ข้ามไปเนื้อหา

มิเชล โหย่ว

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก มิเชลล์ โหย่ว)
มิเชลล์ โหย่ว
楊紫瓊
โหย่วใน ค.ศ. 2023
เกิดโหย่ว ชูเค็ง[1]
(1962-08-06) 6 สิงหาคม ค.ศ. 1962 (62 ปี)
อีโปะฮ์ รัฐเประ สหพันธรัฐมาลายา (ปัจจุบันคือประเทศมาเลเซีย)
ชื่ออื่นมิเชลล์ ข่าน
การศึกษาRoyal Academy of Dance (ศศ.บ.)
อาชีพนักแสดง
ปีปฏิบัติงานค.ศ. 1983–ปัจจุบัน
คู่สมรส
ชื่อภาษาจีน
อักษรจีนตัวเต็ม楊紫瓊
อักษรจีนตัวย่อ杨紫琼
ฮั่นยฺหวี่พินอินYáng Zǐqióng
[jáŋ tsɹ̩̀.tɕʰjʊ́ŋ]
ยฺหวิดเพ็งJoeng4 Zi2-king4
[jœ̏ːŋ tsǐː.kʰȅŋ]
ไถหลัวIônn Tsú-khîng
[ĩũ tsu kʰiŋ]

มิเชล โหย่ว ชูเค็ง (อักษรโรมัน: Michelle Yeoh Choo-Kheng; เกิด 6 สิงหาคม ค.ศ. 1962) มีชื่อจริงว่า โหย่ว ชูเค็ง (จีนตัวย่อ: 杨紫琼; จีนตัวเต็ม: 楊紫瓊; พินอิน: yáng zǐ qióng) หรือ หยาง จื่อฉยง ในภาษาจีนกลาง มีชื่อในการแสดงว่า มิเชล โหย่ว (อักษรโรมัน: Michelle Yeoh) เป็นนักแสดงหญิงชาวมาเลเซีย กรรมการคณะกรรมการโอลิมปิกสากล เข้าสู่วงการบันเทิงจากการเป็นผู้ชนะเลิศการประกวดมิสมาเลเซียเวิลด์ และเป็นตัวแทนของประเทศมาเลเซียในการเข้าประกวดมิสเวิลด์ ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ในปี ค.ศ. 1983 จากนั้นเธอได้มีโอกาสแสดงภาพยนตร์ฮ่องกงจนมีชื่อเสียงในระดับนานาชาติโดยเฉพาะจากการแสดงบทโลดโผนและภาพยนตร์กำลังภายในที่ประสบความสำเร็จหลายเรื่องในยุคคริสต์ทศวรรษ 1990 เช่น โอ้โฮ!...ซือเจ๊ (1985), โคตรอันตราย...คู่คู่ (1986), ดุดุดุ (1987), แผนโหดเจ๊ดุ (1987), วิ่งสู้ฟัด 3 (1992), สวยประหาร (1993), วิ่งสู้ฟัด ตอน ซือเจ้ฟัดเอง (1993), หย่งชุน หมัดสั้นสะท้านบู๊ลิ้ม (1994) และ 3 พี่น้องตระกูลซ่ง (1997)

หลังจากมีชื่อเสียงในทวีปเอเชีย เธอก็ได้รับโอกาสในการแสดงภาพยนตร์ฮอลลีวูด โดยได้แสดงใน ภาพยนตร์ชุดเจมส์ บอนด์ ภาค 007 พยัคฆ์ร้ายไม่มีวันตาย (1997) และมีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลกจากเรื่อง พยัคฆ์ระห่ำ มังกรผยองโลก (2002) ที่ทำให้เธอได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลแบฟตาและรางวัลม้าทองคำ สาขานักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม รวมทั้งมีผลงานในภาพยนตร์ฮอลลีวูดเรื่องอื่น ๆ เช่น นางโลม โลกจารึก (2005), ยุทธการสยบพระอาทิตย์ (2007), เดอะมัมมี่ 3 คืนชีพจักรพรรดิมังกร (2008), มอร์แกน ยีนส์มรณะ (2016), เหลี่ยมโบตั๋น (2018), ชาง-ชี กับตำนานลับเท็นริงส์ (2021), โรงเรียนแห่งความดีและความชั่ว (2022) และประสบความสำเร็จอย่างมากกับบทบาทการแสดงในภาพยนตร์เรื่อง ซือเจ๊ทะลุมัลติเวิร์ส (2022) ที่ทำให้เธอได้รับรางวัลออสการ์ สาขานักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม ในงานประกาศผลรางวัลออสการ์ ครั้งที่ 95 โดยเธอได้รับการบันทึกว่าเป็นนักแสดงชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้คนแรกที่ได้รับรางวัลออสการ์ในสาขานี้และเป็นชาวมาเลเซียคนแรกที่ได้รับรางวัลออสการ์[2][3][4][5][6] นอกจากนี้จากบทบาทดังกล่าวยังทำให้เธอได้รับรางวัลลูกโลกทองคำ, รางวัลแซกอวอร์ดส์และอินดิเพนเดนต์สปิริตอะวอดส์ สาขานักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม รวมถึงได้รับการเสนอชื่อให้เข้าชิงรางวัลแบฟตา

