เชินเจิ้น
เชินเจิ้น 深圳市 | |
---|---|
สถานที่ต่าง ๆ ในนครเชินเจิ้น | |
ที่ตั้งของนครเชินเจิ้นในมณฑลกวางตุ้ง | |
พิกัด (จัตุรัสพลเมือง (市民广场)): 22°32′29″N 114°03′35″E / 22.5415°N 114.0596°E | |
ประเทศ | สาธารณรัฐประชาชนจีน |
มณฑล | มณฑลกวางตุ้ง |
จำนวนเขตการปกครองระดับอำเภอ | 9 |
ตั้งถิ่นฐาน | 331 |
ก่อตั้งหมู่บ้าน | 1953 |
ก่อตั้งนคร | 23 มกราคม 1979 |
ก่อตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ | 1 พฤษภาคม 1980 |
ที่ตั้งที่ทำการ | เขตฝูเถียน |
การปกครอง | |
• ประเภท | นครระดับกิ่งมณฑล |
• เลขานุการคณะกรรมการพรรคฯ | หวาง เหว่ย์จง (王伟中) |
• นายกเทศมนตรี | เฉิน หรูกุ้ย (陈如桂) |
พื้นที่ | |
• ทั้งจังหวัด | 2,050 ตร.กม. (790 ตร.ไมล์) |
• เขตเมือง | 1,748 ตร.กม. (675 ตร.ไมล์) |
ความสูง | 0–943.7 เมตร (0–3,145.7 ฟุต) |
ประชากร (2017)[1] | |
• ทั้งจังหวัด | 12,528,300 คน |
• ความหนาแน่น | 6,100 คน/ตร.กม. (16,000 คน/ตร.ไมล์) |
• เขตเมือง (2018)[2] | 12,905,000 คน |
• ความหนาแน่นเขตเมือง | 7,400 คน/ตร.กม. (19,000 คน/ตร.ไมล์) |
• รวมปริมณฑล[3] | 23,300,000 คน |
• ชาติพันธุ์หลัก | ชาวฮั่น |
เขตเวลา | UTC+8 (เวลามาตรฐานจีน) |
รหัสไปรษณีย์ | 518000 |
รหัสพื้นที่ | 755 |
รหัส ISO 3166 | CN-GD-03 |
ผลิตภัณฑ์มวลรวม (ราคาตลาด) | 2019[4] |
- ทั้งหมด | 2.6 ล้านล้านเหรินหมินปี้ |
- ต่อหัว | 208,000 เหรินหมินปี้ |
- ความเติบโต | 7.7% |
คำนำหน้าป้ายทะเบียนรถ | 粤B |
ดอกไม้ประจำนคร | เฟื่องฟ้า |
ต้นไม้ประจำนคร | ลิ้นจี่ และป่าชายเลน[5] |
เว็บไซต์ | sz.gov.cn |
เชินเจิ้น ตามสำเนียงมาตรฐาน, ซำจั่น ตามสำเนียงกวั่งตง, ชิมจุ่ง ตามสำเนียงแต้จิ๋ว (จีน: 深圳; พินอิน: Shēnzhèn; พินอินกวางตุ้ง: sam1 zan3) เป็นเมืองหลักที่อยู่ทางตะวันออกของชะวากทะเลแม่น้ำจูในมณฑลกวางตุ้งตอนใต้ สาธารณรัฐประชาชนจีน มีอาณาเขตทางใต้ติดกับฮ่องกง ตะวันออกเฉียงเหนือติดกับฮุ่ยโจว ตะวันตกเฉียงเหนือติดกับตงกว่าน และทางตะวันตกและตะวันตกเฉียงใต้ติดกับกว่างโจว จงชาน และจูไห่ ซึ่งเป็นอีกฝั่งของชะวากทะเล โดยใช้เขตแดนทางทะเลเป็นตัวแบ่งอาณาเขต ด้วยจำนวนประชากร 17.5 ล้านคนใน ค.ศ. 2020 ทำให้เชินเจิ้นเป็นเมืองที่มีประชากรมากเป็นอันดับสาม (วัดตามจำนวนประชากรในเขตเมือง) ของประเทศจีน รองจากเซี่ยงไฮ้และปักกิ่ง[6] ท่าเรือเซินเจิ้นยังเป็นท่าเรือคอนเทนเนอร์ที่พลุกพล่านมากเป็นอันดับ 4 ของโลก[7]
เชินเจิ้นมีอาณาเขตการบริหารของเทศมณฑลเปาอันซึ่งก่อตั้งขึ้นในสมัยจักรวรรดิจีน ภายหลังสงครามฝิ่น ทางตอนใต้ของเทศมณฑลเปาอันถูกรัฐบาลอังกฤษยึดครอง และกลายเป็นส่วนหนึ่งของฮ่องกงของบริเตน ในขณะที่หมู่บ้านเชินเจิ้นมีอาณาเขตอยู่ติดกับชายแดน เชินเจิ้นมีสถานะกลายเป็นเมืองใน ค.ศ. 1979 ในช่วงต้นทศวรรษ 1980 การปฏิรูปเศรษฐกิจโดยเติ้ง เสี่ยวผิง ส่งผลให้เมืองนี้กลายเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษแห่งแรกของจีน และเนื่องสภาพทำเลที่ตั้งอยู่ใกล้กับฮ่องกง เมืองนี้จึงดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ และผู้อพยพที่แสวงหาโอกาสในกรตั้งฐิ่นถานและประกอบธุรกิจ ในช่วงสามทศวรรษที่ผ่านมา เศรษฐกิจและประชากรของเมืองเติบโตอย่างรวดเร็ว และนับตั้งแต่นั้นมาก็กลายเป็นศูนย์กลางด้านเทคโนโลยี การค้าระหว่างประเทศ และการเงินของจีน
เชินเจิ้นเป็นที่ตั้งของตลาดหลักทรัพย์เชินเจิ้น หนึ่งในตลาดหลักทรัพย์ที่ใหญ่ที่สุดของโลกตามมูลค่าหลักทรัพย์ราคาตลาด และเขตการค้าเสรีมณฑลกวางตุ้ง เชินเจิ้นได้รับการจัดอันดับให้เป็นเมืองอัลฟ่า (เมืองชั้นหนึ่งของโลก) โดยเครือข่ายการวิจัยโลกาภิวัตน์และเมืองโลก จากการเติบโตอย่างรวดเร็วทางเศรษฐกิจของเมือง ทำให้อัตราผลิตภัณฑ์มวลรวม (จีดีพี) ของเมืองนี้ใกล้เคียงกับเมืองเศรษฐกิจอื่น ๆ อย่างกว่างโจวหรือแม้กระทั่งฮ่องกง เชินเจิ้นยังมีศูนย์กลางทางการเงินที่มีการแข่งขันสูงที่สุดแห่งหนึ่ง และใหญ่เป็นอันดับ 8 ของโลก มีสำนักงานใหญ่ของบริษัทชั้นนำตามการจัดอันดับโดยฟอร์จูน โกลบอล 500 มากเป็นอันดับ 7 ของโลก รวมทั้งมีจำนวนมหาเศรษฐีอาศัยอยู่มากเป็นอันดับ 5 ของโลก และมีจำนวนตึกระฟ้ามากเป็นอันดับ 2 ของโลก เชินเจิ้นยังมีจำนวนผลงานการวิจัยทางวิทยาศาสตร์มากที่สุดเป็นอันดับ 19 ในโลก และเป็นที่ตั้งของสถาบันอุดมศึกษาหลายแห่งที่ได้รับการยอมรับระดับนานาชาติรวมถึง มหาวิทยาลัยเชินเจิ้น, มหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีภาคใต้ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีเชินเจิ้น สถานีรถไฟเชินเจิ้นทำหน้าที่เป็นสถานีหลักในมณฑลกวางตุ้ง และเป็นปลายทางสุดท้ายบนเส้นทางจีนแผ่นดินใหญ่ของรถไฟสายเกาลูน-กวางตุ้ง
