ณ อู่ทหารเรือธนบุรี ยกเว้นงานติดตั้งอุปกรณ์เหนือดาดฟ้า จะนำไปติดตั้งที่อู่ทหารเรือพระจุลจอมเกล้า กรมอู่ทหารเรือหลังจากปล่อยเรือลงน้ำ เช่น เสากระโดงเรือ เรดาร์เดินเรือ สายอากาศวิทยุ และระบบควบคุมการยิง เนื่องจากความสูงของสะพานพระพุทธยอดฟ้า[2]

บริษัทมาร์ซันได้ถือว่าเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งชุด ต.997 เป็นส่วนหนึ่งของเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งชุด ต.994 เนื่องจากใช้แบบเรือเดียวกันแต่มีการปรับการออกแบบบางส่วนให้แตกต่างกัน[8]

ยุทโธปกรณ์

[แก้]

เรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งชุดเรือ ต.994 ประกอบด้วยระบบอาวุธเรือคือ ปืนกลขนาด 30/70 มิลิเมตร MSI-DSL จำนวน 1 แท่น ปืนกลขนาด .50 นิ้วอัตโนมัติจำนวน 2 แท่น และปืนกลขนาด .50 นิ้ว ลำกล้องหนักจำนวน 2 แท่น โดยมีระบบควบคุมการยิงแบบ Mirador[6] ขณะที่ระบบอาวุธของเรือเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งชุดเรือ ต.997 นั้นในช่วงเวลาของการจัดหามีการระบุว่าต้องการให้ใช้ระบบอาวุธของรัสเซียคือปืนกล เอเค-306 เป็นระบบป้องกันระยะประชิด (CIWS)[8] แต่หลังจากรับมอบจากภาพที่เผยแพร่ไม่มีการติดตั้งระบบอาวุธดังกล่าวมาแต่อย่างใด แต่ได้รับการติดตั้งปืนใหญ่กล Oerlikon ขนาด 20 มม. มาแทน

เรือในชุด

[แก้]
ชื่อ หมายเลข สร้างโดย วางกระดูกงู ปล่อยลงน้ำ ประจำการ สถานะ
ชุดเรือ ต.994
เรือ ต.994 PGM-994 อู่ทหารเรือธนบุรี กรมอู่ทหารเรือ 21 มีนาคม 2553 11 กรกฎาคม 2554 26 กันยายน 2554 ประจำการ
เรือ ต.995 PGM-995 บริษัท มาร์ซัน จำกัด (มหาชน) 5 เมษายน 2553 13 กรกฎาคม 2554 26 กันยายน 2554 ประจำการ
เรือ ต.996 PGM-996 บริษัท มาร์ซัน จำกัด (มหาชน) 5 เมษายน 2553 13 กรกฎาคม 2554 26 กันยายน 2554 ประจำการ
ชุดเรือ ต.997
เรือ ต.997 PGM-997 บริษัท มาร์ซัน จำกัด (มหาชน) 14 พฤศจิกายน 2562 21 มิถุนายน พ.ศ. 2564 20 กันยายน 2566 ประจำการ
เรือ ต.998 PGM-998 บริษัท มาร์ซัน จำกัด (มหาชน) 14 พฤศจิกายน 2562 21 มิถุนายน พ.ศ. 2564 20 กันยายน 2566 ประจำการ

ดูเพิ่ม

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 "ผบ.ทร. เป็นประธานพิธีปล่อย เรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งลงน้ำ เรือ ต.997 - ต.998". bangkokbiznews. 2021-06-21.
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 "วารสารกรมอู่ทหารเรือ ประจำปี 2555 เล่ม 1 - Flip eBook Pages 1-50 | AnyFlip". anyflip.com.
  3. "เรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่ง ต.995 – Seafarer Library" (ภาษาอังกฤษ).
  4. "เรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่ง ต.996 – Seafarer Library" (ภาษาอังกฤษ).
  5. 5.0 5.1 "ผบ.ทร.รับมอบเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งเฉลิมพระเกียรติ 84 พรรษา ชุด เรือ ต.994 3 ลำ". mgronline.com. 2011-09-26.
  6. 6.0 6.1 "กองเรือยามฝั่ง - Detail Today". www.coastguard.navy.mi.th.
  7. 7.0 7.1 "'ผบ.กองเรือยุทธการ' รับมอบเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่ง เรือ ต.997 - ต.998". bangkokbiznews. 2023-09-20.
  8. 8.0 8.1 "สรุปข่าว บริษัท Marsun จัดพิธีวางกระดูกงูเรือตรวจการณ์ชั้น ต.994 จำนวน 2 ลำ ของกองทัพเรือไทย". DTI. 2563-07-21.