ข้ามไปเนื้อหา

อองซานซูจี

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก ออง ซาน ซู จี)
อองซานซูจี
အောင်ဆန်းစုကြည်
ที่ปรึกษาแห่งรัฐแห่งรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติพม่า[a]
เริ่มดำรงตำแหน่ง
16 เมษายน 2564[1][2]
ประธานาธิบดีวี่น-มหยิ่น
ก่อนหน้าสถาปนาตำแหน่ง
ประธานพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย
ดำรงตำแหน่ง
13 ธันวาคม 2554 – 28 มีนาคม 2566
ก่อนหน้าAung Shwe
ที่ปรึกษาแห่งรัฐพม่า
ดำรงตำแหน่ง
6 เมษายน 2559 – 1 กุมภาพันธ์ 2564
ประธานาธิบดีทีนจอ
วีน-มยิน
ก่อนหน้าสถาปนาตำแหน่ง
ถัดไปมี่นอองไลง์ (ในตำแหน่งประธานคณะมนตรีบริหารประเทศ)
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศพม่า
ดำรงตำแหน่ง
30 มีนาคม 2559 – 1 กุมภาพันธ์ 2564
ประธานาธิบดีทีนจอ
วีน-มยิน
ก่อนหน้าWunna Maung Lwin
รัฐมนตรีประจำทำเนียบประธานาธิบดีพม่า
ดำรงตำแหน่ง
30 มีนาคม 2559 – 1 กุมภาพันธ์ 2564
ประธานาธิบดีทีนจอ
วีน-มยิน
ก่อนหน้าThein Nyunt
Soe Maung
Soe Thein
Aung Min
Hla Tun
Tin Naing Thein
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการพม่า
ดำรงตำแหน่ง
30 มีนาคม 2559 – 5 เมษายน 2559
ประธานาธิบดีทีนจอ
ก่อนหน้าKhin San Yee
ถัดไปMyo Thein Gyi
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงไฟฟ้าและพลังงาน
พม่า
ดำรงตำแหน่ง
30 มีนาคม 2559 – 5 เมษายน 2559
ประธานาธิบดีทีนจอ
ก่อนหน้าKhin Maung Soe (กระทรวงไฟฟ้า)
Zeya Aung (กระทรวงพลังงาน)
ถัดไปPe Zin Tun
เลขาธิการพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย
ดำรงตำแหน่ง
27 กันยายน 2531 – 13 ธันวาคม 2554
ก่อนหน้าสถาปนาตำแหน่ง
ถัดไปล้มเลิกตำแหน่ง
ผู้นำฝ่ายค้านพม่า
ดำรงตำแหน่ง
2 พฤษภาคม 2555 – 29 มกราคม 2559
ประธานาธิบดีเต็ง เส่ง
ก่อนหน้าSai Hla Kyaw
ถัดไปKhin Aung Myint
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพม่า เขต Kawhmu
ดำรงตำแหน่ง
2 พฤษภาคม 2555 – 30 มีนาคม 2559
ก่อนหน้าSoe Tint
ถัดไปว่าง
คะแนนเสียง46,730 (71.38%)[3]
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด19 มิถุนายน พ.ศ. 2488 (79 ปี)
ย่างกุ้ง ประเทศพม่าของบริเตน
ศาสนาศาสนาพุทธนิกายเถรวาท
พรรคการเมืองสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย
คู่สมรสไมเคิล อริส
(สมรส 1972; 1999)
บุตรอเล็กซานเดอร์ อริส
คิม อริส
ญาติอองซาน (บิดา)
ศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยเดลี
St Hugh's College, ออกซฟอร์ด
โซแอส
ลายมือชื่อ
เว็บไซต์เว็บไซต์พรรค NLD (2559)

อองซานซูจี (พม่า: အောင်ဆန်းစုကြည်; เกิด 19 มิถุนายน 2488) เป็นนักการเมือง นักการทูต นักเขียนชาวพม่าและประธานพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ผู้ดำรงตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และรัฐมนตรีประจำทำเนียบประธานาธิบดี

ในการเลือกตั้งทั่วไปปี 2533 NLD ได้คะแนนเสียงทั้งประเทศ 59% และที่นั่ง 81% (392 จาก 485 ที่นั่ง) ในรัฐสภา ทว่าเธอถูกควบคุมตัวในบ้านก่อนการเลือกตั้ง เธอยังอยู่ภายใต้การควบคุมตัวในบ้านในประเทศพม่าเป็นเวลาเกือบ 15 จาก 21 ปีตั้งแต่วันที่ 20 กรกฎาคม 2532 จนการปล่อยตัวครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2553 ทำให้เธอเป็นนักโทษการเมืองที่ขึ้นชื่อที่สุดคนหนึ่งของโลก

ซูจีได้รับรางวัลราฟโต (Rafto Prize) และรางวัลซาฮารอฟสำหรับเสรีภาพทางความคิด (Sakharov Prize for Freedom of Thought) ในปี 2533 และรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพในปี 2534 ในปี 2535 เธอได้รับรางวัลชวาหระลาล เนห์รูเพื่อความเข้าใจระหว่างประเทศ (Jawaharlal Nehru Award for International Understanding) โดยรัฐบาลอินเดีย และรางวัลซีมอง โบลีวาร์ระหว่างประเทศ (International Simón Bolívar Prize) จากรัฐบาลเวเนซุเอลา ในปี 2555 รัฐบาลปากีสถานมอบรางวัลชาฮิด เบนาซีร์ บุตโตเพื่อประชาธิปไตย (Shaheed Benazir Bhutto Award For Democracy) ในปี 2550 รัฐบาลแคนาดาประกาศให้เธอเป็นพลเมืองกิตติมศักดิ์ของประเทศ เป็นคนที่สี่ที่ได้รับเกียรตินี้ ในปี 2554 เธอได้รับเหรียญวัลเลนเบิร์ก (Wallenberg Medal) วันที่ 19 กันยายน 2555 อองซานซูจีได้รับเหรียญทองรัฐสภา ซึ่งร่วมกับเหรียญเสรีภาพประธานาธิบดี เป็นเกียรติยศพลเรือนสูงสุดในสหรัฐอเมริกา