เมืองนี้ยังเป็นศูนย์กลางเทคโนโลยีชั้นนำระดับโลก บางครั้งถูกเรียกว่าเป็นซิลิคอนแวลลีย์ของจีน[8][9] ด้วยวัฒนธรรมในการเป็นผู้นำทางนวัตกรรมและการแข่งขันของเมือง ส่งผลให้เมืองนี้เป็นที่ตั้งของทั้งผู้ผลิตรายย่อยและบริษัทซอฟต์แวร์จำนวนมาก บริษัทเหล่านี้หลายแห่งได้พัฒนาจนกลายเป็นบริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่ของโลก เช่น หัวเว่ย, เทนเซ็นต์ และ ดีเจไอ ในฐานะที่เป็นหนึ่งในเมืองนานาชาติที่สำคัญ เชินเจิ้นจึงถูกใช้เป็นสถานที่จัดงานระดับชาติ และระดับนานาชาติมากมายทุกปี เช่น กีฬามหาวิทยาลัยโลกฤดูร้อน 2011 และ มหกรรมแสดงสินค้าไฮเทค ประชากรส่วนใหญ่ในเชินเจิ้นล้วนเป็นผู้อพยพมาจากภูมิภาคอื่นทั่วประเทศจีน และโครงสร้างอายุประชากรของเมืองนี้ก็น้อยกว่าสถานที่อื่น ๆ ในจีน
ภูมินามวิทยา
[แก้]การกล่าวถึงชื่อเมืองเชินเจิ้นครั้งแรกมีประวัติย้อนไปถึง ค.ศ. 1410 ในสมัยราชวงศ์หมิง[10] เชื่อกันว่าชื่อ "Zhen" (จีน: 圳; หมายถึง: สว่าง. 'คูน้ำ', ' ท่อระบายน้ำ') เป็นชื่อที่ชาวบ้านในยุคนั้นใช้เรียกท่อระบายน้ำ (บ้างก็เรียกคูน้ำ) ในนาข้าว จึงสันนิษฐานได้ว่า ชื่อเมืองเชินเจิ้น (จีน: 深; lit. แปลว่า 'ลึก') มีที่มาจากชื่อที่ใช้เรียกท่อระบายน้ำลึกในภูมิภาคนี้[11][12]
ประวัติศาสตร์
[แก้]สมัยก่อนประวัติศาสตร์ถึงสมัยราชวงศ์หมิง
[แก้]พบหลักฐานการตั้งถิ่นฐานที่เก่าแก่ที่สุดของมนุษย์ในบริเวณนี้ตั้งแต่สมัยยุคหินใหม่[13] มนุษย์ได้อาศัยอยู่ในพื้นที่นี้ตลอด 6,700 ปีที่ผ่านมา มณฑลประวัติศาสตร์บริเวณนี้ก่อตั้งขึ้นเมื่อ 1,700 ปีก่อน เมืองประวัติศาสตร์อย่างหนานโถวและต้าเผิง ถูกสร้างขึ้นบนพื้นที่ปัจจุบันของเชินเจิ้นเมื่อ 600 ปีที่แล้ว[14] ประวัติศาสตร์ของดินแดนนี้ยังมีความเกี่ยวพันกับชาวฮากกา ซึ่งเข้ามาตั้งรกรากบริเวณนี้เมื่อประมาณ 300 ปีที่แล้ว
จิ๋นซีฮ่องเต้รวมแผ่นดินจีนเป็นปึกแผ่นภายใต้ราชวงศ์ฉินเมื่อ 214 ปีก่อนคริสตกาล พื้นที่ทั้งหมดถูกส่งไปยังเขตอำนาจของกองบัญชาการหนานไห่ที่จัดตั้งขึ้นโดยผู้มีอำนาจปกครอง ซึ่งเป็นหนึ่งในสามกองบัญชาการที่จัดตั้งขึ้นในหลิงหนาน และถูกหลอมรวมเข้ากับวัฒนธรรมจงหยวน ในปีคริสตศักราช 331 ผู้ปกครองของราชวงศ์จิ้นตะวันออกได้แยกดินแดนหนานไห่ออก และก่อตั้งกองบัญชาการตงก่วนขึ้นใหม่ (东官郡) ศูนย์กลางการปกครองของทั้งผู้บัญชาการ และเทศมณฑลเปาอันซึ่งเป็นหนึ่งในหกเทศมณฑลนั้น ตั้งอยู่รอบเมืองหนานโถวซึ่งได้รับการพัฒนาจนทันสมัย ในปี 590 ราชวงศ์สุยได้รวมดินแดนในภูมิภาคกลับเข้าไปสู่หนานไห่ ต่อมาใน ค.ศ. 757 ราชวงศ์ถังได้เปลี่ยนชื่อดินแดนนี้เป็นเทศมณฑลตงกว่าน และย้ายที่ทำการไปยังพื้นที่เมืองตงกว่านในปัจจุบัน แม้จะยังคงมีกองทหารรักษาการณ์อยู่ก็ตาม
ในสมัยราชวงศ์ซ่ง หนานโถวและพื้นที่โดยรอบกลายเป็นศูนย์กลางการค้าที่สำคัญ โดยมีเกลือและเครื่องเทศเป็นสินค้าหลักที่มีการแลกเปลี่ยนในบริเวณทะเลจีนใต้[15] พื้นที่ดังกล่าวกลายเป็นที่รู้จักในด้านการผลิตไข่มุกในสมัยราชวงศ์หยวน ในช่วงต้นของราชวงศ์หมิง กะลาสีเรือชาวจีนจำนวนมากนิยมเดินทางไปยังวัดหม่าซูในเมืองฉีวาน (เขตหนานซานในปัจจุบัน) ยุทธการที่ตุนเหมินซึ่งเป็นการต่อสู้ระหว่างราชวงศ์หมิงและกองทัพโปรตุเกสเกิดขึ้นบริเวณตอนใต้ของหนานโถว และจบลงด้วยชัยชนะของราชวงศ์หมิง[16]
ราชวงศ์ชิงถึงคริสต์ทศวรรษ 1940
[แก้]เพื่อป้องกันการก่อกบฏโดยผู้จงรักภักดีของราชวงศ์หมิงภายใต้การนำของ โคซิงกา (กั๋วซิ่งเย๋) ผู้ปกครองของราชวงศ์ชิงซึ่งได้รับการสถาปนาไม่นานมานี้ จึงได้ย้ายถิ่นฐานของประชา่กรบริเวณชายฝั่งทะเลภายในประเทศ และจัดระเบียบการปกครองของมณฑลต่าง ๆ บริเวณชายฝั่งขึ้นใหม่ ส่งผลให้เทศมณฑลเปาอันเดิมสูญเสียดินแดนถึงสองในสามให้แก่ตงกว่านและถูกควบรวมเป็นส่วนหนึ่งของตงกว่านในปี 1669 หลังจากที่ราชวงศ์ชิงพ่ายต่อสหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์ในสงครามฝิ่นครั้งที่หนึ่ง และครั้งที่สอง เกาะฮ่องกงและคาบสมุทรเกาลูนก็ถูกยกให้กับอังกฤษตามสนธิสัญญานานกิงและอนุสัญญาปักกิ่ง เมื่อวันที่ 21 เมษายน ค.ศ. 1898 รัฐบาลภายใต้ราชวงศ์ชิงได้ลงนามใน "บทความพิเศษสำหรับการจัดแสดงชายแดนฮ่องกง" ร่วมกับสหราชอาณาจักร และเช่าดินแดนใหม่ไปยังสหราชอาณาจักรเป็นเวลา 99 ปี ดินแดนซินอานถูกกองทหารอังกฤษยึดครองในช่วงสั้น ๆ ภายใต้การบัญชาของเฮนรี อาเทอร์ เบลก ผู้ว่าการฮ่องกง เป็นเวลาครึ่งปีในปี ค.ศ. 1899 พื้นที่มณฑลกว่า 1,055.61 ตารางกิโลเมตร (407.57 ตารางไมล์) จากทั้งหมด 3,076 ตารางกิโลเมตร (1,188 ตารางไมล์) ซึ่งอยู่ภายใต้การครอบครองของราชวงศ์ซินก่อนทำสนธิสัญญาได้ถูกยกให้แก่อังกฤษ
