เครื่องเขิน
เครื่องเขิน หรือ เครื่องรัก คือ วัตถุที่เคลือบด้วยยางรัก หมายรวมถึงภาชนะขนาดต่าง ๆ เช่น เครื่องใช้บนโต๊ะอาหาร วัตถุพกพาขนาดเล็กต่าง ๆ หรือวัตถุขนาดใหญ่ เช่น ตู้พระธรรม เฟอร์นิเจอร์หรือแม้แต่โลงศพที่ทาด้วยยางรัก เครื่องเขินอาจมีลายวาดประดับตกแต่ง หรือฝังด้วยเปลือกหอยและวัสดุอื่น ๆ มีการแกะสลัก หรือการใช้โลหะมีค่าประดับเช่น ทองคำเปลว เงินเปลว ผงทอง ผงเงิน เป็นต้น
ประเทศในเอเชียตะวันออกมีประเพณีการทำเครื่องเขินมาช้านาน ย้อนกลับไปหลายพันปีในญี่ปุ่น จีน และเกาหลี ยางรักที่รู้จักกันดีที่สุดคือยางรักจีนหรือยางรักญี่ปุ่น "อุรุชิ" ที่พบได้ทั่วไปในเอเชียตะวันออก ส่วนในภาพรวมทั่วโลกนั้นประเพณีการทำเครื่องเขินในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียใต้ และอเมริกา มีเช่นเดียวกันมาแต่โบราณ และมีต้นกำเนิดแยกกัน
เอเชียตะวันออก
[แก้]พบต้นรักที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศญี่ปุ่น มาจากยุคโจมง อายุ 12,600 ปี เครื่องเขินที่เก่าแก่ที่สุดในโลก เป็นเครื่องประดับสำหรับใส่ในหลุมฝังศพซึ่งสร้างขึ้นในศตวรรษที่ 7 ก่อนคริสตกาล ถูกขุดพบที่ไซต์คาคิโนะชิมะ ในฮาโกดาเตะ ฮอกไกโด ประเทศญี่ปุ่น[1] เครื่องเขินยุคก่อนประวัติศาสตร์หลายชิ้นถูกขุดพบในประเทศจีนตั้งแต่ยุคหินใหม่ เครื่องเขินที่รู้จักในยุคแรก ๆ สันนิษฐานว่าเป็นชามไม้สีแดง ซึ่งขุดพบที่แหล่งวัฒนธรรมเหอมูตู (ประมาณ 5 พันปีก่อนคริสต์ศักราช) ในมณฑลเจ้อเจียง ประเทศจีน[2][3][4]
เครื่องเขินจีน
[แก้]ในสมัยราชวงศ์ซาง (1600–1046 ก่อนคริสต์ศักราช) ของจีน เทคนิคกระบวนการลงรักที่ซับซ้อนได้พัฒนากลายเป็นงานฝีมือชั้นสูง[5]
สมัยโจวตะวันออก (771–256 ก่อนคริสต์ศักราช) เครื่องเขินเริ่มปรากฏเป็นจำนวนมาก เป็นยุคแรกสุดที่เครื่องเขินจำนวนมากหลงเหลืออยู่[6]
สมัยราชวงศ์ฮั่น (206 ก่อนคริสต์ศักราช–ค.ศ. 220) มีการจัดตั้งหน่วยงานพิเศษเพื่อจัดระเบียบ และแบ่งแรงงานสำหรับการขยายการผลิตเครื่องเขินในจีน การตกแต่งรอยบากอย่างประณีตถูกใช้ในเครื่องเขินสมัยราชวงศ์ฮั่น[7]
สมัยราชวงศ์ถัง (ค.ศ. 618–907) เครื่องเขินของจีนมีรูปแบบการใช้แผ่นทองหรือเงินทำเป็นรูปต่าง ๆ เช่น นก สัตว์ และดอกไม้ การเจียระไนถูกติดลงบนพื้นผิวของเครื่องเขิน หลังจากนั้นจึงทาชั้นเคลือบใหม่ ตากให้แห้งแห้ง และบดออกเพื่อให้สามารถขัดพื้นผิวให้ขึ้นเงาจนเห็นลวดลายสีทองหรือสีเงินด้านล่าง สิ่งนี้ทำโดยใช้เทคนิคที่เรียกว่า ผิงโถว[8] เทคนิคดังกล่าวใช้เวลานานและมีค่าใช้จ่ายสูง แต่เครื่องเขินเหล่านี้ได้รับการพิจารณาว่ามีความประณีตสูง นอกจากนี้ยังเป็นช่วงที่เริ่มมีการฝึกแกะสลักเครื่องเขินขึ้นครั้งแรก[9]