ชื่อเธอ Yeoh Choo-Kheng นั้นมาจากการถอดชื่อจีน 杨紫琼 ตามเสียงภาษาจีนฮกเกี้ยน อ่านตามภาษาจีนฮกเกี้ยนว่า "เอีย จู๊ขิง" (เป่อ่วยยี: Iôⁿ Chú-khêng, IPA: /iɔ̃³³ t͡su⁴⁴ kʰiɪŋ²⁴/)

ประวัติ

[แก้]

มิเชล โหย่ว เกิดเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม ค.ศ. 1962 ในเมืองอีโปะฮ์ รัฐเประ สหพันธรัฐมาลายา (ปัจจุบันคือประเทศมาเลเซีย) มีชื่อจริงว่า โหย่ว ชูเค็ง หรือ หยาง จื่อฉยง ตามสำเนียงจีนกลาง เป็นชาวมาเลเซียเชื้อสายจีน โดยครอบครัวเป็นชาวฮกเกี้ยนและชาวกวางตุ้ง[7][8] บิดาชื่อ โหย่ว เคียนเต๊ก หรือ หยาง เจี้ยนเต๋อ (สำเนียงจีนกลาง) และมารดาชื่อ เจเนต โหย่ว หรือ ถัน ฮุ้ยเจิน บิดาเป็นนักกฎหมายและเป็นนักการเมืองของพรรคสมาคมชาวมาเลเซียเชื้อสายจีน (Malaysian Chinese Association หรือ MCA) ซึ่งเธอเป็นบุตรคนสุดท้องในพี่น้องทั้งหมด 3 คน เติบโตขึ้นมาด้วยการพูดภาษามลายูและภาษาอังกฤษเป็นหลัก โดยเธอเริ่มมาเรียนรู้ภาษาจีนกวางตุ้งและภาษาจีนกลางเมื่อเริ่มเป็นนักแสดงแล้ว

เธอชื่นชอบการเต้นมาตั้งแต่เด็ก โดยเริ่มเรียนบัลเลต์ตั้งแต่อายุ 4 ขวบ และเข้ารับการศึกษาในชั้นประถมที่โรงเรียนเมนคอนแวนต์ อีโปะฮ์ ซึ่งเป็นโรงเรียนหญิงล้วน ก่อนที่จะย้ายตามครอบครัวไปใช้ชีวิตที่ประเทศอังกฤษ เมื่ออายุได้ 15 ปี และเข้าเรียนในโรงเรียนประจำหญิงล้วน จากนั้นเธอได้เข้าเรียนที่ราชบัณฑิตยสถานนาฏศิลป์ กรุงลอนดอน เอกวิชาบัลเลต์ อย่างไรก็ตามเธอต้องหยุดการเป็นนักบัลเลต์มืออาชีพไว้เนื่องจากได้รับบาดเจ็บที่กระดูกสันหลัง เธอจึงเปลี่ยนไปให้ความสนใจกับการออกแบบท่าเต้นและศิลปะด้านอื่น เธอจบการศึกษาระดับปริญญาตรีศิลปศาสตรบัณฑิต สาขานฤมิตศิลป์ จากวิทยาลัยครูว์แอนด์อัลเซเจอร์ ที่มณฑลเชชเชอร์[9](ต่อมาวิทยาลัยดังกล่าวถูกรวมเป็นวิทยาเขตหนึ่งของมหาวิทยาลัยนครแมนเชสเตอร์)

อาชีพ

[แก้]

หลังเรียนจบจากอังกฤษ เธอกลับมายังประเทศมาเลเซีย เพื่อเข้าประกวดมิสมาเลเซียเวิลด์ และสามารถคว้ารางวัลชนะเลิศได้ในปี ค.ศ. 1983 ขณะอายุได้เพียง 20 ปี ก่อนจะได้เป็นนางงามตัวแทนของประเทศมาเลเซียไปประกวดมิสเวิลด์ ที่กรุงลอนดอน

จากการได้ตำแหน่งนางงามของประเทศมาเลเซียและได้เป็นตัวแทนไปประกวดมิสเวิลด์ ที่ลอนดอน ทำให้เธอได้รับความสนใจและมีผลงานทางโทรทัศน์เป็นครั้งแรกในปี 1984 ด้วยการได้แสดงโฆษณานาฬิกายี่ห้อ กี ลาร็อช ที่ออกอากาศทางโทรทัศน์ โดยเป็นการร่วมถ่ายโฆษณาร่วมกับเฉินหลงและโจว เหวินฟะ จากนั้นเธอได้เซ็นสัญญาแสดงภาพยนตร์กับค่าย ดีแอนด์บี ฟีลม์ ของฮ่องกง โดยมีชื่อในการแสดงช่วงแรกว่า "มิเชล ข่าน" และมีผลงานภาพยนตร์เรื่องแรกในฐานะนักแสดงสมทบคือ คู่ซ่าส์จอมแสบ (1984) ที่แสดงนำแสดงโดย หลิน จื่อเสียง และหง จินเป่า [10]

