ข้ามไปเนื้อหา

การอยู่กินด้วยกันโดยไม่ได้สมรส

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก เมียน้อย)

การอยู่กินด้วยกันโดยไม่ได้สมรส (อังกฤษ: concubinage) หมายถึง ภาวะที่หญิงมีความสัมพันธ์เชิงสมรสกับอีกบุคคลหนึ่ง ซึ่งฝ่ายหนึ่งมักมีสถานะทางสังคมสูงกว่าอีกฝ่ายหนึ่ง ความสัมพันธ์เชิงสมรสหมายความว่าไม่ได้สมรสกันจริง ๆ แต่อยู่กินกันอย่างคู่สมรส ซึ่งหากเป็นการจดทะเบียนสมรสซ้อนจะกลายเป็นความผิดอาญาตามกฎหมายไทย แต่หากไม่จดทะเบียนสมรสก็จะไม่มีสิทธิตามกฎหมาย ข้อนี้นับเป็นข้อเสียของการเป็นเมียหรือผัวที่ผิดกฎหมายของผู้อื่น

ในกรณีปรกติแล้วมักเป็นเรื่องระหว่างหญิงกับชาย โดยชายนั้นมักมีภริยาอย่างเป็นทางการหรือ "เมียหลวง" อยู่แล้ว และก็อาจมีภริยาลับอยู่อีกหลายคนด้วย ซึ่งภริยาลับนี้ก็มักมีสถานะทางสังคมต่ำต้อยกว่าภริยาหลวง กับทั้งตัวภริยาลับและบุตรที่เกิดแต่นางภริยาลับนี้ฝ่ายชายจะให้การสนับสนุนอย่างออกนอกหน้าก็มิได้ เพราะผิดทั้งจริยธรรม จารีตประเพณีในบางท้องถิ่น และกฎหมายของบางท้องถิ่นด้วย เช่น กฎหมายไทยมิได้ให้สิทธิภริยาลับเสมอภริยาหลวง แต่ในความเป็นจริงแล้ว ใครเป็นภริยาลับของใครสังคมก็มักรู้กันอยู่แก่ใจและบางทีก็เอาไปซุบซิบนินทากันอย่างสนุกปากอีกด้วย

คำว่า "ภริยาลับ" (อังกฤษ: concubine) เป็นศัพท์ทางนิติศาสตร์ แต่ในภาษาอังกฤษคำว่า "concubine" นั้นใช้ได้กับทั้งหญิงทั้งชายที่ไปเป็นภริยาลับหรือสามีลับของบุคคลอื่น นอกจากนี้ ในภาษาไทยยังมีคำเรียก "ภริยาลับ" อีกหลาย ๆ คำ เช่น อนุภริยา, อนุภรรยา, เมียน้อย หรือ เมียเก็บ

ภริยาลับ

[แก้]
กฎหมายตราสามดวง

ในประวัติศาสตร์ ชายทั่วโลกมีภริยาลับเป็นจำนวนมากเสมอ และในปัจจุบัน ผู้ชายบางส่วนก็ยังนิยมมีภรรยาลับอยู่เช่นเดิม

จุดเริ่มต้นของภริยาลับนั้น หญิงมักเป็นฝ่ายเสนอตัวให้แก่ชายเองไม่ว่าจะเสนอด้วยตนเองหรือเป็นการเตรียมการให้โดยครอบครัวของนางเอง[ต้องการอ้างอิง] ส่วนการเป็นภริยาลับอย่างไม่สมัครใจหรือเพราะถูกบังคับ เช่น ถูกครอบครัวบังคับให้ไปเป็นภริยาเขาเพื่อใช้หนี้ ประเภทนี้ศัพท์ทางวิชาการเรียกว่า "ทาสกามารมณ์" (อังกฤษ: sexual slavery) แต่ต่อมาภริยาลับก็มีขึ้นจากหลาย ๆ สาเหตุ ทั้งเพราะหญิงนั้นพอใจจะอยู่กินกับสามีของผู้อื่นเนื่องจากต้องการมีความเป็นอยู่ที่ดี เรียกว่าเป็นเหมือนหญิงโสเภณีก็ไม่ปาน หรือถูกฝ่ายชายหลอกล่อด้วยประการใด ๆ ก็ดี เป็นต้น