วันที่ 1 เมษายน 2555 พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยประกาศว่าเธอได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งในสภาผู้แทนราษฎร สภาล่างของรัฐสภาพม่า ซึ่งเป็นตัวแทนของเขตเลือกตั้งกอว์มู (Kawhmu) พรรคของเธอยังได้ที่นั่งว่าง 43 จาก 45 ที่นั่งในสภาล่าง คณะกรรมการการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการยืนยันผลการเลือกตั้งในวันรุ่งขึ้น

วันที่ 6 มิถุนายน 2556 ซูจีประกาศบนเว็บไซต์ของเวิลด์อีโคโนมิกฟอรัมว่าเธอต้องการลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีในการเลือกตั้งปี 2558 ทว่า ซูจีถูกห้ามมิให้เป็นประธานาธิบดีภายใต้รัฐธรรมนูญปัจจุบัน ซึ่งมิอาจแก้ไขได้โดยปราศจากการรับรองจากสมาชิกสภานิติบัญญัติทหารอย่างน้อยหนึ่งคน

ในปี 2557 นิตยสารฟอบส์จัดให้เธอเป็นหญิงทรงอำนาจที่สุดในโลกอันดับที่ 61

ในการเลือกตั้งทั่วไปปี พ.ศ. 2558 พรรค NLD ได้คะแนนเสียงทั้งประเทศ 86% (255 ที่นั่ง ในสภาผู้แทนราษฎรและ 135 ที่นั่ง ในสภาเชื้อชาติ) ทว่า เธอซึ่งเป็นประธานพรรค NLD ไม่สามารถดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีเนื่องจากมีข้อห้ามในรัฐธรรมนูญ

ประวัติ

[แก้]

ชีวิตช่วงแรก

[แก้]

อองซานซูจี เกิดเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2488ย่างกุ้ง พม่าของอังกฤษ (British Burma) [4] บิดาของเธอ นายพลอองซาน ผู้ได้รับการสนับสนุนจากประเทศญี่ปุ่น ช่วยให้ญี่ปุ่นยึดพม่าจากสหราชอาณาจักรได้ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง โดยมีข้อแลกเปลี่ยนกับทางญี่ปุ่นให้แต่งตั้งตนเป็นนายกรัฐมนตรี อย่างไรก็ดี นายพลอองซาน ถูกลอบสังหารเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2490 เมื่อเธอได้อายุได้ 2 ปี ดอว์ขิ่นจี ผู้เป็นภรรยาของนายพลอองซาน ต้องรับภาระเลี้ยงดูบุตรชายหญิง 3 คน โดยลำพังหลังจากสามีถูกลอบสังหาร ซูจีเป็นลูกคนเล็กและเป็นบุตรสาวคนเดียวของครอบครัว ภายหลังบิดาเสียชีวิตไม่นาน พี่ชายคนรองของเธอประสบอุบัติเหตุ จมน้ำตายในบริเวณบ้านพัก ซูจีและพี่ชายคนโตคือ อองซาน อู เติบโตมากับการดูแลของมารดาที่เข้มแข็ง และความเอ็นดูของเครือข่ายอำนาจเก่าของบิดา

พ.ศ. 2503 ดอว์ขิ่นจี ได้รับการแต่งตั้งให้ไปดำรงตำแหน่งทูตพม่า ประจำประเทศอินเดีย ซูจีถูกส่งเข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนมัธยมและวิทยาลัยสตรีศรีราม ที่นิวเดลี จากนั้นไปเรียนต่อระดับปริญญาตรี สาขาเศรษฐศาสตร์ การเมือง และปรัชญาที่เซนต์ฮิวส์คอลเลจ ในสหราชอาณาจักร ระหว่างปี พ.ศ. 25072510 ช่วงที่ศึกษาอยู่นั้น ซูจีได้พบรักกับ ไมเคิล อริส นักศึกษาสาขาวิชาอารยธรรมทิเบต

ปีเดียวกันกับที่ซูจีจบการศึกษา ดอว์ขิ่นจี หมดวาระในตำแหน่งทูตประจำประเทศอินเดีย และย้ายกลับไปยังย่างกุ้ง ซูจีจึงแยกจากมารดาเพื่อเดินทางไปมหานครนิวยอร์ก ตามคำชักชวนของเพื่อนบิดา ซึ่งดำรงตำแหน่งเลขาธิการขององค์การสหประชาชาติในขณะนั้น คือ นายอูถั่น ซึ่งเป็นชาวพม่า ซูจีเข้าทำงานเป็นผู้ช่วยเลขานุการ ในคณะกรรมการที่ปรึกษาด้านการตั้งคำถามเกี่ยวกับงบประมาณและการจัดการของสำนักงานเลขาธิการ องค์การสหประชาชาติ

เดือนมกราคม พ.ศ. 2515 ซูจีแต่งงานกับ ไมเคิล อริส และย้ายไปอยู่กับสามี ที่ราชอาณาจักรภูฏาน ซูจีได้งานในกระทรวงต่างประเทศของรัฐบาลภูฏาน ขณะที่ไมเคิลมีตำแหน่งเป็นหัวหน้าฝ่ายการแปล รวมทั้งมีหน้าที่ถวายการสอนแก่สมาชิกราชวงศ์แห่งภูฏาน ต่อมาในช่วงปี พ.ศ. 25162520 ทั้งสองย้ายกลับมาที่กรุงลอนดอน ไมเคิลได้งานสอนวิชาหิมาลัยและทิเบตศึกษาที่มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด ซูจีให้กำเนิดบุตรชายคนแรก อเล็กซานเดอร์ ในปี พ.ศ. 2516 และบุตรชายคนเล็ก คิม ในปี พ.ศ. 2520 นอกจากใช้เวลากับการเลี้ยงดูบุตรชายทั้งสองแล้ว ซูจีเริ่มทำงานเขียนเกี่ยวกับชีวประวัติของบิดาจากความทรงจำของตนเองโดยมิต้องอาศัยเอกสารหลักฐานใด ๆ

