ข้ามไปเนื้อหา

หมู่เกาะมาลูกู

พิกัด: 2°00′S 128°00′E / 2.000°S 128.000°E / -2.000; 128.000
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก หมู่เกาะเครื่องเทศ)
หมู่เกาะโมลุกกะ
แผนที่หมู่เกาะโมลุกกะในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 2013
ภูมิศาสตร์
ที่ตั้งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และโอเชียเนีย
พิกัด3°9′S 129°23′E / 3.150°S 129.383°E / -3.150; 129.383
เกาะทั้งหมด~1000
เกาะหลักเกาะฮัลมาเฮรา เกาะเซรัม เกาะบูรู เกาะอัมบน เกาะเตอร์นาเต เกาะตีโดเร หมู่เกาะอารู หมู่เกาะไก หมู่เกาะลูซีปารา
พื้นที่74,505 ตารางกิโลเมตร (28,767 ตารางไมล์)
ระดับสูงสุด3,027 ม. (9931 ฟุต)
จุดสูงสุดเขาบีไนยา
การปกครอง
จังหวัด
เมืองใหญ่สุดอัมบน
ประชากรศาสตร์
ประชากร3,131,860[1] (2020)
กลุ่มชาติพันธุ์อัลฟูร์, นูเอาลู, บูกิซ

หมู่เกาะโมลุกกะ (อังกฤษ: Moluccas) หรือ หมู่เกาะมาลูกู (Maluku Islands) เป็นหมู่เกาะในประเทศอินโดนีเซีย และเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มเกาะมลายู ตั้งอยู่บนแผ่นเปลือกโลกออสเตรเลีย ทางด้านตะวันออกของเกาะซูลาเวซี (เซเลบีส) ทางด้านตะวันตกของเกาะนิวกินี และทางเหนือของติมอร์ ในอดีตนั้น ชาวจีนและชาวยุโรปเรียกหมู่เกาะนี้ว่า หมู่เกาะเครื่องเทศ เนื่องจากมีการพบจันทน์เทศ, ดอกจันทน์เทศ และกานพลูเฉพาะในบริเวณนี้ นั่นจุดประกายความสนใจการล่าอาณานิคมจากยุโรปในคริสต์ศตวรรษที่ 16[2]

พื้นที่ส่วนใหญ่ของเกาะเป็นภูเขา บางส่วนยังเป็นภูเขาไฟที่ยังคุกรุ่นอยู่ และมีสภาพภูมิอากาศที่ชื้น พืชพรรณอุดมสมบูรณ์ แม้จะอยู่บนเกาะที่เล็ก แคบ และล้อมรอบด้วยทะเล อาทิ ป่าฝน สาคู ข้าว และเครื่องเทศต่าง ๆ (เช่น ลูกจันทน์เทศ กานพลู ดอกจันทน์เทศ) ถึงแม้ว่าชาวเมลานีเซียจะเป็นประชากรส่วนใหญ่แต่เดิมโดยเฉพาะบนเกาะบันดา แต่ก็ถูกสังหารในช่วงศตวรรษที่ 17 การอพยพเข้ามาของชาวมลายูในช่วงต้นของศตวรรษที่ 20 ในช่วงที่ชาวดัตช์ปกครองอยู่ และต่อเนื่องมาจนถึงยุคที่เป็นประเทศอินโดนีเซียแล้ว

ในทางการเมือง หมู่เกาะโมลุกกะเป็นจังหวัดหนึ่งในอินโดนีเซียตั้งแต่ปี พ.ศ. 2493 ถึงปี พ.ศ. 2542 มาลูกูเหนือและฮัลมาเฮรากลางถูกแยกออกเป็นอีกจังหวัดหนึ่ง ดังนั้น หมู่เกาะนี้จึงถูกแบ่งออกเป็น 2 จังหวัด คือ มาลูกู (Maluku) และมาลูกูเหนือ (North Maluku) ระหว่างปี 2542 ถึง 2545 เป็นช่วงที่เกิดความขัดแย้งระหว่างชาวมุสลิมกับชาวคริสต์ แต่ก็เพิ่งกลับมาสงบสุขเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา

ศัพทมูลวิทยา

[แก้]

ที่มาของคำว่า มาลูกู ยังไม่เป็นที่กระจ่างและเป็นประเด็นถกเถียงสำหรับผู้เชี่ยวชาญหลายคน[3]

