อำเภอเบตง
บทความนี้ได้รับแจ้งให้ปรับปรุงหลายข้อ กรุณาช่วยปรับปรุงบทความ หรืออภิปรายปัญหาที่หน้าอภิปราย
|
อำเภอเบตง | |
---|---|
การถอดเสียงอักษรโรมัน | |
• อักษรโรมัน | Amphoe Betong |
ด่านพรมแดนเบตง | |
คำขวัญ: เมืองในหมอก ดอกไม้งาม ใต้สุดสยาม เมืองงามชายแดน | |
แผนที่จังหวัดยะลา เน้นอำเภอเบตง | |
พิกัด: 5°46′25″N 101°3′38″E / 5.77361°N 101.06056°E | |
ประเทศ | ไทย |
จังหวัด | ยะลา |
พื้นที่ | |
• ทั้งหมด | 1,328.0 ตร.กม. (512.7 ตร.ไมล์) |
ประชากร (2564)[1] | |
• ทั้งหมด | 62,484 คน |
• ความหนาแน่น | 47.05 คน/ตร.กม. (121.9 คน/ตร.ไมล์) |
รหัสไปรษณีย์ | 95110 |
รหัสภูมิศาสตร์ | 9502 |
ที่ตั้งที่ว่าการ | ที่ว่าการอำเภอเบตง เลขที่ 339 ถนนสุขยางค์ ตำบลเบตง อำเภอเบตง จังหวัดยะลา 95110 |
ส่วนหนึ่งของสารานุกรมประเทศไทย |
เบตง หรือที่คนในท้องถิ่นเรียกว่า บือตง เป็นอำเภอที่มีขนาดใหญ่ที่อยู่ในจังหวัดยะลา นับเป็นอำเภอที่ตั้งอยู่ใต้สุดของประเทศไทย โดยมีลักษณะเป็นหัวหอกยื่นเข้าไปในประเทศมาเลเซีย ตั้งอยู่ในแนวทิวเขาสันกาลาคีรี มีเนื้อที่ประมาณ 1,328 ตารางกิโลเมตร ห่างจากตัวเมืองยะลาประมาณ 140 กิโลเมตร และห่างจากกรุงเทพมหานครประมาณ 1,220 กิโลเมตร ด้วยภูมิประเทศของอำเภอเบตงส่วนใหญ่เป็นภูเขาสูงจึงทำให้เบตงมีอากาศดี และมีหมอกตลอดปี ดังคำขวัญประจำอำเภอที่ว่า “เมืองในหมอก ดอกไม้งาม ใต้สุดสยาม เมืองงามชายแดน”[2]
ที่มาของชื่อ
[แก้]ชื่อเดิมของอำเภอเบตงคือ ยะรม เป็นภาษามลายูมีความหมายว่า "เข็มเย็บผ้า"[3] ต่อมาเมื่อปีพุทธศักราช 2473 อำเภอยะรมได้ถูกเปลี่ยนชื่อมาเป็นอำเภอเบตงในปัจจุบัน ซึ่งคำว่า เบตง มาจากภาษามลายู ว่า "Buluh Betong" หมายถึง "ไม้ไผ่ขนาดใหญ่" คือ ไผ่ตง[3] ซึ่งมีอยู่มากในท้องถิ่น ต้นไผ่ตงจึงกลายเป็นสัญลักษณ์หนึ่งของอำเภอเบตง
ประวัติศาสตร์
[แก้]ยุคอาณาจักร
[แก้]จากประวัติศาสตร์เดิมราวพุทธศตวรรษที่ 7 พื้นที่ของอำเภอเบตงเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรลังกาสุกะ โดยมีอาณาเขตปกครองกว้างขวางครอบคลุมคาบสมุทรมลายูตอนล่างทั้งหมดโดยพัฒนามาจากเมืองท่าเล็ก ๆ ของชาวพื้นเมืองจนเติบโตเป็นรัฐและมีฐานะเป็นอาณาจักร จนกระทั่งสมัยพุทธศตวรรษที่ 14-15 อาณาจักรลังกาสุกะได้ตกอยู่ใต้อำนาจของอาณาจักรศรีวิชัย โดยเชื่อว่าอาณาจักรศรีวิชัยน่าจะมีอำนาจที่แผ่กว้างไพศาลมากในสมัยนั้น มีอาณาเขตครอบคลุมไปถึงช่องแคบมะละกา ชวา สุมาตรา แหลมมลายู และหัวเมืองต่างๆ ที่อยู่ภาคใต้ของประเทศไทยในปัจจุบัน[4]
ต่อมาต้นพุทธศตวรรษที่ 19 อาณาจักรศรีวิชัยที่เจริญรุ่งเรืองในบริเวณแหลมมลายูได้เสื่อมอำนาจลง และเกิดอาณาจักรใหม่ คือ อาณาจักรมัชฌาปาหิต (ชวา) ซึ่งมีอำนาจอยู่ในเกาะชวา หรืออินโดนีเซียนั้น ได้ขยายอาณาเขตกว้างใหญ่ไพศาลเข้ามาครอบครองดินแดนสุมาตรา และบางส่วนของคาบสมุทรมลายูไป และทำให้ศรีวิชัยล่มสลายไปในที่สุด ประจวบกับในขณะนั้นอาณาจักรสุโขทัยได้ขยายอำนาจลงมายังเมืองไชยา เมืองตามพรลิงก์ และหัวเมืองมลายู และได้ผูกสัมพันธ์กับพระเจ้าศรีธรรมโศกราชโดยได้แต่งตั้งให้ดูแลหัวเมืองแหลมมลายู
เมื่ออาณาจักรสุโขทัยได้เสื่อมลง หัวเมืองมลายู ได้แก่ เมืองปัตตานี เมืองไทรบุรี เมืองกลันตัน และเมืองตรังกานู จึงเป็นประเทศราชต่ออาณาจักรอยุธยา โดยพื้นที่อำเภอเบตงเป็นส่วนหนึ่งของหัวเมืองปัตตานี ต่อมาเมื่ออาณาจักรอยุธยาอ่อนแอลง หัวเมืองมลายูทั้ง 4 จึงได้แข็งข้อ ตั้งตนเป็นรัฐอิสระตลอดมาจนกระทั่งในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก (รัชกาลที่ 1) ทรงรวบรวมหัวเมืองมลายูกลับมาเป็นเมืองประเทศราช จนในรัชสมัยสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ 2) ได้เกิดความไม่สงบขึ้นบ่อยครั้ง จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้พระยาอภัยสงคราม และพระยาสงขลา ผู้กำกับดูแลหัวเมืองมลายู แบ่งเมืองปัตตานีออกเป็น 7 หัวเมือง และแต่งตั้งให้พระยาเมืองเป็นผู้ปกครองตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2359 เป็นต้นมา ได้แก่ เมืองปัตตานี เมืองยะหริ่ง เมืองสายบุรี เมืองหนองจิก เมืองระแงะ เมืองยะลา และเมืองรามัน ซึ่งพื้นที่ของอำเภอเบตงเดิมได้ขึ้นอยู่กับเมืองรามัน
ยุคปัจจุบัน
[แก้]ครั้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้าฯ ให้ยกเลิกการปกครองแบบจตุสดมภ์ โดยทรงปรับปรุงเปลี่ยนระเบียบการบริหารราชการแผ่นดินใหม่ เรียกว่า "พระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องถิ่น ร.ศ. 116" โดยได้นำมาใช้กับ 7 หัวเมืองภาคใต้ โดยเรียกว่า "ข้อบังคับสำหรับ ปกครอง 7 หัวเมือง ร.ศ. 120" มีการแบ่งการปกครองเป็นมณฑลเทศาภิบาล มีตำแหน่งพระยาเมือง (เจ้าเมือง) ปลัดเมือง, ยกกระบัตรเมือง, โดยทั้งหมดขึ้นตรงต่อข้าหลวง ซึ่งในภาคใต้แบ่งออกเป็น 4 มณฑล โดยเมืองปัตตานีขึ้นอยู่ในมณฑลนครศรีธรรมราช มีผู้ว่าราชการเมืองเป็นผู้ดูแล อยู่ในปกครองของข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑล ต่อมาเมื่อปีพุทธศักราช 2449 ได้โปรดเกล้าฯ ให้แยกหัวเมืองที่ขึ้นกับมณฑลนครศรีธรรมราชทั้ง 7 หัวเมือง มาตั้งเป็นมณฑลปัตตานี
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองได้มีการตราพระราชบัญญัติการบริหารราชการส่วนภูมิภาค พุทธศักราช 2476 ขึ้น จึงได้ยุบเลิกมณฑลปัตตานี และได้แบ่งออกเป็นจังหวัดปัตตานี จังหวัดยะลา และจังหวัดนราธิวาสในปัจจุบัน
ในส่วนของอำเภอเบตงนั้นแรกเริ่มได้ตั้งขึ้นเป็นอำเภอชื่อว่า อำเภอยะรม (ตั้งอยู่ที่บ้านฮางุด หมูที่ 1 ตำบลเบตง) แบ่งการปกครองออกเป็น 6 ตำบล คือ ตำบลเบตง ตำบลยะรม ตำบลอิตำ ตำบลโกรเน ตำบลบาโลน และตำบลเซะ หรือโกร๊ะ
ต่อมาในปีพุทธศักราช 2442 จากผลการปักปันแดนระหว่างไทยกับสหพันธรัฐมลายู (อาณานิคมของอังกฤษ) เป็นเหตุให้ตำบลอิตำ ตำบลโกรเน ตำบลบาโลน และตำบลเซะ หรือโกร๊ะ รวม 4 ตำบล ถูกตัดออกจากอำเภยะรมไปรวมอยู่กับรัฐเประในสหพันธรัฐมลายู อำเภอยะรมจึงเหลือการปกครองอยู่เพียง 2 ตำบล คือ ตำบลเบตง และตำบลยะรม ต่อมาได้มีการจัดตั้งตำบลอัยเยอร์เวง และตำบลฮาลา ซึ่งจากหลักฐานปรากฏว่า มีตำบลอัยเยอร์เวงในปีพุทธศักราช 2462 และมีตำบลฮาลาในปี พุทธศักราช 2486
ต่อมาอีกในปีพุทธศักราช 2473 สมัยที่พระพิชิตบัญชาการเป็นนายอำเภอ ได้ย้ายที่ตั้งที่ว่าการอำเภอจากบ้านฮางุส หมู่ที่ 1 ตำบลเบตง มาตั้งอยู่ที่บ้านกำปงมัสยิด หมู่ที่ 6 ตำบลเบตง พร้อมกับได้เปลี่ยนชื่อจาก "อำเภอยะรม" เป็น อำเภอเบตง (ที่ว่าการอำเภอหลังเก่าตั้งอยู่ใกล้กับสถานีตำรวจภูธรเบตงปัจจุบัน)
วันที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2476 เกิดการประท้วงนำโดยหัวหน้าคือ ลู่ เง็กซี่ เรียกร้องให้อำเภอเบตงรวมเข้ากับมลายูของอังกฤษ แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ[5]
ในปีพุทธศักราช 2481 ได้ตั้งตำบลตาเนาะแมเราะ และในปีพุทธศักราช 2482 ได้ยุบตำบลฮาลาไปรวมกับตำบลอัยเยอร์เวง รวมทั้งได้ประกาศตั้งเทศบาลตำบลเบตงโดยครอบคลุมพื้นที่ตำบลเบตงทั้งหมด ต่อมาเมื่อวันที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2527 กระทรวงมหาดไทยประกาศตั้งตำบลธารน้ำทิพย์ ทำให้อำเภอเบตงมีการปกครองรวม 5 ตำบล คือ ตำบลยะรม ตำบลอัยเยอร์เวง ตำบลตาเนาะแมเราะ และตำบลธารน้ำทิพย์จนถึงปัจจุบัน
ต่อมาได้ย้ายที่ตั้งที่ว่าการอำเภออีกครั้งหนึ่ง เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2528 มาตั้งอยู่ที่ปัจจุบัน โดยมีนายกรัฐมนตรี พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นประธานเปิดอาคารหลังใหม่ (นายอรัญ ศรีอรุโณทัย นายบัญชา ชื่นรังสิกุล นายนคร มนัสวานิช เป็นผู้บริจาคที่ดินก่อสร้างจำนวน 12 ไร่)
สภาพภูมิศาสตร์
[แก้]ที่ตั้งและอาณาเขต