ราชินีนักบู๊

[แก้]

หลังจากได้แสดงภาพยนตร์เรื่องแรก เธอก็ได้ปรากฏตัวในฐานะนักแสดงรับเชิญในเรื่องภาพยนตร์เรื่อง ขอน่า อย่าซ่าส์ (1985) ที่นำแสดงโดยเฉินหลง, หง จินเป่า และ หยวน เปียว ต่อมาเธอได้รับบทนักแสดงนำเป็นครั้งแรกในภาพยนตร์แอคชันเรื่อง โอ้โฮ!...ซือเจ๊ (1985) ซึ่งเธอรับบทเป็น "สารวัตรอู๋" ตำรวจสายสืบหญิง โดยแสดงร่วมกับ ซินเธีย ร็อทร็อก และ ฉีเคอะ ซึ่งบทดังกล่าวถือเป็นบทบาทที่สร้างชื่อให้เธอเป็นที่รู้จักในวงการภาพยนตร์ฮ่องกง โดยตัวภาพยนตร์ประสบความสำเร็จทำรายได้มากกว่า 10 ล้านดอลลาร์ฮ่องกง ส่งผลให้เธอได้รับการเสนอชื่อให้เข้าชิงรางวัลภาพยนตร์ฮ่องกง สาขานักแสดงหน้าใหม่ยอดเยี่ยม

ในปี 1986 เธอยังคงได้รับบทนำในภาพยนตร์เรื่อง โคตรอันตราย..คู่คู่ โดยรับบทเป็น "สารวัตรมิเชลล์" ตำรวจหญิงที่เชี่ยวชาญด้านกังฟู แสดงร่วมกับ ฮิโรยูกิ ซานาดะ และ ไมเคิล หว่อง, Magnificent Warriors ดุ ดุ ดุ หรือ โอ้โห..ซือเจ๊ 2 รับบทนักผจญภัยต่อกรกับกองทัพญี่ปุ่นช่วงทศวรรษที่ 1930s จากบทบาทการแสดงบทบู๊ที่โดดเด่น มิเชล โหย่ว ได้ฉายาว่า ราชินีนักบู๊[11] และซือเจ๊[12]

หลังจากแต่งงานโหย่วได้งดการแสดง ก่อนจะกลับมาแสดงภาพยนตร์อีกครั้งในปี พ.ศ. 2535 และประสบความสำเร็จสูงในภาพยนตร์ตำรวจชุดอย่าง วิ่งสู้ฟัด 3 รับบทตำรวจสาวจากจีนแผ่นดินใหญ่ที่มาร่วมภารกิจกับตำรวจจากฮ่องกง ที่รับบทโดย เฉินหลง ซึ่งได้มาถ่ายทำที่ประเทศมาเลเซียบ้านเกิดของเธอด้วย ทำให้ชื่อเสียงของเธอดังไปทั่วโลก เป็นหนึ่งในนักแสดงหญิงที่พูดภาษาจีนที่มีรายได้สูงสุดของโลก เป็นหนึ่งในดารานำหญิงเพียงคนเดียวที่เฉินหลงยินยอมให้แสดงบทเสี่ยงภัย โดยเฉพาะฉากเสี่ยงตายบนรถไฟเป็นฉากที่คนดูจดจำ[10] ภาพยนตร์เรื่องนี้ก็ได้มีโอกาสไปฉายที่สหรัฐอเมริกาในปี พ.ศ. 2539 ในชื่อ Supercop[13]

จากนั้นมิเชล โหย่ว ได้มีงานแสดงเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ส่วนใหญ่แล้วเป็นแนวแอกชันและแนวกำลังภายใน เรื่องที่โดดเด่นได้แก่ The Heroic Trio สวยประหาร และ Executioners : สวยประหาร 2 ภาพยนตร์ที่รวมนางเอกฮ่องกงแห่งยุค ร่วมกับ เหมย ยั่นฟาง และ จางม่านอวี้ [14], Butterfly and Sword กระบี่ผีเสื้อบารมีสะท้านภพ ภาพยนตร์กำลังภายใน ร่วมกับ เหลียงเฉาเหว่ย เจินจื่อตัน หลินจื้ออิ่ง และหวังจู่เสียน, Tai Chi Master : มังกรไท้เก็ก คนไม่ยอมคน ภาพยนตร์กังฟูร่วมกับ หลี่ เหลียนเจี๋ย, ภาคแยกของวิ่งสู้ฟัด 3 คือ Supercop 2 วิ่งสู้ฟัด ตอน ซือเจ้ฟัดเอง โดยมีตัวละครของเธอเป็นตัวละครหลัก[15], ภาพยนตร์แอกชันกังฟู Wing Chun หย่งชุน หมัดสั้นสะท้านบู๊ลิ้ม รับบท เหยียน หย่งชุน ผู้ให้กำเนิดมวยหย่งชุน และแสดงร่วมกับ เจินจื่อตัน[16]