บันทึกแรกสุดที่ระบุคำที่กล่าวถึง มาลูกู มาจากนาการาเกรตากามา บทยกย่องภาษาชวาเก่าใน ค.ศ. 1365 ในกัณฑ์ที่ 14 บทที่ 5 กล่าวถึง Maloko ซึ่ง Pigeaud ระบุเป็นเตอร์นาเตหรือโมลุกกะ[4]: 17 [5]: 34 

มีทฤษฎีหนึ่งระบุว่า มาลูกู มาจากชื่อ Moloko Kie Raha หรือ Moloku Kie Raha[6] ในภาษาเตอร์นาเต raha หมายถึง "สี่" ส่วน kie หมายถึง "ภูเขา" Kie raha หรือ "สี่ภูเขา" สื่อถึงเตอร์นาเต, ตีโดเร, บาจัน และไจโลโล (ชื่อ ไจโลโล เป็นชื่อในอดีตของเกาะฮัลมาเฮรา) ทั้งหมดมี โกลาโน (ตำแหน่งกษัตริย์ท้องถิ่น) เป็นของตนเอง ถึงกระนั้น ก็ยังไม่เป็นที่กระจ่างว่า Moloko หรือ Moloku มีความหมายว่าอะไร

ประวัติ

[แก้]

ประวัติช่วงต้น

[แก้]

หลักฐานทางโบราณคดียุคแรกของเกี่ยวกับการครอบครองดินแดนของมนุษย์เก่าแก่ราว 32,000 ปี แต่หลักฐานเกี่ยวกับการตั้งรกรากที่เก่าแก่กว่าในออสเตรเลีย บ่งชี้ว่ามาลูกูมีผู้มาเยือนก่อนหน้านั้น หลักฐานของความสัมพันธ์ทางการค้าระยะไกลที่เพิ่มขึ้น และการครอบครองเกาะต่าง ๆ ที่มากครั้งขึ้นนั้นเริ่มต้นขึ้นเมื่อประมาณหมื่นถึงหมื่นห้าพันปีหลังจากนั้น ลูกปัดหินออนิกซ์ (Onyx) และข้อปล้องที่ทำด้วยเงินซึ่งใช้แทนเงินตราในแถบอินเดียราว 200 ปีก่อนคริสตกาลถูกขุดพบในบางเกาะ นอกจากนี้ ภาษาท้องถิ่นมีรากของคำมาจากภาษามลายูในคำที่แปลว่า "แร่เงิน" ขัดแย้งกับคำที่ใช้ในสังคมชาวเมลานีเซียนซึ่งมีที่มาจากภาษาจีน การค้าท้องถิ่นกับจีนจึงน่าจะเกิดขึ้นในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 5 ถึง 6

โมลุกกะเป็นสังคมที่เกิดจากหลากเชื้อชาติและภาษา ที่ซึ่งพ่อค้าเครื่องเทศจากหลายภูมิภาคเข้ามาอาศัยตั้งรกราก รวมทั้งพ่อค้าชาวอาหรับและจีนที่มาเยือนและใช้ชีวิตในดินแดนแถบนี้

ชาวโปรตุเกส

[แก้]

การเข้ามาของชาวโปรตุเกส

[แก้]

หลังจากการได้รับชัยชนะของชาวโปรตุเกสเหนือมะละกาในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2054 อาฟงซู ดือ อัลบูเกร์กือ (Afonso de Albuquerque) ได้รู้จักเส้นทางสู่เกาะบันดาและเกาะเครื่องเทศอื่น ๆ และส่ง 3 คณะสำรวจภายใต้การนำของอังตอนียู ดือ อาเบรว (Antonio de Abreu) ซีเมา อาฟงซู บีซีกูดู (Simão Affonso Bisigudo) และฟรังซิชกู ซือเรา (Francisco Serrão) ในระหว่างเดินทางกลับ ซือเราประสบเหตุเรือแตกที่เกาะฮีตู ในปี พ.ศ. 2055 ที่นั่น เขาได้ตั้งตนเป็นประมุขปกครองท้องถิ่น และอวดอ้างความสามารถทางการสงครามของตนเอง ประมุขของเกาะข้างเคียงอย่างเตอร์นาเตและตีโดเรต่างก็ให้ความช่วยเหลือ และยอมให้เข้ามาในอาณาเขตในฐานะผู้ซื้ออาหารและเครื่องเทศ ในระหว่างที่การค้าเครื่องเทศสงบลงชั่วคราว เพราะการกระจัดกระจายของนักเดินเรือชาวชวาและมลายูหลังการต่อสู้ในแถบมะละกาเมื่อปี พ.ศ. 2054 การค้าในเอเชียก็กลับฟื้นตัวขึ้นมาใหม่ และชาวโปรตุเกสก็ไม่เคยมีอำนาจเหนือการค้าได้เลย

