ข้ามไปเนื้อหา

เจ้าจอมมารดาอัมพา ในรัชกาลที่ 2

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เจ้าจอมมารดาอัมพา
เจ้าจอมมารดาอัมพา ในปัจฉิมวัย
เกิดอัมพา
จักรวรรดิชิง
อนิจกรรมอาณาจักรรัตนโกสินทร์
ตระกูลไกรฤกษ์ (โดยเกิด)
จักรี (โดยสมรส)
คู่สมรสพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
บุตร
บิดาพระอินทรอากร (อิน ไกรฤกษ์)

เจ้าจอมมารดาอัมพา[1] มีสมญาในการแสดงว่า อัมพากาญจหนา เป็นพระสนมในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย มีพระทายาทสืบเชื้อสายในสายราชสกุลกปิตถา และปราโมช[2]

ประวัติ

[แก้]

เจ้าจอมมารดาอัมพา เป็นธิดาคนที่สามจากทั้งหมดเจ็ดคนของพระยาอินทรอากร (อิน ไกรฤกษ์[3][4] หรือ โง้ว แซ่หลิม) กับมารดาชาวจีนไม่ปรากฏนาม[2] และเกิดในประเทศจีน มีพี่น้องคือ เสง (ช.), มิน (ช.), ไม้เทศ (ญ.), เถาวัลย์ (ญ.), กลีบ (ญ.) และมุ่ย (ช.)

ทั้งนี้พระยาอินทรอากรผู้บิดา เป็นน้องชายของพระยาไกรโกษา (เริก ไกรฤกษ์) ที่ถวายตัวรับราชการต่อสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีในตำแหน่งเสมียนกรมท่าซ้าย ติดต่อค้าขายกับประเทศจีน จนลุมาสมัยรัชกาลที่ 1 จึงเลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น "พระยาไกรโกษา" และเป็นต้นสกุลไกรฤกษ์สืบมา[5] ส่วนน้องชายของท่านคือ มุ่ย เป็นต้นสกุลนิยะวานนท์ และมีหลานสาวเข้ารับราชการฝ่ายในคือ เจ้าจอมมารดาเลื่อน ในรัชกาลที่ 5[6]

เจ้าจอมมารดาอัมพาได้รับการเลี้ยงดูอย่างกุลสตรีจีนและถูกมัดเท้าเล็กตามธรรมเนียม จนอายุได้ 8 ขวบบิดาจึงนำมาอำรุงเลี้ยงต่อในไทย จึงแก้มัดเท้าดังกล่าวออกเสียและอบรมอย่างกุลสตรีไทยสืบมา[2] เมื่ออยู่ในไทยได้เพียงปีเดียว บิดาก็ถวายตัวไปเป็นนางละครรุ่นเล็กของรัชกาลที่ 1 ด้วยมีความสามารถในการแสดงละครไทยได้อย่างงดงามและมีชื่อเสียงโดยเฉพาะบทนางกาญจหนาในวรรณคดีเรื่องอิเหนา จึงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นครูละครและมีโรงละครเป็นของตนเองในเวลาต่อมา[2] จากการมีชื่อเสียงประกอบกับความงามดังกล่าวสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร (ต่อมาคือ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย) จึงทรงมีจิตปฏิพัทธ์และมีความสัมพันธ์กันในเวลาต่อมา และให้ประสูติกาลพระราชบุตร 6 พระองค์ คือ[1][3][4]