เพื่อเป็นการตอบโต้การก่อการกำเริบอู่ชางในปี 1911 ชาวซินอานได้ก่อกบฏต่อผู้ปกครองท้องถิ่นของราชวงศ์ชิง และโค่นล้มพวกเขาได้สำเร็จ[17] ในปีเดียวกันนั้นเอง รถไฟสายเกาลูน–กวางตุ้ง (KCR) ของจีนได้เปิดให้บริการต่อสาธารณะ จุดแวะพักสุดท้ายในจีนแผ่นดินใหญ่คือสถานีรถไฟเชินเจิ้นซึ่งช่วยเศรษฐกิจของเมืองเติบโตอย่างรวดเร็ว และเปรียบเสมือนการเปิดเมืองเชินเจิ้นสู่โลกภายนอก[18] ในปี ค.ศ. 1913 รัฐบาลสาธารณรัฐจีนได้เปลี่ยนชื่อเทศมณฑลซินอานเป็นเทศมณฑลเป่าอัน เพื่อป้องกันความสับสนจากเทศมณฑลอื่นที่มีชื่อเดียวกันในมณฑลเหอหนาน
ญี่ปุ่นได้ยึดครองเชินเจินและหนานโถวในสงครามโลกครั้งที่สอง และบีบบังคับให้รัฐบาลเทศมณฑลเปาอันย้ายไปยังเทศมณฑลตงกว่านที่อยู่ใกล้เคียง ใน ค.ศ. 1941 กองทัพญี่ปุ่นพยายามข้ามฝั่งเข้าสู่เกาะฮ่องกงผ่านสะพานโหลหวู่ในเชินเจิ้น แต่การจุดระเบิดโดยกองทัพอังกฤษทำให้ญี่ปุ่นไม่สามารถเข้าสู่ฮ่องกงได้[19]
ทศวรรษ 1950 ถึง 1970
[แก้]ในปี 1953 สี่ปีหลังจากการสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน รัฐบาลเทศมณฑลเปาอันตัดสินใจย้ายที่ทำการไปที่เชินเจิ้น เนื่องจากเมืองนี้อยู่ใกล้กับเกาลูน และมีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่กว่าหนานโถว ตั้งแต่ปี 1950 จนถึงปลายทศวรรษ 1970 เชินเจิ้นและส่วนที่เหลือของเทศมณฑลเปาอันได้ดูแลผู้ลี้ภัยจำนวนมหาศาลที่พยายามหลบหนีไปยังฮ่องกง สืบเนื่องจากความวุ่นวายที่เกิดขึ้นในจีนแผ่นดินใหญ่ ในจำนวนทั้งหมดนี้ครอบคลุมผู้อพยพตั้งแต่ 100,000 คนถึง 560,000 คนซึ่งอาศัยอยู่ในเทศมณฑล[20]
ในเดือนมกราคม ค.ศ. 1978 คณะตรวจสอบที่ถูกส่งมาโดยคณะมนตรีรัฐกิจสาธารณรัฐประชาชนจีน มีบทบาทหลักในการสอบสวนในประเด็นการสร้างท่าเรือการค้าต่างประเทศในเทศมณฑลเปาอัน ในเดือนพฤษภาคม ทีมสืบสวนได้สรุป "รายงานการสอบสวนเศรษฐกิจฮ่องกงและมาเก๊า" และเสนอให้เปลี่ยนเทศมณฑลเปาอันและจูไห่เป็นฐานส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์ ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1978 คณะกรรมการเขตฮุ่ยหยางรายงานต่อคณะกรรมการประจำจังหวัดเรื่อง "รายงานคำขอเปลี่ยนเทศมณฑลเป่าอันเป็นเชินเจิ้น" เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม คณะกรรมการแห่งมณฑลกวางตุ้งได้ตัดสินใจเปลี่ยนชื่อเทศมณฑลเปาอันเป็นเมืองเปาอัน และเปลี่ยนให้มีสถานะนครระดับจังหวัด และตั้งใจให้เป็นศูนย์กลางทางการค้าต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการเขตฮุ่หยางและคณะกรรมการเขตเปาอัน ออกมาปกป้องการเปลี่ยนแปลงเพื่อเปลี่ยนชื่อเทศมณฑลเปาอันเป็นเซินเจิ้น โดยอ้างว่าผู้คนในโลกนี้รู้จักชื่อเชินเจิ้นและท่าเรือของเมือง มากกว่าที่พวกเขารู้เกี่ยวกับเทศมณฑลเปาอัน
เมื่อวันที่ 23 มกราคม ค.ศ. 1979 ฝ่ายบริหารมณฑลกวางตุ้ง และเขตฮุ่ยหยางได้ประกาศข้อเสนอที่จะเปลี่ยนชื่อเทศมณฑลเปาอันเป็นเชินเจิ้น และได้รับการอนุมัติและบังคับใช้โดยสภาแห่งรัฐเมื่อวันที่ 5 มีนาคมของปีนั้น นอกจากนี้ จะมีการก่อตั้งเขต 6 เขต ได้แก่ เขตหลัวหู หนานโถว ซงกัง หลงฮวา หลงก่าง และกุยหยง ต่อมา เมื่อวันที่ 31 มกราคม คณะกรรมการกลางของพรรคคอมมิวนิสต์ได้อนุมัติแผนการจัดตั้งเขตอุตสาหกรรมเสอโข่วในเชินเจิ้นโดยมีวัตถุประสงค์ "เพื่อเป็นผู้นำการดำเนินงานในประเทศ และต่างประเทศ และบูรณาการอุตสาหกรรมและเชิงพาณิชย์ และการค้า" โดยอิงตามระบบของฮ่องกงและมาเก๊า[21] โครงการดังกล่าวอยู่ภายใต้กำกับดูแลโดย China Merchants Group Limited ใต้การนำของ หยวน เกิง โดยมีฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่ของจีน และจะกลายเป็นเขตอุตสาหกรรมแปรรูปส่งออกแห่งแรกในจีนแผ่นดินใหญ่