เกาะเตอร์นาเต

[แก้]

ในการเป็นพันธมิตรกับเตอร์นาเตนั้น ซือเราได้สร้างป้อมปราการบนเกาะขึ้น และเป็นหัวหน้าของทหารโปรตุเกสภายใต้อำนาจของหนึ่งในสองสุลต่านผู้ขัดแย้งกันเกี่ยวกับการค้าเครื่องเทศ หมู่เกาะแห่งนี้กลายเป็นเมืองหน้าด่านที่ห่างไกลจากยุโรปที่เต็มไปด้วยอันตรายและความโลภ ที่ซึ่งพฤติกรรมน่าสังเวชของโปรตุเกส ประกอบกับความพยายามอันอ่อนแรงของชาวคริสต์ ส่งผลเป็นความสัมพันธ์ที่ตึงเครียดกับประมุขชาวมุสลิมแห่งเกาะเตอร์นาเต ซือเราสนับสนุนมาเจลลันให้ร่วมมือกับเขาในโมลุกกะ และให้ข้อมูลการสำรวจเกี่ยวกับเกาะเครื่องเทศ อย่างไรก็ตาม ทั้งซือเราและมาเจลลันต่างก็เสียชีวิตก่อนที่จะได้พบกัน ในปี พ.ศ. 2078 กษัตริย์ตาบารีจี (Tabariji) ถูกขับไล่จากราชสมบัติและถูกส่งไปยังกัวที่อินเดียโดยโปรตุเกส เขาเป็นผู้เปลี่ยนแปลงศาสนาคริสต์และเปลี่ยนชื่อตัวเองเป็นดอม มานูเอล หลังประกาศความบริสุทธิ์จากข้อกล่าวหา เขาถูกส่งกลับไปครองบัลลังก์อีกครั้ง อย่างไรก็ตาม เขาเสียชีวิตในระหว่างเดินทางไปมะละกาในปี พ.ศ. 2088 เขายกเกาะอัมบนให้แก่ฌูร์เดา ดือ ไฟรตัช (Jordao de Freitas) ชาวโปรตุเกส หลังชาวโปรตุเกสก่อเหตุฆาตกรรมสุลต่านไฮรัน ชาวเตอร์นาเตก็ขับไล่ชาวโปรตุเกสได้สำเร็จในปี พ.ศ. 2118 หลังรุกเร้าขับไล่อยู่นาน 5 ปี

เกาะอัมบน

[แก้]

โปรตุเกสขึ้นเกาะอัมบนครั้งแรกในปี พ.ศ. 2056 แต่เกาะนี้ได้กลายเป็นศูนย์กลางทางกิจกรรมของชาวโปรตุเกสแห่งใหม่ในมาลูกู หลังจากถูกขับไล่ออกจากเตอร์นาเต กองกำลังยุโรปอ่อนแอลงในพื้นที่แถบนี้ ขณะที่เตอร์นาเตกำลังขยายตัว ชาวมุสลิมและรัฐที่ต่อต้านโปรตุเกสภายใต้การปกครองของสุลต่านบาบอัลลาห์และบุตรชาย สุลานซาอิด อย่างไรก็ดี โปรตุเกสในอัมบนยังคงถูกจู่โจมโดยชาวมุสลิมพื้นเมืองบนชายฝั่งทิศเหนือของเกาะ โดยเฉพาะเกาะฮีตู ซึ่งมีการเชื่อมโยงกันทางการค้าและศาสนากับเมืองท่าใหญ่ ๆ บนชายฝั่งด้านเหนือของชวา ที่จริง ชาวโปรตุเกสไม่เคยจัดการใด ๆ ที่จะควบคุมการค้าเครื่องเทศท้องถิ่น และล้มเหลวในการสร้างอำนาจเหนือเกาะบันดาที่ใกล้จะเป็นศูนย์กลางการผลิตลูกจันทน์เทศ

