ข้ามไปเนื้อหา

เมืองพยาก

พิกัด: 20°52′35″N 99°55′23″E / 20.87639°N 99.92306°E / 20.87639; 99.92306
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เมืองพยาก

မိုင်းဖြတ်မြို့ (พม่า) / မိူင်းၽျၢၵ်ႈ၊ (ไทใหญ่)
เมือง
เมืองพยากตั้งอยู่ในประเทศพม่า
เมืองพยาก
เมืองพยาก
ที่ตั้งในเมียนมา
พิกัด: 20°52′35″N 99°55′23″E / 20.87639°N 99.92306°E / 20.87639; 99.92306
ประเทศ พม่า
รัฐฉาน
จังหวัดท่าขี้เหล็ก
อำเภอเมืองพยาก
เขตเวลาUTC+6.30 (MST)
WOEID1017631

เมืองพยาก (မိုင်းဖြတ်) สำเนียงไทเขินเรียก เมืองเพี๊ยก ตั้งอยู่ในจังหวัดท่าขี้เหล็ก รัฐฉาน ประเทศพม่า ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวไทใหญ่ เมืองพยากอยู่ห่างจากด่านพรมแดนแม่สายประมาณ 80 กิโลเมตร ถือเป็นเมืองที่ตั้งอยู่จุดกึ่งกลางบนถนนระหว่างท่าขี้เหล็ก และเชียงตุง/เมืองยอง ผู้สัญจรจึงนิยมจอดพักรถที่นี่

ประวัติศาสตร์

[แก้]

เมืองพยากขึ้นต่อเชียงตุง และถือเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรล้านนา จนเมื่อพระเจ้าบุเรงนองยกทัพมายึดเมืองเชียงใหม่ในพ.ศ. 2101 ล้านนาก็ตกอยู่ใต้อำนาจของพม่า เชียงตุงจึงยอมเป็นประเทศราชของพม่านับแต่นั้น ครั้งภายหลังพ.ศ. 2317 เจ้าเจ็ดตนร่วมมือกับสยามทำศึกขับไล่พม่า ได้รับชัยชนะหลายครั้งแต่พม่าก็ไม่ยอมรามือ จนกระทั่งพ.ศ. 2345 เจ้ากาวิละผู้ครองเชียงใหม่บัญชาให้อุปราชน้อยธรรมจัดทัพเชียงใหม่ขึ้นไปตีเมืองสาด อุปราชน้อยธรรมตีเมืองสาดได้แล้ว ก็รวดตีเมืองพยากและเชียงตุงได้ด้วย และกวาดต้อนผู้คนลงมา แต่เจ้าฟ้าเมืองเชียงตุงหลบหนีไปได้ เจ้ากาวิละจึงได้เลื่อนฐานันดรเป็นพระบรมราชาธิบดีปกครองล้านนาไท 57 เมือง

เชียงตุงในฐานะประเทศราชของล้านนา ยังคงเผชิญการรุกรานจากพม่ายาวนานนับสิบปี ท้ายที่สุดเจ้ามหาขนาน ผู้รักษาเมืองเชียงตุงและเป็นอนุชาของเจ้าฟ้ากองไต ก็ตัดสินใจทิ้งเชียงตุงให้พม่า และลี้ภัยลงมาอยู่กับเจ้าฟ้ากองไตที่เชียงแสน ต่อมาเจ้ามหาขนานผิดใจกับทางเชียงใหม่ จึงเดินทางกลับเชียงตุง และได้รับสถาปนาเป็นเจ้าฟ้าเขมรัฐเชียงตุงในฐานะประเทศราชของพม่าเมื่อพ.ศ. 2357 เมืองพยากจึงกลายเป็นหัวเมืองของพม่าอีกครั้ง

พุทธศักราช 2393 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวดำริจะแผ่อำนาจไปยังเชียงรุ่ง ในการนี้มีบัญชาให้พระยาเชียงใหม่มหาวงส์แต่งทัพขึ้นตีเชียงตุงให้ได้เสียก่อน พระยาเชียงใหม่จึงเกณฑ์ไพร่พลเชียงใหม่-ลำพูน-ลำปาง รวมกันได้ 7,500 นาย และมอบหมายให้ขุนนางหลายคนนำทัพเดินทางไปเชียงตุง ในการนี้ พระยารัตนเมืองแก้วได้รับหน้าที่เข้าตีเมืองพยาก แต่ท้ายที่สุดในศึกครั้งนี้ เชียงใหม่ตีเชียงตุงไม่สำเร็จ

ปลายพุทธศักราช 2395 คราวนี้กรุงเทพแต่งทัพเองเพื่อตีเชียงตุง โดยมีกรมหลวงวงศาธิราชสนิทเป็นแม่ทัพใหญ่ และได้รับการสนับสนุนจากกองทัพหัวเมืองล้านนา ในการนี้มอบหมายให้ทัพเชียงใหม่-ลำพูนจำนวน 5,042 นาย เข้าตีเมืองพยาก ทัพเชียงใหม่-ลำพูนเดินทางถึงเมืองพยากเมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2396 เมืองพยากถูกตีแตก กองทัพไทยจึงยกทัพขึ้นตีเชียงตุง แต่ตีไม่สำเร็จและยกทัพกลับ

อ้างอิง

[แก้]