  1. พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นภูบาลบริรักษ์ (ประสูติ: 5 เมษายน พ.ศ. 2357 - สิ้นพระชนม์: 22 ธันวาคม พ.ศ. 2415) เป็นต้นราชสกุลกปิตถา
  2. พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนวรจักรธรานุภาพ (ประสูติ: 11 มีนาคม พ.ศ. 2359 - สิ้นพระชนม์: 13 มิถุนายน พ.ศ. 2415) เป็นต้นราชสกุลปราโมช
  3. พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเกยูร (ประสูติ: 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2361 - สิ้นพระชนม์: 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2398)
  4. พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ากัณฐา (ประสูติ: 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2364 - สิ้นพระชนม์: พ.ศ. 2393)
  5. พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ากัลยาณี (ประสูติ: 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2365 - สื้นพระชนม์: พ.ศ. 2366)
  6. พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ากนิษฐน้อยนารี (ประสูติ: 22 มกราคม พ.ศ. 2367 - สื้นพระชนม์: 31 สิงหาคม พ.ศ. 2406)

ทั้งนี้เจ้าจอมมารดาอัมพายังเป็นสตรีที่เจ้าระเบียบ แต่งกายเป็นนางในตลอดชีพคือนุ่งสไบตามสีของวัน แม้จะมีฐานะเป็นเจ้าจอมมารดาของกษัตริย์ไทยแต่เจ้าจอมมารดาอัมพาก็ไม่เคยลืมกำพืดของตน เมื่อมีญาติมาเฝ้าในวังท่านก็จะเจรจาโต้ตอบด้วยภาษาจีนเสมอ ซ้ำยังสอนภาษาจีนแก่เหล่านางในด้วยกันอีกด้วย[2] ในช่วงที่สมเด็จเจ้าฟ้ามงกุฏออกผนวช เจ้าจอมมารดาอัมพาก็ทำเครื่องเสวยส่งจากวังทั้งเช้าและเพล จนพระภิกษุเจ้าฟ้ามงกุฏทรงซาบซึ้งนัก หลังสืบราชสมบัติเป็นรัชกาลที่ 4 แล้ว ก็ทรงตรัสเรียกท่านว่า "แม่พา" อยู่เสมอถือเป็นการให้เกียรติอย่างสูง[2] ทั้งนี้เจ้าจอมมารดาอัมพามักทูลเกล้าถวายเงินอยู่เสมอ และปรารภว่า "ในหลวงแผ่นดินนี้ท่านยากจน ทรงผนวชมาแต่ทรงพระเยาว์ และลาผนวชมาเสวยราชสมบัติ ไม่มีเวลาสะสมราชทรัพย์ เงินแผ่นดินนั้นต้องทรงใช้จ่ายในราชการแผ่นดิน จะใช้สอยส่วนพระองค์อัตคัด" พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงรับเงินดังกล่าวไว้ด้วยความเต็มพระทัย[2]

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 "ราชสกุลวงศ์" (PDF). กรมศิลปากร, สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2017-02-02. สืบค้นเมื่อ 24 กุมภาพันธ์ 2557. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 2.5 2.6 วิบูล วิจิตรวาทการ. น.พ. สตรีสยามในอดีต. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ:สร้างสรรค์บุ๊คส์. 2542, หน้า 115-120
  3. 3.0 3.1 ส.พลายน้อย. พระบรมราชินีและเจ้าจอมมารดาแห่งราชสำนักสยาม. พิมพ์ครั้งที่ 5. กรุงเทพฯ:ฐานบุ๊คส์. 2554, หน้า 267-268
  4. 4.0 4.1 กัลยา เกื้อตระกูล. พระอัครมเหสี พระบรมราชินี พระชายานารี เจ้าจอมมารดา และเจ้าจอม ในรัชกาลที่ ๑-๗ กรุงเทพฯ:ยิปซี. 2552, หน้า 66-67
  5. "100 ปี ไกรฤกษ์" ความอบอุ่นเหนือกาลเวลาลูกเต็มบ้านหลานเต็มเมือง". ASTVผู้จัดการออนไลน์. 5 มกราคม 2557. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-02-20. สืบค้นเมื่อ 4 มีนาคม 2557. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  6. ส.พลายน้อย. พระบรมราชินีและเจ้าจอมมารดาแห่งราชสำนักสยาม. พิมพ์ครั้งที่ 5. กรุงเทพฯ:ฐานบุ๊คส์. 2554, หน้า 342