สเปนบุกเข้าครอบครองเกาะเตอร์นาเตและเกาะตีโดเร มิชชันนารีและนักบวชโรมันคาทอลิก ฟรันซิส เซเวียร์ (Francis Xavier) ทำงานในมาลูกูในช่วงปี พ.ศ. 2089-2090 ในหมู่ประชาชนของเกาะอัมบน เตอร์นาเต และโมโรไต (หรือเกาะโมโร) และตั้งกองทุนสำหรับผู้สอนศาสนาที่นั่น หลังการจากมาลูกูของเขา มีชาวคาทอลิก 10,000 คนในช่วงทศวรรษที่ พ.ศ. 2103 ส่วนใหญ่อยู่ในเกาะอัมบน จนเมื่อถึงช่วงทศวรรษที่ พ.ศ. 2133 ชาวคาทอลิกก็เพิ่มขึ้นเป็น 50,000–60,000 คน แม้ว่าชนส่วนใหญ่ยังคงเป็นมุสลิมอยู่ แต่ก็เกิดสังคมชาวคริสต์ขึ้นแล้วในอินโดนีเซียตะวันออก

ชาวดัตช์

[แก้]

ชาวดัตช์เข้ามาในปี พ.ศ. 2142 และแสดงความไม่พอใจที่โปรตุเกสพยายามจะถือเอกสิทธิ์ทางด้านการค้า หลังจากชาวอัมบนช่วยเหลือชาวดัตช์ในการสร้างป้อมถาวรที่ฮีตูลาร์นา (Hitu Larna) โปรตุเกสก็เริ่มแผนแก้แค้นชาวเกาะอัมบน หลังปี พ.ศ. 2148 เฟรเดอริก เฮาต์มัน (Frederik Houtman) กลายเป็นชาวดัตช์คนแรกที่เป็นข้าหลวงของอัมบน

บริษัทอินเดียตะวันออกของดัตช์ต้องพบกับอุปสรรคถึง 3 ทางด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นโปรตุเกส การควบคุมประชากรพื้นเมือง และสหราชอาณาจักร การนำเข้าโดยไม่เสียภาษีเป็นทางเลือกเดียวสำหรับการผูกขาดทางการค้าของยุโรป ในบรรดาเหตุการณ์ของช่วงศตวรรษที่ 17 ชาวเกาะบันดาพยายามจะค้าขายอย่างเสรีกับสหราชอาณาจักร การตอบสนองของบริษัทอินเดียตะวันออก ก็คือการสังหารประชากรพื้นเมืองของเกาะบันดา โดยการส่งผู้รอดชีวิตให้หนีไปเกาะอื่นและจัดตั้งแรงงานทาสขึ้น

แม้ว่าชนชาติอื่น ๆ จะเข้ามาตั้งรกรากบนเกาะบันดา แต่เกาะที่เหลือของมาลูกูก็ยังคงไม่วางใจการควบคุมของต่างชาติ และแม้ว่าหลังจากโปรตุเกสได้ตั้งสถานีการค้าแห่งใหม่ที่มาดากัสการ์แล้วก็ตาม ก็ยังคงมีการจลาจลภายในในปี พ.ศ. 2179 และ พ.ศ. 2189 มาลูกูเหนือถูกปกครองโดยผู้สำเร็จราชการชาวดัตช์แห่งเตอร์นาเต และมากูลูใต้โดย "อัมบอยนา (Amboyna)" (อัมบน)

ในระหว่างที่ญี่ปุ่นวุ่นวายอยู่กับสงครามโลกครั้งที่ 2 นั้น ชาวโมลุกกะหลบหนีขึ้นไปบนภูเขาและริเริ่มแผนการต่อต้านที่เป็นรู้จักในนาม South Moluccan Brigade เมื่อสงครามสิ้นสุดลง ผู้นำทางการเมืองของเกาะตกลงเจรจากับเนเธอร์แลนด์เป็นผลสำเร็จ เมื่อมีการถูกแทรกแซงโดยกองกำลังของอินโดนีเซีย ข้อตกลงการประชุมโต๊ะกลม (Round Table Conference Agreements) ก็ได้รับการเซ็นสัญญาขึ้นในปี พ.ศ. 2492 เพื่อถ่ายโอนมาลูกูไปให้กับอินโดนีเซีย ข้อตกลงอนุญาตให้สิทธิโมลุกกะที่จะมีอำนาจอธิปไตยของตนเองได้

เมื่ออินโดนีเซียได้รับเอกราช

[แก้]

