ข้ามไปเนื้อหา

เจ้าฟ้าหญิงมกุฎราชกุมารีมณีไลย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เจ้าฟ้าหญิงมณีไลย
มกุฎราชกุมารีแห่งลาว
ประสูติ29 ธันวาคม พ.ศ. 2484 (83 ปี)
เมืองหลวงพระบาง ประเทศลาว
พระราชสวามีสมเด็จเจ้าฟ้าชายวงศ์สว่าง องค์มกุฎราชกุมาร
พระบุตรเจ้าชายสุลิวง
เจ้าชายทันยะวง
เจ้าชายสิลานะวง
เจ้าชายอนุลาดวง
เจ้าหญิงมะนีโสมพัน
เจ้าหญิงสะหวีนาลี
เจ้าชายมะนีลามา
ราชวงศ์ราชวงศ์ล้านช้างร่มขาว
พระชนกองค์เสด็จเจ้าฟ้าชายคำพรรณปัญญา
พระชนนีหม่อมชาวเมืองปากลาย

เจ้าฟ้าหญิงมณีไลย มกุฎราชกุมารีแห่งลาว (ลาว: ເຈົ້າຟ້າຍິງມະນີໄລ ມຸງກຸຕຣາຊກຸມາຣີ) หรือ เจ้ามะนีไล สว่าง (ประสูติ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2484 —) หรือที่ชาวหลวงพระบางรู้จักในชื่อ "เจ้าป้า"[1] พระวรชายาในสมเด็จเจ้าฟ้าชายวงศ์สว่าง องค์มกุฎราชกุมาร พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระเจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวัฒนา พระมหากษัตริย์องค์สุดท้ายแห่งราชอาณาจักรลาว

พระประวัติ

[แก้]

เจ้าหญิงมณีไลย ประสูติเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2484เมืองหลวงพระบาง ประเทศลาว มีพระนามเดิมว่า มณีไลย ปัญญา เป็นพระธิดาในองค์เสด็จเจ้าฟ้าชายคำพรรณปัญญา กับหม่อมชาวเมืองปากลายไม่ปรากฏนาม[2] โดยพระชนกของพระองค์เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระเจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวงศ์ กับหม่อมคำหล้า[2] เจ้าหญิงมณีไลยทรงสำเร็จการศึกษาขั้นต้นจากโรงเรียนประถมหลวงพระบาง และโรงเรียนลิเซปาวี ในนครหลวงพระบาง และได้ศึกษาต่อยังประเทศอังกฤษ[2]

อภิเษกสมรส

[แก้]

เจ้าหญิงมณีไลยได้อภิเษกสมรสกับสมเด็จเจ้าฟ้าชายวงศ์สว่าง องค์มกุฎราชกุมาร พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระเจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวัฒนา กับพระอัครมเหสีคำผูย เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2505[2] มีพระโอรส-ธิดาด้วยกัน 7 พระองค์ เป็นพระโอรส 5 พระองค์ และพระธิดา 2 พระองค์ ได้แก่

  1. เจ้าชายสุลิวง (สุริวงศ์, ประสูติ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2506 —) ผู้อ้างสิทธิในราชบัลลังก์ลาวองค์ปัจจุบัน สมรสกับเจ้าจันทร์ศุกร์ สุขธารา[3] ปัจจุบันประทับในฝรั่งเศส[1]
  2. เจ้าชายทันยะวง (ธัญวงศ์, ประสูติ 17 เมษายน พ.ศ. 2507 —) สมรสกับสาทุเจ้าหญิงมาลิกา คำม้าว ปัจจุบันประทับในสหรัฐอเมริกา
  3. เจ้าหญิงมะนีโสมพัน (มณีโสมพรรณ, ประสูติ พ.ศ. 2508 —) สมรสกับเสด็จเจ้าชายไชยคำพรรณ ปัญญา พระมาตุลา (พี่ชายของพระมารดา) ปัจจุบันประทับในออสเตรเลีย
  4. เจ้าหญิงสะหวีนาลี (ฉวีนารี, ประสูติ พ.ศ. 2510 —) สมรสกับนายสันติ อินทะวง มีบุตร-ธิดาด้วยกัน 2 คน ปัจจุบันประทับในลาว
  5. เจ้าชายสิลานะวง (ประสูติ พ.ศ. 2512 —) ปัจจุบันประทับในสหรัฐอเมริกา
  6. เจ้าชายมะนีลามา (มณีลามา, ประสูติ พ.ศ. 2519 —) สมรสกับสตรีสัญชาติเวียดนาม ปัจจุบันประทับในลาว
  7. เจ้าชายอนุลาดวง (อนุราชวงศ์, ประสูติ พ.ศ. 2521 —) ปัจจุบันประทับในลาว

การเปลี่ยนแปลงการปกครอง

[แก้]

ในวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2518 พระเจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวัฒนาทรงสละราชบัลลังก์ ก่อนการสถาปนาสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว 1 อาทิตย์ โดยฝ่ายปะเทดลาวได้ทำการรัฐประหารยึดอำนาจและเปลี่ยนแปลงการปกครองเหล่าพระราชวงศ์ทรงถูกส่งไปจองจำที่ค่ายสัมมนาในแขวงหัวพัน ทางภาคเหนือของประเทศ ภายในค่ายสัมมนาคือค่ายกักกันสร้างความยากลำบากสำหรับเหล่าพระราชวงศ์ จนกระทั่งสมเด็จเจ้าฟ้าชายวงศ์สว่าง องค์มกุฎราชกุมาร พระภัสดาของพระองค์ได้เสด็จสวรรคตลงเสียก่อนที่ศูนย์สัมมนาหมายเลข 5 เมืองเวียงไซ แขวงหัวพัน ในช่วงเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2524 ต่อมาพระนางคำผูยก็สิ้นพระชนม์ในวันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2524 สิริพระชนมายุ 69 พรรษา ภายในค่ายสัมมนาที่หมู่บ้านสบฮาว[4] ขณะที่พระบาทสมเด็จพระเจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวัฒนา เสด็จสวรรคตในปี พ.ศ. 2521 หรือ พ.ศ. 2527 ไม่แจ้งชัดนัก แต่ประชาชนบางส่วนเชื่อว่าสิ้นพระชนม์เนื่องจากการขาดสารอาหาร[5] ส่วนพระองค์เองก็ทรงตกระกำลำบากอยู่ในสภาวะที่เรียกว่า "ซิ่นขาดคาขา"[5] แต่พระองค์ก็รอดพ้นเหตุการณ์ดังกล่าวมาได้

เหตุการณ์หลังการเปลี่ยนแปลง

[แก้]

หลังจากผ่านพ้นเหตุการณ์ต่าง ๆ แล้ว ทางการจึงได้มีการปล่อยตัวให้ทุกคนกลับมาใช้ชีวิตตามปกติที่เมืองหลวงพระบางแต่ก็มีผู้คอยสอดแนมทุกฝีก้าวอยู่เสมอ[1] พระโอรสของพระองค์สองพระองค์ คือ เจ้าสุลิวงและเจ้าทันยะวง ได้หนีออกจากประเทศลาว โดยเจ้าสุลิวงทำทีเป็นแจ้งกับทางการว่า ไม่สบายต้องไปรักษาที่เวียงจันทน์ เจ้าหน้าที่ก็ยอม พอถึงเวียงจันทน์ก็ติดต่อบรรดาอดีตเจ้านายเก่าของลาวให้พระโอรสพาข้ามแม่น้ำโขง โดยการนั่งเรือออกจากเวียงจันทน์ในเวลาค่ำคืน ถึงฝั่งไทยหลังจากสอบสวนกันเรียบร้อยแล้วก็มีคนพาไปหลบซ่อนตัวในที่ปลอดภัยก่อนที่ส่งต่อไปยังฝรั่งเศส[1] และเป็นผู้อ้างสิทธิในราชบัลลังก์ลาวคนปัจจุบัน[1]

ในปัจจุบันเจ้าหญิงมณีไลยทรงดำเนินชีวิตเยี่ยงสามัญในบ้านหลังเล็กในเมืองหลวงพระบาง[1][5] และชาวหลวงพระบางเองก็เรียกขานพระองค์ว่า "เจ้าป้า"[1] ทรงมีร้านอาหาร คือ ร้านสกุณา ที่ตั้งอยู่ในเมืองหลวงพระบาง[6] ทรงมีโอกาสพบปะพระโอรสธิดาได้ไม่บ่อยครั้งนัก เนื่องจากลูกหลานไปประทับต่างประเทศเสียส่วนใหญ่ ประกอบกับพระองค์ไม่สะดวกที่จะเดินทางออกจากลาว อย่างมากพระองค์ก็เสด็จมาพบแพทย์ของโรงพยาบาลในจังหวัดอุดรธานีเป็นครั้งคราวเท่านั้น[1]

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 1.5 1.6 1.7 "'สุริวงศ์ สว่าง' รัชทายาทไร้บัลลังก์เพรียกหาประชาธิปไตยในฝัน!". สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี ในเนชั่นสุดสัปดาห์. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-06-21. สืบค้นเมื่อ 2010-11-3. {{cite news}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 "The Khun Lo Dynasty". Royalask.com. สืบค้นเมื่อ 2010-11-6. {{cite news}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  3. "คิดฮอดเมืองลาว – I miss Laos. บทผนวก/จบ (6)". BlogGang.com. สืบค้นเมื่อ 2010-11-5. {{cite news}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  4. Osborne, Milton (September 20, 2003). "Bamboo Palace".
  5. 5.0 5.1 5.2 "สิ้นสุดของเจ้าลาว". Pantip.com. สืบค้นเมื่อ 2010-11-3. {{cite news}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  6. "หลวงพระบาง มรดกโลก". MrBackpacker.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-10-22. สืบค้นเมื่อ 2010-11-6. {{cite news}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)