อุโมงค์ผาเสด็จ
ข้อมูลทั่วไป | |
---|---|
สาย | |
ที่ตั้ง | อำเภอมวกเหล็กและอำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี |
พิกัด | 14°39′52″N 101°07′45″E / 14.664346°N 101.129069°E |
สถานะ | เปิดให้บริการ |
เริ่มต้น | 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2567 |
การดำเนินงาน | |
เริ่มสร้าง | 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2561 |
สร้างเสร็จ | กันยายน พ.ศ. 2565 |
ผู้ดำเนินงาน | การรถไฟแห่งประเทศไทย |
ลักษณะ | คอนกรีต |
ข้อมูลทางเทคนิค | |
ความยาว | 5,408.69 เมตร (3.36080 ไมล์) |
จำนวนทางรถไฟ | 2 (ขาขึ้น 1 ขาล่อง 1) |
ช่วงกว้างราง | 1,000 mm (3 ft 3 3⁄8 in) มีเตอร์เกจ |
ระยะห่างอุโมงค์ | 8.50 เมตร (27.9 ฟุต) |
ความกว้าง | 7.50 เมตร (24.6 ฟุต) |
อุโมงค์ผาเสด็จ เป็นอุโมงค์รถไฟแบบอุโมงค์คู่ทางเดี่ยวของการรถไฟแห่งประเทศไทย ตั้งอยู่ระหว่างอำเภอมวกเหล็กและอำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี เป็นอุโมงค์รถไฟยาวที่สุดในประเทศไทยในปัจจุบัน อยู่ระหว่างสถานีรถไฟมาบกะเบา และสถานีรถไฟหินลับ เปิดให้บริการครั้งแรกวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2567[1] แต่เนื่องจากปัญหาฝุ่นละอองที่ฟุ้งเข้ามาภายในตู้โดยสารขณะที่ขบวนรถวิ่งลอดอุโมงค์นี้ ทำให้ต้องปิดอุโมงค์ชั่วคราวเพื่อทำความสะอาดชะล้างฝุ่น และเลื่อนการเปิดให้บริการอุโมงค์ออกไปก่อน แต่ในวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2567 อุโมงค์ได้กลับมาเปิดใช้งานสำหรับขบวนรถโดยสารอีกครั้ง หลังจากที่เกิดเหตุขบวนรถสินค้าตกรางที่สถานีผาเสด็จในคืนวันก่อนหน้า
การก่อสร้าง
[แก้]อุโมงค์ผาเสด็จ เป็นส่วนหนึ่งของโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ระยะที่ 1 สายตะวันออกเฉียงเหนือ (สายอีสาน) โดยระยะทางอยู่ในสัญญาที่ 1 ระยะทางรวม 58 กิโลเมตร (36 ไมล์)[2] ประกอบไปด้วย ช่วงสถานีมาบกะเบา–สถานีมวกเหล็ก กม.134+250 – กม.147+450 ระยะทางประมาณ 13.20 กิโลเมตร (8.20 ไมล์) และช่วงสถานีบันไดม้า–สถานีคลองขนานจิตร กม.168+500 – กม.198+200 ระยะทางประมาณ 29.70 กิโลเมตร (18.45 ไมล์)[1] ที่ตัดแนวเส้นทางบางส่วนขึ้นใหม่เพื่อลดความโค้งและลดค่าความชันของเส้นทาง ทำให้สามารถทำความเร็วได้เพิ่มขึ้นจากที่สามารถใช้ความเร็วได้เพียง 45 กิโลเมตรต่อชั่วโมงบนภูเขา ให้สามารถใช้ความเร็วที่คงที่มากขึ้นในช่วง 100-160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง[3]