เมื่อต้นเดือนเมษายน ค.ศ. 1979 คณะกรรมการประจำมณฑลกวางตุ้งได้หารือและเสนอต่อคณะกรรมการกลางให้จัดตั้ง "เขตความร่วมมือทางการค้า" ในเชินเจิ้น จูไห่ และซัวเถา ในเดือนเดียวกัน การหารือโดยคณะทำงานกลางได้บทสรุปเกี่ยวกับ "กฎระเบียบในการพัฒนาการค้าต่างประเทศอย่างจริงจัง เพื่อเพิ่มรายได้จากการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ" และตกลงที่จะนำร่องเขตเศรษฐกิจพิเศษ (SEZ) แห่งแรกในเชินเจิ้น จูไห่ ซัวเถา และเซี่ยเหมิน[22] ในเดือนพฤศจิกายน เชินเจิ้นได้รับการยกระดับเป็นเมืองระดับจังหวัดในระดับภูมิภาคโดยฝ่ายบริหารมณฑลกวางตุ้ง หมู่บ้านเล็ก ๆ ในละแวกใกล้เคียงเช่น Yumin Cun ถูกรวมเป็นส่วนหนึ่งของเชินเจิ้น และเป็นจุดเริ่มต้นของการขยายตัวของประชากรอย่างรวดเร็วในทศวรรษต่อมา
1980–ปัจจุบัน
[แก้]ใน ค.ศ. 1980 เชินเจิ้นมีประชากรเพียง 30,000 คน[23] ต่อมา ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1980 คณะกรรมการกลางได้รับรองให้เชินเจิ้นเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษแห่งแรกในจีน[24] ซึ่งได้รับการสนับสนุนโดยผู้นำสูงสุดของจีนในขณะนั้น และยังเป็นส่วนหนึ่งของการเปิดประเทศและปฏิรูปเศรษฐกิจโดย เติ้ง เสี่ยวผิง[25] วัตถุประสงค์คือเพื่อเป็นพื้นที่ทดลองสำหรับการปฏิบัติของระบบทุนนิยมที่ได้รับคำแนะนำจากอุดมคติของลัทธิสังคมนิยมอันเป็นลักษณะเฉพาะของจีน นำไปสู่เศรษฐกิจตลาดแบบสังคมนิยม[26][27] ต่อมา คณะกรรมาธิการสามัญประจำสภาประชาชนแห่งชาติ ได้อนุมัติ "กฎระเบียบของเขตเศรษฐกิจพิเศษกวางตุ้ง"[28]
ในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1981 เชินเจิ้นได้รับการยกระดับเป็นเขตการปกครองระดับกิ่งมณฑล เดิมทีนั้น มีแผนจะอนุมัติให้เชินเจิ้นพัฒนาสกุลเงินเป็นของตนเอง ทว่าแผนดังกล่าวถูกระงับเนื่องจากรัฐบาลกลางเกรงว่าอาจมีความเสี่ยง และความขัดแย้งในหลักการที่ว่าหนึ่งประเทศไม่ควรดำเนินการโดยใช้สองสกุลเงิน
การพัฒนาเมืองของเชินเจิ้นส่วนใหญ่ในช่วงทศวรรษ 1980 มุ่งเน้นไปที่พื้นที่บริเวณจุดผ่านเมืองเก่าและเมืองตลาด[29] ตามคำกล่าวของนักวิชาการ Richard Hu ซึ่งศึกษางานวิจัยว่าด้วยการขยายตัวของเมืองในประเทศจีน เชินเจิ้นถือเป็น ตัวอย่างกระบวนทัศน์ของแนวทางการพัฒนาเมืองในช่วงทศวรรษ 1980[30] ในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1990 ภายใต้อำนาจของคณะกรรมการกำกับดูแลหลักทรัพย์ของจีน ตลาดหลักทรัพย์เชินเจิ้นได้ก่อตั้งขึ้นเพื่อเป็นแพลตฟอร์มสำหรับการซื้อขายหลักทรัพย์ ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1992 คณะกรรมการประจำของ NPC ได้มอบอำนาจให้รัฐบาลเชินเจิ้นในการออกกฎหมายและระเบียบข้อบังคับในท้องถิ่น ในปี ค.ศ. 1996 และต้นปี 1997 โรงแรมเชินเจิ้นเกสท์เฮาส์ถูกใช้ที่ตั้งของสภานิติบัญญัติแห่งฮ่องกง เพื่อเตรียมการสำหรับการส่งมอบฮ่องกงในปี 1997[31]
ต่อมาใน ค.ศ. 2001 ด้วยผลจากแนวโน้มทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้นของเชินเจิ้น ทำให้มีผู้อพยพจากจีนแผ่นดินใหญ่จำนวนมากมายังเมืองนี้แทนการลักลอบเข้าฮ่องกงอย่างผิดกฎหมาย จากสถิติระบุว่ามีจำนวนผู้ลักลอบข้ามพรมแดนลดหลงเหลือ 9,000 รายในปี 2000 เปรียบเทียบกับจำนวน 16,000 รายในปี 1991 ในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน เชินเจิ้นได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปคจีน ครั้งที่ 2[32] เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม ค.ศ. 2001 ณ ศูนย์การผลิตและท่าเรือทางใต้ของเมือง ต่อมา ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 2008 คณะรัฐมนตรีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้อนุมัติเขตเศรษฐกิจพิเศษเชินเจิ้นเพื่อส่งเสริมระบบการจัดการการบริหาร ระบบเศรษฐกิจ พื้นที่ทางสังคม และการพัฒนานวัตกรรม และโอกาสการเปิดกว้างทางการค้าและความร่วมมือระดับภูมิภาค ตลอดจนการอนุรักษ์ทรัพยากรและความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของเมือง
ภูมิศาสตร์
