เทศน์
ส่วนหนึ่งของชุดบทความ |
ศาสนาพุทธ |
---|
เทศน์ แปลว่า การแสดง การชี้แจง การชี้ให้เห็นแจ้ง ใช้ว่า เทศนา (อ่านว่า เท-สะ-นา หรือ เทด-สะ-หนา) ก็ได้
เทศน์ หมายถึงการถ่ายทอดธรรมอันเป็นคำสั่งสอนทางศาสนาด้วยการแสดงชี้แจงให้ฟัง เป็นการเผยแผ่ศาสนาแบบหนึ่งที่ใช้กันมาแต่สมัยพุทธกาล การเทศน์ในสมัยพุทธกาลไม่มีพิธีการแต่อย่างใด เพียงผู้แสดงนั่งอยู่ในสถานที่สมควรและผู้ฟังมีลักษณะตั้งใจฟังก็สามารถแสดงได้ ในขณะที่การเทศนานั้น อาจมีลักษณะลีลาต่างกันไปบ้างตามแต่อุปนิสัยของแต่ละบุคคล สำหรับพระพุทธเจ้าแล้วบางครั้งจะทรงใช้คาถาประพันธ์หรือร้อยแก้วธรรมดา
ในประเทศไทย การเทศน์กลายเป็นส่วนประกอบสำคัญในพิธีกรรมต่าง ๆ ของชาวไทยมาช้านาน เช่น วันขึ้นบ้านใหม่ วันแต่งงาน ไปจนถึงงานศพ และมีข้อปลีกย่อยในการประกอบพิธีกรรมมากมาย เช่น ต้องมีการอาราธนาศีลอาราธนาธรรม การจุดเทียนส่องธรรม เป็นต้น พระสงฆ์ไทยแต่โบราณก็มีการดัดแปลงโดยเพิ่มทำนองให้น่าสนใจ เรียกว่า เทศน์แหล่ ปัจจุบันอาจแบ่งการเทศน์พิธีกรรมของพระสงฆ์ในประเทศไทยตามจำนวนผู้เทศน์ได้เป็น เทศเดี่ยว (เทศน์รูปเดียว) และเทศน์สองธรรมมาสน์ขึ้นไป (ปุจฉา-วิสัชนา)
คำว่า เทศน์ หรือการเทศน์แบบพิธีการ ในความรู้สึกส่วนใหญ่ของคนไทยมักจะเข้าใจว่าเป็นพิธีกรรมการสอนที่เป็นทางการ เน้นพิธีการ และมีรูปแบบตายตัวที่ผู้เทศน์ไม่สามารถใช้ลูกเล่นหรือใช้อุปกรณ์ เช่น ภาพหรือสื่อประสมมาใช้เพื่อประกอบการเทศน์ได้ ทำให้ในปัจจุบันพระสงฆ์ได้มีปรับเปลี่ยนวิธีการเทศน์ด้วยวิธีอื่น ๆ เพื่อให้เข้ากับยุคสมัยที่เปลี่ยนไป เช่น การเทศน์ในพิธีการโดยไม่ใช้สำนวนโบราณ การสอนธรรมะผ่านสื่อต่าง ๆ การแต่งหนังสือ การแต่งเพลงธรรมะ เป็นต้น ซึ่งการเทศน์ด้วยวิธีหลังจะสามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายมากกว่า เพราะส่วนใหญ่ไม่ได้ใช้ทำนองแบบเทศน์พิธีการ และอาจมีมุกสอดแทรกลงไปทำให้น่าสนใจมากขึ้น
ประเภทการเทศน์แบ่งตามทำนอง
[แก้]การเทศน์ว่าโดยทำนองมี 2 แบบ คือ
- เทศน์ธรรมวัตร คือเทศน์โดยในเสียงและทำนองเป็นปกติเหมือนอ่านหรือพูดธรรมดา ไม่ได้ออกเสียงและทำนองไพเราะด้วยการขับขาน มุ่งให้เข้าใจในเนื้อหาธรรมะเพื่อให้นำไปปฏิบัติได้เป็นสำคัญ เรียกว่า เทศน์ทำนองธรรมวัตร ก็ได้
- เทศน์แหล่ คือเทศน์โดยใช้เสียงและทำนองที่มุ่งความไพเราะเป็นสำคัญ เช่น เทศน์มหาชาติ เทศน์แหล่ ซึ่งมีทั้งแหล่ในคือเรื่องในมหาชาติและแหล่นอกคือเรื่องอื่นๆ ที่นำมาเสริมโดยมุ่งความสุนทรีย์ เช่น แหล่ชมนก แหล่ชมดง แหล่หญิงม่าย
นอกจากนี้ยังมีเทศน์แบบอื่นๆ เช่น เทศน์แจง
ความเป็นมาของการเทศน์แบบพิธีการของพระสงฆ์ในประเทศไทย
[แก้]ในประเทศไทย การเทศน์แบบพิธีการสันนิษฐานว่าได้รับธรรมเนียมมาจากลังกา ปรากฏหลักฐานว่ามีการให้ความเคารพพระสงฆ์ผู้เทศนาด้วยการให้นั่งบนอาสนะสูงวิจตรไว้ในศิลาจารึกหลักที่ 1 (ด้านที่ 3) ดังนี้
...ขดานหินตั้งหว่างกลางไม้ตาลนี้ วันเดือนดับ เดือนโอกแปดวัน วันเดือนเต็ม เดือนบ้างแปดวัน ฝูงปู่ครู เถรมหาเถรขึ้นนั่งเหนือขดานหีนสูดธรรมแก่อูบาสกฝูงท่วยจำศีล ผี้ใช่วันสูดธรรม... ...ขดานหีนนี้ ชื่อมนังคศีลาบาตร สถาบกไว้นี่ จี่งทังหลายเห็น...
จากหลักฐานดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า การเทศนาธรรมบนอาสนะสูงใหญ่ของพระสงฆ์ได้มีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย[3] โดยนิยมมีพิธีเทศนาในวันธรรมสวนะ ซึ่งประเพณีเทศนาธรรมก็ยังคงมีอยู่ตามวัดต่าง ๆ จนในปัจจุบันนี้
อ้างอิง
[แก้]- ↑ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงมหาราช. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจัดทำเนื่องในโอกาส 700 ปี ลายสือไทย กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.2527
- ↑ คุณค่าและภาษาในศิลาจารึกหลักที่ 1 - อลิสา เลี้ยงรื่นรมย์ . มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตนครศรีธรรมราช. เรียกข้อมูลเมื่อ 17-6-52
- ↑ ศิลาจารึก เก็บถาวร 2009-06-26 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. กลุ่มงานข้อมูลสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานจังหวัดสุโขทัย. 5-7-52
- พระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเตโช) ป.ธ. 9 ราชบัณฑิต พจนานุกรมเพื่อการศึกษาพุทธศาสน์ ชุด คำวัด, วัดโอรสาราม กรุงเทพฯ พ.ศ. 2548