[แก้]อำเภอเบตงตั้งอยู่ห่างจากตัวเมืองยะลาประมาณ 140 กิโลเมตร มีอาณาเขตติดต่อกับเขตการปกครองข้างเคียงดังนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับอำเภอธารโต (จังหวัดยะลา)
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับอำเภอจะแนะ (จังหวัดนราธิวาส) และอำเภอฮูลูเปรัก (เกอริก) (รัฐเประ ประเทศมาเลเซีย)
- ทิศใต้ ติดต่อกับอำเภอเปิงกาลันฮูลู (เกอโระฮ์) และอำเภอฮูลูเปรัก (รัฐเประ ประเทศมาเลเซีย)
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับอำเภอบาลิง (รัฐเกอดะฮ์ ประเทศมาเลเซีย)
สภาพภูมิประเทศ
[แก้]อำเภอเบตงตั้งอยู่ในแนวทิวเขาสันกาลาคีรี มีลักษณะคล้ายหัวหอกพุ่งไปอยู่ในดินแดนประเทศมาเลเซีย มีพื้นที่เป็นที่ราบสูงเนินเขา ลุ่มน้ำ สภาพของเมืองเบตงตั้งอยู่ในหุบเขา มีลักษณะเหมือนแอ่งกระทะที่โอบล้อมด้วยหุบเขาน้อยใหญ่ พื้นที่ทั่วไปสูงกว่าระดับน้ำทะเลประมาณ 1,900 ฟุต ตัวเมืองเบตงอยู่ห่างจากด่านชายแดนเบตงเป็นระยะทาง 7 กิโลเมตร เป็นเมืองที่มีความสำคัญด้านการท่องเที่ยวและการขนส่งสินค้า เป็นเมืองหน้าด่านที่จะนำสินค้าเข้าออกไปยังท่าเรือน้ำลึกปีนังของมาเลเซีย[6]
สภาพภูมิอากาศ
[แก้]สภาพภูมิอากาศโดยทั่วไปอยู่ภายใต้อิทธิพลของลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ และลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ มีอากาศร้อนชื้นตลอดปี โดยเฉลี่ย ประมาณ 27.5 – 28.5 องศาเซลเซียส มี 2 ฤดู คือ ฤดูร้อน และฤดูฝน โดยฤดูร้อนอยู่ในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนเมษายน ส่วนฤดูฝนอยู่ในช่วงเดือนพฤษภาคม ถึงเดือนธันวาคม[6] ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย 2,281.6 มิลลิเมตร ต่อปี มีฝนตกเฉลี่ย 135 วันต่อปี เดือนตุลาคมถึงเดือนพฤศจิกายน มีฝนตกชุกที่สุด
แม่น้ำ และคลอง
[แก้]อำเภอเบตงเป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำปัตตานี โดยมีต้นน้ำอยู่ในทิวเขาสันกาลาคีรี ซึ่งแม่น้ำสายนี้ไหลไปทางทิศเหนือผ่านอำเภอเบตง เขื่อนบางลาง อำเภอธารโต อำเภอบันนังสตา อำเภอกรงปินัง อำเภอเมืองยะลา จังหวัดยะลา และสิ้นสุดลงที่อำเภอเมืองปัตตานี จังหวัดปัตตานี ไหลออกสู่ทะเลอ่าวไทย รวมความยาวทั้งสิ้น 214 กิโลเมตร
จากลักษณะภูมิประเทศที่ส่วนใหญ่อยู่ในแนวเทือกเขาจึงทำให้อำเภอเบตงมีลำธาร และคลองหลายสาย ในส่วนของใจกลางเมืองเบตงมีคลองเบตงไหลผ่าน โดยไหลจากทิศตะวันตกไปทางทิศตะวันออกแล้วไปบรรจบกับแม่น้ำปัตตานี นอกจากนี้ยังมีคลองอื่น ๆ อีกเช่น คลองกวางหลง คลองซาโห่ คลองกาแป๊ะ คลองปะโด คลองวังสุดา คลองจันทรัตน์ คลองก.ม.7 คลองมาลา คลองไอร์เยอร์ซอ คลองอัยเยอร์เวง คลองอัยเยอร์ฟิน คลองปูโป๊ะ เป็นต้น ซึ่งคลองต่าง ๆ เหล่านี้ต่างไหลมาบรรจบเป็นต้นน้ำของแม่น้ำปัตตานี
ป่าไม้
[แก้]อำเภอเบตงเป็นอำเภอที่มีทรัพยากรป่าไม้ทั้งที่เป็นป่าสงวนแห่งชาติ เขตอุทยานแห่งชาติ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าหลายแห่ง คือ
ป่าสงวนแห่งชาติ
[แก้]- ป่าเบตง พื้นที่ 278.67 ตร.กม. หรือ 175,000 ไร่
- ป่าบูกิ๊ตตำมะซู - บูกิ๊ตกือแล ในท้องที่ตำบลตาเนาะแมเราะ และตำบลยะรม อำเภอเบตง จังหวัดยะลา พื้นที่ 0.46 ตร.กม. หรือ 275 ไร่
อุทยานแห่งชาติ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า
[แก้]อำเภอเบตงมีอุทยานแห่งชาติในเขตอำเภอ 1 แห่ง และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า 1 แห่ง คือ
- อุทยานแห่งชาติบางลาง มีพื้นที่อยู่ในตำบลธารโต ตำบลบ้านแหร ตำบลแม่หวาด อำเภอธารโต ตำบลถ้ำทะลุ อำเภอบันนังสตา และตำบลอัยเยอร์เวง อำเภอเบตง มีพื้นที่ทั้งสิ้น 163,125 ไร่ หรือ 261 ตร.กม.
- เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฮาลา-บาลา มีพื้นที่อยู่ในเขตอำเภอธารโต และอำเภอเบตง นอกจากนี้ยังมีพื้นที่คลุมไปยังจังหวัดนราธิวาสอีกด้วย โดยมีพื้นที่ทั้งสิ้น 270,725 ไร่ หรือ 433.16 ตร.กม.
การแบ่งเขตการปกครอง
[แก้]การปกครองส่วนภูมิภาค
[แก้]อำเภอเบตงแบ่งเขตการปกครองออกเป็น 5 ตำบล 32 หมู่บ้าน
1. | เบตง | Betong | ยกเลิกระบบหมู่ |
2. | ยะรม | Yarom | 8 หมู่บ้าน |
3. | ตาเนาะแมเราะ | Tano Maero | 9 หมู่บ้าน |
4. | อัยเยอร์เวง | Aiyoe Weng | 11 หมู่บ้าน |
5. | ธารน้ำทิพย์ | Than Nam Thip | 4 หมู่บ้าน |
การปกครองส่วนท้องถิ่น
[แก้]ท้องที่อำเภอเบตงประกอบด้วยองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น 5 แห่ง ได้แก่
- เทศบาลเมืองเบตง ครอบคลุมพื้นที่ตำบลเบตงทั้งตำบล
- เทศบาลตำบลธารน้ำทิพย์ ครอบคลุมพื้นที่ตำบลธารน้ำทิพย์ทั้งตำบล
- องค์การบริหารส่วนตำบลยะรม ครอบคลุมพื้นที่ตำบลยะรมทั้งตำบล
- องค์การบริหารส่วนตำบลตาเนาะแมเราะ ครอบคลุมพื้นที่ตำบลตาเนาะแมเราะทั้งตำบล
- องค์การบริหารส่วนตำบลอัยเยอร์เวง ครอบคลุมพื้นที่ตำบลอัยเยอร์เวงทั้งตำบล
ประชากร
[แก้]ปี พ.ศ. | จำนวนประชากร (คน) | |
---|---|---|
2536 | 46,508 | |
2537 | 48,663 | |
2538 | 48,949 | |
2539 | 49,468 | |
2540 | 51,280 | |
2541 | 52,119 | |
2542 | 52,200 | |
2543 | 53,121 | |
2544 | 54,184 | |
2545 | 55,227 | |
2546 | 56,078 | |
2547 | 53,451 | |
2548 | 54,620 | |
2549 | 55,674 | |
2550 | 56,471 | |
2551 | 57,323 | |
2552 | 58,145 | |
2553 | 59,127 | |
2554 | 60,228 | |
2555 | 61,080 | |
2556 | 61,416 | |
2557 | 61,794 |
ปัจจุบันอำเภอเบตงมีจำนวนประชากรรวมทั้งสิ้น 62,523 คน (นับปีพ.ศ. 2560) ประกอบด้วยคนไทยหลากหลายเชื้อชาติ เป็นชาวมลายูปัตตานี, คนไทย (ทั้งไทยสยามและคนไทยเชื้อสายจีน เช่น กวางไส ฮกเกี้ยน แต้จิ๋ว จีนแคะ)[3] โดยได้อยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขเกิดการผสมผสานกันระหว่างวัฒนธรรมที่หลากหลายได้อย่างลงตัว
ตำบล | ชาย (คน) | หญิง (คน) | รวม (คน) | จำนวนบ้าน (หลัง) |
---|---|---|---|---|
ตำบลยะรม | 5,129 | 5,137 | 10,266 | 4,274 |
ตำบลตาเนาะแมเราะ | 4,879 | 4,557 | 9,436 | 4,375 |
ตำบลอัยเยอร์เวง | 6,199 | 5,504 | 11,703 | 4,644 |
เทศบาลตำบลธารน้ำทิพย์ | 2,350 | 2,105 | 4,455 | 1,740 |
เทศบาลเมืองเบตง | 12,847 | 13,816 | 26,663 | 11,097 |
รวม | 31,404 | 31,119 | 62,523 | 26,130 |
ภาษา
[แก้]เดิมพื้นที่อำเภอเบตงเป็นส่วนหนึ่งของรัฐปัตตานี จึงทำให้ประชาชนดั้งเดิมของอำเภอเบตงนั้นเป็นที่อยู่อาศัยของชาวมุสลิมเชื้อสายมลายามาก่อน ต่อมาในปีพุทธศักราช 2443 ได้มีชาวจีนกลุ่มแรกที่เดินทางจากประเทศจีนโดยนำเรือมาขึ้นฝั่งประเทศมาเลเซียแล้วเดินทางเท้า หรือนั่งเกวียนเข้ามายังพื้นที่อำเภอเบตง ชาวจีนส่วนใหญ่เมื่อเข้ามาในอำเภอเบตงก็ได้รับจ้างถางป่าหักร้างถางพงผืนป่า หลังจากนั้นก็มีชาวจีนอพยพเข้ามาเรื่อย ๆ อาจกล่าวได้ว่าชาวจีนที่อพยพมาจากมณฑลกวางสี ซึ่งเป็นมณฑลหนึ่งของจีนที่ตั้งอยู่ทางภาคใต้ของประเทศจีนซึ่งมีดินแดนบางส่วนติดกับประเทศเวียดนามเป็นกลุ่มชาวจีนกลุ่มใหญ่ที่สุดในอำเภอเบตงที่มีส่วนบุกเบิกอำเภอเบตงมากที่สุด ซึ่งเรียกกลุ่มตนเองว่า กวางไส (廣西) ซึ่งในปัจจุบันชาวจีนในอำเภอเบตงมีหลากหลายกลุ่ม เช่น กวางตุ้ง ฮกเกี้ยน ฮากกา และแต้จิ๋ว
ปัจจุบันอำเภอเบตงภาษาหลายชนิดโดยไม่มีภาษาใดโดดเด่นที่สุดโดยภาษาต่างๆถูกใช้กับแต่ละชุมชนได้แก่ ภาษาไทยกลางใช้ในชุมชนคนไทยเชื้อสายแต้จิ๋วและแคะ ภาษาไทยใต้ใช้ในกลุ่มคนไทยสยามและคนไทยเชื้อสายฮกเกี้ยน ภาษามลายูปัตตานีใช้กับชาวมลายู ส่วนผู้สูงอายุส่วนหนึ่งใช้ภาษาแต้จิ๋วและภาษาจีนแคะ
ศาสนา