[แก้]เชินเจิ้นตั้งอยู่ภายในบริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำจู อาณาเขตติดกับฮ่องกงทางทิศใต้ ติดฮุ่ยโจวทางเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ ติดตงกว่านทางเหนือและตะวันตกเฉียงเหนือ ติดหลิงติงหยางและแม่น้ำจูทางทิศตะวันตก และอ่าวเมียร์สทางทิศตะวันออก และห่างจากเมืองกวางโจวไปทางตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ 100 กิโลเมตร (62 ไมล์) ณ สิ้นปี 2017 จำนวนประชากรที่อาศัยอยู่ในเชินเจิ้นอยู่ที่ 12,528,300 คน โดยมีประชากรจดทะเบียนในฐานข้อมูลทะเบียนราษฎรอยู่ที่ 4,472,200 คน โดยคาดว่าจำนวนประชากรที่แท้จริงอาจมีมากกว่า 20 ล้านคน เมืองนี้มีความยาว 81.4 กิโลเมตรวัดจากทิศตะวันออกไปยังทิศตะวันตก ในขณะที่ส่วนที่สั้นที่สุดจากทิศเหนือสู่ทิศใต้คือ 10.8 กิโลเมตร คาดว่ามีแม่น้ำมากกว่า 160 สายไหลผ่านเมืองนี้ ภายในเขตเมืองมีอ่างเก็บน้ำ 24 แห่งด้วยความจุรวม 525 ล้านตัน แม่น้ำที่มีชื่อเสียงในเชินเจิ้น ได้แก่ แม่น้ำเชินเจิ้น
อากาศ
[แก้]แม้ว่าเชินเจิ้นจะตั้งอยู่ทางใต้ของทรอปิกออฟแคนเซอร์ประมาณหนึ่งองศา แต่เนื่องจากอิทธิพลของแอนไทไซโคลนไซบีเรีย จึงทำให้มีสภาพอากาศแบบกึ่งร้อนชื้นที่ได้รับอิทธิพลจากมรสุมที่อบอุ่น (ตามการแบ่งเขตภูมิอากาศแบบเคิพเพิน) แม้ว่าเชินเจิ้นจะตั้งอยู่ใกล้กับพื้นที่เขตร้อน แต่ยังมีฤดูหนาวที่มีสภาพอากาศค่อนข้างเย็นและค่อนข้างแห้ง ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากอิทธิพลของทะเลจีนใต้ และน้ำค้างแข็งเกิดขึ้นน้อยมาก อย่างไรก็ตาม มีโอกาสเกิดหมอกบ่อยครั้งในฤดูหนาวและฤดูใบไม้ผลิ โดยมีรายงานการเกิดหมอกเล็กน้อยที่ประมาณ 106 วันต่อปี ช่วงต้นของฤดูใบไม้ผลิถือเป็นช่วงที่มีเมฆมากที่สุดของปี และปริมาณน้ำฝนจะเริ่มเพิ่มขึ้นอย่างมากในเดือนเมษายน ฤดูฝนกินเวลายาวนานจนถึงปลายเดือนกันยายนถึงต้นเดือนตุลาคม และด้วยปริมาณแสงแดดที่อาจเกิดขึ้นทุกเดือนตั้งแต่ร้อยละ 27 ในเดือนมีนาคมถึงร้อยละ 53 ในเดือนตุลาคม เมืองนี้จึงได้รับแสงแดดคิดเป็นจำนวน 1,853 ชั่วโมงต่อปี[33]
ลมมรสุมจะรุนแรงถึงจุดสูงสุดในช่วงฤดูร้อน ซึ่งเป็นช่วงที่เมืองนี้ต้องเผชิญกับสภาพอากาศที่ชื้นและร้อนจัด อย่างไรก็ตาม อุณหภูมิร้อนจัดถือว่ายังเกิดขึ้นได้ยาก โดยพบอุณหภูมิ 35 °C (95 °F)+ เพียง 2.4 วันเท่านั้น ภูมิภาคนี้มีแนวโน้มที่จะเกิดฝนตกหนักเช่นกัน ช่วงครึ่งหลังของฤดูใบไม้ร่วงอากาศจะค่อนข้างแห้ง ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยต่อปีอยู่ที่ประมาณ 1,933 มิลลิเมตงซึ่งบางส่วนเกิดจากพายุไต้ฝุ่นที่พัดมาจากทิศตะวันออกในช่วงฤดูร้อนและช่วงต้นฤดูใบไม้ร่วง อุณหภูมิต่ำสุดและสูงสุดอยู่ระหว่าง 0.2 °C (32 °F) เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1957 ถึง 38.7 °C (102 °F) เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม ค.ศ. 1980
เศรษฐกิจ
[แก้]เชินเจิ้นมีสถานะเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษแห่งแรกซึ่งก่อตั้งโดยเติ้ง เสี่ยวผิง ผู้นำสูงสุดในขณะนั้น[34] ย้อนกลับไปในเดือนเมษายน ค.ศ. 1979 เชินเจิ้นได้รับการปฏิรูปให้เป็นเขตส่งออกพิเศษเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมการลงทุนที่เอื้ออำนวย รวมถึงการนำเทคโนโลยีขั้นสูงมาใช้ ต่อมา ได้เปลี่ยนชื่อเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1980 เชินเจิ้นมีอัตราผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศอยู่ที่ 3.24 ล้านล้านหยวน (2.87 ล้านล้านดอลลาร์ฮ่องกง) ซึ่งแซงหน้าปริมาณของฮ่องกงที่อยู่ใกล้เคียงที่ 2.11 ล้านล้านดอลลาร์ฮ่องกง และมากกว่ากว่างโจวที่ 2.88 ล้านล้านหยวน (2.68 ล้านล้านดอลลาร์ฮ่องกง)[35][36] ส่งผลให้เชินเจิ้นเป็นเมืองที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสามในประเทศจีน เป็นรองเพียงเซี่ยงไฮ้และปักกิ่ง นอกจากนี้ เชินเจิ้นยังมีอัตราการเติบโตของจีดีพีระหว่างปี 2016 ถึง 2017 อยู่ที่ 8.8% ซึ่งมากกว่าฮ่องกงและสิงคโปร์ที่ 3.7 และ 2.5% ตามลำดับ[37] และด้วยมูลค่าราคาตลาดซึ่งสูงถึง 2.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ณ วันที่ 30 พฤศจิกายน ค.ศ. 2018 ส่งผลให้ตลาดหลักทรัพย์เชินเจิ้นเป็นตลาดหลักทรัพย์ที่ขนาดใหญ่เป็นอันดับ 8 ของโลก
จากข้อมูลโดยดัชนีการเงินทั่วโลกประจำปี 2021 เชินเจิ้นได้รับการจัดอันดับให้เป็นศูนย์กลางทางการเงินที่มีการแข่งขันสูงที่สุด และใหญ่ที่สุดในโลกอันดับที่ 8 และอันดับที่ 6 ในภูมิภาคเอเชียและโอเชียเนีย (รองจากเซี่ยงไฮ้ ฮ่องกง สิงคโปร์ ปักกิ่ง และโตเกียว) ในปี 2020 เชินเจิ้นได้รับการจัดอันดับให้เป็นเมืองอัลฟ่า (เมืองชั้นนำอันดับ 1 ของโลก) โดยเครือข่ายการวิจัยโลกาภิวัตน์และเมืองโลก และเป็นเมืองที่มีจำนวนมหาเศรษฐีอาศัยอยู่มากเป็นอันดับ 5 ของโลก[38] และมีการคาดการณ์กันว่า อัตราจีดีพีของเมืองนี้จะมีขนาดใหญ่ที่สุด 10 อันดับแรกของโลกในปี 2035 ร่วมกับเมืองเศรษฐกิจอื่น ๆ ในประเทศจีนอย่างปักกิ่ง, เซี่ยงไฮ้, กว่างโจว นอกจากนี้ จากการศึกษาโดยมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด มีการประมาณการว่าอัตราจีดีพีเฉลี่ยต่อหัวของเมืองนี้จะสูงกว่า 57,000 ดอลลาร์สหรัฐในปี 2030 ซึ่งจะมากที่สุดในจีนแผ่นดินใหญ่ และจะมีขนาดเท่ากับโตเกียวและโซล[39]
