ข้ามไปเนื้อหา

หมึกกล้วย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
หมึกกล้วย
ช่วงเวลาที่มีชีวิตอยู่: ครีเตเชียส-ปัจจุบัน, 65–0Ma [1]
หมึกหอม หรือหมึกตะเภา (Sepioteuthis lessoniana)
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Mollusca
ชั้น: Cephalopoda
ชั้นย่อย: Coleoidea
อันดับใหญ่: Decapodiformes
อันดับ: Teuthida
Naef, 1916[2]
อันดับย่อย
ภาพเคลื่อนไหวของหมึกหอม

หมึกกล้วย เป็นมอลลัสคาประเภทหมึกอันดับหนึ่ง อยู่ในชั้นเซฟาโลพอด อันดับ Teuthida

ลักษณะ

[แก้]
รูปแสดงส่วนประกอบต่าง ๆ ของหมึกกล้วย 1. ท่อน้ำออก, 2. หนวดจับ, 3. ปาก 4. ระยางค์ครีบรูปสามเหลี่ยม 5. หนวด, 6. ตา, 7. ลำตัว

หมึกกล้วย นับเป็นหมึกที่มนุษย์คุ้นเคยมากที่สุด เป็นที่รู้จักมากที่สุด หมึกกล้วยมีรูปร่างเรียวยาว ลำตัวกลม มีระยางค์เหมือนครีบเป็นรูปสามเหลี่ยมอยู่ทางด้านซ้ายและขวา มีหนวดทั้งหมด 10 หนวด และจะมีอยู่คู่หนึ่งที่ยาวกว่าหนวดอื่น ๆ ใช้สำหรับหยิบจับอาหาร เรียกว่าเป็นหนวดล่าเหยื่อ หรือหนวดจับ โดยหนวดอื่น ๆ นั้นจะใช้สำหรับช่วยเพื่อไม่ให้อาหารหลุดไป ก่อนที่จะกัดกินเข้าปาก[3]

หมึกกล้วย เป็นหมึกที่มีรูปร่างเพรียวยาว ภายในลำตัวมีแคลเซียมแข็งลักษณะโปร่งใส เรียกว่า เพน (Pen) ที่มีขนาดเล็กและบางกว่าลิ้นทะเลที่เป็นแคลเซียมแข็งเช่นเดียวกันในกลุ่มหมึกกระดอง[4][3]

การเปลี่ยนสี

[แก้]

หมึกกล้วย เป็นสัตว์ที่เปลี่ยนสีลำตัวได้อย่างรวดเร็วมาก โดยใช้การบีบรัดของเม็ดสี ตั้งแต่สีแดง น้ำเงิน และเขียว โดยทั่วไปแล้ว หมึกกล้วยเมื่ออยู่ในทะเลจะมีลำตัวสีน้ำเงินเพื่อให้กลมกลืนไปกับสภาพของน้ำทะเล แต่เมื่อถูกจับขึ้นมาแล้วหรือขึ้นมาใกล้ ๆ กับผิวน้ำ จะเปลี่ยนสีตัวเองเป็นสีแดงเข้ม อันเนื่องจากในท้องทะเล สเปคตรัมจากแสงอาทิตย์เมื่อผ่านทะลุไปยังท้องทะเล แสงสีแดงจะเป็นสีแรกที่ถูกดูดกลืนหายไป ดังนั้นด้วยทัศนวิสัยการมองเห็นรวมทั้งสายตาของมนุษย์ด้วย จึงจะเห็นสภาพทั่วไปของท้องทะเลเป็นสีน้ำเงินคราม หรือสีม่วงเข้ม เมื่อหมึกสายถูกนำตัวขึ้นมาใกล้ผิวน้ำ การมองเห็นของตัวหมึกจะเห็นเป็นสีแดง จึงเปลี่ยนสีลำตัวเป็นสีแดงเพื่อการพรางตัว[3]

การพรางตัว

[แก้]