[แก้]อำเภอเบตงประกอบด้วยประชากรหลากหลายเชื้อชาติและศาสนาหรือที่เรียกว่าสังคมพหุลักษณ์ แบ่งเป็นประชากรกลุ่มใหญ่สามกลุ่มคือ ชาวไทยเชื้อสายมลายูนับถือศาสนาอิสลาม ชาวไทยเชื้อสายจีน และชาวไทยพุทธ ซึ่งสัดส่วนของบุคคลเชื้อสายมลายูและบุคคลเชื้อสายจีนมีสัดส่วนสูงกว่าไทยพุทธ กระนั้นประชากรทั้งสามกลุ่มสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ และไม่มีความขัดแย้งดังพื้นที่อื่น ๆ ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้[9]
จากการสำรวจเมื่อ พ.ศ. 2554 พบว่าประชากรส่วนใหญ่ของเบตงนับถือศาสนาอิสลามร้อยละ 51 นับถือศาสนาพุทธร้อยละ 47 และอื่น ๆ ร้อยละ 2[10] และการสำรวจเมื่อ พ.ศ. 2561 พบว่าประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลามร้อยละ 52.9 นับถือศาสนาพุทธร้อยละ 46.4 และศาสนาอื่น ๆ (ได้แก่ศาสนาคริสต์และฮินดู) ร้อยละ 0.7[8] สำนักงานสถิติจังหวัดยะลารายงานว่า ใน พ.ศ. 2560 ในอำเภอมีเบตงมีมัสยิด 33 แห่ง วัดพุทธ 6 แห่ง สำนักสงฆ์ 7 แห่ง และโบสถ์คริสต์ 3 แห่ง[11]
เศรษฐกิจ
[แก้]เศรษฐกิจของอำเภอส่วนใหญ่เน้นการทำสวนยางพาราเป็นหลัก และมีการเลี้ยงปศุสัตว์ อาทิ ไก่สายพันธุ์พื้นเมือง และแพะ เป็นต้น นอกจากนี้ ในปัจจุบันทางรัฐบาลได้มีการส่งเสริมและลงทุนในด้านอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวภายในอำเภอ อาทิเช่น อุโมงค์ปิยะมิตร บ่อน้ำร้อน ทะเลหมอก เป็นต้น
อุตสาหกรรม
[แก้]ในปี 2550 อำเภอเบตงมีโรงงานอุตสาหกรรมรวมทั้งสิ้น 23 โรงงาน จำนวนเงินลงทุนทั้งสิ้น 421,130,472 ล้านบาท มีการจ้างงานรวมทั้งสิ้น 665 คน โดยส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมไม้และผลิตภัณฑ์จากไม้ อุตสาหกรรมยาง อุตสาหกรรมการเกษตร และอุตสาหกรรมอื่น ๆ[12]
เกษตรกรรม
[แก้]ในปี 2554 อำเภอเบตงมีพื้นที่ถือครองทำการเกษตรจำนวน 436,076 ไร่ โดยแบ่งพื้นที่ทำการเกษตรได้ดังนี้[13]
- ยางพารา 363,977 ไร่
- ไม้ผล 10,949 ไร่
- ไม้ยืนต้น 1,396 ไร่
- พืชผัก 505 ไร่
- พืชไร่ 60 ไร่
- ประมง 1,891 ไร่
- ปศุสัตว์ 1,695 ไร่
- เนื้อที่ถือครองไม่ได้ใช้ประโยชน์ 55,603 ไร่
จึงทำให้อำเภอเบตงเป็นแหล่งผลิตสินค้าเกษตรที่สำคัญ เช่น ยางพารา สัมโชกุน ดอกไม้เมืองหนาว ผักน้ำ ทุเรียน มังคุด ลองกอง เงาะ เป็นต้น ตัวอย่างเช่นในหมู่บ้านปิยะมิตร 2 ซึ่งมีอากาศหนาวทำให้ปลูกยางพาราไม่ได้ผล สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อครั้งเสด็จเยือนครั้งแรกในปี พ.ศ. 2537 ทรงแนะนำแนวทางปลูกไม้เมืองหนาว ทำให้หุบเขาดังกล่าวเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีดอกไม้เมืองหนาวหลากสีเช่นเดียวกับบนดอยทางภาคเหนือ[14]
จะเห็นได้ว่าเศรษฐกิจของอำเภอเบตงขึ้นอยู่ผลิตด้านยางพาราเป็นสำคัญ ซึ่งถ้าปีใดยางพารามีราคาสูง ปีนั้นอำเภอเบตงก็มีเศรษฐกิจที่ดี เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น และมีกำลังซื้อสูงตามไปด้วย จึงส่งผลให้เศรษฐกิจภาพรวมของอำเภอเบตงดีขึ้น แต่ถ้าปีใดที่ราคายางพารา ราคาตกต่ำ ปีนั้นอาจทำให้เศรษฐกิจของอำเภอเบตงซบเซาบ้างเล็กน้อย[15]
การธนาคาร
[แก้]สถาบันการเงินในอำเภอเบตงมีธนาคารจำนวน 9 สาขา แยกเป็นธนาคารพาณิชย์ 5 สาขา และธนาคารของรัฐ 4 สาขา ดังนี้
ธนาคารพาณิชย์
- ธนาคารกรุงไทย สาขาเบตง
- ธนาคารกรุงเทพ สาขาเบตง
- ธนาคารกสิกรไทย สาขาเบตง
- ธนาคารธนชาต สาขาเบตง
- ธนาคารกรุงศรีอยุธยา สาขาเบตง
ธนาคารของรัฐ
- ธนาคารออมสิน สาขาเบตง
- ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร สาขาเบตง
- ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย สาขาเบตง
- ธนาคารอาคารสงเคราะห์ สาขาเบตง
การค้าชายแดน
[แก้]ในส่วนของมูลค่าสินค้าที่ส่งออก และนำเข้าผ่านด่านศุลกากรเบตง ในปีงบประมาณ 2555 มีมูลค่าการค้าประมาณ 5,442.20 ล้านบาท โดยสินค้าที่ส่งออกส่วนใหญ่เป็นยางพารา ผลิตภัณฑ์ยางอื่น ๆ ไม้แปรรูป และผลิตภัณฑ์เหล็กหรือเหล็กกล้า และสินค้านำเข้าส่วนใหญ่จะเป็นเครื่องจักรที่ใช้ในอุตสาหกรรมและส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์โลหะทำด้วยเหล็ก เคมีภัณฑ์อนินทรีย์
ปีพ.ศ. | มูลค่ารวม (ล้านบาท) | ส่งออก (ล้านบาท) | นำเข้า (ล้านบาท) | ดุลการค้า (ล้านบาท) |
---|---|---|---|---|
2550 | 3,115.43 | 2,985.19 | 130.24 | 2,854.95 |
2551 | 3,476.87 | 3,371.42 | 105.45 | 3,265.97 |
2552 | 2,847.78 | 2,715.38 | 132.40 | 2,582.98 |
2553 | 4,158.29 | 4,037.26 | 121.03 | 3,916.23 |
2554 | 5,980.07 | 5,816.98 | 163.08 | 5,653.90 |
2555 | 5,442.20 | 5,251.04 | 191.16 | 5,059.89 |
2556 | 4,508.35 | 4,338.51 | 169.84 | 4,168.67 |
2557 | 3,533.69 | 3,356.42 | 177.27 | 3,179.15 |
การสาธารณสุข
[แก้]ปัจจุบันอำเภอเบตงมีโรงพยาบาลทั้งสิ้น 1 แห่ง คือ โรงพยาบาลเบตง ตั้งอยู่เลขที่ 106 ถนนรัตนกิจ ตำบลเบตง เป็นโรงพยาบาลประจำอำเภอ สังกัดกระทรวงสาธารณสุข มีขีดความสามารถขนาดโรงพยาบาลทั่วไป (รพท.) มีจำนวนเตียงทั้งสิ้น 170 เตียง โดยในปี 2552 มีบุคลากรสาธารณสุข ดังนี้[17]
- แพทย์ 22 คน
- ทันตแพทย์ 3 คน
- เภสัชกร 6 คน
- พยาบาลวิชาชีพ 160 คน
การท่องเที่ยว
[แก้]สภาพทั่วไปของตลาดท่องเที่ยว
[แก้]อำเภอเบตงเป็นอำเภอใต้สุดของประเทศไทยซึ่งติดชายแดนประเทศมาเลเซีย เป็นเมืองชายแดนที่มีการเคลื่อนไหวทางธุรกิจการค้าสูง ประกอบกับเป็นอำเภอที่มีการผสมผสานทางวัฒนธรรม เช่น ขนบธรรมเนียมประเพณีต่าง ๆ ภาษา และชาติพันธ์ที่หลากหลาย อีกทั้งเป็นเมืองที่มีธรรมชาติที่สวยงามจึงทำให้อำเภอเบตงเป็นอำเภอที่มีนักท่องเที่ยวจากในประเทศ และประเทศเพื่อนบ้านมาท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก
นักท่องเที่ยวที่เข้ามาในอำเภอเบตง สามารถแบ่งกลุ่มการท่องเที่ยวได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ กลุ่มแรก เป็นพวกที่เข้ามาเพื่อเที่ยวตามแหล่งบันเทิงเริงรมย์ในเมืองเบตง และกลุ่มที่สอง เป็นพวกที่เข้ามาเพื่อท่องเที่ยวในสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ และรับประทานอาหารประจำถิ่นของอำเภอเบตง นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้บ้างจะเข้ามาเป็นครอบครัว หรือเป็นหมู่คณะ ซึ่งสัดส่วนของนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้มีแนวโน้มสูงขึ้น ส่วนใหญ่นักท่องเที่ยวจะเป็นชาวมาเลเซียเป็นส่วนมากซึ่งได้เข้ามาในอำเภอเบตงช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ และช่วงเทศกาลต่าง ๆ และในส่วนของนักท่องเที่ยวชาวไทยจะมาอำเภอเบตงเพื่อการพักผ่อน เที่ยวชมสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ และเพื่อการประชุมสัมนา
ปีพ.ศ. | นักท่องเที่ยวชาวไทย | นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ | นักท่องเที่ยวรวม | รายได้ (ไทย) | รายได้ (ต่างชาติ) | รายได้รวม |
---|---|---|---|---|---|---|
2547 | 73,028 | 171,092 | 244,120 | 136.25 | 553.98 | 690.23 |
2548 | 57,179 | 163,427 | 220,606 | 84.01 | 486.34 | 570.35 |
2549 | 51,030 | 224,071 | 282,463 | 76.79 | 688.31 | 765.11 |
2550 | 45,297 | 224,071 | 269,368 | 63.46 | 599.60 | 663.06 |
2551 | — (69,463) |
— (242,249) |
— (311,712) |
— (97.44) |
— (629.27) |
— (726.71) |
2552 | 50,438 | 250,132 | 300,670 | 140.97 | 963.74 | 1,104.71 |
2553 | 101,876 | 271,393 | 373,269 | 211.49 | 1,108.50 | 1,319.99 |
2554 | 97,039 | 238,929 | 335,968 | 271.57 | 1,057.21 | 1,328.78 |
2555 | 110,299 | 318,745 | 429,044 | 336.68 | 1,422.56 | 1,759.24 |
2556 | 115,650 | 448,121 | 563,771 | 362.59 | 2,057.80 | 2,420.39 |
หมายเหตุ: ข้อมูลในปี 2551 เป็นข้อมูลประมาณการณ์ของกรมการท่องเที่ยวเท่านั้น, นักท่องเที่ยวหน่วย: คน และรายได้หน่วย: ล้านบาท |
สถานที่ท่องเที่ยว
[แก้]
อำเภอเบตงมีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ แหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมอยู่หลายแห่ง โดยสามารถแบ่งแหล่งท่องเที่ยวได้เป็น 2 กลุ่มหลัก คือ กลุ่มแรก กลุ่มแหล่งท่องเที่ยวบริเวณนอกเมือง ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรม และกลุ่มสอง กลุ่มแหล่งท่องเที่ยว และสิ่งดึงดูดทางการท่องเที่ยวในบริเวณเมืองเบตง
แหล่งท่องเที่ยวบริเวณนอกเมือง
[แก้]- บ่อน้ำร้อนเบตง เป็นบ่อน้ำร้อนที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ความร้อนของน้ำสามารถต้มไข่ให้สุกได้ภายในเวลา 7 นาที ประชาชนทั่วไป และนักท่องเที่ยวนิยมเดินทางมาอาบน้ำแร่ เพราะเชื่อกันว่าทำให้สุขภาพดี และรักษาโรคบางอย่างได้ ปัจจุบันองค์การบริหารส่วนจังหวัดยะลาได้สร้างรีสอร์ทไว้ให้บริการแก่นักท่องเที่ยวอีกด้วย
- น้ำตกอินทรศร เป็นน้ำตกขนาดเล็กที่เกิดจากภูเขารอบ ๆ มีแอ่งน้ำสำหรับลงเล่นน้ำท่ามกลางป่าเขียวขจีโดยรอบ มีลักษณะร่มรื่น และสามารถว่ายน้ำเล่นและพักผ่อนได้เป็นอย่างดี อยู่ถัดจากบ่อน้ำร้อนเบตงไปทางหมู่บ้าน ปิยะมิตร 1 ประมาณ 3.7 กิโลเมตร
- อุโมงค์ปิยะมิตร ตั้งอยู่หมู่ 2 บ้านปิยะมิตร 1 ตำบลตะเนาะแมเราะ เป็นอุโมงค์ดินซึ่งอดีตขบวนการโจรคอมมิวนิสต์มาลายา (จคม.) สร้างขึ้น บนเนินเขาในป่าทึบ สำหรับเป็นฐานปฏิบัติการต่อสู้ทางการเมือง ปัจจุบันเป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจอีกแห่งหนึ่ง อุโมงค์มีลักษณะคดเคี้ยวเข้าไปในภูเขายาวประมาณ 1 กิโลเมตร ลึก 50-60 ฟุต และมีทางออก 6 ทาง ใช้เวลาขุด 3 เดือน เพื่อเป็นที่หลบภัยทางอากาศ และสะสมเสบียง
- สวนดอกไม้เมืองหนาว อยู่ในบริเวณหมู่บ้านปิยะมิตร 2 ซึ่งห่างจากหมู่บ้านปิยะมิตร 1 ประมาณ 9 กิเมตร เป็นโครงการตามพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยมีพื้นที่ตั้งอยู่บนเขา มีอากาศเย็นสบาย มีแปลงทดลองปลูกไม้ดอกหลายประเภท เช่น ดอกฮอลีฮ้อค ดอกแอสเตอร์ ซึ่งมีสีสันสวยงาม ปัจจุบันทางโครงการมีบ้านพักไว้ให้บริการสำหรับนักท่องเที่ยวอีกด้วย
- หมู่บ้านจุฬาภรณ์พัฒนา 10 ภายในหมู่บ้านมีพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์บ้านจุฬาภรณ์พัฒนา ๑๐ สร้างขึ้นเพื่อจัดเก็บรวบรวมวัสดุสิ่งของที่อดีตขบวนการโจรคอมมิวนิสต์มาลายาใช้ในอดีต และรวบรวมประวัติความเป็นมาของการก่อตั้ง จคม. ให้ผู้ที่สนใจได้ศึกษา นอกจากนี้ยังมีต้นไม้ยักษ์ที่ใหญ่ที่สุดในภาคใต้ (ต้นสมพงษ์) อีกด้วย
- ทะเลหมอกอัยเยอร์เวง จุดชมทะเลหมอกอัยเยอร์เวง สามารถชมทะเลหมอกและชมวิวทิวทัศน์บนเขาไมโครเวฟ มีหอชมวิว ห้องน้ำ รปภ. เส้นทางสะดวกสบาย เพราะเป็นเส้นทางเป็นถนนลาดยาง ใกล้ถนนสาย 410 บริเวณ กม.33 ทางเข้าหมู่บ้านธารมะลิ ตำบลอัยเยอร์เวง ไต่ขึ้นไปประมาณ 7 กม.
- น้ำตกละอองรุ้ง น้ำตกที่เป็นที่รู้จักกันดีของ ชาวไทยและต่างประเทศมากว่า 20 ปี ปัจจุบันได้รับการพัฒนาและดูแลโดยอุทยานแห่งชาติบางลาง ตั้งอยู่บนรอยต่อระหว่าง ตำบลอัยเยอร์เวง อำเภอเบตง กับ ตำบลแม่หวาด อำเภอธารโต จังหวัดยะลา
- น้ำตกเฉลิมพระเกียรติ ร.9 ก็เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของตำบลอัยเยอร์เวง เพราะมีธรรมชาติที่สวยงาม ตั้งอยู่ริมถนนทางหลวงสาย 410 ยะลา-เบตง บริเวณ กิโลเมตรที่ 33 บ้าน กม.32สำหรับชั้นที่ 1,2และ ส่วนชั้นที่ 4 และ5 อยู่ในเขต ม.5บ้านวังใหม่ 5 ปัจจุบันได้รับการพัฒนาจนสามารถรองรับนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างประเทศ
- ป่าบาลา-ฮาลา เป็นป่ามีความหลากหลายทางชีวภาพ มีสัตว์ป่าหายากหลากชนิด สามารถพัฒนาเป็นแหล่งทัศนศึกษาและเข้าค่ายพักแรม ค่ายกิจกรรมเยาวชนได้ มีห้องพักค้างแรมสำหรับบริการนักท่องเที่ยว ปัจจุบันดำเนินการโดยกองร้อย ตชด.ที่ 445 และในอนาคต จังหวัดยะลามีแนวทางพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่มีมาตรฐานแห่งหนึ่งในภูมิภาคอาเซียนภายใต้วิสัยทัศน์ "อะแมซอนแห่งอาเซียน"
- สะพานแตปูซู เป็นสะพานแขวนทำด้วยไม้ ข้ามแม่น้ำปัตตานี เป็นการแสดงถึงความมุ่งมั่นในการเอาชนะธรรมชาติของชนผู้บุกเบิก ตำบลอัยเยอร์เวง
- ทะเลหมอกเขากุนุงซิลิปัต เป็นจุดชมทะเลหมอกอีกแห่งของตำบลอัยเยอร์เวง ตั้งอยู่หมู่ที่ 1 บ้านอัยเยอร์เวง ต.อัยเยอร์เวง ต้องนั่งรถไป 3.5 กม. เดินเท้าอีก 2 กม. สามารถชมหมอกได้ตลอดทั้งปี ครบ 360 องศา
- ล่องแก่งอัยเยอร์เวง เป็นจุดท่องเที่ยวแห่งใหม่ ที่มีความสวยงาม และสนุกสนาน มีชาวบ้านดำเนินการ 5 ราย เรือ 200 ลำ ระยะทาง ล่อง 5 กม. มีแก่งหินที่สวยงาม และธรรมชาติที่สมบูรณ์ และมีก๋วยจั๊บแช่ขา บริการหลังล่องเสร็จ สามารถเล่นได้ทุกเพศ ทุกวัย เพราะมีการรักษา ป้องกันภัยเป็นอย่างดี
- โอรัง อัสลี นากอ เป็นจุดท่องเที่ยวแห่งใหม่ อยู่ใกล้บ่อน้ำร้อนนากอ ม.9 ต.อัยเยอร์เวง อ.เบตง จ.ยะลา เป็นกลุ่มชนพื้นเมือง เผ่า "มันนิ" หรือ ที่ชาวเมืองชอบเรียกว่า "ซาไก" ซึ่งพบว่า โอรัง อัสลี นากอ แตกต่างจากที่อื่นๆ เพราะมีการพัฒนาน้อยมาก ยังใช้ชีวิตเร่ร่อนในป่า ตามฤดูกาล เป็นครือญาติกับ โอรังอัสลี ปากคลองฮาลา ปัจจุบันพบกว่า 100 ชีวิต จะแต่งตัวเหมือนชาวบ้านยามอพยพมาอยู่ใกล้ชุมชน และ แต่งกลายแบบดั้งเดิมกึ่งเปลือยเมื่อเข้าไปในป่า
แหล่งท่องเที่ยวบริเวณในเมือง
[แก้]- เมืองเบตง บริเวณเมืองเบตงมีตัวอาคารบ้านเรือนที่มีสถาปัตยกรรมอันเป็นเอกลักษณ์ควรค่าแก่การอนุรักษ์ ที่ตั้งของเมืองเบตงตั้งอยู่กลางหุบเขาจึงทำให้มีอากาศดี มีหมอกในยามเช้า และจุดที่น่าสนใจในยามเย็นคือ ฝูงนกนางแอ่นนับหมื่นตัวที่อพยพมาจากไซบีเรีย เกาะอยู่ตามอาคารบ้านเรือน และบนสายไฟฟ้าใจกลางเมือง
- หอนาฬิกาเมืองเบตง หอนาฬิกาเป็นสิ่งก่อสร้างอันเก่าแก่ที่อยู่เคียงคู่กับเมืองเบตงมายาวนาน เปรียบเป็นสัญลักษณ์ที่ตั้งอยู่จุดศูนย์กลางของเมือง ทำการก่อสร้างด้วยหินอ่อน ในยามเย็นจะเห็นฝูงนกนางแอ่นนับหมื่นตัวมาเกาะอยู่รอบ ๆ สายไฟบริเวณหอนาฬิกาจนกลายมาเป็นสัญลักษณ์คู่หอนาฬิกา
- ตู้ไปรษณีย์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก นายสงวน จิรจินดา นายกเทศมนตรีเทศบาลเบตงคนแรก และเป็นอดีตนายไปรษณีย์โทรเลข ได้เห็นว่าอำเภอเบตงอยู่ห่างไกล มีการติดต่อสื่อสารใด ๆ ไม่ได้เลยนอกจากทางจดหมาย ครั้นเมื่อเกษียนในปี พ.ศ. 2482 จึงได้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกเทศบาลตำบลเบตง และได้รับเลือกเป็นนายกเทศมนตรีคนแรก จึงได้สร้างตู้ไปรษณีย์ขึ้นในปีนั้น ด้วยการใช้รูปแบบตู้ไปรษณีย์จากสิงคโปร์แต่มีขนาดใหญ่กว่า เพื่อให้สามารถเก็บวางเครื่องขยายเสียงและลำโพงที่มีขนาดใหญ่ในส่วนบนของตู้ สำหรับกระจายเสียงประชาสัมพันธ์ เป็นหอกระจายข่าวให้ประชาชน ที่มาจับจ่ายซื้อของบริเวณนั้น ที่เป็นสี่แยก ก่อนจะมีหอนาฬิกาใจกลางเมืองเบตงในเวลาต่อมา ปัจจุบันมีการสร้างตู้ใบใหม่ที่มีขนาดใหญ่เป็น 3.5 เท่าในบริเวณศาลาประชาคม ถือเป็นตู้ไปรษณีย์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกในปัจจุบัน ตู้ทั้งสองใบสามารถใช้ส่งจดหมายได้
- อุโมงค์เบตงมงคลฤทธิ์ อุโมงค์เบตงมงคลฤทธิ์ก่อสร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็กมีความยาวตลอดอุโมงค์ ได้เปิดใช้อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2544 อำเภอเบตงได้ก่อสร้างอุโมงค์แห่งนี้ขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาในการขนส่งระหว่างชุมชนเมืองในปัจจุบันกับชุมชนเมืองใหม่ ซึ่งภายในอุโมงค์มีการติดไฟสวยงาม
- วัดพุทธาธิวาส วัดพุทธาธิวาสตั้งอยู่ใจกลางเมืองเบตง มีบรรยากาศร่มรื่นทัศนียภาพงดงามประกอบด้วยสถาปัตยกรรมที่มีความโดดเด่นเป็นสง่า ประกอบไปด้วยพระมหาธาตุเจดีย์พระพุทธธรรมประกาศ โดยองค์เจดีย์ตั้งอยู่บนเนินเขาภายในพระมหาธาตุเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ และพระพุทธธรรมกายมงคลประยูรเกศานนท์สุพิธาน เป็นองค์พระพุทธรูปทองสัมฤทธิ์องค์ใหญ่ มีหน้าตักกว้าง 9.99 ม. สูง 14.29 ม. และมีน้ำหนักประมาณ 40 ตัน ซึ่งชาวอำเภอเบตงได้ร่วมกันบริจาคทรัพย์เพื่อสร้างขึ้นเป็นปูชนียสถานที่สำคัญ