การก่อสร้างอุโมงค์ผาเสด็จอยู่ในสัญญาการก่อสร้างที่ 3 ที่จะก่อสร้างอุโมงค์รถไฟจำนวน 3 แห่ง รับผิดชอบโดยบริษัทร่วมทุน ไอทีดี-อาร์ที เป็นการร่วมทุนระหว่าง บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน)[4] และบริษัท ไร้ท์ทันเน็ลลิ่ง จำกัด (มหาชน)[5] มูลค่าของสัญญากว่า 9,290 ล้านบาท[6] ซึ่งก่อนการตั้งชื่ออย่างเป็นทางการ อุโมงผาเสด็จถูกเรียกในโครงการว่าอุโมค์ที่ 1 ถูกกำหนดความยาวตามแผนคือ 5.85 กิโลเมตร (3.64 ไมล์)[2][3] แต่ก่อสร้างจริงใช้ความยาว 5.20 กิโลเมตร (3.23 ไมล์)[5] ใช้วิธีการ New Austrian tunneling method (NATM) หรือรู้จักกันในชื่อ Sequential excavation method (SEM)เจาะภูเขาและการระเบิดหินภายในโดยทยอยเจาะและระเบิดหินลำเลียงออกมา โดยช่วงต้นของอุโมงค์ประกอบด้วยชั้นหินที่ไม่ได้มีความแข็งมากนัก จึงใช้การก่อสร้างแบบก่อผนังอุโมงค์รูปแบบเดียวกับรถไฟฟ้าใต้ดินในกรุงเทพฯ จนกระทั่งเข้าไปถึงความลึกในระดับที่ชั้นหินมีความแข็งแรงสูงจึงใช้วิธีการฉีดคอนกรีตเสริมเข้าไปเพื่อสร้างความแข็งแรงให้ผนังอุโมงค์ และลดการรั่วซึมของน้ำใต้ดินภายในภูเขา[3]
อุโมค์ผาเสด็จเริ่มต้นก่อสร้างตามสัญญาในวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2561[7] เริ่มต้นขุดเจาะอุโมงค์ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2561[8] และสามารถขุดเจาะก่อสร้างมาบรรจบกันและระเบิดหินทะลุหากันทั้งหมด (Tunnel Breakthrough) ในวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2564[5] ซึ่งในขณะนั้นมีการเรียกขานชื่อว่าอุโมงค์หินลับ หรืออุโมงค์มาบกะเบา เนื่องจากยังไม่มีการกำหนดชื่ออย่างเป็นทางการ[9] และก่อสร้างเสร็จในเดือนกันยายน พ.ศ. 2565[10]
ก่อนการเปิดใช้งาน ในวันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2567 ได้มีการทดสอบระบบความปลอดภัยภายในอุโมงค์ผาเสด็จ โดยจำลองสถานการณ์มีกลุ่มควันเพลิงไหม้ภายในอุโมงค์ในระดับรุนแรงและปฏิบัติการจริงในพื้นที่อุโมงค์ เพื่อสร้างความเข้าใจในแนวปฏิบัติรวมถึงขั้นตอนปฏิบัติให้กับเจ้าหน้าที่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง[11]
อุโมงค์ผาเสด็จได้รัมมติจากการรถไฟแห่งประเทศไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เปิดใช้บริการตั้งแต่วันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2567 แต่ยังคงใช้ระบบอาณัติสัญญาณเดิม เนื่องจากระบบใหม่ยังติดตั้งไม่เสร็จตามสัญญาที่ 4[1]
การออกแบบ