นอกจากนั้นยังมีภาพยนตร์ดราม่าได้แก่ The Soong Sisters รับบท ซ่ง อ้ายหลิง ซึ่งทำให้มิเชล โหย่ว ได้เข้าชิงรางวัลนักแสดงสมทบยอดเยี่ยมเวทีฮ่องกง ฟิล์ม อะวอร์ด (Hong Kong Film Award)

สู่ระดับนานาชาติ

[แก้]

พ.ศ. 2540 มิเชล โหย่ว มีผลงานแสดงภาพยนตร์ฮอลลีวู้ดครั้งแรกในเจมส์ บอนด์ ตอนที่ 18 ที่มีชื่อว่า Tomorrow Never Dies ผลงานกำกับของ โรเจอร์ สปอตติสวู้ด โดยร่วมแสดงกับ เพียร์ซ บรอสแนน, เทรี่ แฮทเชอร์ และ โจนาธาน ไพรซ์ กับบท ไหว่หลิน เป็นที่รู้จักกับการเป็นสาวบอนด์ที่บู๊ได้ และเป็นนักแสดงเอเชียเพียงไม่กี่คนที่เป็นนางเอกในแฟรนไชส์นี้[12]

ตามด้วยการประสบความสำเร็จอย่างสูงกับหนังแอ็คชั่น-กำลังภายในเรื่อง Crouching Tiger, Hidden Dragon พยัคฆ์ระห่ำ มังกรผยองโลก ของอั้งลี่ ในบทจอมยุทธ์หยูซูเหลียน ร่วมแสดงกับ โจวเหวินฟะ, จาง จื่ออี๋, จางเจิ้น และ เจิ้งเพ่ยเพ่ย โดยสามารถทำเงินผ่านหลักร้อยล้านดอลลาร์สหรัฐ และคว้า 4 รางวัลออสการ์ รวมถึงภาพยนตร์ต่างประเทศยอดเยี่ยม สำหรับเธอได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลนักแสดงนำยอดเยี่ยมจากเวที BAFTA Film Award, Saturn Award, TFCA Award, Golden Horse Award, Hong Kong Film Award และ VFCC Award [10]

นอกจากผลงานการแสดง มิเชล โหย่ว ได้เป็นผู้ผลิตภาพยนตร์ฮ่องกงร่วมกับแสดงนำ ในภาพยนตร์แอกชันเรื่อง The Touch ฟัดสัมผัสพิสดาร และ Sliver Hawk เหยี่ยวเหิร ฟัดมหากาฬ

มิเชล โหย่ว ในปี 2009

ปี พ.ศ. 2548 มิเชล โหย่ว ได้แสดงในภาพยนตร์ฮอลลิวูด Memoirs of a Geisha นางโลมโลกจารึก ผลงานของ ร๊อบ มาร์แชลล์ โดยร่วมแสดงกับ จาง จื่ออี๋, กงลี่ และ เคน วาตานาเบ้ [17]จากนั้นมีผลงานภาพยนตร์ตะวันตกอีกหลายเรื่อง ได้แก่ Sunshine : ยุทธการสยบพระอาทิตย์ ร่วมกับ คิลเลียน เมอร์ฟี และ คริส อีแวนส์, The Mummy: Tomb of the Dragon Emperor เป็นการกลับมาร่วมงานกับนักแสดงแอกชัน หลี่ เหลียนเจี๋ย และเบรนแดน เฟรเซอร์ [18]รวมถึงยังมีภาพยนตร์ทางฝั่งตะวันออก ได้แก่ Reign of Assassins นักฆ่าดาบเทวดา ซึ่งได้รับการเสนอเข้าชิงรางวัลนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมจากเวที Asian Film Award for Best Actress ในปี พ.ศ. 2554 ได้รับบท ออง ซาน ซูจี สตรีผู้นำการต่อต้านรัฐบาลทหารพม่าในภาพยนตร์ชีวประวัติเรื่อง The Lady : อองซานซูจี ผู้หญิงท้าอำนาจ และเธอได้ถูกทางการพม่าขึ้นบัญชีดำในช่วงเวลาหนึ่ง[19]