หมึกกล้วย ใช้วิธีการป้องกันด้วยการพ่นหมึก ซึ่งเป็นของเหลวสีดำคล้ำซึ่งประกอบด้วยเมลามีนและสารเคมีประเภทอื่น ใช้สำหรับการหลบหนี โดยการพ่นหมึกของหมึกกล้วยนั้น ส่วนมากจะใช้วิธีการพ่นแบบกลุ่มก้อนหมึกให้เป็นกลุ่มใหญ่ และตัวหมึกจะซ่อนตัวอยู่ในนั้น อันเนื่องจากหมึกกล้วยเป็นหมึกที่ว่ายอยู่ในระดับกลางน้ำรวมถึงสรีระที่มีแกนแข็งอยู่ภายใน จึงไม่สามารถหาที่หลบซ่อนหรือเข้าไปซ่อนในที่กำบังต่าง ๆ ได้เหมือนอย่างหมึกสาย[3]

พฤติกรรม

[แก้]

หมึกกล้วย เป็นหมึกที่มีพฤติกรรมอยู่รวมกันเป็นฝูงใหญ่ มักว่ายและหากินอยู่บริเวณกลางน้ำ จับสัตว์น้ำทั่วไปกินเป็นอาหาร แม้กระทั่งหมึกพวกเดียวกันเองก็ตาม การว่ายน้ำของหมึกกล้วยเป็นไปอย่างคล่องแคล่วและรวดเร็ว เนื่องจากมีท่อสำหรับดูดน้ำทะเลที่มีออกซิเจนเข้าไปใช้ในการหายใจ และใช้พ่นน้ำออกมาโดยใช้หลักการเดียวกับเครื่องยนต์เจ็ท ซึ่งหากหมึกกล้วยพ่นน้ำออกจากท่อนี้ด้วยความแรง ก็สามารถจะเป็นแรงผลักดันในการเคลื่อนที่ให้ลำตัวพุ่งไปในทางตรงกันข้ามได้อย่างรวดเร็ว[5]

ประสาทสัมผัสและการผสมพันธุ์

[แก้]

นอกจากนี้แล้ว หมึกกล้วย ยังเป็นสัตว์ที่ไม่มีประสาทรับรู้ความเจ็บปวด ดังนั้นแม้จะถูกตะขอของชาวประมงเกี่ยวขึ้นมาก็ไม่รับรู้ถึงความเจ็บปวด หากไม่ไปถูกอวัยวะสำคัญแล้ว เมื่อหมึกกล้วยสามารถหลุดออกมาหรือถูกปล่อยลงน้ำ ก็สามารถว่ายต่อไปได้อีกเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น หมึกกล้วยมีพฤติกรรมการผสมพันธุ์ที่ไม่เหมือนกับสัตว์ชนิดอื่นใด เมื่อจับคู่ผสมพันธุ์กันแล้วจะไม่สนใจสิ่งใด ๆ เลย แม้ว่าสิ่งนั้นจะเป็นอันตรายต่อตนเองก็ตาม ตัวผู้จะจ้องดูตัวเมียแล้วพุ่งตัวเข้ากอดรัดโดยใช้หนวดมัดจนตัวเมียดิ้นไม่หลุด ขณะเดียวกันสีผิวของตัวผู้จะเปลี่ยนเป็นสีม่วงเข้มแล้วเปลี่ยนเป็นสีแดงจากนั้นตัวผู้ก็จะปล่อยน้ำเชื้อเข้าไปในตัวเมีย หลังจากนั้นตัวผู้และตัวเมียก็แยกย้ายจากกันโดยอาจไม่มีโอกาสมาพบกันอีกเลย ส่วนตัวเมียก็จะเริ่มวางไข่ ตามก้อนหินไข่ที่วางไว้มีลักษณะเป็นวุ้นเหนียวแข็งห่อหุ้มไข่ไว้ ตัวเมียวางไข่ครั้งละประมาณ 1,500 ฟอง และจะปล่อยให้ลูกหมึกฟักออกมาเป็นตัวตามธรรมชาติโดยไม่ได้ดูแล หลังจากวางไข่แล้วหมึกตัวเมียจะมีสภาพร่างกายที่อ่อนเพลียและจะล้มตายลง ซึ่งในบางครั้งจะตายลงพร้อม ๆ กันเป็นจำนวนมาก จนเสมือนเป็นสุสานของหมึกกล้วยใต้ทะเล[6]

ออกหากิน

[แก้]