- มัสยิดกลางเบตง มัสยิดกลางเบตงได้ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลเมืองเบตง เป็นศูนย์รวมของพี่น้องชาวมุสลิมเบตง
- วัดกวนอิม เป็นสถานที่ตั้งศาลเจ้าอันเป็นที่ประดิษฐานของเทพสำคัญ ๆ หลายองค์ อาทิ เจ้าแม่กวนอิม ท่านแป๊ะกง ท่านกวงกง เจ้าแม่จิวหวังเหย่ ยี่หวังต้าตี้ หว่าโก่วเซียนชื่อ ขงจื้อ เป็นต้น และยังมีสถาปัตยกรรมของเจดีย์ 7 ชั้น วัดแห่งนี้ได้รับการบูรณะครั้งใหญ่ เมื่อปี พ.ศ. 2508 จากภายในบริเวณวัดซึ่งตั้งอยู่บนเนินเขา สามารถมองเห็นทัศนียภาพอันงดงามของเมืองเบตงได้อีกด้วย
- อาคารมูลนิธิอำเภอเบตง ก่อสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2505 ประกอบด้วย อาคาร 2 หลัง หลังแรกเป็นโครงสร้างแบบศาลเจ้าจีน ภายในห้องโถงใช้เป็นสถานที่ตั้งพระบูชาของจีน ฝาผนังมีภาพวาดเทพนิยายจีนวิจิตรงดงาม บรรยากาศเข้มขลัง ส่วนอีกอาคารหนึ่งเป็นห้องโถงขนาดใหญ่สำหรับประกอบกิจกรรมต่าง ๆ ของมูลนิธิ ฝาผนังภายในมีจิตรกรรมเรื่องราวของนรก สวรรค์ และเรื่องราวเชิงวรรณกรรม และแนวคิดตามปรัชญาจีน
- สวนสาธารณะเทศบาลเมืองเบตง (สวนสุดสยาม) สวนสาธารณะแห่งนี้มีพื้นที่ประมาณ 120 ไร่ ตั้งอยู่บนเนินเขากลางเมืองเบตง เป็นจุดชมทัศนียภาพมุมกว้างของเมืองเบตง ภายในสวนร่มรื่นไปด้วยไม้ยืนต้นไม้ดอกนานาพันธุ์ มีพิพิธภัณฑ์เมืองเบตง มีสวนสุขภาพ มีสนามกีฬาประจำอำเภอ และเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของประชาชนในเขตเทศบาลเมืองเบตง
- บริเวณด่านพรมแดน บริเวณด่านพรมแดนมีป้าย “ใต้สุดสยาม” ซึ่งเป็นแลนมาร์คแห่งหนึ่งของอำเภอเบตง และนอกจากนี้ยังมีกำแพงกั้นระหว่างไทย - มาเลเซียซึ่งเป็นกำแพงปูนมีความสูงประมาณ 2 - 3 เมตร เลียบถนนชายแดนไทย – มาเลเซียซึ่งเป็นเส้นทางที่มีความสวยงามเส้นทางหนึ่ง
- อาคารเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ ก่อสร้างเนื่องในโอกาสพระราชพิธีมงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2547 เป็นส่วนหนึ่งของศูนย์ศึกษาและพัฒนาป่าดิบชื้น (บาลา-ฮาลา) เฉลิมพระเกียรติ ตั้งอยู่บนพื้นที่กว่า 25 ไร่ บนเนินเขา มีวัตถุประสงค์สำคัญในการก่อสร้างเพื่อให้พี่น้องประชาชนสามารถสัมผัสถึงเรื่องราว และข้อมูลที่น่าสนใจของผืนป่าบาลา-ฮาลา เพื่อเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์
นอกจากสถานที่ท่องเที่ยวสองกลุ่มที่ได้กล่าวมาแล้วยังมีสถานที่ท่องเที่ยวอื่น ๆ ที่น่าสนใจโดยอยู่บริเวณตำบลอัยเยอร์เวง และบางส่วนอยู่ในอำเภอธารโตตามเส้นทางหลวงหมายเลข 410 ยะลา – เบตง เช่น เขื่อนบางลาง, ป่าบาลา - ฮาลา, หมู่บ้านซาไก, น้ำตกละอองรุ้ง, บ่อน้ำร้อนนากอ, น้ำตกวันวิสาข์ เป็นต้น
วัฒนธรรม
[แก้]อำเภอเบตงเป็นอำเภอหนึ่งที่ประกอบไปด้วยกลุ่มคนจากหลากหลายเชื้อชาติ และศาสนา ซึ่งแต่ละกลุ่มต่างมีวัฒนธรรมเป็นของตัวเอง
- วัฒนธรรมประเพณีของผู้นับถือศาสนาพุทธ ได้แก่ ประเพณีแห่ผ้าห่มพระธาตุเจดีย์ พระพุทธธรรมประกาศ ประเพณีชักพระ ทอดกฐิน ทอดผ้าป่า ลอยกระทง สงกรานต์ ทำบุญเดือนสิบ สลากภัต การทำบุญตักบาตรเนื่องในวันสำคัญของชาติ และวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา[6]
- วัฒนธรรมประเพณีของผู้นับถือศาสนาอิสลาม ได้แก่ การจัดการงานวันฮารีรายอ งานเมาลิด งานวันละศีลอด วันกวนอาซูรอ การแสดงปัญจักสีลัต ดีเกฮูลู และอะนาเซด[6]
- วัฒนธรรมประเพณีของคนไทยเชื้อสายจีน ได้แก่ วันตรุษจีน วันไหว้บรรพบุรุษ วันสารทจีน วันไหว้บ๊ะจ่าง วันไหว้พระจันทร์ ประเพณีกินเจ ประเพณีแห่พระรอบเมืองของวัดกวนอิม และมูลนิธิอำเภอเบตง[6]
- วัฒนธรรมประเพณีของผู้นับถือศาสนาคริสต์ ได้แก่ วันขอบคุณพระเจ้า และวันคริสต์มาส[6]
การคมนาคม
[แก้]การเดินทางสู่อำเภอเบตง ปัจจุบันมีเส้นทางคมนาคมทางรถยนต์เพียงอย่างเดียวโดยมีเส้นทางหลักจากจังหวัดยะลา คือ ทางหลวงหมายเลข 410 เป็นถนน 2 ช่องทางจราจร และมีไหล่ทาง มีระยะทางจากจังหวัดยะลาถึงอำเภอเบตงประมาณ 140 กิโลเมตร ซึ่งเป็นเส้นทางบนไหล่เขาที่คดเคี้ยว อย่างไรก็ตามการเดินทางสู่อำเภอเบตงยังสามารถใช้เส้นทางผ่านประเทศมาเลเซียได้ ซึ่งต้องมีหนังสือเดินทาง (Passport) หรือหนังสือผ่านแดน (Border Pass) ในการเดินทาง ดังนี้
- เส้นทางที่หนึ่ง เดินทางออกจากด่านชายแดนสะเดา อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา ออกไปสู่รัฐเคดาห์ ประเทศมาเลเซีย และมุ่งหน้าเข้าสู่ด่านชายแดนเบตง เส้นทางนี้เป็นเส้นทางที่สะดวกเนื่องจากมีระยะทางที่สั้นกว่าการเดินทางในประเทศ
- เส้นทางที่สอง เดินทางออกจากด่านชายแดนประกอบ อำเภอนาทวี จังหวัดสงขลา แล้วมุ่งหน้าเข้าสู่ด่านชายแดนเบตง ปัจจุบันเส้นทางนี้เป็นเส้นทางที่รถตู้สาธารณะ เบตง - หาดใหญ่ (เส้นทางมาเลเซีย) ใช้เป็นเส้นทางโดยสาร
หมายเหตุ ด่านชายแดนเบตง ได้เปิดและปิดตามเวลาของประเทศไทย เวลา 05.00 - 22.00 น. ของทุกวัน[18]
รถยนต์โดยสารสาธารณะ
[แก้]อำเภอเบตงมีบริการรถยนต์โดยสารสาธารณะประเภทต่าง ๆ สรุปได้ ดังนี้
ระหว่างเมืองเบตง - ภายนอก
[แก้]- รถตู้ มี 2 เส้นทาง ดังนี้ เส้นทางเบตง – ยะลา โดยเดินทางมาตามเส้นทางหลวงหมายเลข 410 ใช้เวลาเดินทางประมาณ 2 ชั่วโมง และเส้นทาง เบตง – หาดใหญ่ โดยแบ่งการเดินทาง 2 แบบ คือ เดินทางจากเส้นทางในประเทศไทยผ่านทางหลวงหมายเลข 410 และเดินทางจากเส้นทางผ่านประเทศมาเลเซียผ่านด่านชายแดนประกอบ ต้องมีหนังสือเดินทาง (Passport) หรือหนังสือผ่านแดน (Border Pass) ในการเดินทาง โดยใช้เวลาในการเดินทางประมาณ 4 ชั่วโมงเท่ากัน
- รถแท๊กซี่ มีเส้นทาง เบตง – ยะลา โดยให้บริการตามเส้นทางเดียวกันกับรถตู้
- รถทัวร์ มี 2 เส้นทาง ดังนี้ เส้นทาง เบตง – กรุงเทพ โดยให้บริการทุกวัน ปัจจุบันมีบริษัทที่ให้บริการคือ บริษัท ขนส่ง จำกัด, บริษัท สยามเดินรถ จำกัด และบริษัท ปิยะทัวร์ จำกัด และเส้นทาง เบตง – ภูเก็ต โดยบริษัท ทรัพย์ไพศาลทัวร์ จำกัด
ภายในเมืองเบตง
[แก้]ภายในเมืองเบตง มีรถสองแถวเล็ก (ตุ๊กตุ๊ก) ไว้บริการ และมีบริการรถจักรยานยนต์ให้เช่า
รถไฟ
[แก้]อำเภอเบตงไม่มีสถานีรถไฟ โดยสามารถเดินทางลงที่สถานีรถไฟชุมทางหาดใหญ่ หรือสถานีที่ใกล้ที่สุดคือ สถานีรถไฟยะลา ซึ่งสามารถเดินทางต่อโดยรถยนต์โดยสารสาธารณะมายังอำเภอเบตงได้
การเดินทางทางอากาศ
[แก้]ในส่วนของการเดินทางทางอากาศสามารถเดินทางมาลงท่าอากาศยานนานาชาติหาดใหญ่ แล้วเดินทางทางบกเป็นระยะเวลาประมาณ 4 ชั่วโมง หรือสามารถเดินทางมาลงท่าอากาศยานนานาชาติปีนัง ประเทศมาเลเซีย แล้วเดินทางทางบกเป็นระยะเวลาประมาณ 2 ชั่วโมง ซึ่งปัจจุบันอำเภอเบตงไม่มีท่าอากาศยานที่ทำให้เดินทางตรงมายังอำเภอเบตงได้
คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2558 เห็นชอบในหลักการให้กรมท่าอากาศยาน (ทย.) กระทรวงคมนาคม ดำเนินโครงการก่อสร้างท่าอากาศยานเบตง ในวงเงิน 1,900 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินโครงการ 3 ปี (2559 – 2561) เพื่อแก้ไขปัญหาการคมนาคมในพื้นที่อำเภอเบตงที่มีสภาพภูมิประเทศเป็นภูเขาสูงชันไม่สะดวกต่อการเดินทาง และเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการพัฒนาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจสังคม การเมือง ตามนโยบายสามเหลี่ยมเศรษฐกิจ มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน โดยมีรายละเอียดโครงการฯ ดังนี้ 1. จัดซื้อที่ดิน จำนวน 920 ไร่ พร้อมจ่ายค่าชดเชยพืชผลและสิ่งก่อสร้าง 2. ก่อสร้างทางวิ่ง ทางขับ ลานจอดอากาศยาน และอื่น ๆ โดยก่อสร้างทางวิ่งขนาด 30X1,800 เมตร รองรับอากาศยานขนาด 80 ที่นั่ง (ATR-72/Q-400) ทางขับ (Taxi Way) ประกอบด้วยทางขับ A ขนาด 18X587 เมตร ทางขับ B ขนาด 18X115 เมตร ลานจอดเครื่องบินขนาด 94X180 เมตร สามารถจอดอากาศยานอจำนวน 3 ลำ คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในวันที่ 15 กรกฎาคม 2562 3. ก่อสร้างอาคารที่พักผู้โดยสาร และอาคารประกอบ อาคารที่พักผู้โดยสารมีพื้นที่ 7,000 ตารางเมตร สามารถรองรับผู้โดยสารขาออกได้จำนวน 300 คน/ชั่วโมง รองรับผู้โดยสารได้ 500,000 คน/ปี ขณะนี้มีความคืบหน้าการก่อสร้างเป็นไปตามแผนงานที่กำหนดไว้ ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2562 นอกจากนี้ คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2560 อนุมัติให้ขยายทางวิ่งท่าอากาศยานเบตงเพิ่มอีก 300 เมตร เป็น 2,100 เมตร เพื่อให้สามารถรองรับอากาศยานขนาดใหญ่ ซึ่งอยู่ระหว่างการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ เมื่อการก่อสร้างท่าอากาศยานเบตงแล้วเสร็จ จะทำให้การคมนาคมขนส่งภายในจังหวัดยะลา และการเชื่อมต่อสู่ประเทศมาเลเซียที่ด่านเบตงและพื้นที่ใกล้เคียงจะสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น รวมทั้งสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจและความมั่นคงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ สามารถรองรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่จะเพิ่มขึ้นจากปีละ 600,000 คน เป็น 1,000,000 คนต่อปี และมีรายได้จากการท่องเที่ยวมากกว่า 4,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งคาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ในปี 2563 เพื่อมอบเป็นของขวัญปีใหม่แก่ประชาชน[19]
อาหาร สินค้า และผลิตภัณฑ์พิเศษพื้นเมืองเบตง
[แก้]- ซินซิงชาสมุนไพรเห็ดหลินจือ (ของฝากพิเศษเมืองเบตง)
ซินซิงชาสมุนไพรเห็ดหลินจือ ผลิตจากสมุนไพร เห็ดหลินจือไผ่เบตง ที่ผ่านกระบวนการคัดเลือก คัดสรร และกระบวนการผลิตอย่างพิถีพิถัน ไม่มีส่วนผสมของใบชา ไม่แต่งสีและกลิ่น โดยเห็ดหลินจือไผ่ จะมีรสชาติไม่ขมเหมือนเห็ดหลินจือทั่วไป มีแหล่งที่กำเนิดตามกอไผ่ ลักษณะคล้ายเห็ดหลินจือทั่วไปแต่มีก้านยาว พบมากตามกอไผ่ในป่าเบญจพรรณที่มีความอุดมสมบูรณ์สูงรอบๆเมืองเบตง ที่สำคัญเป็นผลิตภัณฑ์อาหารเสริมของเมืองเบตงที่ได้ผ่านการรับรองมาตรฐานจาก สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)
- เคาหยก
เคาหยก เป็นอาหารที่มีชื่อเสียงของเบตง ทำจากเนื้อหมูกับเผือก มีวิธีการปรุงที่พิถีพิถันสลับซับซ้อน โดยจะเริ่มจากการนำเนื้อหมู 3 ชั้นมาต้มให้สุก จากนั้นจึงนำขึ้นมาสะเด็ดน้ำในรังนึ่ง และใช้ช้อนส้อมจิ้มที่หนังหมูเพื่อให้น้ำมันไหลออกมา ทิ้งไว้สักพัก แล้วนำเกลือมาคลุกให้ทั่ว หลังจากนั้นนำไปทอดในน้ำมันที่เดือดปานกลาง จนสังเกตว่าหนังหมูเริ่มพอง แล้วจึงนำขึ้นมาสะเด็ดน้ำมัน และต่อด้วยการต้มอีกครั้ง เมื่อนำขึ้นจากหม้อต้มให้นำมาผ่านความเย็นทันที เพื่อเพิ่มความกรอบ จากนั้นนำมาหันเป็นชิ้นเล็ก ๆ หมักกับเครื่องยาจีน เพื่อเพิ่มคุณค่าทางอาหารให้ร่างกาย แล้วนำมาจัดวางสลับกับเผือกทอด แต่ก่อนที่จะรับประทานต้องนำไปนึ่งอีกครั้ง แล้วจึงโรยหน้าด้วยผักชี เพื่อดับกลิ่นคาว[20]
- ปลาจีนนึ่งบ๊วย
ปลาจีน นำมาปรุงอาหารได้หลายชนิด เช่น แกงส้มปลาจีน ปลาจีนทอดกรอบ ปลาจีนนึ่งบ๊วย ฯลฯ ผู้ที่ได้รับประทานปลาจีนจะติดใจในรสหวาน และความนุ่มอร่อยของเนื้อปลาจีน โดยเฉพาะปลาจีนนึ่งเป็นอาหารชั้นหนึ่งจองภัตตาคารใหญ่ ๆ ในอำเภอเบตง ปลาจีนเป็นชื่อที่ใช้เรียกปลา 3 ชนิด คือชนิดแรก ปลาเฉาฮื้อ หรือปลากินหญ้า (Grass carp) หรือชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Ctenopharyngodon idellus ชนิดที่สอง ปลาลิ่น หรือปลาลิ่นฮื้อ หรือปลาเกล็ดเงิน (Silver carp) หรือชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Hypophthalmichtys Molitrix ชนิดที่สาม ปลาซ่งฮื้อ หรือ ปลาหัวโต (Bighead carp) ชื่อทางวิทยาศาสตร์คือ Aristichthys hobillis ปลาจีนมีลักษณะคล้ายปลากระบอกแต่มีขนาดโตกว่า เหตุที่เรียกว่าปลาจีนเพราะเป็นปลามาจากประเทศจีน ซึ่งส่งมาขายในมาเลเซีย ภายหลังชาวเบตงได้ซื้อลูกปลาจากแหล่งขายพันธุ์ปลาบริเวณชายแดน และนำมาเลี้ยงจนแพร่หลายในที่สุด[21]
- ไก่สับเบตง
ไก่สับเบตง เป็นอาหารที่เลิศรสและขึ้นชื่อของเบตง เป็นเมนูเด็ดที่นักท่องเที่ยวไม่ควรพลาด และนอกจากไก่สับแล้ว ไก่เบตงยังสามารถปรุงเป็นอาหารรสเลิศได้อีกหลายชนิด เช่น ไก่ตุ๋นเครื่องยาจีน ไก่ตุ๋นมะนาวดอง ต้มยำไก่ ไก่ต้มซีอิ๊ว โดยไก่เบตงเป็นไก่ที่เลี้ยงเฉพาะท้องถิ่นเบตง เนื้อจะหวานนุ่ม ไม่เปื่อยยุ่ยเหมือนไก่ทั่วไป เดิมเป็นไก่พันธุ์เลียงชาน ที่ชาวจีนอพยพซึ่งมาตั้งรกรากในเบตงได้นำมาเลี้ยง และผสมพันธุ์กับไก่พื้นเมือง จนแพร่หลายถึงทุกวันนี้ ลักษณะเด่นของไก่เบตง คือตัวผู้มีปากสีเหลืองอ่อน ส่วนตัวเมียปากสีน้ำตาลเข้ม ตานูน แจ่มใส หงอนจักร หัวกว้าง คอตั้ง แข็งแรง มีขนสีเหลืองทองที่หัว ปีกสั้น อกกว้าง ขาใหญ่ หน้าแข้งกลม และมีเล็บสีเทาอมเหลือง และด้วยการเป็นไก่ซึ่งเปรียบเป็นเอกลักษณ์ของเมืองเบตง ส่งผลให้เทศบาลเมืองเบตงได้มีการจัดงานเทศกาลไก่เบตงขึ้นประจำทุกปี เพื่อส่งเสริมและอนุรักษ์การเลี้ยงไก่สายพันธุ์นี้ให้คงอยู่คู่เบตงสืบไป[22]
- ผัดผักน้ำ
ผัดผักน้ำ มีลักษณะคล้ายผักชีล้อม มีการเจริญเติบโตคล้ายผักบุ้ง ใบเล็ก ลำต้นมีลักษณะอวบน้ำ ชอบขึ้นในที่ที่มีอากาศเย็น มีการเจริญเติบโตได้ดีในหน้าฝน และหน้าหนาว หรือที่มีอุณหภูมิไม่เกิน 25 องศาเซลเซียส มีน้ำไหลผ่านตลอดเวลา และต้องเป็นน้ำที่ไหลมาจากภูเขา โดยเฉพาะน้ำที่ไหลมาจากซอกหิน ชาวเบตงนิยมนำมาประกอบอาหารหลายอย่าง เช่น ผัดผักน้ำ ทำแกงจืด ต้มจิ้มกับน้ำพริก ต้มกับกระดูกหมู เป็นต้น นอกจากรสชาติที่อร่อยแล้ว ยังมีสรรพคุณเป็นยาแก้ร้อนในอีกด้วย[23]
- กบภูเขา
กบภูเขาเบตง เป็นกบที่อาศัยอยู่ตามธรรมชาติ ในป่าเบญจพรรณที่มีความอุดมสมบูรณ์สูง มีขนาดใหญ่กว่ากบทั่วไป ขนาดของน้ำหนักอยู่ที่ 0.5-1.0 กิโลกรัมต่อตัว ชาวเบตงนิยมนำกบเบตงมาผัด หรือทอดกระเทียมพริกไทย หรืออาจจะใช้เนื้อกบแทนเนื้อหมูใส่ในโจ๊ก หรือที่เรียกว่าโจ๊กกบ ส่วนรสชาตินั้นถ้าได้ลิ้มลองจะต้องติดใจ[24]
- หมี่เบตงและซีอิ๊วเบตง
หมี่เบตงเป็นอาหารขึ้นชื่อของเบตง มีคุณสมบัติพิเศษคือ เส้นเหนียวนุ่ม เมื่อนำไปผัดเส้นจะไม่ขาด ทำให้ผู้ที่ได้รับประทานติดใจในความเหนียวนุ่มของเส้นหมี่ หมี่เบตงมี 2 ชนิด คือ หมี่สีเหลืองเหมือนหมี่ทั่วไป ที่จะต้องนำไปนึ่งให้สุกแล้วนำมาจับเป็นก้อน เอาไปผึ่งแดดแล้วบรรจุลงถุง ส่วนมี่สั้วนั้นมีเส้นสีขาว ซึ่งต่างกันที่มี่สั้วนั้นไม่ต้องนึ่ง แต่นำไปตากแดดแทน ส่วนซีอิ๊วเบตง ซีอิ๊วที่มีรสชาติเป็นเอกลักษณ์ที่ไม่เหมือนใครนั้น ก็มีกรรมวิธีในการทำสลับซับซ้อน และใช้เวลานานทีเดียว โดยกว่าจะได้ซีอิ๊วน้ำหนึ่งก็ต้องหมักประมาณ 3 เดือน และถ้าต้องการซีอิ๊วน้ำสองก็ต้องใส่น้ำเกลือหมักต่ออีกอย่างน้อย 15 วัน แต่ถ้าต้องการซีอิ๊วดำต้องหมักทิ้งไว้ถึง 6 เดือน แล้วนำน้ำซีอิ๊วที่ได้ไปต้มจนเดือด จะทำให้น้ำซีอิ๊วเปลี่ยนเป็นสีดำเองโดยธรรมชาติ[25]
- จี๊ฉ่องฝัน
จี๊ฉ่องฝันเป็นอาหารพื้นเมืองอีกชนิดหนึ่งของชาวเบตง บ้างก็เรียกว่าหมี่ขาว หรือหมี่ถังแตก มีลักษณะคล้าย ๆ เส้นก๋วยเตี๋ยว ทำจากการเอาข้าวเจ้ามาโม่ให้เป็นแป้ง ก่อนจะนำมาผสมกับน้ำให้เหลว แล้วนำไปเข้าเครื่องนึ่งทำแผ่น แต่แผ่นจะมีความบางกว่าแผ่นก๋วยเตี๋ยว เมื่อสุกจนได้ที่ก็จะนำออกมาหั่นเป็นเส้นเล็ก ๆ กว้างไม่เกิน 1 ซม. เรียกว่าหมี่ขาว หรือหมี่ถังแตก จากนั้นนำเส้นหมี่ขาว หรือหมี่ถังแตกที่พร้อมแล้วมาปรุงด้วยซีอิ้วขาวก่อนโรยงาขาว และกระเทียมเจียวลงไป หน้าตาน่าลิ้มลองรับประทานเลยทีเดียว[26]
- เฉาก๊วยโบราณ