ในปี พ.ศ. 2558 มิเชล โหย่ว ได้แสดงในซีรีส์ทางโทรทัศน์เป็นครั้งแรก ในซีรีส์อเมริกันเรื่อง Strike Back สองพยัคฆ์สายลับข้ามโลก ซีซัน 5 Legacy ในปี พ.ศ. 2559 โหย่วได้กลับมารับบทจอมยุทธ์หยูซูเหลียน ใน Crouching Tiger, Hidden Dragon II - The Green Destiny : พยัคฆ์ระห่ำ มังกรผยองโลก 2 ชะตาเขียว และกลับมาร่วมแสดงอีกครั้งกับ เจินจื่อตัน[20] จากนั้นได้เข้าสู่จักรวาลมาร์เวลในภาพยนตร์ Guardians of the Galaxy Vol. 2 : รวมพันธุ์นักสู้พิทักษ์จักรวาล 2 รับเชิญในบทหนึ่งในผู้นำราเวนเจอร์ Aleta Ogord[21]

มิเชล โหย่ว ในเทศกาลภาพยนตร์กาน ปี 2017

ในปี พ.ศ. 2560-2563 มิเชล โหย่ว ได้แสดงซีรีส์ไซไฟในแฟรนไชส์ Star Trek คือ Star Trek: Discovery สตาร์ เทรค: ดิสคัฟเวอรี่ ในบท ฟิลลิปา จอร์จู[22] จากทั้งสองมิติจักรวาล ได้เข้าชิงรางวัลนักแสดงรับเชิญยอดเยี่ยมจากเวที Saturn Award ในปี พ.ศ. 2561 มิเชล โหย่ว ได้ร่วมนำแสดงในภาพยนตร์ Crazy Rich Asians เหลี่ยมโบตั๋น ในบท เอลินอร์ ยัง[23] ซึ่งประสบความสำเร็จทั้งรายได้ ในฐานะภาพยนตร์โรแมนติกคอเมดี้ที่ทำรายได้สูงสุดในทศวรรษนี้ และเข้าชิงรางวัลจากภาพยนตร์คอเมดีจาก รางวัลลูกโลกทองคำ, Critics' Choice Awards, Satellite Awards[24] รวมถึงกลับมาแสดงบทแอกชันกังฟูในภาพยนตร์ในจักรวาลยิปมัน Master Z: Ip Man Legacy ยิปมัน ตำนานมาสเตอร์ Z ในบทเจ้าแม่หัวหน้าแก๊งมาเฟีย

ปัจจุบัน

[แก้]

มิเชล โหย่ว ได้รับอีกบทบาทหนึ่งในจักรวาลภาพยนตร์มาร์เวล ในบทผู้นำดินแดนถาโหล ใน ชาง-ชี กับตำนานลับเท็นริงส์ [21]นอกจากนี้มีการประกาศว่ามิเชล โหย่ว จะร่วมแสดงในภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์ภาคต่อทั้งสองภาคของ อวตาร ในบทนักวิทยาศาสตร์ ดร. แคริน่า โมค[25]

ใน ปี พ.ศ. 2565 มิเชล โหย่ว ได้แสดงนำในภาพยนตร์เรื่อง Everything Everywhere All at Once ซือเจ๊..ทะลุมัลติเวิร์ส ซึ่งประสบความสำเร็จทางรายได้และคำวิจารณ์ ส่งให้มิเชล โหย่ว ได้เข้าชิงรางวัลนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม รางวัลลูกโลกทองคำ ครั้งที่ 80[26], Critics' Choice Awards, Satellite Awards ได้เข้าชิงและได้รับรางวัลอีกหลายเวที และได้รับ รางวัลออสการ์ สาขานักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมประจำปี 2566 ไป ทำให้เธอเป็นนักแสดงหญิงชาวเอเชียนและมาเลเซียคนแรก และคนผิวสีอันดับสองที่ได้รับรางวัลนี้ในรอบศตวรรษ

มิเชล โหย่ว ได้รับเลือกให้เป็นไอคอนแห่งปี 2022 (2022 ICON OF THE YEAR) จากนิตยสารไทม์ ในฐานะดาราดังระดับเมเจอร์สตาร์แห่งเอเชีย มีผลงานมากมาย มีชื่อเสียงมานานหลายทศวรรษ[9]

ชีวิตส่วนตัว

[แก้]

ในปี พ.ศ. 2531 หยางได้สมรสกับ ดิกสัน พูน ประธานบริษัทภาพยนตร์ D&B Films จากนั้นอีก 2 ปี ทั้งคู่ก็ได้หย่าขาดกัน[27]

เกียรติยศที่ได้รับ

[แก้]
  • ในวันที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2544 หยางได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ Darjah Datuk Paduka Mahkota Perak (DPMP) จากสุลต่านแห่งรัฐเประในฐานะที่เป็นชาวเประที่มีชื่อเสียงระดับโลก ทำให้หยางมีคำนำหน้าว่า ดาโต๊ะ[28][29]
  • ในวันที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2550 ฌัก ชีรัก ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศสในขณะนั้น ได้มอบเครื่องอิสริยาภรณ์เลฌียงดอเนอร์ชั้นเบญจมาภรณ์ให้หยาง[30][31]
  • ในปี พ.ศ. 2555 หยางได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ Darjah Seri Paduka Mahkota Perak (SPMP) ทำให้หยางมีคำนำหน้าว่า ดาโตะก์ เซอรี[32]
  • ในปี พ.ศ. 2556 หยางได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ Darjah Yang Mulia Setia Mahkota Malaysia (PSM) ทำให้หยางมีคำนำหน้าว่า ตันซรี[33][34]