ศิลปะการฝังทองคำ เงิน และหอยมุกยังคงดำเนินต่อไปตั้งแต่สมัยถังจนถึงราชวงศ์ซ่ง (ค.ศ. 960–1279)[10] เทคนิคการตกแต่งที่มีอยู่หลายอย่างค่อย ๆ พัฒนาเพิ่มเติมหลังจากศตวรรษที่ 10 เช่น diaoqi ( เครื่องเขินแกะสลัก ) ซึ่งเป็นการสร้างชั้นผิวด้วยการทายารักบาง ๆ หลาย ๆ ชั้นและแกะสลักเป็นภาพสามมิติ qiangjin (ทองแกะสลัก) ซึ่งมีรอยบากเป็นเส้นบาง ๆ เช็ดยางรักและปิดทองเปลวหรือผงทองลงในร่อง และ diaotian หรือ tianqi (การอุด) เป็นการลงรักด้วยรักสีอื่น รูปแบบของ diaotian หรือ tianqi เป็นที่รู้จักกันในชื่อ moxian (การขัดเงา) โดยลงชั้นยางรักในบางจุด จุดที่เหลือจะเติมด้วยยางรักสีอื่น ๆ และพื้นผิวทั้งหมดจะถูกขัดเงา โดยเฉพาะศิลปะการประดับมุกได้รับการพัฒนาอย่างสูงในสมัยราชวงศ์ซ่ง[11][10] อย่างไรก็ตาม ในช่วงยุคสมัยซ่งงานฝีมือทางศิลปะยังใช้การฝังทอง ซึ่งก็คือการแกะสลักลวดลายที่สลับซับซ้อนบนผิวยางรัก และเติมผงทองลงบนงานแกะสลัก
ความรู้วิธีการลงรักแบบจีนแพร่กระจายจากจีนช่วงสมัยราชวงศ์ฮั่น ราชวงศ์ถัง และราชวงศ์ซ่ง ในที่สุดก็ได้เข้าสู่เกาหลี[12]
เครื่องเคลือบ Coromandel เป็นประเภทของส่งออกของจีน ซึ่งเรียกเช่นนี้เนื่องจากถูกส่งไปยังตลาดยุโรปผ่านทางชายฝั่ง Coromandel ของอินเดีย
เครื่องเขินญี่ปุ่น
[แก้]คำศัพที่ใช้เรียกยางรักคือ อุรุชิ (漆) ซึ่งเป็นที่มาของคำลูกผสมในภาษาอังกฤษ " urushiol " ในทางศัพทมูลวิทยา urushi อาจเกี่ยวข้องกับคำว่า uruwashii ("สวยงาม") หรือ uruoi ("รดน้ำ", "มีกำไร", "เป็นที่โปรดปราน") เป็นการหมายถึงคุณค่าหรือรูปลักษณ์ที่แวววาว หรือบางทีอาจหมายถึงห้องความชื้นที่ใช้ในการบ่มเครื่องเขินในขั้นตอนการผลิต คำว่า " Japanning " ในศตวรรษที่ 17 เป็นคำที่ใช้เรียกเทคนิคที่ยุโรปใช้เพื่อเลียนแบบเครื่องเขินของเอเชีย ซึ่งได้มาจากเครื่องเขินของญี่ปุ่นที่มีชื่อเสียงในขณะนั้น
ลักษณะทั่วไปของเครื่องเขินของญี่ปุ่นคือการใช้เทคนิคต่าง ๆ อย่างหลากหลายกว่าประเทศอื่น ๆ เช่น Maki-e เป็นการวาดลวดลายลงบนเครื่องเขิน งานส่วนใหญเป็นลวดลายและรูปภาพ มีสีทองและเงินที่เปล่งประกายจากผงทองและผงเงินปรากฏบนพื้นสีดำของเครื่องเขิน[13]
เอเชียตะวันออกเฉียงใต้
[แก้]เครื่องเขินพม่า