พ.ศ. 25282529 ซูจีได้รับการติดต่อจากศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยเกียวโต เพื่อทำวิจัยเกี่ยวกับบทบาทของบิดาของเธอ ขณะที่ไมเคิลได้รับทุนจาก Indian Institute of Advanced Studies ที่ซิมลา (Simla) ทางภาคตะวันออกของอินเดีย ซูจีพาคิม บุตรชายคนเล็กไปญี่ปุ่นด้วย ส่วนไมเคิลได้พาอเล็กซานเดอร์ บุตรชายคนโตไปอยู่ด้วยที่อินเดีย ปีต่อมาไมเคิลประสานงานภายใน Indian Institute of Advanced Studies เพื่อให้ซูจีได้รับทุนสนับสนุนเช่นกัน ซูจีจึงพาคิมมาสมทบกับสามีที่ซิมลา ประเทศอินเดีย

พ.ศ. 2530 ไมเคิลย้ายครอบครัวกลับมาอยู่ที่ออกซฟอร์ด ซูจีเข้าศึกษาต่อที่ London School of Oriental and African Studies ที่กรุงลอนดอน เธอได้แสดงความสนใจในการศึกษาเกี่ยวกับวรรณคดีพม่า

กลับบ้านเกิดเพื่อสานความฝันในการปกครองพม่าของบิดา

[แก้]

ปลายเดือน มีนาคม พ.ศ. 2531 อองซานซูจี ในวัย 43 ปี เดินทางกลับบ้านเกิดที่ย่างกุ้ง เพื่อมาเยี่ยมนางดอว์ขิ่นจี มารดา ในขณะนั้นเป็นช่วงที่เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ และมีความวุ่นวายทางการเมืองในพม่ากดดันให้นายพลเนวินต้องลาออกจากตำแหน่งประธานพรรคโครงการสังคมนิยมพม่า (The Burma Socialist Programme Party-BSPP) ที่ยึดอำนาจการปกครองประเทศพม่ามานานถึง 26 ปี เธอเคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า “ตอนที่ดิฉันเดินทางกลับมาพม่าเมื่อ พ.ศ. 2531 เพื่อมาพยาบาลคุณแม่นั้น ดิฉันวางแผนไว้ว่าจะมาริเริ่มทำโครงการเครือข่ายห้องสมุดในนามของคุณพ่อ ด้วย เรื่องการเมืองไม่ได้อยู่ในความสนใจของดิฉันเลย แต่ประชาชนในประเทศของดิฉันกำลังเรียกร้อง ประชาธิปไตย และในฐานะลูกสาวของพ่อ (นายพลอองซาน) ดิฉันรู้สึกว่าเป็นหน้าที่ที่ดิฉัน ต้องเข้าร่วมด้วย” [5]

ประชาชนไม่พอใจต่อระบอบเนวิน โดยเฉพาะการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจนั้นสะสมต่อเนื่อง และรุนแรงมากขึ้นเมื่อมีการปลุกระดมภายหลังจากที่รัฐประกาศยกเลิกการใช้ธนบัตรมูลค่า 25 จัต 35 จัต และ 75 จัต ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2530 นักศึกษามหาวิทยาลัยย่างกุ้งประท้วงด้วยการทำลายร้านค้าหลายแห่ง จนมีเหตุการณ์รุนแรงครั้งสำคัญปะทุขึ้นเป็นครั้งแรกในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2531 หลังเกิดเหตุทะเลาะวิวาทระหว่างนักศึกษาในร้านน้ำชา และตำรวจจับกุมผู้ก่อเหตุ กลุ่มนักศึกษาได้รวมตัวกันประท้วง ให้ปล่อยตัวผู้ต้องหา ก่อให้เกิดความไม่พอใจในหมู่นักศึกษาประชาชน และขยายไปทั่วประเทศ มีการประท้วงในพื้นที่ต่างๆ จำนวนมาก จนเป็นสาเหตุสำคัญอย่างหนึ่งที่กดดันให้นายพลเนวินต้องประกาศลาออก

การลาออกของนายพลเนวินในวันที่ 23 กรกฎาคม ตามมาด้วยการชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยของนักศึกษา และประชาชนหลายแสนคนในเมืองหลวงย่างกุ้ง และแผ่ขยายไปทั่วประเทศ ในวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2531 เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย การประท้วงแผ่ขยายไปทั่วประเทศ

อองซานซูจี เข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2531 โดยส่งจดหมายเปิดผนึกเรียกร้องสิทธิในการขึ้นปกครองประเทศของตนจากความดีความชอบของบิดาผู้ล่วงลับ วันที่ 26 สิงหาคม อองซานซูจี ในขึ้นกล่าวปราศรัยเป็นครั้งแรกต่อหน้าฝูงชนที่มาชุมนุมกันที่เจดีย์ชเวดากอง ในย่างกุ้ง โดยต่อมาซูจีเรียกร้องให้มีการจัดตั้งรัฐบาลประชาธิปไตย แต่ผู้นำทหารกลับจัดตั้งสภาฟื้นฟูกฎระเบียบแห่งรัฐ (The State Law and Order Restoration Council : SLORC) ขึ้นแทน และได้ทำการปราบปรามและจับกุมผู้ต่อต้านอีกหลายร้อยคน วันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2531 อองซานซูจี ได้ร่วมจัดตั้งพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยขึ้น (National League for Democracy: NLD) และได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรค ชีวิตทางการเมืองของนางอองซานซูจี จึงได้เริ่มต้นนับแต่นั้น

มารดาของซูจี ดอว์ขิ่นจี ซึ่งมีอาการป่วยมานาน ได้เสียชีวิตลงในวันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2531