[แก้]อุโมงค์ผาเสด็จมีความยาว 5,408.69 เมตร (3.36080 ไมล์)[10] เป็นรูปแบบของอุโมงค์คู่ทางเดี่ยว ทิศทางขาขึ้นและขาล่อง ความกว้างประมาณ 7.50 เมตร (24.6 ฟุต) ความสูงประมาณ 8.50 เมตร (27.9 ฟุต) ตั้งอยู่ระหว่างสถานีรถไฟมาบกะเบา สถานีรถไฟผาเสด็จ และสถานีรถไฟหินลับ[1] ระบบความปลอดภัยภายในมีช่องอพยพผู้โดยสารในทุก ๆ ระยะ 500 เมตรในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้น[2]
การเปิดให้บริการ
[แก้]การเปิดให้บริการครั้งแรกและปัญหาฝุ่นละออง
[แก้]จากการเปิดใช้อุโมงค์รถไฟผาเสด็จ ทำให้การรถไฟแห่งประเทศไทยมีแผนปรับเส้นทางการเดินรถและส่งผลให้สถานีรถไฟผาเสด็จ และสถานีรถไฟหินลับต้องงดให้บริการเนื่องจากแนวเส้นทางใหม่ได้อยู่นอกเส้นทางที่สถานีได้ตั้งอยู่ และให้ไปใช้บริการสถานีใกล้เคียงคือสถานีรถไฟมาบกะเบา และสถานีรถไฟมวกเหล็ก ตั้งแต่วันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2567 เป็นต้นไป[12] โดยจะเปิดให้บริการเส้นทางช่วงผาเสด็จ-หินลับเฉพาะขบวนรถไฟขนส่งสินค้าและขบวนรถที่เข้าไปรับสินค้าคือปูนจากในพื้นที่เท่านั้น[13]
ในวันที่เปิดให้บริการอุโมงค์ผาเสด็จเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2567 ขบวนรถโดยสารขบวนแรกที่ได้ลอดอุโมงค์แห่งนี้คือ รถด่วนที่ 72 อุบลราชธานี – กรุงเทพอภิวัฒน์ ตามด้วยรถธรรมดาที่ 233 กรุงเทพ (หัวลำโพง) – สุรินทร์ และรถเร็วที่ 136 อุบลราชธานี – กรุงเทพอภิวัฒน์ ซึ่งขบวนรถโดยสารทั้งสามขบวนในขณะที่ลอดอุโมงค์นี้ ต่างพบปัญหาที่ฝุ่นละอองบนพื้นอุโมงค์ตลบลอยเข้ามาในตู้โดยสารซึ่งเป็นตู้พัดลมระบบเปิด การรถไฟฯ จึงได้สั่งปิดอุโมงค์ชั่วคราวเพื่อทำความสะอาดชะล้างฝุ่นครั้งใหญ่ โดยมีแผนกลับมาเปิดอีกครั้งในวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2567 แต่เมื่อใกล้ถึงกำหนด กลับพบว่าค่าฝุ่นละอองในอุโมงค์ยังคงสูงเกินมาตรฐาน การรถไฟฯ จึงส่งให้ขบวนรถทุกขบวนยังคงวิ่งในเส้นทางเดิมต่อไปก่อน
การเปิดให้บริการครั้งที่สอง
[แก้]วันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2567 เกิดเหตุขบวนรถสินค้าบรรทุกปูนซิเมนต์ที่ 512 (หินลับ–เชียงรากน้อย) ตกรางที่สถานีผาเสด็จ ซึ่งตั้งอยู่บนเส้นทางรถไฟเดิม ทำให้เกิดการกีดขวางการเดินรถ ส่งผลให้ขบวนรถโดยสารต้องเปลี่ยนไปใช้เส้นทางอ้อมจากสถานีนครราชสีมา–ชุมทางบัวใหญ่–ลำนารายณ์–ชุมทางแก่งคอยแทนในคืนนั้น[14] และในเช้าวันถัดมา จึงได้มีการเปิดใช้งานอุโมงค์ผาเสด็จและอุโมงค์หินลับอย่างเร่งด่วน เพื่อให้ขบวนรถโดยสารหลีกเลี่ยงเส้นทางเดิมที่มีขบวนรถสินค้าขวางทางอยู่ได้
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 1.2 1.3 Siripanjana, Maneerat. "28 ก.ค.นี้ เปิดเดินรถไฟทางคู่ "สายอีสาน" ประเดิม 42.9 กม. ได้ลอดอุโมงค์ยาวสุดในไทย!". เดลินิวส์.