[แก้]ยูนเถ่ (ယွန်းထညး) คือ เครื่องเขินในภาษาพม่า วิธีการลงรักเรียกว่า ปันหยุน (ပန်းယွန်း) ยางรักหรือน้ำยางที่กรีดจากต้นรักใหญ่หรือรักหลวง ภาษาพม่าเรียก ทิสิ (Gluta usitata) ที่ขึ้นในป่าของพม่า น้ำยางเป็นสีเหลืองอ่อนเหมือนฟางข้าวเมื่อแรกกรีด แต่จะเปลี่ยนเป็นสีดำเมื่อสัมผัสกับอากาศ เมื่อทาหรือเคลือบผิววัสดุ จะทำให้เกิดพื้นผิวเรียบเป็นมันแข็ง มีความทนทานต่อสภาพแวดล้อมที่สัมผัสกับความชื้นหรือความร้อนได้ระดับหนึ่ง
ประวัติ
[แก้]เศษเครื่องเขินที่เก่าแก่ที่สุดที่พบในพุกาม มีอายุย้อนไปถึงศตวรรษที่ 13 หลักฐานเครื่องเขินโบราณในพุกามยังสรุปไม่แน่ชัด[14] เครื่องเขินในพม่านั้นเรียกว่า โยนเถ่ หรือยูนเถ่ (Yung Hte) ซึ่งแปลว่าภาชนะของคนไทโยนหรือไทยวน รวมทั้งเรียกลวดลายบนภาชนะว่า ซินเหม่ ซึ่งหมายถึงเชียงใหม่ ทั้งนี้เครื่องเขินพม่าพัฒนาเทคนิคการตกแต่งเครื่องเขินต่างจากไทยยวนด้วยการประดับกระจก หรือรักปั้นแปะบนผิวภาชนะ มีปรากฏหลักฐานในพงศาวดารพม่าว่า เมื่อพม่ายึดครองเมืองเชียงใหม่ได้กวาดต้อนชาวเชียงใหม่ และช่างฝีมือไปไว้ที่เมืองพม่าหลายครั้ง โดยช่างฝีมือหรือชาวเชียงใหม่ที่ถูกกวาดต้อนได้ทำอุปกรณ์เครื่องใช้ด้วยรัก เรียกว่า “โยนเถ่” แปลว่าเครื่องยวนหรือเครื่องที่ประดิษฐ์โดยชาวยวนหรือล้านนา ปัจจุบันที่พุกามยังมีการทำโยนเถ่ ที่มีการตกแต่งลายขูดขีดแล้วถมลายเส้นด้วยสีต่าง ๆ อยู่[15]
การผลิตและการออกแบบ
[แก้]ภาชนะ กล่อง และถาดเคลือบมีพี้นฐานจากไม้ไผ่สาน มักผสมกับขนม้า ยางรัก (ทิสิ) อาจผสมกับขี้เถ้าหรือขี้เลื่อยเพื่อทำเป็นวัสดุอุด หรือ โป๊ว เรียกว่า ทะโย ซึ่งสามารถปั้นได้ วัตถุนี้ถูกเคลือบทับด้วยยางรักและทะโยเป็นชั้น ๆ เพื่อให้ผิวเรียบเนียน ขัดเงาและสลักลายอย่างประณีต มักใช้สีแดง สีเขียว และสีเหลืองบนพื้นสีแดงหรือสีดำ ชเวซาวา เป็นรูปแบบที่โดดเด่นในการใช้ทองคำเปลวเพื่อเติมเต็มลวดลายบนพื้นหลังสีดำ[16][17] ฉากในวัง ฉากจากนิทานชาดก และสัญลักษณ์ของนักษัตรพม่า เป็นลายที่ได้รับความนิยม และภาชนะบางชิ้นอาจประดับกระจกหรืออัญมณี วัตถุทั้งหมดทำด้วยมือ การออกแบบและแกะสลักด้วยมือเปล่าอาจใช้เวลาสามถึงสี่เดือนในการทำภาชนะขนาดเล็กให้เสร็จ สำหรับชิ้นใหญ่อาจต้องใช้เวลามากกว่าหนึ่งปี ผลงานที่เสร็จสมบูรณ์เป็นผลจากการทำงานเป็นทีม ไม่ใช่ฝีมือของคนคนเดียว[16]
รูปแบบ