เชินเจิ้นเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางสายไหมทางทะเลในช่วงศตวรรษที่ 21 ซึ่งทอดยาวจากชายฝั่งจีนทางใต้ ไปจนถึงปลายสุดของประเทศอินเดียผ่านคลองสุเอซจนถึงทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ผ่านภูมิภาคเอเดรียติกตอนบนจนถึงศูนย์กลางทางตอนเหนือของอิตาลีที่เมืองตรีเยสเต โดยมีเส้นทางรถไฟเชื่อมต่อไปยังภูมิภาคยุโรปกลาง และทะเลเหนือ[40][41][42][43]
จากข้อมูล ณ เดือนสิงหาคม ค.ศ. 2023 เชินเจิ้นมีสำนักงานใหญ่ของบริษัทชั้นนำที่ติดอันดับโดย Fortune Global 500 มากเป็นอันดับ 7 ในโลก และมากเป็นอันดับสามในจีนรองจากปักกิ่ง และเซี่ยงไฮ้[44]
การท่องเที่ยว
[แก้]การท่องเที่ยวค่อย ๆ เติบโตในฐานะอุตสาหกรรมที่สำคัญของเชินเจิ้น เมืองนี้ได้รับการจัดอันดับอยู่ในอันดับสองตามรายชื่อ '10 เมืองที่น่าไปเยือนในปี 2019' โดย Lonely Planet ฝ่ายบริหารของเชินเจิ้นมุ่งพัฒนาความเจริญของเมืองตาม "แผนห้าปีฉบับที่ 12 เพื่อการพัฒนาการท่องเที่ยวของเชินเจิ้น" ได้มุ่งเน้นไปที่การเปลี่ยนเมืองให้เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวระดับนานาชาติ โดยเน้นที่องค์ประกอบทางวิทยาศาสตร์ แฟชั่น และอุตสาหกรรมของเมือง โดยมีการรายงานว่าอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของเชินเจิ้นมีความได้เปรียบในการพัฒนาอย่างมาก เนื่องจากเมืองนี้เป็นหนึ่งในเมืองชั้นหนึ่งของจีน อีกทั้งยังมีชื่อเสียงในด้านทรัพยากรชายฝั่ง สภาพแวดล้อม สภาพภูมิอากาศ เศรษฐกิจทุนนิยม และนวัตกรรม[45]
ในปี 2015 รายได้รวมจากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวอยู่ที่ 124.48 พันล้านหยวน (17.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพิ่มขึ้นร้อยละ 98.1 จากปี 2010 รายได้รวมของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวอยู่ที่ร้อยละ 28 (35 พันล้านหยวนหรือ 4.968 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) มาจากนักท่องเที่ยวต่างชาติวึ่งเพิ่มขึ้น 56.2% นอกจากนี้ ในปีนั้น เชินเจิ้นยังมีจำนวนนักท่องเที่ยวกว่า 11.63 ล้านคนซึ่งเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 53 จากปี 2010 เชินเจิ้นมีสถานที่ท่องเที่ยวมากมาย ไล่ตั้งแต่สถานที่พักผ่อนและสันทนาการ เช่น สวนสนุก สวนสาธารณะไปจนถึงอาคารสถาปัตยกรรมขนาดใหญ่ สถานที่ท่องเที่ยวส่วนใหญ่เป็นส่วนหนึ่งของเมืองจีนโพ้นทะเล (OCT) ซึ่งเป็นชื่อเรียกของสวนสาธารณะที่ OCT Enterprises เป็นเจ้าของ และมีสถานะเป็นสถานที่ท่องเที่ยวระดับ AAAAA โดยหน่วยงานการท่องเที่ยวแห่งชาติของจีน[46]
เชินเจิ้นยังมีสวนสาธารณะและชายหาดยอดนิยมหลายแห่ง เช่น สวนสาธารณะประชาชน, สวนจงซาน และยังเป็นที่ตั้งของศูนย์การเงินนานาชาติผิงอัน[47] และคิงคีย์ 100[48] ซึ่งเปรียบเสมือนศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของเมืองและตึกระฟ้าที่เป็นสัญลักษณ์ในเมือง ชุนหิงสแควร์เป็นอีกหนึ่งศูนย์การค้าที่สำคัญในภูมิภาค[49]
มีโรงแรมชั้นนำมากมายตั้งอยู่ในเชินเจิ้น เช่น กลุ่มโรงแรมแมนดาริน โอเรียนเต็ล, โรงแรมคอนราด และแมริออท
ทัศนียภาพ
[แก้]ในปี 2019 เชินเจิ้นได้รับการยกย่องจากเดอะการ์เดียนให้เป็นเป็น "ผู้นำระดับโลกในการสร้างตึกระฟ้าแห่งใหม่"[50] เชินเจิ้นอยู่ในอันดับสองของโลกตามการจัดอันดับเมืองที่มีอาคารสูงกว่า 150 เมตรมากที่สุดในโลก (297 แห่ง) เป็นรองฮ่องกงเพียงเล็กน้อย[51] และจากข้อมูลใน ค.ศ. 2016 เชินเจิ้นมีจำนวนตึกระฟ้ามากกว่าจำนวนในสหรัฐและออสเตรเลียรวมกัน[52] การก่อสร้างยังเติบโตไปอย่างรวดเร็วโดยมีตึกระฟ้ามากกว่า 85 แห่งที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างทั่วเมืองในปี 2021 ซึ่งมากที่สุดในโลก[53] ตึกระฟ้าส่วนใหญ่ในเชินเจิ้นถูกสร้างโดยสถาปนิกชาวฮ่องกงหรือชาวต่างชาติ โดยใช้รูปแบบที่ทันสมัย แม้ว่าจการออกแบบโดยอิงคติคำนึงประโยชน์ จะเป็นรูปแบบสถาปัตยกรรมที่โดดเด่นในตึกระฟ้าของเมืองในช่วงปลายศตวรรษที่ 20[54] ตัวอย่างที่โดดเด่นที่สุดคืออาคารกัวเหมาที่มีความสูง 160 เมตร (525 ฟุต), ชุนหิงสแควร์ด้วยความสูงกว่า 384 เมตร (1,260 ฟุต) และคิงคีย์ 100 ด้วยความสูงกว่า 100 ชั้น
