อันตรายิกธรรม
หน้าตา
ส่วนหนึ่งของชุดบทความ |
ศาสนาพุทธ |
---|
อันตรายิกธรรม หมายถึง ธรรมอันกระทำอันตราย คือเป็นเหตุขัดขวางต่าง ๆ ในพระไตรปิฎกและอรรถกถาแสดงไว้หลายนัย
การอุปสมบท
[แก้]ในการอุปสมบท ภิกษุจะถามอันตรายิกธรรมกับอุปสัมปทาเปกขะ (ผู้มุ่งจะบวช) เมื่อทราบว่าไม่มีอันตรายิกธรรมดังกล่าว จึงจะอุปสมบทได้
อันตรายิกธรรมของภิกษุ
[แก้]ชายผู้จะบวชเป็นพระภิกษุต้องปราศจากอันตรายิกธรรม 13 ข้อ ได้แก่[1]
- เธอเป็นโรคเรื้อนหรือไม่
- เธอเป็นโรคฝีชนิดเป็นทั่วตัวหรือไม่
- เธอเป็นโรคกลากหรือไม่
- เธอเป็นโรคมองคร่อ คือ มีเสมหะแห้งอยู่ในก้านของหลอดลมหรือไม่
- เธอเป็นโรคลมบ้าหมูหรือไม่
- เธอเป็นมนุษย์ ใช่ไหม
- เธอเป็นผู้ชาย ใช่ไหม
- เธอเป็นไทแก่ตัวเอง ใช่ไหม
- เธอไม่เป็นหนี้ใคร ใช่ไหม
- เธอไม่ใช่ข้าราชการที่ยังมีภาระต้องรับผิดชอบ ใช่ไหม
- บิดา มารดาของเธออนุญาต ใช่ไหม
- เธออายุครบ 20 ปี ใช่ไหม
- เธอมีบาตรและจีวรครบ ใช่ไหม
อันตรายิกธรรมของภิกษุณี
[แก้]หญิงผู้จะบวชเป็นพระภิกษุณีต้องปราศจากอันตรายิกธรรม 24 ข้อ ได้แก่[2]
- ไม่มีเครื่องหมายเพศ
- สักแต่ว่ามีเครื่องหมายเพศ
- ไม่มีประจำเดือน
- มีประจำเดือนไม่หยุด
- ใช้ผ้าซับในเสมอ
- เป็นคนไหลซึม
- มีเดือย
- เป็นบัณเฑาะก์หญิง
- มีลักษณะคล้ายชาย
- มีทวารหนักทวารเบาติดกัน
- มีสองเพศ
- โรคเรื้อน
- ฝี
- โรคกลาก
- โรคมองคร่อ
- ลมบ้าหมู
- ไม่ใช่มนุษย์
- ไม่ใช่หญิง
- ไม่เป็นไท
- หนี้สิน
- เป็นราชภัฏ
- มารดาบิดาไม่อนุญาต
- มีปีไม่ครบ 20
- บาตรจีวรไม่ครบ
สวรรค์และนิพพาน
[แก้]คัมภีร์สมันตปาสาทิกา อรรถกถาปาจิตติยกัณฑ์ เรียกธรรมที่ทำอันตรายแก่สวรรค์และนิพพานว่า อันตรายิกธรรม มี 5 อย่าง คือ[3]
- กรรม หมายถึง อนันตริยกรรม (การข่มขืนภิกษุณีเป็นอันตรายแก่พระนิพพาน แต่ไม่ถึงอันตรายแก่สวรรค์)
- กิเลส หมายถึง นิยตมิจฉาทิฏฐิ
- วิบาก หมายถึง การปฏิสนธิเป็นบัณเฑาะก์ เดรัจฉาน และอุภโตพยัญชนก
- อุปวาท หมายถึง การว่าร้ายพระอริยเจ้า (ยกเว้นได้รับการยกโทษจากพระอริยเจ้านั้นแล้ว)
- อาณาวีติกกมะ หมายถึง การจงใจต้องอาบัติ แลัวยังไม่ลาสิกขาบทหรือยังไม่ทำคืน
อ้างอิง
[แก้]- ↑ อุปสัมปทาวิธิ, พระไตรปิฎกเล่มที่ ๔ พระวินัยปิฎกเล่มที่ ๔ [ฉบับมหาจุฬาฯ] มหาวรรค ภาค ๑
- ↑ ตติยภาณวาร, พระไตรปิฎกเล่มที่ ๗ พระวินัยปิฎกเล่มที่ ๗ [ฉบับมหาจุฬาฯ] จุลวรรค ภาค ๒
- ↑ อรรถกถาอริฏฐสิกขาบท, อรรถกถาปาจิตติยกัณฑ์ ปาจิตติย์ สัปปาณกวรรคที่ ๗ สิกขาบทที่ ๘