[แก้]ภาชนะที่มีเอกลักษณ์ที่สุดคงจะเป็นโตกข้าวบนด้ามใหญ่พร้อมฝาปิดสำหรับพระสงฆ์ที่เรียกว่า ซุนโอะ (ဆွမ်းအုပ်) และ ละแพะโอะ เป็นจานก้นตื้นที่มีฝาปิดและมีช่องสำหรับใส่ ละแพะ (ใบชาหมัก) พร้อมเครื่องเคียงต่าง ๆ ปิ่นโตที่วางซ้อนกันได้ซึ่งยึดด้วยด้ามเดียวหรือ hsun gyaink มักเป็นสีแดงหรือดำล้วน Daunglan เป็นโต๊ะเตี้ยสำหรับรับประทานอาหารและอาจมีฐานกว้างเรียบง่ายหรือมีขาโค้งสามขาลวดลายสัตว์หรือดอกไม้พร้อมฝาปิด เหยือกใส่น้ำ หรือ เหย่ตากอง เป็นถ้วยสองชั้นมีฝาปิด และแจกันก็เป็นหนึ่งในเครื่องเขินที่ยังคงใช้อยู่ในอารามหลายแห่ง[16][17]
กล่องกลมมีฝาปิดแบบต่าง ๆ ขนาดเล็กและใหญ่เรียกว่า ยุนอิ รวมถึงกล่องสำหรับใส่หมากพลูเรียกว่า กู้นอิ (ကွမ်းအစ်) ยุ่นติตตะ เป็นกล่องสี่เหลี่ยมสำหรับเก็บสิ่งของต่าง ๆ รวมทั้ง peisa หรือคัมภีร์ใบลาน ที่พวกเขาเรียกว่า sadaik titta จานตั้งพื้นหรือถาดเล็กมีก้านมีหรือไม่มีฝาปิดเรียกว่า กาลาต สำหรับเสิร์ฟอาหารอันโอชะหรือถวายดอกไม้แด่เจ้านายหรือพระพุทธเจ้า คณะละครและนักดนตรีมักมีเครื่องเขิน เครื่องแต่งกาย หน้ากาก เครื่องประดับศีรษะ และเครื่องดนตรี บางส่วนเก็บรักษาและพกพาไว้ในกล่องเครื่องเขิน กล่องรูปฟักทองหรือรูปนก เช่น นกฮูกที่เชื่อว่านำโชค หรือรูปหงส์ ก็มีอยู่ทั่วไปเช่นกัน แผ่นป้ายและโต๊ะเหลี่ยมขนาดเล็กยังทำขึ้นเพื่อขายให้นักท่องเที่ยวในปัจจุบัน
อุตสาหกรรม
[แก้]พุกามเป็นศูนย์กลางที่สำคัญสำหรับอุตสาหกรรมเครื่องเขิน ที่ซึ่งงานหัตถกรรมได้รับการก่อตั้งขึ้นมาเกือบสองศตวรรษ และยังคงปฏิบัติในลักษณะดั้งเดิม ที่นี่เป็นโรงเรียนสอนเครื่องเขินของรัฐบาลที่ก่อตั้งขึ้นในคริสต์ทศวรรษที่ 1920 เนื่องจากพลาสติก พอร์ซเลน และโลหะเข้ามาแทนที่ยางรักในภาชนะส่วนใหญ่ที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ปัจจุบันมีการผลิตในเวิร์กช็อปขนาดใหญ่สำหรับนักท่องเที่ยวที่มาชมวัดโบราณในพุกามเป็นหลัก อย่างไรก็ตาม ที่หมู่บ้านเจาะกา ใกล้เมืองโมนยวา ในหุบเขาชี่น-ดวี่น ของใช้จากเครื่องเขินที่ทนทานยังคงผลิตขึ้นเพื่อใช้ในชีวิตประจำวัน โดยส่วนใหญ่เป็นสีดำล้วน[16] จำนวนผู้เข้าชมที่ลดลงประกอบกับต้นทุนเรซินซึ่งเพิ่มขึ้น 40 เท่าในรอบ 15 ปี ทำให้โรงงานเครื่องเขินกว่า 2 ใน 3 กว่า 200 แห่งในพุกามต้องปิดตัวลง[18]
เครื่องเขินไทย
[แก้]เครื่องเขิน หรือ เครื่องรัก ในอดีตมีสถานภาพเป็นทั้งสิ่งของเครื่องใช้ในครัวเรือน เป็นเครื่องใช้ในพิธีกรรม เป็นรูปเคารพ และเป็นงานศิลปะ เครื่องเขินมีโครงสร้างทำจากไม้ และที่นิยมมากคือโครงสร้างจากไม้ไผ่สานซึ่งช่วยให้ของใช้นั้นมีน้ำหนักเบาและยืดหยุ่นได้ไม่แตกหักง่าย[19] เครื่องเขินในพื้นที่ต่าง ๆ มีการโอนถ่ายกันไปมา เนื่องจากในอดีต มีการศึกสงครามระหว่างไทยกับพม่า โดยเฉพาะในพื้นที่ของล้านนามีการกวาดต้อนผู้คนไปมาอยู่หลายระลอก