เกียรติยศ และการจองจำ

[แก้]

รัฐบาลภายใต้กฎอัยการศึก สั่งกักบริเวณซูจีให้อยู่แต่ในบ้านพักเป็นครั้งแรก เวลา 3 ปี ตั้งแต่วันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2532 ซึ่งต่อมาขยายเป็น 6 ปี และได้จับกุมสมาชิกพรรคจำนวนมากไปคุมขังไว้ที่ คุกอินเส่ง ซูจีประกาศจะอดอาหารเพื่อประท้วง และเรียกร้องขอให้นำสมาชิกพรรคคนอื่น ๆ มาอยู่ที่เดียวกันในบ้านพักของเธอ โดยเวลานั้นอเล็กซานเดอร์ และคิมอยู่กับมารดาด้วย ไมเคิลจากอังกฤษมาที่ย่างกุ้ง เพื่อเป็นกำลังใจให้ภรรยา ซึ่งในที่สุด ซูจีมิได้อดอาหารประท้วงโดยอ้างว่ารัฐบาลได้ให้สัญญาแล้วว่าจะปฏิบัติอย่างดีต่อสมาชิกพรรคเอ็นแอลดี ที่ถูกคุมขังไว้ที่คุกอินเส่ง

27 พฤษภาคม พ.ศ. 2533 แม้ว่าซูจียังคงถูกกักบริเวณอยู่ แต่พรรคเอ็นแอลดี ก็ยังคงได้รับชัยชนะอย่างท่วมท้นในการเลือกตั้งทั่วไป รัฐบาลทหารในนามของ “สภาฟื้นฟูกฎหมายและระเบียบแห่งรัฐ” ยื่นข้อเสนอการถ่ายโอนอำนาจให้แก่ซูจี โดยให้ซูจียุติบทบาทการปลุกระดมทางการเมือง แต่ซูจีปฏิเสธข้อเสนอดังกล่าว รัฐบาลทหารจึงมีคำสั่งยืดเวลาการกักบริเวณเธอจาก 3 ปี เป็น 5 ปี และเพิ่มอีก 1 ปีในเวลาต่อมา

วันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2534 คณะกรรมการโนเบลแห่งประเทศนอร์เวย์ ประกาศชื่อ นางอองซานซูจี เป็นผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ซึ่งซูจีไม่ได้เดินทางไปรับรางวัลด้วยตัวเอง เดือนธันวาคม อเล็กซานเดอร์ และคิมจึงบินไปรับรางวัลแทนมารดาที่กรุงออสโล ประเทศนอร์เวย์ อเล็กซานเดอร์กล่าวกับคณะกรรมการและผู้มาร่วมในพิธีว่า “ผมรู้ว่าถ้าแม่มีอิสรภาพและอยู่ที่นี่ในวันนี้ แม่จะขอบคุณพวกคุณพร้อมกับขอร้อง ให้พวกคุณร่วมกันสวดมนต์ ให้ทั้งผู้กดขี่และผู้ถูกกดขี่โยนอาวุธทิ้ง และหันมาร่วมกันสร้างชาติด้วยความเมตตากรุณาและจิตวิญญาณแห่งสันติ”

ต่อมาเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2538 ซูจีประกาศต่อสื่อมวลชนทั้งในพม่าและสื่อนานาชาติ ว่าจะมอบเงินรางวัลจำนวน 1.3 ล้านเหรียญ เพื่อให้รัฐบาลใช้จัดตั้งกองทุนสุขภาพและการศึกษาของประชาชนพม่า จากข่าวดังกล่าวรัฐบาลจึงยกเลิกคำสั่งการกักบริเวณของเธอ ซูจีจึงได้รับอิสรภาพจากการถูกกักบริเวณ อย่างไรก็ดีในภายหลัง ไม่พบว่ามีหลักฐานการโอนเงินรางวัลดังกล่าวจากนางซูจีเข้ากองทุนฯ แต่อย่างใด

การเคลื่อนไหว

[แก้]

การปล่อยตัวจากการกักบริเวณครั้งนี้ ซูจี ได้ปราศรัยต่อฝูงชนที่มาชุมนุมบริเวณหน้าบ้านของเธอ และตระเวนหาเสียงในหลายพื้นที่ อย่างไรก็ตาม ในบางครั้งบางพื้นที่จะมีฝูงชนที่ไม่พอใจซูจี พยายามทำร้ายเธอและเพื่อนร่วมคณะ โดยใช้ก้อนหินขว้างปาเข้าใส่รถของเธอจนเสียหาย จากนั้นเมื่อเธอพยายามเดินทางออกจากบ้านพัก จึงมีเจ้าหน้าที่รัฐติดตามไปทุกแห่ง ซูจี จึงให้สัมภาษณ์ต่อสื่มมวลชนว่าเธอยังคงรู้สึกเหมือนถูกติดตามความเคลื่อนไหว ทำให้ไม่สามารถดำเนินกิจกรรมทางการเมืองได้อย่างอิสระ

แนวทางการต่อสู้ทางการเมืองของ ซูจี นั้น เธอปฏิเสธไม่ดำเนินการตามกฎระเบียบการยื่นหนังสือต่อรัฐบาลโดยตรง แต่เลือกที่จะดำเนินการต่อสู้โดยใช้สื่อมวลชนและกระแสสังคมเป็นเครื่องมือ ด้วยการใช้วิธีเขียนจดหมาย เขียนหนังสือ บันทึกวิดีโอเทป เพื่อส่งผ่านข้อเรียกร้องของเธอ ออกมาสู่ประชาคมโลกอย่างต่อเนื่อง ในทุกวิธีเท่าที่สามารถทำได้ เพื่อสร้างแรงกดดันระดับนานาชาติต่อรัฐบาลพม่า เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2541 ระหว่างที่เธอเดินทางออกจากย่างกุ้งเพื่อไปพบปะกับสมาชิกพรรคสันนิบาตแห่งชาติ มีการแจ้งให้ผู้สื่อข่าวต่างชาติเข้ามาทำข่าวเธอเพื่อเผยแพร่ไปทั่วโลก โดย ซูจี ประกาศว่าจะทำการนั่งประท้วงอยู่ในรถยนต์ของเธอเอง และเมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2541 ขบวนรถของซูจี ถูกสกัดไม่ให้เดินทางไปพบปะสมาชิกพรรคของเธอ ซูจี จึงเผชิญหน้ากับเจ้าหน้าที่รัฐเป็นเวลาถึงหกวัน จนเสบียงอาหารที่เตรียมไปหมด เธอจึงกลับที่พักหลังจากนั้น

วันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2543 ซูจี และสมาชิกพรรคสันนิบาตแห่งชาติ จะเดินทางเพื่อไปดำเนินกิจกรรมทางการเมือง แต่ถูกสกัดไม่ให้เดินทางออกพ้นชานเมืองย่างกุ้ง เนื่องจากตำรวจได้เบาะแสว่ามีฝูงชนกลุ่มหนึ่งวางแผนดักทำร้ายเธอระหว่างทาง ซูจียืนยันที่จะเดินทางต่อโดยใช้วิธีเผชิญหน้ากับตำรวจ ณ จุดที่ถูกสกัดเป็นเวลาถึง 9 วัน จนถึงวันที่ 2 กันยายน สองสัปดาห์ต่อมา ซูจี พร้อมคณะผู้นำพรรคฝ่ายค้านได้เดินทางไปที่สถานีรถไฟ เพื่อซื้อตั๋วโดยสารทางออกจากเมืองย่างกุ้ง แต่มีฝูงชนที่ต่อต้านเธออยู่บริเวณนั้น รัฐบาลจึงได้ส่งหน่วยรักษาความปลอดภัยพิเศษไปควบคุมตัวเธอกลับบ้านพัก พร้อมทั้งวางกำลังเจ้าหน้าที่ควบคุมจุดต่าง ๆ บนถนนหน้าบ้านพักของนางซูจี

ภายหลังการปราศรัยปลุกระดมมวลชนที่สนับสนุนเธอให้ต่อสู้เพื่อล้มรัฐบาล ซูจี จึงถูกกักบริเวณเป็นครั้งที่สอง ซึ่งเป็นเวลา 18 เดือน นับตั้งแต่วันที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2543 และได้รับอิสรภาพจากการกักบริเวณครั้งนี้เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2545 โดยในวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2544 ขณะที่ทั่วโลกร่วมกันเฉลิมฉลองวาระครบรอบหนึ่งร้อยปี ของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ พร้อมกับฉลองวาระครบสิบปีที่ซูจี ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ นางอองซาน ซูจี ผู้นำพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย ยังคงถูกจำกัดอิสรภาพอยู่ในประเทศพม่า ไม่มีโอกาสเดินทางไปร่วมพิธีเฉลิมฉลองรางวัลเกียรติยศแห่งชีวิตพร้อมกับผู้ได้รับรางวัลคนอื่น ๆ

เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม ระหว่างที่นางซูจีเดินทางเพื่อพบปะกับประชาชน ในเมืองเดพายิน (Depayin) ทางตอนเหนือของพม่า เกิดเหตุการณ์ปะทะระหว่างมวลชนผู้ไม่พอใจนางซูจีกับกลุ่มผู้สนับสนุนซูจี การปลุกระดมครั้งนี้ทำให้ซูจีถูกสั่งกักบริเวณให้อยู่ในบ้านพักอีกเป็นครั้งที่ 3 ตั้งแต่เดือนมิถุนายน พ.ศ. 2546

การประท้วงต่อต้านรัฐบาลในพม่า พ.ศ. 2550

[แก้]

การประท้วงที่นำโดยคณะพระภิกษุสงฆ์ แม่ชี นักศึกษาและประชาชน ซึ่งเริ่มตั้งแต่วันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2550 จากการปลุกระดมให้เกิดความไม่พอใจต่อการประกาศขึ้นราคาน้ำมันเชื้อเพลิงและขึ้นราคาก๊าซหุงต้มของรัฐบาลทหารพม่า การประท้วงเริ่มรุนแรงขึ้นเรื่อยมา จนถึงวันที่ 5 กันยายน มีการชุมนุมประท้วงที่วัดแห่งหนึ่งในเมืองพะโคกกุ ทางตอนกลางของประเทศ เจ้าหน้าที่เข้าสลายการชุมนุม และมีผู้บาดเจ็บจำนวนมาก รวมทั้งพระสงฆ์จำนวน 3 รูป

คณะพระภิกษุ ประกาศ "ปฐม นิคหกรรม" ไม่รับบิณฑบาตจากผู้ที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาลทหารพม่า ทหาร และครอบครัว และเรียกร้องให้ทางการพม่า ขอโทษองค์กรสงฆ์อย่างเป็นทางการภายในวันที่ 17 กันยายน แต่ไม่ได้รับการตอบสนอง ภิกษุสงฆ์จำนวนหนึ่งจึงเริ่มเข้าร่วมการประท้วงเพิ่มเติม ตั้งแต่วันที่ 18 กันยายน เมื่อรวมผู้ประท้วงได้มากกว่า 1 แสนคน การประท้วงต่อต้านรัฐบาลครั้งนี้จึงนับว่าเป็นการประท้วงต่อต้านครั้งใหญ่ที่สุดตั้งแต่การประท้วงเมื่อปี พ.ศ. 2531

เมื่อวันเสาร์ที่ 22 กันยายน คณะสงฆ์และประชาชนได้เดินทางไปยังบ้านพักนางอองซานซูจี ผู้นำพรรคฝ่ายค้าน ซึ่งนางอองซานได้ออกมาปรากฏตัวเป็นเวลา 15 นาที โดยการเปิดประตูเล็กของประตูบ้าน พร้อมกับพนมมือไหว้พระสงฆ์ที่กำลังให้พร การปรากฏตัวครั้งนี้นับเป็นการปรากฏตัวอย่างเป็นทางการครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2546