ผลงานแสดงภาพยนตร์

[แก้]
ปี ภาพยนตร์ รับบทเป็น
2527 The Owl and Dumbo : คู่ซ่าส์จอมแสบ หรือ หมัดน้องต้องมีดอกเบี้ย Miss Yeung
2528 Twinkle, Twinkle Lucky Stars : 7 เพชฌฆาตสัญชาติฮ้อ ภาค2 ขอน่า อย่าซ่าส์ อาจารย์สอนยูโด (รับเชิญ)
Yes, Madam : โอ้โห ซือเจ๊ Inspector Ng
2529 Royal Warriors : โคตรอันตราย..คู่คู่ สารวัตรมิเชล ยิป
2530 Magnificent Warriors : ดุ ดุ ดุ ฮั่ว หมิงหมิง
Easy Money : แผนโหด เจ๊ดุ Michelle Yeung Ling
2535 Police Story 3 : Supercop : วิ่งสู้ฟัด 3 ผู้กำกับหยาง เจี้ยนหัว/ เจสซิก้า หยาง
2536 The Heroic Trio : สวยประหาร ซาน / สาวล่องหน/ จิงจิง
Butterfly and Sword : กระบี่ผีเสื้อบารมีสะท้านภพ เกา เหล่าต้า
Executioners : สวยประหาร 2 ซาน / จิงจิง
Holy Weapon Ching Sze / To Col Ching
Project S (หรือ Once a Cop และ Supercop 2) : วิ่งสู้ฟัด ภาคพิเศษ : ตอน ซือเจ๊ฟัดเอง ผู้กำกับหยาง เจี้ยนหัว/ เจสซิก้า หยาง
Tai Chi Master : มังกรไท้เก็ก คนไม่ยอมคน สิ่วหลิน
2537 Shaolin Popey 2 - Messy Temple : กิ๋วก๋ากิ้ว จิ๋วแต่ตัว อาคิง (รับเชิญ)
Wonder Seven : เซียนมอเตอร์ไซค์ Fong Ying
Wing Chun : หย่งชุน หมัดสั้นสะท้านบู๊ลิ้ม หรือ พยัคฆ์สาวหมัดหย่งชุน เหยียน หย่งชุน
2539 The Stunt Woman (หรือ Ah Kam) : พยัคฆ์สาวตายไม่เป็น อาคัม
2540 The Soong Sisters : สามพี่น้องตระกูลซ่ง ผู้ยิ่งใหญ่ ซ่ง อ้ายหลิง
Tomorrow Never Dies : 007 พยัคฆ์ร้ายไม่มีวันตาย ผู้พันไหว่หลิน
2542 Moonlight Express : เทพบุตรหัวใจทรนง มิเชล (รับเชิญ)
2543 Crouching Tiger, Hidden Dragon : พยัคฆ์ระห่ำ มังกรผยองโลก หยู ชูเหลียน
2545 The Touch : ฟัดสัมผัสพิสดาร ปัก หยินเฟย
2547 Silver Hawk : เหยี่ยวเหิร ฟัดมหากาฬ ลูลู่ หว่อง / เหยี่ยวเหิร
2548 Memoirs of a Geisha : นางโลมโลกจารึก มาเมฮา
2549 Fearless : จอมคนผงาดโลก (ฉบับ Directors Cut) คุณนายหยาง (รับเชิญ)
2550 Sunshine : ยุทธการสยบพระอาทิตย์ โคราซ่อน
Far North ไซวา
2551 The Children of Huang Shi : ฝ่าสมรภูมิเดือด หุบเขาฮวงชี คุณนายหวัง
Babylon A.D. : ภารกิจดุกุมชะตาโลก ซิสเตอร์ รีเบกก้า
The Mummy: Tomb of the Dragon Emperor : เดอะ มัมมี่ 3 คืนชีพจักรพรรดิมังกร ซื่อหยวน
2553 True Legend : ยาจกซู ตำนานหมัดเมา หมอหยู
Reign of Assassins : นักฆ่าดาบเทวดา เจิงจิง / พิรุณ
2554 The Lady : อองซานซูจี ผู้หญิงท้าอำนาจ ออง ซาน ซูจี
Kung Fu Panda 2 : กังฟูแพนด้า 2 นางพยากรณ์ (ให้เสียง)
2556 Final Recipe จูเลีย ลี
2559 Crouching Tiger, Hidden Dragon II-The Green Destiny:พยัคฆ์ระห่ำ มังกรผยองโลก 2 ชะตาเขียว หยู ชูเหลียน
Mechanic: Resurrection : โคตรเพชฌฆาต แค้นข้ามโลก เหมย
Morgan : มอร์แกน ยีนส์มรณะ Dr. Lui Cheng
2560 Guardians of the Galaxy Vol. 2 : รวมพันธุ์นักสู้พิทักษ์จักรวาล 2 แอลเลตา โอกอร์ด (รับเชิญ)
2561 Crazy Rich Asians เหลี่ยมโบตั๋น เอลินอร์ ยัง
Master Z: Ip Man Legacy ยิปมัน ตำนานมาสเตอร์ Z โช หนานควาน
2562 Last Christmas ลาสต์ คริสต์มาส ซานต้า (หวงชิงชิน)
2564 Boss Level : บอสมหากาฬ ฝ่าด่านนรก ได เฟิง
Gunpowder Milkshake : นรกเรียกแม่ ฟลอเรนซ์
Shang-Chi and the Legend of the Ten Rings ชาง-ชี กับตำนานลับเท็นริงส์ อิง หนาน
2565 Everything Everywhere All at Once ซือเจ๊..ทะลุมัลติเวิร์ส เอเวอลีน ควาน หวัง
Minions: The Rise of Gru : มินเนี่ยน 2 มาสเตอร์ เชา (ให้เสียง)
Paws of Fury: The Legend of Hank : อุ้งเท้าพิโรธ: ตำนานของแฮงค์ ยูกิ (ให้เสียง)
The School for Good and Evil : โรงเรียนแห่งความดีและความชั่ว ศาสตราจารย์ เอ็มม่า แอนนีโมนี
2566 ทรานส์ฟอร์เมอร์ส: กำเนิดจักรกลอสูร[35] Airazor (ให้เสียง)
ฆาตกรรมหลอนแห่งนครเวนิส[36] จอยซ์ เรย์โนล์ด
2567 วิคเค็ด[37] มาดามมอร์ริเบิ้ล
2568 สตาร์ เทรค เซกชัน 31 กัปตันฟิลิปปา จอร์จู
วิคเค็ด 2 มาดามมอร์ริเบิ้ล
2569 อวตาร 4 ดร. แคริน่า โมค
2571 อวตาร 5 ดร. แคริน่า โมค
TBA Nezha Lady Yin Rong