เชินเจิ้นยังมีอาคารเก่าแก่หลายแห่งซึ่งยึดรูปแบบสถาปัตยกรรมจีนดั้งเดิม
วัฒนธรรม
[แก้]อาหาร
[แก้]อาหารกวางตุ้งพบได้แพร่หลายที่สุด เนื่องจากผู้อพยพย้ายถิ่นฐานเข้ามาในเมืองนี้มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น เชินเจิ้นจึงมีอาหารหลากหลายประเภทรวมไปถึง อาหารแต้จิ๋ว, อาหารเสฉวน, อาหารเซี่ยงไฮ้ และอาหารหูหนาน[55]
เขตเอี้ยนเถียนถือเป็นพื้นที่ที่ชึ้นชื้อในด้านอาหารทะเลมากที่สุด โดยมีอาหารทะเลวางจำหน่ายเรียงรายตามชายหาด เช่น อาหารซินเจียง และซุปงาดำ สามารถพบได้ทั่วไป เชินเจิ้นยังมีวัฒนธรรมการดื่มชาซึ่งเป็นเอกลักษณ์[56] แมคโดนัลด์สาขาแรกในจีนแผ่นดินใหญ่เปิดให้บริการในเชินเจิ้นเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม ค.ศ. 1990 โดยให้บริการอาหารจานด่วนแบบอเมริกันในเมือง[57] เชินเจิ้นเป็นที่ตั้งของร้านชาเครือ Hey Tea ซึ่งจำหน่ายชีสและชาผลไม้หลากหลายชนิด
ดูเพิ่ม
[แก้]หมายเหตุ
[แก้]อ้างอิง
[แก้]- ↑ 2017年深圳经济有质量稳定发展 [In 2017, Shenzhen economy will have stable quality and development] (ภาษาจีนตัวย่อ). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2018. สืบค้นเมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2018.
- ↑ Cox, W (2018). Demographia World Urban Areas. 14th Annual Edition (PDF). St. Louis: Demographia. p. 22. เก็บ (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ 3 พฤษภาคม 2018. สืบค้นเมื่อ 15 มิถุนายน 2018.
- ↑ OECD Urban Policy Reviews: China 2015, OECD READ edition. OECD iLibrary. OECD Urban Policy Reviews (ภาษาอังกฤษ). OECD. 18 เมษายน 2015. p. 37. doi:10.1787/9789264230040-en. ISBN 9789264230033. ISSN 2306-9341. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 27 มีนาคม 2017. สืบค้นเมื่อ 8 ธันวาคม 2017.Linked from the OECD here เก็บถาวร 9 ธันวาคม 2017 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- ↑ https://www.asiatimes.com/2020/01/guangzhou-shenzhen-consolidate-gdp-lead-over-hk/
- ↑ "ShenZhen Government Online". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 25 พฤษภาคม 2017. สืบค้นเมื่อ 25 พฤษภาคม 2015.
- ↑ "Top 10 Chinese cities by urban resident population | investinchina.chinadaily.com.cn". investinchina.chinadaily.com.cn.
- ↑ Roberts, Toby; Williams, Ian; Preston, John (2021-05-19). "The Southampton system: a new universal standard approach for port-city classification". Maritime Policy & Management (ภาษาอังกฤษ). 48 (4): 530–542. doi:10.1080/03088839.2020.1802785. ISSN 0308-8839.
- ↑ Whitwell, Tom (2014-06-13). "Inside Shenzhen: China's Silicon Valley". The Guardian (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). ISSN 0261-3077. สืบค้นเมื่อ 2024-11-18.
- ↑ "Shenzhen is a hothouse of innovation". The Economist. ISSN 0013-0613. สืบค้นเมื่อ 2024-11-18.
- ↑ 深圳地名网 (27 May 2010). 深圳地名. Shenzhen People's Government. Archived from the original on 4 October 2011. Retrieved 14 November 2011.
- ↑ [https://web.archive.org/web/20120511090249/http://www.sz.gov.cn/cn/zjsz/szgl/201107/t20110712_1675686.htm "���ڸ���--������������"]. web.archive.org. 2011-11-04. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-05-11. สืบค้นเมื่อ 2024-11-18.
{{cite web}}
: replacement character ใน|title=
ที่ตำแหน่ง 1 (help)CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์) - ↑ "CCTV.com-生活频道". www.cctv.com.
- ↑ "深圳的前身并不是"小渔村"". finance.sina.com.cn.
- ↑ [https://web.archive.org/web/20170302141305/http://www.sz.gov.cn/cn/zjsz/gl/201608/t20160826_5230558.htm "���ڸ�ò--���ڸ���"]. web.archive.org. 2017-03-02. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-03-02. สืบค้นเมื่อ 2024-11-18.