หมึกกล้วย มักจะออกหากินและจับคู่กันในเวลากลางคืน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคืนวันพระจันทร์เต็มดวงที่มีน้ำขึ้น ดังนั้น ชาวประมงจึงมักหาหมึกกล้วยในเวลานี้ โดยใช้แสงไฟเป็นตัวล่อ[6]

หมึกกล้วยขนาดอื่น ๆ

[แก้]

นอกจากนี้แล้ว หมึกกล้วย ยังถือได้ว่าเป็นสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกอีกด้วย โดยหมึกกล้วยชนิดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก คือ หมึกมหึมา หรือหมึกโคลอสซัล ที่อาศัยอยู่ในระดับความลึกถึง 2,000 เมตร เป็นหมึกที่ยังไม่เป็นที่ทราบกันถึงพฤติกรรมและข้อมูลต่าง ๆ มากนักในทางวิทยาศาสตร์ มีความยาวได้ถึง 14 เมตร[7] รวมถึงหมึกยักษ์ ที่ก็เหมือนกับหมึกมหึมาเช่นกัน จนกลายมาเป็นเรื่องเล่าหรือตำนานต่าง ๆ ของสัตว์ประหลาดขนาดยักษ์ใต้ท้องทะเล เช่น คราเคน หรือปรากฏในวัฒนธรรมร่วมสมัยประเภทต่าง ๆ เช่น ภาพยนตร์ หรือนวนิยายวิทยาศาสตร์ เช่น Twenty Thousand Leagues Under The Sea ที่เรือดำน้ำนอติลุส ถูกโจมตีโดยฝูงหมึกยักษ์ แห่งมหาสมุทรแอตแลนติก[8]

หมึกกล้วย ที่มีขนาดใหญ่ที่เป็นที่รู้จักกันดี เช่น หมึกฮัมโบลด์ แห่งมหาสมุทรแอตแลนติก หรือหมึกไดมอนด์ แห่งมหาสมุทรแปซิฟิก ก็เป็นหมึกที่มีขนาดใหญ่ชนิดหนึ่ง โดยตัวโตเต็มที่อาจยาวได้ถึง 9 ฟุต หรือ 1 เมตร และมีน้ำหนักได้ถึง 25 กิโลกรัม เป็นหมึกน้ำลึกที่อาศัยอยู่ในระดับความลึกถึง 200 เมตร ซึ่งหมึกทั้งสองประเภทนี้เป็นหมึกที่มักถูกจับในทางประมง มีรสชาติดี และมีราคาซื้อขายกันสูง[3][9]

การจำแนก

[แก้]

ปัจจุบัน หมึกกล้วยถูกอนุกรมวิธานไว้แล้วกว่า 300 ชนิด ในทั้งหมด 29 วงศ์

อ้างอิง

[แก้]
  1. [0138:TCJFTU2.0.CO;2 Tanabe, K.; Hikida, Y.; Iba, Y. (2006). "Two Coleoid Jaws from the Upper Cretaceous of Hokkaido, Japan". Journal of Paleontology 80 (1): 138–145. doi:10.1666/0022-3360(2006)080[0138:TCJFTU]2.0.CO;2]
  2. 2.0 2.1 จาก itis.gov
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 3.4 การพัฒนา, "มหัศจรรย์พันธุ์ลึก". สารคดีทางไทยพีบีเอส: ศุกร์ที่ 15 มีนาคม 2556
  4. ไฟลัมมอลลัสกา (Phylum Mollusca)
  5. หมึกกล้วย / วินิจ รังผึ้ง จากผู้จัดการออนไลน์[ลิงก์เสีย]
  6. 6.0 6.1 "พฤติกรรมการสืบพันธุ์ และการหนีภัย ของหมึกกล้วย". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-07. สืบค้นเมื่อ 2013-03-16.
  7. บพิธ จารุพันธุ์,รศ. นันทพร จารุพันธุ์,รศ. สัตววิทยา. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ภาควิชาสัตววิทยา, พิมพ์ครั้งที่4, 2547. หน้า171
  8. "ปลาหมึกยักษ์ (Giant Squid)". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-01-13. สืบค้นเมื่อ 2013-03-16.
  9. Squid, "Rouge Nature With Dave Salmoni" โดย อนิมอลพลาเน็ต สารคดีทางทรูวิชั่นส์: อังคารที่ 25 ธันวาคม 2555

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]