ผลงานแสดงซีรีส์

[แก้]
ปี ซีรีส์โทรทัศน์ รับบทเป็น
2558 Strike Back Legacy : สองพยัคฆ์สายลับข้ามโลก (Season 5) เม ฟอสเตอร์ / ฮัน ลี นา
2559 Marco Polo (Season 2) โลตัส
2560 Star Trek: Discovery สตาร์ เทรค: ดิสคัฟเวอรี่ (Season 1) กัปตันฟิลิปปา จอร์จู / จักรพรรดิฟิลิปปา จอร์จู
2561 Star Trek: Short Trek (Episode: "The Brightest Star") ผู้การฟิลิปปา จอร์จู
2562 Star Trek: Discovery สตาร์ เทรค: ดิสคัฟเวอรี่ (Season 2) กัปตันฟิลิปปา จอร์จู
2563 Star Trek: Discovery สตาร์ เทรค: ดิสคัฟเวอรี่ (Season 3) กัปตันฟิลิปปา จอร์จู
2565 The Witcher: Blood Origin[38] สเกียน
Ark: The Animated Series Mei-Yin Li (ให้เสียง)
2566 American Born Chinese เจ้าแม่กวนอิม
2567 The Brother Sun Eileen

อ้างอิง

[แก้]
  1. NBR Gala 2023 — NBR Best Actress Winner Michelle Yeoh (plus Awkwafina introduction) เก็บถาวร 22 มกราคม 2023 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. Youtube clip of the NBR Gala on 8 January 2023 at 4:00 mins
  2. "Golden Globes 2023: Nominations List". Variety. 12 December 2022. สืบค้นเมื่อ 12 December 2022.
  3. Ordoña, Michael; Phillips, Jevon (24 January 2023). "Here are the 2023 Oscar nominees: live updates". Los Angeles Times. สืบค้นเมื่อ 24 January 2023.
  4. Pulver, Andrew (2023-03-13). "Michelle Yeoh wins best actress Oscar for Everything Everywhere All at Once". The Guardian (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). ISSN 0261-3077. สืบค้นเมื่อ 2023-03-13.
  5. Cava, Marco della. "Michelle Yeoh wins best actress, making Oscars history: 'A beacon of hope and possibilities'". USA TODAY (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). สืบค้นเมื่อ 2023-03-13.
  6. Groom, Nichola (2023-03-13). "Michelle Yeoh wins best actress Oscar for 'Everything Everywhere All at Once'". Reuters (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 2023-03-13.
  7. "The Greatest Show on Earth". Chinatown Community Development Center. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-11-08. สืบค้นเมื่อ 2023-03-18.
  8. "Michelle Yeoh | Biography, Movies, Oscar, & Facts | Britannica". www.britannica.com (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 16 February 2023.
  9. 9.0 9.1 "ไทม์ ยกย่อง มิเชล โหย่ว (Michelle Yeoh) เป็นไอคอนแห่งปี 2022". www.thairath.co.th. 2022-12-07.
  10. 10.0 10.1 10.2 MICHELLE YEOH
  11. 'มิเชล โหย่ว' ทวงบัลลังก์ 'ราชินีนักบู๊' ใน 'ยิปมัน ตำนานมาสเตอร์ซี
  12. 12.0 12.1 หนังเล่าเรื่อง 50 Year of Bond 007: Tomorrow Never Dies
  13. 5 เส้นทางหนังดังสไตล์ "สแตนลีย์ ถง + เฉินหลง"
  14. เอเชียรามา : “สวยประหาร” จอมยุทธ์สาวกับหนุ่ม ๆ ขี้แพ้