การละเมิดกฎหมาย พ.ศ. 2552

[แก้]

วันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2552 จอห์น ยัตทอว์ ชายชาวอเมริกัน ได้ว่ายน้ำข้ามทะเลสาบอินยาไปยังบ้านพักของอองซานซูจี และถูกจับกุมเมื่อเขากลับออกมาในอีกสามวันให้หลัง[6] เขาได้พยายามทำแบบเดียวกันเมื่อสองปีก่อน แต่เบนหนีโดยไม่ทราบสาเหตุ[7] ภายหลังเขาอ้างในการไต่สวนว่า เขามีเหตุจูงใจจากนิมิตของพระเจ้าซึ่งประสงค์ให้เขาบอกให้เธอทราบถึงความพยายามลอบสังหารก่อการร้ายที่คุกคาม[8] วันที่ 13 พฤษภาคม ซูจีถูกจับกุมในข้อหาละเมิดเงื่อนไขคำสั่งกักบริเวณของเธอ เพราะอนุญาตให้ชายชาวต่างชาติที่หลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายอาศัยอยู่ในบ้านของเธอเป็นเวลาสามวัน ซึ่งเธออาจถูกตัดสินจำคุกจากการละเมิดกฎหมายดังกล่าว[9] การพิจารณาซูจีและคนรับใช้หญิงของเธออีกสองคนเริ่มขึ้นในวันที่ 18 พฤษภาคม โดยมีผู้ประท้วงจำนวนน้อยรวมตัวกันอยู่ด้านนอก[10][11] ทูตและผู้สื่อข่าวถูกห้ามมิให้เข้าร่วมการพิจารณา อย่างไรก็ดี ในโอกาสหนึ่ง ทูตหลายคนจากสิงคโปร์ รัสเซีย ไทย และผู้สื่อข่าวได้รับอนุญาตให้เข้าพบซูจีได้[12] อัยการเดิมมีแผนเรียกพยาน 22 ปาก[13] นอกจากนี้ ยังกล่าวหาจอห์น ยัตทอว์ว่าทำให้พม่าขายหน้า[14] ระหว่างการแก้ต่าง ซูจีแก้ต่างว่าเธอบริสุทธิ์ โดยมีพยานเพียงหนึ่งปาก ขณะที่อัยการสามารถเรียกพยานได้ถึง 14 ปาก ทั้งนี้ ศาลปฏิเสธพยานสองปาก คือ สมาชิกพรรคเอ็นแอลดี ทิน อู และวิน ทิน และอนุญาตให้การแก้ต่างเรียกได้เฉพาะผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมายเท่านั้น[15] หัวหน้าตำรวจแห่งชาติภายหลังยืนยันว่า ยัตทอว์เป็น "ผู้กระทำผิดอาญาหลัก" ในคดีที่ฟ้องต่อซูจี[16] ตามข้อมูลในบันทึกช่วยจำ ซูจีต้องฉลองวันเกิดครบรอบ 64 ปีของเธอในเรือนจำ[17]

การจับกุมเธอและการพิจารณาคดีภายหลังได้รับการประณามจากทั่วโลก รัฐบาลพม่าวิจารณ์แถลงการณ์ดังกล่าวอย่างรุนแรง เพราะมันได้สร้าง "ประเพณีอันไม่เป็นที่ยอมรับ"[18] และวิจารณ์ประเทศไทยว่าแทรกแซงกิจการภายในของพม่า[19]

รัฐมนตรีต่างประเทศ ญาณ วิน กล่าวในหนังสือพิมพ์แสงใหม่ของพม่า ว่า เหตุการณ์ดังกล่าว "ถูกแสร้งทำให้เพิ่มแรงกดดันนานาชาติต่อพม่า โดยกลุ่มต่อต้านรัฐบาลทั้งในและนอกประเทศ ผู้ไม่ปรารถนาจะเห็นความเปลี่ยนแปลงด้านบวกต่อนโยบายของประเทศเหล่านั้นต่อพม่า"[14] เลขาธิการสหประชาชาติ บัน คี มุน สนองต่อการรณรงค์นานาชาติ ด้วยการบินไปยังพม่าเพื่อเจรจา แต่พลเอกอาวุโส ตาน ฉ่วยปฏิเสธคำร้องของเขาทั้งหมด[20]

วันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2552 การพิจารณาสิ้นสุดลง โดยซูจีถูกตัดสินจำคุกเป็นเวลาสามปี โทษนี้ได้รับการลดหย่อนโดยผู้ปกครองทหารให้เป็นการกักบริเวณอยู่แต่ในบ้านต่อไปอีก 18 เดือน[21] วันที่ 14 สิงหาคม วุฒิสมาชิกสหรัฐ จิม เว็บบ์ เยือนพม่า เข้าพบหัวหน้ารัฐบาลทหาร พลเอก ตาน ฉ่วย และภายหลังกับซูจี ระหว่างการเข้าพบ เว็บบ์เจรจาการปล่อยตัวยิตทอว์และการส่งตัวออกนอกพม่า[22] หลังคำตัดสินการพิจารณา ทนายความของซูจีว่า ตนจะอุทธรณ์ต่อโทษ 18 เดือน[23] วันที่ 18 สิงหาคม ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา บารัก โอบามา ขอให้ผู้นำทหารพม่าปล่อยตัวนักโทษการเมืองทั้งหมด รวมทั้งอองซานซูจี[24] ในการอุทธรณ์ อองซานซูจีได้แย้งว่า การพิพากษาลงโทษไม่มีหมาย อย่างไรก็ดี การอุทธรณ์ต่อโทษเดือนสิงหาคมถูกศาลพม่าปฏิเสธเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2552 คำตัดสินดังกล่าวหมายความว่า เธอไม่อาจเข้าร่วมในการเลือกตั้งที่กำหนดขึ้นใน พ.ศ. 2553 ครั้งแรกในพม่าในรอบสองทศวรรษ ทนายความของเธอแถลงว่า ทีมกฎหมายของเธอจะอุทธรณ์รอบใหม่ภายใน 60 วัน[25]