{{cite web}}
: replacement character ใน|title=
ที่ตำแหน่ง 1 (help)CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์) - ↑ Rule, Ted and Karen, "Shenzhen, the Book", Hong Kong 2014
- ↑ Wills, John E. (2011), China and Maritime Europe, 1500–1800: Trade, Settlement, Diplomacy, and Missions, Cambridge University Press, p. 28
- ↑ "สำเนาที่เก็บถาวร". web.archive.org. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-08-31. สืบค้นเมื่อ 2024-11-18.
- ↑ "深圳旧事 | 英国两千军队占领深圳长达半年,这是怎么回事?". www.sohu.com.
- ↑ "百年罗湖桥走进历史". web.archive.org. 2004-06-27. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2004-06-27. สืบค้นเมื่อ 2024-11-18.
{{cite web}}
: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์) - ↑ "学者记录深圳30年大逃港 百万内地人曾越境香港_新闻中心_新浪网". news.sina.com.cn.
- ↑ "招商局集团". web.archive.org. 2017-09-07. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-09-07. สืบค้นเมื่อ 2024-11-18.
- ↑ [https://web.archive.org/web/20170825142739/http://30.people.com.cn/GB/122679/8048595.html "1979��4�µ�Сƽ��һ����ʽ���������������--��������--������"]. web.archive.org. 2017-08-25. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-08-25. สืบค้นเมื่อ 2024-11-18.
{{cite web}}
: replacement character ใน|title=
ที่ตำแหน่ง 5 (help) - ↑ Curtis, Simon; Klaus, Ian (2024). The Belt and Road City: Geopolitics, Urbanization, and China's Search for a New International Order. New Haven and London: Yale University Press. ISBN 9780300266900.
- ↑ Fish, Isaac Stone (2010-09-25). "China's Hottest Cities and Kashgar". Newsweek (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ "Shenzhen Continues to lead China's reform and opening-up". www.china.org.cn.
- ↑ Holmes, Frank. "China's New Special Economic Zone Evokes Memories Of Shenzhen". Forbes (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ "The spirit of enterprise fades". The Economist. ISSN 0013-0613. สืบค้นเมื่อ 2024-11-18.
- ↑ "深圳经济特区 | 广东省情信息库". web.archive.org. 2017-09-07. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-09-07. สืบค้นเมื่อ 2024-11-18.
{{cite web}}
: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์) - ↑ Chatwin, Jonathan (2024). The Southern Tour: Deng Xiaoping and the Fight for China's Future. Bloomsbury Academic. ISBN 9781350435711.
- ↑ Hu, Richard (2023). Reinventing the Chinese City. New York: Columbia University Press. ISBN 978-0-231-21101-7.
- ↑ "Explained: how Hong Kong's Legislative Council has evolved". South China Morning Post (ภาษาอังกฤษ). 2016-09-02.
- ↑ "2001APEC". www.china.org.cn.
- ↑ "Shenzhen". BBC Weather (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ Ge, Wei (1999). Special Economic Zones and the Economic Transition in China (ภาษาอังกฤษ). World Scientific. ISBN 978-981-02-3790-5.
- ↑ "Shenzhen named biggest economy in China's Guangdong province". South China Morning Post (ภาษาอังกฤษ). 2017-12-06.
- ↑ "Hong Kong economy surpassed by neighbour Shenzhen for first time". South China Morning Post (ภาษาอังกฤษ). 2019-02-27.
- ↑ "Shenzhen economic expansion dwarfs growth in Hong Kong and Singapore". South China Morning Post (ภาษาอังกฤษ). 2018-01-15.
- ↑ Hyatt, John. "Beijing Overtakes New York City As City With Most Billionaires: Forbes 2021 List". Forbes (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ "Emerging cities, sinking cities in Asia by 2030 | Japan Center for Economic Research". www.jcer.or.jp.
- ↑ Wolf D. Hartmann, Wolfgang Maennig, Run Wang: Chinas neue Seidenstraße. (2017).
- ↑ "Maritime Silk Road starts a wave of bandwagon jumping at home". South China Morning Post (ภาษาอังกฤษ). 2017-12-03.
- ↑ "The Maritime Silk Road in South-East Asia". www.southworld.net (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 2019-02-01.
- ↑ Dachser, Bernhard Simon, CEO (2020-01-09). "Can the New Silk Road Compete with the Maritime Silk Road?". Global Trade Magazine.
- ↑ "Fortune 500". Fortune (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ [https://web.archive.org/web/20190820213002/http://www.sz.gov.cn/cn/xxgk/zfxxgj/zwdt/201612/t20161222_5761345.htm "����������ҵ��������չ��ʮ���塱�滮����--����̬"]. web.archive.org. 2019-08-20. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-08-20. สืบค้นเมื่อ 2024-11-20.
{{cite web}}
: replacement character ใน|title=
ที่ตำแหน่ง 1 (help)CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์) - ↑ "AAAAA Scenic Areas_National Tourism Administration of The People's Republic of China". web.archive.org. 2014-04-04. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-04-04. สืบค้นเมื่อ 2024-11-20.
{{cite web}}
: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์) - ↑ Springer, Kate (2018-01-04). "Shenzhen: Add it to your China travel list". CNN (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ "KK100 - The Skyscraper Center". www.skyscrapercenter.com.
- ↑ "Tourism in Shenzhen, China | USA Today". web.archive.org. 2019-08-20. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-08-20. สืบค้นเมื่อ 2024-11-20.
- ↑ Holland, Oscar (2018-12-12). "China built more skyscrapers in 2018 than ever before". CNN (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ "Cities by Number of 150m+ Buildings - The Skyscraper Center". www.skyscrapercenter.com.
- ↑ Robinson, Melia. "One Chinese city built more skyscrapers in 2016 than the US and Australia combined". Business Insider (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
- ↑ "Shenzhen - The Skyscraper Center". www.skyscrapercenter.com.
- ↑ Sun, Cong; Xue, Charlie Q. L. (2020-06-01). "Shennan Road and the modernization of Shenzhen architecture". Frontiers of Architectural Research. 9 (2): 437–449. doi:10.1016/j.foar.2019.11.002. ISSN 2095-2635.
- ↑ "There's a lot more to Hong Kong neighbour Shenzhen than cheap suits and massages". South China Morning Post (ภาษาอังกฤษ). 2014-05-21.
- ↑ "感受深圳的饮食文化". web.archive.org. 2017-03-02. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-03-02. สืบค้นเมื่อ 2024-11-20.
- ↑ "Chinese state gets taste for McDonald's as symbolic power fades". South China Morning Post (ภาษาอังกฤษ). 2017-08-12.
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ เชินเจิ้น
- เว็บไซต์นครเชินเจิ้น
- ShekouDaily: English Language News and Resources
- WikiSatellite view of Shenzhen at Wikimapia