หลังการประกาศเอกราชของสาธารณรัฐอินโดนีเซียในปี พ.ศ. 2493 ได้มีความต้องการแยกตัวออกจากสาธารณรัฐอินโดนีเซียโดยจัดตั้งสาธารณรัฐโมลุกกะใต้ ความเคลื่อนไหวดังกล่าวอยู่ภายใต้การนำของ Ch. Soumokil (อดีตอัยการสูงสุดของรัฐอินโดนีเซียตะวันออก) และได้รับการสนับสนุนโดยสมาชิกชาวโมลุกกะของกองกำลังพิเศษของเนเธอร์แลนด์ การขาดแคลนการสนับสนุนจากท้องถิ่น การเคลื่อนไหวดังกล่าวจึงถูกทำลายโดยกองทหารอินโดนีเซียและโดยข้อตกลงพิเศษกับกองกำลังของเนเธอร์แลนด์ที่ถูกย้ายกลับประเทศ การเริ่มต้นใหม่ของการย้ายถิ่นฐานในอินโดนีเซียของประชากรชาวชวาไปยังเกาะรอบนอก (รวมถึงมาลูกู) ที่เกิดขึ้นในช่วงทศวรรษที่ พ.ศ. 2503 ถูกเชื่อว่าทำให้เอกราชและประเด็นทางศาสนา-การเมืองถูกสั่นคลอน เกิดมีความรุนแรงทางชนชาติบนเกาะต่าง ๆ และการก่อกบฏโดยกลุ่มรัฐบาลพลัดถิ่นของโมลุกกะใต้ตั้งแต่นั้นมา

มาลูกูเป็นหนึ่งในจังหวัดแรก ๆ ของอินโดนีเซีย ได้รับการประกาศในปี พ.ศ. 2488 จนกระทั่งปี พ.ศ. 2542 เมื่อมาลูกูเหนือและฮัลมาเฮรากลาง (Halmahera Tengah) ถูกแยกเป็นจังหวัดมาลูกูเหนือ เมืองหลักคือเตอร์นาเตบนเกาะเล็กทางตะวันตกของเกาะใหญ่อย่างเกาะฮัลมาเฮรา เมืองหลักของจังหวัดมาลูกูส่วนที่เหลือ คือ อัมบน

สถานการณ์ของมาลูกูยากที่จะคาดการณ์ได้ เมื่อความขัดแย้งทางศาสนาเกิดระเบิดขึ้นในจังหวัดเมื่อเดือนมกราคมของปี พ.ศ. 2542 ช่วงเวลา 18 เดือนถัดมากลายเป็นเดือนแห่งการต่อสู้ระหว่างกลุ่มมุสลิมพื้นเมืองกลุ่มใหญ่กับกลุ่มคริสต์ศาสนิกชน บ้านเรือนหลายพันหลังถูกทำลาย การขับไล่ประชาชนราว 500,000 คน ผู้คนล้มตายไปเป็นหลักพัน และการแยกจากกันอย่างสิ้นเชิงของชาวมุสลิมและชาวคริสต์ 12 เดือนถัดมา ยังคงมีความรุนแรงเกิดขึ้นเป็นระยะ ๆ ซึ่งพบว่ามีการวางเป้าหมายและวางแผนการล่วงหน้าเอาไว้ก่อน โดยสร้างให้เกิดความระแวงสงสัยในระดับสูงและสร้างให้ผู้คนเกิดความแตกแยกทางศาสนา ทั้งที่มีการเจรจาตกลงและเซ็นสัญญาสงบศึกหลายครั้งในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2545 ความตึงเครียดในอัมบนก็ยังคงมีอยู่จนถึงปลายปี 2002 เมื่อการผสมผสานระหว่างกลุ่มที่เคยเป็นศัตรูกันนำไปสู่สันติภาพที่มีมากขึ้นเรื่อย ๆ

อ้างอิง

[แก้]
  1. "Jumlah Penduduk Hasil SP2020 menurut Wilayah dan Jenis Kelamin (Orang), 2020" (ภาษาอินโดนีเซีย). Badan Pusat Statistik. สืบค้นเมื่อ 2022-01-28.
  2. "Welcome to Maluku". Lonely Planet. สืบค้นเมื่อ 11 April 2017.
  3. Leonard Andaya 1993 The world of Maluku. Honolulu: University of Hawai'i Press, p. 47.
  4. Pigeaud, Theodoor Gautier Thomas (1960c). Java in the 14th Century: A Study in Cultural History, Volume III: Translations (3rd revised ed.). The Hague: Martinus Nijhoff. ISBN 978-94-011-8772-5.
  5. Pigeaud, Theodoor Gautier Thomas (1962). Java in the 14th Century: A Study in Cultural History, Volume IV: Commentaries and Recapitulations (3rd revised ed.). The Hague: Martinus Nijhoff. ISBN 978-94-017-7133-7.
  6. Amal, Muhammad A. (2016). Kepulauan Rempah-rempah. Jakarta: Gramedia. ISBN 978-6024241667.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]

2°00′S 128°00′E / 2.000°S 128.000°E / -2.000; 128.000