ปล่อยตัว

[แก้]

ในวันที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553 เธอได้รับการปล่อยตัวจากรัฐบาลทหารพม่า[26] เมื่อวันอังคารที่ 23 พฤศจิกายน ในปีเดียวกัน เธอได้พบกับบุตรชายคนเล็กครั้งแรก โดยเธอได้รอรับบุตรชายที่สนามบินมิงกะลาดง เธอและบุตรชายได้ปรากฏตัวที่มหาเจดีย์ชเวดากอง เมื่อวันพุธที่ 24 พฤศจิกายน ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่เธอได้อยู่ร่วมกับครอบครัว แม้จะไม่สมบูรณ์ก็ตาม[27]

ในช่วงปลายเดือนพฤษภาคม 2555 นางซูจีได้เดินทางออกนอกประเทศเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ถูกกักบริเวณเมื่อปี พ.ศ. 2533 โดยเข้าร่วมประชุมสภาเศรษฐกิจโลกภูมิภาคเอเชียตะวันออก ที่ประเทศไทย โดยก่อนหน้าการประชุมนางซูจีได้เยี่ยมแรงงานชาวพม่าที่จังหวัดสมุทรสาคร เพื่อรับทราบปัญหาต่างๆ และให้กำลังใจแรงงานดังกล่าวด้วย

นอกจากนี้ ซูจี ยังได้เดินทางเพื่อไปตระเวนเยือนยุโรปตลอดเดือนมิถุนายน 2555 โดยนางซูจีเดินทางไปเยือนสวิตเซอร์แลนด์เป็นชาติแรกในยุโรป จากนั้นเดินทางต่อไปยังนอร์เวย์ เพื่อไปรับรางวัลโนเบลสันติภาพด้วยตัวเอง หลังจากได้รับการประกาศชื่อให้เป็นผู้คว้ารางวัลเมื่อหลายสิบปีก่อน จากนั้นจึงตระเวนเดินทางต่อไปยัง ไอร์แลนด์ อังกฤษ และฝรั่งเศส โดยระหว่างเยือนยุโรป นางซูจี กล่าวสุนทรพจน์ในที่ประชุมองค์การแรงงานระหว่างประเทศ และกล่าวแถลงในรัฐสภาอังกฤษ รวมทั้ง เข้ารับรางวัลด้านสิทธิมนุษยชนขององค์กรนิรโทษกรรมสากล ในกรุงดับลิน ของไอร์แลนด์ จาก โบโน ร็อกสตาร์ชื่อดัง คนสนิทของเธอไม่เปิดเผยรายละเอียดการเยือนต่างประเทศของเธอมากนัก โดยกล่าวเพียงว่า เธอต้องพกยากล่อมประสาทเป็นจำนวนมากไปด้วย เพราะเธอเมาเรือและเมาเครื่องบินง่ายมาก การเยือนยุโรปของนางซูจี มีขึ้นท่ามกลางความขัดแย้งอย่างรุนแรงในรัฐยะไข่ ทางตะวันตกของพม่า ซึ่งเกิดการจลาจล และการเผาบ้านเรือนหลายร้อยหลัง โดยเธอปฏิเสธไม่ขอออกความเห็นเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว

การศึกษา

[แก้]
  • จบชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นจากโรงเรียนฟรานซิสคอนแวนต์ ประเทศพม่า
  • ศึกษาชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายที่โรงเรียน Methodist English High School ในย่างกุ้ง จากนั้นย้ายไปศึกษาและจบชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายจากโรงเรียนคอนแวนต์ ประเทศอินเดีย
  • จบปริญญาตรี คณะรัฐศาสตร์ที่ Lady Shri Ram College ในเครือมหาวิทยาลัยเดลี ประเทศอินเดีย
  • จบปริญญาตรีทางด้านการเมือง ปรัชญา และเศรษฐศาสตร์ จาก St. Hugh's College มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด สหราชอาณาจักร
  • จบปริญญาโททางด้านการเมือง จากมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด
  • จบปริญญาโท (M.Phil.) จาก SOAS (School of Oriental and African Studies) ในเครือมหาวิทยาลัยลอนดอน ประเทศอังกฤษ[28]
  • 26 ธันวาคม 2547 ได้รับปริญญา ศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาปรัชญาการเมืองและเศรษฐศาสตร์ (หลักสูตรนานาชาติ) จากมหาวิทยาลัยรังสิต
  • 19 มิถุนายน 2548 ได้รับปริญญา รัฐศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ในโอกาสครบรอบ 60 ปี)
  • 20 มิถุนายน 2555 ได้รับปริญญา ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาปรัชญา การเมืองและเศรษฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด สหราชอาณาจักร

ประวัติการทำงานและผลงาน

[แก้]

ในสื่อร่วมสมัย

[แก้]