เฉาก๊วย หรือวุ้นดำของเบตง ขึ้นชื่ออยู่ ณ บ้าน กม.4 เพราะเป็นรสชาติของเฉาก๊วยโบราณแท้ ๆ ที่ได้นำเอาหญ้าวุ้นดำจากประเทศจีนมาเป็นส่วนผสมสำคัญ ทำให้เฉาก๊วยมีสีดำขลับ เหนียว และนุ่ม การทำเฉาก๊วยนั้นเริ่มแรก ให้นำหญ้าวุ้นดำมาต้มกับน้ำ แล้วกรองด้วยผ้าขาวบาง เพื่อแยกหญ้าวุ้นดำออกจากน้ำ ซึ่งกลายเป็นสีดำ จากนั้นนำแป้งมันสำปะหลังผสมกับน้ำที่ได้จากการกรอกในขณะที่ยังร้อน แล้วคนให้เข้ากัน และทิ้งไว้จนกว่าจะกลายเป็นวุ้น เวลาจะรับประทานก็ตัดเป็นชิ้นตามขนาดที่ต้องการ นิยมรับประทานกับน้ำเชื่อม และอาจเติมสีสันของน้ำกลิ่นสละ แล้วเติมน้ำแข็ง รสชาติอร่อยชื่นใจทีเดียว แถมยังมีสรรพคุณด้านการแก้ร้อนในได้อีกด้วย อีกทั้งยังสามารถเป็นของฝากที่ถูกใจผู้รับอีกต่างหาก[27]
- ส้มโชกุน
ส้มโชกุน จัดได้ว่าเป็นส้มที่รวบรวมเอาคุณสมบัติเด่นหลากหลายมารวมไว้ด้วยกัน เช่น มีกลิ่นหอม รสหวานอมเปรี้ยว ชานนิ่มและไม่ขม เปลือกบาง ซึ่งหากนำมาคั้นจะให้น้ำมากกว่าส้มทั่วไป มีลักษณะคล้ายส้มเขียวหวาน การเจริญเติบโตก็คล้าย ๆ กับส้มเขียวหวาน เหตุเพราะว่าเป็นส้มที่ผสมผสานพันธุ์โดยธรรมชาติ ระหว่างส้มเขียวหวาน และส้มแมนดารินจากประเทศจีน และกว่าจะมาเป็นผลส้มที่พรั่งพร้อมด้วยคุณลักษณะดังกล่าว ต้องผ่านการดูแลเอาใจใส่เป็นอย่างดี โดยเฉพาะการหมั่นใส่ปุ๋ย ตัดแต่งกิ่ง การป้องกันโรค และการป้องกันแมลงต่าง ๆ ด้วย และถึงแม้ขณะนี้ส้มเบตงจะมีการเพาะปลูกในทุกภาคของประเทศไทย แต่หากต้องการลิ้มลองรสชาติแท้แท้ของส้มโชกุนพื้นเมืองต้องมายังที่เบตงเพียงแห่งเดียวเท่านั้น[28]
- ข้าวหลาม
ข้าวหลาม หรือปูโละลือแมของเบตง มีลักษณะพิเศษคือมีเนื้อเหนียว หวานมัน เหมาะสำหรับรับประทานกับกาแฟ และรับประทานกับแกงมัสมั่น ชาวเบตงนิยมทำข้าวหลามกันมากช่วงเทศกาลวันฮารีรายอ หรือวันตรุษของอิสลาม สำหรับกรรมวิธีที่จะทำให้เนื้อข้าวหลามเหนียว หวาน และนิ่ม เริ่มจากการตัดกระบอกไม้ไผ่ที่ไม่แก่และอ่อนเกินไป พร้อมตัดใบตองยาวเท่ากับกระบอกข้าวหลาม แล้วใช้ไม้ม้วนใบตอง ใส่เข้าไปในกระบอกไม้ไผ่ จากนั้นกรอกข้าวเหนียวที่ล้างแล้วเทลงในกระบอกไม้ไผ่ที่เตรียมไว้ แล้วกรอกน้ำกะทิซึ่งผสมน้ำตาล เกลือ พอได้รสชาติหวานมัน จากนั้นนำไปย่างไฟที่ไม่แรงมากนักจนข้าวหลามสุก ก็จะได้ข้าวหลามรสชาติเยี่ยม[29]
- กาแฟโบราณ
กาแฟโบราณของเบตง เป็นกาแฟพันธุ์พื้นเมือง น่าจะกลายพันธุ์มาจากพันธุ์ใดพันธุ์โรบัสต้า ปลูกตั้งแต่ยุคอนานิคมอังกฤษมีอิทธิพลในแหลมมลายู ซึ่งกาแฟนี้ชาวเบตงนิยมปลูกแซมตามสวนยาง ต่อมากลุ่มแม่บ้านชุมชนกาแป๊ะฮูลู กลุ่มแม่บ้านชุมชนกาแป๊ะกอตอใน และกลุ่มแม่บ้านมาลา ได้ผลิตกาแฟผงจำหน่าย โดยนำเมล็ดที่ปลูกไว้มาคั่วและบดเอง ซึ่งแต่ละสูตรต่างมีรสชาติที่หอมกรุ่นน่าลิ้มลองจน ณ วันนี้ กาแฟเบตงได้กลายเป็นอีกหนึ่งของฝากสำคัญจากเบตง โดยมีถึง 3 ตรา คือ กาแฟโบราณ กาแฟวังเก่า และกาแฟโบราณเบตง และ 1 ใน 3 นี้ ได้รับการคัดเลือกให้เป็นสินค้า OTOP ระดับ 5 ดาว[30]
ที่สุดของอำเภอเบตง
[แก้]- พระพุทธรูปทองสัมฤทธ์องค์ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย
พระพุทธธรรมกายมงคลประยูรเกศานนท์สุพิธาน ขนาดหน้าตักกว้าง 9.99 เมตร สูง 14.29 เมตร น้ำหนักประมาณ 40 ตัน ตั้งอยู่ที่วัดพุทธาธิวาส
- ตึกที่สูงที่สุดในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
โรงแรมแกรนด์แมนดาริน เบตง มีความสูง 25 ชั้น
- ต้นไม้ใหญ่ที่สุดในภาคใต้
ต้นสมพงษ์ ตั้งอยู่บริเวณหมู่บ้านจุฬาภรณ์พัฒนา 10
- ตู้ไปรษณีย์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก
เดิมตู้ไปรษณีย์มีลักษณะของตู้เป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก เป็นรูปกลมทรงกระบอกแยกได้เป็น 2 ส่วน คือ ส่วนฐานและ ส่วนตัวตู้ ส่วนสูงของตัวตู้ คือ 2.9 เมตร นับจากฐานขึ้นไปรวมความสูงของตู้ด้วย วัดได้ 3.2 เมตร
- เสาธงชาติไทยที่สูงที่สุดในประเทศไทย
เสาธงชาติตั้งอยู่ที่กองบังคับการกองร้อยตำรวจตระเวนชายแดนที่ 445 มีความสูงรวม 65 เมตร ธงยาว 18 เมตร กว้าง 9.2 เมตร
- อุโมงค์รถยนต์ลอดภูเขาแห่งแรกของประเทศไทย
อุโมงค์เบตงมงคลฤทธิ์ ตั้งอยู่ ณ บริเวณถนนอมรฤทธิ์ตัดกับถนนภักดีดำรง ก่อสร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก มีระยะทางยาว 273 เมตร กว้าง 9 เมตร สูง 7 เมตร ผิวการจราจรคู่กว้าง 7 เมตร
- สวนดอกไม้เมืองหนาวแห่งเดียวในภาคใต้
สวนดอกไม้เมืองหนาว ตั้งอยู่ในบริเวณหมู่บ้านปิยะมิตร 2 เป็นโครงการตามพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
- ทะเลหมอกสวยที่สุดในภาคใต้
ทะเลหมอกอัยเยอร์เวง ตั้งอยู่ในบริเวณหมู่ที่ 4 บ้านธารมะลิ ตำบลอัยเยอร์เวง เป็นจุดชมวิวทะเลหมอกตลอดปี ที่สวยและมีชื่อเสียงที่สุดในภาคใต้
ทะเบียนรถเบตง
[แก้]อำเภอเบตง เป็นอำเภอที่ได้รับอนุญาตให้สามารถรับจดทะเบียนรถจักรยานยนต์ รถยนต์ และคนขับรถได้ที่อำเภอ โดยไม่ต้องเข้ามาจดทะเบียนที่จังหวัดยะลา จึงเป็นผลให้อำเภอเบตงเป็นอำเภอเดียวในประเทศไทยที่รถจดทะเบียนจะได้รับป้ายทะเบียนรถ "เบตง" ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2468[31]
ไก่เบตง เดิมเป็นไก่พันธุ์เลียงซาน ที่ชาวจีน ซึ่งอพยพมาตั้งรกรากในเบตงได้นำมาเลี้ยงและผสมพันธุ์กับไก่พื้นเมืองจนเป็นที่แพร่หลายถึงทุกวันนี้ ลักษณะเด่นของไก่เบตงคือ ตัวผู้มีปากสีเหลืองอ่อน ส่วนตัวเมียปากสีน้ำตาลเข้ม ตานูนใส หงอนจักร หัวกว้าง คอตั้งแข็งแรง มีขนสีเหลืองทองที่หัว ปีกสั้น อกกว้าง ขาใหญ่ หน้าแข้งกลม เล็บสีขาวอมเหลือง ไก่เบตงเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่า เป็นไก่พื้นเมืองที่ให้เนื้อที่มีคุณภาพดี และมีรสชาติแตกต่างไปจากไก่พื้นเมืองทั่ว ๆ ไป คือ มีรสออกหอมหวานนุ่ม ไม่เละเหมือนเนื้อไก่อื่น ๆ จนเป็นที่นิยมของผู้บริโภคทั้งชาวไทย และชาวต่างชาติ
ปัจจุบันการเลี้ยงไก่เบตงเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายในอำเภอเบตงจนถือว่าเป็นสัตว์เศรษฐกิจ และเป็นเอกลักษณ์อีกอย่างหนึ่งของอำเภอเบตง[32] ทั้งนี้ในช่วงต้นเดือนเมษายนอำเภอเบตงได้มีการจัดงานเทศกาลไก่เบตงเป็นประจำขึ้นทุกปี
ในวัฒนธรรมร่วมสมัย
[แก้]อำเภอเบตง ปรากฏอยู่ในวัฒนธรรมร่วมสมัย เช่น
กะโหลกบางตายช้า กะโหลกหนาตายก่อน
[แก้]กะโหลกบางตายช้า กะโหลกหนาตายก่อน (อังกฤษ: The Dumb Die Fast, the Smart Die Slow) ภาพยนตร์ไทยในปี พ.ศ. 2534 กำกับโดยมานพ อุดมเดช ได้ชื่อว่าเป็นภาพยนตรแนวฟิลม์นัวร์เรื่องแรกของไทย โดยเนื้อเรื่องเกิดขึ้นที่อำเภอเบตง[33]
โอเค เบตง
[แก้]โอเค เบตง (อังกฤษ: OK Baytong) เป็นภาพยนตร์ไทยที่ออกฉายในปี พ.ศ. 2546 กำกับโดยนนทรีย์ นิมิบุตร และอำนวยการสร้างโดยดวงกมล ลิ่มเจริญ เรื่องราวเกี่ยวกับชีวิตความเป็นอยู่ของชาวไทยพุทธ ที่ใช้ชีวิตอย่างสงบสุขอยู่ร่วมกับวัฒนธรรมชาวไทยมุสลิม ในอำเภอเบตง จังหวัดยะลา ท่ามกลางความรุนแรงที่เริ่มเกิดขึ้นพร้อมกับความไม่สงบในชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย
บุคคลผู้มีชื่อเสียง
[แก้]- ปานวาด เหมมณี, เป็นนักแสดง และนางแบบชาวไทย มีผลงานละคร เช่น ในละครเรื่องสงครามนางฟ้า ละครดอกรักริมทาง เป็นต้น
- ปณิธาน วัฒนายากร, เกิดที่อำเภอเบตง จังหวัดยะลา แต่เนื่องจากเหตุการณ์ความไม่สงบในภาคใต้ ทำให้ต้องย้ายถิ่นฐานมาเติบโตที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ตั้งแต่ประถมศึกษาปีที่ 5 ปัจจุบันเป็นอาจารย์สอนคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเคยดำรงตำแหน่ง รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
ระเบียงภาพ
[แก้]-
Betong passport stamps
-
บริเวณหน้าตลาดสด
-
วัดกวนอิม
-
สนามกีฬากลาง
-
เมืองเบตงยามค่ำคืน
คำคม
[แก้]ไผ่งามให้งามน้ำใจ ไผ่ไหวให้เมืองรุ่งเรืองอร่าม ไผ่กอให้ก่อดีงาม ไผ่ตงให้นาม "เบตง"
— เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์, ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์
อ้างอิง
[แก้]- ↑ สำนักบริหารการทะเบียน. กรมการปกครอง. กระทรวงมหาดไทย. https://stat.bora.dopa.go.th/stat/statnew/statyear/#/TableTemplate3/Area/statpop?yymm=64&ccDesc=%E0%B8%88%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%AB%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%94%E0%B8%A2%E0%B8%B0%E0%B8%A5%E0%B8%B2&topic=statpop&ccNo=95 สถิติจำนวนประชากรและบ้าน ข้อมูล ปี 2564 พื้นที่ อำเภอเบตง|work=ระบบสถิติทางการทะเบียน}} สืบค้นเมื่อ 24 มีนาคม 2565.
- ↑ ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม (19 พฤษภาคม 2554). ประวัติตำบลเบตง. เรียกดูเมื่อ 5 มีนาคม 2556
- ↑ 3.0 3.1 3.2 ประพนธ์ เรืองณรงค์. "บทผนวกเกียรติยศ". ใน รัฐปัตตานีใน "ศรีวิชัย" เก่าแก่กว่ารัฐสุโขทัยในประวัติศาสตร์. สุจิตต์ วงษ์เทศ (บรรณาธิการ). พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ:มติชน. 2547, หน้า 345
- ↑ หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ (26 ธันวาคม 2547). [1][ลิงก์เสีย]. เรียกดูเมื่อ 20 เมษายน 2556
- ↑ สำนักงานสาธารณสุขอำเภอเบตง. ประวัติอำเภอเบตงโดยสังเขป[ลิงก์เสีย]. เรียกดูเมื่อ 5 มีนาคม 2556
- ↑ 6.0 6.1 6.2 6.3 6.4 6.5 สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดยะลา (2555). การส่งเสริมครูภูมิปัญญาท้องถิ่น อำเภอเบตง จังหวัดยะลา เก็บถาวร 2012-05-15 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. เรียกดูเมื่อ 20 เมษายน 2556
- ↑ 7.0 7.1 สำนักบริหารการทะเบียน. กรมการปกครอง. กระทรวงมหาดไทย. "จำนวนประชากรและบ้าน." [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: [2] เก็บถาวร 2020-06-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน 2558. สืบค้น 11 มีนาคม 2558.
- ↑ 8.0 8.1 "ข้อมูลทั่วไปอำเภอเบตง จังหวัดยะลา" (PDF). สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดยะลา. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2019-07-09. สืบค้นเมื่อ 10 กรกฎาคม 2562.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ ณัฐธิดา เย็นบำรุง. "เมืองเบตง : คนไทยเชื้อสายจีนที่เข้มแข็ง". ศูนย์ศึกษามหานครและเมือง. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-07-15. สืบค้นเมื่อ 10 กรกฎาคม 2562.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ นุรซีตา เพอแสละ และอื่น ๆ. "เบตง : วิถีสู่ความแข็งแกร่ง". วารสารสถาบันพระปกเกล้า. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-01-24. สืบค้นเมื่อ 10 กรกฎาคม 2562.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ "สถิติศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรม" (PDF). สำนักงานสถิติจังหวัดยะลา. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2019-07-09. สืบค้นเมื่อ 10 กรกฎาคม 2562.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ กระทรวงอุตสาหกรรม รายงานสถานการณ์อุตสาหกรรมจังหวัดยะลา ปี 2550
- ↑ "สำนักงานเกษตรจังหวัดยะลา". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-10-25. สืบค้นเมื่อ 2013-04-21.
- ↑ "โครงการไม้ดอกเมืองหนาวอันเนื่องมาจากพระราชดำริ บ้านปิยะมิตร ตำบลตาเนาะแมเราะ อำเภอเบตง จังหวัดยะลา" (PDF). สำนักงาน กปร. 2555.
- ↑ Songkhlatoday นายกเทศมนตรีเมืองเบตงมั่นใจเศรษฐกิจอำเภอเบตงมีแน้วโน้มดีขึ้นในปีนี้ เก็บถาวร 2016-03-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- ↑ กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ "สถิติการค้าชายแดน และการค้าผ่านแดน." [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: http://bordertrade.dft.go.th/DFT/Index.htmll เก็บถาวร 2013-04-16 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน 2558. สืบค้น 11 มีนาคม 2558.
- ↑ จังหวัดยะลา บรรยายสรุปจังหวัดยะลา[ลิงก์เสีย]
- ↑ "ไทย-มาเลเซีย ร่วมขยายเวลาเปิดด่านเบตง-ด่านเปิงกาลันฮูลู รับเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว". สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์. 25 มีนาคม 2552 – โดยทาง sanook.com.
- ↑ [3]
- ↑ "เคาหยก". เทศบาลเมืองเบตง. 17 กุมภาพันธ์ 2555. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-06-28. สืบค้นเมื่อ 2013-04-28.
- ↑ "ปลาจีนนึ่งบ๊วย". เทศบาลเมืองเบตง. 17 กุมภาพันธ์ 2555. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-06-28. สืบค้นเมื่อ 2013-04-28.
- ↑ "ไก่สับเบตง". เทศบาลเมืองเบตง. 17 กุมภาพันธ์ 2555. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-06-28. สืบค้นเมื่อ 2013-04-28.
- ↑ "อาหารขึ้นชื่อเมืองเบตง". ด่านตรวจคนเข้าเมืองเบตง. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-06-28. สืบค้นเมื่อ 2013-04-28.
- ↑ "กบภูเขา". เทศบาลเมืองเบตง. 20 กุมภาพันธ์ 2555. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-06-28. สืบค้นเมื่อ 2013-04-28.
- ↑ "หมี่เบตง และซีอิ๊วเบตง". เทศบาลเมืองเบตง. 20 กุมภาพันธ์ 2555. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-06-28. สืบค้นเมื่อ 2013-04-28.
- ↑ "จี๊ฉ่องฝัน". เทศบาลเมืองเบตง. 20 กุมภาพันธ์ 2555. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-06-28. สืบค้นเมื่อ 2013-04-28.
- ↑ "เฉาก๊วยโบราณ". เทศบาลเมืองเบตง. 20 กุมภาพันธ์ 2555. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-06-28. สืบค้นเมื่อ 2013-04-28.
- ↑ "ส้มโชกุน". เทศบาลเมืองเบตง. 17 กุมภาพันธ์ 2555. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-06-28. สืบค้นเมื่อ 2013-04-28.
- ↑ "ข้าวหลาม". เทศบาลเมืองเบตง. 23 กุมภาพันธ์ 2555. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-06-28. สืบค้นเมื่อ 2013-04-28.
- ↑ "กาแฟโบราณ". เทศบาลเมืองเบตง. 17 กุมภาพันธ์ 2555. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-06-28. สืบค้นเมื่อ 2013-04-28.
- ↑ ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ให้ผู้ว่าราชการอำเภอเบตงเป็นเจ้าหน้าที่รับจดทะเบียนรถนต์ จักรยานยนต์ และคนขับราชกิจจานุเบกษา เล่ม 42 วันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2468
- ↑ เจษฎา สิริโยทัย, บ.ก. (26 มิถุนายน 2561). "เลี้ยงไก่เบตง สู่เมนูอัตลักษณ์เมือง เพิ่มรายได้ครัวเรือน". dailynews.co.th.
- ↑ กฤษดา เกิดดี (มกราคม 2541). "ภาพยนตร์ : ความสัมพันธ์กับประวัติศาสตร์และบริบทศึกษากรณี ฟิล์ม นัวร์ (Film Noir) ". วารสารนิเทศศาสตร์ปริทัศน์. คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต. 3 (1). ISSN 0858-6160.
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- เว็บเสียงจากเบตงถึงสถานการณ์ 3 จังหวัดภาคใต้ เก็บถาวร 2007-09-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- yala.go.th เก็บถาวร 2006-06-14 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- อำเภอดอตคอม
- เว็บศูนย์กลางเบตง เก็บถาวร 2020-02-24 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- แผนที่ท่องเที่ยวเบตง เก็บถาวร 2016-03-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- 5°51′40″N 101°13′41″E / 5.86121°N 101.22803°E
- แผนที่และภาพถ่ายทางอากาศของ อำเภอเบตง
- แผนที่ จาก มัลติแมป โกลบอลไกด์ หรือ กูเกิลแผนที่
- ภาพถ่ายทางอากาศ จาก เทอร์ราเซิร์ฟเวอร์
- ภาพถ่ายดาวเทียม จาก วิกิแมเปีย