ทั้งจากล้านนามาพม่า และพม่ามายังล้านนา ซึ่งบรรดาช่างฝีมือด้านหัตถกรรมก็มักเป็นที่ต้องการ จึงทำให้งานหัตถกรรมอย่างเครื่องเขินแพร่หลายไปยังดินแดนพม่าด้วย โดยพม่าเรียกเครื่องเขินว่า ยูนเถ่ หรือเครื่องใช้ของคนยวน ซึ่งหมายถึงไทยวน อันเป็นคนส่วนมากในบริเวณแปดจังหวัดของภาคเหนือของไทย และรวมไปถึงในรัฐฉานตะวันออกด้วย จนกระทั่งเมื่อแต่ละประเทศถูกแบ่งแยกออกจากกันด้วยความเป็นรัฐสมัยใหม่ ทำให้เครื่องเขินของในแต่ละพื้นที่ก็มีการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาต่อไปตามแต่ละพื้นที่โดยไม่มีการปฏิสัมพันธ์กันอีก [20]
คำเรียกชื่อ
[แก้]คำว่า “เครื่องเขิน” หมายถึง ภาชนะ เครื่องมือหรือของใช้ที่ผลิตขึ้นโดยชาวเชียงใหม่ที่มีเชื้อสายสืบมาจากชาวไทเขินแต่โบราณ คำนี้น่าจะบัญญัติขึ้นโดยคนไทยภาคกลาง หรือข้าราชการจากส่วนกลางที่ขึ้นมาอยู่ในภาคเหนือเมื่อประมาณ 100 ปีที่แล้ว เพราะว่าคำนี้มิได้ปรากฏอยู่ในภาษาพื้นถิ่นของชาวเชียงใหม่ ซึ่งชาวเชียงใหม่ แต่เดิมมิได้มีศัพทเรียกที่จำกัดความเฉพาะเช่นนี้มาก่อน ชาวเชียงใหม่เรียกชื่อภาชนะของใช้ต่าง ๆ ตามลักษณะการใช้งานมากว่าการระบุถึงวัสดุหรือเทคนิกการผลิต ทั้งนี้อาจเพราะว่าภาชนะของใช้ในอดีตเป็นจำนวนมาก ผลิตด้วยเทคนิดและวัสดุพื้นถิ่นซึ่งถือว่าเป็นของธรรมดา ๆ ไม่มีอะไรพิเศษ จึงไม่ได้มีการใช้ศัพท์เฉพาะให้ชัดเจน ที่ใกล้เคียงกับการเป็นศัพท์เฉพาะมากที่สุดจะเรียกเป็นวลีว่า "คัวฮักคัวหาง" สำหรับเรียกเครื่องเขิน[21] แต่เดิมคำว่าเครื่องเขินในไทยไม่ได้มีการบันทึกไว้อย่างเป็นลายลักษณ์อักษร เพียงแต่กล่าวถึงการใช้รักในการสร้างเครื่องใช้ต่าง ๆ หรือใช้ในการสร้างวัดและพระพุทธรูปเป็นส่วนมาก สิ่งที่ใกล้เคียงกับเครื่องเขินที่สุดมาจากคำที่สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพได้กล่าวไว้ในหนังสือเที่ยวเมืองพม่าว่า “เครื่องลงรัก” นับว่าคำว่า “เครื่องเขิน” ยังไม่ปรากฏหรือยังไม่เป็นที่นิยมใช้เรียกภาชนะดังกล่าวอย่างแพร่หลายอย่างน้อยจนถึงสมัยรัชกาลที่ 5[22] เครื่องเขินเรียกตามนามของเผ่าชนผู้ประดิษฐ์ขึ้นคือ ไทยเขิน ทางเชียงตุง ชนเผ่านี้เป็นเชลยที่ถูกกวาดต้อนมาเมื่อประมาณ 200 ปีก่อน โดยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 ในขณะที่พระองค์ยังไม่ได้ครองราชสมบัติ และดำรงตำแหน่งแม่ทัพไปตีเวียงจันทร์ จึงได้นำเอาเชลยเหล่านี้มา และได้ตั้งรกรากอยู่ที่เชียงใหม่และถ่ายทอดวิชาหัตถกรรมนี้ให้แก่ชาวเชียงใหม่ ซึ่งเวลานี้เป็นแหล่งผลิตเครื่องเขิน และเป็นแหล่งรวบรวมยางรักของประเทศไทย หมู่บ้านที่ได้ชื่อว่ามีการทำเครื่องเขินเป็นล้ำเป็นสันก็คือที่ หมู่บ้านเขิน ตำบลหายยา อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่[23]