- ↑ 2.0 2.1 2.2 ""นายกฯ" ตรวจไซต์งานอุโมงค์ "รถไฟทางคู่" สายอีสาน สร้างเสร็จปี 67 ทยอยเปิดเพิ่มความจุทางกว่า 2 เท่า". mgronline.com. 2023-08-17.
- ↑ 3.0 3.1 3.2 พุทซาคำ, สุวิชา (2021-10-03). "รถไฟทางคู่มาบกะเบา-ถนนจิระ ทางรถไฟสายปรับปรุงใหม่ที่จะทำให้ไปกลับอีสานได้เร็วขึ้น". The Cloud.
- ↑ ฐานเศรษฐกิจดิจิทัล (2021-12-13). "อุโมงค์รถไฟ "ผาเสร็จ -หินลับ" ยาวสุดในไทย คืบ 89% แล้วเสร็จปี 65". thansettakij.
- ↑ 5.0 5.1 5.2 "การรถไฟฯ ประสบความสำเร็จในการขุดเจาะอุโมงค์รถไฟทางคู่สายยาวที่สุดในประเทศไทย ระยะทาง 5.2 กม. บริเวณบ้านหินลับ อ.มวกเหล็ก จ.สระบุรี ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในโครงการรถไฟทางคู่สายตะวันออกเฉียงเหนือ ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ - ข่าวประจำวัน - การรถไฟแห่งประเทศไทย". www.railway.co.th.
{{cite web}}
: CS1 maint: url-status (ลิงก์)[ลิงก์เสีย] - ↑ "เปิดข้อมูล.."อุโมงค์หินลับ" อุโมงค์ที่ยาวที่สุดในประเทศไทย". komchadluek. 2021-06-18.
- ↑ "เสร็จปีหน้ารถไฟทางคู่ "มาบกะเบา-จิระ" วิ่งลอยฟ้าลอดอุโมงค์ที่ยาวที่สุด". www.prachachat.net.
{{cite web}}
: CS1 maint: url-status (ลิงก์) - ↑ "อุโมงค์ผาเสด็จ-หินลับอุโมงค์รถไฟทางคู่ยาวที่สุดในประเทศไทย!". www.prachachat.net.
{{cite web}}
: CS1 maint: url-status (ลิงก์) - ↑ "เปิดข้อมูล.."อุโมงค์หินลับ" อุโมงค์ที่ยาวที่สุดในประเทศไทย". komchadluek. 2021-06-18.
- ↑ 10.0 10.1 ป้ายข้อมูลหน้าอุโมงค์ นาทีที่ 5.41 นิกเกิ้ล พาทัวร์ (Train Thailand) (2024-07-10), เตรียมพร้อมเปิดอุโมงค์ผาเสด็จ รถไฟวิ่งลอดเทือกเขาดงพญาเย็น เส้นทางรถไฟทางคู่ใหม่ มาบกะเบา-มวกเหล็ก, สืบค้นเมื่อ 2024-07-19
- ↑ "เตรียมเปิดรถไฟทางคู่! รฟท.ซ้อมแผนเผชิญเหตุฉุกเฉิน "อุโมงค์ผาเสด็จ" เพื่อความปลอดภัยสูงสุด". mgronline.com. 2024-07-09.
- ↑ "28 ก.ค. 67 เปิดใช้เส้นทางเดินรถไฟทางคู่ใหม่ งดใช้บริการสถานีรถไฟผาเสด็จ-สถานีรถไฟหินลับ | สวพ.FM91". LINE TODAY.
- ↑ "ปิดตำนาน เส้นทางรถไฟ ผาเสด็จ-หินลับ". Mumkhao.
- ↑ "รฟท.ปรับเปลี่ยนเส้นทางเดินรถสายอีสาน หลังเกิดเหตุขบวนรถสินค้าตกรางที่สถานีผาเสด็จ". สืบค้นเมื่อ 17 ธันวาคม 2024.