กฎหมายโรมันโบราณ และกฎหมายจีนโบราณ ยอมรับสถานะทางกฎหมายของภริยาน้อย แต่ไม่ได้เท่าเทียมกับสถานะทางกฎหมายของภริยาหลวง กฎหมายไทยเองก็ยอมรับเช่นกัน โดยปรากฏในพระอัยการหรือรัฐธรรมนูญของโบราณซึ่งต่อมาในรัชกาลที่ 1 กรุงรัตนโกสินทร์มีการชำระและรู้จักกันในชื่อ "กฎหมายตราสามดวง" แบ่งภริยาออกเป็นสามประเภท คือ

1. เมียกลางเมือง คือ หญิงอันบิดามารดาหรือญาติซึ่งมีอำนาจปกครองดูแลยินยอมยกให้แก่ฝ่ายชายโดยถูกต้องตามประเพณี เรียกว่า "ภริยาหลวง" นั่นเอง

2. เมียกลางนอก คือ หญิงที่ชายขอมาเลี้ยงดูเป็นอนุภรรยา มีฐานะเป็นรองหลั่นจากภริยาหลวงลงมา

3. เมียกลางทาสี คือ หญิงทุกข์ยากที่ชายช่วยไถ่ตัวมาและรับเลี้ยงดูเป็นเมีย มีฐานะหลดหลั่นจากสองประเภทแรกมาก

มีข้อสังเกตว่าอนุภริยาในสังคมไทยโบราณไม่จำเป็นต้องปกปิดไว้เป็น "ภริยาลับ" เหมือนปัจจุบัน เพราะโบราณกฎหมายยอมรับให้มีได้ไม่ผิดกฎหมาย แต่ปัจจุบันห้ามการสมรสซ้อน (อังกฤษ: bigamy หรือ plural marriage) เป็นความผิดอาญา

ส่วนในพระธรรมปฐมกาล วรรคที่ 16 และวรรคที่ 21 แห่งคัมภีร์ไบเบิล กล่าวว่า นางซาราห์ภริยาของอับราฮัมได้จัดส่งนางทาสชื่อ "ฮาการ์" ไปเป็นภริยาลับของสามี เพราะตัวนางเป็นหมัน นางฮาการ์นั้นเมื่อตั้งครรภ์และคลอดบุตรชายชื่อ "อิชมาเอล" ก็จองหองพองขน ดูถูกนายหญิงของตนต่าง ๆ แต่ต่อมาเกิดปาฏิหาริย์แก่นางซาราห์ โดยนางสามารถคลอดบุตรของตนได้เมื่ออายุหนึ่งร้อยปีอันเป็นวัยใกล้ฝั่งแล้ว นางฮาการ์และอิชมาเอลจึงถูกขับไล่ออกจากครอบครัวนับแต่นั้น บุตรของนางซาราห์คือ "อิสอัค"

ทั้งนี้ แต่โบราณมาแล้ว กฎหมายของทางตะวันตกไม่ยอมรับการมีอนุภรรยาเด็ดขาด และปัจจุบันชาวตะวันตกก็ถือคติเช่นนั้น

สามีลับ

[แก้]

ในยุคโรมัน นอกจากกฎหมายจะยอมรับให้มีภริยาลับแล้ว ยังยอมรับให้บุคคลทั้งหญิงหรือชายมีชายอื่นเป็น "ผัวลับ" (ละติน: concubinus (เอกพจน์), concubini (พหูพจน์)) ได้อีกด้วย

นายเกอุส วาเลอริอุส คาทูลูส (Gaius Valerius Catullus) กวีโรมันโบราณ ยังประพันธ์บทร้อยกรองเกี่ยวกับการสมรสไว้ว่า ขุนนางหนุ่ม ๆ ทั้งหลายมักเลี้ยงชายเป็นผัวลับไว้มากมาย

อ้างอิง

[แก้]

ดูเพิ่ม

[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]