ลักษณะและการผลิต
[แก้]โดยส่วนใหญ่โครงของเครื่องเขินจะเป็นเครื่องไม้ไผ่สาน ทาด้วยยางรักหลาย ๆ ชั้น โดยการทารักในชั้นแรกจะเป็นการยึดโครงของภาชนะให้เกิดความมั่นคง ส่วนการทารักในชั้นต่อ ๆ ไปเป็นการตกแต่งพื้นผิวภาชนะให้เรียบ และการทารักชั้นสุดท้ายจะเป็นการตกแต่งให้เกิดความสวยงาม เช่น การเขียนลวดลาย การปิดทอง หรือการขุดผิวให้เป็นร่องลึก แล้วฝังรักสีที่ต่างกันเป็นลวดลายสวยงาม หากเป็นภาชนะของใช้ทั่วไปจะมีน้ำหนักเบา นิยมใช้รักสีดำและตกแต่งด้วยสีแดงของชาดแดง และกรณีภาชนะที่ใช้ในพิธี จะทำการตกแต่งเชิงศิลปะ เช่น ใช้ทองคำเปลวประดับ บางชิ้นอาจมีการปั้น กดรัก พิมพ์รักให้เป็นลวดลาย เพื่อเพิ่มความงดงามให้แก่ภาชนะ
เครื่องเขินที่เป็นที่รู้จักและแพร่หลาย เช่น เชี่ยนหมาก พาน ขันโอ ขันน้ำ และถาด เป็นต้น ปัจจุบันเครื่องเขินมีการนำเอาไม้มาทำโดยวิธีการเคี่ยนตามรูปแบบ โดยใช้ไม้จริง เช่น ไม้สัก ไม้ยาง ไม้มะม่วงป่า ไม้ยมหิน หรือใช้ไม้อัด โดยนำเอาไม้จริงทั้งต้นมาต้มและปอก หรือฝานด้วยใบมีดขนาดใหญ่เป็นแผ่นบาง จากนั้นนำมาตัดแบ่งตามขนาด แล้วทาด้วยกาวยางซ้อนทับสลับในแนวเดียวกัน และนำเครื่องอัดและอบให้กาวแห้งสนิท รูปทรงและลวดลายของเครื่องเขิน มักจะเลียนแบบจากธรรมชาติ โดยเอื้อประโยชน์ใช้สอยตามความต้องการของผู้ใช้ ซึ่งรูปทรงเหล่านี้มักจะเลียนแบบจากพืชพรรณไม้ รูปทรงจากสัตว์ รูปทรงกระบอก ทรงกลม ทรงเรขาคณิต รูปรี สามเหลี่ยม สี่เหลี่ยม หกเหลี่ยม แปดเหลี่ยม รวมถึงลวดลายที่ช่างคิดสร้างสรรค์ ทั้งลายกนก ลายพุ่มข้าวบิณฑ์ ลายเฟื่อง ลายบัว ลานรักร้อย ลายประจำยาม ลายก้านขด ลายกระจัง ลายธรรมชาติ ตลอดจนภาพนิทานชาดก และลายสิบสองราศี
คุณสมบัติของเครื่องเขิน คือ มีน้ำหนักเบา ยืดหยุ่นได้บ้าง ไม่แตกหักเสียหายในทันที วัสดุที่ใช้ในการผลิตสามารถหาได้โดยทั่วไปในท้องถิ่น เทคนิคในการตกแต่งไม่ซับซ้อน และยังตอบสนองรสนิยมและการใช้สอยในชีวิตประจำวันของผู้คนในภาคเหนือ จากคุณสมบัติ รูปร่าง วัสดุและเทคนิคดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงภูมิปัญญาของคนในอดีต ที่รู้จักเลือกสรรสิ่งของในการประดิษฐ์และตกแต่งให้มีคุณค่า คงทนต่อการใช้งาน[24]
เครื่องเขินกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงในไทย
[แก้]เครื่องเขินของชาวกะเหรี่ยง (โปว์) มีอัตลักษณ์และความหลากหลายตามหน้าที่การใช้สอยที่แตกต่างกัน ตามความนิยมใช้กันในท้องถิ่น เป็นงานครื่องสานอันประกอบด้วย ต๋าง ปิ่นโต โตก แปม (ภาชนะใช้สะพายหลัง) แอ็บหมาก หรือ ตะโด๊ะ ซึ่งเป็นการผลิตขึ้นมาเพื่อการใช้สอยเป็นหลัก ยังคงนิยมใช้อยู่ทุกครอบครัว มีลักษณะเรียบง่าย ทารักสีดำเพื่อให้กันน้ำหรือของเหลวได้ การใช้งานนั้นค่อนข้างสมบุก สมบัน จึงมักมีการให้ความสำคัญในเรื่องความแข็งแรงด้วยการทารักเป็นหลัก[25] ส่วนมากเรียบง่ายและตรงไปตรงมา ไม่ซับซ้อน การตกแต่งมักนิยมคาดผิวไผ่เป็นเส้นตกแต่งขอบภาชนะ ปล่อยเป็นสีผิวไผ่ตามธรรมชาติคือเป็นสีเหลืองตัดกับสีดำของยางรัก[26] อาจจะมีการตกแต่งให้วิจิตรอยู่บ้างในสิ่งของบางประเภท เช่น แอ็บหมาก ที่มีการใส่รายละเอียดบนผิวไผ่ คาดประดับลวดลายเป็นเส้นฟันปลาเล็ก ๆ ผลิตภัณฑ์เครื่องเขินส่วนใหญ่จะผลิตใช้เองในครอบครัวและขายให้กับหมู่บ้านใกล้เคียง[27]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ Gary W. Crawford (October 2011). "Advances in Understanding Early Agriculture in Japan". Current Anthropology. The University of Chicago Press. 52 (S4): S334. doi:10.1086/658369. JSTOR 10.1086/658369. S2CID 143756517. สืบค้นเมื่อ 30 November 2020.
- ↑ Fung, Christopher (1994). "The Beginnings of Settled Life". China: Ancient Culture, Modern Land. Norman: University of Oklahoma Press. p. 52. ISBN 9780806126838.
- ↑ Li, Li (2011). China's Cultural Relics (3rd ed.). Cambridge: Cambridge University Press. pp. 139–140. ISBN 9780521186568.
- ↑ Bagley, Robert (1999). "Shang Archaeology". The Cambridge History of Ancient China: From the Origins of Civilization to 221 B.C. Cambridge: Cambridge University Press. p. 178. ISBN 9780521470308.
- ↑ Webb, Marianne (2000). Lacquer: Technology and conservation. Oxford: Butterworth-Heinemann. p. 3. ISBN 978-0-7506-4412-9.
- ↑ Kleiner, Fred S. (January 2012). Gardner's Art Through The Ages: A Global History (14th ed.). Boston: Wadsworth, Cengage Learning. p. 995. ISBN 9780840030597.
- ↑ Hang, Jian; Guo, Qiuhui (2006). Chinese arts & crafts. แปลโดย Zhu, Youruo; Song, Peiming. Beijing: China Intercontinental Press. pp. 54–58. ISBN 978-7-5085-0963-1.