  15. วิ่งสู้ฟัด ตอน ซือเจ๊ฟัดเอง (1993) Supercop 2
  16. 11 ปี "ยิปมัน" ยุคสมัยแห่ง "หย่งชุน"
  17. 'มิเชล โหยว' สาวบอนด์คืนชีพใน 'เกอิชา'
  18. เดอะ มัมมี่ 3 ดารานำพร้อมลุยแอ็คชั่นเพียบ
  19. พม่าแบล็กลิสต์ “มิเชล โหยว” ห้ามเข้าประเทศ
  20. ["มิเชล โหย่ว แท็คทีม ดอนนี่ เยน ซัด ในตย.ใหม่จาก Crouching Tiger, Hidden Dragon 2". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-09-27. สืบค้นเมื่อ 2020-04-16. มิเชล โหย่ว แท็คทีม ดอนนี่ เยน ซัด ในตย.ใหม่จาก Crouching Tiger, Hidden Dragon 2]
  21. 21.0 21.1 "มิเชล โหย่ว จะกลับเข้าร่วม MCU แต่ไม่ใช่บทสุดเซอร์ไพรส์ใน Guardians 2". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-01-23. สืบค้นเมื่อ 2020-04-16.
  22. “มิเชล โหย่ว ” เตรียมเป็นกัปตันยานอวกาศใน Star Trek
  23. Crazy Rich Asians หนังฮอลลีวู้ดที่ใช้ผู้กำกับ-นักแสดง "เอเชีย" ทั้งเรื่องในรอบ 25 ปี
  24. 1 ปีผ่านไป กับ Crazy Rich Asians ภาพยนตร์รอมคอมเรื่องดังที่สร้างปรากฏการณ์ไปทั่วโลก
  25. มิเชลล์ โหยว ถูกเลือกให้มารับบทเป็น ดร. แคริน่า โมค ในภาคต่อของ Avatar
  26. "ซือเจ๊ฯ ผงาด ชิง 6 ลูกโลกทองคำ ปังทุกมัลติเวิร์ส เตรียมฉายอีกครั้ง". คมชัดลึกออนไลน์. 2022-12-16.
  27. Swain, Jon. "No business like Yeoh business". The Times. London. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-05-17. สืบค้นเมื่อ 2020-06-16.
  28. "SEMAKAN PENERIMA DARJAH KEBESARAN, BINTANG DAN PINGAT". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-07-19. สืบค้นเมื่อ 2020-06-16.
  29. "Michelle Yeoh set to receive honour". Desmond Yap.
  30. "Actress Michelle Yeoh gets top French award". Reuters.
  31. "Michelle Yeoh now a Commander of the Legion of Honour". The Star.
  32. "SEMAKAN PENERIMA DARJAH KEBESARAN, BINTANG DAN PINGAT". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-07-19. สืบค้นเมื่อ 2020-06-16.
  33. "SEMAKAN PENERIMA DARJAH KEBESARAN, BINTANG DAN PINGAT". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-07-19. สืบค้นเมื่อ 2020-06-16.
  34. "She's Tan Sri Michelle Yeoh now". Joseph Sipalan and Lee Yen Mun. The Star.
  35. JEDIYUTH (2022-11-04). "มิเชล โหยว และ พีท เดวิดสัน สมทบ "Transformers: Rises of the Beasts"". JEDIYUTH.
  36. "ไปต่อกับนักสืบแอร์กูล ปัวโร หนังใหม่ "A Haunting in Venice" เปิดโผดารานำ". https://entertainment.trueid.net. {{cite web}}: แหล่งข้อมูลอื่นใน |website= (help)CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  37. https://cinematicarchitect.com/wicked-michelle/[ลิงก์เสีย]
  38. "Netflix ประกาศ มิเชล โหย่ว จะมารับบทใน The Witcher: Blood Origin ซีรีส์สั้นขยายเรื่องราวจาก The Witcher". THE STANDARD. 2021-07-07.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]