เจ้าแม่วัดดุสิต
บทความนี้ต้องการตรวจสอบความถูกต้องจากผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนั้น ๆ โปรดเพิ่มพารามิเตอร์ reason หรือ talk ลงในแม่แบบนี้เพื่ออธิบายปัญหาของบทความ |
เจ้าแม่วัดดุสิต | |
---|---|
พระนม | |
มีชื่อเสียงจาก | พระบรมอรรคราชบรรพบุรุษของราชวงศ์จักรี |
ถึงแก่กรรม | ราวปี พ.ศ. 2231 – 2232 กรุงศรีอยุธยา อาณาจักรอยุธยา |
ที่พำนัก | ตำหนักริมวัดดุสิดาราม |
บุตร | เจ้าพระยาโกษาธิบดี (เหล็ก) เจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) แช่ม หรือ ฉ่ำ |
เจ้าแม่วัดดุสิต เป็นพระบรมอรรคราชบรรพบุรุษของราชวงศ์จักรี และเป็นพระนมเอกในสมเด็จพระนารายณ์มหาราช[1] ซึ่งได้รับพระราชทานตำหนักริมวัดดุสิดารามเป็นที่อาศัย จึงเป็นที่มาของคำว่าเจ้าแม่วัดดุสิต
ข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับชาติกำเนิดของเจ้าแม่วัดดุสิตมีมากมาย แต่ไม่ปรากฏหลักฐานอย่างแน่ชัดว่าเจ้าแม่วัดดุสิตสืบเชื้อสายมาจากผู้ใด หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้กล่าวไว้ในหนังสือ โครงกระดูกในตู้ โดยอ้างจากหนังสือราชินิกุลบางช้างไว้ว่า "เจ้าแม่วัดดุสิตมีศักดิ์เป็นหม่อมเจ้าในราชวงศ์พระมหาธรรมราชา ซึ่งสืบเชื้อสายมาแต่ราชวงศ์พระร่วงกรุงสุโขทัย"[2] นอกจากนี้ ยังมีการกล่าวถึงบรรพบุรุษของเจ้าแม่วัดดุสิตไว้ว่า สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ทรงได้ฟังคำบอกเล่าจากพระวันรัตน์ (ฉิม) ว่าเจ้าฟ้าหญิงรัศมีและเจ้าฟ้าจีกเคยตรัสเล่าว่า สมเด็จพระเอกาทศรถได้อภิเษกสมรสกับธิดาของพระยาเกียรติ์ (ขุนนางชาวมอญที่ติดตามสมเด็จพระนเรศวรมหาราช)[3] มีธิดาคือเจ้าครอกบัว (หม่อมเจ้าบัว) และเจ้าครอกอำภัย (หม่อมเจ้าอำไพ) แต่ในหนังสือนี้ยังมีข้อความที่คลุมเครือระหว่างเจ้าครอกบัวและเจ้าครอกอำไพอยู่มาก ซึ่งทำให้สับสนว่า เจ้าแม่วัดดุสิตมีชื่อเดิมว่าอย่างไรกันแน่ บางแห่งกล่าวว่าชื่อ "หม่อมเจ้าหญิงบัว" มีเชื้อสายพระร่วงสุโขทัย บางแห่งก็กล่าวว่าชื่อ "หม่อมเจ้าหญิงอำไพ" เป็นพระราชธิดาในสมเด็จพระเอกาทศรถ
ภายหลังสมเด็จพระนารายณ์มหาราชขึ้นครองราชย์ เจ้าแม่วัดดุสิตได้รับการสถาปนาพระอิสริยยศขึ้นเป็น "พระองค์เจ้าบัว" และต่อมาเป็น "กรมพระเทพามาตย์ "[4] อย่างไรก็ตาม หลักฐานหลายแห่งก็ไม่ได้บ่งบอกว่าสายตระกูลของเจ้าแม่วัดดุสิตนั้นสืบเชื้อสายมาจากเชื้อพระวงศ์สายไหนเช่นกัน[5] แต่จากเอกสารพงศาวดารไทยหลายฉบับและของต่างประเทศเป็นที่ยืนยันว่าเจ้าแม่วัดดุสิตนั้นมีตัวตนอย่างแน่นอน
เจ้าแม่วัดดุสิตสมรสกับสามีซึ่งเป็นเชื้อสายของพระยาเกียรติ (ขุนนางชาวมอญที่ตามเสด็จสมเด็จพระนเรศวรมารับราชการในกรุงศรีอยุธยา) มีบุตรธิดา 3 คน คือ
- เจ้าพระยาโกษาธิบดี (เหล็ก) แม่ทัพคราวไปตีนครเชียงใหม่ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์
- เจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) ราชทูตเอก
- แช่ม หรือ ฉ่ำ ธิดา
แม้สมเด็จพระนารายณ์ทรงใช้คำตรัสเรียกว่า "เจ้าแม่วัดดุสิต" คือเป็นนามโดยตำแหน่ง ตามธรรมเนียมนิยมแต่ก่อนจะไม่นิยมเรียกพระนามผู้เป็นเจ้ากันตรง ๆ อย่างไรก็ดี อาจเป็นไปได้แต่เพียงว่า สมเด็จพระนารายณ์ตรัสเรียกให้เกียรติเสมอด้วย "เจ้า" เนื่องจากหลักฐานตั้งแต่รัชกาลที่ 4 ขึ้นไป คือ จดหมายเหตุชาวต่างประเทศ หรือพระราชพงศาวดารกรุงเก่าฉบับต่าง ๆ ไม่ได้กล่าวถึงที่มาที่ไปของเจ้าแม่วัดดุสิตรวมไปถึง "ความเป็นเจ้า" ของท่านแม้แต่น้อย
ด้วยความที่เป็นพระนมสมเด็จพระนารายณ์ บุตรชายทั้งสองจึงเป็นสหายสนิทและเป็นที่โปรดปราน ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น เจ้าพระยาพระคลังทั้ง 2 คน มีเหตุการณ์ครั้งหนึ่งที่ หลวงสรศักดิ์ (ต่อมาคือ สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 8 หรือพระเจ้าเสือ) ขัดแย้งกับพระยาวิไชเยนทร์ (คอนสแตนติน ฟอลคอน) เพราะได้ทำการสึกพระภิกษุและสามเณรจำนวนมากออกไปทำราชการ จนเกิดการชกต่อย หลวงสรศักดิ์เกรงจะถูกลงพระราชอาญา จึงขอร้องให้เจ้าแม่ดุสิตช่วยเหลือ ซึ่งพระองค์ก็พระราชทานอภัยโทษให้[6]
เจ้าแม่วัดดุสิตถึงแก่อสัญกรรมเมื่อใดไม่ปรากฏ แต่ตามจดหมายเหตุของเอ็งเงิลแบร์ท เค็มพ์เฟอร์ นายแพทย์ชาวเยอรมนีที่เข้ามายังกรุงศรีอยุธยาในแผ่นดินพระเพทราชา มีการบันทึกเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน ค.ศ. 1690 (พ.ศ. 2233) ไว้ว่า มารดาของโกษาปานนั้นได้ทำศพแล้วเสร็จเมื่อ 15 เดือนก่อน (หรือ ราวเดือนมีนาคม พ.ศ. 2232) ดังนั้น เจ้าแม่วัดดุสิตอาจจะอสัญกรรมในช่วงต้นรัชกาลสมเด็จพระเพทราชา
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "ปริศนาเจ้าแม่วัดดุสิต ต้นราชวงศ์จักรี "เจ้า" หรือ "สามัญชน"???". ศิลปวัฒนธรรม. 15 เมษายน พ.ศ. 2560. สืบค้นเมื่อ 10 มิถุนายน 2560.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
และ|date=
(help) - ↑ หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช. โครงกระดูกในตู้. กรุงเทพฯ : บริษัท โอ เอ็น จี การพิมพ์ จำกัด, พ.ศ. 2548. 109 หน้า. หน้า 21. ISBN 974-690-131-1
- ↑ เซอร์จอห์น เบาว์ริง. ราชอาณาจักรและราษฎรสยาม. มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์. กรุงเทพฯ : [ม.ป.พ.], พ.ศ. 2547. หน้า 87.
- ↑ กิตติ โล่ห์เพชรัตน์.//2565.//ประวัติศาสตร์แปลก ๆ ในสยาม.//พิมพ์ครั้งที่ 1.//กรุงเทพมหานคร:/สำนักพิมพ์ก้าวแรก.
- ↑ ปรามินทร์ เครือทอง. ศิลปวัฒนธรรม : ตามหา "เจ้าแม่วัดดุสิต" ปริศนาต้นพระราชวงศ์จักรี เจ้านายหรือสามัญชน ฉบับที่ 6 ปีที่ 26. กรุงเทพฯ : [ม.ป.พ.], พ.ศ. 2548. หน้า 76-86.
- ↑ เจ้าแม่วัดดุสิต[ลิงก์เสีย]
- ชาญวิทย์ เกษตรศิริ. อยุธยา ประวัติศาสตร์การเมือง. 2548. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.