- ↑ Watt, James C. Y.; Ford, Barbara Brennan (1991). East Asian lacquer: the Florence and Herbert Irving Collection. New York: Metropolitan Museum of Art. pp. 20–21. ISBN 9780870996221.
- ↑ Webb, Marianne (2000). Lacquer: Technology and Conservation. Oxford: Butterworth-Heinemann. p. 42. ISBN 9780750644129.
- ↑ 10.0 10.1 Watt, James C. Y.; Ford, Barbara Brennan (1991). East Asian lacquer: the Florence and Herbert Irving Collection. New York: Metropolitan Museum of Art. p. 23. ISBN 9780870996221.
- ↑ "Lacquerware of East Asia". The Metropolitan Museum of Art. สืบค้นเมื่อ 21 September 2011.
- ↑ Institute of the History of Natural Sciences and Chinese Academy of Sciences, บ.ก. (1983). Ancient China's technology and science. Beijing: Foreign Languages Press. p. 211. ISBN 978-0-8351-1001-3.
- ↑ Murata, Masayuki. Kiyomizu Sannenzaka Bijutsukan Murata Masayuki Korekushon, Meiji kogei nyūmon. Tokyo. p. 24. ISBN 9784-9-07211110.
- ↑ Berengueres (2007). "Ancient History and Tradition of Bagan Lacquerware". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-12-28. สืบค้นเมื่อ 2023-03-14.
- ↑ วิถี พานิชพันธ์ (2545). "เครื่องเขินในเอเชียอาคเนย์". ภาควิชาศิลปะไทย คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
{{cite web}}
: CS1 maint: url-status (ลิงก์) - ↑ 16.0 16.1 16.2 16.3 Blurton, Richard (2002). "A Path to Burmese Culture: The Art of Lacquer". The British Museum/Fathom. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-04-04. สืบค้นเมื่อ 2007-03-31.
- ↑ 17.0 17.1 "Burmese Lacquerware Collection". Art Only. 2006. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ September 30, 2007. สืบค้นเมื่อ 2007-03-31.
- ↑ Kyi Wai. "Burmese Lacquerware Loses Its Shine". The Irrawaddy, January 19, 2009. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ August 11, 2010. สืบค้นเมื่อ 2009-03-19.
- ↑ Sinlapa khrư̄angkhœ̄n nai Lānnā (Phim khrang rǣk ed.). Chīang Mai: Samnak Songsœ̄m Sinlapa Watthanatham Mahāwitthayālai Chīng Mai. p. 5. ISBN 974-657-553-8.
- ↑ "Traditional Objects of Everyday use". www.sac.or.th. สืบค้นเมื่อ 14 March 2023.
- ↑ Khrư̄ang khœ̄n nai watthanatham Lānnā (Phim khrang thī 1 ed.). Chīang Mai. p. 20. ISBN 978-616-398-369-5.
- ↑ "Traditional Objects of Everyday use". www.sac.or.th. สืบค้นเมื่อ 14 March 2023.
- ↑ "เครื่องเขิน". สำนักงานพัฒนาพิงคนคร (องค์การมหาชน). สืบค้นเมื่อ 14 March 2023.
- ↑ "เครื่องเขิน: หัตถศิลป์แห่งภูมิปัญญา". พิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ. สืบค้นเมื่อ 14 March 2023.
- ↑ "กลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง". lannainfo.library.cmu.ac.th. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2023-03-15. สืบค้นเมื่อ 15 March 2023.
- ↑ Phanichphant, vithi. Khrư̄ang khœ̄n nai watthanatham Lānnā (Phim khrang thī 1 ed.). Chīang Mai. p. 98. ISBN 978-616-398-369-5.
- ↑ "AP MAK OMKOI". AP MAK OMKOI. สืบค้นเมื่อ 15 March 2023.
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- "Lacquerware Stories" เก็บถาวร 2017-12-22 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน at the Kyoto National Museum.
- Museum of Lacquer Art Münster Museum für Lackkunst in Germany
- The Craft and Care of East Asian Lacquer by Denver Art Museum
- Bone, Flesh, Skin: the making of Japanese Lacquer YouTube video by Getty Museum
- Intro to Urushi YouTube video by Dr.Kenji Toki at FabLabKamakura
- Lacquerware of East Asia essay at the MET Museum