หมายเหตุ

[แก้]
  1. ในปัจจุบันอองซานซูจีถูกจับกุม ทำให้ตำแหน่งนี้มีลักษณะเป็นสัญลักษณ์

อ้างอิง

[แก้]
  1. "Opponents of Myanmar coup announce unity government". Al Jazeera. 16 April 2021. สืบค้นเมื่อ 3 June 2021.
  2. "Opponents of Myanmar coup form unity government, aim for 'federal democracy'". Reuters. 16 April 2021. สืบค้นเมื่อ 3 June 2021.
  3. "Myanmar election commission announces NLD wins overwhelmingly in by-elections". Xinhua News Agency. 2 April 2012. สืบค้นเมื่อ 2 April 2012.
  4. A biography of Aung San Suu Kyi เก็บถาวร 2009-02-19 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. Burma Campaign.co.uk. Retrieved 7 May 2009.
  5. Klein, Edward (October 1995). "The lady triumphs". Vanity Fair. Conde Nast Publications. ISSN 0733-8899.
  6. McDonald, Mark (7 May 2009). U.S. Man Held After Swim to Burmese Nobel Peace Laureate’s Home. The New York Times.
  7. James, Randy (20 May 2009). John Yettaw: Suu Kyi's Unwelcome Visitor เก็บถาวร 2009-05-23 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. TIME.
  8. The Times, 28 May 2009, Richard Lloyd Parr, "God asked me to warn her, swimmer John Yettaw tells Suu Kyi trial"
  9. Kennedy, Maev (14 May 2009). Lake swimmer could cost Suu Kyi her freedom. The Guardian.
  10. Burma opposition leader on trial, Financial Times, 19 May 2009
  11. Burma's Aung San Suu Kyi on trial, BBC News Online, 18 May 2009
  12. Suu Kyi 'composed' at Burma trial, BBC News Online, 20 May 2009
  13. Lawyers for Aung San Suu Kyi protest innocence as trial begins เก็บถาวร 2009-05-21 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, The Times, 18 May 2009
  14. 14.0 14.1 Myanmar Court Charges Suu Kyi, Wall Street Journal, 22 May 2009
  15. "Court Rejects Two Suu Kyi Defense Witnesses". Irrawaddy.org. 9 June 2009. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-08-10. สืบค้นเมื่อ 10 June 2009.
  16. "Myanmar says American main culprit in Suu Kyi case". AP. 2009-06-25. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-07-03.
  17. Aung San Suu Kyi celebrates 64th birthday with jail guards. The Guardian. 19 June 2009
  18. Myanmar protests ASEAN alternate chairman statement on Aung San Suu Kyi. Xinhua. 24 May 2009.
  19. Burma lashes out at Thailand over Suu Kyi. Bangkok Post. 25 May 2009.
  20. Horn, Robert (5 July 2009). Ban Ki-Moon Leaves Burma Disappointed เก็บถาวร 2009-07-06 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. TIME.
  21. Burma court finds Suu Kyi guilty. BBC News. 11 August 2009.
  22. "Senator wins release of US prisoner in Myanmar". Associated Press. 15 August 2009. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 15 April 2018. สืบค้นเมื่อ 14 April 2018.
  23. McCurry, Justin (12 August 2009). Lawyers to appeal against Aung San Suu Kyi sentence. The Guardian.
  24. Obama appeals to Myanmar junta to release Aung San Suu Kyi. The Times of India. 18 August 2009.
  25. Associated Press (2 October 2009). "Burmese court rejects appeal against Aung San Suu Kyi house arrest". Guardian. UK. สืบค้นเมื่อ 30 September 2010.
  26. Burma releases Aung San Suu Kyi. BBC News, 13 November 2010.
  27. Kennedy, Phoebe (24 November 2010). "Suu Kyi and son reunited after 10-year separation". The Independent. London. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 25 January 2012. สืบค้นเมื่อ 13 July 2011.
  28. "The School of Oriental and African Studies, University of London". Complete University Guide. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 27 November 2012. สืบค้นเมื่อ 28 November 2012.
  29. Beake, Nick (12 November 2018). "Aung San Suu Kyi: Amnesty strips Myanmar leader of top prize". BBC. สืบค้นเมื่อ 12 November 2018.
  30. Mark, Brown; Simon, Hattenstone (19 December 2010). "Aung San Suu Kyi's tragic love and incredible life come to the big screen". The Guardian. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 27 September 2016. สืบค้นเมื่อ 5 October 2016.


แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]
Wikinews
Wikinews
วิกิข่าว มีข่าวเกี่ยวกับบทความ:
Category:Aung San Suu Kyi
Wikiquote
Wikiquote
วิกิคำคมภาษาอังกฤษ มีคำคมที่กล่าวโดย หรือเกี่ยวกับ: Aung San Suu Kyi

หนังสือและบทความ

[แก้]
  • นิตยาภรณ์ พรมปัญญา และสุเนตร ชุตินธรานนท์. “อองซาน ซูจี: นารีเขตรกับสภาวะผู้นำในการเมืองพม่า.” ใน สุวดี เจริญพงศ์ และปิยนาถ บุนนาค (บก.), สตรีแถวหน้าในประวัติศาสตร์เอเชีย. หน้า 219–237. กรุงเทพฯ: บ้านพิทักษ์อักษร, 2550. ISBN 9789747519600.

เว็บไซต์

[แก้]
ก่อนหน้า อองซานซูจี ถัดไป
Aung Shwe ประธานพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย
(18 พฤศจิกายน 2554 – ปัจจุบัน)
ยังอยู่ในวาระ
สถาปนาตำแหน่ง ที่ปรึกษาแห่งรัฐพม่า
(6 เมษายน 2559 – 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564)
ว่าง
Wunna Maung Lwin รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศพม่า
(30 มีนาคม 2559 – ปัจจุบัน)
ยังอยู่ในวาระ
Thein Nyunt
Soe Maung
Soe Thein
Aung Min
Hla Tun
Tin Naing Thein
รัฐมนตรีประจำทำเนียบประธานาธิบดีพม่า
(30 มีนาคม 2559 – ปัจจุบัน)
ยังอยู่ในวาระ
Khin San Yee รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการพม่า
(30 มีนาคม 2559 – 6 เมษายน 2559)
Myo Thein Gyi
Khin Maung Soe (กระทรวงไฟฟ้า)
Zeya Aung (กระทรวงพลังงาน)
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงไฟฟ้าและพลังงานพม่า
(30 มีนาคม 2559 – 6 เมษายน 2559)
Pe Zin Tun
สถาปนาตำแหน่ง เลขาธิการพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย
(27 กันยายน 2531 – 18 พฤศจิกายน 2554)
ล้มเลิกตำแหน่ง
Sai Hla Kyaw ผู้นำฝ่ายค้านพม่า
(2 พฤษภาคม 2555 – 30 มีนาคม 2559)
Khin Aung Myint